Focus
- บทความนี้นำเสนอบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ กับการต่างประเทศ โดย สมจิตต์ อินสิงห์ และระวิ ฤกษ์จํานง ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 ที่เขียนถึงบทบาทและผลงานของนายปรีดี พนมยงค์ ในด้านการต่างประเทศนับได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยแรกในรัฐบาลพระยาพหลฯ จนสิ้นทศวรรษ 2480
- นายปรีดีมีปณิธานและผลงานด้านการต่างประเทศสำคัญ ได้แก่ การยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคตามแนวทาง “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎร ที่ว่า “จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง และในด้านการต่อสู้เพื่อเอกราชและอิสรภาพของประเทศเมืองขึ้นทั้งสามในอินโดจีน คือ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่นายปรีดีให้ความเห็นในการสนับสนุนและช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชและอิสรภาพในประเทศทั้งสามมาตั้งแต่ต้น ร่วมกับผู้นําทางการเมืองบางคนและประชาชนในภาคอีสานที่สนับสนุนขบวนการกอบกู้เอกราชและอิสรภาพนั้นด้วย
- นอกจากนี้ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 นายปรีดีได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับสันติภาพและการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีสู่สากล ด้วยการสร้างทำภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ขึ้น มิใช่เพื่อความบันเทิงเริงรมย์ หากเป็นทัศนคติเกี่ยวกับสันติภาพ โดยเห็นว่าสันติภาพเป็นของมีคุณค่าและหาได้ยากยิ่ง ดัง ในคํานำของนวนิยายที่นายปรีดีว่า ‘เรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่สันติภาพ เพราะชัยชนะแห่งสันติภาพนั้นมิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับสัจธรรมของพระบรมศาสดาที่ว่า นตฺถิ สนฺติปร์ สุขํ สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี’
“ระหว่างที่ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวสุนทรพจน์ทางวิทยุไว้หลายครั้ง ได้เขียนเผยแพร่เอกสารหลายชิ้นที่แสดงถึงอุดมคติที่ข้าพเจ้ายึดถือในเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ…ดังเช่นที่ข้าพเจ้าได้บรรยายไว้ในหนังสือเกี่ยวกับประเทศสยามที่รักสงบ…
และในบทภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก (นตฺถิ สนฺติปร์ สุขํ - สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี - RIEN N'EST PLUS MERVEILLEUX QUELA PAIX.)”
ปรีดี พนมยงค์
บทบาทของท่านปรีดี พนมยงค์ ในด้านการต่างประเทศ ทั้งก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอยู่ และแม้ภายหลังจากพ้นหน้าที่แล้ว มีมากมายเกินกว่าจะบอกเล่าได้หมดในเนื้อที่อันจำกัด ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงเฉพาะสาระสำคัญที่ควรแก่การอ้างถึง โดยขอแบ่งหัวข้อตามช่วงเวลา ดังนี้
๑. ช่วงระยะก่อนเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๒. ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๓. เรื่องอื่น ๆ ภายหลังจากนั้น
๑. ก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ในปี ๒๔๗๘ รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มอบหมายให้นายปรีดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางไปอังกฤษเพื่อเจรจาขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารอังกฤษ ที่นำมาใช้ก่อสร้างสาธารณูปโภคในสมัยรัชกาลที่ ๖ จากอัตราร้อยละ ๖ ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ ๔ ต่อปี ซึ่งนายปรีดีได้กระทำเป็นผลสำเร็จ ทำให้ประหยัดรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ของประเทศไทยลงได้มาก หลังจากการเจรจาดังกล่าวแล้ว นายปรีดีได้เดินทางไปเยี่ยมประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี สหรัฐ อเมริกา และญี่ปุ่น เพื่อทาบทามถึงการที่รัฐบาลไทยจะเปิดการเจรจาเพื่อยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศเหล่านั้น
ความพยายามที่จะยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคนี้ เป็นหลักประการแรกของ “หลัก ๖ ประการ” ของคณะราษฎร ที่ว่า “จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง”
ในหนังสือ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน ในบท “การเริ่มมีจิตสำนึกอภิวัฒน์ของข้าพเจ้า” ท่านปรีดีได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
อย่างไรก็ดี แม้ว่าคณะราษฎรและท่านปรีดีจะได้ทุ่มเทเวลาและความพยายามให้แก่เรื่องนี้เป็นอย่างมากและได้ผลสำเร็จในที่สุด ท่านปรีดีได้กล่าวว่าความพยายามแก้ไขสนธิสัญญาที่ผูกมัดนี้มิได้ริเริ่มในรัฐบาล “คณะราษฎร” แต่ท่านได้กล่าวไว้ใน ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๖ หน้า ๑๐๙ ว่า
๒. ระหว่างที่ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ผู้เรียบเรียงขอนําข้อความใน ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ หน้า ๒๓-๒๕ มาให้ ท่านผู้อ่านได้ทราบเป็นเบื้องแรก ดังนี้
การเจรจาให้สยามมีเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ และได้ดินแดนบางส่วน ระหว่างเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ครั้งที่ ๒) เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ และดํารงตําแหน่งนี้จนถึง ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้ปฏิบัติภารกิจที่สําคัญ คือ
๑. ในสมัยสมบูรณาฯ นั้น สยามถูกจักรวรรดินิยม (Imperialism) หลายประเทศบังคับให้ จำต้องทำสัญญาไม่เสมอภาค โดยยอมให้หลายประเทศจักรวรรดินิยมมีสิทธิพิเศษเหนือประเทศไทยหลายประการ อาทิ คนในบังคับต่างประเทศเหล่านั้นทำผิดในดินแดนไทย แต่ศาลไทยไม่อำนาจตัดสิน หากรัฐบาลไทยต้องส่งตัวคนต่างประเทศที่ทำผิดนั้นไปให้ศาลกงสุลของต่างประเทศชำระคดี แม้ต่อมาบางประเทศ อาทิ อังกฤษและฝรั่งเศส ยอมผ่อนผันให้ไทยตั้งศาลต่างประเทศและศาลคดีต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาไทยและที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรป ร่วมกันพิจารณาพิพากษาคดีคนในบังคับอังกฤษ และฝรั่งเศสนั้นก็ตาม
