ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ ในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก

20
ธันวาคม
2563

บทความนี้มุ่งจะวิเคราะห์วิวัฒนาการของแนวคิดประชาธิปไตยที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกคือ

1) พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475 ซึ่งตราขึ้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2475

2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 10 ธันวาคม 2475

3) รัฐธรรมนูญแห่ราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2489 ซึ่งตราขึ้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2489

รัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับนี้เกิดขึ้นในสมัยที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีบทบาทสำคัญในคณะราษฎร ในปี 2475 และเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะที่ตราฉบับที่ 3 โดยจะไม่วิเคราะห์ว่า  ท่านปรีดีได้มีบทบาทในการเขียนรัฐธรรมนูญเหล่านี้มากน้อยเพียงใด บริบททางการเมืองในขณะที่เขียนเป็นอย่างไร หรือท่านเองมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง กล่าวคือ จะดูจากตัวบทบัญญัติอย่างเดียว โดยสันนิษฐนว่า ท่านปรีดีมีบทบาทสำคัญในการเขียน

รัฐธรมนูญทั้งสามฉบับนั้น เพราะไม่มีวลาจะสืบสวนเบื้องหน้าเบื้องหลัง หรือเจาะเข้าไปค้นหาความคิดของท่านได้ ประเด็นต่าง ๆ ที่จะนำมาเสนอในเรื่องนี้ มีดังนี้

1. ชื่อรัฐธรรมนูญกับวิวัฒนาการทางความคิดทางการเมืองของไทย

ก่อนอื่นโปรดสังเกตว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกมีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว…” ส่วนฉบับที่ 2 เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม…” จะเห็นได้ว่า ฉบับแรกถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายชนิดเดียวกับพระราชบัญญัติ หรือจะว่ารัฐธรรมนูญคือพระราชบัญญัติชนิดหนึ่งก็ได้ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดแบบคนอังกฤษที่ถือว่า มติหรือการกระทำของรัฐสภา (An Act of Parliament) มีศักดิ์ศรีเหมือนกัน หรืออาจพูดได้ว่า รัฐธรรมนูญมิได้มีความสูงส่งเหนือกฎหมายอื่น เพิ่งมีการยกฐานะรัฐธรมนูญเหนือกฎหมายอื่นแน่ชัดในฉบับที่ 2 มาตรา 61 (ส่วนฉบับที่ 3 มีชื่อต่างกับฉบับที่ 2 ตรงที่ชื่อประเทศซึ่งเปลี่ยนจากสยามป็นไทยตามที่แก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ตั้งแต่ปี 2482)

2. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

พระราชปรารภอันเป็นคำนำในธรรมนูญฉบับแรกมีข้อความว่า “โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร…” แสดงว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงยอมรับที่จะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในช่วงนั้นได้มีการอธิบายกันว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือ Absolute Monarchy มาเป็นแบบมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือ Constitutional Monarchy ซึ่งพระมหากษัตริย์จะมีอำนาจจำกัดอยู่เฉพาะเท่าที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเรียกว่า Limited Monarchy หรือปรมิตาญาสิทธิราชย์ ดังปรากฏในมาตรา 2 ของฉบับที่ 2 และมาตรา 3 ของฉบับที่ 3 (ดูข้อต่อไป)

3. อำนาจอธิปไตยเป็นของใครหรือมาจากใคร

ธรรมนูญฉบับแรกใช้ข้อความว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเบ็นของราษฎรทั้งหลาย” ส่วนฉบับที่ 2 มาตรา 2 และฉบับที่ 3 มาตรา 2 ใช้ข้อความเกือบเหมือนกันว่า

“อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม (ไทย) พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

นับว่าเป็นการเปลี่ยนถ้อยคำที่สำคัญมาก คือ

1) ใช้คำว่าอธิปไตยเป็นครั้งแรก

2) เปลี่ยนจากหลักการที่ว่า “อำนาจสูงสุด (อธิปไตย) เป็นของราษฎรทั้งหลาย” มาเป็น “ย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม” เพราะถ้าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรหรือประชาชน ๆ ก็มีสิทธิและอำนาจมากตลอดเวลา ส่วนคำว่า “ย่อม” และ “มาจาก” ทำให้ความเป็นเจ้าของผู้มีอำนาจสิทธิขาดลดลง โดยเฉพาะพวกที่เป็นนักการเมืองก็มักจะตีความว่า พวกเขาได้รับเลือกตั้ง (แม้บางครั้งได้รับการคัดเลือกโดยผู้มีอำนาจ) มาเป็นผู้แทนราษฎรแล้ว ก็เท่ากับได้รับมอบอำนาจจากประชาชนไปทำการปกครองประเทศแล้ว ประชาชนอย่ามายุ่งเกี่ยวเรียกร้องอะไรนอกสภาอีก

