ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

Infographic: ปฐมบทประชาธิปไตยในสยาม พ.ศ. 2427-2478

8
พฤศจิกายน
2567

 

 

 

1. เหตุการณ์ ร.ศ. 103

ในสมัยรัชกาลที่ 5  “คณะ ร.ศ. 103” ประกอบด้วยเจ้านายและข้าราชการรวม 11 ท่าน นำโดยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์  ต้องการปฏิรูปการปกครองสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ  โดยเรียกร้องให้มี “รัฐธรรมนูญ” แต่ยังไม่ถึงขั้นจัดตั้ง “รัฐสภา”  อย่างไรก็ตามความพยายามครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ

 

 

2. เหตุการณ์ ร.ศ. 130

ในสมัยรัชกาลที่ 6 กลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้า นำโดย ขุนทวยหาญพิทักษ์, ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ  รวมตัวกันเป็น “คณะ ร.ศ. 130” (เดิมชื่อ “คณะเก๊กเหม็ง”) เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบที่ก้าวหน้าและเป็นธรรมยิ่งขึ้น ได้รับการขนานนามว่า “ยังเติร์ก รุ่นแรก”  แต่ก่อการไม่สำเร็จ จึงถูกเรียกว่า “กบฏ ร.ศ. 130”  ส่งผลให้สมาชิกถูกตัดสินประหารชีวิตและจำคุก แม้ภายหลังจะได้รับอภัยโทษ

 

 

3. การก่อเกิดจิตสำนึกแห่งการอภิวัฒน์ของปรีดี พนมยงค์

ขณะเกิดเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีอายุเพียง 11 ปี ได้สัมผัสความทุกข์ยากและเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของชาวนาเป็นอย่างดี จากการเติบโตในครอบครัวชาวนา ประสบการณ์เหล่านี้ ได้ปลูกจิตสำนึกในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดขึ้นในตัวเขาตั้งแต่วัยเยาว์

ปรีดีเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่อายุ 11 ปี จากเหตุการณ์ปฏิวัติในจีนโดย ดร.ซุน ยัตเซ็น  และกบฏ ร.ศ. 130 ในสยาม ซึ่งเขาแสดงความเห็นใจอย่างยิ่งต่อผู้ที่ได้รับโทษ เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นแรงผลักดันให้เขาทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเวลาต่อมา

 

 

4. การก่อตั้งคณะราษฎร พ.ศ. 2469

“คณะราษฎร” ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้า ผู้มีอุดมการณ์ร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2469 ณ หอพักแห่งหนึ่งบนถนน “Rue du Sommerard” ใจกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ที่ประชุมประกอบด้วยสมาชิกเริ่มแรก 7 ท่าน  ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์, ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี, ร.ท.แปลก  พิบูลสงคราม, ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี, นายตั้ว ลพานุกรม, นายจรูญ สิงหเสนี  และ นายแนบ พหลโยธิน โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมายมาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้กฎหมาย ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

 

 

5. ฎีกาชาวนาก่อนการอภิวัฒน์สยาม

ก่อนการอภิวัฒน์สยาม ราษฎรจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวนาต่างได้รับความเดือดร้อนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบภาษี การถูกยึดที่ดินทำกิน หรือการถูกเรียกเก็บเงินรัชชูปการ ล้วนเป็นเหตุให้ราษฎรต้องเผชิญกับความยากลำบาก

“ถวัติ ฤทธิเดช” เล็งเห็นความเดือดร้อนนี้ จึงลุกขึ้นมาเขียนฎีกาถึงพระมหากษัตริย์ เพื่อสะท้อนปัญหาและให้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎร

ตัวอย่างฎีกาที่สำคัญของถวัติ เช่น ฎีกาเรื่องการแก้ไขฐานะของชาวนา ฎีกาสอบถามงบประมาณในการเสด็จประพาสต่างประเทศของรัชกาลที่ 7  และฎีกาเรื่องเผยแพร่ลัทธิช่วยตัวเอง เป็นต้น

แม้ฎีกาของถวัติจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองได้โดยตรง แต่ก็มีส่วนสำคัญในการปลุกกระแส และสร้างความตื่นตัวทางการเมืองในหมู่ราษฎร โดยเฉพาะชนชั้นล่าง ซึ่งนำไปสู่การอภิวัฒน์สยามในที่สุด

 

 

6. การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

“คณะราษฎร” ได้ทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” สำเร็จลุล่วงโดยปราศจากการนองเลือด และได้ประกาศ หลัก 6 ประการ เป็นปฏิญญาในการพัฒนาประเทศ ดังนี้

  1. เอกราช: จะต้องรักษาความเป็นเอกราชไว้ให้มั่นคง
  2. ปลอดภัย: จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
  3. เศรษฐกิจ: จะต้องบำรุงความสุขของราษฏรในทางเศรษฐกิจ และวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. เสมอภาค: จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน
  5. เสรีภาพ: จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่จัดต่อหลัก 4 ประการข้างต้น
  6. การศึกษา: จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