แต่ในสนธิสัญญาก็ได้กำหนด ไว้อีกว่า ถ้าความเห็นของผู้พิพากษาไทยขัดแย้งกับที่ปรึกษาชาวยุโรป ก็ให้ถือเอาความเห็นของที่ปรึกษาชาวยุโรปนั้นเป็นใหญ่กว่าความเห็นของผู้พิพากษาไทย โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้พิพากษาไทย มีจำนวนมากกว่าที่ปรึกษาชาวยุโรป แม้กระนั้นในสนธิสัญญาก็ยังได้กำหนดไว้อีกว่า คดีที่อยู่ในศาลต่างประเทศนั้น กงสุลอังกฤษก็ยังมีอำนาจที่จะถอนคดีไปชำระที่ศาลกงสุลอังกฤษได้ สถานกงสุลของหลายประเทศมีศาลและมีคุกสำหรับคนในบังคับของตนโดยเฉพาะ และมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ ที่เรียกตามศัพท์กฎหมายระหว่างประเทศ ว่า ‘สภาพนอกอาณาเขต’ (Extraterritoriality)
ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้น ประเทศจักรวรรดินิยมดังกล่าวมีสิทธิพิเศษตามสนธิสัญญาไม่เสมอภาค คือ ประเทศไทยถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าได้ เท่าที่สนธิสัญญากำหนดไว้ คือ เดิมเก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ ๓ ของราคาสินค้าขาเข้า แม้รัฐบาลสมบูรณาฯ ได้แก้ไขสนธิสัญญาให้สยามมีสิทธิมากขึ้นบ้าง แต่ก็ยังมีข้อกำหนดอัตราภาษีศุลกากรไว้อีกหลายประการ อีกทั้งจักรวรรดินิยมอีกหลายประเทศได้มีสิทธิพิเศษอื่น ๆ อีก อาทิ ได้สัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ การเดินเรือ ฯลฯ และมีอำนาจ กับอิทธิพลในทางการเมืองเหนือประเทศไทย
เมื่อปรีดีได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลพระยาพหลฯ แล้ว พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี จึงมอบหน้าที่ให้ปรีดีเป็นผู้ปฏิบัติการเพื่อเจรจาสนธิสัญญาฉบับใหม่กับนานาประเทศเพื่อให้สยามมีเอกราชและอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ปรีดีจึงใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศจักรวรรดินิยมต่าง ๆ นั้น และได้ยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่สยามได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์นั้นแก่ประเทศจักรวรรดินิยมพิจารณา ปรีดีได้ใช้ความอุตสาหะพยายามเจรจาโดยอาศัยหลัก ‘ดุลยภาคแห่งอํานาจ’ ซึ่งทําให้จักรวรรดินิยมแต่ละประเทศนั้น ๆ ยอมทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่สยามได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ ในที่สุด จักรวรรดินิยมทุกประเทศก็ได้ยอมทําสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่สยามได้เอกราชอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ทั้งเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล และในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ
๒. ได้เจรจากับรัฐบาลอังกฤษให้โอนดินแดนของสยามส่วนหนึ่งที่อังกฤษได้ไปจากสยามตามสนธิสัญญาฉบับปักปันเขตแดนระหว่างกับอังกฤษ ค.ศ. ๑๘๖๘ (สมัยรัชกาลที่ ๔) ที่ปากน้ําจั่น ระหว่างจังหวัดระนองกับวิคตอเรียพอยท์ของอังกฤษซึ่งมีดินงอกทางฝั่งไทย และอีกแห่งหนึ่งที่มีดินแดนริมฝั่งไทยด้านริมแม่น้ําสาย จังหวัดเชียงราย รัฐบาลอังกฤษได้ตกลงยินยอมให้ดินแดนที่งอกที่ฝั่งไทยนั้น เป็นดินแดนของไทย…”
ข้อความดังข้างต้นนี้ คือประวัติศาสตร์สังเขปเกี่ยวกับอำนาจพิเศษของจักรวรรดินิยมที่มีอยู่เหนือสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๕๗ (ค.ศ. ๑๙๑๔) ซึ่งสรุปได้ว่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๘ (ค.ศ. ๑๘๕๕) ซึ่งเป็นสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๗ (ค.ศ. ๑๙๑๔) นั้น ประเทศจักรวรรดินิยมหลายประเทศบังคับรัฐบาลสยามโดยตรง และโดยปริยายให้จําต้องทํา “สัญญาไม่เสมอภาค" (Unequal Treaties) ที่ยอมให้ประเทศจักรวรรดินิยมเหล่านั้นมีอำนาจเหนือสยามในทางการเมือง การเศรษฐกิจ การศาล ฯลฯ หลายประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว
“ยิ่งกว่านั้น คนไทยที่เคยอยู่หรือเคยรับราชการในจังหวัดริมแม่น้ําโขงสมัยก่อน พ.ศ. ๒๔๔๐ (ก่อนสนธิสัญญาใหม่ พ.ศ. ๒๔๘๐ ซึ่งรัฐบาลคณะราษฎรได้ทํากับหลายประเทศที่จะพูดถึงในตอนต่อไป) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ และมีความทรงจําได้ดี คงจะระลึกได้ว่า แม้ดินแดนริมฝั่งแม่น้ําโขงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยามก็ดี แต่สยามไม่มีอธิปไตยที่จะตั้งด่านศุลกากรในท้องที่ภายในเขต ๒๕ กิโลเมตรจากฝั่งขวาแม่น้ําโขง บริเวณนั้นจึงมีสินค้าจากอินโดจีนฝรั่งเศสเข้ามาขายได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร ทั้งนี้เป็นไปตามสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่สยาม จําต้องทําไว้กับฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)
อีกประการหนึ่ง แม้ว่าอังกฤษและฝรั่งเศส มิได้ตั้งเจ้าหน้าที่ไปปกครองสยามดังอาณานิคมของเขาก็ตาม แต่เขาก็มีข้อตกลงโดยตรงกับสยาม ให้สยามจำต้องจ้างคนสัญชาติจักรวรรดินิยมเป็นที่ปรึกษา แต่มิใช่ที่ปรึกษาที่ให้ความเห็นตามธรรมดา หากเป็นที่ปรึกษาชนิดมีอำนาจเหนือราชการไทย เช่น กรณีที่ปรีดีได้กล่าวไว้แล้วถึงที่ปรึกษาชาวยุโรปที่สยามจ้างมาประจำศาลต่างประเทศและศาลคดีต่างประเทศนั้น
นอกจากสยามจำต้องทำสัญญาโดยตรงกับอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อจ้างที่ปรึกษาที่มีอำนาจพิเศษดังกล่าวแล้ว สยามก็ยังต้องจ้างที่ปรึกษาชนิดที่มีอิทธิพล (influence) ทั้งนี้สืบมาจากสยามถูกคุกคามที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและฝรั่งเศสตามข้อตกลงระหว่างสองประเทศนั้น ฉบับ ค.ศ. ๑๘๙๖ ฉะนั้นรัฐบาลสยามจึงต้องมี ‘ความ เข้าใจต่อกัน’ (understanding) ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยตรงกับอังกฤษและฝรั่งเศส หากต้องปฏิบัติเพื่อมิให้กระทบผลประโยชน์ของประเทศทั้งสองในทางการเมืองและเศรษฐกิจ
