สําหรับท่านปรีดีฯ นั้น ไม่นานภายหลังที่ได้ลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้รับเชิญจากรัฐบาลหลายประเทศให้ไปเยือนประเทศเหล่านั้น ขณะนั้นท่านปรีดีฯ ยังเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และดํารงตําแหน่งรัฐบุรุษอาวุโส
ท่านปรีดีฯ ได้เขียนถึงการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ตามคําเชิญโดยความเห็นชอบของรัฐบาลไว้ในหนังสือ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าฯ (หน้า 91-103) พอเป็นสังเขป ดังนี้
เมื่อเดือนกันยายน 2489 เอกอัครราชทูตจีน (ประจําประเทศไทย) ได้นําหนังสือเชิญจากประธานาธิบดี เจียงไคเช็ค มาให้ข้าพเจ้า เพื่อเชิญให้ไปเยือนประเทศจีนในฐานะแขกของรัฐบาลจีน ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าก็ได้รับเชิญทํานองเดียวกันนี้จากรัฐบาลฟิลิปปินส์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และบางประเทศในยุโรป
รัฐบาลได้เสนอให้ข้าพเจ้าตอบรับคําเชิญเหล่านั้น เพื่อเป็นการถือโอกาสขอร้องให้สมาชิกถาวรที่สําคัญๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสนับสนุนประเทศสยามให้ได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การฯ และเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศของเรากับประเทศที่ข้าพเจ้าจะต้องไปเยือน
ข้าพเจ้า พร้อมด้วยภรรยา และคณะ ออกเดินทางโดยสายการบิน พี.โอ.เอ.เอส. ซึ่งให้บริการแก่เราไปเที่ยวบินทดลองระหว่างกรุงเทพฯ กับนานกิง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2489 (นานกิงเป็นเมืองหลวงของจีนอีกครั้งหนึ่งภายหลังสงคราม) เรามาถึงนานกิงในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นช่วงระยะการหยุดยิงระหว่างจีนคณะชาติกับจีนคอมมิวนิสต์
การเจรจาปรึกษาที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลจีนคณะชาติ ขณะที่โจวเอินไหลเป็นตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีผู้รักชาติประชาธิปไตยคนอื่นๆ เข้าร่วมประชุมด้วยนั้นเพิ่งเสร็จสิ้น การประชุมครั้งนี้มีจุดหมายที่สําคัญ คือ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่จะใช้ปกครองจีนทั้งประเทศ และการรวบรวมกําลังพลของฝ่ายต่างๆ ให้เป็นกองทัพแห่งชาติภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีนคณะชาติ (ซึ่งมีเจียงไคเช็คเป็นประมุข)
นอกจากการประชุมครั้งนี้แล้ว ได้มีการเจรจาเฉพาะระหว่างรัฐบาลจีนคณะชาติกับตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย ประธานาธิบดี ทรูแมน ได้ส่งนายพล ยอร์ช มาร์แชล ไปร่วมประชุม เพื่อพยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์จีน ยอมตกลงกับฝ่ายจีนคณะชาติ การเจรจาไม่ก่อให้เกิดผลแต่ประการใด ที่จริงภายหลังจากที่คณะของเรามาเยือนนานกิง ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ได้ไม่กี่วัน ก็ได้ทราบข่าวความล้มเหลวของการเจรจาเพื่อคืนดีระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์กับฝ่ายจีนคณะชาติ โจวเอินไหล และคณะผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนเดินทางกลับไปยังเยนอาน ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค และมาดามเจียง ได้ต้อนรับเราอย่างฉันมิตร ระหว่างการสนทนา ดร.ที.วี. ซุง พี่ชายมาดามเจียง และผู้รักษาการในตําแหน่งประธานสภาบริหาร (เทียบเท่าตําแหน่งนายกรัฐมนตรี) ขณะนั้น ก็ได้ร่วมสนทนาด้วย ประธานสภาบริหารของจีนได้สัญญากับข้าพเจ้าว่า จะสนับสนุนการขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติของประเทศสยาม เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า ประเทศสยามไม่ได้เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น รัฐบาลจึงจะได้แจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังผู้แทนจีนที่องค์การสหประชาชาติ
