นิสิตนักศึกษาและผู้แทนสื่อมวลชนหลายคนได้เขียนมาถามความเห็นข้าพเจ้าว่ามีข้อเสนออย่างใดบ้างในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ [ฉบับ พ.ศ. 2517 … บ.ก.] ข้าพเจ้าจึงขอรวมตอบเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้ที่สนใจเพียงบางประการดังต่อไปนี้
-1-
ขอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม ดังกล่าวมาแล้ว เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะดํารงอยู่ได้นานและเพื่อมวลราษฎรจะได้ตั้งหน้าประกอบอาชีพเพื่อความไพบูลย์ในทางเศรษฐกิจโดยสันติสุข แทนที่จะต้องใช้เวลาต่อสู้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ดังกล่าวแล้ว
เจตนารมณ์ดังกล่าวแล้วก็ตรงกับพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่เป็นแม่บทสําคัญแห่งการเปลี่ยนรากฐาน ได้โอนพระราชอํานาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย บุคคลใดไม่อาจละเมิดแม่บทสําคัญอันเป็นการเปลี่ยนระบอบรากฐานของระบอบดังกล่าวนั้นได้
การศึกษากฎหมายนั้นจะศึกษาเพียงที่บัญญัติไว้เป็นมาตรา ๆ เท่านั้นยังไม่พอ เพราะการตีความในกฎหมายจะต้องอาศัยความมุ่งหมายของกฎหมายนั้นประกอบด้วย ความมุ่งหมายนั้นย่อมปรากฏอยู่ในพระราชปรารภ
-2-
บางคนได้ฟังกระเส็นกระสายจากศัตรูของคณะราษฎรทําให้เข้าใจผิดไปว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เพียงแต่ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ตามที่รัฐบาลสมัยนั้นเสนอมาเท่านั้น ประดุจพระองค์ทรงเป็นเพียงพระราชลัญจกรสําหรับประทับบนรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ ความจริงพระองค์ได้ “ทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนทั่วกระบวนความ” ตามที่จารึกไว้ในพระราชปรารภแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนั้น คือ ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขามายังรัฐบาลบ้าง รับสั่งให้พระยามโนปกรณ์ฯ และพระยาพหลฯ กับข้าพเจ้าไปเฝ้าฯ รับพระกระแสพระราชดําริบ้างเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น โดยเฉพาะพระราชปรารภอันเป็นความมุ่งหมายสําคัญของรัฐธรรมนูญนั้น คณะราษฎรได้ขอพระมหากรุณาธิคุณทรงยกร่างขึ้นโดยพระองค์เองเพื่อให้สมตามพระราชประสงค์ พระองค์ก็ทรงรับพระราชภาระนี้ เมื่อได้ทรงยกร่างเสร็จแล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) นําต้นร่างของพระองค์มาพระราชทานข้าพเจ้าว่าจะมีความเห็นประการใดบ้าง ข้าพเจ้าก็ขอให้พระสารประเสริฐนําความกราบบังคมทูลว่า ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วยพระราชดําริทุกประการแล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็เห็นพ้องด้วยว่าเป็นพระราชปรารภที่ต้องกับความมุ่งหมายของปวงชนและพระราชปณิธานแล้ว พร้อมทั้งได้อรรถรสไพเราะยิ่งนัก สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแล้วลงมติพร้อมเพรียงกันเห็นชอบด้วยพระราชปรารภนั้น
พระราชประสงค์ให้ปวงชนชาวไทยมีอิสระประชาธิปไตยโดย บริบูรณ์นั้นปรากฎความในพระราชปรารภดังต่อไปนี้ “จึงมีพระบรมราชโองการดํารัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ประสิทธิ์ประสาทประกาศพระราชทานแก่ประชากรของพระองค์ให้ดํารงอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”
ส่วนการที่รัฐธรรมนูญฉบับนั้นมีบทเฉพาะกาลโดยมีสมาชิกประเภทที่ 2 จํานวนกึ่งหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นนั้นก็โดยความจําเป็นในระหว่างหัวต่อหัวเลี้ยวจากระบอบสมบูรณาฯ มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เพราะไม่ว่าการเปลี่ยนระบบการเมืองที่สําคัญใด ๆ อันเป็นการเปลี่ยนรากฐานทางการเมืองนั้น จําเป็นต้องมีบทบัญญัติเฉพาะกาล แต่เมื่อกําหนดเวลาตามบทเฉพาะกาลได้เสร็จสิ้นไปแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็คงเหลือประเภทเดียว คือ ประเภทที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นมา ซึ่งสมกับพระราชประสงค์ ให้ประชากรของพระองค์ดํารงอิสราธิปไตยโดยสมบูรณ์ โดยพระองค์ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะได้คืนพระราชอํานาจในการทรงแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาส่วนใดส่วนหนึ่ง