ในการนั้นรัฐบาลสยามจึงต้องจ้างคนอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นที่ปรึกษาที่มีอิทธิพลเกี่ยวกับราชการส่วนที่ประเทศนั้น ๆ มีผลประโยชน์ อาทิ การคลัง (fi-nance) รวมทั้งการธนาคาร ซึ่งเป็นกุญแจสําคัญทางเศรษฐกิจ สยามจําต้องจ้างชาวอังกฤษเป็น ‘ที่ปรึกษาการคลังของรัฐบาลสยาม’ (Financial Adviser to the Government of Siam) ซึ่งมีฐานะสูงกว่าที่ปรึกษากระทรวงที่ขึ้นต่อเสนาบดีกระทรวงนั้น ๆ แต่ที่ปรึกษาของรัฐบาลสยามมีฐานะถวายความเห็นตรงต่อพระมหากษัตริย์ได้ เพราะตามระบบสมบูรณาฯ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐและพระประมุขของรัฐบาล” (ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ หน้า ๑๐๖-๑๐๘)
อย่างไรก็ดี เราควรจะได้ทราบด้วยว่าก่อนที่ท่านปรีดี พนมยงค์ จะได้เจรจาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับนานาประเทศนั้น มีประเทศใดบ้างที่หมดอํานาจพิเศษเหนือสยามระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ และยังมีอํานาจพิเศษเหนือสยามภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑
“ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้น ๓ จักรวรรดิ (empire) หมดอํานาจพิเศษเหนือสยาม ดังต่อไปนี้
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ (ค.ศ. ๑๙๑๗) สยามประกาศสงครามต่อจักรวรรดิเยอรมนี และต่อจักรวรรดิออสเตรียและฮังการี ฉะนั้นสนธิสัญญาและข้อตกลงทุกฉบับระหว่างสยามกับประเทศทั้งสองจึงสิ้นสุดลงตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ นั้นเอง จักรวรรดิรุสเซียที่เคยมีอํานาจพิเศษเหนือสยามนั้น ได้มีการ อภิวัฒน์สองครั้ง คือ ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์เป็นการอภิวัฒน์ ‘ประชาธิปไตยเจ้าสมบัติ’ (Bour-geois Democratic Revolution) ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ต้องสละราชสมบัติ แต่ไม่ทันที่รัฐบาลสยามจะตกลงรับรองรัฐบาลใหม่หรือไม่ ก็เกิดการอภิวัฒน์ใหญ่แห่งเดือนตุลาคม (October Revolution) ตามปฏิทินแห่งรุสเซีย (ซึ่งตรงกับ วันที่ ๗ พฤศจิกายน แห่งปฏิทินเกรโกเรียนที่ใช้ในหลายประเทศปัจจุบันนี้) ที่เปลี่ยนระบบเก่าโดยสิ้นเชิง โดยสถาปนาระบบโซเวียตขึ้นมาแทนที่ซึ่งพัฒนาเป็น “สหภาพโซเวียต” รัฐบาลสยามไม่รับรอง ‘รัฐ’ (state) และ ‘รัฐบาล’ (government) ใหม่ของรุสเซีย ฉะนั้น สนธิสัญญาและข้อตกลงใด ๆ ที่สยามทําไว้กับจักรวรรดิรุสเซียจึงสิ้นสุดไป
- ประเทศจักรวรรดินิยมที่ยังมีอํานาจพิเศษเหนือสยามภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ คือ ๑. อังกฤษ ๒. ฝรั่งเศส ๓. สหรัฐอเมริกา ๔. อิตาลี ๕. ญี่ปุ่น ๖. เนเธอร์แลนด์ ๗. เบลเยียม ๘. เดนมาร์ก ๙. สวีเดน ๑๐. นอรเว ๑๑. สเปน ๑๒. โปรตุเกส”
ทั้งหมดนี้ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนสรรเสริญรัฐบาลไทยสมัยสมบูรณาฯ สมัยรัชกาล ที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ไว้แล้วว่า ได้พยายามหาทางแก้ไขสนธิสัญญาที่ถูกผูกมัดกับประเทศเหล่านั้นตลอดเวลา
ยังมีเอกสารอีกเล่มหนึ่ง คือ หนังสือ ประวัติการทูตของไทย ซึ่งข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศได้จัดพิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้พรรณนาโดยสังเขปถึงประวัติความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับนานาประเทศตั้งแต่สมัยโบราณจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) ส่วนหนึ่งได้กล่าวตามหลักฐานความเป็นจริงว่า การเจรจาสนธิสัญญากับนานาประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น สยามยังไม่ได้เอกราชโดยสมบูรณ์ แต่สยามได้เอกราชโดยสมบูรณ์ในการเจรจาสนธิสัญญาใหม่ภายหลังที่สยามได้มีระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญแล้ว และได้ระบุปีดังกล่าวไว้ ซึ่งตรงกับช่วงที่ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
เพื่อให้ได้ทราบข้อความข้างต้นชัดเจนขึ้น ขอนําข้อความในหน้า ๕๕-๕๖ ในหัวเรื่อง การแก้ไขสนธิสัญญากับนานาชาติ พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๖๙ (ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๖) และเอกราชสมบูรณ์ พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๒-๑๙๓๗) หน้า ๕๙-๖๒ ในหนังสือ ประวัติการทูตของไทย มาไว้ดังนี้
“การแก้ไขสนธิสัญญากับนานาชาติ พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๖)
ประเทศไทยได้จัดระเบียบการปกครองภายในประเทศตามแผนปัจจุบันแล้ว มูลเหตุที่ได้เกิดมีระบบสภาพนอกอาณาเขตขึ้นในประเทศไทย ก็ย่อมหมดสิ้นไป ฉะนั้น ถ้าจะพูดกันโดยความเป็นธรรมแล้ว นานาชาติที่เกี่ยวข้องก็ควรยอมเลิกสภาพนอกอาณาเขตเสีย
สภาพนอกอาณาเขตมีอุปสรรคใหญ่อยู่ ๒ ประการ คือ ๑. อํานาจศาลกงสุล และ ๒. การจํากัดอัตราศุลกากรเป็นการตายตัว เช่น อัตราศุลกากรสินค้าขาเข้า ไทยจะเก็บเกินอัตราร้อยละ ๓ ของราคาไม่ได้ ซึ่งเป็นอัตราต่ํามากทีเดียว เพราะในขณะนั้นตุรกีซึ่งมีระบบสภาพนอกอาณาเขตอยู่เหมือนกัน ก็ได้รับความยินยอมให้เก็บร้อยละ ๑๑
ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สนธิสัญญาที่ตั้งสภาพนอกอาณาเขตขึ้นนั้น มีข้อบัญญัติไว้ว่า จะแก้ไขเพิ่มเติมได้ก็ด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย คือ จะบอกเลิกไม่ได้ ประเทศไทยจึงต้องทําการเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง และได้เริ่มการขอเจรจาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๒ (ค.ศ. ๑๙๑๙) แต่การเจรจากินเวลาหลายปีจึงเป็นที่ตกลงกันได้ เพราะเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ซึ่งชาติต่างประเทศมีอยู่แล้ว การที่จะยอมสละผลประโยชน์นั้นก็มิใช่ง่าย และผลที่ตกลงกันก็เป็นการประนีประนอมกันเป็นธรรมดา
หลักในสนธิสัญญาที่แก้ไขใหม่นั้น มีอยู่ว่า
๑. ในเรื่องอํานาจศาลกงสุล ให้ยกเลิกอํานาจ ศาลกงสุลเสีย โดยให้คนชาติแห่งต่างประเทศคู่สัญญาขึ้นศาลไทย แต่มีเงื่อนไขว่าจนกว่าจะประกาศและใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้ว และต่อไปอีก ๕ ปี ถ้าพนักงานทูตหรือกงสุล เห็นสมควรเพิกถอนคดีที่คนชาติของตนเป็นจําเลย ไปพิจารณาพิพากษาเสียเอง เพื่อประโยชน์แก่ความยุติธรรม ก็ถอนคดีไปได้ แต่จะถอนไปจาก ศาลฎีกาไม่ได้ และ
