ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

สัมผัสอารมณ์กวีของปรีดี พนมยงค์

31
ตุลาคม
2563

คนทั่วไปมักรู้จักงานประพันธ์ของปรีดี พนมยงค์ เพียงแต่ในส่วนของผลงานร้อยแก้ว นั่นคือ นวนิยายและบทภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก รวมถึงบทความต่าง ๆ ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมไทยอย่างเข้มข้นหลากหลายชิ้น ทว่ายังมีงานประพันธ์ของปรีดีอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึงนัก ได้แก่ ผลงานร้อยกรองหรือบทกวี

ผมจึงใคร่นำคุณผู้อ่านไปสัมผัสชั้นเชิงทางกวีของท่านรัฐบุรุษอาวุโสนาม ปรีดี พนมยงค์

ปรีดีสนใจด้านการเขียนบทกวีพอสมควร หลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันความชอบเขียนบทกวีของเขา คือบทร้อยกรองที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ประชามิตร รายสัปดาห์ ฉบับวันที่10 มีนาคม พ.ศ. 2489 ชื่อ ‘สงครามและสันติภาพ’  ใช้นามในการเขียนว่า “นายปรีดี” (ต่อมาได้นำมาลงตีพิมพ์อีกครั้งใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 22-28 พฤษภาคม พ.ศ. 2526) ปรีดีอาศัยฉันทลักษณ์แบบกลอนสุภาพถ่ายทอด ดังความว่า

 

“สงครามโลกครั้งก่อนรอนชีวิต
มนุษย์ปลิดสิบกว่าล้านประมาณหมาย
คนเข็ดขามสงครามกันมากมาย
จึ่งตั้งค่ายสันนิบาตชาติประเทือง
เพื่อระงับดับทุกข์สิ้นยุคเข็ญ
ให้ร่มเย็นสวัสดีไม่มีเรื่อง
อยู่ร่วมกันสันติสุขทุกบ้านเมือง
คอยปลดเปลื้องข้อพิพาทบาดทะลุง
สันนิบาตปรารถนาโดยนัยนี้
แต่ก็หนีไม่พ้นจากคนยุ่ง
พวกฟาสซิสต์ประดังขึ้นนังนุง
ต้องรบพุ่งกันอีกหลีกไม่พ้น
อันเคหะสถานต้องลานแหลก
ยิ่งกว่ารบครั้งแรกอย่างปี้ป่น
ทั้งเรือฟ้าเรือน้ำร่ำผจญ
ชีวิตคนเหมือนปลวกถูกลวกน้ำ
ซ้ำยังมีลูกระเบิดที่เลิศฤทธิ์
ปรมาณูแรงพิษโปรยกระหน่ำ
สงครามโลกลบหายคลายระกำ
สหชาติเริ่มนำเปนองค์การณ์
เพื่อระงับดับสงครามครั้งสามสี่
ปราถนาอย่างดีมีแก่นสาร
ให้ชาวชนพ้นทุกข์เรื่องรุกราน
แต่จะนานเพียงไหนก็ไม่รู้
ด้วยบัดนี้ยังมีการสู้รบ
ไม่รู้จบในอินโดนีเซียอยู่
ทั้งญวนลาวกราวเกรียวลองเหลียวดู
ใครจะกู้สุขสันต์ให้หันคืน
ไม่ว่าใครอยากได้อิสสรภาพ
มันซ่านซาบรื่นรมย์ไม่ขมขื่น
เปนเมืองออกของเขาเฝ้าแต่กลืน
น้ำตาตื้นเต็มอยู่ไม่รู้วาย

เมื่อมีแอกแบกบ่าระอาอก
ย่อมต้องเพียรเวียนยกให้ห่างหาย
เรืองรังแต่ชุลมุลเกิดวุ่นวาย
พอคาดหมายเปนชนวนชวนสงคราม
อันตราบใดยังมีเรื่องของเมืองขึ้น
ความขมขื่นจะไม่ก่อให้ท้อขาม
ปรมาณูแค่ไหนอะไรก็ตาม
กันสงครามเกิดได้ไฉน เอยฯ”

(รักษาตัวสะกดและการันต์ตามต้นฉบับเดิม)

 

เห็นได้ว่าในบทกวี นอกจากปรีดีจะเผยภาพความโหดร้ายของสภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะพิษภัยจากการทำลายล้างของระเบิดปรมาณูแล้ว เขายังเสนอแนวคิดเรื่องสันติภาพภายหลังสงครามโลกสงบลง มีการร่วมแรงร่วมใจก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations) หรือ UN ขณะเดียวกันก็พาดพิงถึงสถานการณ์การเรียกร้องเอกราช เช่น ในอินโดนีเซีย ที่ชาวพื้นเมืองต่อสู้ปลดปล่อยประเทศจากการตกอยู่ภายใต้อาณานิคมชาติตะวันตก เพราะอิสรภาพย่อมเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ล้วนปรารถนา บทกวีนี้จึงสะท้อนว่าปรีดียึดมั่นต่อแนวคิดสันติภาพอย่างจริงจัง

ปรากฏอีกกรณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นความเป็นปฏิภาณกวีของปรีดี นั่นคือ การโต้ตอบสักวา

