ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปฏิบัติการฆาตกรรมทางการเมือง : ทวี ตะเวทีกุล

2
มีนาคม
2564

 

นายทวี ตะเวทีกุล

 

นายทวี ตะเวทีกุล เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยภายในประเทศชั้นผู้ใหญ่ผู้หนึ่งซึ่งได้รับความไว้วางใจและมีความใกล้ชิดกับนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการนับตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อกองกำลังญี่ปุ่นบุกประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 จนกระทั่งขบวนการเสรีไทยได้สลายตัวไปภายหลังวันประกาศสันติภาพ 16 สิงหาคม 2488

ปี 2485-2486 นายทวี ตะเวทีกุล ได้รับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ให้เดินทางไปปฏิบัติงานติดต่อกับโลกภายนอกร่วมกับนายดิเรก ชัยนาม ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ต่อมาเมื่อกลับประเทศไทยแล้วจึงได้ปฏิบัติงานให้ขบวนการเสรีไทยหลายด้าน และภารกิจต่างๆ ก็ลุล่วงไปด้วยดี

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นายทวี ตะเวทีกุล ได้ดำรงตำแหน่งทางราชการที่สำคัญหลายตำแหน่ง คือ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตไทยกรุงโตเกียว, อธิบดีกรมการเมืองตะวันตก กระทรวงการต่างประเทศ และ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ภายหลังสงครามนายทวี ตะเวทีกุลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายทวี บุญยเกตุ และในรัฐบาลของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชต่อเนื่องกันรวมเวลา 5 เดือนเต็ม

นายทวี ตะเวทีกุล เกิดเมื่อพ.ศ. 2451 เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกฝรั่งเศส รุ่นเดียวกับนายวิจิตร ลุลิตานนท์, นายเดือน บุนนาค และนายเสริม วินิจฉัยกุล จากนั้นได้ไปเรียนต่อที่ฮ่องกง แล้วกลับมากลับมาศึกษาวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตเมื่อพ.ศ. 2474

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานโฆษณาการขึ้น (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) นายทวีรับราชการในกองการโฆษณา ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 จึงย้ายไปรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ในตำแหน่งปลัดกรม ชั้น 2 แผนกกฎหมาย แทนรองเสวกตรี ดิเรก ชัยนาม ที่เลื่อนขึ้นรับตำแหน่งปลัดกรม ชั้น 1

ในวันที่ 20 มิถุนายน ปีต่อมา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ขอยืมตัวมาช่วยกิจการมหาวิทยาลัยชั่วคราว เพราะสอบแข่งขันเป็นผู้ช่วยจัดทำตำราได้ (มี 4 คนด้วยกัน คือ ขุนประเสริฐศุภมาตรา (จรูญ จันทรสมบูรณ์), นายเสริม วินิจฉัยกุล, นายวิจิตร ลุลิตานนท์ และ นายทวี ตะเวทีกุล) ปลายปีนั้นนาย ทวี ตะเวทีกุลได้รับบรรจุเข้าทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งนี้ และได้รับทุนของมหาวิทยาลัยไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2479 ได้รับปริญญาดอกเตอร์อังดรัวต์กลับมารับราชการในตำแหน่งเลขานุการโทประจำกระทรวงต่างประเทศในปี 2482 ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวง และได้รับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการร่างกฎหมายในคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย

 

ผู้ร่วมงานชุดแรกในกองโฆษณา (แถวนั่งจากซ้าย) สมประสงค์ หงส์นันทน์, ทวี ตะเวทีกุล, ไพโรจน์ ชัยนาม (แถวยืน) บุญช่วย ศรีชุ่มสิน, บุญล้อม พึ่งสุนทร, ตุ๊ แหลมหลวง, เซื่อง ศิริภัทร์ พ.ศ.2478
ผู้ร่วมงานชุดแรกในกองโฆษณา
(แถวนั่งจากซ้าย) สมประสงค์ หงส์นันทน์, ทวี ตะเวทีกุล, ไพโรจน์ ชัยนาม
(แถวยืน) บุญช่วย ศรีชุ่มสิน, บุญล้อม พึ่งสุนทร, ตุ๊ แหลมหลวง, เซื่อง ศิริภัทร์ พ.ศ. 2478

 

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้ประชุมต่อเนื่องกันมาตั้งแต่คืนวันที่ 7 จนกระทั่งพักการประชุมในตอนเที่ยง นายทวี ตะเวทีกุล ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการเตรียมปริญญาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองด้วย มาคอยพบนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่บ้านของนายปรีดี ถนนสีลม พร้อมด้วยนายปราโมทย์ พึ่งสุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายปรีดี พนมยงค์ เล่าเรื่องการประชุมให้นายทวีและนายปราโมทย์ฟังพอสังเขป นายทวี ตะเวทีกุล กล่าวว่า เวลานี้มีนักศึกษาที่ต้องการจะรบกับญี่ปุ่นและไม่อยากรบ นายปรีดีขอให้คนทั้งสองไปสดับตรับฟังความรู้สึกของประชาชนว่ามีความเห็นอย่างไร และให้ช่วยนัดบุคคลบางคนมาพบที่บ้านตอนค่ำ

การพบกันของบุคคลที่ใกล้ชิดกับนายปรีดีกลุ่มหนึ่งในคืนนั้น ได้ก่อให้เกิดองค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

หลังจากนั้น จอมพล ป. พิบูลสงครามขอให้นายดิเรก ชัยนาม ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียวแต่นายดิเรกปฏิเสธ จนกระทั่งนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แนะนำให้นายดิเรกรับตำแหน่ง เพื่อหาทางติดต่อกับโลกภายนอกให้ทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของประเทศไทย เป็นโอกาสที่จะช่วยยับยั้งมิให้ประเทศไทยต้องอยู่ในฐานะที่ผูกมัดกันญี่ปุ่นมากเกินไป นายปรีดีแนะนำให้เลือกบุคคลที่ไว้วางใจได้ไปร่วมงานด้วย นายดิเรก ชัยนาม จึงยอมรับและเลือกนายทวี ตะเวทีกุล เป็นอัครราชทูตที่ปรึกษา ซึ่งเป็นตำแหน่งรองลงมาจากเอกอัครราชทูต และ นายถนัด คอมันตร์ เป็นเลขานุการโท โดยนายทวีได้เลือกนายกนต์ธีร์ ศุภมงคลไปด้วย คณะของนายดิเรก ชัยนามเดินทางไปญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2485 บุคคลทั้ง 4 ร่วมกันปฏิบัติงานเพื่อชาติตามที่นายปรีดี พนมยงค์มอบหมาย

นายทวี ตะเวทีกุล รับผิดชอบในด้านนโยบายและการบริหารทั่วไปแทนเอกอัครราชทูตประจำกรุงโตเกียว โดยเรื่องทุกเรื่องจะต้องผ่านนายทวีก่อนที่จะเสนอถึงนายดิเรก ชัยนาม ในระหว่างการประชุมนานาชาติแห่งมหาเอเชียบูรพาเมื่อวันที่ 5-14 พฤศจิกายน 2486 นายทวี ตะเวทีกุล ทำหน้าที่อุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัครราชทูตซึ่งเดินทางกลับประเทศไทย และเป็นผู้ต้อนรับคณะผู้แทนจากประเทศไทย ซึ่งมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นหัวหน้า

วันที่ 20 ตุลาคม 2486 นายดิเรก ชัยนาม ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้งจึงเรียกตัวนายทวีกลับกรุงเทพฯ นายทวี ตะเวทีกุลมีหนังสือลงวันที่ 30 กันยายน 2486 ถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม อ้างว่าภรรยาซึ่งเพิ่งคลอดบุตรมีปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงขอพาครอบครัวกลับเมืองไทย ซึ่งจอมพลนายกรัฐมนตรีอนุญาต ต้นเดือนธันวาคม นายทวีจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมการเมืองตะวันตกและอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ควบกัน 2 ตำแหน่ง

ปีต่อมา นายทวี ตะเวทีกุลเป็นเสรีไทยชั้นหัวหน้า มีภารกิจในการคัดเลือกบุคลากรเพื่อปฏิบัติงานใต้ดิน ซึ่งส่วนใหญ่นักศึกษาและบัณฑิตของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตลอดจนการส่งคนเหล่านี้ไปรับการฝึกวิชาทหารที่อินเดีย และเมื่อนายทหารสัมพันธมิตรเล็ดลอดเข้ามาปฏิบัติงานประจำอยู่ในกรุงเทพฯ นายทวีก็เป็นผู้ดูแล และ ประสานงาน

