Focus
- บทความนี้นำเสนอสำเนาจดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ตอบบรรณาธิการ “สามัคคีสาร” วารสารของนักเรียนไทยในอังกฤษ เรื่อง ขอทราบความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14-15 ตุลาคม 2516 และ “สังคมสัญญา” วันศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย, จัดพิมพ์โดย นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร โดยจดหมายลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2516 โดยนายปรีดีเขียนไว้ 8 ข้อโดยมีใจความสำคัญคือ ให้นิสิตนักศึกษา “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ และชี้ให้เห็นถึงบทเรียนเรื่องการละเมิด “สังคมสัญญา” ระหว่างพระปกเกล้าฯ กับปวงชนชาวไทยในรัฐธรรมนูญ 2492 เป็นการย้ำเตือนให้สังคมไทยไม่ควรผลิตซ้ำการละเมิดสัญญาในหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์และรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเพื่อปวงชน
173, Avenue Aristide Briand
92160 Antony, FRANCE
๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๖
เรียน บรรณาธิการสามัคคีสาร
ได้รับจดหมายของคุณลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ แล้วด้วยความขอบคุณมากในการที่คุณจะนําปาฐกถาของผมในงานชุมนุมสามัคคีสมาคมที่ดอนแคสเตอร์ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคมลงพิมพ์ในสามัคคีสารฉบับที่จะออกกลางเดือนธันวาคมและในการที่คุณกับคณะให้เกียรติแก่ผมตามที่คุณเขียนมาว่า “พวกเราอยากทราบความเห็นของท่านเกี่ยวกับเหตุการณ์เดินขบวนของนักศึกษา (๑๔/๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๖) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเป็นจํานวนร้อยและยังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลหากท่านมีเวลาว่างเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มาลงสามัคคีสารบ้าง ดิฉันเชื่อแน่ว่าจะได้รับความกรุณาจากท่านอีก”
ความเห็นของผมเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นผมได้เขียนเป็นคําขวัญว่า “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม” และบทความประกอบคําขวัญนั้น ๒๕ หน้ากระดาษดีดพิมพ์ซึ่งผมได้ส่งไปยังคณะกรรมการ จัดงานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักรประจําปี ๒๕๑๖ ที่แสดงความปรารถนาได้คําขวัญหรือบทความของผมไปลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกซึ่งจะจัดทําขึ้น ในวันที่ ๑๐ ธันวาคมปีนี้ ดังนั้นถ้าคุณเห็นเป็นการสมควรก็ขอให้ติดต่อกับคณะกรรมการนั้นเพื่อขอให้ช่วยพิมพ์เพิ่มเติมตามจํานวนที่คุณต้องการเพื่อเป็นภาคผนวกของสามัคคีสาร ผมได้แจ้งให้คณะกรรมการจัดงานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักรทราบตามข้อเสนอนี้ด้วยแล้ว อนึ่ง เพื่อสนองศรัทธาตามที่คุณแจ้งมา ผมได้เขียนความเห็นบางประการอันเกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์นั้นส่งมายังคุณเพื่อประกอบการพิจารณาของเพื่อนไทยในสหราชอาณาจักร บางตอนอาจซ้ำกับที่เคยพูดเคยเขียน แต่ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องที่จะทําให้กระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น ถ้าคุณเห็นสมควร ก็ขอได้โปรดนําจดหมายของผมถึงคุณฉบับนี้ลงพิมพ์ในสามัคคีสารฉบับกลางเดือนธันวาคมด้วยจะขอบคุณมาก
๑. ผมได้สดุดีวีรชน ๑๔ ตุลาคมไว้ในบทความดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในการที่วีรชนได้พลีชีวิต ร่างกาย และสละความสุขสําราญส่วนตัวเป็นกองหน้า แห่งขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ให้แก่ปวงชนชาวไทยอันเป็นผลทําให้รัฐบาลซึ่งมีจอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นนายกฯ และรองนายกรัฐมนตรีกับเป็นผู้บัญชาการฯ และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดต้องลาออกไปนั้น ย่อมถือได้ว่าวีรชนได้นําชัยชนะก้าวแรกก้าวหนึ่งมาให้แก่ปวงชนชาวไทยจึงเป็นการสมควรแล้วที่เราทั้งหลายร่วมมือกับมวลราษฎรในการแสดงกตัญญูแด่วีรชนโดยทางกาย วาจา และใจ การบําเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน และการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่วีรชนทั้งหลายและแสดงกตเวทีในการร่วมมือกันพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคมให้มั่นคงและพัฒนายั่งยืน