ช่วงปี พ.ศ. 2485-2487 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ก่อตั้งวรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทยขึ้นมา โดยจอมพล ป. เองดำรงตำแหน่งนายกวรรณคดีสมาคม มีพระยาอนุมานราชธน และหลวงวิจิตรวาทการเป็นอุปนายก ทั้งยังมีพระนางเธอลักษมีลาวัณดำรงตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษา

พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระนางเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้าของกิจการโรงละครปรีดาลัยที่ทำการแสดงละครร้อง พระองค์ทรงสนพระทัยด้านวรรณกรรมอย่างยิ่ง ทั้งยังทรงพระนิพนธ์บทร้อยกรองและนวนิยายจำนวนมาก เช่น ชีวิตหวาม และ เสื่อมเสียงสาป เป็นต้น 

พระนางเธอลักษมีลาวัณยังเป็นบุคคลที่ปรีดีเคยโต้ตอบสักวาด้วย ซึ่งการโต้ตอบสักวาดังกล่าวเกิดขึ้นในงานพบปะสังสรรค์ของวรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทยคราวหนึ่ง ตอนนั้น ปรีดีมาร่วมงานในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระนางเธอลักษมีลาวัณได้เขียนบทสักวาเป็นกลอนสดท้าทายให้ปรีดีโต้ตอบ ใจความว่า

 

สักวาฉันขอเชิญผู้สำเร็จ
ทั้งสองเสด็จรับสั่งอย่ายั้งเฉย
ประทานเกียรติแก่กวีอภิเปรย
ท่านปรีดีเล่าก็เคยชำนาญกลอน
ประทานเกียรติให้แก่สมาคม
เพื่อผสมเก็บเข้าเอาไว้สอน
ขออย่าทรงปฏิเสธคำอ้อนวอน
โปรดอุปกรณ์การประพันธ์ช่วยฉันเอยฯ

 

รับฟังคำท้า ปรีดีมิรีรอ โต้ตอบกลับเป็นบทสักวากลอนสดว่า

 

สักวาถูกท้าจากฝ่ายหญิง
ครั้นขืนนิ่งก็จะว่าสู้ไม่ได้
แต่ถ้าขืนเอ่ยตอบไม่ชอบใจ
ขออภัยอย่าพิโรธโกรธรังแก
อันการกวีชนิดที่ได้เขียนแต่ง
มีมากแห่งที่เป็นชายใช้แน่แน่
แต่ฝ่ายหญิงชนิดยิ่งกวีแท้
ส่งเสียงแหวนี่แหละท่านฉันแพ้เอยฯ

 

พระนางเธอลักษมีลาวัณ ภาพจาก www.silpa-mag.com
พระนางเธอลักษมีลาวัณ
ภาพจาก www.silpa-mag.com

 

เมื่อพิจารณาจากบทที่ 5 ในสมุดบันทึกของนายปรีดีเอง ซึ่งหน้าปกมีข้อความเขียนด้วยลายมือว่า หัวข้อสังคมของอัตโน  จะพบการเขียนบทกวีอยู่ด้วย  เช่น บทกวีที่ปรีดีเขียนเป็นลายมือไว้ท้ายบันทึก พอจะแกะความได้ว่า

 

อนิจจาเจนซื่อบุปผาลาโรงแล้ว
น้องแก้วจวักตักจ้วงน้ำไม่ถึงไหน
สรรพสิ่งแม้แต่น้อยคอยบุญมาให้
ภาระใหญ่ท่วมท้นจนเหลือแล

 

บทกวียังมีร่องรอยการแก้ไขในวรรคที่สามและวรรคที่สี่  ดูเหมือนตอนแรก ปรีดีตั้งใจจะเขียนวรรคที่สามว่า “สรรพสิ่งวิ่งตรูสู่เทพไท”  ส่วนวรรคที่สี่จะเขียนว่า “กว่าจะโปรยโรยให้…”  และ “บ่มิมี (อ่านไม่ชัดว่าเป็นคำว่าอะไร— ผู้เขียน) ใด องอาจใจ” แต่แล้วก็ขีดฆ่าทิ้ง และเขียนใหม่กลายเป็นบทกวีสมบูรณ์ดังที่ยกมาข้างต้น

 

ภาพจากสมุดบันทึก หัวข้อสังคมของอัตโน
ภาพจากสมุดบันทึก หัวข้อสังคมของอัตโน  

 

ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าสำนวนบทกวีชิ้นหลังนี้ อาจจะเป็นบทกวีที่ปรีดีพยายามแปลมาหรือเปล่า

คงประจักษ์ว่าปรีดี นับเป็นผู้มีฝีมือและความสามารถในชั้นเชิงการเขียนบทกวีอยู่ไม่น้อย 

การมองปรีดี พนมยงค์ผ่านผลงานทางด้านนี้ ย่อมเป็นอีกแง่มุมที่น่าสนใจไม่แพ้บทบาทและผลงานด้านอื่น ๆ ที่มันสมองแห่งคณะราษฎรผู้นี้ได้สรรค์สร้างไว้เช่นกัน

 

เอกสารอ้างอิง

  • ปรีดี พนมยงค์ : ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์. บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริและ เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529
  • ปรีดี พนมยงค์. หัวข้อสังคมของอัตโน (สมุดบันทึก ยังไม่ตีพิมพ์)