1 เมษายน 2476 เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยในยุคสมัยนั้น แต่ ณ ห้วงเวลานั้น ได้เกิดการรัฐประหารครั้งแรกในภายใต้ระบอบใหม่ นำโดยนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นการรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง ที่เรียกกันว่า "รัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา"
“พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” ประกาศยึดอำนาจโดยใช้พระราชกฤษฎีกา ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และ งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งมูลเหตุแห่งการรัฐประหารครั้งนี้มาจากการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) โดย “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม”
ณ เวลานั้น เกิดความคิดเห็นที่ต่างกันระหว่าง “กลุ่มคณะราษฎร นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” และ “กลุ่มศักดินา นำโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” แต่แล้วฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯ มีอันต้องพ่ายแพ้ไป เนื่องจากเป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หลวงประดิษฐ์ฯ ได้แถลงต่อที่ประชุมว่า เมื่อตัวเองเป็นเสียงข้างน้อยจึงขอลาออกจากตำแหน่งคณะรัฐมนตรีตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยจะนำเค้าโครงการเศรษฐกิจเสนอต่อราษฎรในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 และ หลวงประดิษฐ์ฯ ก็จะลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย
ฟากฝ่ายพระยามโนฯ จึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) โดยให้ลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาทำการปิดสภาผู้แทนราษฎร และ งดใช้ธรรมนูญบางมาตรา นอกจากนั้นรัฐบาลพระยามโนฯ ยังได้ตรา “พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ 2476” ขึ้น และออกแถลงการณ์โจมตีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมซึ่งเป็นผู้เขียน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” โดยกล่าวหาว่า “หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์”
เหตุการณ์ ณ เวลานั้น ทำให้หลวงประดิษฐ์ฯ มีอันต้องเดินทางเพื่อลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศส ซึ่งระหว่างที่หลวงประดิษฐ์ฯ อาศัยอยู่ในต่างประเทศนั้น ฝ่ายศักดินา ขุนนาง ได้ทำการตีพิมพ์ “สมุดปกขาว” (พระบรมราชวินิจฉัย รัชกาลที่ 7 ) ซึ่งเนื้อหาใน “สมุดปกขาว” เป็นการโจมตี และ โต้แย้ง “สมุดปกเหลือง” แทบทั้งสิ้น
ถัดจากนั้นราว 2 เดือน ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 “พระยาพหลพลพยุหเสนา” ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยยึดอำนาจเพื่อเรียกคืน “ประชาธิปไตย” ที่ถูกลิดรอนไปคืนกลับสู่ราษฎรไทย และ ได้ทำการเชื้อเชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมให้เดินทางกลับสู่สยามประเทศ เพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง
ก่อนที่จะรับตำแหน่งทางการเมือง รัฐสภาได้ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการและผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ 2 ท่าน เพื่อทำการสอบสวนหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเกี่ยวกับคำครหา ดังที่รัฐบาลพระยามโนฯ กล่าวอ้างหรือไม่ ต่อมาภายหลังเมื่อสิ้นสุดการสอบสวน ในที่ประชุมรับรองว่า “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ไม่มีมลทิน ดังที่ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น”
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นมูลเหตุที่ก่อให้เกิดการรัฐประหารขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเรียกได้ว่า เป็นการร่วมมืออย่างมีชั้นเชิงระหว่างอำนาจและอำนาจ เพื่อป้ายสีความไม่เป็นธรรมให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ความเป็นธรรมย่อมก่อเกิดเสมอ
ต่อมาภายหลังเมื่อพระยาพหลฯ ได้ยึดอำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ปวงชนชาวสยาม จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการทวงคืนความเป็นธรรมให้นายปรีดี ซึ่งเอกสารที่ได้นำมาเผยแพร่ต่อไปนี้ เป็นบันทึกการประชุมในการสอบสวนว่า “หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่?” โดยเนื้อหาได้มีการสอบถาม ตั้งคำถาม และมีถ้อยแถลงของนายปรีดี และ คณะกรรมาธิการอย่างชัดเจน
กองบรรณาธิการ
สถาบันปรีดี พนมยงค์
(สำเนา)
รายงาน
คณะกรรมาธิการสอบสวนว่า
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่?
1. คณะกรรมาธิการ เลือกตั้งหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณเป็นประธาน และพระยานลราชสุวัจน์ เป็นเลขาธิการ
2. ตามมติของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ข้อที่จะพึงพิจารณา คือว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม สมาชิกประเภทที่ 2 และรัฐมนตรีที่ต้องคำกล่าวหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์ในสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ปิดสภาผู้แทนราษฎรนั้น ว่ามีมลทินจริงดังนั้นหรือไม่
3. โดยที่คำกล่าวหาที่ว่านั้น เป็นคำกล่าวหาทั่วไปในทางการเมืองและมิใช่ข้อหาในทางตุลาการ และโดยที่ประเด็นซึ่งตั้งมานั้นมีอยู่ว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ และมิใช่ว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ มีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่
คณะกรรมาธิการจึงตกลงว่า ข้อที่จะพึงพิจารณาก็คือ คอมมิวนิสต์มีลักษณะฉะเพาะอย่างไรบ้าง และหลวงประดิษฐ์ฯ มีความเห็นทางการเมืองเนื่องในลักษณะนั้นๆ อย่างไรบ้าง แล้ววินิจฉัยว่า หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่
4. คณะกรรมาธิการขอให้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 คือ เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ และนาย ร. กียอง ทำบันทึกร่วมกัน เพื่อวางบทวิเคราะห์ฉะเพาะของคอมมิวนิสต์ โดยอาศัยกำหนดการของคณะคอมมิวนิสต์ต่างๆ มีอาทิ คือ กำหนดการคณะคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ และ กำหนดการคณะคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสนั้นด้วย
5. เมื่อได้รับกำหนดการต่างๆ นี้มาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ได้ทำบันทึกร่วมกันขึ้นฉะบับหนึ่ง เพื่อวางบทวิเคราะห์ลักษณะฉะเพาะของคอมมิวนิสต์ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งเห็นพ้องต้องกันโดยอาศัยหลักที่ว่าอะไรที่มีอยู่ฉะเพาะแต่ในกำหนดการคอมมิวนิสต์เท่านั้น และ กำหนดการของคณะพรรคการเมืองอื่นๆ ไซร้ จึงจะเป็นส่วนคอมมิวนิสต์โดยไม่เป็นปัญหา ส่วนลักษณะซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้ง 6 ไม่เห็นพ้องกันนั้น ได้ทำเป็นบันทึกเพิ่มเดิมมาแต่ละคน
6. คณะกรรมาธิการได้ให้โอกาสแก่หลวงประดิษฐ์ฯ ในอันที่จะตั้งข้อสังเกตเนื่องในบันทึกร่วมกันนั้น เนื่องจากข้อสังเกตของหลวงประดิษฐ์ฯ ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ได้แก้ไขบันทึกร่วมกันนั้นบางประการ
7. เมื่อได้ทำความตกลงกันในบรรดาลักษณะฉะเพาะของคอมมิวนิสต์ดังนี้แล้ว คณะกรรมาธิการได้ขอให้หลวงประดิษฐ์ฯ แสดงความเห็นทางการเมืองในลักษณะเหล่านั้นเป็นข้อๆ ไป
8. หลวงประดิษฐ์ ได้แสดงความเห็นเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้
9. ลักษณะการเมือง
(1) การตั้งรัฐบาลโซเวียต (คณะกรรมการ คนงาน ชาวนา และทหาร)
To establish a Government by Soviets (Councils of the workmen, peasants and soldiers)
หลวงประดิษฐ์ฯ : ข้าพเจ้าไม่คิดจะตั้งรัฐบาลโซเวียตเลย เพราะว่ามีเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้าพเจ้าได้มีส่วนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม และมีส่วนในการออกกฎเลือกตั้ง ทั้งนี้เป็นหลักพยานให้เห็นว่า ข้าพเจ้าเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญและรัฐสภาอยู่แล้ว
เซอร์รอเบอร์ตฯ : หลวงประดิษฐ์ฯ คิดจะแก้หลักการอันเป็นสาระสำคัญในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉะบับที่ใช้อยู่ ณ บัดนี้หรือไม่?
