ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง : ที่ตั้งลับกองบัญชาการ “ขบวนการเสรีไทย”

5
สิงหาคม
2565

ตอนที่ 2 

ส่วนที่ 4 

การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย

 

4.6

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
เป็นที่ตั้งลับกองบัญชาการองค์การต่อต้านที่ต่อมาใช้ชื่อว่า
“ขบวนการเสรีไทย”
และ เป็นค่ายกักกันคนอังกฤษและคนอเมริกันระหว่างสงคราม



4.6.1 ข้าพเจ้ายังเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ข้าพเจ้าได้ซ้อมความเข้าใจกับนายกรัฐมนตรี (พิบูลฯ) และรองนายกรัฐมนตรี (อดุล) ว่าโดยที่ญี่ปุ่นไม่พอใจให้ข้าพเจ้าร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งการเมือง แต่ตำแหน่งผู้ประศาสน์การฯ มิใช่ตำแหน่งการเมือง อีกทั้ง ข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งนี้โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรตาม พ.ร.บ. จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ฉะนั้นจึงถือว่าข้าพเจ้ายังคงดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การต่อไป รัฐบาลไม่ขัดข้อง

ข้าพเจ้าจึงอาศัยมหาวิทยาลัยฯ เป็นที่ตั้งกองบัญชาการต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาได้ร่วมเป็นขบวนการเดียวกันกับเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษใช้ชื่อว่า “ขบวนการเสรีไทย”

 

4.6.2 ค่ายกักกันคนอังกฤษและคนอเมริกันระหว่างสงคราม

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2484 รัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นได้ตกลงกติกาทำสัญญาร่วมมือทางทหาร (Military co-operation) ระหว่างกันแล้ว รัฐบาลไทยก็เตรียมการที่จะจับคนสัญชาติอังกฤษ คนสัญชาติอเมริกันเอาไปกักกันไว้เสมือนหนึ่งเป็นชนชาติศัตรู เพราะถ้ารัฐบาลไทยไม่จัดการเช่นนั้นกองทหารญี่ปุ่นก็จะจัดการเอง รัฐบาลไทยได้มอบให้ พล.ต.ต. อดุลฯ รองนายก ร.ม.ต. เป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้

รองนายกรัฐมนตรีจึงไปพบข้าพเจ้า ขอแบ่งสถานที่ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ เพื่อกักกันคนสัญชาติดังกล่าว โดยขอให้มหาวิทยาลัยจัดเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดูแลค่ายกักกันนี้ ส่วนทางทหารนั้นได้ตั้ง ม.ร.ว.พงศ์พรหม จักรพันธุ์ นายพันตรีกองหนุนที่รับราชการอยู่ในกรมศุลกากร กระทรวงการคลังที่เคยอยู่ในสังกัดข้าพเจ้าก่อนแล้วนั้นเป็นผู้บังคับการค่าย และขอให้มหาวิทยาลัยจัดเจ้าหน้าที่ให้มีความเป็นอยู่อย่างดีที่สุดแก่ผู้ถูกกักกันเหล่านั้น

ข้าพเจ้าในฐานะผู้ประศาสน์การตกลงรับข้อเสนอของรองนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เพราะเห็นว่า

ประการที่ 1 คนสัญชาติดังกล่าวที่อยู่ในประเทศไทยจะรอดพ้นจากการถูกจับกุมโดยฝ่ายญี่ปุ่นที่อาจจะใช้วิธีทรมาน ดังที่ญี่ปุ่นได้เคยทำแก่คนอังกฤษอเมริกันในประเทศ

ประการที่ 2 การช่วยคนสัญชาติสัมพันธมิตรดังกล่าวเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่สัมพันธมิตรจะผ่อนหนักเป็นเบาให้แก่ประเทศไทย ถ้าหากสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงคราม

ข้าพเจ้าได้มอบให้ นายวิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งทำหน้าที่เลขาธิการองค์การต่อต้านซึ่งต่อมาใช้ชื่อว่า “ขบวนการเสรีไทย” นั้น เป็นหัวหน้าพนักงานมหาวิทยาลัยฝ่ายความเป็นอยู่ของผู้ถูกกักกันเท่านั้น

มหาวิทยาลัยได้ต้อนรับและได้พิทักษ์ผู้ถูกกักกันเหล่านั้นเต็มความสามารถที่จะมิให้ญี่ปุ่นยื้อแย่งเอาไปทรมานได้

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ลอร์ด เมานท์แบตเตนได้เปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์ไทมส์ฉบับวันที่ 18 ธ.ค. ค.ศ. 1946 มีความดังต่อไปนี้

 

“There are, I know, many who were prisoners of war in Siam who have good reason to be grateful for Pradit's good will to us. So let us honour a man who has rendered high service to the allied cause and to his own country, and who from my personal knowledge of him is a firm advocate of Anglo-Siamese friendship. The chain of local resistance to Japanese oppression in the occupied lands of South-East Asia had very few gaps in it, and one of the strongest links was forged by Pradit in Siam.”

