ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

หนึ่งวันของผมกับการร่างรัฐธรรมนูญในฝัน

24
มีนาคม
2564

 

 

เวลา 09.00 - 17.30 น.ของวันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 เรียกว่าเช้าจรดเย็นเลยทีเดียว ณ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ หรือที่คนเรียกขานติดปากว่า “TCDC” ภายในตึกอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ได้มีการจัดกิจกรรม ‘PRIDI TALKS #9 X CONLAB รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ WORKSHOP ร่วมคิด ร่วมร่างอนาคตรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’

ผมเองเข้าร่วมและคอยสังเกตการณ์กิจกรรมภาคบ่าย ช่วงเวลา 13.00 - 17.30 น. นั่นคือ ‘WORKSHOP ร่วมคิด ร่วมร่างอนาคตรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ที่ห้อง Auditorium ชั้น M ส่วนกิจกรรมภาคเช้าช่วงเวลา 09.00 - 12.00 น. คือเสวนาทางวิชาการหัวข้อ ‘รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์’ ที่ Function Room ชั้น 4 ซึ่งคณะวิทยากรผู้สันทัดเรื่องราวเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหลายท่านมาเป็นผู้บรรยาย ได้แก่ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์, ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน อดีตเอกอัครราชทูต, ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) ดำเนินรายการโดย ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ผมอาศัยการติดตามใกล้ชิดผ่านทาง (Live) สด

 

 

ในฐานะผู้เข้าร่วมกิจกรรมภาคบ่ายคนหนึ่ง ผมใคร่ถือโอกาสลองถ่ายทอดประสบการณ์ของตนให้คุณผู้อ่านทั้งหลายเยี่ยมยลผ่านตัวอักษร

‘PRIDI TALKS #9 X CONLAB รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ WORKSHOP ร่วมคิด ร่วมร่างอนาคตรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ คือกิจกรรมต่อเนื่องมาจากการที่สถาบันปรีดี พนมยงค์เคยจัดเสวนาทางวิชาการ PRIDI Talks ครั้งที่ 7 ‘รัฐธรรมนูญบนเส้นทางของประชาธิปไตยไทย จาก 2475 ถึงปัจจุบัน’ ในวาระครบรอบ 88 ปี วันรัฐธรรมนูญ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เพื่อเสนอแนวความคิดเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญในมิติต่างๆ หากสำหรับคราวนี้ สถาบันปรีดี พนมยงค์ยังได้ประสานความร่วมมือกับกลุ่ม “รัฐธรรมนูญก้าวหน้า (Conlab)” จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการหรือ Workshop ให้ผู้เข้าร่วมระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนทัศนะ และทดลองออกแบบร่างรัฐธรรมนูญไทยอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งกำหนดขอบเขตเนื้อหาของรัฐธรรมนูญไว้ 4 หมวด ดังนี้  

1) หลักประกันสิทธิและเสรีภาพ   

2) รัฐสภา

3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กระจายอำนาจ)       

4) สถาบันพระมหากษัตริย์

 

 

WORKSHOP เริ่มต้นเวลาประมาณบ่ายโมง ทางผู้จัดชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแยกกลุ่มทำความรู้จักกันหรือ Ice Breaking ตามคาดคะเนไว้ทีแรก ผมค่อนข้างเชื่อว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมน่าจะเป็นกลุ่มคนช่วงอายุ 20 ถึง 30 ปีเท่านั้น พอมาสังเกตการณ์ดูกลับทึ่งไม่เบา เนื่องจากพบมีผู้ร่วมกิจกรรมวัย 40 ถึง 50 ปีจำนวนไม่น้อยราย นี่แสดงให้เห็นความตื่นตัวที่มีต่อรัฐธรรมนูญของคนทุกเพศทุกวัยจริงๆ

เวลา 13:30 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะแยกฐานไประดมความคิดหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามหมวดย่อยต่างๆ แต่ละหมวดมีวิทยากรคอยประจำให้คำปรึกษา อีกราวครึ่งชั่วโมงถัดมา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็กลับมายังกลุ่มของตนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญจากมติของแต่ละกลุ่ม

เราจะพบเจอคนเอ่ยถึงและสนทนาเรื่องรัฐธรรมนูญของประเทศไทยตรงไหนก็ได้ในห้อง Auditorium นั่นคือสิ่งที่ผมประจักษ์ชัดเจนจากกิจกรรม WORKSHOP ทุกๆ คนล้วนมาด้วยความสนอกสนใจเรื่องนี้ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองดุเดือดและกระแสการลงมติแก้ไขร่างแก้รัฐธรรมนูญ