หลวงประดิษฐ์ฯ : ตั้งใจจะรักษาหลักสาระสำคัญนั้นๆ ไว้ จะมีการแก้ไขบ้างก็เช่นว่าการเลือกตั้ง 2 ขั้นนั้น คิดว่าต่อไปจะแก้ไขให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยตรงทีเดียว และการแก้ไขต่างๆ นั้น ก็จะได้แก้โดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ และไม่คิดจะใช้วิธีปกครองโดยโซเวียตเลย
10. ลักษณะการคลัง
(1) การริบเอาธนาคารเอกชนมาเป็นของประเทศชาติ และโอนทองคำสำรอง หลักทรัพย์ เงินฝาก ฯลฯ ทั้งหมดที่มีอยู่ในธนาคารนั้นๆ มาเป็นของรัฐ
To nationalize by confiscation private Banks and to transfer to the State all gold reserve, securities, deposits, etc., found therein.
หลวงประดิษฐ์ฯ : ไม่มีความคิดเลยที่จะริบเอาธนาคารเอกชนมาเป็นของชาติ และโอนทองคำสำรอง หลักทรัพย์ เงินฝาก ฯลฯ ทั้งหมดที่มีอยู่ในธนาคารนั้นๆ มาเป็นของรัฐ เพราะว่าเลื่อมใสในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเอกชนที่จะเป็นเจ้าของ
11.
(2) การเพิกถอนและปฏิเสธหนี้สินต่อนายทุนต่างประเทศและในประเทศ
To cancel and repudiate the debts to foreign and home capitalists
หลวงประดิษฐ์ฯ : ยิ่งการเพิกถอนหรือปฏิเสธหนี้สินต่อนายทุนในประเทศและนอกประเทศแล้ว ยิ่งไม่มีความคิดที่จะกระทำเช่นนั้นเลย เพราะมีความประสงค์จะรักษาสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศไว้ให้มั่นคงเมื่อข้าพเจ้าร่างคำแถลงการณ์ของรัฐบาลพระยามโนฯ ก็ได้บรรจุข้อความเช่นนี้ไว้ในคำแถลงการณ์นั้นเหมือนกัน ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะปฏิเสธหนี้สินทั้งภายในและภายนอกประเทศเลย
12. ลักษณะการชุมชน
(1) การใช้กำลังบังคับเลิกล้มระเบียบการชุมชน ซึ่งอยู่ตามประเพณีทั้งหมด เพื่อเป็นทางเดียว ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์คอมมิวนิสต์
To overthrow forcibly the whole of the existing traditional social order, as the only means of realizing communist aims.
หลวงประดิษฐ์ฯ : คำว่า “ระเบียบการชุมชน ซึ่งมีอยู่ตามประเพณี” นั้น ขอซ้อมความเข้าใจในความหมายเสียก่อน หมายความถึงการครอบครัว...ฉะนี้ไม่ใช่หรือ?
เซอร์รอเบอร์ตฯ : หมายความถึงการครอบครัว การปกครอง การแบ่งชั้น และโครงร่างของชุมชนทั้งมวล แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า จะกระทำการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ให้ตั้ง 1 กันใหม่แล้วหรือจะเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างตั้ง 1 กันใหม่แล้ว จึงจะเป็นลักษณะส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสต์
หลวงประดิษฐ์ฯ : ไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นการนับ 1 ใหม่เลย ในการปกครองข้าพเจ้าเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้วข้างต้น ในการครอบครัว ข้าพเจ้าก็ได้มีส่วนร่างประมวลกฎหมายแพ่งในเรื่องนี้ และความเห็นของข้าพเจ้าเรื่องนี้ก็เป็นไปในทางรักษาประเพณีของไทย ในทางอื่นๆ ก็เหมือนกัน หลักประเพณีอันใดที่เหมาะสมแก่สมัยก็ตั้งใจจะรักษาไว้ ส่วนข้อที่จะแก้ไขก็จะได้แก้ไขตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ส่วนการเปลี่ยนแปลงเป็นการนับ 1 ใหม่นั้น เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ ในเรื่องสงครามระหว่างชนชั้น ได้พยายามชี้แจงให้คนต่างๆ เข้าใจว่าไม่เป็นการบังควร เพราะจะเป็นการทำให้นองเลือดเปล่าๆ
13.
(2) การกระทำสงครามเนืองนิตย์ในความบงการของพวกชนกรรมาชีพ เพื่อทำลายกำลังและประเพณีต่างๆ ของชุมชนอย่างเก่าและทำลายพวกกระฎุมพี[1] ที่อาจโผล่ขึ้นมาใหม่
Under the dictatorship of the proletariat, to wage perpetual war against the forces and traditions of the old society and against any upshoots of new bourgeoisie that may appear.
หลวงประดิษฐ์ฯ : ดิกเตเตอร์ชิบหรือลัทธิบงการแผ่นดิน ข้าพเจ้าไม่ชอบเลย ที่ไม่ชอบนั้นไม่ใช่ฉะเพาะแต่การที่จะให้คนจนเข้าถืออำนาจบงการเท่านั้น ถึงแม้ว่าคนชั้นอื่นจะเข้ายึดอำนาจบงการแผ่นดินก็ไม่เห็นชอบด้วยเหมือนกัน
14.
(3) การเลิกมรดก To abolish inheritance
หลวงประดิษฐ์ฯ : ข้าพเจ้าไม่มีความคิดที่จะเลิกมรดกเลย นายกียอง ย่อมทราบอยู่ว่า ในการร่างประมวลกฎหมายแพ่ง ข้าพเจ้าเคยสนับสนุนให้มีประมวลมรดกอยู่ด้วย
15. ลักษณะการโภคกิจ
(1) การริบโดยไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งกิจการเอกชน (นายทุน) ใหญ่ๆ ทั้งหมด เช่น โรงงาน การงาน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า รถไฟ การขนส่ง การคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ที่ดินใหญ่ ๆ เครื่องจักร ฯลฯ
To confiscate without indemnity all large private (capitalist) undertakings such as factories, works, mines, electric power stations, railways, transports, communications, large landed estate, machinery, etc
หลวงประดิษฐ์ฯ : ข้าพเจ้าไม่มีความคิดเช่นนี้เลย มีเหตุผลเหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าด้วยลักษณะการคลัง ข้าพเจ้ายืนยันว่ามีความเลื่อมใสในทรัพย์สินเอกชน
16.
(2) การโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ดิน ซึ่งได้ริบมานั้นให้แก่ชาวนา
To transfer landed estates so confiscated to peasants.
(3) ต่อจากนั้น ห้ามมิให้ซื้อขายที่ดินที่ได้โอนมานั้น
To forbid afterwards any sale and purchase of land so transferred.
(4) ริบอสังหาริมทรัพย์บ้านเรือนใหญ่ๆ และย้ายคนงานและคนจน ไปอยู่ในบ้านเรือนและถิ่นที่อยู่ของเศรษฐีหรือกระฎุมพี
To confiscate big house property and to remove workers and poor people to rich or bourgeois dwellings and residences.
(5) การบรรเทาภาระหนี้สินของชาวนาที่จนโดยเลิกร้าง การจำนองเสียสิ้น (กำหนดการมอสโคว์ หน้า 27, กำหนดการฝรั่งเศส หน้า 19)
To relieve peasants who are poor of their burden of debt by the annulment of all mortgages. (Progr. Moscow p.27 : French programme p.19)
หลวงประดิษฐ์ฯ : คำตอบสำหรับลักษณะการโภคกิจ (2), (3), (4) และ (5) ก็เช่นเดียวกัน เพราะเป็นลักษณะเนื่องมาจาก (1)
17.
