ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การวิเทโศบาย ตอนที่ 2 : สงครามโลกครั้งที่ ๒

25
เมษายน
2568
Pearl Harbor, Hawaii. USS West Virginia aflame. Disregarding the dangerous possibilities of explosions, United States sailors man their boats at the side of the burning battleship, USS West Virginia, to better fight the flames started by Japanese torpedoes and bombs. Note the national colors flying against the smoke-blackened sky
ที่มา: Library of Congress

 

สงครามโลกเริ่มปะทุขึ้นอีกในทวีปยุโรป เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๔๘๓ ระหว่างฝ่ายอักษะ ซึ่งประกอบด้วยเยอรมนีนาซีและอิตาลีฟาสซิสต์ กับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นแกนสำคัญ ต่อมาได้ดึงเอาสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาเข้าพัวพันด้วย ขณะนั้นทางด้านเอเชีย ญี่ปุ่นกำลังทำสงครามที่ไม่ได้ประกาศกับประเทศจีนอยู่ก่อนเป็นเวลาหลายปีแล้ว เนื่องจากประเทศญี่ปุ่น

ประกอบด้วยเกาะเล็ก ๆ หลายเกาะรวมกัน มีพลเมืองหนาแน่น ขาดทรัพยากรทางธรรมชาติ แต่คนญี่ปุ่นเป็นคนขยันหมั่นเพียร สร้างสมความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศชาติอย่างไม่มีชนชาติอื่นจะเท่าเทียมได้ สถานะทางภูมิศาสตร์ ความจำเป็นทางธรรมชาติ และการบีบบังคับทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับอานุภาพความเข้มแข็งทางทหารของญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นแสวงหาทางที่จะขยายตัวเข้าไปในดินแดนทางภาคพื้นของเอเชีย โดยยึดถือคติพจน์ประจำชาติในปี ๒๔๗๔ ว่า “แมนจูเรียเป็นเส้นทางชีวิตของญี่ปุ่น” และเมื่อขยายตัวทางด้านเหนือของประเทศจีนได้สำเร็จเกิดคติพจน์ใหม่ว่า “ญี่ปุ่นเป็นปัจจัยสร้างเสถียรภาพให้แก่เอเชียตะวันออก” จึงคืบหน้าเข้าไปในประเทศจีน ทำสงครามกับจีนเป็นเวลานานปี ต่อมาเมื่อเห็นลู่ทางที่จะสามารถแหวกลงไปหาทรัพยากรทางธรรมชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คติพจน์เปลี่ยนเป็น “มหาเอเชียบูรพาและวงไพบูลย์ร่วมกัน” จนเกิดการศึกกับสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ ด้วยการบุกเข้าโจมตีฐานทัพของสหรัฐฯ ที่เพิร์ลฮาเบอร์ และประกาศสงครามเป็นทางการกับสหรัฐฯ

