ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ความทรงจำเมื่อครั้งไปเจริญสันถวไมตรี

1
พฤศจิกายน
2563

เมื่อสงครามสิ้นสุด ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเตน (Lord Louis Mountbatten) ผู้บัญชาการสูงสุดของสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อปลดอาวุธญี่ปุ่น โดยเลดี้ เมานท์แบตเตนได้ล่วงหน้ามาก่อน นายปรีดีและข้าพเจ้าได้ให้การต้อนรับอาคันตุกะที่เป็นมิตรร่วมรบในระหว่างสงครามเป็นอย่างดี 

มิตรภาพของเราได้ยั่งยืนเรื่อยมาแม้สงครามจะสิ้นสุดไปหลายสิบปี หลังจากนายปรีดีออกจากประเทศจีนมาพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนตุลาคม 2513 “กองกำลังพิเศษ” (Special Forces) ได้เชิญนายปรีดีกับข้าพเจ้าไปอังกฤษ และสมาชิก “สโมสรกองกำลังพิเศษ” (Special Forces Club) มีมติเป็นเอกฉันท์รับนายปรีดีเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ลอร์ด เมานท์แบทเตนได้เชิญนายปรีดีกับข้าพเจ้าไปพักแรมที่คฤหาสน์ Broadlands, Romsey ในเขต Hampshire เสมือนหนึ่งผู้นำของประเทศ ท่านลอร์ดจัดให้นายปรีดีพักที่ห้อง Duke of Edinburgh และข้าพเจ้าพักห้องที่ Queen Elizabeth ที่ 2 เคยประทับ ลอร์ด เมานท์แบทเตนเป็นปิตุลาของ Duke of Edinburgh พระสวามีในสมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 2 ท่านลอร์ดได้ให้นายปรีดีปลูกต้น Dawn Redwood (ชื่อพฤกษศาสตร์ Meta Sequoia) ในบริเวณคฤหาสถ์ Broadlands เป็นที่ระลึก  เป็นที่น่าเสียดายว่า ขณะนั้น Lady Mountbatten ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนหน้าหลายปีแล้ว ท่านลอร์ดได้มอบหนังสือชีวประวัติภริยาท่านให้ข้าพเจ้าไว้เป็นที่ระลึก และ 9 ปีต่อมา ในปี 2522 ลอร์ด เมานท์แบทเตนได้เสียชีวิตจากการวางระเบิดของขบวนการไอร์แลนด์เหนือ (IRA) นายปรีดีได้ส่งโทรเลขถวายสมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 2 แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และพระองค์ทรงโทรเลขตอบขอบใจมาด้วย

 

รับเชิญจาก Lord Mountbatten ให้ไปพำนัก ณ คฤหาสน์ Broadlands ประเทศอังกฤษ (มิถุนายน 2513)
รับเชิญจาก Lord Mountbatten ให้ไปพำนัก ณ คฤหาสน์ Broadlands ประเทศอังกฤษ (มิถุนายน 2513)

 

เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณบรรดาประเทศสัมพันธมิตรที่ได้ให้การสนับสนุนราษฎรไทยในการต่อต้านผู้รุกราน อีกทั้งเป็นการเจริญสันถวไมตรีกับราษฎรในประเทศต่าง ๆ ดังนั้น ในระหว่างพฤศจิกายน พ.ศ. 2489 - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 นายปรีดีกับคณะซึ่งข้าพเจ้าร่วมไปด้วย ได้เดินทางไปเยือน 9 ประเทศ ตามที่รัฐบาลประเทศเหล่านั้นเชิญมา เป็นที่น่ายินดีว่าประเทศสัมพันธมิตรต่างยอมรับเอกราชอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของประเทศไทย 