(6) การรวมรีปัปลิคในท้องที่เข้ากับรรดารีปับลิคโซเวียตอื่นๆ เพื่อให้เป็นสหปาลีสากล เพื่อรวมบรรดาคนงานทั้งหลายให้เป็นอันดับหนึ่งอันเดียวกันในทางโภคกิจโดยให้อยู่ในระเบียบการโภคกิจโซชลิสต์สากลอันเดียวกัน (กำหนดการมอสโคว์ หน้า 48)
To unite the local soviet republic to all other soviet republics in a world union in order to realize the economic unity of the toilers in a single world socialist economic system. (Progr, Moscow p.48)
หลวงประดิษฐ์ฯ : ข้าพเจ้าไม่มีความคิดเช่นนี้เลย ข้าพเจ้าไม่คิดที่จะตั้งรัฐบาลโซเวียตหรือให้รัฐบาลสยามเข้าร่วมสหปาลีกับสหปาลีโซเวียตเลย
18.
ส่วนข้อที่ผู้เชี่ยวชาญไม่เห็นพ้องกันนั้น เกี่ยวด้วยเรื่องศาสนากับครอบครัว และเรื่องงาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนได้ทำบันทึกเพิ่มเติมมา
19.
คณะกรรมาธิการเปิดโอกาสให้หลวงประดิษฐ์ฯ แสดงความเห็นในเรื่องศาสนาและครอบครัวนี้ได้
หลวงประดิษฐ์ฯ : ในเรื่องครอบครัวนั้น ข้าพเจ้าได้แสดงความเห็นไว้แล้วข้างต้น ในเรื่องศาสนานั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าจำต้องมีศาสนาแต่ใครจะนับถือศาสนาอย่างไรก็ได้ ทุกคนพึงมีศาสนา แต่เมื่อมีศาสนาอยู่แล้วก็ดีแล้ว ข้าพเจ้าไม่คิดที่จะล้างล้มศาสนาเลย
20.
ในเรื่องงานนั้น เซอร์ รอเบอร์ต เห็นว่า อาจจะอธิบายนโยบายคอมมิวนิสต์ได้ดั่งนี้ คือ การใช้หลักที่ว่า “ผู้ใดไม่ทำงาน ก็ไม่ให้กิน” แก่พวกกระฎุมพีขี้คร้าน โดยไม่มีความปรานีเลย และโดยนัยทั่วไป ดำเนินตามแผนการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในอันจะใช้แรงงานและกำลังทรัพย์สิ่งสินทั้งปวง เพื่อว่าเมื่อได้เลิกร้างกรรมสิทธิ์เอกชนและการประดิษฐกรรมแบบแข่งขันแล้ว งานจะได้เป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งแห่งชีวิต และมิใช่เป็นแต่เพียงทางหาเลี้ยงชีพเท่านั้น
ส่วนนายกียองนั้นเห็นว่า การที่งานจะได้เป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งแห่งชีวิตนั้น เนื่องมาจากการเลิกร้างกรรมสิทธิ์เอกชนและทรัพย์สินเอกชน การบังคับให้คนทำงานทำนองเดียวกับที่มีอยู่ในกำหนดการคอมมิวนิสต์นี้ มีอยู่ในกำหนดการของคณะพรรคการเมืองอื่นๆ เช่น คณะนาซี เหมือนกัน ส่วนการวางแผนการนั้น เป็นทางดำเนินอย่างหนึ่งหาใช่วัตถุที่หมายไม่
คณะกรรมาธิการเปิดโอกาสให้หลวงประดิษฐ์ฯ แสดงความเห็นในเรื่องบังคับคนให้ทำงานนี้ด้วยเหมือนกัน
หลวงประดิษฐ์ฯ : ฐานะการเป็นไปในประเทศสยามนี้ต่างกับที่เป็นอยู่ในประเทศตะวันตก ในประเทศสยาม คนชั้นกลาง (บูร์จัวส์) เป็นคนที่ทำงาน ชาวนาเสียอีกมีเวลาว่างมาก ซึ่งชวนจะให้เกียจคร้าน และใช้เวลาที่ว่างนั้นในทางที่ไม่พึงปรารถนา เช่นการเสพย์สุรายาเมา และการปล้นสะดมเป็นต้น ซึ่งเราควรจะคิดแก้ไข อนึ่ง คนไม่มีงานทำในกรุงเทพฯ ก็มีมาก เขาทั้งหลายนี้จึงควรมีอาชีพเป็นหลักแหล่ง จะได้เป็นทางป้องกันมิให้คนเหล่านี้กระทำผิดทางอาญา
ส่วนอาชีพนั้น จะให้เลือกเอาได้ตามชอบใจไม่บังคับว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นแต่ขอว่า ให้มีอาชีพเท่านั้นทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ความปลอดภัยของประเทศ และเป็นการมนุษยสงเคราะห์ตามแบบของสันนิบาต ข้าพเจ้ามีมุ่งหมายแต่จะให้พลเมืองได้มีอาชีพและหางานให้พลเมืองทำเท่านั้น ความคิดที่ข้าพเจ้ามีอยู่นั้น ก็คือ คิดจะให้ชาวนา เลี้ยงหมูเป็ดไก่ และปลูกผักกินเองบ้าง ดั่งได้เคยทำแล้วที่ภูเก็ต แต่ว่าการทั้งนี้ก็ต้องกระทำด้วยกฎหมาย ซึ่งจะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรตามวิถีทางรัฐธรรมนูญคือคิดจะออกกฎหมายให้คนมีอาชีพและบำรุงการศึกษาและวิชาชีพ
21.
ประธานกรรมาธิการได้ถามความเห็นหลวงประดิษฐ์ฯ เพิ่มเติมดังต่อไปนี้.
ประธานกรรมาธิการ : คำมั่นที่คุณหลวงให้ไว้แก่รัฐบาลก่อน ว่าจะไม่ใช้วิธีใหม่ใดๆ ที่จะบังคับซื้อที่ดิน และบังคับจ้างแรงงานเป็นวิธีการบำรุงโภคกิจนั้น สำหรับรัฐบาลนี้ ก็ยังเป็นการใช้ได้อยู่หรืออย่างไร?
หลวงประดิษฐ์ฯ : สำหรับรัฐบาลนี้ ก็เป็นอันใช้ได้อย่างเดียวกันการที่คิดจะบังคับให้คนมีอาชีพก็คิดจะดำเนินตามแบบมนุษยสงเคราะห์ของสันนิบาตชาติ เพื่อหางานให้คนทำ และให้คนมีอาชีพเท่านั้น หาได้คิดจะดำเนินตามวิธีการของคอมมิวนิสต์หรือของนาซีไม่
22.
ประธานกรรมาธิการ : หลักความเห็นที่คุณหลวงแสดงมาทั้งนี้ เป็นหลักการที่คิดเห็นมาแต่ก่อน มิใช่ชั่วแต่ขณะนี้หรืออย่างไร?
หลวงประดิษฐ์ : เป็นหลักความเห็นที่คิดเห็นมาแต่ก่อน
23.
ประธานกรรมาธิการ : คุณหลวงเป็นสมาชิก หรือเกี่ยวพันกับคณะคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศอย่างไรหรือเปล่า?
หลวงประดิษฐ์ฯ : ไม่ได้เป็นสมาชิกหรือเกี่ยวพันกับคณะคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศอย่างไรเลย
24.
ประธานกรรมาธิการ : ถามเซอร์ รอเบอร์ต และนายกียองว่าหลวงประดิษฐ์ฯ ได้แสดงความคิดเห็นในลักษณะต่างๆ ของคอมมิวนิสต์ ดังที่มีอยู่ในบันทึกรวมนั้น ครบถ้วนทุกข้อแล้วหรือยัง?
เซอร์ รอเบอร์ตฯ และนายกียอง : ครบถ้วนทุกข้อแล้ว
25.
ประธานกรรมาธิการ : ถามพระยาศรีสังกร และพระยานลราชฯ ว่า จะตั้งข้อถามเพิ่มเติมอย่างไรหรือไม่?
พระยาศรีสังกร และ พระยานลราชฯ : พอใจแล้ว ไม่ต้องการตั้งคำถามเพิ่มเติมอย่างไร
26.
ประธานกรรมาธิการ ขอให้คณะกรรมาธิการลงมติว่าตามที่ได้สอบสวนมานี้ เห็นว่า หลวงประดิษฐ์ฯ ปราศจากมลทินในการที่ได้มีคำกล่าวหาในสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์นั้นหรือไม่?
คณะกรรมการลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า หลวงประดิษฐ์ฯ ไม่มีมลทินเป็นคอมมิวนิสต์ ดังที่กล่าวหานั้นเลย.