(Loud and prolonged cheers.)

 

แปลเป็นภาษาไทยว่า

 

“ข้าพเจ้ารู้ว่ามีบุคคลมากหลายที่เคยตกเป็นเชลยศึกในสยามได้มีความสำนึกอันถูกต้องในแง่ที่มีความกตัญญูรู้คุณต่อความปรารถนาดีของประดิษฐ์ซึ่งมีต่อเรา ดังนั้นจึงขอให้เราให้เกียรติแก่บุคคลผู้นี้ที่ได้ให้บริการอย่างสูงต่ออุดมการของสัมพันธมิตรและต่อประเทศของเขาเอง และโดยความรู้เห็นเป็นส่วนตัวของข้าพเจ้า เขาก็เป็นบุคคลที่ได้ส่งเสริมมิตรภาพระหว่างอังกฤษกับสยามเป็นอย่างหนักแน่นมากด้วย สายระยางแห่งการต่อต้านในท้องถิ่นแห่งการกดขี่ของญี่ปุ่นในดินแดนอาเซียอาคเนย์ ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นนั้นถึงจะมีช่องว่างอยู่บ้าง ก็มีอยู่อย่างเล็กน้อยเหลือเกิน และสายระยางที่เข้มแข็งที่สุดอันหนึ่งก็ได้แก่สายระยางซึ่งได้บากบั่นสร้างสรรค์ขึ้นโดยประดิษฐ์ในสยามนี้เอง”

(เสียงแห่งความชื่นชมยินดีได้โห่ร้องก้องขึ้นเป็นเวลายาวนาน)

 

อนึ่ง ปรากฏเอกสารหลักฐานที่สโมสรกองกำลังพิเศษของอังกฤษฉบับ 17 ธ.ค. ค.ศ. 1970 ถึงข้าพเจ้ามีความดังต่อไปนี้

สำเนาภาพถ่ายจดหมายของสโมสรกองกำลังพิเศษแห่งอังกฤษ ฉบับ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1970 ถึงนายปรีดี พนมยงค์

 

 

คำแปลภาษาไทย

 

สโมสรกองกำลังพิเศษ
8 เฮอเบอร์ทเครเซนท์ ไนทส์บริดจ์
ลอนดอน เอส ดับเบิลยู
17 ธันวาคม ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513)

ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์
อี.ซี. 3-5
17 ถนนเอมิล ดูบัวส์
ปารีส 16

ฯพณฯ

คณะกรรมการได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ข้าพเจ้ามีหนังสือขอร้องให้ท่านรับคำเชิญของเราที่ขอให้ท่านเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสโมสรนี้

ดังที่ ฯพณฯ คงจะทราบแล้ว สโมสรนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1945 โดยและเพื่อบุคคลซึ่งได้ปฏิบัติการอยู่ในกองกำลังพิเศษ และบุคคลซึ่งได้ทำงานอยู่ในขบวนการต่อต้านและขบวนการใต้ดินในระหว่างสงคราม ค.ศ. 1939-1945 (พ.ศ. 2482-2488)

เราและสมาชิกทั้งหลายของสโมสรนี้ มีความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่า ฯพณฯ จะยอมรับเป็นสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ของสโมสรนี้ ข้าพเจ้าทราบดีว่าสมาชิกเหล่านี้ทั้งที่เป็นคนไทยและคนอังกฤษ ซึ่งเคยทำงานอยู่ในแผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับท่านและได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขัน และได้รับการส่งเสริมกำลังใจจากท่านตลอดเวลาในระหว่างหลายปีของการทำสงครามนั้น คงจะมีความชื่นชมยินดีเป็นพิเศษ

การที่ส่งคำเชิญดังกล่าวมายัง ฯพณฯ ในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการยอมรับนับถือ และการยกย่องอย่างสูงของเราต่อบทบาทอันเด่นชัดของ ฯพณฯ ในการสนับสนุนและค้ำจุนขบวนการต่อต้าน ซึ่งได้รับใช้ประเทศของเราทั้งสองในยามที่ตกอยู่ในอันตรายและการเสี่ยงภัย

ด้วยความจริงใจของข้าพเจ้า
ยอฟเฟรย์ เอ็ช วอลฟอร์ด
ประธานกรรมการ

 