แนวคิดที่ว่า “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน” ทำให้เกิดการปกครองประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน (Representative Democracy) คือ มีตัวแทนไปทำหน้าที่ปกครองประเทศ  ส่วนแนวคิดว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” เป็นหลักที่คิดว่าอำนาจเป็นของปวงชนตลอดเวลา ถือเป็นหลักของประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วม (Participative Democracy) ดังนั้น ธรรมนูญฉบับแรกและฉบับปัจจุบัน (2540) จึงตรงกันในเรื่องการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดีน่าสังเกตว่า ในมาตรา 2 ของฉบับแรก บัญญัติว่า “ให้มีบุคคลและคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ คือ (1) กษัตริย์ (2) สภาผู้แทนราษฎร (3) คณะกรรมการราษฎร (4) ศาล” ซึ่งหมายถึงว่า บุคคลตาม 1-4 จะใช้อำนาจแทนราษฎร และบุคคล 4 พวกนี้ดูไปจะคล้ายกับหลักรัฐธรรมนูญอังกฤษ ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยอยู่ที่พระมหากษัตริย์และสภา (The King in Council) คือ กษัตริย์ สภาขุนนาง และสภาสามัญ (โดยสภาขุนนางมีตุลาการรวมอยู่ด้วย)

4. พระราชฐานะของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์

ธรรมนูญฉบับแรกได้ตราเรื่อง “กษัตริย์” ในหมวด 2 ถึง 5 มาตรา ว่า ทรงเป็นประมุขสูงสุดของประเทศ การสืบมรดกให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้ากษัตริย์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ให้คณะกรรมการราษฎรป็นผู้ใช้สิทธิแทน กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาญาไม่ได้ ให้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย การกระทำใด ๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฏรผู้หนึ่งลงนามตามความยินยอมของคณะราษฎรจึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ (มาตรา 3 ถึง 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 และ 3 มีข้อความที่ละเอียดและใช้ถ้อยคำที่เป็นการถวายพระเกียรติมากขึ้น แต่โดยสาระก็คล้ายกันวนแต่ฉบับที่ 2 มาตรา 11 บัญญัติว่า “พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง” ซึ่งในฉบับที่ 3 และฉบับต่อมาไม่ได้บัญญัติไว้ ข้อความนี้เรียกกันทั่วไปว่า “ห้ามเจ้าเล่นการเมือง” ก็เกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ แม้อาจจะถือว่าขัดต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลซึ่งควรจะมีเท่าเทียมกันตามที่บัญญัติไว้ในมาตราอื่น ถ้าจะห้าม (ตามประเพณี) ก็ควรจะห้ามเฉพาะพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่แทนองค์พระประมุขในหน้าที่ราชการ อย่างในอังกฤษจะถือว่าพระบรมวงศ์ที่อยู่ในทำเนียบ Civil list อยู่เหนือการเมือง ท่านเหล่านี้จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง ดังนั้น จะไม่มีตำแหน่งและยศในราชการอีก หรือกล่าวได้ว่าเป็นการห้ามตามกฎหมายก็ได้

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภานั้น ปรากฏว่า ในฉบับแรกมาตรา 8 ทรงมีเวลาพิจารณาเพียง 7 วัน แต่ฉบับที่ 2 (มาตรา 39) และ 3 (มาตรา 21) ได้เพิ่มเวลาเป็นหนึ่งเดือน ต่างกับรัฐธรรมนูญ 2540 (มาตรา 94) ทรงมีเวลาที่จะทรงพิจารณาได้ถึง 90 วัน