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2476
(ลงพระนาม) วรรณไวทยากร วรวรรณ ประธานกรรมาธิการ
(ลงนาม) พระยาศรีสังกร กรรมาธิการ
(ลงนาม) พระยานลราชสุวัจน์ กรรมาธิการ-เลขาธิการ
An English translation of the Commission's Report has been communicated to us. The reference which it contains to views expressed by us before the Commission are accurate.
คำแปล
คณะกรรมาธิการได้ส่งคำแปลภาษาอังกฤษแห่งรายงานของคณะกรรมาธิการมาให้เราแล้ว บรรดาข้อความที่อ้างอิงถึงความเห็นซึ่งเราได้แสดงต่อคณะกรรมาธิการนั้นเป็นอันถูกต้องแล้ว
(ลงนาม) R.E. Holland
ผู้เชี่ยวชาญ
(Expert)
(ลงนาม) R.G. Guyon
ผู้เชี่ยวชาญ
(Expert)
----------------------------
(สำเนา)
กรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่
รายงานการประชุมครั้งที่ 1
กรรมาธิการประชุมครั้งที่ 1 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2476 เวลา 9.10 น. เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดประชุม มีผู้มาประชุม คือ
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ กรรมาธิการ
พระยาศรีสังกร กรรมาธิการ
พระยานลราชสุวัจน์ กรรมาธิการ
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญ
นาย ร. กียอง ผู้เชี่ยวชาญ
พระยาศรีสังกร เสนอให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็น ประธานกรรมาธิการ พระยานลราชสุวัจน์ รับรอง
พระยาศรีสังกร เสนอให้พระยานลราชสุวัจน์ เป็น เลขาธิการหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ รับรอง
กรรมาธิการตกลงตามนี้ แล้วเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมอบหน้าที่ประธานให้แก่ประธานกรรมาธิการ ประธานกรรมาธิการ กล่าวว่า ตามมติของสภาผู้แทนราษฎรคณะ
กรรมาธิการวิสามัญนี้ ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม สมาชิกประเภทที่ 2 และรัฐมนตรีที่ต้องคำกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ปิดสภาผู้แทนราษฎรนั้น ว่ามีมลทินจริงดั่งนั้นหรือไม่ ตามมติของสภาผู้แทนราษฎรที่ว่านี้ ถ้าจะสรุปความเข้าแล้ว ก็มีประเด็นอันจะพึงพิจารณาว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่
ประธานกรรมาธิการ ขอให้คณะกรรมาธิการทำความตกลงกันเสียก่อนว่าจะดำเนินการพิจารณาอย่างไร
ประธานกรรมาธิการ เสนอว่า คณะกรรมาธิการนี้ ไม่ใช่คณะกรรมาธิการตุลาการ และประเด็นอันจะพึงพิจารณาก็ไม่ใช่ประเด็นข้อหาในทางตุลาการ หากเป็นประเด็นดำกล่าวหาทั่วๆ ไปในทางการเมือง
เพราะฉะนั้น ประเด็นอันจะพึงพิจารณาจึงมิใช่ประเด็นข้อกฎหมาย แต่หากเป็นประเด็นข้อการเมือง คือว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีความเห็นการเมืองเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ในการพิจารณา จึงจะต้องวางบทวิเคราะห์ว่า คอมมิวนิสต์ คืออะไรเสียก่อน ในข้อนี้ขอเสนอให้เป็นเจ้าหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 จะทำบันทึกร่วมกัน เพื่อวางบทวิเคราะห์ศัพท์คอมมิวนิสต์ ดั่งที่ว่ามานั้น
เมื่อผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ได้ทำบันทึกยื่นต่อคณะกรรมาธิการ และคณะกรรมาธิการได้รับรองแล้วก็ควรจะเชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาถามว่า พอใจในบทวิเคราะห์นั้นว่าเป็นบทวิเคราะห์ที่เป็นธรรมแล้วหรือยัง เมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรมพอใจในบทวิเคราะห์นั้นแล้ว คณะกรรมาธิการพึงถามว่า ในลักษณะแต่ละข้อแห่งคอมมิวนิสต์นั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม มีความเห็นทางการเมืองอย่างไรบ้าง เมื่อได้รับคำตอบอย่างไรแล้ว คณะกรรมาธิการจึงจะพึงวินิจฉัยว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่
ข้อวินิจฉัยอันเป็นประเด็นสำคัญย่อมอยู่ที่ความเห็นทางการเมืองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งควรจะถามเอาจากปากคำของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และโดยที่มติของสภาผู้แทนราษฎรตั้งปัญหาว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ และ มิได้ตั้งปัญหาว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่
ฉะนั้น เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึ่งมิได้เป็นตัวประเด็นอันจะพึงพิจารณา ตัวประเด็นอยู่ที่ว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีความเห็นทางการเมืองที่เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ เพราะฉะนั้น จึงได้เสนอวิธีดำเนินการพิจารณาดั่งที่ว่ามาแล้วข้างต้นนั้น
ประธานกรรมาธิการ ถามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ แสดงความเห็นว่า ถ้าจะวางบทวิเคราะห์แห่งคอมมิวนิสต์ตามความหมายของศัพท์ ก็พอจะทำได้โดยไม่สู้จะเป็นการยากลำบากนัก แต่ถ้าจะพูดถึงลัทธิการเมืองในประเทศใด ประเทศหนึ่ง ว่าเป็นคอมมินิสต์หรือไม่ไซร้ จะวินิจฉัยได้โดยยากยิ่งนักเช่นประเทศรัสเซียในขณะนี้เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ก็เป็นปัญหาที่จะตัดสินให้แน่นอนได้ยาก แต่ถ้าจะพูดโดยทั่วไปแล้วลัทธิใดๆ ที่มีความมุ่งหมายจะโค่นล้มด้วยพลการซึ่งระเบียบการของชุมนุมชน ซึ่งมีอยู่ ณ บัดนี้ไซร้ ก็มักจะถือกันว่าเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์
นาย ร. กียอง กล่าวว่า การที่จะวางบทวิเคราะห์แห่งคอมมิวนิสต์นั้น จะต้องคำนึงถึงนัย 2 ทาง คือ
1. นัยทางเทคนิค กล่าวคือ คอมมิวนิสต์ประกอบด้วยลักษณะสาระสำคัญอย่างใดบ้าง และ
2. นัยทางการเมือง ซึ่งมักจะกล่าวหากันง่ายๆ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดยมิได้อาศัยหลักเกณฑ์ที่แน่นอนอย่างไร ถึงแม้ว่ารัฐบาลเป็นผู้วางบทวิเคราะห์แห่งคอมมิวนิสต์ บทวิเคราะห์นั้นๆ ก็ไม่เป็นหลักอันจะพึงเชื่อถือได้อย่างแน่นอน เพราะว่า รัฐบาลมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ด้วย หน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญในการที่จะวางบทวิเคราะห์แห่งคอมมิวนิสต์นี้ นายกียองเข้าใจว่า เกี่ยวด้วยนัยทางเทคนิค กล่าวคือ หลักมูลของคอมมิวนิสต์มีลักษณะการอย่างไร มิใช่จะถือเอาง่ายๆ ตามความนิยมของคณะการเมืองต่างๆ เช่นนั้นมิได้
นายกียอง เสนอว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ต้องข้อหาในทางตุลาการว่าเป็นคอมมิวนิสต์และประเด็นอันจะพึงพิจารณาก็คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวด้วยความเห็นทางการเมืองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมต่างหาก ไม่ควรจะเอาเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาตั้งประเด็นพิจารณา
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ เห็นพ้องด้วยว่า คำกล่าวหาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้นมิใช่ข้อหาในทางตุลาการ และหน้าที่ของกรรมาธิการก็คือ จะสอบสวนดูว่าทำนองความเห็นทางการเมืองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้นย้อมด้วยสีคอมมิวนิสต์หรือไม่ เพราะฉะนั้นวัตถุที่จะพึงพิจารณาก็คือความเห็นทางการเมืองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมและมิใช่เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ
พระยาศรีสังกร และ พระยานลราชสุวัจน์ เห็นชอบด้วยวิธีการที่ประธานกรรมาธิการเสนอนั้น มีอาทิ คือ
1. พึงมอบให้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ทำบันทึกร่วมกัน เพื่อวางบทวิเคราะห์ลักษณะสาระสำคัญต่างๆ แห่งคอมมิวนิสต์ และ
2. ข้อที่จะพึงพิจารณานั้น คือ ความเห็นทางการเมืองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และมิใช่เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ถ้าดำเนินการพิจารณาไปแล้วปรากฏว่ามีข้อความพาดพิงถึงเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นแล้ว จึงจะพิจารณาเป็นข้อๆ ไป
คณะกรรมาธิการได้ตกลงตามนี้
ในการอภิปรายถึงวิธีการที่ผู้เชี่ยวชาญจะทำบันทึกร่วมกัน เพื่อวางบทวิเคราะห์แห่งคอมมิวนิสต์นั้น ประธานกรรมาธิการเสนอว่าควรจะอาศัยกำหนดการของคณะคอมมิวนิสต์แห่งอังกฤษและฝรั่งเศสประกอบความพิจารณาด้วย ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้ และประธานกรรมาธิการรับว่าจะร้องขอให้กระทรวงการต่างประเทศมีโทรเลขไปยังสถานทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน และกรุงปารีส เพื่อให้รีบส่งกำหนดการที่ต้องการนั้นมาทางไปรษณีย์อากาศ.
