ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เผด็จการแบบประชาธิปไตย ระบอบอำนาจนิยมในระบบรัฐสภา พ.ศ. 2557 - 2565

22
พฤษภาคม
2566

Focus

  • นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่อง (Flawed democracies) จากการจัดค่าดัชนีความเป็นประชาธิปไตย หรือ Democracy Index ของ Economist Intelligence Unit (EIU) ที่สำรวจความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2549 - 2565 โดยพิจารณาจากกระบวนการเลือกตั้งและแนวคิดพหุนิยมทางการเมือง เสรีภาพของประชาชน การทำงานของรัฐบาล การมีส่วนร่วมรวมในทางการเมืองของประชาชน และวัฒนธรรมทางการเมือง
  • นายปรีดี พนมยงค์ ในปาฐกถาเรื่อง “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” ให้กับสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส พ.ศ. 2517 ให้ข้อคิด 4 ประเด็น คือ (1) พิจารณาถึงวิธีต่อสู้ (Tactics) เพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ (Strategy) ที่ไม่ใช่คัมภีร์ตายตัว สามารถเรียนรู้จากสังคมอื่นๆ แต่ต้องเป็นไปตามสภาพท้องที่และกาลสมัย (2) ทุกวิถีทางที่บั่นทอนอำนาจเผด็จการย่อมเป็นประโยชน์ในการต่อต้านเผด็จการ (3) อาศัยทั้งการรุกและการรับ และไม่ควรมองเพียงด้านเดียว เฉพาะด้านวิธีต่อสู้เผด็จการ แต่ต้องพิจารณาด้านที่ฝ่ายเผด็จการจะตอบโต้ด้วยต่างๆ เช่น วิธีเศรษฐกิจ วิธีการเมือง วิธีใช้กำลังทหาร ตำรวจ วิธีจิตวิทยาที่ทำให้คนลุ่มหลงในระบอบเผด็จการ เป็นต้น และ (4) การขจัดอิทธิพลและลบล้างซากทรรศนะเผด็จการ
  • ระบอบเผด็จการมีหลายรูปแบบและมีลักษณะผสมผสานกับระบอบประชาธิปไตยได้ เช่น เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งหรือเผด็จการจากการแข่งขัน อันทำให้เกิดสภาพประชาธิปไตยบกพร่องและภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 การที่จะสามารถขจัดระบอบประชาธิปไตยไทยที่บกพร่องดังกล่าวได้นั้น น่าจะขึ้นอยู่กับระบบรัฐสภาแบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและพลังที่เข้มข้นของประชาชนในการต่อต้านระบอบอำนาจนิยมต่อไปในอนาคต

 

“ท่านที่ประสงค์ต่อต้านเผด็จการจะได้ขุมพลังอันแท้จริงนี้มาร่วมในการต่อสู้เผด็จการได้อย่างไรนั้น ไม่ใช่ปัญหาแห่งความท้อใจ แต่อยู่ที่ผู้ประสงค์ต่อต้านเผด็จการต้องมีความตั้งใจจริงในการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของชาติและราษฎรไทยส่วนมากที่จะพ้นจากการคุกคามของฝ่ายเผด็จการ”

ปรีดี พนมยงค์, เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร, 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2517.

 

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำรัฐประหารในเวลา 16.30 น. ที่มา : Voice TV
22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำรัฐประหารในเวลา 16.30 น.
ที่มา : Voice TV

 

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ที่มา : หอสมุดรัฐสภา
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗
เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ
ที่มา : หอสมุดรัฐสภา

 

ประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มา : หอสมุดรัฐสภา
ประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่มา : หอสมุดรัฐสภา

 

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำรัฐประหารในเวลา 16.30 น. โดยอ้างเหตุความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเป็นข้ออ้างหลักในการรัฐประหารซึ่งเป็นข้ออ้างที่คล้ายคลึงกับการรัฐประหารนับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา[1] และการขาดเสถียรภาพทางการเมืองแบบประชาธิปไตยนับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549[2] ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่อง หรือประชาธิปไตยที่มีตำหนิ (Flawed democracies) จากการจัดค่าดัชนีความเป็นประชาธิปไตย หรือ Democracy Index ของ Economist Intelligence Unit (EIU) ที่สำรวจความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2549 - 2565 ในระยะการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ (Full Democracy) บทความนี้จะเสนอให้เห็นวิธีต่อสู้เผด็จการของนายปรีดี พนมยงค์ รูปแบบของเผด็จการแบบประชาธิปไตยและการเข้าสู่การเมืองในระบบรัฐสภาหลัง พ.ศ. 2557 ว่ามีคำนิยาม ทฤษฎี และคำอธิบายระบอบเผด็จการร่วมสมัยอย่างไร และปัจจุบันประเทศไทยมีดัชนีความเป็นประชาธิปไตยเป็นไปในทิศทางไหนในมุมมองระหว่างประเทศ