บรรดาบุคลากรที่ปฏิบัติงานเสรีไทยใกล้ชิดหรืออยู่ในสายงานของนายทวี ตะเวทีกุลมีจำนวนมาก อาทิ นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล, นายบุณย์ เจริญไชย, นายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์, นายเศวต โกมลภูติ, นายสมหมาย วิสุทธิธรรม, นายโสภณ ชื่นชุ่ม, นายลักขี วาสิกศิริ, นายแผน วรรณเมธี, นายบรรจบ ศิริผล, นายขจิต ศิริผล, นายประสิทธิพรหมสาขา ณ สกลนคร, นายสว่าง เจริญชัย, นายสมพงษ์ ถวิลหวัง, นายโอปอ บุรารักษ์, นายภักดี พ่วงสุวรรณ, นายทวีศักดิ์ ปลุกสวัสดิ์, นายกัมพล กฤษณามระ, นายสุทิน เหล่าไพโรจน์, นายธวัชชัย โปร่งจิตต์, นายเดือน บุนนาค, นายอุทัย ทองภักดี, นายเกษม สุทชาติวิน, นายสิน สาลิคุปต์, นายสวิน ศีลปี, นายพินิต ปทุมรส, นายวิเชียร จีรวงส์, ม.ร.ว.เศรณีพรหม กมลาสน์, นายอุทิม ฉายแสงจันทร์, นายเสนอ ผิวนวล, นายสนม ผิวนวล และ นายสนั่น ผิวนวล เป็นต้น.

ภายหลังวันสันติภาพ นายทวี บุณยเกตุ หัวหน้าฝ่ายพลพรรคเสรีไทย ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2488 นายทวี ตะเวทีกุลได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี สองวันต่อมานายทวีร่วมกับผู้แทนทางทหารของรัฐบาลไทยซึ่งมี พล.ท.ศักดิ์ เสนาณรงค์ (หลวงเสนาณรงค์) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าเดินทางไปเมืองแคนดีเพื่อเจรจากับอังกฤษ

 

(ซ้าย) ทวี ตะเวทีกุล (ขวาสุด) ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์
(ซ้าย) ทวี ตะเวทีกุล (ขวาสุด) ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์

 

ต่อมาเมื่อม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายทวี บุณยเกตุ นายทวี ตะเวทีกุลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการคลัง จึงลาออกจากราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ช่วงนั้นนายทวีเป็นคณะกรรมการร่วมมือกับสหประชาชาติ (ส.ร.ส.) ประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตร และเป็นผู้เจรจาขอซื้อสิ่งของต่างๆ ที่ไทยขาดแคลนจากประเทศสัมพันธมิตร

เมื่อพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว นายทวี ตะเวทีกุลร่วมกับนายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ และ ดร.เดือน บุนนาค ตั้งบริษัทยูไนเต็ด ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ทำธุรกิจนำเข้าและส่งออก แต่ทำได้เพียงแค่สั่งตะเกียงอาลาดินเข้ามาขายเท่านั้น

ต่อมาจึงได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารเอเชีย ภายหลังสงครามในวันที่ 27 พฤษภาคม 2490 นายทวีกับมิตรสหายร่วมกันจัดตั้งบริษัทโพสต์พับลิชชิง จำกัด ออกหนังสือพิมพ์ “บางกอกโพสต์รายวัน” และได้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวัน “ประชากร” ออกมาอีกฉบับหนึ่งด้วย นายทวี ตะเวทีกุลใช้ชีวิตในวงการธุรกิจเรื่อยมาจนเกิดเหตุการณ์นองเลือดทางการเมืองขึ้นเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2492 ซึ่งเรียกกันว่า “กบฏวังหลวง”

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีอดีตเสรีไทยจำนวนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย หลายคนถูกจับกุม บางคนต้องลี้ภัยไปพำนักในต่างประเทศ และอีกจำนวนหนึ่งต้องสูญเสียชีวิต สำหรับอดีตเสรีไทยที่เสียชีวิตได้แก่ พ.ต.โผน อินทรทัต, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง, นายทองเปลว ชลภูมิ และ นายทวี ตะเวทีกุล ฯลฯ