สมควรชี้แจงไว้ด้วยว่า เมื่อสงครามยุโรปได้เกิดขึ้น และมีกรณีที่รัฐบาลไทยในสมัยนั้นเตรียมระดมทหารกองหนุนและกองเกินอัตราเข้าประจําการ เพื่อรับสถานการณ์อันอาจเกิดขึ้นในภาคอินโดจีน ซึ่งไม่อาจที่จะให้ชายไทยเหล่านั้นใช้สิทธิเลือกตั้งได้สะดวกเสมอภาคกับผู้ที่ไม่ถูกระดมและไม่ทราบว่า ภัยแห่งสงครามจะยืดเยื้อไปนานเท่าใด ดังนั้น รัฐบาลสมัยนั้นจึงเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้แก้ไขเพิ่มเติม ขยายบทเฉพาะกาลจาก 10 ปี เป็น 20 ปี การประชุมพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ดําเนินตามบทบัญญัติที่ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นทุกประการ และมิใช่เฉพาะสมาชิกประเภทที่ 2 เท่านั้นที่ลงมติให้ขยายบทเฉพาะกาลดังกล่าวแล้ว หากสมาชิกประเภทที่ 1 ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงมาจากราษฎรก็ได้ลงมติเห็นชอบด้วยเป็นเอกฉันท์ ครั้นเมื่อได้ใช้บทเฉพาะกาลมาถึงปีที่ 14 แล้ว บทเฉพาะกาลนั้นหมดความจําเป็นที่จะให้คงอยู่จนครบ 20 ปี ดั่งมีความปรากฏตามหลักฐานในพระราชปรารภแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ดังต่อไปนี้
“ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ 14 ถึงแม้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้ จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับเป็นอเนกประการ ทั้งประชาชนจะได้ซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้เป็นอย่างดีแล้วก็จริง แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้เลิกบทเฉพาะกาล อันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีจึงนําความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 พร้อมกับคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว รัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ จึงเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2488 ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาตรวจสอบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองและเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”
-3-
ตามที่นายประกอบ หุตะสิงห์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์บางฉบับว่าจะเลือกเฟ้นเอาสิ่งที่ดีจากรัฐธรรมนูญไทยในอดีตมาประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น
เพื่อช่วยให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลกับสภานิติบัญญัติที่จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในขั้นสุดท้ายได้รับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางจากนิสิตนักศึกษานักเรียนไทยภายในประเทศไทย และที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งจากมวลราษฎรที่จะต้องตกอยู่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญใหม่นี้ และเพื่อขจัดความเข้าใจผิดอันเกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์บางฉบับที่เป็นปากเสียงของเฉพาะบางพรรคว่า รัฐธรรมนูญฉบับนั้น ๆ ที่พวกเขาร่างขึ้นเป็นประชาธิปไตยที่สุด ข้าพเจ้าเห็นสมควรที่นิสิตนักศึกษานักเรียน และมวลราษฎร จะได้จัดตั้งกลุ่มศึกษารัฐธรรมนูญทุก ๆ ฉบับที่ประเทศไทยเคยมีมาพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่า ฉบับใดมีความเป็นประชาธิปไตยที่สุดจริงหรือไม่เพียงใด แล้วเสนอต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรัฐบาลและสภานิติบัญญัติ
ในการนี้ก็จําเป็นที่กลุ่มศึกษาต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วจะต้องมีตัวบทรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ เมื่อได้คํานึงว่ารัฐบาลจะต้องจัดพิมพ์หนังสือรวบรวมรัฐธรรมนูญทุกฉบับดังกล่าวแล้วให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติได้มีไว้เป็นเครื่องมือในการประกอบพิจารณา ข้าพเจ้าจึงขอเสนอรัฐบาลให้พิมพ์หนังสือนั้น ขึ้นเพื่อกลุ่มศึกษาเหล่านั้นด้วย โดยจําหน่ายในราคาที่ย่อมเยา แม้จะพิมพ์บนกระดาษปรู๊ฟ ทั้งนี้ขอให้รีบพิมพ์ขึ้นโดยเร็วเพื่อให้ทันการ ส่วนค่าพิมพ์นั้นก็คงไม่มากมายเกินไปนักเมื่อเทียบกับเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายในการร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่แล้วมา
-4-
โดยที่ปรากฏมาแล้วในอดีตว่า มีบางคนแอบอ้างพระบรมราชโองการมาเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่เข้าใจบ้าง หรือแสร้งทําเป็นไม่เข้าใจบ้าง ทั้งนี้ เนื่องจากวิธีเขียนรัฐธรรมนูญบางฉบับทําให้คนเข้าใจผิด โดยเฉพาะเรื่องการรับสนองพระบรมราชโองการ จึงขอให้ในรัฐธรรมนูญใหม่เขียนไว้ให้ชัดแจ้งว่า ในกรณีใดที่ถวายพระราชอํานาจให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอํานาจโดยพระองค์เองที่ทรงดําริขึ้น หรือโดยคําแนะนําและยินยอมของผู้ใดและประการใด ซึ่งเรื่องนี้ก็ปฏิบัติมาแล้วในเรื่องพระราชบัญญัติที่กล่าวไว้ชัดแจ้งว่า “โดยความเห็นชอบของรัฐสภา” ดังนั้น ในการตราพระราชกฤษฎีกา และพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลต่าง ๆ ก็ควรเขียนไว้ให้ชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญว่า การนั้น ๆ ได้ทรงกระทําโดยพระองค์เอง หรือโดยความเห็นชอบของผู้ใด องค์การใด