 

วิธีต่อสู้เผด็จการของนายปรีดี พนมยงค์

 

นายปรีดี พนมยงค์ ในสมัยคณะราษฎรที่ปกครองโดยระบอบรัฐธรรมนูญ
นายปรีดี พนมยงค์ ในสมัยคณะราษฎรที่ปกครองโดยระบอบรัฐธรรมนูญ

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ณ เมืองตูรส์ นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวปาฐกถา เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร ภายในงานชุมนุมฤดูร้อนของสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส[3] โดยเสนอหัวใจของการต่อสู้กับเผด็จการไว้ว่า

 

“วิธีต่อสู้เผด็จการนั้นเป็นเรื่องของยุทธวิธี (Tactics) ซึ่งจะต้องดำเนินให้เหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ (Strategy) ของการต่อต้านเผด็จการ…ไม่ว่ายุทธวิธีใด จะเป็นทางทหาร ทางเศรษฐกิจ หรือทางการเมืองก็ไม่ใช่คัมภีร์ตายตัวที่จะต้องคงอยู่กับที่ เพราะยุทธวิธีย่อมต้องเป็นไปตามสภาพท้องที่และกาละ หรือที่ทางทหารถือว่าต้องสุดแท้แต่สภาพและเหตุการณ์”

 

และนายปรีดี ยังระบุว่าการใช้ยุทธวิธี (Tactics) ต่อสู้กับเผด็จการให้บรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ (Strategy) ย่อมต้องมองหลายด้าน และปรับยุทธวิธี (Tactics) ให้เหมาะสมแก่เผด็จการกลุ่มต่างๆ

 

“การต่อสู้ใดๆ นั้นย่อมมีทั้งการรุกและการรับ ฉะนั้น ไม่ควรมองเพียงด้านเดียว เฉพาะด้านวิธีต่อสู้เผด็จการ คือ ต้องพิจารณาด้านที่ฝ่ายเผด็จการจะตอบโต้ด้วย คือ ฝ่ายเผด็จการย่อมใช้วิธีเศรษฐกิจ วิธีการเมือง วิธีใช้กำลังทหาร ตำรวจ วิธีจิตวิทยาที่ทำให้คนลุ่มหลงในระบอบเผด็จการ ซึ่งฝ่ายต่อสู้เผด็จการจะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้โดยอาศัยหลักทฤษฎีสังคมที่ถูกต้องสมานกับรูปธรรมที่ประจักษ์ด้วย แล้ววินิจฉัยตามความเหมาะสมแก่สภาพของกำลังทั้งสองฝ่ายตามท้องที่และกาลสมัย”

 

ช่วงท้ายของปาฐกถาฯ นายปรีดีตั้งข้อสังเกตว่าวิธีการที่มวลชนสมัครสมานสามัคคีในบริบทความเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ที่นิสิตนักศึกษา และประชาชนร่วมกันต่อสู้กับระบอบเผด็จการจะนำไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ ดังนี้

 

“ผมสังเกตว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษานักเรียนโดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้สมานสามัคคีกันเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉะนั้น ถ้าสมานสามัคคีกันต่อไปเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเบื้องต้นก็จะเป็นคุณูปการแก่การต่อต้านเผด็จการให้สำเร็จได้”

 