นายทวี ตะเวทีกุล เป็นคนหนึ่งที่ทางตำรวจออกหมายจับ ได้หลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม กับเพื่อนจำนวนหนึ่งเพื่อลงเรือไปสิงคโปร์ ในวันที่ 31 มีนาคมต่อเนื่องกับวันที่ 1 เมษายน 2492 คณะของนายทวี ถูกตำรวจจู่โจม เพราะมีญาติของเพื่อนนายทวีไปแจ้งความว่า มีผู้ก่อการกบฏหนีมาซ่อนตัวอยู่ที่บ้าน ขณะที่นายทวีกระโดดขึ้นแพลูกบวบเพื่อลงเรือในคลองฝรั่งซึ่งไหลไปสู่แม่น้ำแม่กลอง ก็ถูกสิบโททองม้วน คงถาวร ยิงเข้าที่คอและหน้าอก ล้มคว่ำใช้ผ้าขาวม้าซับเลือดที่คอ สิบโททองม้วนยิงซ้ำอีกสองนัดนายทวีก็สิ้นใจ สิบโททองม้วนยิงต่อไปจนหมดกระสุน

ขณะที่เสียชีวิต นายทวี ตะเวทีกุลมีอายุเพียง 40 ปีเศษ

อีก 18 ปีต่อมา ศพของนายทวี ตะเวทีกุลจึงได้รับการฌาปนกิจที่สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2510

คำไว้อาลัย: ดร.เดือน บุนนาค

 

คำไว้อาลัย: ดร.เดือน บุนนาค

 

ทวี เพื่อนรัก

ทวีเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ห้องเดียวกับข้าพเจ้า ผู้ที่เรียนห้องเดียวกันได้เป็นคุณหลวงหนึ่งท่าน เนติบัณฑิตไทยสองท่าน ดอกเตอร์อังดรัวห้าท่าน และรัฐมนตรีสามท่าน ทวีนั้นได้เนติบัณฑิตไทย ดอกเตอร์อังดรัว และเคยเป็นรัฐมนตรีด้วยจึงถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ดีคนหนึ่งของเมืองไทย

ทวีเป็นเสรีไทยที่ติดต่อกับฝรั่งที่เข้ามาเมืองไทยในเวลาสงคราม จึงต้องเสี่ยงไม่ให้ญี่ปุ่นจับได้ ทวีจึงทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติมาก ทวีมีหัวการค้าจึงได้ละการเมืองมาเล่นการค้า แต่การเมืองก็ไม่ยอมทิ้งทวี ทวีจึงต้องเสียชีวิตเพราะปลีกตัวจะให้หลุดพ้นจากการเมืองไม่ได้

ทวีสร้างตัวขึ้นมาได้ด้วยการงานสุจริต เมื่อสิ้นชีวิตจึงไม่ค่อยจะมีอะไรเหลือให้แก่ครอบครัว แต่จะอย่างไรคุณงามความดีของทวีก็ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ที่รู้จักทวี ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงยังระลึกถึงทวีอยู่เสมอ และเชื่อว่าทวีจะประสบสุขในสัมปรายภพอย่างแน่แท้.

ดร.เดือน บุนนาค
อดีตรองนายกรัฐมนตรี
22 พ.ย. 2510


คำไว้อาลัย: ดร.เสริม วินิจฉัยกุล

 

คำไว้อาลัย: ดร.เสริม วินิจฉัยกุล

 

"คำไว้อาลัย"

ข้าพเจ้าได้รู้จักคุณทวี ตะเวทีกุล มาเป็นเวลาช้านาน ตั้งแต่สมัยที่ได้ร่วมอยู่ในโรงเรียนปฐมวัยจนกระทั่งได้จบการศึกษา จากประเทศฝรั่งเศส คุณทวีฯ เป็นผู้ที่รักวิชาการ ชอบทางกีฬาและดนตรี และในขณะที่อยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้เป็นกำลังอบรมสั่งสอนนักศึกษาให้รักวิชาการ ตลอดจนการกีฬาและการรื่นเริงด้วย ซึ่งย่อมจะอยู่ในความทรงจำของนักศึกษาในสมัยนั้น

มรณกรรมของคุณทวี ตะเวทีกุล ย่อมนำความเศร้าสลดมาสู่มิตรสหาย และญาติทั้งปวง มิตรดีได้จากไปแล้วอีกผู้หนึ่ง ขอให้ดวงวิญญาณของคุณทวีฯ จงได้ประสบสุขในสัมปรายภพนั้นเทอญ.

