ขบวนการเสรีไทยเป็นขบวนการใต้ดินที่มีหน้าที่ปกป้องประเทศไทยจากการรุกรานของประเทศญี่ปุ่น โดยจะต้องปฏิบัติงานกันอย่างลับ ๆ เพื่อมิให้ฝ่ายรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และฝ่ายญี่ปุ่นทราบความเคลื่อนไหวง ดังนั้นแล้ว คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย นอกจากจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและมีอุดมการณ์รักชาติอันแรงกล้าแล้ว ยังต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดี และสามารถเก็บงำความลับได้เป็นอย่างดี
นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าใหญ่ของขบวนการเสรีไทยในประเทศนั้น ย่อมเป็นผู้ที่รู้เรื่องราว การเคลื่อนไหวและปฏิบัติการทั้งหมดของเสรีไทยเป็นอย่างดี แต่ด้วยขอบเขตที่กว้างและขนาดที่ใหญ่โตของขบวนการเสรีไทย ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่นายปรีดี พนมยงค์นั้นจะเป็นผู้คิด วางแผน และปฏิบัติภารกิจแต่เพียงผู้เดียว เขาจำเป็นจะต้องอาศัยผู้ช่วยซึ่งมีความรู้ความสามารถ ความซื่อสัตย์ และที่สำคัญ คือ มีอุดมการณ์และความคิดที่สอดคล้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หนึ่งในจำนวน 2 คนของบรรดาผู้นำองค์การใต้ดินภายในประเทศที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุดในทุกด้านจากนายปรีดี พนมยงค์ คงเป็นใครอื่นไปมิได้ นอกเสียจากนายทวี บุณยเกตุ และนายดิเรก ชัยนาม ซึ่งนายปรีดีเองก็ได้ให้ความไว้วางใจทั้งสองท่านเสมือนเป็น “มือขวา-มือซ้าย”
จากนักกฎหมายสู่นักการทูต
นายดิเรก ชัยนาม เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2447 ที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นบุตรของพระยาอุภัยพิพากษา (เกลื่อน ชัยนาม) และคุณหญิงจันทน์ เมื่อเติบโตขึ้นก็ได้เข้าศึกษาต่อ ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ จึงทำให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัยจนสำเร็จสอบไล่ได้มัธยมศึกษาบริบูรณ์ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และได้ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมจนสำเร็จการศึกษาได้เป็นเนติบัณฑิต
นายดิเรกเริ่มต้นทำงานด้วยการรับราชการในกระทรวงยุติธรรม และเข้าร่วมกับคณะก่อการปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อมีอายุได้ 28 ปี นายดิเรกได้รับตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 และในปี พ.ศ. 2484 ก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม
เมื่อเกิดสงครามโลกขึ้นในภาคพื้นยุโรป ซึ่งได้ลุกลามมายังทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาต่อมานั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีความกังวลในเรื่องการฝักใฝ่เข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นอย่างมาก ส่วนฝั่งของนายปรีดี พนมยงค์ และนายดิเรกเห็นตรงกันว่า กองทัพญี่ปุ่นนั้นเป็นรองกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรในแทบทุกด้าน ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ควรเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นอย่างเด็ดขาด ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม โดยประเทศไทยจะต้องพยายามรักษาความเป็นกลางไว้ให้ได้
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีของไทยได้พิจารณายินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยนั้น นายดิเรกเห็นว่า นโยบายการต่างประเทศของไทยได้เปลี่ยนจากการรักษาความเป็นกลาง กลายเป็นฝักใฝ่ฝ่ายญี่ปุ่นไปเสียแล้ว นายดิเรกจึงต้องออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วยตนเองอีกครั้ง ซึ่งในขณะเดียวกันนี้เอง ทางญี่ปุ่นก็ให้จอมพล ป. จัดการนายปรีดี พนมยงค์ ให้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกด้วย
นักเจรจารักษาผลประโยชน์แห่งชาติ
เมื่อเวลาผ่านไปเพียงแค่ 5 วันหลังจากนั้น นายดิเรก ชัยนาม ก็ได้รับการทาบทามให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงโตเกียว ในทีแรกนั้นนายดิเรกตอบปฏิเสธไปในทันที เนื่องจากว่าไม่เห็นด้วยที่ไทยร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่เมื่อได้ไปพูดคุยปรึกษาหารือกับนายปรีดี พนมยงค์แล้วนั้น นายดิเรกก็ได้ตอบรับการทาบทาม เนื่องจากนายปรีดีได้ให้คำแนะนำว่า นายดิเรกนั้นจะเป็นผู้เดียวที่สามารถระมัดระวังไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นนั้นมีความแน่นแฟ้นกัน จนอาจส่งผลให้ประเทศไทยเสียเอกราชได้ถ้าหากญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ดังนั้น หากนายดิเรกไปเป็นทูตที่โตเกียวก็จะสามารถช่วยรักษาผลประโยชน์ของชาติได้เป็นอย่างมาก และจะได้มีโอกาสในการปฏิบัติภารกิจของขบวนการเสรีไทยอีกด้วย
เมื่อนายดิเรก ชัยนาม เข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตได้ไม่นาน ก็ได้รับโทรเลขจากกรุงเทพฯ แจ้งมาว่า ประเทศไทยได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้ว ซึ่งนายดิเรกได้กังวลเป็นอย่างมากเนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้นายดิเรกได้ไปเจรจากับรัฐมนตรีญี่ปุ่นเพื่อขอเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะอย่างเป็นทางการ