เช่น สมมติว่า จะถวายให้ทรงแต่งตั้งวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2942 ที่มีผู้อ้างกันว่าประชาธิปไตยที่สุดนั้น ก็ขอให้เขียนว่า “ทรงพระกรุณาแต่งตั้งวุฒิสมาชิกโดยประธานองคมนตรี หรือคณะองคมนตรีเป็นผู้เสนอ” ไม่ควรจะเขียนว่า “ทรงพระกรุณาแต่งตั้ง” แล้วขมวดท้ายว่า “ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองรับพระบรมราชโองการ” เพราะทําให้มวลราษฎรเข้าใจผิดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งตามพระราชอัธยาศัยก่อน แล้วจึงพระราชทานให้ประธานองคมนตรีลงนามรับสนอง มวลราษฎรก็จะรู้ได้ว่า องคมนตรีนั่นเองคัดเลือกผู้ที่ตนเห็นว่าควรเป็นสมาชิกเสนอพระมหากษัตริย์ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย
ทํานองเดียวกัน ถ้าจะแต่งตั้งวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 โดยรัฐบาลเป็นผู้สนองรับพระราชโองการ ก็เขียนไปให้ชัดในรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกวุฒิสภานั้นรัฐบาลเป็นผู้เสนอให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงแต่งตั้ง เช่น เมื่อครั้งใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับใต้ตุ่ม และรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 มีวุฒิสมาชิกบางคนแอบอ้างว่า ที่ตนเองรับตําแหน่งวุฒิสมาชิก เพราะขัดพระบรมราชโองการไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ตนเองรู้ดีแก่ใจตนเองว่า องคมนตรีหรือรัฐบาลเป็นผู้เสนอตามความพอใจว่าเป็นพวกของตนแล้วจึงกราบทูลให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย
-5-
รัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ได้เคารพพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่เป็นแม่บทแห่งระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่ให้ประชากรของพระองค์ “ดํารงอิสราธิปไตยบริบูรณ์” ดังนั้น ในการที่รัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทนนั้น ก็ได้กําหนดให้สมาชิกของทั้งสองสภาเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา เพราะถ้าสมาชิกพฤฒสภา (วุฒิสภา) เป็นผู้ที่รัฐบาลหรือองคมนตรีเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งแล้ว ก็เป็นการขัดต่อพระราชประสงค์ที่ไม่ทรงปรารถนาตัดอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ของปวงชนชาวไทย และผลก็ไม่ต่างอะไรกับสมาชิกประเภทที่ 2 ที่เลิกไปแล้ว และซ้ำร้ายยิ่งกว่าเพราะสมาชิกประเภทที่ 2 มีอยู่เพียงแต่เฉพาะกาลเท่านั้น เมื่อหมดเวลาเฉพาะกาลแล้วก็หมดไปคงเหลือแต่สมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา ส่วนระบบวุฒิสมาชิกโดยการแต่งตั้งนั้น คงอยู่ตลอดกาลนานตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญนั้นคงใช้อยู่ ระบบชนิดนี้เป็น “กึ่งประชาธิปไตย” มิใช่ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์”
ประเทศญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปที่มีพระราชาธิบดีเป็นประมุขโดยรัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทนนั้น แทบทุกประเทศสมาชิกพฤฒสภาเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมาโดยวิธีการเลือกตั้งโดยตรง หรือเลือกตั้ง 2 ชั้นโดยราษฎรเลือกตั้งองค์การเลือกตั้งพฤฒสมาชิกชั้นหนึ่งก่อน แล้วองค์การนั้นจึงเลือกตั้งพฤฒสมาชิก ยกเว้นสมาชิก “House of Lords” (สภาลอร์ด) ของอังกฤษที่มีคนแปลเป็นภาษาไทยคลาดเคลื่อนไปว่า “สภาขุนนาง” จึงหลงคิดว่าขุนนางเก่า ๆ ของไทยควรได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่ “Lord” (ลอร์ด) ของอังกฤษนั้น เป็นเจ้าศักดินาซึ่งสืบมรดกจากบรรพบุรุษที่เป็นเจ้าแคว้นน้อยใหญ่ซึ่งรวมอยู่ภายในสหราชอาณาจักร หาใช่ขุนนางที่เป็นข้าราชการมีบรรดาศักดิ์อย่างไทยไม่ “สภาลอร์ด” ของอังกฤษเปรียบเสมือนเป็นสภาของสหพันธ์เจ้าศักดินาแห่งแคว้นต่าง ๆ ที่ในสมัยโบราณรวมกันอยู่ใต้พระราชาธิบดีอังกฤษ ในสมัยต่อมาและสมัยปัจจุบันมีบางคนเป็นสมาชิกสภาลอร์ดอังกฤษ โดยที่พระราชาธิบดีได้สถาปนาให้มียศเป็นเจ้าศักดินาเพียงในนาม มิใช่มีดินแดนครองอํานาจ
ราชอาณาจักรเดนมาร์คมีสภาผู้แทนราษฎรเดียว เรียกว่า “Folketing” ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิก
ราชอาณาจักรสวีเดนมีสภาผู้แทนราษฎรเดียว เรียกว่า “Riksdag” ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิก
ราชอาณาจักรนอร์เวย์มีรัฐสภา “Storting” แบ่งออกเป็น 2 สภา คือ “Lagting” กับ “odelsting” ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกโดยทางตรงและทางอ้อม
ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (ฮอลแลนด์) มี 2 สภา คือ สภาสูงซึ่งสมาชิกได้รับเลือกตั้งจากสภาจังหวัด และสภาล่างซึ่งสมาชิกรับเลือกตั้งจากราษฎรโดยตรง
ราชอาณาจักรเบลเยียมมี 2 สภา คือ พฤฒสภา ประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้ง และพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์เป็นสมาชิกโดยตําแหน่งด้วย แต่ในทางปฏิบัติมิได้ใช้สิทธินี้ และสภาผู้แทนที่สมาชิกได้รับเลือกตั้งจากราษฎร