สำหรับฝ่ายสหรัฐฯ นั้น ความจริงหลังจากสงครามโลกครั้งแรก ระหว่างปี ๒๔๕๗ ถึง ๒๔๖๐ ซึ่งต้องถูกเหตุการณ์ดึงเข้าร่วมสงครามทางทวีปยุโรปจนได้ชัยชนะในที่สุด เป็นเจ้ากี้เจ้าการในการสถาปนาสันนิบาตชาติ ด้วยความฝันหวานว่า สงครามโลกครั้งนั้นเป็นสงครามที่ยุติสงครามทั้งหลาย แต่โดยเหตุผลทางการเมืองภายในประเทศ รัฐบาลอเมริกามิได้เข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติที่ประธานาธิบดีวิลสันเป็นผู้ดำริริเริ่มจัดตั้งขึ้น มติมหาชนส่วนใหญ่ภายในประเทศแสดงออกประจักษ์ชัดว่า ไม่ควรที่เลือดอเมริกันจะต้องหลั่งไหลในข้อพิพาทระหว่างรัฐในยุโรปอีก เมื่อญี่ปุ่นทำการศึกกับประเทศจีนในสงครามที่ไม่มีการประกาศ สหรัฐฯ ก็พยายามใช้นโยบายเบี่ยงบ่ายหลีกเลี่ยงไม่เข้ายุ่งเกี่ยวในการเผชิญหน้าระหว่างประเทศในเอเชียทั้งสอง หากไม่มีการกระทบถึงผลประโยชน์อันใหญ่ยิ่งของชาติแล้ว สหรัฐฯ พยายามจะไม่แสดงตนเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รักษานโยบายเป็นกลางด้วยความหวงแหนในสันติภาพและความมั่นคงในอาณาบริเวณรอบ ๆ และใกล้เคียงดินแดนของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ เห็นว่า มหาสมุทรแอตแลนติกด้านหนึ่ง และมหาสมุทรแปซิฟิกอีกด้านหนึ่ง เป็นป้อมปราการอุปสรรคตามธรรมชาติ ที่กั้นกลางระหว่างสหรัฐฯ กับชนชาติอื่นที่ถกเถียงสู้รบกัน ในสหรัฐฯ มีประกาศห้ามส่งผลิตภัณฑ์สินค้าและวัตถุดิบไปยังประเทศญี่ปุ่น เป็นการกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของญี่ปุ่นอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมัน เครื่องจักรกล เหล็ก และเหล็กกล้า ซึ่งญี่ปุ่นต้องอาศัยซื้อหาจากภายนอกเป็นจำนวนมาก

ญี่ปุ่นถือการกระทำเช่นนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อญี่ปุ่น จึงได้ประกาศกักกันสินทรัพย์ของสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นตอบแทน การค้าระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นต้องชะงักลงสิ้นเชิง ประธานาธิบดีรุสเวลท์ประกาศใช้หลักการ “ให้ยืมให้เช่า” เพื่อประโยชน์แก่ประเทศจีนอีกประเทศหนึ่ง และสร้างวงปิดล้อมญี่ปุ่นที่เรียกว่า กลุ่ม เอ.บี.ซี.ดี. (รวมอเมริกา อังกฤษ จีน และเนเธอร์แลนด์) ญี่ปุ่นเห็นว่า การจะต่อต้านนโยบายบีบรัดของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นจะต้องเตรียมกำลังทางทหารไว้ให้พร้อมสรรพ ในการนี้รัฐบาลได้ส่งคณะผู้แทนสันติภาพไปเจรจากับรัฐบาลอเมริกาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๔ เพื่อหาทางป้องกันสงครามระหว่างสองประเทศ ข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นตอนนั้นมีรวม ๓ ข้อด้วยกัน คือ (๑) ขอให้สหรัฐฯ จัดการเลิกการกักกันสินทรัพย์ญี่ปุ่นเสีย (๒) จัดส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันให้แก่ญี่ปุ่นตามเดิม และ (๓) ยุติการช่วยเหลือประเทศจีน

ญี่ปุ่นมิได้มุ่งหวังว่า สหรัฐฯ จะยินยอมตามคำเรียกร้องทั้งสามข้อนั้น แต่ญี่ปุ่นต้องการเวลาที่จะวางแผนทางยุทธศาสตร์ให้เรียบร้อยในการจะทำศึกกับสหรัฐฯ ก่อนที่ข้อเสนอสุดท้ายของญี่ปุ่นจะส่งถึงรัฐบาลอเมริกา กำลังทหารญี่ปุ่นได้เข้าจู่โจมตีฐานทัพอเมริกาที่เพิร์ลฮาเบอร์ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ และในขณะเดียวกันได้ส่งกำลังทหารรุดหน้าเข้าไปในประเทศไทยหลายต่อหลายจุด เพื่อจะได้ผ่านเข้าไปยังดินแดนมลายู สิงคโปร์ และพม่าพร้อมกัน

 

หมายเหตุ :

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หนังสือการวิเทโศบายของไทยแล้ว
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “สงครามโลกครั้งที่ ๒”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 33-36 .

 

บรรณานุกรม :

  • ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “สงครามโลกครั้งที่ ๒”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 33-36 .

 

บทความที่เกี่ยวข้อง: