ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

บทเรียนขบวนการประชาธิปไตยสันติธรรมของคนหนุ่มสาวและการปราบปรามโดยทรรัฐ

6
ตุลาคม
2563

การจัดงานเสวนาทางวิชาการ  “จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ: ชาติความเป็นไทย และประชาธิปไตยที่แปรผัน” เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี 6 ตุลาคม 2519 ที่ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นเจ้าภาพ และเป็นการจัด Pridi Talks ครั้งที่ 6 ด้วยวิทยากร 6 ท่าน เป็นการแสวงหาเส้นทางประชาธิปไตยไม่ให้ซ้ำรอยเกิดความรุนแรงนองเลือดขึ้นอีกในสังคมไทย 

สังคมไทยต้องได้บทเรียนแล้วว่า การปล่อยให้มีการสร้างวาทกรรมเพื่อให้เกิดการเกลียดชังกัน การใส่ร้ายป้ายสีว่า “หนักแผ่นดิน” “ขายชาติ” “ชังชาติ” ก็ดี ย่อมไม่เป็นผลดีต่อความสงบสุขของสังคม และอาจทำให้ประชาธิปไตยแปรผันเป็นไปอะไรที่เรายังไม่สามารถคาดเดาได้เลย เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความเสี่ยง และ ความหวั่นวิตกในความรุนแรง

เพียงแต่เราใช้สติปัญญาทบทวนดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในไทยและในต่างประเทศ เราจะสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรง หรือกับดักที่ “ทรรัฐ” อาจวางไว้เพื่อปราบปรามประชาชนด้วยการใช้กำลังรุนแรงได้  ขบวนการสันติธรรมประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาว ไม่ว่าในฮ่องกง ในประเทศไทย หรือที่ใดในโลก ล้วนเป็นพลังที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดี อยากเห็นสังคมอุดมคติที่เป็นธรรมและแบ่งปันกัน อยากเห็นเสรีภาพ อยากเห็นประชาธิปไตย ปราศจากการข่มเหงรังแก ปราศจากการใช้อำนาจรัฐคุกคามคนเห็นต่าง

ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขบวนการของคนหนุ่มสาว ไม่ว่า 14 ตุลา 6 ตุลา ในไทยก็ดี ไม่ว่าที่เมืองกวางจูเพื่อโค่มล้มเผด็จการทหารเกาหลีใต้ในปี 2523 และเกิดการสังหารหมู่ ไม่ว่าจะเป็นที่เทียนอันเหมินเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปและเสรีภาพเมื่อปี 2532 ก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติดอกมะลิหรืออาหรับสปริงในปี พ.ศ. 2553 ที่ตูนิเซียจนลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง มักจะจบลงด้วยการปรามปรามของ “ทรรัฐ” ที่ใช้ความรุนแรงด้วยกองทหารและอาวุธยุโธปกรณ์จากภาษีประชาชนนำมาเข่นฆ่าและทำร้ายประชาชน

ไม่ว่าจะเป็นการปกครองแบบไหนล้วนเป็น “ทรรัฐ” ขึ้นอยู่กับผู้นำว่า เป็นผู้นำที่สามารถใช้วิธีการไหนในการรักษาอำนาจ 

หากใช้วิธีเข่นฆ่าประชาชนของตัวเอง ณ วันนั้น เขาได้เป็น “ทรราชย์” ใน “ระบอบทรรัฐ” แล้ว  ทหารที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำเผด็จการโหดร้ายและชั่วช้า ไม่ได้เป็น “ทหาร” อาชีพที่มีเกียรติศักดิ์ศรีในต่อสู้เพื่อประชาชนและประเทศชาติอีกต่อไป แต่พวกเขา คือ “ฆาตกรในเครื่องแบบ” ที่ต้องการอยู่รอดด้วยการทำคำสั่งที่ปราศจากมโนธรรมของผู้ปกครองที่กดขี่ 

จะไม่เป็น “ทรรัฐ” จะไม่มี “ทรราชย์” ก็ต่อเมื่อผู้มีอำนาจบรรลุธรรม มองประชาชนที่เห็นต่างอย่างเป็นมิตร มองการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพว่าเป็นความงดงามแห่งสำนึกของประชาชนผู้ตื่นรู้ มีการเดินหน้าเจรจาหารือกันเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ 

ในกรณีของไทย ณ วันนี้  ทางออก คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เราได้ รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน อันเป็นพื้นฐานของสันติธรรม และระบอบประชาธิปไตยอันมี “กษัตริย์” เป็นประมุข ที่มั่นคง สังคมที่สงบสุขเอื้ออาทร และ เจริญก้าวหน้าต่อไป     

บางประเทศจบลงด้วยความรุนแรงนองเลือด การรัฐประหารและได้เผด็จการที่โหดร้ายกว่า หรือสภาพอนาธิปไตย บ้านเมืองแตกสลาย เป็นรัฐล้มเหลว จาก “ทรรัฐ” เป็น “รัฐล้มเหลว”  บางประเทศจบลงด้วยดี เป็นประชาธิปไตยที่มั่นคง คุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยไม่มีความรุนแรงหรือการสูญเสียที่ไม่จำเป็น  บางประเทศมีการสูญเสีย เสียสละของวีรชนผู้พลีชีพ แต่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เช่น เกาหลีใต้ และหลายประเทศในยุโรป

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสันติธรรมไม่ใช่การต่อสู้วันเดียว อาทิตย์เดียว เดือนเดียว หรือปีเดียวจบ มันเป็นสงครามยืดเยื้อที่เราต้องต่อสู้กับพวกเผด็จการและพวกกระหายความรุนแรงและการกดขี่  การต่อสู้อาจต้องใช้เวลาชั่วชีวิต อาจต้องสืบทอดให้ลูกหลาน อย่าหวาดกลัวในการแสดงจุดยืนและความเห็นที่ถูกต้องเพื่อพิทักษ์สันติธรรมและเสรีภาพ และเราต้องยอมเข้าสู่ความยากลำบากที่จำเป็น แต่เป็นความยากลำบากที่พิสูจน์การกระทำอันยิ่งใหญ่ เป็นอมตะ เช่นเดียวกับคณะของเสรีไทย เช่นเดียวกับผู้ประศาสน์การแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เช่นเดียวกับ วีรชน 14 ตุลา วีรชน 6 ตุลา และพฤษภา 35   

สำหรับคนหนุ่มสาว ขบวนการคนหนุ่มสาวทั่วโลก ได้ต่อสู้ให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น เป็นธรรมขึ้น เป็นประชาธิปไตย มีจุดร่วม คือ ต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่ง และหัวใจที่อ่อนโยน หรือ A Tough Mind and a Tender Heart มีความกล้าหาญเสียสละ และมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ หรือเพื่อนร่วมชาติ

สำหรับคนหนุ่มสาวที่รอดชีวิตมาได้หลังความรุนแรงนองเลือดในค่ำคืนวันที่ 5 ตุลาคมจนถึงช่วงย่ำรุ่งวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวง  เสียงปืนระดมยิงเข้ามาในธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรม ธรรมศาสตร์ สถาบันที่พร่ำสอนให้รักประชาชน ถูกปิดล้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจตระเวณชายแดน และทหาร รวมทั้งกองกำลังมวลชนจัดตั้งขวาจัด อย่างกระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้าน

มวลชนเหล่านี้ถูกปลุกเร้าว่า นักศึกษาที่ชุมนุมในธรรมศาสตร์ เป็นพวกชังชาติ ขายชาติ หนักแผ่นดิน และเป็นพวกคอมมิวนิสต์  การปลุกเร้าใส่ร้ายด้วยวาทกรรมเหล่านี้ได้ผลอย่างมากจากความบ้าคลั่งของกลุ่มมวลชนจัดตั้งเหล่านี้ที่กระทำรุนแรงต่อร่างไร้วิญญาณของวีรชน

ผู้คนทั่วโลก รวมทั้งชาวไทยที่รักความสงบรักความเป็นธรรม แทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า เกิดเหตุการณ์อันโหดร้ายเช่นนี้กลางกรุงเทพ ในสถาบันการศึกษา ที่ “คณะราษฎร” มุ่งหมายให้เป็นแหล่งผลิตพลเมืองอย่าง “ธรรมศาสตร์” ต้องนองไปด้วยเลือดและตกเป็นเป้าของอาวุธสงครามที่ยิงถล่มเข้ามาราวกับเป็นสนามรบ