นายดิเรกเห็นว่า ฝ่ายอักษะจะเป็นผู้ชนะเพียงแค่ช่วงต้นสงครามเท่านั้น แต่ในท้ายที่สุดแล้วย่อมพ่ายแพ้อย่างแน่นอน ลำพังเพียงแค่เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรก็เป็นก้าวที่ผิดพลาดเสียแล้ว หากยังทำเรื่องขอเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะอย่างเอาจริงเอาจังก็คงจะเป็นการเดินดิ่งลงเหวเป็นแน่แท้
ดังนั้น นายดิเรกจึงได้เข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นในประเด็นนี้ และทางญี่ปุ่นก็ได้มีความเห็นว่า ไทยไม่มีความจำเป็นต้องเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ เพียงแค่การเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นที่เป็นชาติเอเชียด้วยกันนั้นก็เพียงพออยู่แล้ว เมื่อได้ยินเช่นนั้นแล้วนายดิเรกจึงได้รีบรายงาน และเสนอกลับไปยังรัฐบาลไทยว่า ควรระงับการเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะเสีย ซึ่งทางจอมพล ป. พิบูลสงครามก็ได้ให้ความเห็นชอบและระงับเรื่องนี้ไว้โดยทันที
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2486 นายดิเรก ชัยนามได้ขอลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ เมื่อเดินทางกลับมายังประเทศไทยก็ได้ทุ่มเทให้กับปฏิบัติการของเสรีไทยอย่างเต็มที่ โดยได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางไปประชุมเกี่ยวกับความร่วมมือทางทหารระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับขบวนการเสรีไทยที่เมืองแคนดีในปี พ.ศ. 2488 ซึ่งได้สร้างความพึงพอใจให้แก่อังกฤษให้ระดับหนึ่ง ที่ขบวนการเสรีไทยให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับญี่ปุ่นด้วยความจริงใจ
สำคัญที่เกียรติ
เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง นายดิเรกได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน
ระหว่างดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน นี่เอง ที่เกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายระบอบรัฐธรรมนูญ และทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ เวลาน้ันนายดิเรกรับราชการอยู่ในต่างประเทศ จึงไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี นายดิเรกได้แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างชัดเจน โดยขอลาออกจากตำแหน่งเอกอัครราชทูต โดยให้เห็นผลว่า “สำคัญที่เกียรติ” เพราะไม่อาจลอยหน้ารับตำแหน่งต่อไปได้ ขณะที่เพื่อนเสรีไทยล้วนเดือดร้อนกันถ้วนหน้าภายหลังการรัฐประหาร ที่ฝ่ายทหารนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล ผิน ชุณหะวัณ กลับมาเรืองอำนาจ
นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ สดุดีนายดิเรกไว้ว่า “ในฐานที่เคยใกล้ชิดกันผมทราบดีว่า อาจารย์ดิเรกไม่ใช่คนกล้าบ้าบิ่น ท่านมีสัญชาตญาณเป็นมนุษย์ธรรมดา คือ มีความขลาดกลัว ความไม่อยากเสี่ยงพอสมควร จะทำอะไรก็ต้องคิดให้รอบคอบ ดูหน้าดูหลัง ไม่ใช่หลับหูหลับตาเสี่ยงชีวิต ทรัพย์สมบัติ หรือความสุขสบายเสียเรื่อยไป บุคคลชนิดนี้ เมื่อจะข่มสัญชาตญาณด้านความขลาดกลัวได้ด้วยเหตุผล และตัดสินใจทำอะไรไปในด้านเสี่ยงแล้ว ท่านต้องระดมเรียกความกล้าหาญของท่านเป็นพิเศษ ความกล้าหาญที่เกิดจากเหตุผลจนระงับความขลาดได้เป็นความกล้าหาญอันยิ่งยอด และในกรณีของอาจารย์ดิเรกนี้ ก็สำคัญอยู่ที่เกียรติ”
อุทิศตนเพื่อสาธารณประโยชน์
หลังจากกลับประเทศไทย นายดิเรกได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2508
นายดิเรก ชัยนามได้ใช้ความรู้ความสามารถ ความรอบคอบ และความซื่อสัตย์ในการรับใช้ประเทศชาติมิให้สูญเสียเอกราชและอำนาจอธิปไตยด้วยความจงรักภักดี ปราศจากความด่างพล้อยตลอดชีวิตการทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังได้รับความไว้วางใจจากนายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษโอวุโส นายดิเรกจึงสมควรได้รับการยกย่องจากคนรุ่นหลังในฐานะวีรบุรุษและนักการทูตผู้รักษาผลประโยชน์ของชาติด้วยจิตอันบริสุทธิ์คนสำคัญคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
นายดิเรก ชัยนาม ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 สิริรวมอายุได้ 62 ปี 3 เดือน และได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสในวันที่ 11 กรกฎาคม ปีเดียวกันนั้นเอง
อ้างอิง
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. 2546. ตำนานเสรีไทย. กรุงเทพฯ: แสงดาว. หน้า 637-650.
- นรนิติ เศรษฐบุตร. ม.ป.ป. ดิเรก ชัยนาม. ใน ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า. เข้าถึงได้จาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ดิเรก_ชัยนาม.
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์. 2510. สำคัญที่เกียรติ. ใน http://puey-ungpakorn.org/index.php/writer/academic/academic01?id=306