4.6.3

โดยที่มหาวิทยาลัยฯ ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีแก่ผู้ถูกกักกัน พร้อมทั้งป้องกันให้เขาเหล่านั้นปลอดภัยจากญี่ปุ่น ฉะนั้นวันหนึ่งศาสตราจารย์ฮัตเจนสัน (ศาสตราจารย์ของ ม.ธ.ก.) ที่ถูกกักกันอยู่ในค่ายจึงถามศิษย์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลค่ายว่าท่านสังเกตการปฏิบัติของมหาวิทยาลัยฯ ที่มีต่อผู้กักกันเป็นอย่างดีกว่าที่ญี่ปุ่นปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกันในประเทศจีนแล้ว ท่านสันนิษฐานว่านักศึกษาคงจัดตั้งขบวนการอย่างคนฝรั่งเศสเสรีใช่หรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบว่าขอให้ถามผู้ใหญ่ ข้อสันนิษฐานของผู้ถูกกักกันไปถึงพนักงานสถานทูต ส.ร.อ. ในกรุงเทพฯ ซึ่งถูกกักกันอยู่ภายในสถานทูตนั้น ความจึงปรากฏในรายงานฉบับ 18 ส.ค. ค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485) ของนาย “แชพแมน” (Chapman) อดีตเลขานุการโทสถานทูตอเมริกัน ณ กรุงเทพฯ ซึ่งหนังสือของรัฐบาล ส.ร.อ. ชื่อ “Foreign Relations of the United States” ค.ศ. 1942 เล่ม 1 หน้า 917-920 ได้ลงพิมพ์เปิดเผยภายหลังเหตุการณ์ล่วงพ้น 25 ปีแล้ว (ตามระเบียบเปิดเผยเอกสารลับของ ส.ร.อ.) มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

 

“At the time of my departure from Bangkok on June 29, 1942, the Thai Government appeared to be under the control of and subservient to the Japanese military although still nominally independent. The pre-war Council of Ministers remained in office with a few exceptions. As previously noted Luang Pradist Manudharm, pre-war Minister of Finance, who had so stoutly resisted Japanese attempts at financial penetration and who has staunch pro-Allied sentiments, had been “promoted” to the Council of Regency to eliminate him from political activities inimicals to Japan...... Luang Vichitr had recently become Foreign Minister. Nai Direck, the pre-war Foreign Minister, was safely under observation as Thai Ambassador in Tokyo. As indicated in a preceding paragraph the only notable absentee was Nai Vilas Osathananda, former Director General of the Publicity Department.

“Indications of the development of a “Free Thai” movement organized by university students were reported. Evidently, the objective of such a movement would be to create an underground revolutionary group which at a propitious moment would seize the power and free the country from the Japanese yoke and the control of its present......leaders. Whether the small group of liberal and pro-Allied leaders who are still in the Government.....are connected with this movement is not known.”

 

แปลเป็นภาษาไทยว่า

 

“ในขณะที่ข้าพเจ้าเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1942 นั้น ปรากฏว่ารัฐบาลไทยอยู่ภายใต้การควบคุมและรับใช้การทหารของญี่ปุ่นแม้ว่าจะเป็นเอกราชแต่ในนาม รัฐมนตรีที่เป็นอยู่ก่อนสงครามคงดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป ดังที่ข้าพเจ้าบันทึกส่งมาก่อนแล้วว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมรัฐมนตรีคลังก่อนสงครามที่ต่อต้านญี่ปุ่นอย่างเข้มแข็ง ในการที่จะแทรกเข้ามาทางการคลังและเป็นผู้มีจิตใจนิยมสัมพันธมิตรนั้นได้ “เลื่อนตำแหน่งขึ้น” สู่คณะผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อกำจัดเขาให้พ้นจากกิจกรรมทางการเมืองอันไม่เป็นมิตรต่อญี่ปุ่น ......หลวงวิจิตรฯ ได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ นายดิเรกรัฐมนตรีต่างประเทศก่อนสงครามปลอดภัยภายใต้การสอดส่อง คือ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำโตเกียวดังที่ได้ชี้แจงในวรรคก่อนนี้แล้วว่าผู้ที่ไม่อยู่ในคณะรัฐบาลคนเดียว คือ นายวิลาศ โอสถานนท์ อดีตอธิบดีกรมโฆษณาการ”

“ได้รับแจ้งว่าได้มีการประกอบขึ้นซึ่ง “เสรีไทย” ขบวนหนึ่ง จัดตั้งโดยนักศึกษามหาวิทยาลัย เป็นที่แน่นอนว่าวัตถุประสงค์ของขบวนการเช่นนี้ก็เพื่อจัดตั้งกลุ่มอภิวัฒน์ใต้ดิน ซึ่งเมื่อถึงโอกาสสมควรแล้วก็จะทำการยึดอำนาจแล้วกู้อิสรภาพประเทศให้พ้นจากแอกของญี่ปุ่นและการควบคุมของผู้นำ...ปัจจุบัน ส่วนกลุ่มเล็กๆ ของผู้นำนิยมสัมพันธมิตรที่ยังอยู่ในรัฐบาลนั้น... ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการนี้หรือไม่”

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. “บทความบางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ ส่วนที่ 4 การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย”, ใน, “อนุสรณ์ นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นักอภิวัฒน์, เสรีไทย นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก” (กรุงเทพฯ: วัฒนาพานิช. 2525), หน้า 55-61.

บทความที่เกี่ยวข้อง :