เหตุการณ์เยี่ยงนี้เกิดขึ้นในประเทศที่บอกว่า บ้านเมืองของตัวเองเป็นเมืองพุทธ ที่องค์ศาสดาสอนให้ผู้คนมีเมตตากรุณาต่อกัน ห้ามการฆ่าฟันกัน 

คนหนุ่มสาวเหล่านี้จำนวนหนึ่งถูกคุกคามไล่ล่าจนต้องหนีเข้าป่าจับอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย   

การปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณต่อขบวนการสันติธรรมประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวโดยทรรัฐเผด็จการ ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบระหว่างกองทัพไทย กับกองทัพปลดแอกประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ กว่าจะฟื้นฟูให้บ้านเมืองมีความสงบปรองดองสมานฉันท์ต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปี

คนหนุ่มสาวที่ได้ลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในวันนั้น ได้กลายเป็นคนวัยเกษียณในวันนี้ แต่ประเทศไทยยังคงนี้ไม่พ้นวงจรของระบอบเผด็จการ หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 มา 44 ปี เรามีรัฐประหารอีก 4 ครั้ง ความพยายามก่อกบฏโดยคณะทหารอีกหลายครั้ง มีการเรียกร้องประชาธิปไตย และเกิดเหตุการณ์รุนแรงนองเลือดหลายครั้ง

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ระบอบเผด็จการทหารคณาธิปไตย ที่อยู่ในอำนาจการปกครองประเทศมาอย่างยาวนานนับจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ถูกโค่นล้มโดยขบวนการประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาประชาชน แต่พลังอนุรักษ์นิยมจารีตนิยมขวาจัดสุดขั้วได้ทำให้ให้ระบอบประชาธิปไตยไทยถอยหลังอีกครั้งหนึ่งหลังจากได้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  ผลสะเทือนของทั้งสองเหตุการณ์ได้ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐต้องยอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามากขึ้น และต้องฟังเสียงการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศมากขึ้น สังคมไทยเรียนรู้การแก้ปัญหาความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยแนวทางสันติวิธีมากขึ้น

44 ปี หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม และ 47 ปี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ปรับเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับ และมีสัดส่วนของภาคบริการที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประเทศไทยสามารถก้าวจากประเทศด้อยพัฒนายากจนสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง โดยช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง 2 ช่วง คือ ช่วงทศวรรษ 2530 และช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2540  โครงสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมืองได้คลายตัวลงในบางช่วงโดยเฉพาะหลังมีการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 ช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินปี 2540 และมีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงเรียกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”  อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2549 ระบอบอำนาจนิยมได้ฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง มีการรัฐประหารขึ้นในเดือนกันยายน 2549 และได้คืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 1 ปี แต่ก็ยังเกิดปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองและปัญหาเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2557

ภารกิจข้างหน้าของขบวนการประชาธิปไตย คือ ทำอย่างไรที่เอาชนะขบวนการปรปักษ์ประชาธิปไตย ด้วยยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่จะทำให้เราหลีกเลี่ยงความรุนแรงและการสูญเสีย และผมเห็นว่า ทางออกนั้น คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

ที่ใดไม่มีความเป็นธรรม ที่ใดไม่มีเสรีภาพ ที่นั้นมีการลุกขึ้นสู้

เมื่อความอยุติธรรม การกดทับอำนาจประชาชน การละเมิดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพอยู่ในเนื้อในของระบบกฎหมาย การต่อสู้เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจึงเป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่

เมื่อกฎหมายกติกาสูงสุด หรือรัฐธรรมนูญมาจากการรัฐประหาร มีที่มาจากการยึดอำนาจ ถูกออกแบบให้มีการสืบทอดอำนาจ เนื้อหาก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยต้องช่วยกันรณรงค์ให้มีการแก้ไขเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ แก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำพาบ้านเมืองไปสู่ความก้าวหน้า สู่ความสันติสุข ปรองดองสมานฉันท์ และร่วมฝ่าวิกฤติ Covid-19 และวิกฤติเศรษฐกิจไปได้

คณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 1 เดือน ทั้งที่ควรจะรับหลักการทั้ง 6 ร่างไปแล้วนำไปศึกษาในวาระที่ 2 ทำให้ถูกมองว่าเป็นการเตะถ่วงเวลา ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน เพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมือง และเศรษฐกิจ  สิ่งที่เห็นชัดมาตลอด คือ หลังรัฐสภา โดยเฉพาะวุฒิสมาชิก ไม่ยอมรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น โยกเงินออกจากประเทศไทย เงินไหลออกเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมความเดือดร้อนทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของประชาชน และเกิดความเสี่ยงและความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นว่า จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองหรือไม่  เราหวังว่า การชุมนุมใหญ่เรียกร้องประชาธิปไตยจะไม่เกิดเหตุรุนแรงใด ๆ และขอให้ทุกอย่างปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่ใช้กฎหมายในการข่มขู่คุกคามประชาชน 

เราตระหนักถึงความเป็นจริงของค่ายกลที่ซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้การแก้ไขเป็นไปได้ยากมาก หากไม่ได้ความร่วมมือจากสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแต่งตั้งโดยแกนนำไม่กี่คนของ คสช.

ขอให้ ส.ว. เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ นึกถึงประชาชน มากกว่านึกถึงตำแหน่ง อำนาจ และผลประโยชน์ ด้วยการเข้าร่วมกับขบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ดูเหมือนว่า ท่าน ส.ว. ส่วนใหญ่จะไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เท่าไหร่  เมื่อเป็นเช่นนั้น การรณรงค์ที่มีขอบเขตทั่วประเทศเช่นเดียวกับการรณรงค์ธงเขียวรัฐธรรมนูญปี 2540 จะต้องเกิดขึ้นในทุก ๆ จุดของประเทศ เพื่อส่งสัญญาณและบอกกล่าวกับท่านด้วยความปรารถนาดีต่อกัน ปรารถนาดีต่อประเทศชาติว่า หมดเวลาของท่านแล้ว ลงจากอำนาจได้แล้ว และออกมาร่วมเดินกับประชาชนเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมี “กษัตริย์” เป็นประมุข มีรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญกินได้ ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองและเศรษฐกิจ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการร่างขึ้นมาใหม่  

ขอให้ทุกท่านโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวมีจิตใจอันแข็งแกร่งในการยืดหยันต่อสู้ให้เกิดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มีหัวใจอ่อนโยนเพื่อให้การเคลื่อนไหวยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี  ใช้ภราดรภาพในการเอาชนะพลังแห่งความเกลียดชังและทำลายป้ายสี สู้ด้วยความดีและเหตุผล

ระบอบประชาธิปไตยอันมี “กษัตริย์” เป็นประมุข ที่มั่นคง สังคมที่สงบสุขเอื้ออาทร และเจริญก้าวหน้าต่อไป      

วิสา คัญทัพ กวีประชาธิปไตย ร่ายบทกวีปลุกเร้าการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ บทสุดท้ายมีวรรคทองอันเป็นอมตะว่า

“ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า
ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ
ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน
ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป
เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่
ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่
เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ
ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” 

ในที่สุด “ประชาธิปไตย” จะเอาชนะ “เผด็จการ” ได้

ในที่สุด “ความก้าวหน้า” จะมาแทนที่ “ความล้าหลัง”

ในที่สุด “อนาตตที่สดใส” จะมาแทน “อดีตอันขมขื่น”

ในที่สุด “สันติธรรม” จะเอาชนะ “ความรุนแรงก้าวร้าว” และแทนที่ “ความไม่เป็นธรรม”    

สุดท้าย ผมขอจบด้วยบทกวีของ ระวี โดมพระจันทร์ ปลุกให้คนไทยลุกขึ้นสู้กับเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมายาวนานกว่า 16 ปีก่อนการเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

“ตื่นเถิดเสรีชน
อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน
หอกดาบกระบอกปืน
ฤาทนคลื่นกระแสเรา” 

 

ที่มา: ปาฐกถานำในการเปิดงาน Pridi Talks ครั้งที่ 6 ในโอกาสครบรอบ 44 ปี 6 ตุลาคม 2519 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563