๒. ในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรไทยมีอิสรภาพในการตั้งพิกัดอัตราศุลกากร แต่ก็ยังมีข้อจํากัดอยู่บ้าง เช่น สนธิสัญญาพาณิชย์และการเดินเรือกับอังกฤษ จํากัดไว้ว่า ภายในระยะเวลา ๑๐ ปี ไทยจะไม่เก็บศุลกากรด้ายดิบ ด้ายเย็บผ้า ผ้าและสรรพสิ่งอื่น ๆ ที่ทําด้วยฝ้าย เหล็ก เหล็กกล้า และสิ่งต่าง ๆ ที่ทําด้วยเหล็ก หรือ เหล็กกล้า กับทั้งเครื่องจักรและส่วนของเครื่องจักร ในอัตราสูงกว่าร้อยละ ๕ ของราคา
สนธิสัญญาที่แก้ไขในครั้งนั้น มีดังต่อไปนี้
๑. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์ และ การเดินเรือกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๔๖๓ (ค.ศ.๑๙๒๐)
๒. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์ และ การเดินเรือกับประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๔๖๖ (ค.ศ.๑๙๒๓)
๓. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์ และ การเดินเรือกับประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๖๗ (ค.ศ. ๑๙๒๔)
๔. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับเนเธอร์แลนด์ พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕)
๕. สนธิสัญญาทั่วไปว่าด้วยทางไมตรีกับประเทศอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕)
๖. สนธิสัญญาทาง พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕)
๗. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศสเปน พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕)
๘. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศโปรตุเกส พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕)
๙. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศเดนมาร์ก พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕)
๑๐. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศสวีเดน พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕)
๑๑. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศอิตาลี พ.ศ. ๒๔๖๙ (ค.ศ. ๑๙๒๖)
๑๒. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับสหภาพเศรษฐกิจ เบลโก-ลักเซม-เบิร์ก พ.ศ. ๒๔๖๙ (ค.ศ. ๑๙๒๖)
๑๓. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศนอร์เวย์ พ.ศ. ๒๔๖๙ (ค.ศ. ๑๙๒๖)
เอกราชสมบูรณ์
๑. พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๒-๑๙๓๗)
ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) ประเทศไทยได้เปลี่ยนระบอบการปกครองจากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นแบบรัฐธรรมนูญ และในหลัก ๖ ประการ (ของคณะราษฎร) ที่ตั้งขึ้นเป็นหลักมูลนโยบาย ก็มีหลักเอกราชเป็นหลักที่ ๑ คือ จะต้องจัดการเอาอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาให้ได้เต็มที่ และจะต้องปลดเปลื้องข้อผูกพันอันเป็นอุปสรรคต่อทางก้าวหน้าของชาติ
อุปสรรคเช่นว่านี้ได้แก่ ๑. ความไม่สมบูรณ์ในอํานาจอธิปไตยของไทยบางประการ ซึ่งมีอยู่ชั่วคราว ๒. ข้อผูกมัดที่ไม่เสมอภาคบางประการ และ ๓. ข้อถ้อยทีถ้อยผูกพันบางประการ ซึ่งมีผลจํากัดเสรีภาพของไทยในการวางนโยบายแห่งชาติเกินสมควรไป
๑. ในเรื่องอํานาจศาล ประเทศส่วนมาก ยังมีสิทธิถอนคดีที่คนชาติของเขาเป็นจําเลยไปจากศาลไทย นอกจากศาลฎีกา เพื่อเอาไปพิจารณาพิพากษาในศาลกงสุลได้ ทั้งนี้จนกว่าจะได้ประกาศและใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้ว และต่อไปอีกห้าปี และในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรก็มีข้อจํากัดการเก็บอากรสินค้าขาเข้าบางอย่าง เช่น ฝ้าย และวัตถุทําด้วยฝ้าย เหล็ก กับวัตถุทําด้วยเหล็ก รถยนต์ เครื่องจักร หมวก นมข้น และเหล้า ทั้งนี้มีกําหนด ๑๐ ปี ซึ่งจะสิ้นสุดลงก็ใน พ.ศ. ๒๔๗๙ (ค.ศ. ๑๙๓๖)
๒. ไทยถูกผูกมัดฝ่ายเดียวในเรื่อง ก. การคืนอากรกระสอบป่าน ข. สิทธิเก็บศุลกากรในเขต ๒๕ กิโลเมตรทางชายแดนแม่น้ําโขง ค. การให้ผลปฏิบัติอย่างคนชาติพื้นเมืองในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ และ ง. การยอมรับสัญชาติต่างประเทศของคนบางประเภท ซึ่งเกิดในประเทศไทย และ
๓. ไทยตั้งการผูกขาด หรือเรียกเกณฑ์เพื่อการทหารไม่ได้ ประเทศไทยในระบอบรัฐธรรมนูญได้รีบจัดการออกประมวลกฎหมายให้ครบถ้วน คือ ได้ออกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และบรรพ ๖ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาล ซึ่งได้ประกาศ และใช้เป็นอันครบถ้วนใน พ.ศ. ๒๔๗๘ (ค.ศ. ๑๙๓๕) ฉะนั้นสิทธิถอนคดีจะสิ้นสุดลงก็ต่อใน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐)
เพื่อปลดเปลื้องอุปสรรคดังกล่าวแล้วข้างต้น รัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญได้ดําเนินการเจรจาทําสนธิสัญญาใหม่กับนานาประเทศ เพื่อให้สนธิสัญญาใหม่เป็นแบบเดียวกับที่อารยประเทศทําต่อกัน คือ แบบสนธิสัญญาเสมอภาค โดยถือหลักการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน หลักความเป็นธรรมและหลักคุณประโยชน์แก่กันและกันเป็นเกณฑ์ กล่าวคือให้ผลปฏิบัติอย่างชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งในเรื่องการพาณิชย์และการเดินเรือ และให้ผลปฏิบัติอย่างชาติพื้นเมืองในเรื่องภาษีอากร สนธิสัญญาเหล่านี้มีกําหนดอายุ ๕ ปี และต่อจากนั้นก็บอกเลิกได้ เผื่อว่าถ้ามีข้อความใดยังไม่สะดวกในทางปฏิบัติ จะได้ทําการแก้ไขใหม่ได้
สนธิสัญญาที่ทํากันใหม่นั้น มีดังต่อไปนี้