ราชอาณาจักรนิโกรบางประเทศในอาฟริกาที่ได้รับเอกราชใหม่ ๆ นั้น มีรัฐธรรมนูญให้พระราชาธิบดีทรงตั้งสมาชิกสภาสูงได้
-6-
ขอให้พิจารณาเรื่องประธานองคมนตรีที่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 นั้นว่า ตามหลักทั่วไปแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญมีอย่างไร และในทางปฏิบัตินําไปสู่ผลอย่างไร เพื่อกระจ่างแจ้งเป็นรูปธรรมแก่นิสิตนักศึกษานักเรียนและมวลราษฎรด้วย
ก. รัฐธรรมนูญของประเทศราชาธิปไตยในโลกนี้มีของประเทศใดบ้างที่บัญญัติไว้ดังรัฐธรรมนูญฉบับ 2492
ข. นิสิตนักศึกษาไทยในอังกฤษย่อมทราบดีว่า องคมนตรีของอังกฤษนั้นมีจํานวน 300 คนเศษ ซึ่งประธานไม่มีอํานาจรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก ส่วนในประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 นั้น องคมนตรีมีจํานวนไม่เกิน 9 คน (เก้าคน) รวมทั้งประธานด้วย
ค. แม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 เขียนว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งองคมนตรีก็ดี แต่ประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นิสิตนักศึกษาที่สนใจในกฎหมายรัฐธรรมนูญย่อมรู้แล้วว่า การรับสนองพระบรมราชโองการคืออะไร
ง. ในทางปฏิบัตินั้น การรับสนองฯ แต่งตั้งวุฒิสภาประธานฯ จะทําโดยลําพังไม่ได้ คือจําต้องปรึกษาคณะองคมนตรี ไม่เกิน 9 คนนั้น
จ. ในทางปฏิบัตินั้น จําต้องพิจารณาตามสภาพจริงว่า บุคคลใดบ้างเป็นองคมนตรี เท่าที่ข้าพเจ้าจําได้ว่าขณะนี้กรมหมื่นพิทยลาภฯ ผู้เป็นประธาน เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ พระยามานวราชเสวี พระยาศรีเสนา พลเอก หลวงสุรณรงค์ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ (ถ้าขาดตกบกพร่องขอให้ผู้อ่านช่วยเติมรายนามให้ครบด้วย)
ข้าพเจ้าลองระลึกย้อนไปถึงท่านที่เคยเป็นองคมนตรีที่สิ้นชีพแล้วบ้างและที่ลาออก เพราะไปดํารงตําแหน่งอื่นบ้าง ก็นึกได้ว่าพลเอก หลวงเสนาณรงค์ (บิดาพลโท แสวง เสนาณรงค์) พระยาบริรักษ์เวชการ พลเอก หลวงกัมปนาทแสนยากร (อดีต รมต. ในคณะจอมพล ป. และในคณะจอมพล สฤษดิ์) ดูเหมือนหลวงจํารูญเนติศาสตร์เคยเป็นองคมนตรี แล้วลาออกเพราะรับตําแหน่งเป็น รมต. ว่าการกระทรวงยุติธรรม ถ้าข้าพเจ้าจําผิดไปก็ขออภัยด้วย
นิสิตนักศึกษามวลราษฎรย่อมใช้วิจารณญาณมองเห็นได้ว่า วิธีแต่งตั้งวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 นั้น บังเกิดผลแท้จริงในทางปฏิบัติอย่างไร
-7-
ในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. มีปัญหาว่าจะควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า พระมหากษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพหลฯ และข้าพเจ้าเข้าเฝ้าที่พระตําหนักจิตรลดา มีพระราชกระแสรับสั่งว่า รัฐธรรมนูญของหลายประเทศที่ประมุขรัฐเป็นประธานาธิบดีนั้นได้เขียนไว้ว่า ประมุขแห่งรัฐมีหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญและต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญไว้ ส่วนสยามนั้นรับสั่งว่าไม่จําเป็นต้องเขียน เพราะเมื่อพระองค์พระราชทานแล้วก็เท่ากับให้สัตยาธิษฐาน และยิ่งกว่านั้นตามพระราชประเพณีได้ทรงสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษก ข้าพเจ้ากราบทูลว่า เมื่อได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะโปรดเกล้าฯ สําหรับพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปให้มีความใดเติมไว้ในพระราชสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษกบ้าง รับสั่งว่ามีความในพระราชปรารภที่ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์สมัครสมานกับประชาราษฎร์ ในอันที่จะรักษาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เจ้านายที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ ไป ก็เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ จึงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
ครั้นแล้ว ได้รับสั่งให้มหาดเล็กนําราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ พ.ศ. 2468 มาพระราชทานให้ข้าพเจ้าอ่านดูความตอนพระราชสัตยาธิษฐานดังต่อไปนี้
“แล้วจึงมีพระบรมราชโองการเป็นคําไทย ตามความภาษามคธ ดังนี้”
“ดูกรพราหมณ์ บัดนี้ เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติเป็นที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบายเทอญ”
พระราชครูรับพระบรมราชโองการเป็นปฐมว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระบรมราชโองการพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ปฐมธรรมิกราชวาจา ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
“เสร็จแล้ว.....”