4 วิธีต่อสู้เผด็จการของนายปรีดี พนมยงค์

4.1 วิธีต่อสู้เผด็จการนั้นเป็นเรื่องของยุทธวิธี (Tactics) ซึ่งจะต้องดำเนินให้เหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ (Strategy) ของการต่อต้านเผด็จการ
เมื่อกล่าวถึงยุทธวิธีแล้วท่านก็ย่อมรู้ได้ว่า ไม่ว่ายุทธวิธีใด จะเป็นทางทหาร ทางเศรษฐกิจ หรือทางการเมือง ก็ไม่ใช่คัมภีร์ตายตัวที่จะต้องคงอยู่กับที่ เพราะยุทธวิธีย่อมต้องเป็นไปตามสภาพท้องที่และกาละ หรือที่ทางทหารถือว่าต้องสุดแท้แต่สภาพและเหตุการณ์
ผู้ใดถือคัมภีร์จัดในทางยุทธวิธีก็ย่อมนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ เพราะสภาพการณ์ของฝ่ายเผด็จการมิได้นิ่งคงอยู่กับที่ คือ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ ท้องที่ กาลสมัยของสังคม ตัวอย่างยุทธวิธีของสังคมอื่นๆ ย่อมเป็นประโยชน์ที่ท่านจะต้องศึกษาเพื่อประกอบการพิจารณา แต่ท่านก็จะต้องพิจารณาว่า ตัวอย่างนั้นเหมาะสมแก่สภาพท้องที่ กาละของสยามหรือไม่ ขอให้ท่านระลึกถึงสุภาษิตของไทยโบราณมีว่า “เห็นช้างขี้อย่าขี้ตามช้าง” และมีคติของเมธีวิทยาศาสตร์สังคมผู้ได้กล่าวไว้ว่า “ต้องตัดเกือกให้เหมาะแก่ตีน มิใช่ตัดตีนให้เหมาะกับเกือก” (ผมได้กล่าวคติเหล่านี้ไว้ในหนังสือว่าด้วย ความเป็นอนิจจังของสังคม)
4.2 พรรคใด กลุ่มใด จะต่อสู้เผด็จการโดยวิธีใดนั้นสุดแท้แต่ตนจะวินิจฉัยว่า ตนสามารถถนัดใช้วิธีใด แต่เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเกณฑ์ให้คนอื่นต้องถือตามวิธีที่ตนนับถือบูชาอย่างคับแคบ ควรทำจิตใจอย่างกว้างขวาง ถือว่าทุกวิถีทางบั่นทอนอำนาจเผด็จการย่อมเป็นประโยชน์ในการต่อต้านเผด็จการ การอ้างเหตุว่า ถ้าใช้วิธีนั้นๆ จะทำให้ผู้ติดตามล้มตายนั้นก็เป็นเหตุผลที่เหลวไหล
ขอให้ท่านพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า การต่อต้านเผด็จการนั้นไม่ว่าวิธีใดก็ย่อมเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายทุกวิธี แม้วิธีสันติซึ่งขณะนี้เป็นวิธีที่กฎหมายอนุญาต แต่ก็รู้ไม่ได้ว่าฝ่ายเผด็จการกลับมีอำนาจขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ถูกกฎหมายในเวลานี้อาจจะถูกฝ่ายเผด็จการจับตัวไปโดยหาว่าเป็นผู้ต่อต้านเผด็จการก็ได้ ดังปรากฏตัวอย่างในอดีตที่มีผู้ถูกเผด็จการจับตัวไปฟ้องศาลลงโทษ เช่น กรณีขบวนการสันติภาพและกรณีที่มีผู้ถูกจับไปขังทิ้งยิงทิ้ง ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้ต่อต้านเผด็จการต้องพร้อมอุทิศตนเสียสละชีวิตร่างกาย ความเหน็ดเหนื่อยเพื่อชาติและราษฎร
ผมได้เคยตอบปัญหาที่สาราณียกรสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสขอให้ผมวิจารณ์การต่อสู้ของราษฎรในประเทศชิลี ซึ่งท่านได้นำลงพิมพ์ในวารสารของสมาคม ฉบับเดือนมกราคม 2517 นั้นแล้ว หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้อ่านและประกอบพิจารณาของท่านตามสมควรเกี่ยวกับยุทธวิธีต่อต้านเผด็จการด้วย
4.3 การต่อสู้ใดๆ นั้นย่อมมีทั้งการรุกและการรับ ฉะนั้น ไม่ควรมองเพียงด้านเดียว เฉพาะด้านวิธีต่อสู้เผด็จการ คือ ต้องพิจารณาด้านที่ฝ่ายเผด็จการจะตอบโต้ด้วย คือ ฝ่ายเผด็จการย่อมใช้วิธีเศรษฐกิจ วิธีการเมือง วิธีใช้กำลังทหาร ตำรวจ วิธีจิตวิทยาที่ทำให้คนลุ่มหลงในระบอบเผด็จการ ซึ่งฝ่ายต่อสู้เผด็จการจะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้โดยอาศัยหลักทฤษฎีสังคมที่ถูกต้องสมานกับรูปธรรมที่ประจักษ์ด้วย แล้ววินิจฉัยตามความเหมาะสมแก่สภาพของกำลังทั้งสองฝ่ายตามท้องที่และกาลสมัย ผมไม่อาจบรรยายให้ครบถ้วนในครั้งนี้ได้
แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ควรระมัดระวัง คือ การที่ฝ่ายเผด็จการส่งคนมาแทรกซึมในขบวนการต่อต้านเผด็จการ ซึ่งจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนในขบวนการอันเป็นการบั่นทอนกำลังของขบวนการ
4.4 เท่าที่ผมได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นนั้น ก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายเห็นเค้าของภาพทั่วไปในการต่อต้านเผด็จการตามที่ท่านทั้งหลายตั้งเป็นหัวข้อให้ผมปาฐกถา ซึ่งท่านก็พอเห็นแล้วว่า การต่อสู้เผด็จการนั้นต้องใช้เวลายืดเยื้อยาวนานซึ่งท่านจะต้องปลงให้ตกในการนี้
แต่มีปัญหาเฉพาะหน้าที่ผมยังไม่ได้ยินว่า มีผู้กล่าวถึงในสยาม คือ การลบล้างอิทธิพลและซากของเผด็จการนาซี ซึ่งภาษาอังกฤษได้เป็นศัพท์ขึ้นใหม่ว่า “Denazification” ฝรั่งเศส “Dénazification” เยอรมัน “Entnazifizierung” คือ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมนีได้กวาดล้างพวกนาซีออกจากตำแหน่งที่สำคัญ และอบรมนิสัยให้ชาวเยอรมันชำระซากทรรศนะนาซีให้หมดไปมากที่สุด เพื่อประเทศเยอรมนีจะได้ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
ในสยามก่อน 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งปกครองโดยระบอบเผด็จการ ก็เป็นธรรมดาที่หลายคนซึ่งมีทรรศนะนาซีปกครองได้ครองตำแหน่งสำคัญที่มีอิทธิพลในรัฐบาลสมัยนั้น แต่ภายหลังที่นิสิตนักศึกษา โดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้เสียสละชีวิต ร่างกาย ความเหน็ดเหนื่อย ต่อสู้ระบบเผด็จการนั้นสำเร็จและมีรัฐบาลซึ่งรับรองว่าจะดำเนินนโยบายประชาธิปไตยนั้น ก็มีสิ่งที่รอดหูรอดตาไป ในการที่บางคนซึ่งได้รับการฝึกฝนจนเกิดทรรศนะนาซีดำรงตำแหน่งสำคัญอยู่อีก ซึ่งให้ความเกื้อกูลสนับสนุนผู้ที่มีทรรศนะนาซีอย่างเดียวกัน ผมจึงเห็นว่าฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่ควรมองข้ามปัญหา “ดีนาซิฟิเคชั่น” นี้ ซึ่งเป็นพลังสำคัญอย่างหนึ่งให้แก่การฟื้นตัวของระบอบเผด็จการนาซี ส่วนหลายคนไม่ได้มีทรรศนะนาซี แต่เคยมีทัศนคติเผด็จการนั้น ถ้าแก้ไขทัศนะเดิมของตนโดยยึดถือทรรศนะประชาธิปไตยนั้นก็ควรถือเป็นพันธมิตรของฝ่ายต่อต้านเผด็จการในระดับหนึ่งระดับใดตามสมควร
ผมขอให้ท่านทั้งหลายระลึกอีกอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาบุคคลแห่งฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้นย่อมมีความแตกต่างกันในจุดหมายปลายทางแห่งระบอบสังคม ฉะนั้น จึงควรพิจารณาว่าความต้องการเบื้องต้นที่ตรงกันคืออะไร แล้วสถาปนาความสามัคคีตามพื้นฐานนั้นก่อน ผมสังเกตว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษานักเรียนโดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้สมานสามัคคีกันเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉะนั้น ถ้าสมานสามัคคีกันต่อไปเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเบื้องต้นก็จะเป็นคุณูปการแก่การต่อต้านเผด็จการให้สำเร็จได้”

