ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ทำไมเพื่อนเรียกข้าพเจ้าว่า “อาจารย์”

12
สิงหาคม
2563

นายควง อภัยวงศ์ ได้พูดที่คุรุสภา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 มีความเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยและข้าพเจ้าหลายประการ ที่ตรงบ้าง คลาดเคลื่อนบ้างจากหลักฐานเอกสารและข้อเท็จจริง ข้าพเจ้าจึงเห็นจําเป็นที่จะต้องแสดงหลักฐานและความจริงในโอกาสอันควรต่อไป เพื่อสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ของชาติไทย 

ในภาคผนวกนี้ ขอให้สังเกตเพียงบางประการไว้ล่วงหน้าก่อน นอกจากที่กล่าวไว้บ้างแล้วในหนังสือเล่มนี้

ประการหนึ่ง นายควงฯ พยายามเอาข้าพเจ้าเป็นตัวประกอบการตลกด้วย อาทิคําพูดตอนหนึ่งของนายควงฯ มีว่า “ที่ผมเรียกหลวงประดิษฐ์ฯ ว่า อาจารย์นั้น ความจริงไม่ได้เป็นอาจารย์ของผมหรอก เราเป็นเพื่อนกัน  อย่างที่ผมเล่าให้ฟังแล้ว แต่แกเป็นคนมีโปรแกรมมากเหลือเกิน เราก็ตั้งนิคเนมแกว่า ‘อาจารย์’  ส่วนหลวงพิบูลฯ เขาเป็นนายทหาร พอเป็นนายร้อยเอก เราก็เรียกว่า ‘กัปตัน’  หลวงสินธุสงครามชัย เขาเป็นนายทหารเรือและเรียนเก่ง เราก็เรียกเขาว่า ‘แอดมิราล’”

นายควงฯ พูดถูกต้องที่เพื่อน ๆ เรียก ร.ต. สินธุ กมลนาวิน ร.น. ว่า “แอดมิราล” ตามเหตุผลนั้น แต่ต้องประกอบด้วยเหตุที่ ร.ต. สินธุฯ ร.น. เป็นหัวหน้าก่อการฯ ฝ่ายทหารเรือ  ส่วนหลวงพิบูลฯ นั้น ระหว่างศึกษาอยู่ในฝรั่งเศส คงมียศเพียงนายร้อยโทเท่านั้น กลับสยามแล้วจึงได้ยศเป็นนายร้อยเอก  ฉะนั้น ระหว่างที่เราอยู่ในฝรั่งเศส เราเรียกนายร้อยโท แปลกว่า “กัปตัน” เพราะเหตุอื่นซึ่งมีเรืองยืดยาว ขอรอไว้ชี้แจงในโอกาสหน้า มิใช่เพราะเขาเลื่อนยศเป็นนายร้อยเอกภายหลังเขากลับสยามแล้ว

ก่อนชี้แจงเกี่ยวกับการที่เพื่อนเรียกข้าพเจ้าว่า “อาจารย์” นั้น สมควรกล่าวว่า นายควงฯ ได้พูดความจริงที่คุรุสภาเฉพาะกาละที่นายควงฯ เพิ่งเข้าร่วมคณะราษฎรเมื่อก่อนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไม่กี่เดือน บางคนหรือหลายคนเข้าใจผิดไปเองว่า นายควงฯ ร่วมคณะราษฎรตั้งแต่ศึกษาอยู่ที่ปารีส เพราะคิดว่า เมื่อเป็นเพื่อนด้วยกันแล้ว ก็ร่วมคิดการเมืองทุกคน ซึ่งไม่ถูกต้อง

อันที่จริงนั้น ข้าพเจ้าเป็นเพื่อนกับนักศึกษาไทยในฝรั่งเศสที่รู้จักทุกคน แต่ในการที่จะชวนเพื่อนคนใดร่วมงานอภิวัฒน์นั้น ผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะราษฎรได้วางข้อกําหนดไว้เคร่งครัดที่ไม่พิจารณาเพียงแต่ว่า เป็นเพื่อนเที่ยว เพื่อนกินด้วยกันเท่านั้น คือ ต้องดูแต่ละคนว่า มีความเสียสละเพื่อชาติได้จริงจังหรือไม่ และรักษาความลับได้หรือไม่ 

แม้ข้าพเจ้าสนับสนุนนายควงฯ แต่ผู้ริเริ่มหลายคนเห็นว่า นายควงฯ พูดเกินเลยไป เกรงจะรักษาความลับไว้ไม่ได้นาน ฉะนั้น จึงชวนนายควงฯ เมื่อใกล้จะทำการยึดอำนาจ และให้ช่วยอยู่ยามบางคราว ตามที่นายควงฯ ได้กล่าวไว้ที่คุรุสภานั้น