เครื่องบินสายการบิน P.O.A.S. ซึ่งเพิ่งจะทดลองเปิดสายการบินนำนายปรีดีและคณะไปเยือนสาธารณรัฐจีนเป็นประเทศแรก ที่กรุงนานกิง นครหลวง นายพลเจียงไคเช็ค กับมาดามซ่งเหม่ยหลิง ให้การต้อนรับอย่างดี ทั้งยังได้จัดเครื่องบินพิเศษให้ไปเมืองเป่ยผิง (ชื่อกรุงปักกิ่งในขณะนั้น) เพื่อชมทัศนียภาพของกำแพงเมืองจีน 

จากเป่ยผิงบินสู่นครเซี่ยงไฮ้ ต่อเครื่องบินมายังกรุงมะนิลา ประธานาธิบดี Roxas แห่งฟิลิปปินส์ให้การต้อนรับ 

จากนั้นข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมาที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างทางแวะที่เกาะกวมและเมืองโฮนูลูลูที่เกาะฮาวาย ที่เมืองลอสแองเจลิส คณะเราเข้าพักที่โรงแรม Beverly Hills ณ ที่นี้เครื่องประดับล้ำค่า ซึ่งเป็นของเก่าแก่ของตระกูล และของญาติผู้ใหญ่ถูกโจรกรรมจากห้องพักอย่างไร้ร่องรอย แม้เจ้าหน้าที่ FBI ก็ไม่สามารถสืบจับคนร้ายได้

จากฝั่งตะวันตกของอเมริกา ข้ามมาฝั่งตะวันออกที่กรุงวอชิงตัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจัดให้นายปรีดีกับคณะพักที่ Blair House ประธานาธิบดี Truman ให้การต้อนรับที่ทำเนียบ White House นอกจากนั้นยังไปที่ Pentagon (ที่ตั้งกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา) ซึ่งมีพิธีมอบ เหรียญชัย Medal of Freedom Golden Palm ให้นายปรีดี

จากวอชิงตันมาที่นิวยอร์ก นายปรีดีได้พบกับผู้แทนหลายประเทศประจำสหประชาชาติ ขอความสนับสนุนให้รับประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ จากนั้นนั่งเรือเดินสมุทรระวางขับน้ำแสนตันที่ได้ชื่อว่าทันสมัยและหรูที่สุดในยุคนั้น ในเรือ “Queen Elizabeth” ได้พบนาย Bevin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ นาย Molotov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพโซเวียต ซึ่งกลับจากการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ก็โดยสารเรือลำนี้ด้วยเช่นกัน เรือ Queen Elizabeth พาผู้โดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก สู่ทวีปยุโรปในฤดูหนาวด้วยความปลอดภัย 

นายปรีดีกับคณะเป็นแขกของรัฐบาลอังกฤษ ได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงอังกฤษ King George VI พระองค์พระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวัน ณ พระราชวัง Buckingham เจ้าหญิง Elizabeth (ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็น Queen Elizabeth ที่ 2) และพระขนิษฐาเจ้าหญิง Margaret ได้ร่วมโต๊ะเสวยด้วย สำนักพระราชวัง Buckingham ได้รายงานข่าวในวันนั้นและก่อนหน้านี้หลายปี เมื่อ พ.ศ. 2482 พระเจ้ากรุงอังกฤษได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ The Insignia of An Honorary Knight Grand Cross of the Most Distinguished Order of St. Michael and St. George ให้นายปรีดี 

การมาเยือนอังกฤษในครั้งนี้ หน่วย “Special Forces 136” ซึ่งเป็นกองกำลังพิเศษของอังกฤษในการต่อต้านญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยลอร์ด เมานท์แบทเตน ให้การต้อนรับนายปรีดีในฐานะอาคันตุกะจากสยามอย่างเอิกเกริก 

จากอังกฤษข้ามมาประเทศฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรี Léon Blum ให้การต้อนรับและเลี้ยงรับรองที่กระทรวงการต่างประเทศ “Quai d’ Orsay” และสนทนากันด้วยไมตรีจิต อนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2482 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Grand Croix de la Légion d’ Honneur แก่นายปรีดี

 