“ทรงตั้งสัตยาธิษฐานตั้งพระราชหฤทัยดํารงทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรจรรยา และอื่น ๆ ตามพระบรมราชประสงค์”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงอธิบายว่า พระราชประสงค์ตอนท้ายนี้ก็ชัดอยู่แล้ว คือ พระมหากษัตริย์องค์ต่อไปต้องรักษารัฐธรรมนูญ
ต่อมาพระราชพิธีราชาภิเษกนี้ได้มีขึ้นอีกในรัชสมัยของรัชกาลปัจจุบัน
พระราชปรารภแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 มีความตอนท้ายว่า “ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งทหารพลเรือน ทวยอาณาประชาราษฎร จงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันจะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามนี้ ให้ยืนยงอยู่คู่กับสยามรัฐราชสีมา ตราบเท่ากัลปาวสาน สมดังพระบรมราชประณิธานทุกประการเทอญ”
พระยาพหลฯ กราบบังคมทูลว่า การทรงพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น จะทรงทําอย่างไร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รับสั่งว่า ถ้ารัฐบาลเสนอเรื่องใดที่ขัดรัฐธรรมนูญ พระองค์ก็ส่งกลับคืนไปโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ พระยาพหลฯ กราบทูลต่อไปว่าคณะราษฎรเป็นห่วงว่านายทหารที่ถูกปลดกองหนุนไปจะคิดล้มล้างรัฐบาลขึ้นมา แล้วจะทูลเกล้าถวายรัฐธรรมนูญใหม่ของเขาให้ทรงลงพระปรมาภิไธยจะโปรดเกล้าฯ อย่างไร รับสั่งว่าพระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นกบฏ และในฐานะจอมทัพ พระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นราชศัตรูที่ขัดพระบรมราชโองการ ถ้าพวกนั้นจะบังคับให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัติให้พวกเขาหาเจ้านายองค์อื่นลงพระปรมาภิไธยให้
ต่อมาใน พ.ศ. 2476 นายทหารกองหนุนจํานวนหนึ่งภายใต้การนําของพระองค์เจ้าบวรเดชได้ยกกําลังทหารหัวเมืองบางส่วนเข้ามาประชิดกรุงเทพฯ เพื่อล้มรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้มีพระบรมราชานุญาตให้รัฐบาลเรียกพวกนั้นว่า “กบฏ” และมิได้ทรงยอมลงพระปรมาภิไธยอย่างใดให้แก่พวกกบฏนั้นเลย ทั้งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่พระองค์ให้พระราชทานไว้และทรงพร้อมที่จะใช้พระราชอํานาจจอมทัพ ถ้าทหารฝ่ายรัฐบาลไม่อาจปราบกบฏได้
สําหรับผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ต่างกับองค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษกดังกล่าวแล้ว ฉะนั้น ผู้สําเร็จราชการจึงต้องปฏิญาณตนต่อรัฐสภาก่อนเข้ารับหน้าที่มีความว่า “จะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย)”
ข้าพเจ้าเคยกล่าวไว้บ้างแล้วในบางบทความอีกกรณีที่ระหว่างข้าพเจ้าเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ได้คัดค้านรัฐบาลในการทําผิดรัฐธรรมนูญและได้ปฏิเสธการประกาศสงครามต่ออังกฤษอเมริกาที่ข้าพเจ้ามิได้ลงนามด้วยนั้นว่าเป็นโมฆะ
รัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 นั้นมิได้ทําขึ้นโดยรัฐประหาร หากบัญญัติขึ้นตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ดังกล่าวแล้ว ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงพระเยาว์นั้น ผู้สําเร็จราชการที่ตั้งโดยรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 นี้ก็ได้ปฏิญาณตนต่อรัฐสภาว่า “จะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ดังนั้น ถ้ากรมขุนชัยนาทฯ ได้ปฏิบัติตามที่ปฏิญาณ และไม่ยอมลงพระนามแทนองค์พระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม และปฏิบัติหน้าที่จอมทัพแทนองค์พระมหากษัตริย์ขณะทรงพระเยาว์แล้ว ระบอบแห่งรัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม อันเป็นบ่อเกิดให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญต่อมาอีกหลายฉบับ จนมวลราษฎรจํากันไม่ได้ว่ามีกี่ฉบับก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ และจะพิทักษ์ระบอบที่ปวงชนชาวไทยมีประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไว้ได้