๒. ขบวนนักศึกษาในหลายประเทศอื่นมิได้รับการสนับสนุนร่วมมืออย่างเพียงพอจากมวลราษฎรของประเทศนั้น ๆ จึงไม่มีพลังพอที่จะทําการโค่นล้ม ฝ่ายครองอํานาจรัฐกดขี่ข่มเหงราษฎร ส่วนขบวนการของนิสิตนักศึกษานักเรียน เยาวชนที่เป็นกองหน้าทําการเรียกร้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ให้แก่ปวงชนชาวสยามดังกล่าวแล้วนั้นได้รับความสนับสนุนร่วมมือจากราษฎรไทยหลายล้านคนซึ่งเป็นบุคคลจากทุกชนชาติไทยและทุกชนชั้นวรรณะคือ คนจน กรรมกร ลูกจ้าง ชาวนา ข้าราชการชั้นผู้น้อย คนพอทําพอกิน ผู้มีทุนน้อย และนายทุนรักชาติที่ได้รับการกดขี่ข่มเหงจากอํานาจเผด็จการและอภิสิทธิ์ชน ดังนั้นขบวนการนี้จึงมีพลังมหาศาลที่แม้จะมีเพียงมือเปล่าหรือบางคนมีเพียงไม้พลองไว้ป้องกันตัวก็สามารถเอาชนะศัตรูของชาติที่เป็นคนจํานวนส่วนข้างน้อยแม้จะมีอาวุธทันสมัย ทั้งนี้ก็เป็นไปตามกฎที่ว่าอาวุธเป็นปัจจัยสําคัญในการรบก็จริงอยู่ แต่คนที่ใช้อาวุธนั้นเป็นปัจจัยสําคัญยิ่ง ทหารและตํารวจนั้นเป็นลูกของคนจน ลูกของกรรมกร ลูกของลูกจ้าง ลูกของชาวนา ลูกของข้าราชการชั้นผู้น้อย ลูกของผู้มีทุนน้อย ลูกของนายทุนชั้นกลาง ซึ่งพ่อแม่ของทหารเหล่านั้นได้รับความอัตคัดฝืดเคืองในทางเศรษฐกิจ และทหารกับตํารวจหลายคนก็เป็นลูกของนายทุนรักชาติที่ถูกอภิสิทธิ์ชนข่มเหงดังนั้นตามธรรมชาติทหารและตํารวจที่รู้สํานึกได้ว่าขบวนการของมวลราษฎรทําเพื่อประโยชน์ของพ่อแม่เขาด้วยแล้ว พวกเขาก็ไม่ยอมใช้อาวุธเพื่อยอมเป็นเครื่องมือให้ผู้ครองอํานาจและอภิสิทธิ์ชนกดขี่เบียดเบียนข่มเหงพ่อแม่ของทหารและตํารวจนั้นต่อไปอีก จะมีก็แต่ทหารตํารวจส่วนน้อยที่ได้ประโยชน์จากผู้ครองอํานาจหรือจากอภิสิทธิ์ชน หรือเป็นผู้ที่ถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อฝ่ายครองอํานาจเผด็จการที่ปกครองราษฎรเยี่ยงทาษหรือหลงเชื่ออภิสิทธิ์ชน ทหารและตํารวจ ส่วนน้อยนี้จึงหลงผิดไปชั่วขณะในการยอมเป็นเครื่องมือของอภิสิทธิ์ชนและผู้ทรยศต่อปวงชนชาวไทย
เราไม่ควรถือเป็นหลักตายตัวว่าถ้าผู้ใดเป็นทหารก็จะต้องนิยมระบบเผด็จการหรือถ้าผู้ใดเป็นพลเรือนก็จะต้องนิยมระบบประชาธิปไตยเพราะทหารหลายคนนิยมระบบประชาธิปไตย เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งระหว่างเป็นผู้บัญชาการทหารบกและเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นก็ปกครองทหารและปกครองบ้านเมืองอย่างเป็น ประชาธิปไตยและเมื่อถึงกําหนดวาระที่จะต้องออกจากตําแหน่งก็ลาออกไปอย่างดุษณียภาพ ส่วนพลเรือนจําพวกที่มีซากทัศนะเก่ารวมทั้งซากทัศนะทาษที่หวังประโยชน์จากระบบเผด็จการหรือระบบอภิสิทธิ์ชนก็สนับสนุนระบบเช่นว่านั้นซึ่งแม้จะดูเพียงผิวเผินว่าเป็นระบบอีกชนิดหนึ่งต่างหากจากระบบทาษแต่ว่าที่แท้ก็เป็นระบบปกครองราษฎรเยี่ยงทาษซึ่งถอยหลังยิ่งกว่าระบบศักดินา (โปรดดูความหมาย ของคํานี้ในปาฐกถาของคำนี้ในปาฐกถาของผมที่แสดงไว้ในงานชุมนุมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมันเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๖)
๓. ผมได้ปรารภไว้ในบทความที่อ้างข้างต้นแล้วอันเนื่องจากมีปรากฏการณ์ที่ประจักษ์ขึ้นอันทําให้สาธุชนที่รักชาติมีความสลดใจที่เห็นว่ากลิ่นคาวโลหิตของวีรชนยังไม่ทันหมดไปก็มีบุคคลแห่งบางพรรคพยายามช่วงชิงชัยชนะก้าวแรกของวีรชนเอาไปเพื่อประโยชน์ของพรรคพวกเขาที่อยู่ในจําพวกอภิสิทธิ์ชนโดยเฉพาะ อาทิ พวกเขาใช้วิธีการโฆษณาจูงใจในการที่ถือเอารัฐธรรมนูญฉบับที่พวกเขาทําขึ้นเพื่ออภิสิทธิ์ชนเป็นหลักในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนวิธีร่างที่จะต้องตั้งต้นจากเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชนทุกชนชั้นวรรณะและทุกชนชาติที่มีสัญชาติไทย สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมอํานวยให้ฝ่ายที่ต้องการพิทักษ์เจตนารมณ์ของวีรชนต้องหาทางต่อสู้ขนาดเบาหรือขนาดรุนแรงสุดแท้แต่วิธีการของแต่ละองค์การที่เป็นฝ่ายนําของแต่ละชนชั้นวรรณะและแต่ละชนชาติ ฝ่ายที่ใช้วิธีรุนแรงอยู่แล้วก็จะสามารถระดมมวลราษฎรโดยอ้างสภาพการณ์เช่นว่านั้นเป็นสิ่งชี้ให้เห็นว่าวิธีร่างรัฐธรรมนูญตามแบบฉบับของอภิสิทธิ์ชนนั้นนําไปสู่ประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น ซึ่งมวลราษฎรไม่อาจอาศัยระบบรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์แก้ความทุกข์ยากของมวลราษฎรถ้วนหน้าได้ ฉะนั้นเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ผมจึงกล่าวไว้ในบทความนั้นขอร้องให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ละเว้นวิธีร่างที่ตั้งต้นจากอคติถือเอารัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนเป็นแบบฉบับนั้นเสียแล้วขอให้ตั้งต้นทัศนะตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม
ผมขอร้องให้นิสิตนักศึกษานักเรียนและมวลราษฎรทุกชนชั้นวรรณะและทุกชนชาติที่มีสัญชาติไทยร่วมกันเป็นพลังดําเนินการอย่างสันติเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นแม่บทแห่งระบบการเมืองของชาติไทยนั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคมนั้นด้วย ขอได้โปรดคํานึงว่าถ้าหากรัฐธรรมนูญอันเป็นแม่บทแห่งกฎหมายสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลราษฎรทุกชนชั้นวรรณะและทุกชนชาติไทยแล้ววิกฤตการณ์ทางสังคมก็ไม่เกิดขึ้นและประเทศชาติก็สามารถดําเนินก้าวหน้าไปตามวิถีทางวิวัฒน์ (Evolution) อย่างสันติถ้าหากรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลราษฎร วิกฤตการณ์ก็ต้องเกิดขึ้นตามกฎธรรมชาติแห่งข้อขัดแย้งระหว่างสองสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กันการที่ขบวนการราษฎรภายใต้การนําของนิสิตนักศึกษานักเรียนทําการเรียกร้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นมิใช่เกิดขึ้นมาโดยฉับพลันแต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ท่านทั้งหลายรู้อยู่ก่อนแล้วว่าระบบการเมืองที่ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือมีเพียงแต่ชื่อว่ารัฐธรรมนูญนั้นขัดแย้งความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลราษฎรอันเป็นผลให้ราษฎรไทยส่วนมากได้รับความอัตคัดขัดสนอย่างสาหัสและถูกเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงจากอภิสิทธิ์ชน
๔. ผมเห็นว่าปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการที่นิสิตนักศึกษานักเรียนและมวลราษฎรจะต้องร่วมมือกันในการพิทักษ์ชัยชนะก้าวแรกให้มั่นคงและพัฒนาต่อไปคือการรวมกันเป็นพลังให้รัฐธรรมนูญที่กําลังร่างอยู่นี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม
ท่านที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศซึ่งรวมทั้งในสหราชอาณาจักรด้วยนั้นนับได้ว่าเป็นปัญญาชนส่วนหนึ่งของชาติไทย ย่อมมีโอกาสศึกษาถึงวิธีใช้ความคิด เพื่อหาสัจจะโดยไม่ยอมเป็นเครื่องมือแห่งการหลอกลวงของอภิสิทธิ์ชน พระพุทธองค์ได้เคยสอนวิธีหาสัจจะนั้นไว้ในเทศนาว่าด้วย “กาลามสูตร” คือไม่หลงเชื่อแต่เพียงได้ยินมา จําต้องอาศัยหลักฐานกลั่นกรองสิ่งที่เป็นสัจจะดังเช่นท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟังผู้โฆษณาว่า รัฐธรรมนูญของไทยฉบับนั้นฉบับนี้เป็นประชาธิปไตยที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญที่ ประเทศไทยเคยมีมาก็ขอให้ท่านเอารัฐธรรมนูญของประเทศไทยทุก ๆ ฉบับมาอ่านและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนแล้วเทียบเคียงกันดูให้ครบถ้วนทุกขบวนความ