ผมเจอะเจอมิตรสหายคุ้นหน้าคุ้นตาหลายคน ทั้งที่เป็นผู้ลงชื่อเข้าร่วมกิจกรรม ทีมงานของทางเครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) และผู้สื่อข่าวหลายสำนักไม่ว่าจะเป็น The MATTER หรือ Workpoint TV จึงเอ่ยปากทักทายพูดคุยเพลิดเพลิน พลางเดินสำรวจความเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มที่กำลังขะมักเขม้นระดมสมองอย่างคร่ำเคร่ง

 

 

เข็มนาฬิกาค่อยๆ ก้าวกระดิกอย่างแช่มช้า แต่แทะเล็มกินเวลาผ่านไปว่องไวนัก จวบจนราวๆ 16.20 น. แต่ละกลุ่มได้ออกมานำเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับของตน ซึ่งแจกแจงรายละเอียดสาระสำคัญในหมวดต่างๆ ประกอบด้วยหลักประกันสิทธิและเสรีภาพ, รัฐสภา, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กระจายอำนาจ) และสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อจากนั้นได้ให้มีการโหวตร่างรัฐธรรมนูญที่เห็นชอบร่วมกัน มีตัวแทนของแต่ละกลุ่มมาเจรจาโน้มน้าวคล้ายๆ หาเสียงให้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มตน

ผมเองร่วมออกเสียงโหวตเช่นกัน โดยนำสติ๊กเกอร์รูปวงกลมสีเขียวไปติดบนแผ่นกระดาษร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับของแต่ละกลุ่มที่แปะบนผนังห้องกระจก ได้พิจารณาเนื้อหาและข้อเสนอของแต่ละร่าง รวมถึงขบคิดตัดสินใจที่จะเลือกโหวตฉบับไหนของกลุ่มไหนดี เฉกเช่นหมวดที่ผมรู้สึกสะดุดตาสะดุดใจพิเศษคือหมวดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กระจายอำนาจ) เป็นต้น

ช่างเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น สนุกสนาน และดื่มด่ำกลิ่นอายประชาธิปไตยไปพร้อมๆกัน

กิจกรรมนี้แหละครับ ถือเป็นผลลัพธ์สลักสำคัญในการจัด WORKSHOP

 

 

ครั้นการโหวตร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้ง CONLAB จึงออกมา นำเสนอสรุปการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และผลโหวตร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะถึงขั้นตอนสุดท้ายคือปิดกิจกรรมและถ่ายภาพหมู่ร่วมกันเป็นที่ระลึกในเวลา 17.30 น. แม้กิจกรรมจะจบลง แต่จับอารมณ์ของผู้เข้าร่วมทุกๆ คนได้ว่าเปี่ยมล้นความประทับใจมิรู้ลืมเลือน

WORKSHOP ร่วมคิด ร่วมร่างอนาคตรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ถือว่ามีลักษณะเป็นไปอย่างสอดคล้องกับแนวความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในอุดมคติของนายปรีดี พนมยงค์ กล่าวคือรัฐธรรมนูญต้องมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคมไทยเพื่อนำความสันติสุขมายังประชาชน แสดงความเป็นประชาธิปไตยรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจประชาธิปไตย การเมืองประชาธิปไตย และวัฒนธรรมหรือสังคมประชาธิปไตย เพราะตามทัศนะของนายปรีดี รัฐธรรมนูญเปรียบประดุจกุญแจที่จะไขประตูเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนมีเสียงในการปกครองโดยถูกต้องตามความต้องการของพวกเขา และเมื่อประตูเปิดออกประชาชนก็จะก้าวเข้าไปสู่ความสุขสมบูรณ์ ฉะนั้น ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยสมบูรณ์จึงจำเป็นต้องสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงและมีส่วนร่วมเต็มที่ เนื่องจากพวกเขาทั้งหลายย่อมเป็นผู้เข้าใจปัญหาพื้นฐานทางสังคมที่พวกเขาดำรงอยู่

ตลอดบ่ายวันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 นอกจากจะเป็นการที่ผมไปเข้าร่วมกิจกรรม WORKSHOP ร่วมคิด ร่วมร่างอนาคตรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้ว ก็คงเป็นการได้สัมผัสคลุกคลีกับบรรยากาศประชาธิปไตยในชีวิตประจำวันอีกหนหนึ่ง ซึ่งนับวันดูจะเริ่มเป็นของหายากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทยปัจจุบัน !