ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

การเดินทางไปหา 'Félix'

16
พฤศจิกายน
2563

 

ภาพที่สองจากซ้ายมือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เขียนไว้ข้างหลังภาพด้วยลายมือว่า 'ถ่ายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2495 ขณะที่ตำรวจนำไปศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขัง ข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ขณะอายุ 40 ปี 10 เดือน 19 วัน'

 

ในที่คุมขังกองสันติบาล กรมตํารวจ ข้าพเจ้าตั้งคําถามกับตนเองว่า “ฉันทําผิดอะไร” เป็นเพียงเพราะเป็นภรรยานายปรีดีที่ทางการต้องการตัวกระนั้นหรือ จึงกลายเป็น “ผู้ต้องหา” เป็น “กบฏ” และ “คนขี้คุก”

ยามปกติ คนเราจะไม่รู้สึกซาบซึ้งกับคําว่า “อิสรภาพ” เท่าใดนัก แต่เช่นในกรณีที่ข้าพเจ้าและเพื่อนร่วมชะตากรรมกบฏสันติภาพต้องอยู่ในที่คุมขังและเรือนจําแล้ว อิสรภาพเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด อิสรภาพเป็นสิ่งที่ผู้บริสุทธิ์ทุกคนถวิลหา  ข้าพเจ้าเชื่อในพุทธสุภาษิตว่า “ธรรมย่อมรักษา ผู้ประพฤติธรรม” ในไม่ช้าก็เร็ว พวกเราทุกคนจะต้องได้รับอิสรภาพ

คืนหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2496 ก่อนหน้าที่อัยการจะยื่นฟ้องคดีกบฏสันติภาพเพียงวันเดียว พ.ต.ต. เสริม พัฒนกําจร สารวัตรตํารวจที่รักความเป็นธรรม ซึ่งข้าพเจ้ามิได้เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวมาก่อน ได้นําข่าวดีมาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบเป็นการส่วนตัวว่า “อัยการสั่งไม่ฟ้อง” เป็นอันว่า ข้าพเจ้าถูกคุมขังครบ 84 วันตามอํานาจของพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาตามความอาญา โดยเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีความผิดใด ๆ

หลังจากได้รับอิสรภาพ ข้าพเจ้าใคร่ครวญอนาคตของตนเองในเมืองไทย ไม่มีใครรับประกันความปลอดภัยได้ ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจพาร่างกายและจิตใจอันบอบช้ำไปประเทศฝรั่งเศส ที่นั่นเป็นที่ซึ่งข้าพเจ้าคุ้นเคยเป็นอย่างดี อีกประการหนึ่ง สุดากําลังศึกษาวิชาดนตรีอยู่ ณ กรุงปารีส ถึงอย่างไรก็มีลูกดูแลข้าพเจ้าได้

ข้าพเจ้าฝากลลิตา บุตรสาวคนโตที่การพัฒนาสมองช้า และศุขปรีดา ไว้กับมารดาข้าพเจ้า  ส่วนปาลนั้น ยังคงถูกคุมขังที่เรือนจําลหุโทษ

ต้นเดือนเมษายน ข้าพเจ้าพาดุษฎีกับวาณีโดยสารเครื่องบิน 4 เครื่องยนต์ของสายการบิน KLM ไปยังกรุงปารีส เครื่องบินแวะเติมน้ำมันที่เมืองการาจี และค้างที่นั่น 1 คืน จากนั้นตรงไปเมืองอัมสเตอร์ดัมก่อนจะถึงจุดหมายปลายทาง

วันแรก ๆ ข้าพเจ้าพักอยู่ที่โรงแรมเล็ก ๆ ใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดิน Passy ต่อมาย้ายมาอยู่ที่บ้าน Mme Girard ครอบครัวชาวฝรั่งเศสที่สุดาพักอยู่ก่อนแล้ว

ข้าพเจ้าจัดการให้ดุษฎีกับวาณีเรียนภาษาฝรั่งเศสกับ Mme Petitjean–Roget

เดือนกรกฎาคมเป็นช่วงฤดูร้อนในยุโรป ข้าพเจ้าพาลูก ๆ ไปเมือง East Grinstead ประเทศอังกฤษ พักที่บ้านกัปตันเดนนิส (Captain Stratford Dennis) อดีตผู้ช่วยทูตทหารเรืออังกฤษประจําประเทศไทย ท่านผู้นี้มีบทบาทในการช่วยเหลือนายปรีดีให้ลี้ภัยไปสิงคโปร์ เมื่อคราวเกิดรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ภรรยาชาวไทยของกัปตัน คือ คุณชฎา กาญจนะวณิชย์ (ปุ๋ง) คุ้นเคยกับข้าพเจ้ามาช้านาน

พอกลับมาปารีส ข้าพเจ้าได้รับจดหมายฉบับหนึ่งส่งมาจากประเทศโรมาเนีย อีกฉบับหนึ่งจากประเทศสวีเดน ท้ังสองฉบับเป็นลายมือที่ข้าพเจ้าชินตาเป็นอย่างมาก ข้าพเจ้าเปิดซองจดหมายออกอ่านด้วยใจระทึก จดหมายเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า

 

 

ฉบับแรกลงท้ายว่า “P.B.” ย่อมาจาก “Pridi Banomyong” ส่วนฉบับหลังลงท้ายว่า “Félix” แผลงมาจากคําว่า “Félicitation” ในภาษาฝรั่งเศส แปลได้ความว่า “ยินดี ปรีดา” ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นจดหมายของนายปรีดีทั้งสองฉบับ

ในจดหมายบอกให้ข้าพเจ้าและลูกสาวไปประเทศสวีเดน เพื่อติดต่อกับสํานักผู้แทนการทูตจีนที่ประเทศสวีเดน  ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า นายปรีดีต้องการให้จดหมายถึงมือข้าพเจ้าแน่ ๆ จึงส่งมาจากสองประเทศพร้อม ๆ กัน

ข้าพเจ้าจึงเตรียมการเดินทางอีกครั้งหนึ่ง ได้ปรึกษากับหลวงอรรถกิตติกําจร (กลึง พนมยงค์) น้องชายนายปรีดี ซึ่งขณะนั้นลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศฝรั่งเศส หลวงอรรถฯ เคยเป็นอัครราชทูตประจํากรุงสต็อกโฮล์ม และอัครราชทูตประจํากรุงมอสโก สหภาพโซเวียต ได้ให้คําแนะนําที่เป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้า โดยเฉพาะต้องเตรียมเสื้อผ้ากันหนาวให้เพียงพอ เนื่องจากข้าพเจ้าต้องผ่านดินแดนใกล้ขั้วโลกเหนือในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม

ขณะนั้นนายปรีดียังไม่ได้เปิดเผยตัวว่าลี้ภัยการเมืองในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้น แผนการเดินทางของข้าพเจ้าจึงต้องปิดเป็นความลับ ไม่แพร่งพรายให้คนภายนอกรู้

ข้าพเจ้าเลือกวันที่ 13 พฤศจิกายน เป็นวันเดินทางไปกรุงสต็อกโฮล์ม  ที่เลือกวันที่ 13 ก็เพราะชาวยุโรปถือเลข “13” เป็น “unlucky number” คาดว่าคงจะมีผู้คนเดินทางในวันดังกล่าวไม่มากนัก การณ์กลับมิได้เป็นเช่นที่คิดไว้ ผู้โดยสารไม่ได้น้อยไปกว่าวันธรรมดา แถมยังเจออดีตเอกอัครราชทูตสวีเดนประจําประเทศไทยท่านหนึ่ง  ข้าพเจ้าบอกท่านว่า ข้าพเจ้ามาทําฟัน ก็ไม่ทราบว่าจะสมเหตุสมผลหรือไม่ สวีเดนเป็นรัฐสวัสดิการแรก ๆ ในโลก แม้ชาวต่างประเทศก็มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลฟรี

เดิมหลวงอรรถฯ ช่วยจองโรงแรมเล็ก ๆ แห่งหนึ่งให้ รออยู่นานก็ไม่เห็นพนักงานโรงแรมมารับที่สนามบิน อดีตท่านทูตสวีเดนแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อ เชื้อเชิญให้ข้าพเจ้ากับลูกสองคนไปพักที่โรงแรม Grand Hotel ที่ท่านทูตผู้นี้ได้จองไว้ และเป็นโรงแรมแห่งเดียวกันที่ข้าพเจ้ากับนายปรีดีเคยมาพํานักเมื่อ พ.ศ. 2490 คราวเจริญสันถวไมตรีมิตรประเทศ

ข้าพเจ้าเปิดสมุดโทรศัพท์หาที่อยู่ของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจําสวีเดน แล้วตรงไปที่นั่น อากาศหนาวจัด พื้นถนนมันวาววับด้วยน้ําค้างแข็ง ข้าพเจ้าลื่นถลาหกล้ม โชคดีว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก  สถานทูตจีนย้ายจากที่เดิมไปนานแล้ว ข้าพเจ้าถามความจากชาวเมืองในบริเวณนั้นแล้วนั่งแท็กซี่ผ่านเกาะเล็กเกาะน้อยไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ชาวสวีเดนเป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรีกับชาวต่างชาติ

เมื่อพบเอกอัครราชทูตจีนแล้ว ท่านได้แนะให้ข้าพเจ้าย้ายไปพักที่ Hotel Excelsior แล้วนําแบบฟอร์มวีซ่ามาให้ข้าพเจ้ากรอกประวัติเสียยืดยาว

คืนวันที่ 6 ที่อยู่กรุงสต็อกโฮล์ม เจ้าหน้าสถานทูตจีนนําตั๋วเครื่องบินมาให้ กําหนดว่า เช้าวันรุ่งขึ้นเดินทางไปกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

เครื่องบินสายการบิน FINAIR แบบ 2 เครื่องยนต์ ใช้เวลาบินเพียงชั่วโมงเดียวก็ถึงกรุงเฮลซิงกิ เจ้าหน้าที่สถานทูตจีนมารอรับที่สนามบิน และพาไปพบเอกอัครราชทูตจีน  ข้าพเจ้าเคยพบท่านแล้วที่กรุงสต็อกโฮล์ม ท่านมีตําแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจําทั้ง 2 ประเทศ หลายปีต่อมาท่านได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน

ในยุคสงครามเย็น ประเทศฟินแลนด์มีความใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต เป็นประตูแรกสู่ “หลังม่านเหล็ก”

บ่ายวันเดียวกันนั้น สายการบิน AEROFLOT นําข้าพเจ้ากับลูก 2 คน มุ่งสู่เมืองเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) จากนั้นก็บินต่อไปยังกรุงมอสโก ถึงที่นั่นใกล้พลบค่ำ เจ้าหน้าที่สถานทูตจีนมารับที่สนามบิน VNUKOVO และพาไปพักที่โรงแรม Savoy

อากาศในกรุงมอสโกหนาวจัดและลมกรรโชกแรง อุณหภูมิประมาณ -15  ํC เช้าๆ อาจหนาวถึง -20  ํC  เสื้อผ้าที่เตรียมมาไม่พอเพียงที่จะต้านลมหนาวและเกล็ดหิมะที่โปรยปรายลงมา เราหลบเข้าไปในสถานีรถไฟใต้ดิน อาศัยไออุ่นในนั้น ขณะเดียวกันก็ตื่นตาไปกับสถานีรถไฟใต้ดินที่งามตระการตาดังพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์

7 วันในกรุงมอสโก แล้วก็เริ่มการเดินทางไกลบนรถไฟสายยาวที่สุดในโลกจากยุโรปตะวันออกสู่ทวีปเอเซีย

ข้าพเจ้าขยาดเครื่องบินลําเล็กของ AEROFLOT ที่โคลงเคลงไปมาอย่างน่าหวาดเสียว การเดินทางด้วยทางรถไฟน่าจะปลอดภัยกว่า

ในตู้นอนของขบวนรถไฟ อุณหภูมิอบอุ่นจากเครื่องทําความร้อน (heater) ดูต่างกับภูมิประเทศภายนอกที่หิมะขาวโพลน และอากาศหนาวเหน็บของพื้นที่ราบไซบีเรีย

รถไฟแล่นเลียบท้องน้ํากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เป็นมหาสมุทรอาร์กติก ที่แท้แล้วเป็นทะเลสาบ Baikal อุณหภูมิเขตนี้ไม่ต่ำกว่า -30  ํC  แต่น้ําในทะเลสาบมิได้จับตัวเป็นน้ําแข็ง เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าพิศวง

7 วันเต็ม ๆ รถไฟแล่นมาหยุดที่สถานีเล็ก ๆ ชายแดนโซเวียตกับจีน ผู้โดยสารทุกคนต้องฉีดยาป้องกันไข้กาฬโรค เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอธิบายว่า สงครามในคาบสมุทรเกาหลีกําลังสู้รบกันอย่างดุเดือด ทางภาคอีสานของจีนกําลังมีไข้กาฬโรคระบาดจากอาวุธเชื้อโรคที่สหรัฐอเมริกานํามาโปรยทางเครื่องบิน ฉะนั้น ต้องป้องกันไว้ก่อน 

ขณะที่ข้าพเจ้าเขียนบันทึกฉบับนี้ (2544) ทั่วโลกกําลังหวาดผวากับเชื้อแอนแทร็กซ์ (Anthrax) ที่ “ผู้ก่อการร้าย” ใส่ซองจดหมายส่งไปยังสถานที่สําคัญในสหรัฐอเมริกา จนถึงวันนี้ (23 ตุลาคม 2544) มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 3 คน ส่วนเมื่อ 48 ปีก่อน ชาวจีนเป็นจํานวนมาก (จําได้ว่าไม่ต่ํากว่าพันคน) ติดเชื้อกาฬโรคและได้เสียชีวิตด้วยอาวุธชีวภาพชนิดนี้