ผมเห็นใจนิสิตนักศึกษาและนักเรียนรวมทั้งมวลราษฎรที่ส่วนมากที่สุดไม่อาจซื้อหาหนังสือที่รวบรวมรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับไว้ประกอบการพิจารณาได้ แม้ว่ารัฐบาลและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแจ้งว่าจะรับฟังความเห็นจากราษฎรอย่างกว้างขวางในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในทางพฤตินัยมวลราษฎรจะให้ความเห็นได้สมบูรณ์อย่างไร เพราะไม่อาจซื้อหาหนังสือที่รวบรวมรัฐธรรมนูญทุกฉบับได้ดั่งนั้นในบทความของผมที่อ้างถึงข้างต้น ผมจึงเสนอรัฐบาลว่าควรจัดพิมพ์หนังสือรวบรวมรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับขึ้นโดยจําหน่ายราคาย่อมเยาเพื่อนิสิตนักศึกษานักเรียนและมวลราษฎรมีทางซื้อไว้ประกอบการพิจารณาเสนอความเห็นแก่รัฐบาลและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้โดยคํานึงว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบางท่านที่ยังไม่มีหนังสือเช่นนั้นควรมีไว้เป็นคู่มือในการพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมคะเนว่าค่าจัดทําหนังสือนั้นเพียงใช้กระดาษปรู๊ฟก็คงไม่มากมายเกินไปนักเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่แล้วมาและในปัจจุบันนี้ และถ้ารัฐบาลเห็นว่านิสิตนักศึกษานักเรียนในต่างประเทศก็มีปัญญาที่จะช่วยให้ความเห็นได้ก็ควรส่งหนังสือนั้นมาให้สมาคมนักเรียนทุก ๆ สมาคมหรือจะจําหน่ายในราคาย่อมเยาก็คงมีผู้ซื้อไว้ได้ มิฉะนั้นก็จะทําให้ผู้มีปัญญาที่สามารถให้ความเห็นได้ถูกทอดทิ้งไว้ ผมเห็นว่าถ้าปัญญาชนและมวลราษฎรไม่อาจหาซื้อหนังสือเช่นนี้ได้ ด้วยราคาย่อมเยาเป็นคู่มือแล้วผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ควรเขียนไว้ในคําปรารภเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ว่าได้ฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะเป็นการทึกทักผูกมัดประชาชนโดยไม่เป็นธรรม
๖. ท่านที่ศึกษากฎหมายนอกจากรู้โดยตนเองแล้วก็ขอให้แนะนําแก่ท่านที่ยังไม่มีโอกาสเรียนกฎหมายหรือทราบวิธีเรียนและวิธีตีความทางกฎหมายซึ่งก็เป็นกฎธรรมดานั่นเองว่าการพิจารณากฎหมายใดรวมทั้งการพิจารณารัฐธรรมนูญอันเป็นแม่บทของกฎหมายนั้นมิใช่จะดูกันแต่เพียงแต่ละมาตราที่เขียนไว้คือจําต้องพิจารณาตั้งแต่คําปรารภของกฎหมายและรัฐธรรมนูญนั้น ๆ เพราะการศึกษาและตีความในกฎหมายนั้นจะต้องอาศัยความมุ่งหมายของกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญนั้น ๆ ประกอบด้วย ความมุ่งหมายนั้นก็มีอยู่ในคําปรารภ แต่น่าเสียดายข่าวซึ่งแพร่อยู่ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ปรากฏว่า มีผู้ใดได้กล่าวถึงพระราชปรารภของพระปกเกล้าฯ ในฐานะแทนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้โอนพระราชอํานาจตามระบบเก่านั้นให้มาเป็นระบบประชาธิปไตยซึ่งเป็นแม่บทอันศักดิ์สิทธิ์พระราชปรารภได้ทรงร่างโดยพระองค์เองแล้วพระราชทานมายังคณะราษฎร ตามที่ผมได้กล่าวในบทความที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ความสําคัญปรากฏในพระราชปรารภแห่ง รัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ดังนี้
“จึงมีพระบรมราชโองการดํารัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ประสิทธิ์ประสาทประกาศพระราชทานแก่ประชากรของพระองค์ให้ ดํารงอิสสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”
พระราชประสงค์นี้ตรงกันกับเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทยและก็ตรงกันกับเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม
การที่ผมกล่าวว่าเป็นแม่บทอันศักดิ์สิทธิ์เพราะหลักปรัชญาการเมืองถือว่าการที่ฝ่ายครองอํานาจตามระบบหนึ่งโอนอํานาจมาให้ปวงชนผู้อยู่ใต้อํานาจนั้นเป็น “สังคมสัญญา” (Social Contract, ภาษาฝรั่งเศส Du contrat social) (ผู้สนใจปรัชญาฝ่ายนายทุน โปรดศึกษาปรัชญาของ Hobbes, Locke, Rousseau เกี่ยวกับความหมายนี้)
สําหรับสามัญชนที่แม้มิได้ศึกษาหลักปรัชญาการเมืองก็สามารถเข้าใจได้โดยไม่ยาก คือ การที่พระปกเกล้าฯ ในฐานะแทนระบบราชาธิปไตยเหนือกฎหมาย ได้โอนอํานาจของระบบนั้นกลับคืนให้ปวงชนเป็นข้อตกลง คือ สัญญาระหว่างระบบเก่ากับปวงชนชาวไทยที่จะได้สิทธิประชาธิปไตยสมบูรณ์ ข้อตกลงชนิดนี้ คือ “สังคมสัญญา” ที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งไม่อาจละเมิดได้ พระปกเกล้าฯ มิได้ละเมิดข้อตกลงนี้สมดั่งที่ผมได้ยินผู้ใหญ่พูดกันมาตั้งแต่ผมจําความได้ว่า “พระมหากษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคํา” ฝ่ายราษฎรไทยส่วนข้างมากที่ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชนชนิดต่าง ๆ นั้นก็มิได้ละเมิดสังคมสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ จะมีก็แต่คนส่วนน้อยที่เป็นอภิสิทธิ์ชนชนิดต่างๆ ที่ต้องการบั่นทอนประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปวงชน การปฏิบัติของวีรชน ๑๔ ตุลาคม ที่ราษฎรมหาศาลสนับสนุนนั้นก็แสดงว่าต้องการได้สิทธิ์ตามสังคมสัญญาที่ถูกอภิสิทธิ์ชนบั่นทอนนั้นกลับคืนมา
