ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดี พนมยงค์ กับข้อเสนออนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด

15
มีนาคม
2566

ระบบการเมืองที่จะเป็นประชาธิปไตยได้ก็จำต้องมีรัฐธรรมนูญ วิธีเลือกตั้งซึ่งให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้เสมอภาคกัน และมีความสะดวกในการออกเสียงได้ในทางปฏิบัติ อีกทั้งจะต้องมีระบบที่ฝ่ายบริหารจำต้องปฏิบัติเพื่อราษฎรอย่างแท้จริง และระบบที่ฝ่ายตุลาการจำต้องมีอิสระ และดำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม

ปรีดี พนมยงค์
(อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด, น. 151.)

หรือ

ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จึงต้องประกอบด้วย ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ, ประชาธิปไตยทางการเมือง, ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นหลักนำทางจิตใจ การมีระบบประชาธิปไตยทางการเมืองเท่านั้น แม้จะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรส่วนมาก ดีกว่าไม่มีระบบประชาธิปไตยทางการเมืองเลยก็จริงอยู่ แต่ถ้าไม่มีระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว ราษฎรส่วนมากก็ไม่มีโอกาสในทางปฏิบัติที่จะใช้สิทธิประชาธิปไตยได้

ปรีดี พนมยงค์
(อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด, น. 145.)

 

ภาพของนายปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ สนทนากับนักศึกษาไทยในฝรั่งเศสและยุโรป ในทศวรรษ 2510
ภาพของนายปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ สนทนากับนักศึกษาไทยในฝรั่งเศสและยุโรป ในทศวรรษ 2510

 

ความขัดแย้งทางการเมืองไทยสมัยใหม่นับตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2553 การรัฐประหาร พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบันที่แนวทางการต่อต้านระบอบเผด็จการอำนาจนิยมได้ย้อนกลับไปสู่อุดมคติและแนวคิดของคณะราษฎร หลัก 6 ประการ และหลักการประชาธิปไตยภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ

หากแง่มุมที่ขาดหายและไม่ค่อยมีการกล่าวถึง คือ บทเรียนจากประวัติศาสตร์และการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองจากสมาชิกคณะราษฎร ในห้วงยามแห่งความคับแค้นและระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ผู้เขียนจึงขอนำเสนอความคิดทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ จากปาฐกถาเรื่องอนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด ที่ยังคงร่วมสมัยและอธิบายหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์ไว้อย่างเป็นระบบครั้งแรก โดยใจความหลักของปาฐกถาฯ ชิ้นนี้ยังชี้ชวนให้ถอดบทเรียนในย่างก้าวต่อไปของขบวนการประชาธิปไตยและส่งผ่านไปถึงรัฐบาลใหม่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างแยบยล

 

ข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ เรื่องอนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปแบบใด

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 นายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งต่อหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์มายังคนหนุ่มสาวและเผยแพร่สู่สังคมไทยครั้งแรกในวารสารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516 ซึ่งประกอบด้วยปาฐกถาสำคัญ จำนวน 4 ชิ้น ได้แก่

  1. จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม ในงานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ประจำ พ.ศ. 2516
  2. จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติหรือไม่ ในงานประชุมประจำปีของนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2516
  3. ข้อสังเกตของนายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ในงานชุมนุมของชาวธรรมศาสตร์ ประจำ พ.ศ. 2515
  4. อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด ในการชุมนุมสนทนาที่สามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทย) ในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2516

 

วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516
วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516

 

ปาฐกถาของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่องอนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด ในวารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516
ปาฐกถาของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่องอนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด ในวารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516

 

ข้อเสนอของนายปรีดีที่ยังร่วมสมัยในบริบทการเมืองไทยระยะเปลี่ยนผ่านและไม่ได้รับการเผยแพร่สู่วงกว้างมากนักคือ ปาฐกถาอนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด ในการชุมนุมสนทนาที่สามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทย) ในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งนายปรีดีแสดงความคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง และทัศนะทางสังคมไว้อย่างแยบคาย และอธิบายความหมายของประชาธิปไตยสมบูรณ์ไว้ดังนี้