นายปรีดีมารับข้าพเจ้ากับลูก 2 คน ที่เมืองหม่านโจ๊วหลี่ ด่านแรกของประเทศจีน  4 ปีกว่าเกือบ 5 ปีที่จากกัน หลังขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492  ประสบความล้มเหลว ไม่นึกว่าจะได้พบกันอีกในดินแดนอันไกลโพ้นจากเมืองไทย หวังว่าต่อนี้ไปคงจะไม่พลัดพรากจากกันอีก

รัฐบาลจีนจัดให้ครอบครัวเราพํานักในกรุงปักกิ่ง ให้การต้อนรับอย่างดีในฐานะที่นายปรีดีเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ต่อมานายปรีดีมีปัญหาด้านสุขภาพ ความหนาวไม่เป็นผลดีกับคนเป็นโรคหัวใจ จึงได้ขอย้ายถิ่นพํานักมายังเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ของประเทศจีน ซึ่งมีดินฟ้าอากาศใกล้เคียงกับเมืองไทย

รัฐบาลจีนจัดให้ครอบครัวนายปรีดีมีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย มีแพทย์พยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด มีโอกาสขึ้นเหนือล่องใต้ทัศนาจร และเยี่ยมชมความเจริญก้าวหน้าในการสร้างสรรค์ประเทศจีนอยู่เนือง ๆ

ทั้งหมดนี้ นายปรีดีและครอบครัวรู้สึกซาบซึ้งใจในไมตรีจิต มิตรภาพ และการเอื้อเฟื้อของรัฐบาลจีนและราษฎรจีนเสมอมา

แต่ในยุคนั้นประเทศจีนยังปิดประเทศอยู่ เป็นประเทศ “หลังม่านไม้ไผ่” การติดต่อกับญาติมิตรทางเมืองไทยไม่สะดวก ทางจีนมีกฎเกณฑ์มากมาย ทางรัฐบาลไทยก็มีกฎหมายป้องกันการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์

สุดาสําเร็จการศึกษาวิชาดนตรีจากประเทศฝรั่งเศส แวะมาเยี่ยมนายปรีดีและข้าพเจ้าก่อนกลับกรุงเทพฯ ยังกลับเมืองไทยไม่ได้ เพราะจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทําการจับกุมทุกคนที่เดินทางกลับจากประเทศจีน รวมทั้งสุดาก็มีหมายจับด้วยเช่นกัน ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง... คลาคล่ําไปด้วยนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย

ผู้นําของประเทศจีน โดยเฉพาะประธาน เหมาเจ๋อตุง และนายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล มีความเข้าใจในความรักอิสระของนายปรีดี เมื่อนายปรีดีแสดงความประสงค์จะไปประเทศฝรั่งเศส กระทรวงต่างประเทศจีนก็ได้ออกหนังสือรับรองการเดินทางท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศให้ แทนหนังสือเดินทางไทยที่ขาดอายุไปนานแล้ว

ข้าพเจ้ากับสุดาได้ออกมาอยู่ประเทศฝรั่งเศสก่อน เราพักอยู่ ในอพาร์ตเมนต์ขนาด 30 ตารางเมตร ที่ถนน Emile Dubois เขต 14 ในกรุงปารีส ครั้นเดือนพฤษภาคม 2513 นายปรีดีมาปารีสได้พํานักอยู่ด้วยกัน จนกระทั่งเราได้ซื้อบ้านพักที่ 173 Avenue Aristide Briand เมืองอองโตนี (Antony) ชานกรุงปารีส

ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งความทรงจําหนหลังสําหรับนายปรีดีและข้าพเจ้า เป็นดินแดนแห่งประชาธิปไตย นายปรีดีสามารถดําเนินชีวิตได้ตามความปรารถนา ศึกษาค้นคว้า เขียนบทความ พบปะ นักศึกษาไทยในต่างแดน ญาติมิตรแวะเวียนมาเยี่ยม...เป็นชีวิตที่เรียบง่าย แต่ทรงคุณค่า

หลังเหตุการณ์นักศึกษาประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ในปีถัดมา ราวต้นปี พ.ศ. 2518 ข้าพเจ้าได้กลับเมืองไทยเป็นครั้งแรกในช่วง 17 ปีที่ต้องระหกระเหินในต่างแดน และภายหลังที่นายปรีดีได้ละสังขารไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ข้าพเจ้าไป ๆ มา ๆ ระหว่างปารีส-กรุงเทพฯ จนเมื่อขายบ้านอองโตนีแล้ว ข้าพเจ้าได้กลับมาอยู่บ้านเกิดเมืองนอนเป็นการถาวรในปี 2530 เป็นอันสิ้นสุดชีวิต 34 ปีที่ระหกระเหินจากบ้านเกิดเมืองนอนครั้งที่ 2

 

ที่มา: ปรับแก้เล็กน้อยจากบทความเรื่อง “ระหกระเหินจากบ้านเกิดคร้ังที่ 2” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์, 3 ธันวาคม 2544.