ผมขอชี้แจงเพิ่มเติมว่าเมื่อครั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นหัวต่อหัวเลี้ยวแห่งการเปลี่ยนระบบอันเป็นรากฐานของสังคมไทยดังกล่าวแล้ว จึงจําต้องมีบทเฉพาะกาลไว้โดยมีสมาชิก ๒ ประเภท คือ ประเภทที่ ๑ เป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากราษฎร ประเภทที่ ๒ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งในระยะแรกกําหนดไว้ ๑๐ ปี ต่อมาเมื่อมีเหตุการณ์ที่จะต้องเตรียมรับสถานการณ์ ในอินโดจีนจึงขยายเป็น ๒๐ ปี แต่เมื่อได้ใช้บทเฉพาะกาลมาเพียง ๑๔ ปี ก็ได้ยกเลิกบทเฉพาะกาลนั้นโดยมีรัฐธรรมนูญฉบับ๒๔๘๙ซึ่งตราขึ้นถูกต้องตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ (ไม่ใช่โดยวิธีรัฐประหาร) โดยเคารพเจตนารมณ์ของประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามพระราชปรารภของพระปกเกล้าฯซึ่งถือว่าเป็น“สังคมสัญญา” (Social Contract) อันศักดิ์สิทธิ์ในการมีรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนซึ่งสมาชิกได้รับเลือกตั้งจากราษฎรโดยตรง และพฤฒสภา (Senate) ซึ่งสมาชิกได้รับเลือกตั้งจากราษฎรตามวิธีเลือกตั้ง ๒ ชั้นเยี่ยงพฤฒสภาของอารยประเทศ
๗. สังคมสัญญาที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระปกเกล้าฯ พระราชทานไว้คือให้ “ประชากรดํารงอิสสราธิปไตยบริบูรณ์” นั้น ได้ถูกทําลายลงโดยรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ซึ่งได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ ๙ พ.ย. ๒๔๙๐ ซึ่งมีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” โดยกรมขุนชัยนาทผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เป็นผู้ลงนามในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจอมพล ป. พิบูลสงคราม รับสนองพระบรมราชโองการในตําแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นการยอมรับให้จอมพลผู้นี้ที่พ้นจากตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วกลับมีอํานาจใหญ่ทางทหารขึ้นมาอีก รัฐธรรมนูญนี้เป็นสังคมสัญญา (Social contract) อีกฉบับหนึ่งระหว่างคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ กับ พรรคประชาธิปัตย์ที่รับเป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญนั้น และพรรคนี้ได้ใช้เป็นแม่บทของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ดังจะกล่าวต่อไปนี้
ก. รัฐธรรมนูญใต้ตุ่มให้มีรัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทน สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งในทางพฤตินัยคือรัฐบาลเสนอให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งดังนั้นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มจึงเสนอผู้สําเร็จราชการแต่งตั้งผู้มีบรรดาศักดิ์สูง นายทหาร และพวกของตน ตามระบบตั้งวุฒิสมาชิกเช่นนี้ ปวงชนชาวไทยจึงถูกตัดสิทธิประชาธิปไตยลงไปกึ่งหนึ่ง แต่เท่านั้นก็ยังไม่สาสมใจของรัฐบาลนั้นคือได้ออกกฎหมายแก้อายุของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจากที่กําหนดไว้ครั้งพระปกเกล้าฯ ว่าให้ผู้รับเลือกตั้งมีอายุไม่ต่ํากว่า ๒๓ ปีเป็น ๓๕ ปี ท่านที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศย่อมรู้ได้ว่าประเทศประชาธิปไตยทั่วไปในโลกได้กําหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เพียงไม่ต่ํากว่า ๒๕ ปีเท่านั้น ดั่งนั้นส่วนที่ถูกตัดประชาธิปไตยลงไป กึ่งหนึ่งโดยวิธีตั้งวุฒิสมาชิกแล้ว ที่เหลืออยู่สําหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนก็เหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งเพราะคนหนุ่มสาวที่มี อายุต่ํากว่า ๓๕ ปีต้องถูกตัดสิทธิออกไปอีก ผลก็คือเป็นระบบหนึ่งเสี้ยวของประชาธิปไตยเท่านั้น