๑. สนธิสัญญาทางไมตรี และพาณิชย์กับสวิส พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๒. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับสหภาพเศรษฐกิจ เบลโก-ลักเซม-เบิร์ก พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๓. อนุสัญญาการตั้งถิ่นฐานกับประเทศเบลเยียม พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๔. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศเดนมาร์ก พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๕. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศสวีเดน พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๖. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๗. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศนอร์เวย์ พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๘. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๙. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศอิตาลี พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๑๐. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๑๑. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๑๒. ข้อตกลงพาณิชย์และศุลกากรกับประเทศฝรั่งเศส เกี่ยวกับอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๑๓. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศเยอรมนี พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๑๔. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับเนเธอร์แลนด์ พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
๑๕. สนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศโปรตุเกส พ.ศ. ๒๔๘๑ (ค.ศ. ๑๙๓๘)
โดยสนธิสัญญาเหล่านี้ ประเทศไทยได้รับอิสรภาพในเรื่องอำนาจศาลและการภาษีอากรกลับคืนมาโดยเต็มที่ ศาลยุติธรรมของไทยชำระชาวต่างประเทศได้เหมือนกับคนไทย ส่วนศุลกากรและภาษีอากรอย่างอื่นก็เก็บได้ตามที่เห็นสมควร อนึ่ง จะเรียกเกณฑ์เพื่อการทหารและตั้งการผูกขาดก็ได้ จะเอาบุคคลทั้งปวงที่เกิดในประเทศไทยไว้เป็นคนชาติไทยก็ได้ และจะสงวนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ยังไม่มีเจ้าของไว้ให้แก่คนชาติไทยก็ได้ ประเทศไทยกลับเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์แล้ว”
ความจริงแล้วการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคกับนานาประเทศทั้งในสมัยสมบูรณาฯ มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ นี้ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ อีกหลายประการที่น่าจะรวบรวมเป็นเล่มต่างหาก เช่น พิธีสารต่าง ๆ ของแต่ละประเทศรวมทั้งบางประเทศได้ยินยอมให้แก้ไขทั้ง ๆ ที่สนธิสัญญาเดิมยังไม่หมดอายุ เป็นต้น นอกจากที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนไว้ในชีวประวัติย่อของท่านเองแล้ว ยังมีจากเอกสารอื่น ๆ อีกไม่น้อยที่เสริมให้กิจกรรมด้านนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดีมีข้อเขียนในหนังสือชีวประวัติตอนหนึ่งที่จะละเว้นเสียมิได้ในการนำมาเสริมต่อไว้ ณ ที่นี้ คือส่วนที่เกี่ยวกับอดีตเสนาบดีสองพระองค์ และพระยากัลยาณไมตรี (หน้า ๑๓๕-๑๓๙) ดังนี้
“ปรีดีขอถวายพระเกียรติแด่สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ และกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย อดีตเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ซึ่งทรงมีวิริยะอุตสาหะแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศระหว่างเวลาเจ็ดปี (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๖๙) อันเป็นผลให้นานาประเทศลดหย่อนผ่อนอํานาจ และสิทธิพิเศษหลายประการที่มีอยู่เหนือสยาม และปรีดีขอความเป็นธรรมให้แก่พระยากัลยาณไมตรีคนแรก ซึ่งมีนามว่า ‘เวสเตนการ์ด’ ที่ ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ
คําบอกเล่า (Hearsay) เรื่อง ดร. แซร์ เป็น ผู้แก้ไขสนธิสัญญาเลิกสิทธินอกอาณาเขตของนานาประเทศเหนือสยาม
ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ปรีดีต้องลี้ภัยจากประเทศไทยไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลา ๓๖ ปีนั้น ได้มีบุคคลโฆษณาในสถานศึกษาและในหลายวงการว่า ดร. แซร์ ซึ่งได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยากัลยาณไมตรี เป็นผู้มีบุญคุณสําคัญแก่ชาติไทยในการแก้ไขสนธิสัญญาเลิกสภาพสิทธินอกอาณาเขต ที่นานาประเทศมีอยู่เหนือประเทศนั้นให้หมดสิ้นไป ผู้สอนบางสถาบันได้ชักจูงให้นักเรียนรําลึกถึงบุญคุณของท่านเจ้าคุณคนนั้น
ปรีดีขอชี้แจงว่า ปรีดีมีมิตรภาพอันดีกับ ดร. แซร์ ตั้งแต่ปรีดีพบท่านที่กรุงวอชิงตัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ คือปรีดีได้ไปพบ มร. คอเดลล์ ฮัล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส.ร.อ. (เรียกชื่อตําแหน่งเป็นภาษาอังกฤษว่า “Secretary of State”) เพื่อขอทาบทามถึงความปรารถนาของรัฐบาลสยามที่จะทําสนธิสัญญาใหม่ เพื่อยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาค รมต. ว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันจึงมอบให้ ดร. แซร์
ขณะนั้นเป็น ‘ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ’ เป็นผู้ติดต่อกับปรีดีถึงหลักการในการเจรจานั้น ดร. แซร์ ได้รับข้อเสนอของปรีดีที่ขอให้ ส.ร.อ. ยอมตกลงทําสนธิสัญญาฉบับที่ทําไว้กับ ส.ร.อ. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ รายละเอียดปรากฏในโทรเลขของปรีดี ส่งจากวอชิงตันรายงานพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี ปรีดีจึงขอให้ท่านผู้ปรารถนาสัจจะสังเกตว่าถ้าสยามได้เอกราชสมบูรณ์แล้วตามสนธิสัญญากับ ส.ร.อ. ฉบับ พ.ศ. ๒๔๖๓ ดร. แซร์ ก็คงปฏิเสธข้อเสนอของปรีดี แต่ท่านได้รับข้อเสนอของปรีดีไว้พิจารณาด้วยดี พร้อมทั้งให้คําแนะนําบางประการ ปรีดีจึงขอชี้แจงต่อท่านที่ปรารถนาสัจจะดังต่อไปนี้
๑. ที่ปรึกษาชาวอเมริกันซึ่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศได้รับพระราชทานสัญญาบัตร ‘พระยากัลยาณไมตรี’ นั้นมีสองคน คือ
(ก) คนแรกชื่อ ‘Westengard’ (เวสเตน การ์ด) ได้เข้ามารับราชการในรัชกาลที่ ๕ และ รับราชการต่อมาในรัชกาลที่ ๖ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ (ค.ศ. ๑๙๒๒) จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการกลับไป ส.ร.อ.