-8-
ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งคณะราษฎรเป็นผู้ร่างขึ้นเองแล้ว นําไปถวายให้ทรงประกาศพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยเป็นครั้งแรกนั้น ได้บัญญัติแต่เพียงว่า “กษัตริย์” เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ มิได้มีบทให้พระราชอํานาจเป็นจอมทัพ
ต่อมาระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 นั้น วันหนึ่ง มีรับสั่งให้ข้าพเจ้ากับพระยาพหลฯ ไปเฝ้าที่พระตําหนักจิตรลดา มีพระราชกระแสว่า ที่เขียนว่า “กษัตริย์” นั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะคํานั้นหมายถึงนักรบเท่านั้น ที่ถูกจะต้องเขียนว่า “พระมหากษัตริย์” คือ เป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ผู้ถืออาวุธปกป้องบ้านเมืองอันเป็นราชประเพณีแต่โบราณกา ล พระยาพหลฯ กับข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยพระราชกระแสแล้วกราบบังคมทูลว่า มิเพียงแต่จะเขียนไว้ว่า ประมุขเป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้น หากจะถวายให้ทรงเป็นจอมทัพทรงมีพระราชอํานาจเหนือบรรดาทหารทั้งหลายด้วย จึงรับสังว่าถูกต้องแล้ว เพราะพระราชาธิบดีของประเทศต่าง ๆ ก็ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาเหนือทหารทั้งปวง ซึ่งเป็นสิ่งคู่กับพระราชอํานาจในการป้องกันประเทศและในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะพระองค์มีพระราชอํานาจบังคับบัญชากําลังทหารให้ปฏิบัติการได้ด้วย จะได้สั่งให้ทหารประพฤติในสิ่งควรประพฤติละเว้นในสิ่งควรละเว้น
รัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มาก็ได้บัญญัติพระราชอํานาจพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขสูงสุดของชาติ และเป็นจอมทัพไว้
แม้อํานาจเผด็จการปฏิกิริยาจะตัดพระราชอํานาจพระมหากษัตริย์ตามธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรหลายประการก็ตาม แต่พวกเขาได้ยอมเขียนไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและดํารงตําแหน่งจอมทัพไทย อันเป็นพระราชอํานาจที่สืบทอดมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475
บางคนตีความว่า คําว่า “สูงสุด” นั้นเป็นอันที่สุดแล้ว แต่ความในภาษาไทยนั้น “จอม” หมายถึง “ยอดยิ่ง” จอมทัพ คือ ยอดยิ่งเหนือผู้บัญชาการทหารสูงสุดอันเป็นตําแหน่งที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ หากตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจอมทัพ
เรื่องความขัดแย้งระหว่างอํานาจจอมทัพกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้น ได้เคยมีขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตามที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มที่อ้างข้างต้น [ดู บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 … บ.ก.] ข้าพเจ้าปฏิบัติการแทนองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะจอมทัพ สั่งหลายเรื่องให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสมัยนั้น ปฏิบัติการและละเว้นกระทําในสิ่งที่ควรละเว้น เช่น การที่ผู้นั้นจะ ยกกองทหารมาปราบปรามผู้รักชาติที่ทําให้จอมพล ป. ต้องพ้นจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าได้ขอร้องโดยตนเอง และขอให้นายควง นายกรัฐมนตรี ไปเจรจากับจอมพล ป. ที่ลพบุรี แต่จอมพล ป. ก็ไม่เชื่อ โดยเตรียมที่จะยกพลมาจากลพบุรี ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าไม่มีประกาศพระบรมราชโองการให้ประจักษ์แล้ว จอมพล ป. ก็จะถืออํานาจประหัตประหารราษฎรได้ ดังนั้น เพื่อเป็นหลักฐาน ข้าพเจ้าจึงได้ลงนามแทนพระมหากษัตริย์ ในประกาศพระบรมราชโองการปลดตําแหน่งจอมพล ป. จากผู้บัญชาการทหารสูงสุดและยุบตําแหน่งนั้น โดยตั้งตําแหน่ง “แม่ทัพใหญ่” ตาม พ.ร.บ. กฎ อัยการศึก และตั้งให้นายพันเอกพระยาพหลฯ ดํารงตําแหน่งแม่ทัพใหญ่ จอมพล ป. ที่มีกําลังทหารใต้บังคับบัญชามาก เมื่อเห็นว่ามี ประกาศพระบรมราชโองการก็ไม่กล้าฝ่าฝืน