ประธานาธิบดีเจียงไคเช็คได้ขอกับข้าพเจ้าว่า ให้เจ้าหน้าที่สถานทูตสยามทุกคนพํานักอยู่ที่นานกิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลจีน ไม่ให้พํานักที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งขณะนั้นเป็นที่พํานักของเอกอัครราชทูตจากประเทศอื่นๆ โดยเอกอัครราชทูตเหล่านั้นส่งเพียงแค่เลขานุการที่รับผิดชอบกิจการสถานทูตคนหนึ่งไปประจําอยู่ที่นานกิง
ในสมัยนั้น เราจะเห็นขอทานมากมายที่นานกิงและทั่วประเทศจีน ซึ่งขณะนั้นกําลังประสบภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก ถึงขนาดที่ว่า เวลาไปจ่ายตลาดแต่ละครั้ง กระเป๋าสตางค์จะไม่พอใส่ธนบัตรสําหรับซื้อของที่จําเป็นเลย
เราได้ขึ้นเครื่องบินที่รัฐบาลจีนส่งมาอํานวยความสะดวก เพื่อเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง ปักกิ่งได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เป่ยผิง” หลังจากรัฐบาลได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่นานกิง รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน หลีจุงเหริน ได้ต้อนรับเรา อย่างอบอุ่น บุคคลนี้รับผิดชอบในการป้องกัน “นครเป่ยผิง” และภูมิภาคด้านเหนือ จากการรุกคืบหน้าของคอมมิวนิสต์ เขาได้รับความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาฝ่ายพลเรือนของจีน (ที่ปรึกษาการเมือง) ที่มีความใกล้ชิดกับอเมริกา
ข้าพเจ้าจําได้ว่า บริเวณหน้าทางเข้าทําเนียบรัฐบาลด้านจัตุรัส “เทียนอันเหมิน” ซึ่งเป็นสถานที่แขวนรูปประธานเหมาฯ ในปัจจุบันนั้น เมื่อก่อนเคยเป็นที่แขวนรูปเจียงไคเช็ค กองบัญชาการของหลีจุงเหรินตั้งอยู่ในพระราชวังจงหนานไห่ ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน
ขณะนั้นทั้งข้าพเจ้าและหลีจุงเหรินไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าอีก 18 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2508 เราจะได้พบกันอีกครั้งหนึ่งที่ประตู “เทียนอันเหมิน” อันมีชื่อเสียงนี้ เพื่อร่วมงานฉลองการสถาปนาสาธารณรัฐราษฎรจีนครบรอบ 16 ปี
ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยในประเทศสยาม และความล้มเหลวของขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ซึ่งนําโดยข้าพเจ้าเอง ทําให้ตัวข้าพเจ้าเองต้องขอลี้ภัยทางการเมืองจากรัฐบาลราษฎรจีน ส่วนหลีจุงเหรินนั้น หลังจากที่ข้าพเจ้าได้เข้าเยี่ยมที่ปักกิ่งในปี พ.ศ.2489 ได้ไม่กี่เดือน เขาก็ได้รักษาการในตําแหน่งประธานาธิบดีของจีนคณะชาติ และดํารงตําแหน่งดังกล่าวต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2492 ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเดียวกันซึ่งย้ายมาอยู่ที่กวางตุ้ง เมื่อกองทัพราษฎร ซึ่งนําโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยาตราเข้ามาใกล้เมืองกวางตุ้ง หลีจุงเหรินก็เดินทางออกจากจีนไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ภายหลังจากการทดลองระเบิดปรมาณูในจีนประสบความสําเร็จเป็นครั้งแรก หลีจุงเหรินได้เดินทางออกจากสหรัฐอเมริกาอย่างลับ ๆ และกลับเข้ามาในจีน โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประธานเหมาฯ และนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ในฐานะผู้รักชาติชาวจีน เขาให้คํามั่นสัญญาว่า จะพยายามทําให้ประเทศจีนรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เท่าที่เขาสามารถจะทําได้
ยังมีข้อเท็จจริงบางประการที่ควรสังเกตคือ “ผู้สังเกตการเกี่ยวกับจีน” ย่อมรู้ดีว่า มาดามเจียงไคเช็คเป็นน้องสาวคนสุดท้องของมาดามซุนยัดเซ็น (ดร.ซุนยัดเซ็น เป็นนักอภิวัตน์ที่ยิ่งใหญ่ของจีนซึ่งนําการอภิวัฒน์เจ้าสมบัติในปี พ.ศ. 2454) มาดามซุนยัดเซ็นยังคงดําเนินนโยบายของ ดร.ซุนยัดเซ็น ในส่วนที่เกี่ยวกับการร่วมมือกับคอมมิวนิสต์
มาดามซุนยัดเซ็นได้เป็นรองประธานาธิบดีคนหนึ่งของรัฐบาลราษฎรจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 และต่อจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2515) ส่วนมาดามเจียงและเจียงไคเช็คก็ยังให้ความนับถือ ดร.ซุนยัดเซ็น เสมอมา
พี่สาวคนโต ซึ่งเป็นภรรยาของอดีตประธานาธิบดีจีนและน้องสาวอีก 2 คน ต่างก็มีความเข้าใจกันดีแล้วในช่วงสงครามต่อสู้กับญี่ปุ่นซึ่งเป็นศัตรูร่วมกัน