ท่านผู้นี้ได้มีความชอบในราชการในฐานะที่ท่านรับราชการนานและในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ ท่านก็ได้ช่วยให้คําปรึกษาแก่รัฐบาลสยามในการประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมนีและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ตลอดจนวิธีการยึดทรัพย์เชลยรวมทั้งการยึดเรือเดินทะเลของจักรวรรดิทั้งสองที่ได้หลบเข้ามาจอดอยู่ในแม่น้ําเจ้าพระยาก่อนที่สยามประกาศสงครามกับจักรวรรดิทั้งสองดังกล่าวนั้น ท่านผู้นี้มีความรู้ในกฎหมายระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้ง เช่น ท่านได้แต่งเรื่องกฎหมายทะเลลงพิมพ์ในนิตยสารชื่อ สมุทสาร ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดให้มีขึ้น (ในขณะที่ปรีดีเป็นนักเรียนกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรม ก็ได้ศึกษาบทความเรื่องกฎหมายทะเลของท่านผู้นั้น) เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้ว ท่านก็ได้ช่วยสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับ ส.ร.อ. ฉบับ พ.ศ. ๒๔๖๓ (ค.ศ. ๑๙๒๐) และได้ช่วยกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย (พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์) รักษาการแทนเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศในการตระเตรียมแก้ไขสนธิสัญญากับญี่ปุ่น
รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘พระยากัลยาณไมตรี’ คนแรก ฉะนั้นถ้าจะถือว่าสนธิสัญญากับ ส.ร.อ. ฉบับ พ.ศ. ๒๔๖๓ (ค.ศ. ๑๙๒๐) เป็นตัวอย่างแห่งการที่จักรวรรดินิยมยกเลิกอํานาจและสิทธิพิเศษเหนือสยามแล้ว พระยากัลยาณไมตรีคนแรก (มร. เวสเตนการ์ด) ก็มีความชอบในฐานะที่ปรึกษาเสนาบดี มิใช่ ดร. แซร์ ซึ่งเป็นพระยากัลยาณไมตรีคนที่ ๒ เพราะคนหลังนี้เพิ่งเข้ามารับราชการสยามเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๓ (พ.ศ. ๒๔๖๖) ถึง ค.ศ. ๑๙๓๐ (พ.ศ. ๒๔๗๓) ดังปรากฏหลักฐานจากหนังสือสารานุกรม (Webster's Biographical Dictionary) หน้า ๑๓๑๘ ที่ถ่ายภาพลงพิมพ์ไว้ ดังต่อไปนี้
ฉะนั้น ปรีดีจึงขอให้ท่านที่มีใจเป็นธรรมโปรดให้ความเป็นธรรมแก่พระยากัลยาณไมตรีคนที่ ๑ (เวสเตนการ์ด) ซึ่งเป็นผู้เบิกทางก่อนที่ ดร. แซร์ จะเข้ามารับราชการในสยาม
(๒) ปรีดีขอให้ท่านผู้มีใจเป็นธรรมโปรดถวายพระเกียรติแด่สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการและกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย อดีตเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗
ท่านที่มีใจเป็นธรรมเมื่อได้ทราบความจริงที่ปรีดีได้เสนอข้างต้นนั้นแล้วถึงความชอบของ มร. เวสเตนการ์ด ซึ่งเป็นพระยากัลยาณไมตรีคนแรกก็ขอให้ถวายพระเกียรติแด่สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการซึ่งเป็นเสนาบดีการต่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๙ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ซึ่งเป็นประวัติการณ์ที่ทรงดํารงตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศเป็นเวลาถึง ๓๗ ปี ซึ่งทรงรอบรู้ในวิชาการระหว่างประเทศและทรงชํานาญการระหว่างประเทศเป็นเวลาช้านานนั้นก็ย่อมจะมีความรู้ความชํานาญสูง หรือเหนือกว่า ดร. แซร์ มาก ส่วนกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย (พระองค์ไตรทศประพันธ์) ก็ได้ทรงมีความรู้ในวิชารัฐศาสตร์ทางการทูตและเคยเป็นอัครราชทูต อีกทั้งดํารงตําแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ และทรงดํารงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสืบต่อสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ
ส่วน ดร. แซร์ นั้นได้ปริญญาตรีกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งมีชื่อเสียงก็จริง แต่เสนาบดีไทยทั้งสองพระองค์นั้นก็ทรงมีความรู้ความชำนาญไม่น้อยกว่า ดร. แซร์ แต่ ด.ร. แซร์ อาจมีอิทธิพลในรัฐบาลอยู่บ้าง เพราะเป็นลูกเขย (ชามาดา) ของอดีตประธานอธิบดีวิลสัน แต่ในขณะที่รัฐบาลสยามจ้าง ดร. แซร์ เป็นที่ปรึกษานั้น ประธานธิบดีวิลสันได้พ้นตำแหน่งไปแล้ว
อย่างไรก็ตามผู้มีใจเป็นธรรมไม่ควรยกให้ ดร. แซร์มีความชอบยิ่งกว่าเสนาบดีสองพระองค์ของสยามดังที่ปรีดีได้อ้างพระนามของพระองค์ไว้ข้างต้นนั้น เพราะเหตุดังต่อไปนี้
ข้อเท็จจริงปรากฏตามหลักฐานว่า เมื่อได้ประกาศใช้สัญญาสันติภาพฉบับแวร์ไซส์และ ฉบับแซงต์-แยร์แมงฯ ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ (ค.ศ. ๑๙๑๙) แล้ว สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ เสนาบดีว่าการต่างประเทศสมัยนั้นก็ได้เจรจาทําสนธิสัญญาใหม่กับรัฐบาล ส.ร.อ. โดยไม่ชักช้า อันเป็นผลสําเร็จใน พ.ศ. ๒๔๖๓ (ค.ศ. ๑๙๒๐) ก่อนที่ ดร. แซร์จะเดินทางเข้าไปรับราชการเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลสยาม
เสร็จจากสนธิสัญญากับ ส.ร.อ. ฉบับนั้น สมเด็จฯ ก็ได้ทรงเริ่มเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่นไปได้มากแล้ว พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ครั้นแล้วพระองค์เจ้าไตรทศ (ต่อมาทรงพระอิสริยยศ ‘กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย’) ได้ดํารงตําแหน่งเสนาบดีว่าการต่างประเทศสืบต่อมา พระองค์ก็ได้ทรงเจรจาสนธิสัญญาใหม่กับญี่ปุ่นจนลงพระนามได้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖
ส่วนสนธิสัญญากับประเทศอื่น ๆ ที่ทําไว้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๗ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้น กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ทรงอํานวยการรับผิดชอบในฐานะเสนาบดี ดร.แซร์มีความดีความชอบเพียงในฐานะที่ปรึกษา”
๓. เรื่องอื่น ๆ ภายหลังจากนั้น
การดําเนินกิจกรรมด้านการต่างประเทศของท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นที่ทราบกันดีว่า มิใช่มีแต่ในราชการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น มีอีกหลายเรื่องที่เป็นความเป็นความตายของประเทศชาติ ของคนไทยทั้งชาติ อาทิ การเสี่ยงชีวิตดําเนินกิจการใต้ดินต่อสู้กับชาติที่เข้ามายึดครองประเทศ จนเป็นที่ยอมรับกันไปทั่วโลกและทําให้ประเทศไทยพ้นภาวะความเป็นประเทศที่แพ้สงคราม รวมทั้งช่วยให้คนไทยด้วยกันพ้นภาวะอาชญากรสงครามเช่นประเทศอื่น ๆ แต่เรื่องนี้ท่านผู้อ่านคงได้ทราบจากอีกบทหนึ่งต่างหากในหนังสือเล่มนี้แล้ว
อย่างไรก็ดี ยังมีกิจกรรมด้านต่างประเทศเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอีกด้วย จะเรียกว่าเป็นนโยบายของท่านก็ได้ แม้ว่าในเวลานั้นเกือบจะพ้นจากตําแหน่งหน้าที่ทางการเมืองใด ๆ แล้วก็ตาม ทั้งนี้ขอนำส่วนหนึ่งในปาฐกถาของนายวงศ์ พลนิกร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศ ซึ่งแสดง ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๑ มาให้ทราบถึงนโยบายและการดําเนินงานของท่านอาจารย์ปรีดีในเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้