 

ระบบเศรษฐกิจการเมือง ระบบสังคมใหม่ และกฎแห่งอนิจจัง

ในทัศนะของนายปรีดีนั้น ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นได้ตามปกติของสังคมมนุษย์ที่มีฐานะและวิถีการดำรงชีวิตแตกต่างกันและมักจะเกิดความขัดแย้งทางชนชั้น และวรรณะต่างๆ ซึ่งในระบบสังคมการเมืองจะแบ่งคนออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ หนึ่ง คนส่วนน้อยของสังคมที่มีอิทธิพลและมีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองรวมถึงบุคคลที่หาประโยชน์จากกลุ่มผู้กุมอำนาจและมีอิทธิพลนี้ ตามปกติจะพอใจในระบบสังคมที่เป็นอยู่โดยอาจจะเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเมืองให้มั่นคงและสมบูรณ์ขึ้น มากกว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อราษฎรที่เป็นพลเมืองส่วนมากในสังคม ยกเว้นผู้ที่มองการณ์ไกลตามกฎอนิจจังทางสังคมว่าระบบที่เอื้อประโยชน์ต่อคนส่วนน้อยไม่อาจอยู่ได้ตลอดกาล

นายปรีดีระบุว่าพลเมืองส่วนมากของสังคมไทยคือ ผู้ไร้สมบัติ ชาวนายากจน ผู้มีทุนน้อย รวมทั้งนายทุนที่รักชาติที่ไม่ได้คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนหรือของพวกตนเป็นที่ตั้ง

และสอง ระบบสังคมใหม่ คือ “ระบบที่จะช่วยความเป็นอยู่ของพลเมืองส่วนข้างมากให้ดีขึ้นคือมีระบบการเมืองที่สอดคล้อง สมานกับพลังการผลิตทางเศรษฐกิจของสังคมเพื่อให้การเบียดเบียนหมดไปหรือลดน้อยลงไปมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้” และพลเมืองส่วนข้างมากของสังคมไทยนั้นแม้จะถูกเบียดเบียนจากพลเมืองส่วนข้างน้อย แต่ก็ยังไม่เกิดจิตสำนึกตามระบบสังคมใหม่ขึ้น และยังวิเคราะห์ถึงปัญหาที่พลเมืองส่วนข้างมากในสังคมไทยยังไม่มีจิตสำนึกดังกล่าวว่า “เพราะความเคยชินต่อการถูกเบียดเบียนมาช้านานหรือเพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลแห่งทัศนะสังคมที่ทำให้เกิดสภาพทางจิตพอใจในระบบเศรษฐกิจและการเมืองเท่าที่เป็นอยู่”

หากนายปรีดีมองว่าพลเมืองส่วนข้างมาก คือ พลังเงียบและกล่าวถึงไว้ในเชิงบวก ดังความว่า

“อย่างไรก็ตามราษฎรที่เป็นพลเมืองส่วนข้างมากนั้น แม้จะยังไม่แสดงความต้องการให้ประจักษ์ชัดแจ้ง แต่ก็เป็นพลังเงียบที่พร้อมต้อนรับระบบที่ทำให้ความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น”

 

หลักประชาธิปไตยสมบูรณ์

นายปรีดีให้ความสำคัญกับพลังผลักดันของราษฎรหรือ “มวลราษฎร” ที่ส่งผลให้สังคมก้าวหน้าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยว่าหมายถึงระบบที่ประชาชนหรือมวลราษฎรมีอธิปไตย โดยประชาธิปไตยมีมูลศัพท์มาจาก “ประชา” สนธิกับ “อธิปไตย”

และประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามทัศนะของนายปรีดีจะต้องประกอบด้วย “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ, ประชาธิปไตยทางการเมือง และทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นหลักนำจิตใจ” ซึ่งนายปรีดีให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและเน้นย้ำพร้อมยกตัวอย่างประกอบด้วยว่า