ปิดประชุมเวลา 10 น.
(ลงพระนาม)
วรรณไวทยากร วรวรรณ
ประธาน
------------------------------
รายงานการประชุมครั้งที่ 2
เปิดประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2476 เวลา 9.15 น.
มีผู้มาประชุม คือ
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ประธานกรรมาธิการ
พระยาศรีสังกร กรรมาธิการ
พระยานลราชสุวัจน์ กรรมาธิการ-เลขาธิการ
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญ
นาย ร. กียอง ผู้เชี่ยวชาญ
และ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งกรรมาธิการเชิญมา
เมื่อกรรมาธิการได้ตกลงรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 1 แล้ว ประธานกรรมาธิการได้ชี้แจงให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมทราบวิธีดำเนินการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมาธิการได้ตกลงไว้แล้วคือว่า โดยที่มติของสภาผู้แทนราษฎรตั้งปัญหามาให้พิจารณาว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์ดั่งที่กล่าวหากันในสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ นั้นหรือไม่
ประเด็นอันจะพึงพิจารณาจึงอยู่ที่ความเห็นทางการเมืองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และมิได้อยู่ที่เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม คำกล่าวหาที่อ้างถึงนั้น เป็นคำกล่าวหาในทางการเมือง หาใช่ข้อหาในทางตุลาการไม่ เพราะฉะนั้น คณะกรรมาธิการจึงได้ตกลงว่าจะดำเนินการพิจารณาดั่งนี้ คือขอให้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ร่างบันทึกร่วมกันมา เพื่อวางบทวิเคราะห์ลักษณะฉะเพาะของลัทธิคอมมิวนิสต์
บัดนี้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ได้ร่างบันทึกที่ว่านี้ส่งมาแล้วและประธานกรรมาธิการก็ได้ส่งไปให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมทราบ แล้วจึงขอถามหลวงประดิษฐ์
มนูธรรมว่า บรรดาลักษณะต่างๆ ซึ่งวางบทวิเคราะห์ไว้ในบันทึกนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมพอใจแล้วหรือไม่ว่าเป็นลักษณะฉะเพาะของลัทธิคอมมิวนิสต์ ถ้ามีข้อสังเกตอย่างไร ก็ขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมแสดงมา เมื่อตกลงกันในบทวิเคราะห์ลักษณะต่างๆ แล้ว ก็จะได้ถามความเห็นทางการเมืองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในข้อลักษณะนั้นๆ ต่อไป
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม : รับรองหลักเกณฑ์วินิจฉัยลักษณะฉะเพาะของคอมมิวนิสต์ ดั่งที่ผู้เชี่ยวชาญว่าไว้ในบันทึกร่วมกัน กล่าวคืออะไรที่มีอยู่ฉะเพาะแต่ในกำหนดการคอมมิวนิสต์เท่านั้น และไม่อยู่ในกำหนดการของคณะพรรคการเมือง อื่นๆ ไซร้ จึงจะเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสต์โดยไม่เป็นปัญหา
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมขอตั้งข้อสังเกตเป็น 2 ตอน ตอนหนึ่งว่าด้วยหลักการ อีกตอนหนึ่งว่าด้วยความหมายของถ้อยคำบางแห่งซึ่งใคร่จะให้ไขความให้ชัด
ในส่วนหลักการนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรมขอตั้งข้อสังเกตเนื่องใน ลักษณะการโภคกิจ ข้อ 6 ซึ่งวางไว้ว่า บังคับให้ทุกคนทำงาน “ใครไม่ทำงาน ก็ไม่ได้กิน” (กำหนดการฝรั่งเศส หน้า 21) ดังนี้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอว่า หลักการข้อนี้มีอยู่ในกำหนดการของคณะนาซีด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นตามหลักเกณฑ์วินิจฉัยซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้วางไว้ก็ควรจะถอนลักษณะการโภคกิจข้อ 6 นี้ออกเสีย เพราะว่ามิได้เป็นลักษณะฉะเพาะของคณะคอมมิวนิสต์
นาย ร. กียอง : หลักการที่ว่านี้ คณะคอมมิวนิสต์เป็นผู้เริ่มใช้แต่บัดนี้ คณะบงการแผ่นดินต่างๆ เช่น คณะนาซี และคณะฟัสซีสต์นำเอาไปใช้ด้วย
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ : ถึงแม้ว่าคณะอื่นๆ นำเอาไป ก็ยังเป็นลักษณะสาระสำคัญของคอมมิวนิสต์
นาย ร. กียอง : แต่ตามเกณฑ์วินิจฉัยที่ได้วางไว้นั้น ควรจะถอนหลักการนี้ออกได้
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม : หลักการอันนี้ เป็นสุภาษิตซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ครั้ง แซงต์ ซีมอง และตามกำหนดการของคณะคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส หน้า 21 นั้น ก็มิได้กล่าวในเชิงว่าเป็นหลักการ แต่หากกล่าวในเชิงปลุกใจผู้กระทำการเลือกตั้งให้เลื่อมใสในหลักการคอมมิวนิสต์ที่ว่ามูลย์ค่าต่างๆ อาศัยแรงงานเป็นที่ตั้ง
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ : เป็นหลักเก่าก็จริงอยู่ แต่ก็ยังเป็นหลักของคอมมิวนิสต์อยู่
หลวงประดิษฐ์ฯ : ถ้าถือเคร่งตามหลักที่วางไว้นี้แล้ว การบังคับให้คนทำงานบางอย่างซึ่งมีอยู่ในกฎหมายไทย ณ บัดนี้ เช่นพระราชบัญญัติจัดสันดานคนจรจัด แลคนที่เคยต้องโทษหลายครั้ง ร.ศ. 127 และพระราชบัญญัติเกณฑ์จ้าง ร.ศ. 119 ก็จะกลายเป็นการกระทำตามแบบคอมมิวนิสต์ไป อนึ่ง กฎหมายของประเทศอื่นๆ เช่น บัลแกเรีย และ ปารากวัย ก็มีบังคับให้คนทำงานบางอย่าง และตามอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับแรงงานของสันนิบาตชาติ ก็ยอมให้เกณฑ์แรงงานได้ในบางกรณีปีหนึ่งไม่เกิน 60 วัน
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ : หลักนี้ย่อมมีข้อยกเวันเป็นธรรมดาถึงแม้ว่าในรัสเซีย หญิงมีครรภ์ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำงาน แต่หลักที่ว่าทุกคนต้องทำงานนั้น ได้วางไว้อย่างหนักแน่น ถึงกับมีบทบัญญัติว่าจะเอากิจส่วนตัวเช่นการแต่งงาน มาข้องขัดหน้าที่ต่อรัฐไม่ได้เลย
หลวงประดิษฐ์ฯ : แนวความคิดอันเป็นสาระสำคัญของลัทธิคอมมิวนิสต์ก็มีแสดงอยู่ในตัวศัพท์แล้ว ว่าเป็นการนิยมสรรพสาธารณ์คณะนาซีปฏิเสธอย่างแข็งแรงว่าไม่เป็นคอมมิวนิสต์เลย แต่ก็มีบทบังคับให้คนทำงาน
