ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

"นักเรียนควรจะได้เรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์วรรณคดีไทยไว้ด้วย"

21
กรกฎาคม
2563

จําไม่ได้ว่า เคยปฏิบัติรับใช้ ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ มาแต่เมื่อไร  แต่เมื่อ ฯพณฯ เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และแรกตั้งแผนกโรงเรียนเตรียมขึ้นในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) นั้น ฯพณฯ ได้ให้ คุณพร (มหาพร) มลิทอง มาตามไปพบ ฯพณฯ และปรารภว่า นักเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองควรจะได้เรียนรู้วิชาประวัติวรรณคดีไทยไว้ด้วย เช่นเดียวกับนักเรียนระดับนี้ในประเทศอื่น ๆ เขาก็เรียนรู้ประวัติวรรณคดีของประเทศของเขาแล้ว 

ฯพณฯ ได้ชักชวนด้วยความเชื่อถือและมีเมตตา มอบหมายให้ข้าพเจ้าเป็นผู้สอนวิชาประวัติวรรณคดีไทยในโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตั้งแต่นั้นมาก็มีโอกาสรับใช้ ฯพณฯ รวมทั้งตามตัวไปซักถามความรู้ในบางเรื่องและร่วมสนทนาอย่างเป็นกันเองเป็นครั้งคราว และบางครั้งก็ส่งปัญหามาให้ค้นหาคําตอบ เช่น เรื่อง ประวัติเรือนจํา และเรื่อง อาสาจาม ที่พิมพ์ในเล่มนี้**

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันให้การศึกษาอบรมและสรรสร้างนักศึกษาที่มีคุณภาพและคุณธรรมระดับสูงขึ้นมาเป็นจํานวนมากมาย มีผู้สําเร็จการศึกษาออกไปสร้างฐานะบําเพ็ญประโยชน์ โดยแพร่หลายและอย่างกว้างขวางในแทบทุกวงการ เช่น ในหน่วยราชการ, สถาบัน, สํานักงาน, องค์การ, บริษัท และรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ  ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า มีนักศึกษาที่สําเร็จจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปอยู่ปฏิบัติงานเป็นนักวิชาการและนักบริหาร ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับผู้นําของประเทศร่วมสร้างสรรค์ประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวมอย่างมหาศาล ซึ่งคงจะก่อให้เกิดปีติโสมนัสทันตาเห็นแก่ ฯพณฯ ผู้ประศาสน์การฯ เป็นอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจที่ ฯพณฯ โปรดเปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าได้ร่วมงานการสรรสร้างศิษย์ แม้จะเป็นโอกาสส่วนน้อยนิด แต่เป็นเหตุให้เกิดภาคภูมิใจเป็นอันมาก เพราะพลอยได้รับประโยชน์ต่อมาโดยไม่คาดคิดบางประการด้วย  ประการแรกที่ ฯพณฯ มอบหมายให้สอนวิชาประวัติวรรณคดีไทย เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าต้องศึกษาค้นคว้าเรื่องวรรณคดีไทยจนมีความรู้ติดตัวเกิดความชื่นชมในรสวรรณกรรมของชาติ และสามารถนําไปบรรยายขยายความในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วย  

ประการที่สําคัญ ก็คือ เมื่อข้าพเจ้ารับราชการต่อมา และมีความจําเป็นต้องประสานงานกับหน่วยราชการและสํานักงานอื่น ก็ได้รับความสะดวกและคล่องตัวดีมาก เพราะมักจะมีข้าราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เคยเป็นศิษย์จาก ต.ม.ธ.ก. ไปปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยราชการและสํานักงานนั้น ๆ รับช่วยเหลือและประสานงานด้วยดี  นอกจากนี้ บางครั้งบาง คราวเมื่อมีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ก็มักพบปะผู้เคยเป็นศิษย์ (ต.ม.ธ.ก.) มีอยู่หรือไปบริหารงานประจําอยู่ในจังหวัด และในประเทศนั้น ๆ เอื้อเฟื้อให้การต้อนรับและอํานวยความสะดวกด้วยดี จึงขอถือโอกาสรวมแสดงความขอบคุณไว้ในที่นี้ด้วย

ข้าพเจ้ารําลึกอยู่เสมอว่าการที่ ฯพณฯ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองชักชวนและมอบหมายให้ข้าพเจ้าไปสอนในแผนกโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยฯ นั้น นับเป็นพระคุณที่ ฯพณฯ โปรดเอื้ออุปการะ ด้วยความรําลึกถึงอุปการะคุณนั้น เมื่อมีโอกาสก็ตั้งใจรับใช้และคารวะด้วยดี เช่น เมื่อ พ.ศ. 2521 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสนําผ้าไหมไทยกับน้ำอบไทยไปสรงน้ําสงกรานต์แด่ ฯพณฯ ด้วยความเคารพ ณ เคหาสน์ชานนครปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในโอกาสนั้น ฯพณฯ ก็ชวนสนทนาซักถามเรื่องประวัติศาสตร์ไทยบางตอน และถามถึงเอกสารประวัติศาสตร์และพงศาวดารไทยบางเรื่อง จนต้องหาจังหวะเพื่อลากลับ และตั้งใจไว้ว่าเมื่อมีโอกาสคราวหน้าจะไปคารวะอีก พร้อมทั้งเตรียมปัญหาบางอย่างไปกราบเรียนถามด้วย 

แต่อนิจจา, ฯพณฯ ก็ล่วงลับไปเสียแล้ว พระคุณของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยฯ รัฐบุรุษอาวุโส ในการสรรสร้างศิษย์ให้มีคุณภาพและคุณธรรมขึ้นไว้มากมาย ยังคงสถิตสถาพรเป็นอนุสรณ์อยู่ในจิตสํานึกของบรรดาศิษยานุศิษย์และอนุชน สืบไปตลอดกาลาวสาน

 

หมายเหตุ:

  • * เขียนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2530
  • ** หมายถึงหนังสือ บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เรื่อง อาสาจาม และชื่อเมืองเพชรบุร พร้อมด้วยคําถามเรื่อง อาสาจาม ของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส.

 

ที่มา: หนังสือ วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2531, น. 40-42.