ข. รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ได้บัญญัติขึ้นโดยรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มนั่นเอง แม้จะอ้างไว้ในคําปรารภว่าได้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของชาติไทยแต่องค์การนี้ก็แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐสภาใต้ตุ่มจากวุฒิสมาชิกตามฉบับใต้ตุ่ม ๑๐ คน สมาชิกสภาผู้แทนตามฉบับใต้ตุ่ม ๑๐ คน บุคคลนอกสภาใต้ตุ่มอีก ๒๐ คน รวมเป็น ๔๐ คน เมื่อองค์การที่เรียกว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” พิจารณาแล้วได้เสนอรัฐสภาใต้ตุ่มให้พิจารณาลงมติเป็นขั้นสุดท้าย ฉะนั้นวิญญูชนเมื่อศึกษาเรื่องนี้ครบถ้วนขบวนวิธีพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ แล้วก็เห็นได้ไม่ยากว่ารัฐธรรมนูญนี้รัฐสภาใต้ตุ่มนั่นเองเป็นผู้บัญญัติขึ้น
รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ คงถือหลักการละเมิด “สังคมสัญญา” ระหว่างพระปกเกล้าฯ กับปวงชนชาวไทย รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ ว่าด้วยสิทธิประชาธิปไตยของราษฎรในการเลือกตั้งผู้แทนในรัฐสภาก็มีสาระอย่างรัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม จะผิดเพี้ยนที่ส่วนปลีกย่อย
ค.วุฒิสมาชิกคงเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งไม่ใช่เลือกตั้งโดยราษฎรวิธีแต่งตั้งของฉบับ ๒๔๙๒ แตกต่างนิดหน่อยในรูปแบบจากฉบับใต้ตุ่มคือฉบับใต้ตุ่มนั้นพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกโดยรัฐบาลรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลนั่นเองเป็นผู้เสนอรายชื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ส่วนฉบับ ๒๔๙๒ เปลี่ยนเป็นประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือองคมนตรีนั่นเองเป็นผู้เสนอรายชื่อ สาระคือตัดอํานาจประชาธิปไตยของปวงชนลงกึ่งหนึ่ง หากแต่ว่าเปลี่ยนตัวคนที่เป็นผู้รับสนองฯ เท่านั้นและไม่ใช่องค์การเลือกตั้งของราษฎร ราษฎรจึงไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย
แม้กระนั้นมาตรา ๑๘๑ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ บัญญัติว่า
“ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) เป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ และกําหนดเวลาแห่งสมาชิกภาพ ให้นับแต่วันที่ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกชุดนั้น”
หมายความว่าวุฒิสมาชิกตามฉบับใต้ตุ่มได้รับการยกยอดมาเป็นวุฒิสมาชิกตามฉบับ ๒๔๙๒ ด้วย ปัญหามีว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เจริญรอยตามฉบับ ๒๔๙๒ แล้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติที่ตั้งขึ้นสมัยที่จอมพลถนอมและจอมพลประภาสเป็นนายกและรองนายกรัฐมนตรีนั้นจะได้รับการยกยอดมาเป็นวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่เพราะสภานิติบัญญัตินี้จะเป็นผู้พิจารณาลงมติในร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นขั้นสุดท้าย
ง. ท่านที่ศึกษาอยู่ในอังกฤษย่อมรู้ดีว่าองคมนตรีของอังกฤษนนมี จํานวน ๓๐๐ คนเศษ ซึ่งประธานฯ ไม่มีอํานาจลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภาสูงซึ่งเป็นผู้ที่สืบมรดกมาจากเจ้าศักดินาแคว้นน้อยใหญ่ของอังกฤษ จะมีส่วนน้อยของสภาสูงที่พระราชาธิบดีโดยคําเสนอของรัฐบาลตั้งให้มีฐานะเป็นเจ้าศักดินา (Lord) ส่วนองคมนตรีไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ มีจํานวนไม่เกิน ๙ คนเท่านั้น
ผมเห็นว่าการพิจารณาเพียงนามธรรมขององคมนตรีเท่านั้นอาจทําให้ลางเลือนได้ ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาสิ่งที่เป็นตัวตนมาประกอบว่าองคมนตรีนั้นคือท่านผู้ใดบ้าง และผลที่องคมนตรีไทยโดยประธานฯ รับสนองพระบรมราชโองการนั้นแต่งตั้งผู้ใดเป็นตัวตนบ้าง
