ท่านคณะกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ท่านคณาจารย์และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสมายืนที่นี้ในวาระสำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเช่นนี้
นอกจากรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติในการส่วนตัวแล้ว ในทางส่วนรวม ในขบวนการต่อสู้ ท่านที่เคารพครับ นี่เป็นครั้งที่ผมมีโอกาสมายืนพูดในงานสำคัญเช่นนี้โดยที่ได้รับเชิญจากองค์กรที่มีคุณค่าปรากฏชัดในประวัติศาสตร์นั่นหมายความว่า ขบวนการต่อสู้ที่ผมมีส่วนร่วมอยู่ด้วยตลอดเวลากว่า 10 ปี ได้ถูกจัดวางในเวทีประวัติศาสตร์เคียงข้างกับขบวนการต่อสู้ในแต่ละยุคแต่ละสมัย และเชื่อมร้อยกับประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ 2475
พวกผมเป็นขบวนการชาวบ้าน พวกผมเป็นขบวนการคนบ้านนอก เป็นขบวนการที่ถูกมองว่าการศึกษาน้อย แต่วันนี้ผมเป็นคนนึงที่ได้มาอยู่ที่นี้ กราบขอบคุณทุกคนมากจริงๆ ครับ
“คณะราษฎร 2475” ได้ปรากฏอย่างสง่างามในการเรียนรู้และความทรงจำของประชาชนคนไทยและชาวโลก ฯพณฯ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผลของเหตุการณ์เมื่อย่ำรุ่ง 90 ปีที่แล้ว ได้เปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปตลอดกาลจนปัจจุบันและตราบอนาคต ไม่ว่ามีใครจะพยายามลากดึงประเทศและสังคมนี้ให้ถอยหลังไปอย่างไรก็ตาม
แต่ในท้ายที่สุด ก็ไม่มีใครมีกำลังหรือเรี่ยวแรงพอที่จะลากดึงเอาประเทศนี้ถอยหลังเกินไปกว่าเส้นที่คณะราษฎร 2475 ได้ขีดเอาไว้ ไม่ว่าใครจะมามีอำนาจ ไม่ว่าจะมีอำนาจโดยวิธีการใด ไม่ว่าจะชอบธรรมแค่ไหน ไม่ว่าจะต้องฆ่าคนไทยไปกี่ราย ทุกคนต่างต้องประกาศว่าประเทศนี้ ต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย นั่นคือหมุดหมายสำคัญที่คณะราษฎรได้ตรอกตรึงไว้ในประวัติศาสตร์ของแผ่นดินไทยเมื่อ 90 ปีที่แล้ว ไม่มีใครกล้าประกาศว่า ประเทศไทยจะต้องปกครองในระบอบอื่นที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเมื่อปี 2475 แม้ว่าในเจตนาจะต้องการหรือไม่ก็ตาม
อย่างไรก็ดี คณะผู้อาวุโสเหล่านี้หาได้เป็นคนกลุ่มแรกไม่ ในการออกมาต่อสู้และเปลี่ยนแปลงสังคมไทย แท้ที่จริงแล้วก่อนหน้านั้นก็มีคนอีกจำนวนหนึ่ง ได้พยายามทำสิ่งนี้ แม้จะไม่สำเร็จตามความมุ่งหมาย แต่ก็ได้ก่อประกายไฟและได้ส่งต่อจิตวิญญาณนี้ยังคนรุ่นต่อๆ ไป ผมกำลังพูดถึงเหตุการณ์ที่เชื้อพระวงศ์ชั้นสูงและข้าราชการจำนวนหนึ่ง ราว 11 คน เข้าชื่อกันถวายคำแนะนำในหลวงรัชกาลที่ 5 ให้มีการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเพื่อให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศนำพาประเทศไทยรอดพ้นจากลัทธิจักรวรรดินิยมในเวลานั้น แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะไม่ได้รับการตอบรับ แต่อย่างน้อยที่สุดคำว่ารัฐธรรมนูญก็ได้ปรากฏขึ้นในบรรทัดประวัติศาสตร์ของสังคมไทยอย่างชัดเจนจากเหตุการณ์นั้น