ดร.เสริม วินิจฉัยกุล
ร้ฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
22 พ.ย. 10


คำไว้อาลัย: ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์



คำไว้อาลัย: ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์

 

"คำไว้อาลัย"

“ช่วยด้วยสิทธิ์” นี่เป็นคำสุดท้ายที่ข้าพเจ้าได้ยินจากอาจารย์ทวี ขณะที่หลบหนีภัยการเมืองด้วยกัน อาจารย์ทวี หรือ พี่วี ซึ่งให้ความเป็นเพื่อนสนิทสนมอย่างญาติ ตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนที่ ร.ร. อัสสัมชัญ ข้าพเจ้ามีโอกาสรู้จักสนิทสนมเพราะเป็นรุ่นน้องพี่วิจิตร์ และ พี่เนตร์ ผู้พี่ชายจะมีเพื่อนกี่คนข้าพเจ้ามีโอกาสรู้จักด้วยเสมอ เพราะสมัยนั้นนักเรียนยังไม่สู้มากเช่นทุกวันนี้ พอมองเห็นหน้าจำกันได้ง่าย

ข้าพเจ้าคิดว่าเล่นกับผู้ใหญ่ดีกว่าเขาไม่รังแกเรา ถึงแม้เตะก้นบ้างก็เป็นการสัพยอกอย่างรักใคร่เอ็นดูและช่วยปกป้องมิให้ใครมารังแกได้ สัญชาตญาณอันนี้ ข้าพเจ้าได้รับมาตามธรรมชาติ เมื่อพี่วีร้องให้ข้าพเจ้าช่วย ข้าพเจ้ามานึกว่า ตนเองควรจะถูก รังแกเหมาะกว่า เพราะข้าพเจ้าเป็นเด็ก และไม่มีประโยชน์ต่อบ้านเมืองมากนัก แต่การณ์กลับตรงกันข้ามผู้ที่มีความรอบรู้ อัธยาศัย และอารมณ์ดีพร้อมทุกอย่างก็ต้องสูญเสียชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย

ข้าพเจ้าเห็นเลือดพุ่งอย่างกับน้ำพุจากคอพี่วี ข้าพเจ้าขนลุกเกรียว เขยิบจะเข้าช่วยก็พอได้ยินเสียงขู่สำทับว่า “มึงอยากตายอีกคนรึ” ข้าพเจ้าต้องนั่งตัวเย็น เพราะปืนคารไบน์กระบอกเดียวกันนั้น จ่ออยู่ที่ขมับข้าพเจ้าเย็นเยือก ข้าพเจ้ามาทราบที่หลังว่ากระสุนหมด และร่างพี่วีพรุนไปทั่วตัวเพราะลูกปืนคาร์ไบน์รัวไปทั้งตับ พอดีตำรวจที่ดีนอกเครื่องแบบมาถึง จึงดึงข้าพเจ้าให้พ้นจากห้วงมรณะรอดมาได้ ผู้ที่มีความรู้สติปัญญาพร้อม ต้องดับอยู่บนแพลูกบวบ ตัวข้าพเจ้าถูกส่งเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อดำเนินคดีถึงที่สุด และมีชีวิตรอดมาได้อยู่ จนบัดนี้ พอที่จะได้ช่วยทำการฌาปนกิจศพให้อาจารย์ทวี หรือ พี่วีที่เคารพยิ่งของข้าพเจ้าได้ในวันนี้.

ขอวิญญาณพี่วี ที่เคารพรักของข้าพเจ้า ขอได้ไปสู่สุคติในสัมปรายภพตามวิถีทางอันราบเรียบเทอญ.

ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์
3/2 ซอยอาลาดิน
บางเขน ถนนพหลโยธิน

 

ที่มา: วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. “นายทวี ตะเวทิกุล” ใน “ตำนานเสรีไทย”, (กรุงเทพฯ: ยูโรปา เพรส, 2546), หน้า 708-712

คำไว้อาลัยจาก “หนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพดร.ทวี ตะเวทีกุล” ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2510

หมายเหตุ: ตั้งชื่อเรื่อง จัดรูปแบบประโยคโดยบรรณาธิการ