ส่วนบางคน แม้เป็นเพื่อนเที่ยวและกินด้วยกัน แต่ปรากฏระหว่างมีการชุมนุมประจำปีว่า เพื่อนคนนั้นเมาสุราคุมสติไว้ไม่ได้ จึงมิได้ชวนเพื่อนคนนั้นร่วมคณะราษฎร โดยชวนเขาภายหลังเมื่อยึดอํานาจในวันที่ 24 มิถุนายนแล้ว

บางคน เช่น หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นเพื่อนข้าพเจ้าตั้งแต่เรียนกฎหมายในสยาม ข้าพเจ้าเองเสนอผู้ริเริ่มให้ชวนหลวงวิจิตรฯ ด้วย แต่ที่ประชุมส่วนมากมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ จึงไม่ได้ชวนหลวงวิจิตรฯ แม้ภายหลัง 24 มิถุนาฯ แล้ว จึงเป็นเหตุหนึ่งที่หลวงวิจิตรฯ จัดตั้ง “คณะชาติ” ขึ้น

การประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎรมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ “RUE DU SOMMERARD” ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั้น ผู้ร่วมประชุมมี 7 คน คือ (1) นายประยูร ภมรมนตรี (2) ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (3) ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี (4) นายตั้ว ลพานุกรม (5) หลวงสิริราชไมตรี (6) นายแนบ พหลโยธิน (7) ข้าพเจ้า

เมื่อข้าพเจ้ากลับสยามในเดือนมีนาคมปีนั้นแล้ว ได้มอบให้เพื่อนที่ยังอยู่ในปารีสเลือกเฟ้นผู้ที่สมควรชวนร่วมคณะราษฎรต่อไป เพื่อนที่ว่านั้นได้ชวนนายทวี บุณยเกตุ และนายบรรจง ศรีจรูญ ไทยมุสลิมจากอียิปต์ที่มาเยือนปารีส ภายในเวลาประมาณอีก 2-3 เดือนต่อมาได้ชวน ร.ต. สินธุ กมลนาวิน ร.น. นักศึกษาวิชาทหารเรือเดนมาร์คที่มาเยือนปารีส ต่อจากนั้นเพื่อนที่ก่อตั้งคณะราษฎรที่ปารีสก็ทยอยกันกลับสยาม ค่อย ๆ ชวนเพื่อนนักศึกษาที่เคยสังเกตไว้ในการสนทนากันเพียงคร่าว ๆ มิได้จํากัดเฉพาะนักศึกษาในฝรั่งเศสเท่านั้น

ฉะนั้น ต่อมาในสยามจึงได้ชวน ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ นักศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์  ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ และนายสพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา และนายเล้ง ศรีสมวงศ์ นักศึกษาจากอังกฤษ ฯลฯ และเพื่อนทหารบก ทหารเรือ พลเรือนคนอื่น ๆ ในสยาม ดังนั้น นายควงฯ จึงไม่รู้เรื่องความเป็นไปของคณะราษฎรได้ถูกต้อง

ส่วนการที่เพื่อนนักศึกษาในฝรั่งเศสส่วนหนึ่งเรียกข้าพเจ้าว่า “อาจารย์” นั้น เนื่องจากเหตุต่าง ๆ กัน  นายเทอด บุนนาค นักศึกษามหาวิทยาลัยฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้พิพากษาในสยามนั้น ได้พาครอบครัวมาเยี่ยมข้าพเจ้า ณ บ้านพักข้าพเจ้าชานกรุงปารีส  นายเทอดฯ ได้บอกแก่ครอบครัวของตนว่า ข้าพเจ้าเป็นทั้งเพื่อนและอาจารย์ของเขา เพราะนอกจากได้รับคําแนะนําในการศึกษาแล้ว ข้าพเจ้ายังได้ช่วยทบทวนวิชาให้เขาก่อนเข้าสอบไล่ หลายคนก็ได้เรียกข้าพเจ้าเพราะเหตุนี้ 

 

นายเทอด บุนนาค กับนายปรีดี พนมยงค์
นายเทอด บุนนาค กับนายปรีดี พนมยงค์

 

