ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

18
มีนาคม
2564

 

 

สวัสดีท่านทั้งหลายผู้ที่มีจิตใจรักในประชาธิปไตย และ หวังที่จะให้บ้านเมืองนี้มีความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง ท่านทั้งหลายครับ รัฐธรรมนูญไม่สามารถทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยได้ แต่รัฐธรรมนูญจะเป็นกติกาสูงสุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐ

ถ้าเรามีรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ก็จะเป็นพื้นฐานและจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยของไทยสมบูรณ์ ดังเช่นเจตนารมณ์ของท่าน รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

เวลาที่เราบอกว่า “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” หมายถึงอะไร ?

หลายคนอาจจะสงสัยไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ทำไมประชาธิปไตยสมบูรณ์ และประชาธิปไตยสมบูรณ์มีอยู่จริงหรือไม่ ?

ผมอยากจะยกคำพูดของบุคคลสำคัญต่างๆ 

 

 

ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านได้เคยพูดไว้ “ผมมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นในระบอบประชาธิปไตย และในศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน ผมเกลียดชังเผด็จการ ไม่ว่าจะมีรูปแบบสีสันอย่างใดก็ตาม”

ท่านคิดว่าตอนนี้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แน่นอนที่สุด ถ้าเราพยายามทำให้รู้สึกสบายใจ เราก็จะบอกว่าเปรียบเทียบประเทศไทยกับพม่าสิ เราก็ยังดีกว่าเยอะ แต่ทำไมเราจะเปรียบเทียบเช่นนั้น ทำไมเราไม่เปรียบเทียบว่า ประเทศไทย สังคมไทย เราต้องอยู่แถวหน้าของเอเชีย เราต้องเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ทางการเมือง และสังคม แบบประเทศในยุโรป นี่คือความใฝ่ฝันของคณะราษฎร

89 ปีของระบอบประชาธิปไตยไทย ถามว่า เรามีประชาธิปไตยกันจริงๆ สักกี่ปี ? วันนี้เราไม่อาจบอกได้ว่า เราเป็นประเทศประชาธิปไตย เอาแค่รัฐธรรมนูญเราก็เห็นแล้วว่ามันไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ที่คนเพียงไม่กี่คนสามารถเลือก สามารถแต่งตั้งสว. 250 คน มาเลือกนายกฯ และ นายกฯ ก็ไม่ได้มาจากประชาชน

 

 

เนลสัน แมนเดลา ต่อสู้มาทั้งชีวิตเพื่อให้คนเท่ากัน ไม่ว่าคุณจะมีสีผิวแบบไหน แต่คุณมีความเท่ากันในความมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าคุณจะรวย ไม่ว่าคุณจะจน ไม่ว่าคุณจะมีทัศนคติความเชื่อทางด้านศาสนาการเมืองอย่างไร คุณต้องมีอิสรภาพ คุณต้องมีเสรีภาพ

การต่อสู้ให้บ้านเมือง ให้สังคมเป็นประชาธิปไตย เราไม่ใช่แค่ปลดโซ่ตรวนที่เขาล่ามเราอยู่เท่านั้น แต่เราต้องทำให้ทุกคนมีเสรีภาพ ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

 

 

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มาจากการเลือกตั้ง แต่คนที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประชาธิปไตย และอาจจะกลายเป็นเผด็จการก็ได้ คำพูดของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นั้นชัดเจน “วิธีการที่จะควบคุมประชาชนได้อย่างดีที่สุดคือ ค่อยๆ กีดกันเสรีภาพออกไปทีละเล็ก ทีละน้อย ทำลายให้มันหมดไปเรื่อยๆ โดยไม่ให้ประชาชนรู้ตัว วิธีการนี้จะทำให้เสรีภาพถูกลิดรอนออกไป จนถึงจุดที่พวกเขาไม่สามารถเรียกมันกลับคืนมาได้อีก”

ถ้าท่านไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องในการที่จะทำให้รัฐธรรมนูญปี 60 แก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย อย่าหวังว่าบ้านเมืองนี้จะดีขึ้น

 

 

ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ กล่าวไว้ว่า ระบอบประชาธิปไตยจะมั่นคงอยู่ได้ ต้องประกอบด้วยกฎหมาย และกฎหมายที่สำคัญที่สุดคือรัฐธรรมนูญที่จะต้องเป็นประชาธิปไตย ระบอบการปกครองที่ดี ประชาธิปไตยต้องมีศีลธรรม ต้องมีความซื่อสัตย์ คุณจะมาอ้างประชาธิปไตย อ้างการเลือกตั้ง แล้วคุณไปโกง ไปทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ย่อมไม่ได้ เราก็ไม่เอา

 

 

เราพูดถึงประชาธิปไตยสมบูรณ์ ไม่ได้หมายความว่าเป็นประชาธิปไตยทางการเมืองเท่านั้น เราต้องเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เราต้องมีวัฒนธรรม มีวิธีคิด มีทัศนะแบบประชาธิปไตย

 

 

นี่เป็นการอธิบายความสัมพันธ์ในทางการเมือง การเศรษฐกิจ การสังคมจะต้องขับเคลื่อน การจะขับเคลื่อนแบบนี้ได้ พื้นฐานที่สุดคุณต้องวางกติกาสูงสุดซึ่งคือรัฐธรรมนูญให้อยู่บนหลักการประชาธิปไตยเสียก่อน

เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามข้อเรียกร้อง ข้อเสนอของส.ว.ท่านหนึ่ง กับ ส.ส. ท่านหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐว่า “ตกลงรัฐสภา ตกลงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำได้หรือไม่อย่างไร” ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาชัดว่า รัฐสภามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คืออำนาจของประชาชน

เราไม่สนใจเจตนาของส.ว. หรือ ส.ส. ท่านหนึ่งซึ่งยุบพรรคตัวเองแล้วไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ เขาจะทำอะไรก็แล้วแต่หรือพยายามจะเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนก็แล้วแต่ เราอดทนพอที่จะต่อสู้บนหลักการและตอสู้บนหลักกฎหมาย

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีสิทธิ์ เป็นกลไก เป็นองค์กรที่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว ถ้าวินิจฉัยต่างจากนี้จะเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก นั่นหมายความว่า 17-18 มีนาคม รัฐสภาต้องเดินหน้าวาระสาม จะแก้ได้ แก้ไม่ได้ ไม่เป็นไร เราสู้ เราเรียกร้อง เราต่อสู้ให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย เราสู้ในระบบ ถ้าส.ว. คว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม คว่ำเลย เราจะได้รู้ว่าใครมีจุดยืนแบบไหน เราจะได้รู้ว่าพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเองว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยแล้วเข้าร่วมรัฐบาลชุดนี้ จะทำอย่างที่ประกาศเอาไว้หรือไม่ เราจะได้เห็นกันชัดๆ

แน่นอน คนจำนวนมากรวมทั้งผม ไม่มีความมั่นใจใดๆ ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำ เรามั่นใจว่าโอกาสของรัฐธรรมนูญที่จะถูกคว่ำมีสูงมาก แต่ไม่เป็นไร คว่ำก็คว่ำไป เราก็จะรณรงค์ต่อสู้เคลื่อนไหวต่อ โดยมุ่งไปที่รัฐบาล

รัฐบาลต้องทำประชามติ ในเมื่อบอกว่าอำนาจในการสถาปนาอยู่ที่ประชาชน ดังนั้นให้ประชาชนลงมติเลยว่าประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยและให้ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ถ้าเรามองโลกแบบในแง่ดี และเราหวังว่าจะมีส.ว.สักจำนวนหนึ่ง 1 ใน 3 ที่เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม เห็นแก่ความก้าวหน้า เห็นแก่ประชาธิปไตยของประเทศนี้ เห็นแก่การที่สังคมไทยไม่ต้องมาเผชิญหน้าขัดแย้งกันเรื่องรัฐธรรมนูญอีก แล้วเดินหน้าวาระสาม ผมจะขอคารวะและขอบคุณอย่างยิ่ง ซึ่งเราหวังว่าจะมีคนแบบนั้นอยู่บ้าง ซึ่งคนเหล่านี้คุณไม่ต้องไปรู้สึกผิดว่าคุณประวิตร คุณประยุทธ์ ตั้งคุณมาเป็นส.ว. คุณก็เลือกให้เขาเป็นนายกฯ แล้ว ตอบแทนกันเรียบร้อยไปแล้ว ต่อไปนี้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนได้ไหม เมื่อทำหน้าที่ให้ประชาชนได้ ต่อไปนี้จะราบรื่น เพราะเมื่อโหวตผ่านวาระสามแล้วก็จะไปถามประชาชนว่า ประชาชนต้องการอย่างไร ประเทศก็จะไปได้ดีเลย นี่คือทางออกที่ดีที่สุด