ด้วยข้อเท็จจริงอันนี้ จึงน่าคิดว่าพี่น้อง 3 คนนี้จะสามารถร่วมมือกันในอนาคต เพื่อการรวมชาติอย่างสันติของจีนหรือไม่
โจวเอินไหลและเจียงไคเช็คเคยร่วมงานกันที่สถาบันการทหารแห่งกวางตุ้ง เมื่อปี พ.ศ. 2467 ตอนนั้นเจียงไคเช็คมียศพันตรี และโจวเอินไหลเป็นอาจารย์วิชาการเมือง โจวเอินไหลเป็นผู้ดําเนินการให้ปล่อยตัวเจียงไคเช็ค เมื่อคราวถูกจอมพลจางโซเหลียงจับกุมในปี พ.ศ. 2478 ต่อมาอีกหลายสิบปี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2514 โจวเอินไหลได้ให้สัมภาษณ์นายเจมส์ เรสตัน นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นรองประธานฯ หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ มีข้อความว่า “ข้าพเจ้ารู้จักเจียงไคเช็ค และที่แน่นอนอย่างหนึ่ง แม้ในสายตาของอเมริกัน ก็คือ เจียงไคเช็คเป็นคนที่ต่อต้านความกดดันจากอเมริกา ไม่เหมือนกับเหงียนวันเทียวที่ไซ่ง่อน เจียงไคเช็คมีความรักชาติ แต่คนรอบข้างของเขาไม่เป็นเช่นนั้น” โจวเอินไหลกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “ซี.ไอ.เอ.ก็รู้เรื่องนี้ดี”
จากปักกิ่ง ข้าพเจ้าเดินทางไปถึงเซี่ยงไฮ้ แล้วขึ้นเครื่องบินต่อไปยังกรุงมนิลา เมืองหลวงของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งเพิ่งได้รับเอกราชจากสหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดี โรฮัส และรองประธานาธิบดี ควิริโน ได้ต้อนรับอย่างฉันมิตรและจัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นเกียรติแก่เรา
จากมนิลา เราขึ้นเครื่องบินไปยังสหรัฐอเมริกา
เมื่อเราเดินทางมาถึงลอสแอนเจลีส ตัวแทนของรัฐบาลอเมริกาได้ให้การต้อนรับและจัดให้พํานักในโรงแรมเบเวอร์ลีฮิลล์ และที่โรงแรมนี้เองภรรยา ข้าพเจ้าถูกโจรกรรมเครื่องประดับ
จากลอสแอนเจลีส เราได้เข้าไปหลายภูมิภาคก่อนเดินทางมาถึงวอชิงตัน เราได้หยุดแวะบางแห่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้พบผู้ที่เคยร่วมงานกับเราในระหว่างสงครามต่อต้านญี่ปุ่นที่กรุงวอชิงตันรัฐบาลอเมริกันจัดให้เราพักที่แบลร์เฮาส์ (ที่พักซึ่งสํารองไว้สําหรับแขกของทางราชการ) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ทําเนียบขาว ที่นั่นข้าพเจ้าได้เข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศและข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศบางคนที่เคยช่วยเหลือในระหว่างสงคราม ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสนั้นแสดงความขอบคุณในบรรดาข้าราชการเหล่านี้ มีบางคนที่ต่อมาถูกปลดโดยอิทธิพลทางการเมืองของโจ แมคคาร์ธี ด้วยข้อหา “ดําเนินกิจกรรมที่ไม่ใช่อเมริกัน” รัฐบาลอเมริกันได้มอบเหรียญเสรีภาพชั้นหนึ่ง (ประดับใบปาล์มทองคํา) แก่ข้าพเจ้าในฐานะที่มีคุณูปการต่อฝ่ายสัมพันธมิตรระหว่างสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ต่อจากนั้นประธานาธิบดี ทรูแมน ก็ได้ให้การต้อนรับข้าพเจ้า ระหว่างการสนทนา ท่านก็ได้ให้สัญญากับข้าพเจ้าว่าจะสนับสนุนให้สยามเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
จากวอชิงตัน เราได้เดินทางต่อไปยังนิวยอร์ค ผู้แทนของรัฐบาลสยามที่นั่นได้พยายามติดต่อกับผู้แทนประเทศซึ่งเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ยอมรับสยามเข้าเป็นสมาชิกองค์การนี้ผู้แทน สหภาพโซเวียตลังเลที่จะสนับสนุนการสมัครของเรา เนื่องจากสาธารณรัฐราษฎรมองโกเลีย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติด้วย (แต่สมาชิกสหประชาชาติเห็นว่า มองโกเลียมิใช่ประเทศที่มีเอกราชสมบูรณ์ หากอยู่ในอาณัติของสหภาพโซเวียต จึงไม่ยอมรับเข้าเป็นสมาชิก) แต่ในที่สุด สหภาพโซเวียตก็ยินยอมสนับสนุนการสมัครของประเทศสยาม