“...ถ้าไม่มีระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว ราษฎรส่วนมากก็ไม่มีโอกาสในทางปฏิบัติที่จะใช้สิทธิประชาธิปไตยได้ เพราะคนส่วนน้อยที่กุมอำนาจเศรษฐกิจอยู่ในมือย่อมมีโอกาสดีกว่าในการใช้สิทธิประชาธิปไตยทางการเมือง

ขอให้ดูตัวอย่างการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของหลายประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจนั้น พวกของผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจสามารถทุ่มเทเงินมาใช้จ่ายได้รับเลือกตั้งเข้ามาอยู่ในรัฐสภายิ่งกว่าผู้มีความสามารถทางการเมือง แต่ไม่มีทุนมาลงในการเลือกตั้ง ในกรณีเช่นนี้อำนาจทางการเมืองก็ตกอยู่ในมือของผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจซึ่งสามารถใช้อำนาจทางการเมืองดลบันดาลให้เศรษฐกิจเป็นไปตามความประสงค์ของตนและพวกของตนที่เป็นคนจำนวนส่วนข้างน้อยของสังคม”

 

ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นหลักนำจิตใจ

องค์ประกอบแรกของหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์ในทัศนะของนายปรีดีนั้น อยู่ที่มนุษย์ให้คุณค่ากับประชาธิปไตยคือ “มีทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยยึดถือเป็นหลักนำในการดำเนินกิจกรรมทางสังคม” โดยอธิบายความหมายและความสำคัญของทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยไว้ว่า

“ถ้าหากผู้ใดต้องการระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือแม้แต่ต้องการเพียงระบบประชาธิปไตยทางการเมือง แต่ยึดถือทัศนะทางสังคมที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเป็นหลักนำแล้ว ก็ย่อมดำเนินกิจกรรมไปตามแนวทางที่ไม่อาจเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยตามความต้องการนั้นได้

อะไรคือทัศนะประชาธิปไตยทางสังคมนั้นก็เป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาค้นคว้าทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ซึ่งย่อมพิสูจน์จากผลแห่งการดำเนินทัศนะที่ยึดถือนั้น นำไปสู่การปฏบัติที่บังเกิดผลให้สังคมมีระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์หรือแม้แต่ระบบประชาธิปไตยทางการเมืองเป็นเบื้องต้นแล้ว ทัศนะนั้นก็อยู่ในจำพวกประชาธิปไตย ถ้าไม่บังเกิดผลดังกล่าวก็สมควรวิเคราะห์พิจารณาว่าทัศนะนั้นขัดต่อความเป็นประชาธิปไตย และเป็นทัศนะที่สนับสนุนให้ระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยดำรงคงอยู่ได้ ตราบเท่าที่ทัศนะนั้นยังมีอิทธิพลอยู่ในสังคม…”

ทัศนะที่เป็นประชาธิปไตยทางสังคมจึงบรรลุเป้าหมายได้ด้วยผลลัพธ์ที่นำสังคมไปสู่ระบบประชาธิปไตยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้

 

ระบบประชาธิปไตยทางการเมือง

องค์ประกอบของหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์ประการที่สอง คือ ระบบประชาธิปไตยทางการเมืองซึ่งเกี่ยวเนื่องกับระบบอำนาจรัฐที่ราษฎรมีสิทธิในการใช้อำนาจรัฐ โดยจะมีอำนาจมากหรือน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับกฎหมายแม่บทในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง รวมทั้งระบบบริหารและระบบตุลาการ การมีระบบเลือกตั้งผู้แทนราษฎรจึงเป็นระบบที่มีขึ้นเพื่อให้ผู้แทนราษฎรใช้สิทธิแทนราษฎร นายปรีดีได้ชี้ให้เห็นปัญหาของระบบเลือกตั้งว่า

“ปัญหาระบบการเมืองประชาธิปไตยโดยผ่านทางผู้แทนราษฎรนี้ มิใช่อยู่ที่ว่ารูปภายนอกมีรัฐสภาอันประกอบด้วย ผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร แต่ยังจะต้องพิจารณาถึงระบบการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรว่าในทางปฏิบัติ ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงเสมอภาคกันและมีความสะดวกเพียงใด…”

นายปรีดีสรุปว่าระบบการเมืองจะเป็นประชาธิปไตยได้ด้วยปัจจัยสำคัญดังนี้

“...ระบบการเมืองที่จะเป็นประชาธิปไตยได้ ก็จำต้องมีรัฐธรรมนูญ วิธีเลือกตั้งซึ่งให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้เสมอภาคกัน และมีความสะดวกในการออกเสียงได้ในทางปฏิบัติ อีกทั้งจะต้องมีระบบที่ฝ่ายบริหารจำต้องปฏิบัติเพื่อราษฎรอย่างแท้จริง และระบบที่ฝ่ายตุลาการจำต้องมีอิสระ และดำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม…”

และยังมีข้อสังเกตต่อเรื่องประชาธิปไตยแบบไทยไว้ด้วยว่าควรเป็นประโยชน์เพื่อคนส่วนมากของสังคม

“...ผมขอฝากข้อสังเกตไว้อีกเล็กน้อยว่า ท่านอาจได้ยินวาทะของบางคนว่า ระบบประชาธิปไตยในอนาคตของประเทศไทยนั้น จะต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างไทยๆ วาทะนี้ฟังดูแล้วน่าเลื่อมใส ถ้าผู้กล่าวปรารถนาอย่างจริงใจให้ระบบการเมืองของไทยเหมาะสมแก่สภาพท้องที่กาละสมัยของมวลราษฎรไทย แต่ก็ควรพิจารณาว่า คำที่ว่าอย่างไทยๆ นั้นขออย่าให้เหมาะสมเพียงแต่เฉพาะคนไทยส่วนน้อยของสังคมเท่านั้น”

 

ระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

องค์ประกอบของหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์ ประการที่สาม คือ ระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ตามทัศนะของนายปรีดีหมายถึง “ราษฎรส่วนมากของสังคมต้องไม่ตกเป็นทาสของคนจำนวนส่วนข้างน้อยที่อาศัยอำนาจผูกขาดเศรษฐกิจของสังคม และราษฎรทั้งปวงจะต้องร่วมมือกันฉันพี่น้อง ออกแรงกายหรือแรงสมองตามความสามารถเพื่อผลิตสิ่งอุปโภคและบริโภคให้สมบูรณ์ ครั้นแล้วแต่ละคนก็จะได้รับผลด้วยความเป็นธรรม ตามส่วนแรงงานทางกายหรือทางสมองที่ตนได้กระทำ ผู้ใดออกแรงงานมากก็ได้มาก ผู้ใดออกแรงงานน้อยก็ได้น้อย”

นายปรีดียังเสนอให้ค้นคว้าว่า ระบบใดเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพื่อความไพบูลย์ของมวลราษฎรหรือประชาชน โดยได้เรียกข้อเสนอข้างต้นว่าเป็นการเสนอวิธีใช้ความคิดในปัญหาระบบประชาธิปไตยแบบต่างๆ ที่เกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทย และขมวดปมปัญหาประชาธิปไตยให้เข้ากับการรักษาเอกภาพของชาติอันเป็นรากฐานที่แท้จริงของสังคม

และชี้ว่าควร “สถาปนาระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ทัศนะทางสังคมเป็นรูปสังคมที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกชนชาติเห็นว่า ระบบนี้นำความผาสุกในความเป็นอยู่ที่แท้จริงของเขาได้ พวกเขาก็จะเต็มใจร่วมกับชนชาติไทยคงอยู่เป็นอาณาจักรอันเดียวกันตลอดไป”[1]

ข้อเสนอเรื่องอนาคตของประเทศและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจากปาฐกถาเรื่อง อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด ของนายปรีดี คือให้ดำเนินตามหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่มีองค์ประกอบของระบบประชาธิปไตยสามประการอันได้แก่ “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ, ประชาธิปไตยทางการเมือง และทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นหลักนำจิตใจ”