กรุงลอนดอน พ.ศ. 2489
กรุงลอนดอน พ.ศ. 2489

 

จากฝรั่งเศสตรงมาสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ 6 ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระราชชนนี ประทับที่เมือง Davos นายปรีดีกับคณะได้ไปเฝ้าพระองค์ในเดือนมกราคม 2490 

จากสวิตเซอร์แลนด์ ผ่านเยอรมนีไปประเทศเดนมาร์ก เผอิญว่า พระเจ้ากรุงเดนมาร์กประชวร จึงไม่ได้เข้าเฝ้า ส่วนพระราชินีเดนมาร์กได้เสด็จมาร่วมงานเลี้ยงที่วังของ Prince Axel 

ต่อจากนั้นเยือนประเทศสวีเดนเป็นประเทศที่ 8 พระเจ้ากรุงสวีเดน King Gustave พระราชทานเลี้ยงนายปรีดีกับคณะ และได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของสวีเดน ORDER OF VASA (COMMANDER GRAND CROSS) แก่นายปรีดี 

ประเทศนอร์เวย์ คือ ประเทศสุดท้ายของการเยือนมิตรประเทศ พระเจ้ากรุงนอร์เวย์พระราชทานเลี้ยงนายปรีดีกับคณะ

เดือนมกราคม 2490 นายปรีดีกับคณะได้เดินทางกลับเมืองไทยโดยสวัสดิภาพ เมื่อเครื่องบินน้ำ (บ้างก็เรียกว่า “เครื่องบินทะเล” เพราะ เครื่องบินชนิดนี้ taxi บนผืนน้ำ จะเป็นน้ำจืดก็ได้ น้ำทะเลก็ได้ ไม่ใช่ทางวิ่งบนบก ผืนน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือคลองเตยเป็น runway ของเครื่องบินน้ำในเวลานั้น) ถึงท่าเรือคลองเตย ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพี่น้องประชาชนล้นหลาม

เมื่อไปสหรัฐอเมริกา เราไม่มีเวลาไปเยี่ยมชมสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) ที่เลื่องลือด้านธรรมชาติวิทยา ครั้นเวลากลับมาเมืองไทย ผ่านเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ผู้แทนสถาบันสมิธโซเนียนได้รอพบที่นั่น และแจ้งให้นายปรีดีทราบว่า สถาบันสมิธโซเนียน ได้ตั้งชื่อนกสายพันธุ์ที่ค้นพบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2471 ทางภาคเหนือของสยาม โดยฮิวจ์ เอม. สมิธ (Hugh M. Smith) ว่า “CHLOROPSIS AURIFRONS PRIDII” โดยให้รหัส “USNM 311538” พร้อมทั้งระบุด้วยว่า “ชื่อของนกนี้ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแด่นายปรีดี พนมยงค์(หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ผู้นำขบวนการเสรีไทย”

 

ท่ามกลางผู้มาต้อนรับ ที่สนามบินน้ำ ท่าเรือคลองเตย พ.ศ. 2490
ท่ามกลางผู้มาต้อนรับ ที่สนามบินน้ำ ท่าเรือคลองเตย พ.ศ. 2490

 

ท่ามกลางผู้มาต้อนรับ ที่สนามบินน้ำ ท่าเรือคลองเตย พ.ศ. 2490
ท่ามกลางผู้มาต้อนรับ ที่สนามบินน้ำ ท่าเรือคลองเตย พ.ศ. 2490

 

หลังจากกลับเมืองไทยได้ไม่นาน บ้านเมืองเราก็เกิดเหตุการณ์การเมืองสำคัญ ๆ หลายเรื่อง ชีวิตในยามสงครามและสันติภาพของนายปรีดีและข้าพเจ้าก็ได้สิ้นสุดลง จากนั้นก็ได้เริ่มชีวิตอันผันผวนในต่างแดน

 

ที่มา: ส่วนหนึ่งของบทความ "ชีวิตในยามสงครามและสันติภาพ" ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์