 

คำนิยาม ทฤษฎี และคำอธิบายระบอบเผด็จการร่วมสมัย

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้เห็นคำนิยาม ภาษาทางการเมือง และคำอธิบายของระบอบเผด็จการร่วมสมัยว่า เผด็จการในภาษาอังกฤษมักจะเป็นแง่ลบในคำหลัก 4 คำ ที่กล่าวเรียกระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ได้แก่

  • Tyrant ทรราช
  • Dictatorship หรือ Authoritarianism อำนาจนิยม
  • Totalitarianism เผด็จการเบ็ดเสร็จ

ความหมายเบื้องต้นหรือคำนิยามพื้นฐานของระบอบเผด็จการ คือ เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตยหรือการปกครองโดยประชาชน หากในบริบทร่วมสมัย การที่ระบอบเผด็จการปรับตัวหรือกลายพันธุ์ หรือในสมัยสังคมการเมืองยุคโบราณส่งผลให้มีระบอบเผด็จการที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนด้วย ไม่ว่าจะมาจากความเต็มใจสนับสนุน หรือจำใจ หรือถูกจูงใจให้สนับสนุนทำให้เผด็จการอาจมีประโยชน์ต่อประชาชนหมู่มากด้วยโดยเฉพาะในสังคมการเมืองแบบโบราณ

ส่วนรูปแบบของเผด็จการจะมีผลทางการเมือง อาทิ ระบอบเผด็จการทั่วไปหรือเผด็จการธรรมดา จะไม่พยายามทำให้ประชาชนสนใจการเมือง แต่ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะเร่งเร้าให้ประชาชนสนใจการเมือง มีลักษณะปลุกระดมเพื่อให้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมากกว่า และระบอบเผด็จการยังมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่อิงแอบกับตัวบุคคลเพียงคนเดียวแบบเผด็จการทหาร หรือเผด็จการแบบพรรคการเมืองเดียวก็ได้[4] ซึ่งยุคหลังสงครามเย็นนั้นเผด็จการมีการปรับตัวโดยหากำลังเสริมด้านเศรษฐกิจที่เป็นจุดอ่อนของเผด็จการโดยให้มีตัวแสดงที่เป็นเทคโนแครตเข้ามาช่วยบริหารประเทศ อาทิ ในสมัยรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์[5]

เดิมในทางรัฐศาสตร์จะศึกษาเผด็จการแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

ประการที่หนึ่ง ในฐานะระบอบการเมืองการปกครอง เพื่อทำความเข้าใจอุดมการณ์เบื้องหลังของระบอบเผด็จการ ศึกษาโครงสร้างรัฐธรรมนูญ ทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย และวัฒนธรรมทางการเมืองที่เอื้อต่อเผด็จการ

ประการที่สอง เรามักศึกษาเผด็จการในฐานะประวัติศาสตร์ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร รวมถึงศึกษาผู้นำและเงื่อนไขการขึ้นสู่อำนาจ การครองอำนาจ และการลงจากอำนาจ (หรือจุดจบ) ของเผด็จการเหล่านั้น

ประการที่สาม เรามักจะศึกษาเผด็จการในฐานะปรัชญาการเมือง พูดแบบกว้างๆ ก็คือ ศึกษาว่านักคิดแต่ละท่านมีมุมมองเรื่องระบบการปกครอง (และการเมือง) อย่างไร ผู้ปกครองที่ดีควรเป็นแบบไหน สัญญาที่ทำระหว่างผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง (อาจหมายถึงการยินยอมที่จะอยู่ใต้การปกครอง) เป็นอย่างไร…หรือบางทีศึกษาว่าเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตยเป็นเผด็จการหรือไม่…”[6]

หากบริบทการเมืองร่วมสมัยระบอบเผด็จการยังมีลักษณะผสมผสาน (Hybrid) กับระบอบประชาธิปไตย หรือระบบรัฐสภา เช่น เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง (Electoral Authoritarianism) หรือเผด็จการจากการแข่งขัน (Competitive Authoritarianism)[7] และมีการศึกษาว่าอะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้เผด็จการยืนหยัดอยู่ได้[8]

 

ดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ของไทยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 - 2565

ภายหลังการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เพียงไม่นานเว็บไซต์ Thai Publica[9] เสนอการจัดค่าดัชนีความเป็นประชาธิปไตย หรือ Democracy Index ของ Economist Intelligence Unit (EIU) ซึ่งสำรวจจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยพิจารณาความเป็นประชาธิปไตยจากองค์ประกอบ 5 ประการ ได้แก่