บทบาทของท่านปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเอกราชและอิสรภาพของประเทศในอินโดจีน
ในระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะยุติลงปรากฏว่าได้มีการเคลื่อนไหวของบรรดาผู้นําทางการเมืองและประชาชนที่รัก ความเป็นเอกราชและอิสรภาพในบรรดาประเทศเมืองขึ้นในเอเชียและที่อื่นทั่วโลก เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของบรรดาประเทศล่าเมืองขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทุกประเทศเป็นเมืองขึ้นนอกจากประเทศไทย ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นเอกราชและอิสรภาพหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นเช่นเดียวกัน
ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและติดตามความเคลื่อนไหวนั้นตลอดมา โดยการติดต่อส่วนตัวกับผู้นําทางการเมืองของประเทศเมืองขึ้นเหล่านั้น และส่งผู้แทนไปร่วมประชุมเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่จัดขึ้น และผู้นำทางการเมืองของประเทศเมืองขึ้นเหล่านั้นต่างก็มองเห็นคุณค่าของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเอกราชประเทศเดียวในภูมิภาคแถบนี้ และตัวท่านปรีดี พนมยงค์ ในการที่จะต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเอกราชและอิสรภาพการประชุมเคลื่อนไหวของผู้นําทางการเมืองได้มีขึ้นหลายแห่งในรูปแบบและภายใต้ชื่อแตกต่างกัน เช่น ปี ค.ศ. ๑๙๔๖ อูอองซาน ผู้นําทางการเมืองพม่า เสนอให้มีการประชุมระหว่างประเทศในเอเชียเพื่อพิจารณาหาทางดําเนินการให้บรรดาประเทศเมืองขึ้นในเอเชียได้บรรลุถึงอิสรภาพโดยเร็วที่สุดต่อมา ผู้นําทางการเมืองอินโดนีเซีย โซร์จันสจาห์รีร์ ได้เสนอให้กลุ่มประเทศในเอเชียได้รวมกลุ่มเพื่อป้องกันไม่ให้บรรดาประเทศในภูมิภาคนี้ตกไปร่วมอยู่ในการขัดแย้งประเทศมหาอำนาจ ในปี ค.ศ. ๑๙๔๗ บัณฑิต เนห์รู ผู้นำทางการเมืองของอินเดีย ได้จัดให้มีการประชุมในเอเชียขึ้นที่กรุงเดลี และต่อมาก็ได้มีการประชุมพบปะระหว่างผู้นำทางการเมืองของประเทศเมืองขึ้นในภูมิภาคนี้หลายครั้ง วัตถุประสงค์สำคัญของการประชุม และการเคลื่อนไหวก็คือ ผนึกกําลังกันเพื่อต่อสู้ ให้ได้มาซึ่งเอกราชและอิสรภาพ หลุดพ้นจาก การเป็นเมืองขึ้นนั่นเอง
ในประเทศไทย ราวเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้สนับสนุนให้มีการประชุมขึ้นที่กรุงเทพฯ ได้มีผู้นำทางการเมืองในภูมิภาคนี้ เช่น ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย ฯลฯ มาร่วมประชุม และเมื่อเสร็จการประชุมแล้ว ก็ได้ออกปฏิญญากรุงเทพฯ ๑๙๔๗ สาระสำคัญของการตกลงกันก็คือ จะผนึกกำลังเพื่อต่อสู้การกลับคืนมาของประเทศล่าเมืองขึ้น และต่อมาเมื่อเดือนกันยายนปีเดียวกัน ผู้นําทางการเมืองของประเทศเหล่านั้นก็ได้มาประชุมกันที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง และได้ก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia League) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการที่จะร่วมมือประสานงานและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันในระหว่างประเทศภูมิภาคนี้ ซึ่งจะนําไปสู่สันติภาพในภูมิภาคนี้ สันนิบาตมีคําขวัญว่า Unity in Southeast Asia ซึ่งวัตถุประสงค์อันแท้จริงก็คือ การผนึกกําลังกันเพื่อต่อต้านการกลับคืนมาของลัทธิอาณานิคมนับว่าเป็นครั้งแรกของการพยายามรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยได้มีบทบาทเข้าไปร่วมอยู่ด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายเนื่องจากต่อมาอีกเป็นเวลาเพียงเล็กน้อย ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในประเทศ เกิดรัฐประหารขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๐ ผู้ขึ้นมาปกครองประเทศไทยโดยรัฐประหารในครั้งนั้น ได้นําเรื่องการก่อตั้งสันนิบาตนี้เป็นเครื่องทำลายล้างท่านปรีดีและผู้สนับสนุน โดยเสกสรรปั้นเรื่องกล่าวหาว่า แผนการก่อตั้งสันนิบาตนี้เป็นแผนที่จะนำประเทศไปสู่การปกครองระบบสาธารณรัฐ ปี ๒๔๙๐ นับเป็นจุดตั้งต้นที่ประเทศไทยเราเริ่มตกไปอยู่ภายใต้สงครามจิตวิทยา สงครามโฆษณาชวนเชื่อ และสงครามตัวแทนของมหาประเทศ นอกเหนือจากการเป็นการทําลายและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยของบ้านเมืองเราในเวลาต่อมาเป็นเวลานาน และยังกระทําให้เรื่องราวและอุดมการณ์ของสันนิบาตต้องสิ้นสุดลงด้วย
แม้ในการประชุมกรรมการไกล่เกลี่ยระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการคืนดินแดนที่ประเทศไทยได้มาจากประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศสในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ผู้แทนฝรั่งเศสได้เสนอตั้งสหภาพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Pan Southeast Asia Union) ขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้ยอมรับตามข้อเสนอของฝรั่งเศส แต่ได้เสนอเงื่อนไขว่า ในการเสนอตั้งสหภาพนั้น จะต้องให้ประเทศกัมพูชาและลาวเข้าเป็นสมาชิกในฐานะรัฐเอกราชด้วย เท่ากับเสนอให้ฝรั่งเศสให้อิสรภาพแก่ประเทศกัมพูชาและลาว เพราะทราบดีว่าฝรั่งเศสจะยังไม่พร้อมให้เอกราชแก่ทั้งสองประเทศ ในที่สุดฝรั่งเศสไม่สามารถจะรับข้อเสนอได้
จากเรื่องนี้เป็นการแสดงถึงแนวความคิดและความพยายามของท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการปกครองบ้านเมืองขณะนั้น ในการสนับสนุนให้ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นเมืองขึ้นได้รับเอกราช และอิสรภาพ เคยได้รับฟังคําอธิบายจากท่านปรีดี พนมยงค์ ว่า ในอนาคตหากประเทศเมืองขึ้นได้รับ เอกราช และอิสรภาพ และรวมผนึกกําลังกัน ก็จะสามารถทําให้ประเทศไทยและประเทศเหล่านั้นสามารถกําหนดชะตากรรมของตนเองได้โดยอิสระหลุดพ้นจากการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการบีบบังคับและชักจูงทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร จากมหาประเทศ ดังเช่นในอดีต
นอกจากนั้น ในด้านการต่อสู้เพื่อเอกราชและอิสรภาพของประเทศเมืองขึ้นทั้งสามในอินโดจีน คือ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ความเห็นในการสนับสนุนและช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชและอิสรภาพในประเทศทั้งสามมาตั้งแต่ต้น ร่วมกับผู้นําทางการเมืองบางคนและประชาชนในภาคอีสานที่สนับสนุนขบวนการกอบกู้เอกราชและอิสรภาพนั้นด้วย