 

 

7. สถาปนาปฐมรัฐธรรมนูญ ฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงรับไว้ แต่มีพระราชวินิจฉัยให้ใช้คำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้าย เพื่อความเหมาะสมในช่วงเปลี่ยนผ่าน

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจึงประกาศใช้ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยมีใจความสำคัญในมาตรา 1 ที่บัญญัติว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” จากนั้น จึงมีการจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

รัฐธรรมนูญฉบับถาวรนี้ ถือเป็น “สัญญาประชาคม” ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน โดยพระองค์ทรงโอนอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนชาวไทย ดังปรากฏในพระราชปรารภรัฐธรรมนูญ ซึ่งพระองค์มีส่วนร่วมในการร่าง และพระราชทานให้แก่ราษฎรด้วยพระองค์เอง

หลังจากนั้น คณะราษฎรจึงได้เชิญพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย

 

 

8. ปรีดี พนมยงค์ เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือ “สมุดปกเหลือง”

เมื่อสถาปนารัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยได้แล้ว สิ่งสำคัญลำดับถัดมา คือ “การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรทางเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตามหลัก 6 ประการ โดยปรีดี พนมยงค์ เชื่อว่าเศรษฐกิจเป็นรากฐานสำคัญของสังคม และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคง จึงได้ร่าง “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร

“ความคิดในทางอภิวัฒน์ของข้าพเจ้ามีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐกิจ” ปรีดี พนมยงค์

 

 

 9. รัฐประหารครั้งแรกโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา 1 เมษายน 2476

“เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ” หรือ “สมุดปกเหลือง” ของปรีดี พนมยงค์ ถูกต่อต้านอย่างหนัก นำไปสู่การรัฐประหารโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476  มีการปิดสภาผู้แทนราษฎร  งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และกล่าวหาปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” จนถูกเนรเทศออกนอกประเทศ นับเป็นรัฐประหารครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ระหว่างที่ปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ได้มีการออก “สมุดปกขาว” โจมตีเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ของปรีดี โดยที่เขาไม่มีโอกาสได้ชี้แจง

ต่อมาพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทำการยึดอำนาจคืน เพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย  และตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งผลสรุปว่า  ปรีดี พนมยงค์ พ้นจากข้อกล่าวหาเรื่องคอมมิวนิสต์

 

 

10.  เหตุการณ์กบฏบวรเดช 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476

“กบฏบวรเดช” นำโดย พระองค์เจ้าบวรเดช และ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นการก่อกบฏด้วยกำลังทหารครั้งแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม  และเป็นความขัดแย้งครั้งสำคัญระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยม  ผู้สนับสนุนระบอบเก่า กับฝ่ายคณะราษฎร ผู้ต้องการธำรงรักษาระบอบใหม่

กบฏบวรเดช มีเป้าหมายหลักในการลดทอนอำนาจของรัฐบาลคณะราษฎร แต่ท้ายที่สุด รัฐบาลสามารถปราบปรามกบฏได้สำเร็จเหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีการสร้าง “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” หรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เพื่อเป็นอนุสรณ์ และมีการตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองรัฐธรรมนูญ รวมถึงป้องกันการก่อกบฏในอนาคต

 

 

11. รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7  ทรงมีพระราชดำริทางการเมืองที่แตกต่างจากคณะราษฎรในหลายประเด็น  เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับพระราชประสงค์ และการต่อรองเรื่องพระราชอำนาจในระบอบใหม่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินไปประทับยังประเทศอังกฤษ เพื่อรักษาพระวรกาย และในที่สุด ได้ทรงสละราชสมบัติ  ขณะประทับ ณ พระตำหนักโนล เมืองแครนลี มณฑลเซอร์เรย์ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

ต่อมา พระองค์เสด็จสวรรคต ด้วยโรคพระหทัยวาย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484  ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา

 

 

12. รัชกาลที่ 8 ทรงขึ้นครองราชย์ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ รัฐบาลได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป

การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  ซึ่งบัญญัติให้การสืบราชสมบัติเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 และทรงดำรงพระองค์เป็นกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย โดยทรงงานร่วมกับรัฐบาล และลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับสมบูรณ์ที่สุด นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่ประกาศใช้ในช่วงที่คณะราษฎรมีบทบาทสำคัญทางการเมือง

 

หมายเหตุ

  • นับปีตามปฏิทินแบบใหม่

 

ไฟล์ Infographic ปฐมบทประชาธิปไตยในสยาม พ.ศ. 2427-2478

"ปฐมบทประชาธิปไตยในสยาม พ.ศ. 2427-2478" ความละเอียด 300 DPI (CMYK และ RGB)