นายกียอง : หลักนี้เป็นหลักเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งแม้ในชุมชนกระฎุมพี มีใช้กันอยู่ แต่โดยมากมักจะใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่วางเป็นบทกฎหมายประจำเป็นนิจ เช่นฝรั่งเศส ก็เคยบังคับให้คนทำงานในกรณีฉุกเฉินและเท่าที่นายกียองจำได้ ในมาดากาสคาร์ก็ดูเหมือนเคยมีบทกฎหมายฉะเพาะแคว้นนั้นบังคับให้ทุกคนต้องมีอาชีพ ภายใน 10 ปีที่แล้วมานี้
ชุมชนกระฎุมพีก็ออกจะยอมรับว่า การบังคับให้คนมีอาชีพนั้นเป็นหน้าที่ทางธรรมจริยาของพลเมืองอย่างหนึ่ง และเป็นหลักประเพณีทางโภคกิจของประเทศอย่างหนึ่งด้วย แต่พวกคอมมิวนิสต์นั้นอยากจะตั้งหลักอันนี้ขึ้นเป็นบทกฎหมายมีการลงโทษด้วย และกระทำการอันนี้โดยที่เป็นผลอันจำเป็นเนื่องมาจากการเลิกร้างรายได้และมฤดก
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ : ที่ว่าบังคับให้ทำงานตามลักษณะข้อ 6 ที่เป็นปัญหาอยู่นี้ หมายความถึงบังคับให้ทำงานเพื่อประโยชน์คอมมิวนิสต์
นายกียอง : แต่ตามข้อความในกำหนดการฝรั่งเศสซึ่งอ้างมานี้ไม่มีความหมายเช่นนั้น
หลวงประดิษฐ์ฯ : หลักการอันนี้ไม่มีอยู่ในหลักการมอสโคว์
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ : ความมุ่งหมายในกำหนดการฝรั่งเศสมีอยู่ว่า จะบังคับให้พวกกระฎุมพีขี้เกียจนั้นทำงานตามหลักการทั่วไปของคณะคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ
หลวงประดิษฐ์ฯ : ความมุ่งหมายของหลักการคอมมิวนิสต์ในข้อนี้มีอยู่ว่าโดยที่มูลค่าต่างๆ เนื่องมาจากแรงงาน ถ้าผู้ใดไม่ออกแรงงานจึ่งไม่ควรจะยอมให้มีรายได้ ซึ่งมิได้เนื่องมาจากแรงงาน และไม่ยอมให้มีมฤดกโดยนัยดุจเดียวกัน
นายกียอง : ตามกำหนดการมอสโคว์นั้น ได้วางหลักข้อนี้ไว้เป็นทางวิทยาการมากกว่าในกำหนดการฝรั่งเศส ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง หลักในกำหนดการมอสโคว์มีอยู่ว่า งานมิใช่เป็นอุปกรณ์การหาเลี้ยงชีพแต่เป็นความจำเป็นแห่งชีวิตทีเดียว และความคิดอันนี้ก็กำลังขยายออกไปในประเทศอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ในบัดนี้ก็ไม่เป็นลักษณะฉะเพาะของคอมมิวนิสต์เสียแล้ว
เซอร์ รอเบอร์ต : ขอเวลาไปร่างมาใหม่
ในส่วนถ้อยคำอันจะพึงไขความนั้น หลวงประดิษฐ์ฯ ขอตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้
การเมือง
1. คำว่า “รัฐบาลโดยคณะกรรมการ” นั้นออกจะกว้างไป มหาชนอาจจะเข้าใจผิดว่า หมายความถึงคณะกรรมการตามระบอบรัฐธรรมนูญและรัฐสภาก็ได้ ตกลงแก้เป็น “การตั้งรัฐบาลโซเวียต (คณะกรรมการ คนงานชาวนา และทหาร)”
การคลัง
1. คำว่า “เอาธนาคารเอกชนมาเป็นของประชาชาติ” อาจเข้าใจผิดไปถึงการตั้งธนาคารชาติก็ได้
ตกลงแก้เป็น “การริบเอาธนาคารเอกชนมาเป็น…”
เมื่อได้ตกลงกันในลักษณะต่างๆ แห่งคอมมิวนิสต์ เว้นแต่ลักษณะการโภคกิจ ข้อ 6 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญรับเอาไปพิจารณาใหม่นั้นแล้วประธานกรรมาธิการได้ถามความเห็นในทางการเมืองของหลวงประดิษฐ์ฯ เนื่องในลักษณะการต่างๆ นั้นและได้ทำนายความตกลงว่า บรรดาคำตอบของหลวงประดิษฐ์ฯ นั้น จะเป็นการตอบตรงกับลักษณะต่างๆ ครบถ้วนทุกข้อหรือไม่นั้น ขอให้ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นด้วย แต่ในข้อหาที่ว่าคำตอบเหล่านั้นมีน้ำหนักเพียงไร ย่อมเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการและมิใช่หน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญที่จะวินิจฉัย
หลวงประดิษฐ์ฯ แสดงความเห็นเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้
การเมือง
1. การตั้งรัฐบาลโซเวียต (คณะกรรมการ คนงาน ชาวนาและทหาร)
หลวงประดิษฐ์ฯ : ข้าพเจ้าไม่คิดที่จะตั้งรัฐบาลโซเวียตเลย เพราะว่ามีความเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้าพเจ้าได้มีส่วนในการตั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม และมีส่วนในการออกกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งนี้ป็นหลักพะยานให้เห็นว่าข้าพเจ้าเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญและรัฐสภาอยู่แล้ว
เซอร์ รอเบอร์ต : หลวงประดิษฐ์ฯ คิดจะแก้หลักการอันเป็นสาระสำคัญในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉะบับที่ใช้อยู่ ณ บัดนี้หรือไม่?
หลวงประดิษฐ์ฯ : ตั้งใจจะรักษาหลักสาระสำคัญนั้นๆ ไว้ จะมีการแก้ไขก็เช่นว่า การเลือกตั้ง 2 ชั้นนั้น คิดว่าต่อไปจะแก้ไขให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยตรงที่เดียว และการแก้ไขต่างๆ นั้น ก็จะได้แก้โดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ และไม่คิดจะใช้วิธีปกครองโดยโซเวียตเลย
การคลัง
1. การริบเอาธนาคารเอกชนมาเป็นของประชาชาติ และโอนทองคำสำรอง หลักทรัพย์ เงินฝาก ฯลฯ ทั้งหมดที่มีอยู่ในธนาคารนั้นๆ มาเป็นของรัฐ
หลวงประดิษฐ์ฯ : ไม่มีความคิดเลยที่จะริบเอาธนาคารเอกชนมาเป็นของชาติ และโอนทองคำสำรอง หลักทรัพย์ เงินฝาก ฯลฯ ทั้งหมดที่มีอยู่ในธนาคารนั้นๆ มาเป็นของรัฐ เพราะว่าเลื่อมใสในกรรมสิทธิทรัพย์สินเอกชนที่จะเป็นเจ้าของ
2. การเพิกถอนและปฏิเสธหนี้สินต่อนายทุนต่างประเทศและในประเทศ
หลวงประดิษฐ์ฯ : ยิ่งการเพิกถอนหรือปฏิเสธหนี้สินต่อนายทุนในประเทศ และนอกประเทศแล้ว ยิ่งไม่มีความคิดที่จะกระทำเช่นนั้นเลย เพราะมีความประสงค์จะรักษาสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศไว้ให้มั่นคง เมื่อข้าพเจ้าร่างคำแถลงการณ์ของรัฐบาลพระยามโนฯ ก็ได้บรรจุข้อความเช่นนี้ไว้ในคำแถลงการณ์นั้นเหมือนกัน ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะปฏิเสธหนี้สินทั้งภายในและภายนอกประเทศเลย
เซอร์ รอเบอร์ต : ไม่มีทางที่จะปฏิเสธลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ชัดแจ้งกว่านี้ได้แล้ว
การชุมชน
1. การใช้กำลังบังคับเลิกล้มระเบียบการชุมชน ซึ่งมีอยู่ตามประเพณีนั้นทั้งหมดเพื่อเป็นทางเดียว ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์คอมมิวนิสต์
หลวงประดิษฐ์ฯ : คำว่า “ระเบียบการชุมชน ซึ่งมีอยู่ตามประเพณี” นั้นขอซ้อมความเข้าใจในความหมายเสียก่อน หมายถึงการครอบครัว ฉะนี้ไม่ใช่หรือ?