แต่ถามว่าเราคาดหวังได้หรือไม่ ว่าสิ่งที่เราฝันไว้จะเป็นจริงอย่างที่เราต้องการ ซึ่งมันไม่ง่ายแน่นอน ถ้ามันง่ายป่านนี้ประเทศไทยคงเป็นประเทศที่พัฒนาไปแล้ว ป่านนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยแถวหน้าของเอเชียไปแล้ว

ผมจึงขอเสนอร่างโมเดล การสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยพลังของประชาชน แล้วเราจะได้รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และต่อไปจะไม่มีการฉีกรัฐธรรมอีก เมื่อเราได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้กัน 7 วัน 7 คืน เหมือนที่คณะราษฎรเคยฉลองในวันรัฐธรรมนูญ

 

 

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจากการร่างของประชาชน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่เหมือนปี 40 เพราะนั่นยังคงเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งเรายังคงบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดของประเทศไทย ซึ่งในคราวนี้คือการเลือกโดยตรง ตัวแทนประชาชนนั้นไปร่างรัฐธรรมนูญ และนอกจากนี้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่การร่างรัฐธรรมนูญ ในเมื่ออีกฝ่ายจะเรียกได้ว่าไม่ได้ศรัทธาประชาธิปไตยเสียเท่าไหร่ บอกว่า พวกผมนี่ดีกว่า เพราะผมจะปฏิรูปประเทศ ผมจะทำยุทธศาสตร์ชาติ ทำไมฝ่ายประชาธิปไตยทำไม่ได้หรือ ซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยก็ทำได้ เราก็ใช้เงื่อนไขของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ในการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่

ท่านลองมองในทางบวกดูสิว่า ถ้าเราสามารถเปิดประเทศ เปิดเวทีการปรึกษาหารือ เพื่อร่วมกันร่างกติกาของประเทศครั้งใหม่ แล้วเป็นการปรึกษาหารือที่พูดคุยกันด้วยเหตุและผล จะเป็นการลดความขัดแย้งลงขนาดไหน ปัญหาจะน้อยลงมาก

เยาวชนคนหนุ่มสาวที่ออกมาเรียกร้องแล้วโดนยัดคดี ให้ทุกท่านเข้ามาอยู่ในกระบวนการนี้ มาร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะต้องทำคือว่าเราจะต้องทำงานแข่งกับเวลา และต้องกำหนดกรอบเวลา เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าจะมีคนที่ชอบซื้อเวลา อย่างที่เขาให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความ นั่นก็คือส่วนหนึ่งของการถ่วงเวลา ทำไมต้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ในเมื่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของรัฐสภาที่ทำได้อยู่แล้ว

บางฝ่ายพยายามตีความบอกว่าห้ามโหวตวาระสาม และเกมที่ออกมาพอมองออกอยู่แล้วว่าส.ว. จะงดออกเสียง พรรคพลังประชารัฐอาจจะงดออกเสียง และล่มเพื่อไปเริ่มต้นใหม่

ถามว่า...80 กว่าปี พวกเราอดทนพอไหม ? เราอดทนพอ ฝ่ายประชาชนอดทนเพื่อจะเห็นประเทศนี้เป็นประเทศของประชาชน

ถามว่า...ความรุนแรงทางการเมืองทุกครั้งที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากใคร ? เกิดขึ้นจากประชาชนใช่หรือไม่ ? ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากประชาชนเลย และส่วนใหญ่เกิดจากคนมีอำนาจรัฐ ถ้าไม่เกิดจากคนมีอำนาจรัฐ ก็จะเกิดขึ้นจากผู้ที่มีอำนาจรัฐไปจัดตั้งมวลชนอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งก่อความรุนแรงและจะหาเหตุในการที่จะปราบ บอกว่ากลัวคนจะทะเลาะกัน กลัวจะนองเลือด จะยึดอำนาจ จะรัฐประหาร