ตัวอย่างเทียบเคียงในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็มีอยู่ที่พระองค์สั่งทหารทั้งปวงได้ อาทิ
(ก) เมื่อ ค.ศ. 1936 คณะทหารหนุ่มญี่ปุ่นได้ก่อการกําเริบยึดพื้นที่บางส่วนในโตเกียว แล้วใช้อาวุธเข่นฆ่านักการเมืองและผู้บริสุทธิ์ ฝ่ายผู้บังคับบัญชาทหารไม่สามารถห้ามปรามคณะทหารหนุ่มได้พระจักรพรรดิฮีโรฮีโตจึงได้ใช้พระราชอํานาจสั่งให้คณะทหารที่ก่อการร้ายนั้นวางอาวุธและมอบตัวแก่ผู้บังคับบัญชา จัดการลงโทษให้เป็นตัวอย่าง ความสงบสุขของประชาชนญี่ปุ่นขณะนั้นก็บังเกิดขึ้น ไม่มีใครหาว่าพระองค์ผิดรัฐธรรมนูญ
(ข) เมื่อ ค.ศ. 1945 นครฮิโรชิมา และนางาซากิถูกระเบิดปรมาณูของสัมพันธมิตร ผู้คนล้มตายบาดเจ็บย่อยยับ พระจักรพรรดิฮีโรฮีโตทรงเห็นว่าการที่จะสู้สัมพันธมิตรต่อไปไม่มีทางชนะ แต่จะยิ่งทําให้ประชากรของพระองค์ล้มตายมากยิ่งขึ้น จึงทรงเห็นพ้องด้วยกับนักการเมืองส่วนหนึ่งที่จะยอมจํานนแก่สัมพันธมิตรเพื่อหาทางฟื้นฟูชาติญี่ปุ่นในโอกาสต่อไป ฝ่ายทหารหัวรุนแรงได้ใช้กําลังยึดอํานาจกรมทหารบางส่วนไว้ และขัดขวางมิให้พระจักรพรรดิประกาศพระบรมราชโองการทางวิทยุแก่ประชากรของพระองค์ พระจักรพรรดิฮีโรฮีโตก็ได้ทรงใช้พระราชอํานาจเด็ดขาดในการสั่งให้ปราบปรามทหารหัวรุนแรงเหล่านั้น และสถานีวิทยุญี่ปุ่นก็สามารถประกาศพระบรมราชโองการตามพระราชประสงค์ได้ แม้ญี่ปุ่นจะถูกยึดครองจากสัมพันธมิตร แต่ไม่ช้าญี่ปุ่นก็พัฒนาก้าวหน้าทางเศรษฐกิจนําความไพบูลย์มาสู่กรรมกร ชาวนา และทุกชนชั้น วรรณะของญี่ปุ่น ถ้าหากพระจักรพรรดิไม่ยอมใช้พระราชอํานาจเด็ดขาดแก่ทหารญี่ปุ่นที่มีหัวรุนแรงแล้ว ชาติญี่ปุ่นก็จะย่อยยับและยากที่จะฟื้นฟูประเทศได้ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นจึงสรรเสริญพระองค์ แทนที่จะประณามพระองค์ว่าทําผิดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพราะพระองค์ถือว่าชาติญี่ปุ่นอยู่เหนือพระองค์
(ค) ในยุโรปก็มีตัวอย่างของพระเจ้าวิคตอร์ เอมานูเอลที่ 3 แห่งอิตาลี ซึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญฟาสซิสต์ของมุสโสลินีจอมเผด็จการนั้น พระองค์ทรงเป็นแต่เพียงประมุขรัฐในนาม แต่ใน ค.ศ. 1943 เมื่อทรงเห็นว่ามุสโสลินีนําความล่มจมมาสู่ชาติอิตาลี พระองค์ก็ทรงใช้พระราชอํานาจเด็ดขาดในฐานะประมุขรัฐนั้น สั่งให้ผู้ภักดีต่อพระองค์จับมุสโสลินี แล้วประกาศพระบรมราชโองการปลดมุสโสลินีจากตําแหน่งต่าง ๆ พร้อมนายกรัฐมนตรี เพื่อดําเนินการกอบกู้อิตาลีให้พ้นจากระบบฟาสซิสต์ เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว พระองค์จึงสละราชสมบัติให้แก่มกุฎราชกุมารอุมแบร์โต
-9-
ประวัติศาสตร์และปรากฏการณ์ปัจจุบันของหลายประเทศที่สถาปนาประมุขรัฐเพียงเสมือนเป็นรูปเทพารักษ์ที่ประดิษฐานไว้ในศาลพระภูมิ หรือศาลเจ้านั้นก็เพื่อบุคคลอื่นมีอํานาจเผด็จการ
ก. เมื่อศตวรรษที่ 11 ในประเทศญี่ปุ่นได้มีผู้แสดงว่าเคารพพระจักรพรรดิเป็นที่ยิ่งแล้ว จึงเทิดทูนพระองค์ท่านเสมือนเทพารักษ์สืบสายจากเทพเจ้าดวงอาทิตย์ ให้พระองค์หมดพระราชอํานาจและภารกิจแผ่นดิน โดยทรงบําเพ็ญกรณีในพิธีศาสนาและประทับพระราชลัญจกรตามที่ผู้เผด็จการระบบ “โชกุน” ต้องการเท่านั้น พวกโชกุนได้รวบอํานาจการปกครองแผ่นดิน ดําเนินระบอบเผด็จการไว้เด็ดขาด และเป็นมรดกสืบต่อมายังทายาทของเหล่าโชกุนเป็นเวลา 800 ปี ประเทศญี่ปุ่นต้องล้าหลังกว่าประเทศตะวันตกในระหว่างเวลานั้น ต่อมาราว ๆ กลางศตวรรษที่ 19 ราษฎรญี่ปุ่นที่รักชาติปรารถนาความเจริญก้าวหน้าแห่งชาติของตน จึงได้ฟื้นฟูพระบรมเดชานุภาพของพระจักรพรรดิที่พึงมีตามระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยขึ้นมาอีก โดยล้มระบอบเผด็จการของโชกุน ต่อมาเมื่อพระจักรพรรดิเมจิสวรรคตแล้ว ซากทรรศนะทาสตามระบอบโชกุนได้ลดพระราชอํานาจพระจักรพรรดิในทางพฤตินัยจนทําให้ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันนี้พระจักรพรรดิทรงมีพระราชอํานาจ และพระภารกิจที่พระองค์จึงมีตามระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งทําให้ประเทศญี่ปุ่นมีความเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจยิ่งกว่าประเทศตะวันตกหลายประเทศ