แม้ว่าสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจะมองว่า ประเทศสยามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่สยามก็ได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์จากคณะมนตรีความมั่นคงฯ และสมัชชาใหญ่ฯ ให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ขณะเดียวกัน จีนก็ได้วีโต้คัดค้านการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสาธารณรัฐราษฎรมองโกเลีย (อีก 10 ปีต่อมา มองโกเลียจึงได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ)
จากนิวยอร์ค เราได้ลงเรือ “ควีนอลิซาเบท” เพื่อเดินทางไปอังกฤษ
นายกรัฐมนตรี แอทลี รัฐบาลอังกฤษ และลอร์ดเมานท์แบทเตนได้ต้อนรับเราด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง ที่กรุงลอนดอน เราได้พบสมาชิกสโมสร “กองกำลังพิเศษ” ชาวอังกฤษซึ่งเคยทำงานร่วมกับเราระหว่างการต่อต้านญี่ปุ่น รัฐบาลอังกฤษได้จัดงานรับรองเพื่อเป็นเกียรติแก่ข้าพเจ้า สมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ 6 และพระราชินีอลิซาเบทได้ทรงเชิญข้าพเจ้าและภรรยาไปรับประทานอาหารกลางวันที่พระราชวังบักกิงแฮม บุคคลที่ร่วมโต๊ะเสวยประกอบด้วยเจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบท (ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระราชินีอลิซาเบทที่ 2) พร้อมด้วยเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเรต พระขนิษฐาของเจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบท ลอร์ดและเลดี้เมานท์แบทเตน
ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้น ขอให้รัฐบาลอังกฤษเพิ่มราคาข้าวที่สั่งซื้อจากประเทศสยามไว้ให้สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้ยินยอมตามนั้น
จากลอนดอน ข้าพเจ้าเดินทางต่อไปยังกรุงปารีสตามคำเชิญของประธานาธิบดี เลออง บลุม ซึ่งได้ให้การต้อนรับเราอย่างอบอุ่น และได้จัดเลี้ยงรับรองที่กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสเพื่อเป็นเกียรติแก่เราเมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2490
จากปารีสเราเดินทางเข้าสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระราชชนนี ออกจากสวิตเซอร์แลนด์เราเดินทางไปกรุงเฮก โคเปเฮเกน สตอกโฮล์ม และออสโล ซึ่งข้าพเจ้าและภรรยาได้รับการต้อนรับจากประมุขของประเทศเหล่านั้น
พระเจ้ากุสตาฟที่ 6 ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ลา กรองค์ ครัวส์ เดอ วาสา” แก่ข้าพเจ้า เพื่อยืนยันมิตรภาพระหว่างสวีเดนกับสยาม
หลังจากเสร็จการเยือนยุโรปแล้ว เราก็เดินทางกลับประเทศสยามผ่านกัลกัตตา ซึ่งขณะนั้นอินเดียยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
ที่กัลกัตตา ตัวแทนจากสถาบันสมิทโซเนียน ซึ่งเดินทางมาจากสหรัฐฯ เป็นการพิเศษได้มอบเอกสารของสถาบันดังกล่าวชุดหนึ่งแก่ข้าพเจ้า เอกสารชุดนี้บรรยายเกี่ยวกับนกชนิดหนึ่ง ซึ่งเพิ่มค้นพบก่อนหน้านั้นไม่นาน โดยตั้งชื่อว่า “CHLOROPSIS AURIFRONS PRIDII” เพื่อเป็นเกียรติแก่ปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) หัวหน้าขบวนการเสรีไทย
ท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับคณะได้เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 รวมเวลาที่ออกไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศคราวนั้น 3 เดือนเต็ม
เมื่อกลับมา ท่านได้ทำรายงานเสนอต่อรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในหลายเรื่องอันมีความสำคัญต่อประเทศชาติและรัฐบาล อาทิ เรื่องการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาท การปรับปรุงและส่งเสริมการปลูกฝ้าย โครงการจัดสร้างอาคารสงเคราะห์ราษฎร แม้กระทั่งเรื่องการจัดสวนสาธารณะและการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งทางรัฐบาลขณะนั้นก็รับไปพิจารณาดำเนินการ
ต่อมาในวันที่ 8 เมษายน 2490 ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ลาออกจากการเป็นผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ศกเดียวกัน หม่อมเจ้านิตยากร วรวรรณ ทรงได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรแทนท่านปรีดีฯ
ที่มา: ปรับแก้เล็กน้อยจาก วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2549), น. 409-416.