แต่นายควงฯ ลืมไปเองถึงเหตุที่หลายคนเรียกข้าพเจ้าว่า “อาจารย์” ฉะนั้น ข้าพเจ้าอภัยให้ส่วนการที่นายควงฯ อ้างว่า เพื่อนอื่น ๆ ตั้งนิคเนมข้าพเจ้า เพราะมีโปรแกรมมากเหลือเกินนั้น อันที่จริง ระหว่างอยู่ในฝรังเศสนั้น โปรแกรมเพื่ออภิวัฒน์ไทยก็รู้เฉพาะไม่กี่คน ซึ่งนายควงฯ ไม่มีโอกาสรู้ ฉะนั้น จะเดาเอาว่า ข้าพเจ้ามีโปรแกรมมากในเวลานั้นได้อย่างไร  ข้าพเจ้ามีโปรแกรมหลายอย่างที่แสดงให้เพื่อนก่อการ 24 มิถุนาฯ รู้ทั่วกันภายหลัง 24 มิถุนาฯ  ก่อนนั้น นอกจากหัวหน้าสายแล้ว แต่ละคนรู้เฉพาะหน้าที่ของตน เช่น หน้าที่ตัดสายโทรศัพท์กลางในบังคับ บัญชาของ ร.อ. หลวงนิเทศกลกิจนั้น นายควงฯ ก็รู้เฉพาะการนั้นเท่านั้ น แม้การประชุมบางครั้งที่ให้นายควงฯ เป็นยามก็ดี นายควงฯ ก็รับอยู่แล้วว่า ตนไม่รู้ที่ประชุมพูดเรื่องอะไรกัน

เจ้านายหลายพระองค์ทรงถือว่า ข้าพเจ้าเป็นพระสหาย ก็ได้ทรงพระกรุณาเรียกข้าพเจ้าว่า “อาจารย์”  อาทิ พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ก็ทรงเรียกข้าพเจ้าเช่นนั้นตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ตลอดมา จนกระทั่งก่อนท่านสิ้นพระชนม์

พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ุยุคลก็ทรงกรุณาเรียกข้าพเจ้า “อาจารย์” ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ตลอดมากระทั่งปัจจุบันเมื่อพระองค์ทรงพบปะข้าพเจ้า  ท่านมิได้ทรงเรียกข้าพเจ้าเช่นนั้นเป็นการตลก

เจ้านายอีกองค์หนึ่ง คือ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล พระบิดาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ทรงสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถฯ นั้น ท่านทรงมีพรรษามากกว่าอายุข้าพเจ้าหลายปี ในขณะทรงศึกษาอยู่ในฝรั่งเศส และทรงเป็นผู้ที่นักศึกษาส่วนมากเคารพนับถือท่านว่าทรงพระปรีชาญาณ มีความรู้แตกฉานทั้งในความรู้ทั่วไป ในวิชาทหาร ในภาษาฝรั่งเศส จนสามารถทรงนิพนธ์ร้อยแก้วภาษาฝรั่งเศสได้  ดั่งปรากฏในหนังสือที่นักศึกษาในฝรั่งเศสสมัยนั้นพิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในวาระที่พระองค์เสด็จสวรรคต 

ท่านกรุณาประทานเกียรติแก่ข้าพเจ้าเรียกข้าพเจ้าว่า “อาจารย์” ตามลาย พระหัตถ์ที่ท่านทรงเขียนไว้ใต้พระฉายาลักษณ์ที่ประทานแก่ข้าพเจ้าว่า “ให้ท่านอาจารย์ปรีดี สภานายกแห่งสามัคยานุเคราะห์สมาคม ไว้เป็นที่รฤก ด้วยความชอบพอแลคุ้นเคยมาก นักขัตร”

คําว่า “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” เป็นชื่อสมัยแรกตั้งของสมาคมนักศึกษาไทยในฝรั่งเศสและนักศึกษาในความดูแลสถานทูตสยามประจํากรุงปารีสที่ศึกษาในยุโรป รวมทั้งส่วนหนึ่งที่ศึกษาในอังกฤษ ชื่อนี้หม่อมเจ้านักขัตรฯ (พระนามเวลานั้น) เป็นผู้ทรงดําริ แล้วที่ประชุมก่อตั้งสมาคมลงมติเห็นชอบ ท่านทรงดําริว่า ชื่อสมาคมนั้น สําหรับภาษาฝรังเศสให้ย่อลงได้เป็น S.I.A.M. คือ ASSOCIATION “SIAMOISE D’ ่ INTELLECTUALITE ET D’ASSISTANCE MUTUELLE” โดยย่อ “S” จาก “SIAMOISE” “I” จาก INTELLECTUALITE “A” จาก “ASSISTANCE” “M” จาก “MUTUELLE”  ส่วนชื่อในภาษาไทยก็ย่อลงได้เป็น ส.ย.า.ม. 

ข้าพเจ้าขอเชิญพระฉายาลักษณ์พร้อมด้วยลายพระหัตถ์มาพิมพ์ ไว้ต่อไปนี้ 

 


 

ที่มา: บางตอนจาก “ภาคผนวก: อนุสนธิจากปาฐกถา ของนายควง อภัยวงศ์” ที่นายปรีดีฯ เขียนเมื่อ พ.ศ. 2515  โดยคัดจากฉบับที่พิมพ์ล่าสุดในหนังสือ 75 ปี วันสันติภาพไทย: บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2563, น. 106-111.