ด้วยเหตุนี้บรรดาผู้นําทางการเมืองและประชาชนในประเทศอินโดจีนทั้งสามจึงยกย่องและนับถือท่านปรีดี พนมยงค์ และครอบครัวมาจนถึงขณะนี้ ผู้นําของประเทศเหล่านั้นภายหลังจากการกอบกู้เอกราชและอิสรภาพเสร็จแล้ว ได้กล่าวเปิดเผยให้ประชาชนของเขา และคนไทยที่ได้พบปะทราบอยู่เสมอว่า ในการ กอบกู้เอกราชและอิสรภาพของเขานั้น คนไทยมีความเห็นอกเห็นใจ สนับสนุนและช่วยเหลือ ซึ่งเขาจะไม่มีวันลืมเลย คนไทยที่เขากล่าวถึงนั้นย่อมหมายความถึงท่านปรีดี พนมยงค์ และผู้นําทางการเมืองในภาคอีสานและประชาชนคนไทย ซึ่งมีความเห็นอกเห็นใจ สนับสนุนช่วยเหลือต่อการดําเนินการกอบกู้เอกราชของเขา”
ท่านปรีดี พนมยงค์ กับสันติภาพ จากปาฐกถา ตอนหนึ่งของนายวงศ์ พลนิกร
“แนวความคิดเกี่ยวกับสันติภาพและการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีเป็นสิ่งที่ท่านปรีดีได้ยึดถือตลอดมา การแก้ปัญหาระหว่างประเทศก็เช่นกัน ท่านยึดถือความถูกต้อง ความชอบธรรม และการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ภายหลังจากที่ท่านกลับจากเยือนยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เมื่อปี ๒๔๗๘ แล้ว ท่านได้มองเห็นการตั้งเค้าของสงคราม จึงได้ผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยความเป็นกลางขึ้นในปี ๒๔๘๒ เจตนาของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ ประเทศไทยจะรักษาความเป็นกลาง...แต่เป็นที่น่าเสียดายเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาเกิดขึ้น รัฐบาลขณะนั้นได้เข้าข้างญี่ปุ่น ท่านปรีดีจึงได้จัดทำภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ขึ้น มิใช่เพื่อความบันเทิงเริงรมย์ หากเป็นทัศนคติเกี่ยวกับสันติภาพ โดยเห็นว่าสันติภาพเป็นของมีคุณค่าและหาได้ยากยิ่ง ในคํานำเรื่องนี้ ท่านได้เขียนไว้ว่า
‘เรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่สันติภาพ เพราะชัยชนะแห่งสันติภาพนั้นมิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับสัจธรรมของพระบรมศาสดาที่ว่า นตฺถิ สนฺติปร์ สุขํ สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี’
เมื่อประเทศไทยใช้กำลังเรียกร้องและยึดเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศสในอินโดจีน ท่านไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ใช้กำลังทหารเข้าแก้ปัญหา ...ควรได้อาศัยการเจรจาด้วยสันติวิธี ...ท่านได้ชี้แจงแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่ร่วมเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนในขณะนั้นว่า การที่ประเทศไทยส่งกําลังทหารเข้ายึดเอาดินแดนที่เสียไปคืนจากฝรั่งเศสเช่นนั้นเป็นการไม่สมควรและไม่ถูกต้อง ควรที่ประเทศไทยจะหาทางเจรจาด้วยสันติวิธี
เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง ว่ากันตามจริงและกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ประเทศไทยย่อมตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม เพราะได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรไว้ แต่ท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ได้แก้ไขมิให้ประเทศไทยตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม โดยได้ติดต่อเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อให้ประเทศไทยกลับสู่สถานะเดิม
ก่อนประกาศสงคราม...โดยได้ประกาศให้การประกาศสงครามต่อสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ ประชาชนคนไทยไม่ปรารถนาที่จะทําสงครามกับสัมพันธมิตรและได้ประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ และดําเนินการแก้ไขให้สถานะสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรผ่อนคลายลงและหมดสิ้นไปโดยเร็วที่สุด ...นับว่ากิจกรรมนี้ ท่าน ปรีดี พนมยงค์ มีบทบาทสําคัญอย่างยิ่งในการรักษาเอกราชและนําสันติภาพกลับคืนมาสู่ประเทศและประชาชนคนไทย...”
อุดมคติในด้านการต่างประเทศของท่านปรีดี ในหนังสือ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าฯ
ท่านปรีดีได้กล่าวในหนังสือของท่านว่า
“ระหว่างที่ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวสุนทรพจน์ทางวิทยุไว้หลายครั้ง ได้เขียนเผยแพร่เอกสารหลายชิ้นที่แสดงถึงอุดมคติที่ข้าพเจ้ายึดถือในเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตลอดจนสันติภาพแห่งโลก ดังเช่นที่ข้าพเจ้าได้บรรยายไว้ในหนังสือเกี่ยวกับประเทศสยามที่รักสงบ (การรักสันติภาพ และการปฏิบัติตามธรรมะ ทั้งในการดำเนินชีวิตของบุคคล และในด้านกิจการระหว่างประเทศ) และในบทภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก (นตฺถิ สนฺติปร์ สุขํ - สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี - RIEN N'EST PLUS MERVEILLEUX QUELA PAIX.)”
การปลูกฝังความคิดเรื่อง “ภราดรภาพ” และ ความยุติธรรมในสังคมของท่านปรีดี
ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อดีตองคมนตรี ซึ่งเคยศึกษากฎหมายปกครองจากท่านปรีดีในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวถึงท่านปรีดีในการสอนเกี่ยวกับเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ว่า สิ่งที่สําคัญที่สุดที่ท่านกล่าวเน้นคือ ภราดรภาพ (ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของท่านปรีดี อยู่บนมูลฐานของ “ภราดรภาพ” ทั้งหมด)
ในทางกิจการระหว่างประเทศนั้น “ศีลธรรมและธรรมะ” เป็นความคิดหลักประการหนึ่งของท่านปรีดี ซึ่งท่านได้กล่าวถึงบ่อยครั้งในระหว่างที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ มีความหมายอย่างกว้างถึง “ภราดรภาพ” ด้วย เช่นเดียวกับข้อ ๑ ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ได้กล่าวถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์และภราดรภาพดังนี้
“มนุษย์ทั้งมวลเกิดมาเป็นอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่าง ๆ มนุษย์ทั้งหลาย โดยธรรมชาติเป็นผู้มีเหตุผลและมโนธรรมสํานึกและควรปฏิบัติต่อกันด้วยน้ําใจของการเป็นพี่น้องกัน”
ท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งยึดมั่นในศีลธรรมและภราดรภาพตลอดเวลาจึงเป็นสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง เพื่อสันติภาพ ประชาธิปไตย และความยุติธรรมในสังคมอย่างแท้จริง
เกี่ยวกับผู้เขียน :
- สมจิตต์ อินสิงห์ ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ตุรกี และกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไน
- ระวิ ฤกษ์จํานง ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 อดีตทูตที่ปรึกษาฯ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม สังกัดกระทรวงต่างประเทศ และข้าราชการบำนาญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ
หมายเหตุ :
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
เอกสารอ้างอิง :
- สมจิตต์ อินสิงห์, ระวิ ฤกษ์จำนง, ปรีดี พนมยงค์ กับการต่างประเทศ ใน คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกงานฉลอง 100 ปีรัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์, 2543), 180-193.