เซอร์ รอเบอร์ต : หมายความถึงการครอบครัว การปกครอง การแบ่งชั้น และโครงร่างของชุมชนทั้งมวล แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า จะกระทำการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ให้ตั้ง 1 กันใหม่ หรือจะเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างตั้ง 1 กันใหม่แล้ว จึ่งจะเป็นลักษณะส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสต์
หลวงประดิษฐ์ฯ : ไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นการนับ 1 ใหม่เลย ในการปกครอง ข้าพเจ้าเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้วข้างต้น ในการครอบครัว ข้าพเจ้าก็ได้มีส่วนร่างประมวลกฎหมายแพ่งในเรื่องนี้และความเห็นของข้าพเจ้าในเรื่องนี้ก็เป็นไปในทางรักษาประเพณีไทย ในทางอื่นๆ ก็เหมือนกัน หลักประเพณีอันใดที่เหมาะแก่สมัยก็ตั้งใจจะรักษาไว้ ส่วนข้อที่จะแก้ไขก็จะได้แก้ไขตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ
ส่วนการเปลี่ยนแปลงเป็นการนับ ใหม่นั้นเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ในเรื่องสงครามระหว่างชั้นนั้น ได้พยายามชี้แจงให้คนต่างๆ เข้าใจว่าไม่เป็นการบังควร เพราะจะเป็นการทำให้นองเลือดเปล่าๆ
นายกียอง และ เซอร์ รอเบอร์ต : ข้อสำคัญอยู่ที่การใช้กำลังบังคับ ในอันจะเลิกล้มหลักประเพณีต่างๆ แต่ถ้าไม่คิดจะใช้กำลังบังคับแล้ว ก็ไม่เข้าอยู่ในลักษณะคอมมิวนิสต์
3. การกระทำสงครามเนืองนิจในความบงการของพวกปุถุชนเพื่อทำลายกำลังและประเพณีต่างๆ ของชุมชนอย่างเก่า และทำลายพวกกระฎุมพีที่อาจโผล่ขึ้นมาใหม่
หลวงประดิษฐ์ฯ : ดิกเตเตอร์ชิบหรือลัทธิบงการแผ่นดินนั้นข้าพเจ้าไม่ชอบเลย ที่ไม่ชอบนั้นไม่ใช่ฉะเพาะแต่การที่จะให้คนจนเข้าถืออำนาจบงการเท่านั้น ถึงแม้ว่าคนชั้นอื่นจะเข้ายึดอำนาจบงการแผ่นดินก็ไม่เห็นชอบด้วยเหมือนกัน
3. การเลิกมรดก
หลวงประดิษฐ์ : ไม่มีความคิดที่จะเลิกมรดกเลย นายกียองย่อมทราบอยู่ว่าในการร่างประมวลกฎหมายแพ่ง ข้าพเจ้าเคยสนับสนุนให้มีประมวลมรดกอยู่ด้วย
การโภคกิจ
1. การริบโดยไม่มีค่าทดแทน ซึ่งกิจการเอกชน (นายทุน) ใหญ่ๆ ทั้งหมด เช่น โรงงาน การงาน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า รถไฟ การขนส่ง การคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ที่ดินใหญ่ เครื่องจักร ฯลฯ
หลวงประดิษฐ์ฯ : ไม่มีความคิดเช่นนี้เลย มีเหตุผลเหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าด้วยลักษณะการคลัง ข้าพเจ้ายืนยันว่ามีความเลื่อมใสในทรัพย์สินเอกชน
2. การโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ดิน ซึ่งได้ริบมานั้นให้แก่ชาวนา
3. ต่อจากนั้น ห้ามมิให้ซื้อขายที่ดินที่ได้โอนมานั้น
4. ริบอสังหาริมทรัพย์บ้านเรือนใหญ่ๆ และย้ายคนงานและคนจนไปอยู่ในบ้านเรือนและถิ่นที่อยู่ของเศรษฐีหรือกระฎุมพี
5. การเพิกถอนการจำนอง อันเป็นที่เสียหายแก่ชาวนาที่จนหลวงประดิษฐ์ฯ : คำตอบสำหรับ (2), (3), (4), (5), ก็เช่นเดียวกัน เพราะเป็นลักษณะเนื่องมาจาก (1)
แต่ถ้อยคำในข้อ 5 ที่ว่า “การเพิกถอนการจำนอง อันเป็นที่เสียหายแก่ชาวนาที่จน” นั้น ดูยังกำกวมอยู่
เซอร์ รอเบอร์ต : เห็นด้วย และรับว่าจะไปคิดแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะและชี้แจงว่าอาจเป็นที่พึงปรารถนาที่จะบรรเทาทุกข์บางอย่างให้แก่ชาวนาที่จนในเรื่องการจำนอง ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า จะต้องใช้วิธีการรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง
หลวงประดิษฐ์ฯ : รับรองว่า ถ้าจะทำการใดๆ ในเรื่องการจำนองเช่นว่านี้แล้ว ก็จะได้ทำโดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ เช่นให้มีการประนีประนอม เป็นต้น
6. บังคับให้ทุกคนทำงาน “ใครไม่ทำงานก็ไม่ได้กิน” ข้อ 6. เอาไว้พิจารณาใหม่
7. สัมพันธไมตรีทางโภคกิจอย่างแข็งแรง กับสหปาลีริปับลิกโซชลิสต์โซเวียต
หลวงประดิษฐ์ฯ : ไม่คิดทำสัมพันธไมตรีเช่นนี้ แต่ถ้อยคำดูยังกำกวมอยู่ คงไม่หมายความถึงสัญญาการค้าขายอย่างเช่นที่อังกฤษและอเมริกันทำ
เซอร์ รอเบอร์ต : เห็นด้วย และว่าจะได้คิดแก้ไขถ้อยคำให้กระชับขึ้นในการที่จะไปคิดร่างข้อ 6 ใหม่นั้น เซอร์ รอเบอร์ต อยากทราบความคิดเห็นของหลวงประดิษฐ์ฯ ในเรื่องการบังคับให้ทำงานนั้นว่ามีอยู่อย่างไรบ้าง
หลวงประดิษฐ์ฯ : ชี้แจงว่า ฐานะการเป็นไปในประเทศสยามนี้ต่างกับที่เป็นอยู่ในประเทศตะวันตก กล่าวคือ ในประเทศสยาม คนชั้นกลาง (บูร์จัวส์) เป็นคนที่ทำงาน ชาวนาเสียอีกมีเวลาว่างมาก ซึ่งชวนจะให้เกียจคร้าน และใช้เวลาที่ว่างนั้นในทางไม่พึงปรารถนา เช่น การเสพสุรา ยาเมา และการปลันสะดม เป็นต้น ซึ่งเราควรจะคิดแก้ไข
อนึ่ง คนไม่มีงานทำในกรุงเทพฯ นี้ก็มีมาก เขาทั้งหลายนี้จึงควรมีอาชีพเป็นหลักแหล่ง จะได้เป็นทางป้องกันมิให้คนเหล่านี้กระทำความผิดอาญา ส่วนอาชีพนั้น จะให้เลือกเอาได้ตามชอบใจ ไม่บังคับว่า ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นแต่ขอว่าให้มีอาชีพเท่านั้น
นายกียอง : ที่หลวงประดิษฐ์ฯ ว่ามานี้ ก็คือจะจัดการเพื่อความปลอดภัยแก่ชุมนุมชน คือป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีอาชีพไปกระทำความผิดทางอาญา มิใช่ว่าจะไปบังคับผู้ที่มีอาชีพอยู่แล้วให้ทำงาน