(๑) องคมนตรีที่ดํารงอยู่ในปัจจุบันที่จะเป็นองค์การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกคือ กรมหมื่นพิทยลาภฯ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ พระยามานวราชเสวี พระยาศรีเสนา พลเอกหลวงสุรณรงค์ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ (หลวงจำรูญ เนติศาสตร์ ดูเหมือนเคยเป็นองคมนตรีแล้วลาออกเพื่อดํารงตําแหน่งร.ม.ต.ยุติธรรม) พลเอก หลวงกัมปนาทแสนยากร (อดีต ร.ม.ต. สมัยจอมพลพิบูล สฤษดิ์, ถนอม) ถ้าข้าพเจ้าจําผิดพลาดไปก็ขออภัยด้วย
(๒) ผลที่องคมนตรีรับสนองฯ แต่งตั้งออกมาเป็นตัวตนตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ คือเมื่อ ๑๗ พ.ย. ๒๔๙๕ วุฒิสมาชิกที่ยกยอดมาจากฉบับใต้ตุ่ม ต้องจับสลากกันออกไปถึงหนึ่งเมื่อครบรอบ ๓ ปี ครั้นแล้ว เมื่อ ๑๘ พ.ย. ปีนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งวุฒิสมาชิก ๕๐ คนแทนตําแหน่งว่างโดยประธานองคมนตรีรับสนอง ๆ ผลออกมาเป็นตัวเป็นตนว่าในจํานวนวุฒิสมาชิก ๕๐ คนนั้น จําแนกตามฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า ๖ องค์, หม่อมราชวงศ์ที่ได้บรรดาศักดิ์ก่อนเป็นพระยา ๑ คน, พระยา ๑๔ คน, พระ ๑๑ คน, หลวง ๕ คน, ไม่มีบรรดาศักดิ์ ๘ คน ในบรรดาท่านเหล่านี้มีผู้ดํารงยศทหารตั้งแต่พันตรีถึงพลเอก ๒๑ คน, ไม่มียศทหาร ๒๙ คน
จ. รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ แสดงความกรุณาลดอายุผู้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนจากที่ฉบับใต้ตุ่มกําหนดไว้ว่าอย่างต่ํา ๓๕ ปีนั้น เป็นอย่างต่ํา ๓๐ ปี แต่ท่านทั้งหลายย่อมเห็นได้ว่าไม่กรุณามากมายแก่ชนรุ่นหนุ่มเลยเพราะอันที่จริงกําหนดอายุเท่ากับอายุวุฒิสมาชิกอเมริกัน ซึ่งเขาถือว่าวุฒิสมาชิกต้องมีอายุสูงกว่าสมาชิกสภาผู้แทนที่เขากําหนดไว้เพียงไม่ต่ํากว่า ๒๕ ปี
๘. ถ้ารัฐธรรมนูญที่กําลังร่างใหม่ถือเอาฉบับ ๒๔๙๒ เป็นหลักแล้ว ก็เป็นการปฏิบัติตามสังคมสัญญา (Social contract) ระหว่างรัฐประหาร ๒๔๙๐ กับ พรรคประชาธิปัตย์นั่นเองผมขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูว่าท่านและปวงชนจะได้รับประชาธิปไตยประมาณที่ส่วน
สุภาษิตอังกฤษมีว่า “ขนมปังครึ่งก้อนก็ยังดีกว่าไม่มีเลย” ฉะนั้นถ้ารัฐบาลและสภานิติบัญญัติจะให้ประชาธิปไตยเพียงกึ่งหนึ่งโดยราษฎรไม่มีสิทธิเลือกตั้งวุฒิสมาชิกเช่นรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ นั้น แต่ยังยอมให้ราษฎรเลือกสมาชิกสภาผู้แทน ก็ยังดีกว่าไม่มีประชาธิปไตยเลย แต่อีกครึ่งหนึ่งนั้นท่านและปวงชนจะได้เต็มครึ่งหรือไม่เพราะน่าคิดว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนต้องมีอายุไม่ต่ํากว่า ๓๐ ปีแล้ว ท่านทั้งหลายก็จะได้ประชาธิปไตยไม่ถึงครึ่งคือจะได้เสี้ยวเดียวเท่านั้น จึงลองพิจารณาภาษิตของไทยอีกบทหนึ่งว่า “สิบเบี้ยใกล้มือเอาไว้ก่อน” แต่ก็ยังมีปัญหาว่าเสี้ยวประชาธิปไตยนี้จะตกมาถึงมวลราษฎรในทางปฏิบัติหรือไม่ เพราะถ้าหากกฎหมายเลือกตั้งดําเนินตามคําเรียกร้องของอภิสิทธิ์ชนที่ต้องการให้ใช้วิธีเลือกตั้งที่เรียกกันว่า “รวมเขต” คือจังหวัดใดมีผู้แทนได้หลายคน จังหวัดนั้น ก็ไม่ต้องแยกเขตตามจํานวนที่พึงมีผู้แทน เช่นจังหวัดพระนครมีผู้แทนได้ ๑๐ คน ส่วนจังหวัดที่มีผู้แทนได้คนเดียวเช่นจังหวัดระนองราษฎรระนองแต่ละคนก็มีสิทธิเลือกผู้แทนได้คนเดียว ซึ่งเท่ากับมีสิทธิไม่เสมอภาคกับราษฎรในจังหวัดพระนครและจังหวัดที่มีพลเมืองมาก ฉะนั้นที่จะได้ประชาธิปไตยหนึ่งเสี้ยวก็ต้องลดลงไปอีกหลายส่วนต่อหนึ่งเสี้ยว พวกอภิสิทธิ์ชนอ้างว่าถ้าแยกเขตเลือกตั้งแล้วเกรงว่าราษฎรจะเลือกนักเลงเข้ามาในสภาผู้แทนนั้นก็เป็นการดูหมิ่นราษฎรว่าไม่มีสติปัญญาพอที่จะเลือกผู้ที่ตนเห็นว่าดี เราต้องดูความจริงว่าผู้แทนที่รับเลือกตั้งได้โดยวิธีรวมเขตนั้นมีนักเลงบ้างหรือไม่ ผลที่ได้รับจากวิธี “รวมเขต” ที่แล้วมาแสดงชัดอยู่แล้วว่าอภิสิทธิ์ชนได้ชัยชนะในการเลือกตั้งรวมเขตของจังหวัดนั้นๆ ชนิด “กินรวบ” ทีเดียว เช่นในจังหวัดพระนครที่อภิสิทธิ์ชนเคยมีอิทธิพลในย่านค้าและผู้เป็นเจ้าของเคหสถานก็สามารถเอาเสียงที่เป็นกลุ่มก้อนของพวกตนชนะเต็มอัตราที่จังหวัดพระนครพึงมีผู้แทนราษฎรได้ซึ่งต่างกับวิธีเลือกตั้งเมื่อก่อน รัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ ที่ใช้วิธีแบ่งเขตจังหวัดใหญ่ออกเป็นหลายเขตตามจํานวน ที่จังหวัดนั้น ๆ พึงมีผู้แทนราษฎรได้ ผลแห่งการนั้นช่วยให้ผู้แทนจังหวัดใหญ่อาทิ จังหวัดพระนครมีผู้แทนสังกัดพรรคต่าง ๆ แยกย้ายกันสุดแท้แต่เขตที่แบ่งนั้นจะเป็นเขตของอภิสิทธิ์ชนหรือของกรรมกรหรือของชาวนา ฯลฯ ผู้แทนที่สังกัดพรรคต่าง ๆ หรือเป็นอิสระก็สามารถเป็นตัวแทนของชนชั้นวรรณะต่าง ๆ ได้ ดังนั้นถ้าใช้วิธีรวมเขตแล้วอภิสิทธิ์ชนก็สามารถผูกขาดการเป็นผู้แทนในจังหวัดพระนคร และจังหวัดใหญ่ไว้ได้ และที่เราหวังว่าจะได้ประชาธิปไตยเสี้ยวเดียวโดยจําใจต้องรับเอาภาษิตของไทยว่า “สิบเบี้ยใกล้มือเอาไว้ก่อน” นั้น ก็ไม่มีอะไรจะถึงมือมวลราษฎรที่ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน ผลลัพธ์ในที่สุดก็จะเป็นว่าผลแห่งการพลีชีพ ร่างกาย และความสุขสําราญส่วนตัวของวีรชนนั้นจะตกไปเป็นของอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น ซึ่งเป็นการผิดเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่วีรชน ๑๔ ตุลาคม ปรารถนาให้มวลราษฎรทุกชนชั้นวรรณะและทุกชนชาติไทยมีสิทธิประชาธิปไตยถ้วนหน้ากัน ผมไม่ปรารถนาเสนอว่าให้ร่างตามบทมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับใดโดยเฉพาะ แม้ฉบับที่ผมเคยมีส่วนในการร่างแต่ผมขอร้องว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเคารพเจตนารมณ์ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปวงชนชาวไทย ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม และตรงกับ “สังคมสัญญา” ระหว่างพระปกเกล้าฯ ในฐานะแทนระบบราชาธิปไตยเหนือกฎหมายกับปวงชนชาวไทยที่พระองค์ทรงโอนพระราชอํานาจเพื่อให้ประชากรของพระองค์ “ดํารงอิสสราธิปไตยบริบูรณ์” ซึ่งผู้ใดจะละเมิดมิได้เป็นอันขาด
ด้วยความนับถือ
ปรีดี พนมยงค์
ภาคผนวก :
ผลงานเขียนสำคัญของนายปรีดี พนมยงค์
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผลงานสำคัญชิ้นที่มีอิทธิพลและเผยแพร่ในวงกว้างของนายปรีดี พนมยงค์คือวารสารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516 ซึ่งประกอบด้วยปาฐกถาสำคัญ จำนวน 4 ชิ้น ได้แก่
- จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม ในงานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ประจำ พ.ศ. 2516
- จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติหรือไม่ ในงานประชุมประจำปีของนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2516
- ข้อสังเกตของนายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ในงานชุมนุมของชาวธรรมศาสตร์ ประจำ พ.ศ. 2515
- อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด ในการชุมนุมสนทนาที่สามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทย) ในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2516
ภาพเหตุการณ์ช่วง 8-14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
หมายเหตุ :
- คงอักขร การสะกด การเน้นคำ และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ
เอกสารอ้างอิง :
- ปรีดี พนมยงค์, สำเนาจดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ตอบบรรณาธิการ “สามัคคีสาร” เรื่อง ขอทราบความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14-15 ตุลาคม 2516, (กรุงเทพฯ : นีติเวชช์, 2516)
หลักฐานชั้นต้นประเภทภาพถ่าย :
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ ฉ/ส.1/3 6 ตุลาคม 2516 โปสเตอร์ที่มีข้อความเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ ฉ/ส.1/57 นิสิต นักศึกษาฟังการอภิปราย
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ ฉ/ส.1/139 โปสเตอร์การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ ฉ/ส.1/149 การชุมนุมของนิสิต นักศึกษา และประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ ฉ/ส.1/159 การชุมนุมของนิสิต นักศึกษา และประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ ฉ/ส.1/226 นิสิต นักศึกษาและประชาชน นอนราบหลบกระสุนปืนของทหาร