  1. กระบวนการเลือกตั้งและแนวคิดพหุนิยมทางการเมือง อันเป็นแนวคิดที่ยอมรับความแตกต่าง หลากหลายในสังคม
  2. เสรีภาพของประชาชน
  3. การทำงานของรัฐบาล
  4. การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน
  5. วัฒนธรรมทางการเมือง

โดยรวมค่าเฉลี่ยจากทั้ง 5 องค์ประกอบ สามารถจัดกลุ่มประเทศตามคุณภาพประชาธิปไตยได้ 4 กลุ่ม คือ

  1. ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ (Full Democracy)
  2. ประชาธิปไตยแบบบกพร่อง มีตำหนิ (Flawed Democracy)
  3. ประชาธิปไตยแบบผสม/ ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ (Hybrid Democracy)
  4. การปกครองโดยกลุ่มอำนาจ (Authoritarian Regimes)

ใน พ.ศ. 2549 ที่ประเทศไทยมีการ “รัฐประหาร 19 กันยา” นั้นมีดัชนีความเป็นประชาธิปไตย (Democracy Index) อยู่อันดับที่ 90 ของโลก และอันดับ 5 ของอาเซียน โดยมีคะแนนด้านกระบวนการเลือกตั้ง และแนวคิดพหุนิยมทางการเมืองอยู่ที่ 4.83 จากคะแนนเต็ม 10 มีคะแนนเสรีภาพของประชาชนอยู่ที่ 6.47 มีคะแนนการทำงานของรัฐบาล 6.43 มีคะแนนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอยู่ที่ 5.00 และมีคะแนนด้านวัฒนธรรมทางการเมืองอยู่ที่ 5.63 ดังนั้น ดัชนีความเป็นประชาธิปไตยของไทยจึงอยู่ที่ 5.67

ต่อมาใน พ.ศ. 2551 ประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 54 ของโลก และมีความเป็นประชาธิปไตยสูงสุดในอาเซียน และ พ.ศ. 2556 คะแนนในองค์ประกอบต่างๆ ของไทยอยู่ที่ 7.83, 6.76, 6.07, 5.56 และ 5.00 และมีดัชนีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่ 6.25 ซึ่งยังถือว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี “ประชาธิปไตยบกพร่อง” (Flawed Democracy)

 

กลุ่มประเทศตามคุณภาพประชาธิปไตย 4 กลุ่ม ของ EIU, Democracy Index 2022 ที่ระบุว่าไทยคือสีฟ้าอ่อนอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชาธิปไตยบกพร่อง (Flawed Democracy) ที่มา : The Economist, (March 2023) และ EIU, Democracy Index 2022
กลุ่มประเทศตามคุณภาพประชาธิปไตย 4 กลุ่ม ของ EIU, Democracy Index 2022 ที่ระบุว่าไทยคือสีฟ้าอ่อนอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชาธิปไตยบกพร่อง (Flawed Democracy)
ที่มา : The Economist, (March 2023) และ EIU, Democracy Index 2022

 

กระทั่งใน พ.ศ. 2564 The Economist Intelligence Unit (EIU) รายงานดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ปี 2021 ประเทศไทยก็ยังคงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศ “ประชาธิปไตยบกพร่อง” (Flawed Democracy) แม้จะมีการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2562 จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการถดถอยของประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องและสังเกตว่าน่าจะสอดรับกับจำนวนการจับกุมคุมขังผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองและการอุ้มหายทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2557 - 2565

 

ภาพแสดงดัชนีชี้วัดว่าประเทศไทยมีแนวโน้มความเป็นประชาธิปไตยที่ขึ้นในปี 2022  ที่ประเทศไทยมีค่าดัชนีประชาธิปไตยดีขึ้นสูงสุดเปรียบเทียบจากปี 2021 ที่มา : The Economist, (March 2023) และ EIU, Democracy Index 2022
ภาพแสดงดัชนีชี้วัดว่าประเทศไทยมีแนวโน้มความเป็นประชาธิปไตยที่ขึ้นในปี 2022  ที่ประเทศไทยมีค่าดัชนีประชาธิปไตยดีขึ้นสูงสุดเปรียบเทียบจากปี 2021
ที่มา : The Economist, (March 2023) และ EIU, Democracy Index 2022

 