5. อำนาจนิติบัญติอยู่ที่สภาเดียวหรือสองสภา

ธรรมนูญฉบับแรกบัญญัติให้มีสภาเดียว แต่จะมีสมาชิก 2 ประเภทเป็นการชั่วคราว (มาตรา 10) ส่วนฉบับที่สองก็บัญญัติให้มีสภาเดียวแต่ให้มีสมาชิก 2 ประเภททั้งเลือกตั้งและแต่งตั้ง แต่ประเภทแต่งตั้งนั้นต่อไปจะสิ้นสุดลงตามเงื่อนไขในบทเฉพาะกาล (มาตรา 65)

ส่วนฉบับที่ 3 (มาตรา 17) กำหนดให้มีสองสภา คือ มีสภาผู้แทนราษฎรและพฤฒสภา นับเป็นการเปลี่ยนหลักการที่สำคัญ ข้อนี้น่าสังเกต คือ พฤฒสภาตามรัฐธรรมนูญ 2489 มีลักษณะค่อนข้างจะเหมือนกับวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2540 ในสาระสำคัญ คือ มาจากการเลือกตั้งและมีคุณวุฒิเกือบเหมือนกัน แต่รายละเอียดอื่นต่างกัน เช่นมีจำนวน 80 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม มีสิทธิกลั่นกรองกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรในระยะเวลาเพียง 30 วัน (มาตรา 54) อาจขอแก้ไขและอาจถูกสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบได้ (มาตรา 2) มีสิทธิควบคุมรัฐบาลและตั้งกระทู้ (มาตรา 56-57) แต่การลงมติไม่ไว้วางใจให้ทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (มาตรา 69)

6. คณะกรรมการราษฎรเป็นองค์กรพิเศษ

ตามรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้มีองค์กรพิเศษขึ้นเรียกว่า “คณะกรรมการราษฎร” ซึ่งต่อมาได้ยกเลิกไปเมื่อตรารัฐธรรมนูญฉบับที่สองและฉบับต่อ ๆ มาก็ไม่มีอีก ดังนั้น จึงมีอายุงานเพียง 5 เดือน แต่ได้มีการวิจารณ์กันมากว่าคืออะไร มีลักษณะอย่างไร ตามรัฐธรรมนูญฉบับแรก คณะกรรมกรราษฎรมีฐานะพิเศษเป็นเสมือนคณะกรรมการบริหารของสภาผู้แทนราษฎร เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตั้งประธานกรรมการ แล้วประธานเป็นผู้เลือก ส.ส. อีก 14คน มาร่วมเป็นกรรมการเมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วย คณะกรรมการราษฎรนี้ต้องดำเนินกิจการตามนโยบายของสภา และสภามีอำนาจเชิญให้ออกได้ทุกเวลา (มาตรา 3) แต่คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจออกกฎหมายได้เมื่อมีกรณีฉุกเฉินแล้วนำมาให้สภารับรอง

คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจเหนือฝ่ายราชการประจำ แต่มิใช่คณะรัฐมนตรีเพราะยังไม่มีการตั้งคณะรัฐมนตรีมารับผิดชอบอำนาจบริหาร อาจพูดได้ว่า รัฐธรรมนูญมิได้แยกอำนาจบริหารไว้ต่างหากจากสภา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า คล้ายระบบอังกฤษที่หลอมรวมอำนาจนิติบัญญัติและบริหารไว้ที่สภาสามัญและคณะรัฐมนตรี และหลอมอำนาจนิติบัญญัติกับตุลาการไว้ที่สภาขุนนาง โดยมี LORD CHANCELLOR เป็นตัวเชื่อมของทุกสถาบัน คือเป็นคล้ายสมุหราชมณเฑียร ประธานสภาขุนนาง ประธานศาลฎีกา และรัฐมนตรียุติธรรมพร้อมกันไป

ส่วนราชการประจำให้มีเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ ที่รับผิดชอบต่อคณะกรรมการราษฎรในกิจการทั้งปวง โดยจะทำสิ่งฝ่าฝืนต่อคำสั่งหรือระเบียบการของคณะกรรมการราษฎรหรือที่ธรรมนูญไม่อนุญาตไม่ได้ ถือว่าเป็นโมฆะ (มาตรา 31) นอกจากนี้คณะกรรมการราษฎรจะเป็นผู้แนะนำการตั้ง การถอดเสนาบดีต่อกษัตริย์ (มาตรา 35) คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจให้อภัยโทษเมื่อขอพระบรมราชานุญาตแล้ว (มาตรา 30) มีอำนาจเจรจาการเมืองกับต่างประเทศและถวายแนะนำการให้สัตยาบันสัญญาทางพระราชไมตรี (มาตรา 36) รวมทั้งการประกาศสงคราม (มาตรา 37)

จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการราษฎรเป็นการจัดองค์กรปกครองรูปพิเศษ เป็นเสมือนคณะกรรมการบริหารของสภา คือ มีอำนาจทั้งทางนิติบัญญัติและควบคุมการบริหารของรัฐมนตรีโดยไม่มีคณะรัฐมนตรี จึงไม่เหมือนคณะรัฐมนตรีของอังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา หรือฝรั่งเศส หรือรัสเซียภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น ซึ่งอำนาจสูงสุดในทางปฏิบัติอยู่ที่คณะกรรการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนองค์การบริหารที่เป็นทางการของสหภาพโซเวียตในขณะนั้นคือคณะรัฐมนตรีกลับไม่มีอำนาจบริหารที่แท้จริง

7. ความเป็นอิสระของสมาชิสภาผู้แทนราษฎรและความสัมพันธ์กับพรรค

ส.ส. ได้มีเอกสิทธิ์ที่จะอภิปรายหรือลงคะแนนเสียงและจะไม่ถูกจับกุมมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก (มาตรา 24) และมาขยายความมากขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 และ 3

แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 (มาตรา 20) ได้วางหลักสำคัญไว้ 3 อย่าง คือ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวสยาม มิใช่แทนแต่เฉพาะผู้ที่เลือกตั้งตนขึ้นมา ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ”

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 (มาตรา 36) ได้วางหลักเดียวกันนี้สำหรับสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทน ทั้งที่ขณะนั้นได้มีการตั้งพรรคการเมืองแล้วตามที่อนุญาตไว้ในมาตรา 14 จึงนับว่าเป็นปัญหาที่สับสนกันอยู่ว่า ส.ส. ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคจะต้องอยู่ในอาณัติของพรรคอย่างไรบ้าง แม้รัฐธรรมนูญ 2540 จะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นแต่ประเด็นนี้ก็ยังก่อปัญหาอยู่เนือง ๆ

8. ศาลและอำนาจตุลาการ

ในขั้นต้นธรรมนูญฉบับแรกใช้คำว่า “ศาล” อย่างเดียว และมีบัญญัติไว้ในมาตรา 3 มาตราเดียวอย่างสั้น ๆ ว่า “การระงับข้อพิพาทให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานี้” แต่เป็นการให้หลักการสำคัญไว้

ส่วนฉบับที่ 2 เริ่มใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย” (มาตรา 8) และมีรายละเอียดเพิ่มเป็น 3 มาตรา โดยเฉพาะมาตรา 58 บัญญัติว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ท่านว่าเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะซึ่งจะต้องดำเนินตามกฎหมายและในนามพระมหากษัตริย์”

ส่วนฉบับที่ 3 มีการใช้คำว่า อำนาจตุลาการมากขึ้น และมีบทบัญญัติเพิ่มขึ้นเป็น 5 มาตรา ส่วนมาตราหลักคือมาตรา 8 มีข้อความคล้ายมาตรา 58 ของฉบับที่ 2 นอกจากใช้คำว่า “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” และวางระบบบริหารงานบุคคลของศาลขึ้น

ความจริงการใช้คำว่า “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” นี้มิได้หมายความว่าจะให้สถาบันศาลหรือตัวบุคคลมีความสูงส่งเหนือสถาบันราชการอื่นหรือข้าราชการฝ่ายอื่น  แต่หมายถึงว่า ตุลาการจะต้องพิจารณาวินิฉัยอรรถคดีไปตามกฎหมาย ซึ่งได้ทรงลงพระปรมาภิไธยไว้แล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เพื่อให้กฎหมายที่ทรงลงพระนามแล้วมีการนำไปใช้จริง ต่างกับราชการฝ่ายนิติบัญญัติและราชการฝ่ายบริหารที่เป็นฝ่ายเตรียมกฎหมายไปกราบบังคมทูลให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ดังนั้น งานในฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร (บางส่วน) จึงทำไปก่อนมีพระปรมาภิไธย ข้าราชการฝ่ายอื่นก็เป็นข้าราชการของประเทศ อยู่ภายใต้องค์พระประมุขเดียวกันที่ถูกควรจะใช้คำว่ารัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัว (His Majesty) ฝ่ายค้านผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว (Loyal Opposition) ข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัว (King's Civil Servants) ให้มากขึ้น  ในระบอบประชาธิปไตยทุกประเทศ ไม่เคยมีหลักการว่าอำนาจตุลาการสูงส่ง หรือสำคัญกว่าอำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจบริหาร ที่จริงองค์อำนาจสูงสุด คือ ประชาชน