 

นายปรีดี พนมยงค์ อ่านและเขียนที่โต๊ะทำงาน ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
นายปรีดี พนมยงค์ อ่านและเขียนที่โต๊ะทำงาน ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

ณ ช่วงเวลาเดียวกันกับการเผยแพร่ข้อเขียนของนายปรีดี ใน วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516 ข้างต้น ทางนายปรีดีได้เขียนจดหมายฉบับสำคัญที่มีข้อเสนอเรื่องสถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญ เรียน ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี[2] ลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2516 โดยเนื้อหาหลักในจดหมายนั้นสอดรับกับข้อเสนอจากปาฐกถาเรื่อง อนาคตของของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปแบบใด แต่เพิ่มเติมข้อเสนอวิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตยเป็นหัวใจสำคัญไว้ดังนี้

 

ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2516 - 2518
ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2516 - 2518

 

ข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ต่อ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี
ข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ต่อ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี

 

“ชานกรุงปารีส

วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

เรียน ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี

อาศัยความตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าดำรงตำเหน่งรัฐบุรุษอาวุโส มีหน้าที่รับปรึกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนี้มาโดยถูกต้องตามกฎหมายจนถึงปัจจุบันนี้ และอาศัยคำเรียกร้องของรัฐบาลให้ปวงชนแสดงความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง

ฉะนั้นข้าพเจ้าในฐานะราษฎรคนหนึ่ง และในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสจึงขอเสนอความเห็นมายังท่านและรัฐบาลดังต่อไปนี้

๑. ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหลายบทความแล้วว่าข้าพเจ้าไม่ปรารถนาเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญตามบทมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับใดโดยเฉพาะแม้ฉบับที่ข้าพเจ้าเคยมีส่วนในการร่าง แต่ข้าพเจ้าขอร้องว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเคารพเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปวงชนชาวไทย ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม และตรงกับ “สังคมสัญญา” ระหว่างพระปกเกล้าฯ ในฐานะแทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับปวงชนชาวไทยที่พระองค์ทรงโอนพระราชอำนาจเพื่อให้ประชากรของพระองค์ “ดำรงอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์” ดังปรากฏในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ซึ่งพระองค์ได้ทรงยกร่างขึ้นโดยพระองค์เองตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหลายบทความแล้ว “สังคมสัญญา” นี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดไม่มีสิทธิละเมิดได้

ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านและรัฐบาลสอดส่องระมัดระวังป้องกันผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และกฎหมายเลือกตั้งละเมิดหลักการอันศักดิ์สิทธิ์นี้ โดยเฉพาะบางท่านที่ตีความคำว่า “ประชาธิปไตย” เอาตามใจชอบแล้วนำไปประยุกต์เอาตามใจชอบ ท่านกับรัฐบาลย่อมทราบเหมือนคนไทยทั้งหลายว่า คำนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้รับรองแล้วหมายถึง “แบบปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่” ปวงชนแสดงมติของตนโดยทางตรงหรือโดยทางผู้แทนที่ตนเลือกตั้ง ข้าพเจ้าไม่เคยพบตำราหรือการปฏิบัติของประเทศใดในโลกที่ถือว่าวุฒิสภาซึ่งสมาชิกเป็นโดยการแต่งตั้งนั้นเป็นระบอบประชาธิปไตย

๒. แม้ท่านกับรัฐบาลถือว่ามีหน้าที่เพียงชั่วคราวระหว่างที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่และการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีรัฐบาลใหม่ก็ดี แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านกับรัฐบาลมีความรับผิดชอบอย่างสำคัญต่ออนาคตของชาติ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งที่บัญญัติขึ้นในสมัยรัฐบาลนี้ มิได้ให้สิทธิ์ในทางปฏิบัติแก่ราษฎรทุกชั้นวรรณะ และทุกชนชาติไทย มีโอกาสต่อสู้กันอย่างสันติในรัฐสภา เช่น มีวิธีการปฏิบัติเพื่ออภิสิทธิ์ชนฝ่ายเดียวแล้วก็จะเป็นช่องทางให้ฝ่ายถูกกีดกันในทางปฏิบัติใช้วิธีต่อสู้นอกรัฐสภาขึ้น ความสงบสุขของบ้านเมืองก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ท่านย่อมเห็นได้ว่า ประเทศที่มีการกีดกันในทางกฎหมาย หรือในทางปฏิบัติต่อราษฎรส่วนใดไว้ ประเทศนั้นก็มีการต่อสู้นอกรัฐสภาขึ้น ส่วนประเทศที่ไม่มีการกีดกันเช่นว่านี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีการต่อสู้กันนอกรัฐสภา

๓. พร้อมจดหมายนี้ ข้าพเจ้าขอส่งมาเพื่อท่านกับรัฐบาลพิจารณา ซึ่งบทความที่ข้าพเจ้าให้หัวเรื่องว่า “วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย, โดยให้ราษฎรมีสิทธิ์ถอดถอนผู้แทน (Recall) ให้รัฐจ่ายค่าป่วยการแก่ราษฎรที่เดินทางมาลงคะแนนเสียง วิธีเลือกตั้งที่ไม่ซับซ้อน, ไม่บังคับให้ผู้สมัครสังกัดพรรค, สภาเดียว”

บทความนี้มีข้อความตรงกันในสาระสำคัญที่ข้าพเจ้าได้มอบให้แก่องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ปรารถนาได้บทความของข้าพเจ้าไปพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกวันที่ ๑๐ ธันวาคม และมีคำนำเพิ่มเติมภายหลังที่ข้าพเจ้าได้ทราบความเห็นของผู้ที่มีความรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งในสหพันธ์รัฐเยอรมัน

ถ้าท่านเห็นสมควร โปรดบัญชาให้เจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรีพิมพ์จดหมายและบทความนี้มอบให้แก่ท่านรัฐมนตรีในคณะของท่าน และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งรับไว้ประกอบการพิจารณาด้วย

อนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องที่ข้าพเจ้าเสนอมายังท่านนี้เป็นปัญหาส่วนรวมของประเทศชาติ ฉะนั้นจึงขอเรียนไว้ให้ทราบล่วงหน้าว่าข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นการขัดข้องที่ผู้สนใจจะได้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเสนอมวลราษฎร

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
นายปรีดี พนมยงค์
รัฐบุรุษอาวุโส

 

จากปาฐกถาและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญดังกล่าว สะท้อนทัศนะทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ว่ามีการขยับเคลื่อนทางความคิดโดยนำบทเรียนของคณะราษฎรมาวิเคราะห์ให้เข้ากับบริบททางการเมืองร่วมสมัยจนตกผลึกเป็นข้อเสนอที่ปูทางให้รัฐบาลพลเรือนก้าวเดินไปสู่หลักประชาธิปไตยสมบูรณ์

 

ภาพประกอบ : สถาบันปรีดี พนมยงค์ หนังสืออนุสรณ์ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ และรวินทร์ คำโพธิ์ทอง

หนังสือภาษาไทย :

  • กองบรรณาธิการ, วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2556 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556).
  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542).
  • ประกายธรรม, วาทะปรัชญาเมธี ดร. ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสประเทศสยาม (กรุงเทพฯ: ธรรมสภา, 2538).
  • ปรีดี พนมยงค์, วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม รวมปาฐกถา บทความ และข้อสังเกต ของนายปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, 2516).
  • วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์ บรรณาธิการ, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2552).
  • สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ, ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526).

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 


[1] ปรีดี พนมยงค์, วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม รวมปาฐกถา บทความ และข้อสังเกต ของนายปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, 2516), หน้า 139-159. และโปรดดูเพิ่มเติม สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ, ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526).

[2] ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535), หน้า 87-88.