ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การศึกษา รัฐธรรมนูญ และพื้นฐานประชาธิปไตย

22
ธันวาคม
2563

ครั้งสุดท้ายที่ผมได้มาบรรยายที่ห้องนี้ เมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่แล้วเป็นช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่ผมคงไม่มีวันลืม ในชีวิตของคนแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกันออกไป แต่พวกเราจะโชคดีหรือโชคร้ายก็ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ เพราะว่ารัฐธรรมนูญในช่วงนั้นหรือรัฐธรรมนูญหลังจากช่วงที่เราเกิดนั้นก็จะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเรา

แม้เยอรมนีเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม แต่ประชาชนก็ได้ร่วมมือกันสร้างประเทศขึ้นมาได้ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ในโลกนี้รัฐธรรมนูญมีหลายรูปแบบ นานาชนิดประเภท ขึ้นอยู่กับว่าเราจะแบ่งแยกอย่างไร เราอาจจะศึกษารัฐธรรมนูญในแง่ของประวัติศาสตร์ก็ได้ โดยถือว่ารัฐธรรมนูญก่อนของการปฎิวัติฝรั่งเศสและของสหรัฐอเมริกาว่าเป็นรัฐธรรมนูญสมัยโบราณ และรัฐธรรมนูญสมัยใหม่เป็นรัฐธรรมนูญทั้งหลายนับตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมา

หรือว่าเราจะศึกษารัฐธรรมนูญในแง่ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ อย่างเช่น รัฐธรรมนูญของอังกฤษก็ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีที่ไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว รัฐธรรมนูญของอังกฤษส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็มี เช่น Magna Carta และ Bill of Rights ที่อยู่กันกระจัดกระจาย

อย่างไรก็ดี อาจมีการศึกษารัฐธรรมนูญในแง่เศรษฐกิจก็ได้ ซึ่งอาจารย์ปรีดีจะให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจมาก เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของเราโดยเห็นว่าระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ความคิดของคนก็เป็นเช่นนั้น หากระบบนั้นเป็นศักดินา ความคิดของคนก็เป็นไปตามนั้น

ตอนที่ผมเรียนอยู่เยอรมนี ผมมีโอกาสได้เดินทางไปปารีส ประเทศฝรั่งเศสหลายครั้ง โดยได้มีโอกาสนั่งเฝ้าอาจารย์ปรีดีเวลาท่านทำงาน ท่านจะเป็นคนทำงานอย่างจริงจังทุกวัน ผมก็จะคอยนั่งดูเอกสารบ้าง ตรวจคำผิดบ้าง หรือบางทีก็จะช่วยไปซื้ออุปกรณ์ กระดาษ ดินสอให้กับท่าน ซึ่งท่านก็จะไม่พูดอะไรมาก โดยจะเป็นคนที่ ทีมีลักษณะที่ไม่โอ้อวดอะไรเลย และจะสอนพวกเราเสมอว่า “เราควรจะฟังความเห็นของผู้อื่นให้มาก ๆ ฟังความเห็นของประชาชน อย่าถือแต่ตนเอง เอาตัวเองเป็นหลัก” ความคิดของท่านเป็นไปในทางวิทยาศาสตร์ จึงมีความเห็นว่าการมองโลกที่เป็นภาววิสัย (Objectivity) เป็นสิ่งที่สำคัญ  สมัยก่อนคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าดวงอาทิตย์โคจรรอบโลกเพราะได้รับการสั่งสอนกันว่าเป็นเช่นนั้น แต่ต่อมาปรากฏภายหลังว่าที่แท้จริงโลกต่างหากที่โคจรรอบดวงอาทิตย์

โดยที่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่อยู่ในสงครามเย็นพอดี กอปรกับอาจารย์ปรีดีเพิ่งเดินทางจากประเทศจีนนักศึกษาไทยและผู้คนโดยทั่วไปจึงมีความสนใจเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิสังคมนิยม ลัทธิเสรีนิยม และลัทธิต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ท่านก็เล่าให้ฟังซึ่งทำให้เราทราบว่า บางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์นั้นมิได้เป็นไปอย่างที่เราเข้าใจกัน  ในขณะเดียวกัน ถ้าเราต้องการที่จะต่อสู้ลัทธิคอมมิวนิสต์ เราก็จะต้องศึกษาให้ดีเสียก่อนถึงจะเอาชนะได้ ที่สำคัญท่านจะให้เราอ่านเอกสารจากต้นฉบับเสมอ  ไม่ใช่ฟังจากสิ่งที่เขาบอกเล่าอย่างเลื่อนลอย ท่านเชื่อว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของการต่อสู้ทางชนชั้น ซึ่งท่านจะนำความคิดนี้มาผนวกกับพระพุทธศาสนาที่สอนว่าทุกสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดที่แน่นอนอยู่คงที่ ทุกสิ่งจะต้องเปลี่ยนแปลง  โดยภาพรวมอาจารย์ปรีดีเป็นนักประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่มองประวัติศาสตร์ว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นที่เปลี่ยนแปรไปทุกขณะตามกฎแห่งอนิจจังของสังคม  ส่วนประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น ท่านหมายถึงประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่ประชาธิปไตยในทางการเมืองอย่างเดียว