จนกระทั่งเมื่อประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะจัดการเลือกตั้งและเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไปสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์พบว่า ในรายงานการจัดอันดับดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ปี 2022 ของ Economist Intelligence Unit (EIU) ระบุว่า ประเทศไทยมีคะแนนรวมเพิ่มขึ้นมากที่สุดใน พ.ศ. 2565 คืออยู่ที่ 6.67 จาก 6.04 ใน พ.ศ. 2564 (เพิ่มขึ้น 0.62) และขยับจากอันดับที่ 72 ใน พ.ศ. 2564 มาเป็นอันดับที่ 55 ใน พ.ศ. 2565 จากทั้งหมด 167 ประเทศ โดยมีคะแนน 7.42, 6.07, 8.33, 5.63 และ 5.88 คะแนน ตามลำดับจาก 5 มิตินี้

(1) กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม (Electoral Process and Pluralism)
(2) การทำงานของรัฐบาล (The Functioning of Government)
(3) การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation)
(4) วัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture) และ
(5) เสรีภาพพลเมือง (Civil Liberties)[10]

นับจากการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 จนถึง 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ที่ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมเข้าสู่การเมืองในระบบรัฐสภาด้วยรูปแบบที่มีการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ และมีการทำประชามตินั้น ไม่ได้ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ในประชาคมโลกและการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งไม่ได้ก่อให้เกิดความสงบดังข้ออ้างที่ก่อการรัฐประหารอันเป็นข้ออ้างหลัก ดังนี้ ในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในปัจจุบันหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 จะสามารถตัดวงจรรัฐประหารที่ก่อให้เกิดระบอบประชาธิปไตยบกพร่อง(Flawed Democracy) ในสังคมไทยได้ซึ่งขึ้นอยู่กับระบบรัฐสภาแบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและพลังของประชาชนในการต่อต้านระบอบอำนาจนิยมที่เข้มข้นต่อไปในอนาคต

 

ที่มาของภาพ : Economist Intelligence Unit (EIU) และราชกิจจานุเบกษา

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ]. ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๗ เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๘๓ ง, หน้า ๑-๒.
  • ราชกิจจานุเกษา. ประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ. ๒6 พ.ค. ๒๕๕๗ เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๘๒ ง, หน้า ๑.

หนังสือ :

  • จิราภรณ์ ดำจันทร์. ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561.
  • พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. เผด็จการวิทยา. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561.
  • ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561.
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหาร กบฏในการเมืองไทยปัจจุบัน : บทวิเคราะห์และเอกสาร. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550.
  • ปรีดี พนมยงค์. เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร?. กรุงเทพฯ: สยามการพิมพ์, 2517.
  • เสน่ห์ จามริก. การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ พิมพ์ครั้งที่ 3 แก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2549.
  • อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ. เปรมาธิปไตย การเมืองไทยระบอบไฮบริด. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชัน, 2563.
  • Kongkirati, Prajak, and Veerayooth Kanchoochat. “The Prayuth Regime: Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand.” TRaNS: Trans-Regional and -National Studies of Southeast Asia 6, no. 2 (2018): 279–305.
  • Levitsky, Steven and Way, Lucan A. Competitive authoritarianism: hybrid regimes after the Cold War. New York: Cambridge University, 2010.
  • Svolik, Milan W., The politics of authoritarian rule, New York : Cambridge University Press, 2013.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :


[1] ข้ออ้างหลักของการรัฐประหารในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โปรดดูเพิ่มเติม ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหาร กบฎในการมืองไทยปัจจุบัน : บทวิเคราะห์และเอกสาร (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550).

[2] อ่านเรื่องการปฏิเสธ “สิ่งตกค้าง” ที่สืบเนื่องมาจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, (11 กุมภาพันธ์ 2564). เจตจำนงปวงประชา จักคือปราการต้านรัฐประหาร.

[3] ปรีดี พนมยงค์, เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร? (กรุงเทพฯ: สยามการพิมพ์, 2517), น. 84-90.

[4] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, เผด็จการวิทยา (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561), น. 30-31.

[5] โปรดดูเพิ่มเติม ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561).

[6] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, เผด็จการวิทยา (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561), น. 37-38.

[7] โปรดดูเพิ่มเติม Levitsky, Steven and Way, Lucan A. Competitive authoritarianism: hybrid regimes after the Cold War (New York: Cambridge University, 2010).

[8] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. เผด็จการวิทยา (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561) น. 39.