ท่านทั้งหลายดูกรณีของพม่า อ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้ง แต่ NLD ชนะเด็ดขาด รัฐประหารแล้วประชาชนไม่เห็นด้วย ออกมาต่อสู้ ผมชื่นชมจิตใจที่กล้าหาญของชาวพม่า

ลูกศิษย์ผมอยู่ที่พม่า ไม่ไปทำงาน อารยะขัดขืน ครอบครัวของเขาถูกจับติดคุก ถูกข่มขู่ ถูกกระทำความรุนแรงทุกอย่าง ผมถามว่า สู้ไหม เขาตอบว่าสู้ เพราะถ้าเขาไม่สู้ พม่าไม่มีทางเปลี่ยนแปลง เขาไม่ต้องการให้พม่ากลับไปเป็นเหมือน 30-40 ปีที่แล้ว เขาได้ลิ้มรสประชาธิปไตยมา 4 ปีแล้ว และการได้ลิ้มรสประชาธิปไตยนั้น มันมากพอที่จะทำให้เห็นว่าระบบการปกครองนี้ดีที่สุด ให้โอกาสคนมากที่สุด ให้โอกาสคนหนุ่มสาวมากที่สุด ถ้าไม่สู้วันนี้ อย่าหวังว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 19 ปี เธอจะต้องมีชีวิตที่งดงาม มีครอบครัว มีชีวิตที่ดี มีหน้าที่การงานที่ดี แต่วันนี้เธอบอกแล้ว เธอสละตัวเองเพื่อให้ประเทศเปลี่ยนแปลง เธออยู่ตรงแถวหน้าสุดของการชุมนุมประท้วง ช่วยทุกคนที่โดนกระทำด้วยความรุนแรง และในที่สุดเธอก็ถูกยิงด้วยสไนเปอร์ หลังจากที่เธอตาย ได้ค้นพบความจริงว่าเธอได้สละร่างกายให้คนอื่น นี่คือการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ว่ายินดีสละชีพเพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง เพื่อให้ประชาธิปไตยมั่นคง เพื่อคนรุ่นหลัง เพื่อประเทศชาติ

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่ามีผลต่อการต่อสู้ประชาธิปไตยในประเทศไทย ถ้าครั้งนี้ มิน อ่อง หล่าย ล้มลง ไม่ประสบความสำเร็จ พลังประชาธิปไตยในอาเซียนจะเข้มแข็งขึ้นมาก แล้วบรรดานักรัฐประหารทั้งหลาย บรรดาพวกปฏิปักษ์ประชาธิปไตยซึ่งอาจจะอาศัยคราบประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้งแบบโกงๆ นับคะแนนกันถูกๆ ผิดๆ จนกระทั่งนักคณิตศาสตร์งงหมดว่าตกลงนับปาร์ตี้ลิสต์อย่างไร เขาจะได้รู้สึกว่าอย่าประมาทพลังของประชาชน

แน่นอนที่สุด เราจะไม่ยอมแพ้ ต่อการเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในนามของเครือข่ายภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เราจะเคลื่อนไหว เราจะต่อสู้อย่างสันติ เพื่อประเทศนี้เป็นของประชาชน เพื่อให้รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนได้รับการสถาปนาให้เกิดขึ้นภายในปีสองปีนี้

เราต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยไทย 80 กว่าปีแล้ว ซึ่งหลายประเทศไปไกลกว่านี้มาก ท่านดูเกาหลีใต้ การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เหตุการณ์ที่เมืองกวางจู นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ แต่ทำไมการต่อสู้เมื่อ 14 ตุลา 2516 การต่อสู้เมื่อพฤษภาคม 2535 ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อาจจะเปลี่ยนแปลงได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้พลิกโฉมประเทศไทย

ท่านลองคิดดูว่า เราจะทำอย่างไรให้ “ขบวนการประชาธิปไตย” ประสบความสำเร็จ ?

 

ที่มา: กิจกรรม PRIDI Talks #9 x CONLAB วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2564 เสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ

ถอดเทปและเรียบเรียงโดย: บรรณาธิการ