และในยุคสมัยเดียวกันก็มีสามัญชนผู้เป็นนักคิดนักเขียนอีกอย่างน้อย 2 คน ที่ได้ใช้แรงใจไฟฝันพยายามที่จะผลักดันสังคมไทยไปข้างหน้าเขาคือ ก.ศ.ร. กุหลาบ และเทียนวรรณ นักคิดนักเขียน 2 ท่านนี้ได้เป็นปฐมบทแห่งชะตากรรมของสามัญชนผู้บังอาจลุกขึ้นตั้งคำถามต่ออำนาจชนชั้นนำและผู้บังอาจท้าทายและเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองต่ออำนาจของชนชั้นนำ เทียนวรรณถูกจำขังในเรือนจำ ก.ศ.ร.กุหลาบ ถูกส่งเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลโรคจิต นั่นหมายความว่าสามัญชนในประเทศนี้เมื่อใดก็ตามที่อาจหาญลุกขึ้นมาและตั้งคำถามเขาก็จะต้องกลายเป็นคนผิด คนโทษ หรือไม่ก็ต้องกลายเป็นคนบ้า
คณะ ร.ศ. 130 กลุ่มนายทหารชั้นยศนายร้อยเป็นส่วนใหญ่ รวมตัวกันต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองสูู่ประชาธิปไตย ชะตากรรมของพวกเขาคือที่จองจำ จนเมื่อบ้านเมืองเกิดการอภิวัฒน์รอยเชื่อมต่อทางประวัติศาตร์ก็ทำให้คณะผู้อภิวัฒน์หยิบยื่นคืนอิสระภาพให้กับคนเหล่านี้
จุดเริ่มต้นของ 2475 เกิดขึ้นในอาคารแห่งหนึ่งที่ประเทศฝรั่งเศสโดยนักเรียนไทย ข้าราชการไทยกลุ่มหนึ่งที่ไปศึกษากันที่นั่นรวมตัวกันประสานกับพลังของนายทหารหัวก้าวหน้าในประเทศไทย เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เกิดขึ้นจากขบวนการนักศึกษาตื่นตัวเรียกร้องรัฐธรรมนูญและเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตต่อต้านเผด็จการของ 3 นายทหารในยุคนั้น
6 ตุลา 2519 ยังเป็นสายธารของคนในช่วงวัยใกล้เคียงกัน พฤษภาทมิฬ 2535 ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนเมืองแสดงพลังรวมตัวกัน ถูกเรียกวันนั้นว่าเป็นม็อบมือถือ ปฏิเสธการสืบทอดอำนาจรัฐบาลเผด็จการ ต้องการนายกรัฐมนตรี
จากการเลือกตั้ง เมษา - พฤษภา 2553 ประชาชนจากทุกภูมิภาคของประเทศ ชาวไร่ ชาวนา แรงงาน เกษตรกร กลุ่มคนผู้สนับสนุนพรคคการเมืองและเห็นภาพความจริงที่เกิดขึ้นแล้วกลายมาเป็นนักต่อสู้ทางการเมือง รวมตัวกันกลางมหานคร ถูกไล่ยิง ไล่ฆ่า นอนตายกลางถนน ร่างไร้วิญญาณถูกขนลับตาหายไป เหลือแต่เพียงผู้คนจำนวนนึงมาแสดงความสดใส ล้างถนนในวันที่เหตุการณ์ยุติลง คณะราษฎรปี 2563 คือการปรากฎขึ้นของนักเรียน นักศึกษาในยุคปัจจุบัน ผู้ออกมายืนและตั้งคำถามกับโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เรียกร้องสังคมที่ให้ที่ยืนกับคนทุกคนในฐานะมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน
ผมย้อนหลังไปตั้งแต่คณะของ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ มาจนถึงคณะราษฎรในยุคปัจจุบันเพราะผมเห็นจุดเชื่อมต่อบางประการที่ทำให้สายธารแห่งการต่อสู้และสายธารของประวัติศาตร์นี้ถูกมองเป็นเรื่องเดียวกัน ท่านที่เคารพคณะของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์กับคณะของน้องๆ ราษฎรวันนี้ ต่างวัย ต่างบทบาท ต่างสถานะทางสังคม
คนเสื้อเเดง เมื่อปี 2553 กับ ขบวนการนิสิตนักศึกษาเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ก็มิได้มีลักษณะทางกายภาพหรือรูปลักษณ์ทางการเมืองแบบเดียวกัน แต่กลับกลายเป็นว่าคนเหล่านี้สู้ในอุดมการณ์เดียวกัน ยืนในจุดยืนอย่างเดียวกัน และกล้าหาญที่จะเสียสละ เพื่อชัยชนะของประชาชนในแต่ละยุคแต่ละสมัยเหมือนกัน อะไรที่ทำให้คนต่างยุค ต่างวัย ต่างสถานะ ต่างบทบาท ต่างอาชีพ ถึงได้ออกมายืนเรียงกันบนบรรทัดประวัติศาสตร์แบบนี้
ผมคิดว่าสิ่งที่ผมพบเห็นและอยากแลกเปลี่ยนมี 2-3 เรื่อง ผมคิดว่าแกนกลางสำคัญที่สุดคือองค์ความรู้ประชาชนในประเทศนี้ ถูกบังคับให้เรียน ถูกกำหนดให้รู้ ตามที่ผู้มีอำนาจหรือชนชั้นนำอยากให้รู้ เขาสอนให้เชื่อ แล้วทำให้เชื่องเป็นเวลาตลอดเวลาหลาย 10 ปี แต่เมื่อผู้คนเข้าถึงองค์ความรู้และพบว่ามันแตกต่าง พบว่ามันเหมือนกับกรงครอบทางปัญญา ที่ผู้มีอำนาจได้ประกอบสร้าง การเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น คณะของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นคนไทยรุ่นแรกที่ได้ไปเรียนและรับราชการยังต่างแดนเป็นทูตอังกฤษ เป็นทูตฝรั่งเศส คณะ ร.ศ. 130 เป็นลูกชาวบ้านหลานชาวนากลุ่มแรก ที่ได้เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยเพราะก่อนหน้าที่เปิดให้ลูกท่านหลานเธอ ลูกขุนน้ำขุนนางก็เท่านั้น คณะราษฎร 2475 เป็นปัญญาชนผู้ได้รับทุนอุดหนุน ผู้ได้รับโอกาสแล้วก็ใช้สติปัญญานั้นพยายามจะขับเคลื่อนประเทศอย่างสำคัญ มิไยที่เราจะต้องพูดถึงขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์เดือนตุลาทั้ง 16 และ 19 เพราะเขาเหล่านั้นเป็นปัญญาชนในสถาบันการศึกษา เป็นผู้มีปัญญาซึ่งเป็นที่หวังในอนาคตของประเทศอยู่แล้ว
ผู้คนเมื่อเดือนเมษา - พฤษภา 2553 ที่เคารพ ผมยืนยันด้วยเกียรติยศ ศักดิ์ศรีและชีวิตว่าพวกเขาไม่ได้ถูกหลอกมา พวกเขาไม่ได้ถูกล้างสมอง พวกเขาไม่ใช่มาเพราะโง่ที่จะต้องมายืนเผชิญหน้ากับปืนติดลำกล้องยิงไกลจากตึงสูง แต่เขามาเพราะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขามาเพราะเขาเข้าใจว่ามันปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้อีกต่อไป เขามาเพราะต้องการให้คนทั้งประเทศรู้ว่า เขาซึ่งอยู่ในไร่ในนาได้ลุกขึ้นมาแล้วได้ออกมาเหยียบยืนบนแผ่นดินในมหานครแล้วอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ ลูกหลานเราในปี 2563 นี้ก็เช่นเดียวกัน เขาออกมาเพราะเขารู้ ไม่ใช่ออกมาเพราะเขาโง่มืดบอดหรือไม่รู้ นอกเหนือจากองค์ความรู้
จุดร่วมประการต่อมา ผมคิดว่ามันอยู่ที่การได้เห็นโลก เห็นสังคมที่พัฒนา เห็นสังคมที่เขายอมรับในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เห็นสังคมที่หลักการประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมมีค่าและมีความหมายจริงต่อผู้คนในสังคม
คณะของ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ไปรับราชการต่างแดน คณะราษฎร 2475 ไปเรียนต่างประเทศ นักศึกษาปัญญาชนเมื่อเหตุการณ์เดือนตุลาคม 16 และ 19 หลายคน เวลานั้นการเดินทางไปต่างประเทศมันกลายเป็นเรื่องง่าย และหลายคนในเวลานั้นได้มีโอกาสประสิทธิ์ประสาทวิชาจากครูบาอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างแดนในโลกศรีวิไลซ์ ประชาชนเมื่อปี 2553 ท่านที่เคารพเวลานั้นมีโทรทัศน์ดาวเทียม โลกอินเทอร์เน็ตกระจายขยายตัวไปทั่วทุกมุมของสังคมไทย การส่งต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารมันทำได้ง่ายสะดวกและชัดเจนมากขึ้นกว่ายุคหลายสิบปีก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาท่านที่เคารพ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลกได้ทำให้โลกทั้งใบอยู่ในฝ่ามือของคนหนุ่มคนสาวลูกหลานเรา เขาอยากเห็น เขาอยากรู้ เขาอยากฟัง เขาอยากอ่านเหตุการณ์มุมใดของโลกก็เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสหน้าจอโทรศัพท์เท่านั้น ดังนั้นผมคิดว่าการได้มองเห็นและสัมผัสโลกกว้างก็เป็นจุดร่วมสำคัญอีกอย่างนึงสำหรับการต่อสู้และเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นในสังคมไทย
ในประการต่อมาท่านที่เคารพ มันคือการสืบทอดส่งต่อจิตวิญญาณอาจหาญของขบวนการต่อสู้ในแต่ละรุ่น คณะ 2475 จึงต้องกลับไปบอกกับ คณะ ร.ศ. 130 ว่า ถ้าไม่มีพวกท่านวันนั้น ก็ไม่มีพวกผมในวันนี้ คณะเราปี 2565 จึงยังต้องพูดถึงเหตุการณ์ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา นักเรียนนักศึกษาปี 2563 ถึงหยิบเอาเรื่องราวการต่อสู้และสูญเสียของคนเสื้อแดงมาพูดถึง มาอธิบายใหม่ มาแสดงความเข้าใจและเห็นใจ
ผมไม่ได้เข้าใจหรือรับรู้โลกของวิญญาณแต่ผมมีความเชื่อโดยส่วนตัวว่าจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ที่ต่อสู้มันส่งผ่านและมันเชื่อมต่อถึงกันได้ และวันนี้ผมจึงพูดได้อย่างเต็มคำว่าคณะราษฎรตั้งแต่ปี 2563 จึงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับคณะราษฎรเมื่อปี 2475 ในทางจิตวิญญาณและการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย
หลายคนบอกว่าย่ำรุ่งคืนวันศุกร์เมื่อ 90 ปีก่อน มันเป็นเรื่องที่คนกลุ่มหนึ่ง นายทหารส่วนนึงได้กระทำการชิงสุกก่อนห่ามเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อม ไม่เหมาะไม่ควร
ท่านที่เคารพเมื่อฝ่ายประชาชนมีจุดร่วมสำคัญในตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์ เราย้อนไปดูฝ่ายอำนาจเขาก็ส่งต่อถึงกันในข้อต่อสู้ที่ใช้กล่าวอ้างและสกัดกั้นพัฒนาการของสังคม คือการบอกว่าประชาชนยังไม่รู้ ประชาชนยังไม่พร้อม ประชาชนยังไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอ เรื่องนี้เป็นข้อกล่าวอ้างตั้งแต่ยุคพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จนถึงยุคน้องๆ ราษฎรในปัจจุบัน