เมื่อกล่าวถึงรัฐธรรมนูญนั้น จะเห็นได้ว่า เป็นวิชาที่ล้อมรอบด้วยวิชาอื่น ๆ รอบด้านและไม่ใช่เป็นเรื่องกฎหมายอย่างเดียวอย่างที่หลายคนมักจะเข้าใจกัน บางสำนักจะมองว่ากฎหมายธรรมชาติเป็นต้นต่อของรัฐธรรมนูญ บางสำนักกลับมองว่าเป็นเรื่องของเจตน์จำนงของประชาชนเป็นต้น ฉะนั้น ไม่ว่าจะมองรัฐธรรมนูญในแง่มุมใดก็ตาม การศึกษาขั้นพื้นฐานในวิชาต่าง ๆ เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญในทางวิชาการอย่างถ่องแท้นั้น ยังเป็นสิ่งที่ขาดอยู่ในระบบการศึกษาในประเทศไทยอย่างมาก ส่วนในประเทศต่าง ๆ ที่เป็นประชาธิปไตยและมีความเจริญแล้ว การศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญและวิชาข้างเคียงเริ่มต้นตั้งแต่โรงเรียนมัธยมแล้วโดยถือว่าเป็นเรื่องปกติที่มีการบรรจุในหลักสูตรการศึกษา  ดังนั้น ความล้มเหลวด้านการศึกษาส่วนนี้ในประเทศไทยสืบเนื่องมาจากการเน้นการท่องจำ และเป็นการให้เชื่อฟังโดยที่ไม่มีเหตุผล หรือที่เขาเรียกว่า “Blind Obedience” เสียส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ปรีดีรังเกียจและคัดค้านอย่างหนัก  นักศึกษาไทยในยุโรปสามารถคุยกับท่านได้สบาย ๆ มีความเห็นที่เป็นอื่นก็ได้ แต่ต้องมีหตุผลประกอบด้วย เวลาผมไม่เข้าใจท่าน ผมก็จะเรียนให้ท่านทราบตรง ๆ ว่า ผมไม่เข้าใจโดยผมจะสมมุติตัวเองว่าเป็นราษฎรคนหนึ่งซึ่งกำลังอ่านบทความของท่าน ส่วนใหญ่ ท่านก็จะอธิบายให้ผมฟัง แต่ก็มีบางครั้งท่านก็จะแก้ตามข้อเสนอเพื่อทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงรัฐธรรมนูญแล้ว จำเป็นที่จะต้องโยงเรื่องให้เชื่อมโยงกับการปรับปรุงระบบการศึกษา  ลำพังรัฐธรรมนูญอย่างเดียวอาจแก้ปัญหาบ้านเมืองได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น สำหรับระยะยาวนั้น จำเป็นที่จะต้องให้ Civic education หรือการศึกษาเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยควบคู่ไปแก่ประชาชนด้วย ทั้งนี้เพราะองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยที่มองข้ามไม่ได้ คือ ทัศนคติของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย ต่อรัฐธรรมนูญ และต่อหลักนิติธรรม ซึ่งควรจะเริ่มตั้งแต่บัดนี้แล้ว  เมื่อเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่สองใหม่ ๆ มูลนิธิทางการเมืองของเยอรมันต่าง ๆ ไม่ว่ามูลนิธิเหล่านั้นจะสังกัดพรรคการเมืองใดก็ตาม ต่างได้มีส่วนร่วมในการให้การศึกษาเรื่องสิทธิพลเมืองและประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ภายในสิบกว่าปีประเทศเยอรมันสามารถฟื้นตัวจากความหายนะของสงครามได้  ระบบการศึกษาของเยอรมันซึ่งแต่เดิมอิงการสอนแบบอำนาจนิยมก็ได้เปลี่ยนไปมาก ครูในปัจจุบันจะพยายามสอนให้นักเรียนใช้แนวความคิดแบบประชาธิปไตยในการแก้ปัญหามากขึ้น

ย้อนกลับถึงคำพูดของอาจารย์ปรีดี ท่านจะเน้นเสมอว่า ไม่ว่าเราจะอ่านอะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด ให้ดูว่าเป็นหลักฐานชั้นต้นหรือเปล่า สัจจะคืออมตะ

 

ที่มา: เรียบเรียงจากช่วงแรกของคำกล่าวของผู้เขียนในงาน PRIDI talks ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ "การศึกษารัฐธรรมนูญเชิงเปรียบเทียบภายใต้บริบทที่แตกต่างและการปฏิรูปการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ" เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์