9. การตีความรัฐธรรมนูญ

ธรรมนูญฉบับแรกไม่ได้กล่าวถึงความสูงสุดของรัฐธรรมนูญเหนือกฎหมายอื่น และไม่ได้ตั้งองค์กรเพื่อการตีความ ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ได้กล่าวไว้ในมาตรา 61 ว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ๆ มีข้อความแย้งหรือขัดแก่รัฐธรรมนูญ...เป็นโมฆะ” และมาตรา 62 ให้ “สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งก็เป็นหลักการที่ดี เพราะสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีสภาเดียวย่อมตีความและชี้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ถูกใจประชาชน ถ้าสภาผู้แทนฯ ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเหมือนสภาผู้แทนฯของอังกฤษหรือฝรั่งเศส และถือหลักว่าการกระทำของรัฐสภา (Act of Parliament) คือการตัดสินของประชาชน 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ได้ให้รายละเอียดมากขึ้น คือ มาตรา 86 ให้รัฐสภามีสิทธิเด็ดขาดในการตีความ มาตรา 87 ให้กฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญใช้บังคับมิได้ และมาตรา 88 ว่า ถ้าศาลเห็นว่า กฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญ ให้ส่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ 15 คนตีความ อันเป็นการแยกอำนาจตีความออกเป็น 2 องค์กร

สรุป

จะเห็นได้ว่า ในสมัยที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีบทบาทสำคัญต่อการวางหลักเกณฑ์และมาตรการในการปกครองประเทศนั้น ท่านได้ช่วยทำรัฐธรรมนูญถึง 3 ฉบับ โดยฉบับแรกทำกันโดยรวดเร็วหลังปฏิวัติเพียง 2-3 วัน แต่ก็ได้ให้กรอบระบบการปกครองไว้ครบถ้วน นอกจากกรณีคณะกรรมการราษฎรที่ยังไม่ชัดเจนนัก ส่วนฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้วางหลักเรื่องการมีสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว แต่ในชั้นแรกให้มีสมาชิก 2 ประเภท รัฐธรรมนูญนี้คงเป็นที่ถูกใจของคณะรัฐประหาร 2490 มาก จึงได้นำมาใช้ใหม่ใน พ.ศ. 2495-2500 ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 แม้จะได้มีการเตรียม

การกันมานานและตราขึ้นใช้เมื่อ 9 พฤษภาคม 2489 ก็มีโอกาสได้ใช้จริงสั้นมาก เพราะเกิดวิกฤติการทางการเมืองจากกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อ 9 มิถุนายน 2489 และต่อมาก็ถูกรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490  จึงไม่อาจประเมินคุณค่าของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ได้ อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ชัดว่าเกิดวิวัฒนาการแก่อำนาจอธิปไตยทั้งสามสาขามากขึ้น คือ มีสองสภา มีระบบคณะรัฐมนตรีที่ดีขึ้น ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้น มีพรรคการเมืองได้ มีระบบศาลและการบริหารศาลที่ดีขึ้น

เรียกได้ว่า ในช่วง 14 ปีภายใต้การนำของท่าน ดร.ปรีดี ระบอบรัฐธรรมนูญของไทยได้ก้าวหน้าขึ้นมาก หากไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารมาขัดจังหวะ การเมืองไทยก็คงจะมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพมากกว่านี้ จึงขอสดุดีในคุณงามความดีของท่านมา ณ โอกาสนี้

 

ที่มา: บทความ “รัฐธรรมนูญสามฉบับแรก วิวัฒนาการของแนวคิดประชาธิปไตยสมัย ดร. ปรีดี พนมยงค์” ของศาสตราจารย์ ดร. อมร รักษาสัตย์, ราชบัณฑิต, ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และนายกสมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน ที่เขียนเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2542

จากหนังสือ ผู้กำเนิดรัฐธรรมนูญไทย ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2543), หน้า 1-8.