ข. ประเทศภูฐาน (Bhutan) เมื่อก่อน ค.ศ. 1907 นั้น พระประมุขถูกเกิดขึ้นเป็น “ธรรมราชา” มีหน้าที่เพียงประกอบพิธีทางศาสนา และเป็นเสมือนพระราชลัญจกร อํานาจปกครองแผ่นดินตกอยู่ในมือของผู้เผด็จการ ซึ่งดํารงตําแหน่ง “เทพราชา” ชะรอยผู้ให้คําปรึกษาจอมพลสฤษดิ์ ในการร่างธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับ 2502 ซึ่งเป็นแบบของฉบับ 2515 นั้นด้วย จะได้กระเส็นกระสายจากซากของราชอาณาจักรฮินดูบริเวณภูเขาหิมาลัยมาบ้าง จึงกระทําทํานองเดียวกัน หากแต่ว่าผู้เผด็จการเหล่านั้นของไทยไม่เรียกตัวเองว่า “เทพราชา” แต่ในการปฏิบัติก็เปรียบเสมือนเป็น “เทพราชา” ของภูฐานก่อน ค.ศ. 1907 นั่นเอง
ค. ประเทศเนปาล (Nepal) เมื่อก่อน ค.ศ. 1951 พระประมุขถูกเทิดเป็น “มหาราชาธิราช” ซึ่งมีพระราชอํานาจเสมือนพระราชลัญจกรสําหรับประทับบนเอกสารแผ่นดินบางชนิดเท่านั้น ส่วนอํานาจปกครองเด็ดขาดอยู่ที่มหาราชาอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีอันเป็นตําแหน่งสืบสันตติวงศ์แห่งตระกูล “รานา” พึงสังเกตว่าผู้เผด็จการไทยตั้งแต่สมัยจอมพล สฤษดิ์เป็นต้นมานั้น แม้ผู้เผด็จการคนต่อมาจะมิใช่ลูกหลานของจอมพลคนนั้น แต่ก็เป็นบุคคลในเครือเผด็จการเดียวกับที่เป็นทายาท สืบอํานาจเผด็จการและเราก็รู้กันอยู่ว่า ถ้าจอมพลถนอมออกจากตําแหน่งโดยปกติแล้ว อํานาจเผด็จการก็จะตกทอดไปยังจอมพลประภาสและพันเอกณรงค์ซึ่งเป็นบุตรของจอมพลถนอม
ง. ดังนั้น ผู้ร่างและรัฐบาล อีกทั้งสภานิติบัญญัติที่จะลงมติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบ ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปิดทางให้มีผู้รวบอํานาจเผด็จการได้ตามตัวอย่าง ในประวัติศาสตร์ของหลายประเทศและตัวอย่างของประเทศไทยที่เป็นมาแล้ว โดยตัดพระบรมเดชานุภาพที่พระมหากษัตริย์พึงมีตาม ระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และเป็นแม่บทอันศักดิ์สิทธิ์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในฐานะแทนระบอบสมบูรณาฯ ได้โอนพระราชอํานาจมาให้แก่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งบุคคลใดไม่มีสิทธิละเมิดแม่บทศักดิ์สิทธิ์นั้น
-10-
มวลราษฎรย่อมต้องการตุลาการรัฐธรรมนูญที่ทรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม ปัญหาสําคัญอยู่ที่การตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น จะใช้วิธีใดจึงจะได้ตุลาการที่ให้ความเป็นธรรมในการตีความรัฐธรรมนูญได้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ให้อํานาจรัฐสภาตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญ เพราะสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนเป็นผู้รับเลือกตั้งจากราษฎร แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 นั้น วุฒิสมาชิกได้รับการแต่งตั้ง จึงขอให้วิญญูชนใช้วิจารณญาณว่า ตุลาการที่ตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือใครบ้าง และการตีความของผู้ที่ตั้งขึ้นโดยตําแหน่งการเมือง จะมีอคติเข้าข้างรัฐบาลเพียงใดหรือไม่ ข้าพเจ้าขอเสนอว่าสมควรให้ผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคน ประกอบเป็นที่ประชุมใหญ่แห่งตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งไม่อยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาล มวลราษฎรก็จะได้รับการประกันที่ดีในการตีความรัฐธรรมนูญ และเพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลละเมิดรัฐธรรมนูญได้
ที่มา: คัดจากตอนที่ 5 ในบทความเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” ของนายปรีดี พนมยงค์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516