ผมจึงอยากยืนยันเสียตรงนี้ว่าบ้านเมืองนี้มันควรเปลี่ยนแปลงไปตามวิธีทางไปตามธรรมชาติของสังคมมนุษย์มาแล้วนานแสนนาน แต่ที่มันยังมีปัญหา มันยังขัดแย้ง มันยังต้องต่อสู้และสุ่มเสี่ยงจะสูญเสียกันอยู่ถึงวันนี้ ไม่ใช่เพราะเมื่อ 90 ปีก่อนประชาชนชิงสุกก่อนห่าม แต่เพราะชนชั้นนำชิงห่ามไม่ยอมสุก คือ เลือกและกำหนดที่จะหยุดบ้านเมืองไว้ที่ห่ามๆ ดิบก็ไม่ใช่สุกก็ไม่เอา ให้ครึ่งๆ กลางๆ ห่ามๆ อยู่อย่างนั้นเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องบ่มให้สุกไปด้วยกันนี้แหละ
วันนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยจะจบลงเมื่อไหร่และจะจบลงอย่างไร แต่ผมแสดงความเชื่อมั่นได้ประการสำคัญว่ามันจะจบลงโดยชัยชนะเป็นของประชาชนอย่างแน่นอนเพราะประชาชนไม่มีวันที่จะหยุดต่อสู้ในอุดมการณ์ที่เชื่อมร้อยและส่งต่อถึงกัน
เวลาผ่านมา 8 ปี สำหรับอำนาจในยุคนี้ ผมว่ามันเป็นโรงหล่อหลอมความคิดของคนอย่างมีนัยสำคัญ คือ มันสามารถที่จะทำให้คนที่อาจจะเคยคิดต่าง เห็นต่างทางการเมือง คนที่อาจจะเคยเชื่อว่ารัฐประหารคือคำตอบ หรือทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเวลานี้จำนวนไม่น้อยเปลี่ยนความคิด การจะตาสว่างได้มีเหตุผลพื้นฐานสำคัญเพราะรู้และเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นตาถึงได้สว่าง
ดังนั้น 8 ปีที่ผ่านมา ถ้ามันยังพอมีสิ่งที่จะหยิบเอามาพูดถึงได้บ้าง ผมก็บอกว่า 8 ปีที่ผ่านมามันได้ทำให้ขนมหวานชนิดหนึ่งซึ่งมีหลายสี ขนมหวานชนิดนี้โดยทั่วไปถูกเรียกว่าสลิ่มเพราะว่ามีหลายสี บัดนี้ขนมหวานชนิดนี้จำนวนไม่น้อยได้เปลี่ยนเป็นเนื้อในแตงโมสุกปลั่งพร้อมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะเข้าใจความจริงของสังคมแล้วเหมือนกัน
ในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงเรื่องสีเสื้อ แต่ผมหมายถึงว่าสีสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงภายในหลายสังคมประเทศ เขามักพูดถึงสีนี้ ท่านที่เคารพ ปีที่ 91 ปีที่ 92 ของวาระนี้ผมยังมองไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ที่เชื่อได้อย่างหนึ่งคือปีหน้าเราต้องมีรัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้งแล้วก็มารำลึกวาระ 91 ปี 24 มิถุนายน รัฐบาลชุดต่อไปหน้าตาจะเป็นอย่างไร และจะน่าสนใจยิ่งกว่านั้นอีก ถ้าหากมีใครหรืออำนาจใดสกัดขัดขวางไม่ให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น บางคนบอกว่ามันจะไม่น่าดู แต่ผมบอกว่าลองสิน่าดู
ผมคงใช้เวลามาพอสมควรและคิดว่าวิทยากรอีกหลายๆ ท่านก็จะได้มาสนทนา มาสื่อสารกันต่อไป ผมก็เป็นชาวบ้าน ทีนี้พอมาแล้วก็ได้พูดจาตามระเบียบวาระครบถ้วน แต่มันจะกลับลงไปถ้าไม่ได้พูดอะไรที่มันยังคาใจอยู่
ผมพูดถึงนักคิดนักเขียนหลายคน ก.ศ.ร.กุหลาบ เทียนวรรณ และข้ามไม่พูดถึงท่านผู้นี้ไม่ได้ คือ กุหลาบช่อสำคัญอีกช่อหนึ่งบนบรรทัดประวัติศาตร์การเมืองไทย คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ผู้เป็นชื่อของหอประชุมแห่งนี้
นักคิดนักเขียนเหล่านี้ต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาชนมากมาย แต่น่าสนใจว่าไม่ว่าบ้านเมืองจะวิกฤติเพียงใดคนเหล่านี้ไม่เคยเรียกร้องให้ประชาชนเขาใช้เตาอั้งโล่เพื่อแก้ปัญหา และถ้าเราโหยหาการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เราก็น่าจะให้ความหมายกับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่พึ่งผ่านมาคือในสนามผู้ว่าฯ กทม.
ผมเรียนตรงๆ ว่าผมไม่ได้เป็นคนเลือก ดร.ชัชชาติ เพราะบ้านผมอยู่เมืองนนท์ แต่ผมเห็นวิธีทำงาน ผมว่าการเลือกตั้งคือคำตอบข้อใหญ่ที่จะนำพาสังคมเดินไปข้างหน้าได้ ถ้ากติกาแฟร์ ถ้าประชาชนตัดสินใจร่วมกัน ผมว่าเดินไปข้างหน้าได้ การเลือกตั้งกทม. จะเป็นหมุดหมายที่ให้คนช่วยกันฉุกใจคิด
ผมจะบอกว่าเราอยู่ในยุคที่มีผู้ว่าแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี แต่มีนายกรัฐมนตรีหน้าด้านที่สุดในพสุธา คือ ไม่สามารถไล่ให้ออกไปจากอำนาจได้ แม้แต่จะใช้หวายลงอาคมผมเชื่ออย่างนั้น ดังนั้นก็หวังใจว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึง คงจะนำพาโอกาสของฝ่ายประชาธิปไตย นำพาความเชื่อมั่นในหลักการที่ถูกต้องกลับมาคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง
ขอแสดงความคารวะต่อจิตวิญญาณ 2475 ขอแสดงความคารวะต่อทายาทลูกหลาน วงค์ตระกูลของวีระบุรุษในยุคสมัยนั้นทุกคน ถ้าไม่มีพวกท่านในวันนั้นก็ไม่มีพวกผมในวันนี้เช่นเดียวกัน
ที่มา : PRIDI Talks #16: 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม “อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/418729291509368/videos/596090475158070
- PRIDI Talks 16
- ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
- การอภิวัฒน์สยาม 2475
- หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
- ระบอบประชาธิปไตย
- ปรีดี พนมยงค์
- คณะราษฎร
- 24 มิถุนายน 2475
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
- กบฏ ร.ศ. 130
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- ก.ศ.ร. กุหลาบ
- เทียนวรรณ
- เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
- เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
- เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
- พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
- คนเสื้อเเดง
- กุหลาบ สายประดิษฐ์
- ศรีบูรพา