หลวงประดิษฐ์ฯ : ชี้แจงเพิ่มเติมต่อไปว่า คนที่เกาะกินตามวัดก็มีและถ้าเลิกรัชชูปการเสีย คนก็จะขี้เกียจยิ่งขึ้น ถ้าคนไม่ทำงานประเทศก็จะไม่เจริญ ข้าพเจ้าจะใคร่ให้คนเหล่านี้แหละมีอาชีพ และมิได้มีความมุ่งหมายที่จะบังคับให้คนชั้นกลาง (บูร์จัวส์) ทำงาน
เซอร์ รอเบอร์ต : พวกคอมมิวนิสต์นั้น เป็นปรปักษ์ต่อพวกบูร์จัวส์แต่หลวงประดิษฐ์ฯไม่เป็น เจ้าชายแห่งเวลส์ก็สนพระทัยอย่างเดียวกับหลวงประดิษฐ์ฯ เหมือนกัน คือในการจัดค่ายทำงานให้แก่ยุวชนที่ไม่มีงานทำ ถ้ามีงานอันประเสริฐผลให้ทำแล้ว ก็คงจะจัดการได้สำเร็จ แต่ถ้าไม่มีงานให้ทำแล้ว ก็จะจัดได้ด้วยยาก จะทำได้ก็แต่บำรุงการศึกษาและอบรมคนไม่มีงานทำให้ทำงานในค่ายทำงาน
หลวงประดิษฐ์ฯ : ชี้แจงว่า คิดจะให้ชาวนาเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ และ ปลูกผักกินเองบ้าง ดั่งได้เคยทำแล้วที่ภูเก็ต แต่ว่าการทั้งนี้ก็ต้องกระทำด้วยกฎหมายซึ่งจะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรตามวิถีทางรัฐธรรมนูญที่ดำริไว้นั้นก็คือ คิดจะออกกฎหมายให้คนมีอาชีพและบำรุงการศึกษาวิชาชีพ
ในส่วนข้อ 6 นั้น หลวงประดิษฐ์ฯ ชี้แจงว่า อยากจะให้เอาออกเพราะว่า ถ้าทิ้งไว้คนจะเข้าใจผิดว่า พระราชบัญญัติเกณฑ์จ้าง และพระราชบัญญัติดัดสันดานคนจรจัด และคนที่เคยต้องโทษหลายครั้ง พระราชบัญญัติรัชชูปการที่มีบทบังคับให้คนทำงานบางอย่างนั้น จะเข้าอยู่ในลักษณะคอมมิวนิสต์ และจะมีคนขอให้เลิกกฎหมายเหล่านี้เสีย ดังได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเกณฑ์จ้างแล้ว
เซอร์ รอเบอร์ต : ถ้าจะเอาข้อ 6 ออกเสียแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ จะไม่มีช่องทางที่จะแสดงความเห็นในเรื่องบังคับให้มีอาชีพ
ประธานกรรมาธิการ : ชี้แจงว่า หลวงประดิษฐ์ฯ ให้คำมั่นแก่รัฐบาลไว้แล้วว่า จะไม่ใช้วิธีใหม่ใด ๆ ที่จะบังคับซื้อที่ดิน และบังคับจ้างแรงงานเป็นวิธีการบำรุงการโภคกิจ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเอาข้อ 6 ออกและให้กรรมาธิการถามหลวงประดิษฐ์ฯ เนื่องในคำมั่นนั้นๆ ก็ได้
นายกียอง : การบังคับมีลักษณะต่างๆ กัน การบังคับอย่างคอมมิวนิสต์นั้นคือ การเลิกร้างรายได้และมรดก แต่การบังคับอย่างนาซีนั้นเป็นการบังคับฐานที่เป็นหน้าที่ของพลเมือง และการบังคับอีกอย่างหนึ่งก็คือ มนุษยสงเคราะห์ของสันนิบาตชาติ
หลวงประดิษฐ์ฯ : แถลงว่า เท่าที่คิดจะกระทำนั้น คือ แบบมนุษยสงเคราะห์ของสันนิบาตชาติและเพื่อให้พลเมืองได้มีอาชีพและหางานให้พลเมืองทำ
ปิดประชุมเวลา 12.40
(ลงพระนาม) วรรณไวทยากร วรวรรณ
---------------------
รายงานการประชุมครั้งที่ 3
เปิดประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2476 เวลา 9.15 นาฬิกา
มีผู้มาประชุม คือ
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ประธานกรรมาธิการ
พระยาศรีสังกร กรรมาธิการ
พระยานลราชสุวัจน์ กรรมาธิการ-เลขาธิการ
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญ
นาย ร. กียอง ผู้เชี่ยวชาญ
และ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งกรรมาธิการเชิญมา
เมื่อได้แก้ไขรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 2 แล้ว ที่ประชุมได้ตกลงแก้ลักษณะการโภคกิจข้อ 6 เป็น “การบรรเทาภาระหนี้สินของชาวนาที่จนโดยเลิกล้างการจำนองเสียสิ้น” (กำหนดการมอสโคว์ หน้า 27 กำหนดการฝรั่งเศสหน้า 19)
หลวงประดิษฐ์ฯ : ข้าพเจ้าเข้าใจว่า หมายความถึงการเลิกล้างโดยไม่มีค่าทดแทน ถ้าเช่นนั้น จะเติมคำว่า “โดยไม่มีค่าทดแทน” ลงไปได้หรือไม่
เซอร์ รอเบอร์ต : ความหมายเป็นอย่างที่หลวงประดิษฐ์ฯ ว่านั้นแต่คำว่า “โดยไม่มีค่าทดแทน” ไม่มีอยู่ในกำหนดการ ซึ่งเป็นต้นฉบับ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรจะเติมคำเหล่านี้ลงไป และขี้แจงว่าคำอังกฤษว่า annual นั้น มีนัยอยู่แล้วว่า ไม่มีค่าทดแทน ประธานกรรมาธิการ คำว่า “เลิกร้าง” ในภาษาไทย ก็มีนัยเช่นเดียวกัน พระยาศรีสังกรและพระยานลราชสุวัจน์ เห็นพ้องด้วย
ที่ประชุมได้ตกลงแก้ลักษณะการโภคกิจข้อ 7 (ซึ่งบัดนี้แก้เป็นข้อ 6) ดั่งนี้ “การรวมริปับลิกในท้องที่เข้ากับบรรดาริปับลิกโซเวียตอื่นๆ เพื่อให้เป็นสหปาลีสากล เพื่อรวมบรรดาคนงานทั้งหลายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางโภคกิจ โดยให้อยู่ในระเบียบการโภคกิจโซเซียลิสต์สากลอันเดียวกัน (กำหนดการมอสโคว์ หน้า 48)”
หลวงประดิษฐ์ฯ : ข้าพเจ้าไม่มีความคิดเช่นนี้เลย ข้าพเจ้าไม่คิดที่จะตั้งรัฐบาลโซเวียตหรือจะให้รัฐบาลสยามเข้าร่วมสหปาลีกับสหปาลีโซเวียตเลย
ส่วนลักษณะการโภคกิจข้อ 6 เดิมนั้น มีการอภิปรายกันมาก
นายกียอง : เมื่อได้อ่านกำหนดการนาซีดูแล้ว ได้พบข้อความว่าจะเลิกร้างบรรดารายได้ที่มิได้เนื่องมาจากแรงงานเหมือนกัน (กำหนดการ ค.ศ. 1920 ข้อ 11 Direction on obligatory Work 1926 Item 2)
ข้าพเจ้าเข้าใจว่าค่าเช่า หรือแม้มรดกก็อยู่ในเกณฑ์ที่จะเลิกร้างตามหลักอันนี้เหมือนกัน ถึงแม้ว่าฮิตเล่อร์ยังมิได้ดำเนินการอันนี้ (และข้าพเจ้าก็ไม่คิดว่าฮิตเล่อร์จะดำเนินการถึงเพียงนี้) แต่ในกำหนดการของนาซีก็ได้มีเหตุการณ์บังคับให้มีหลักการเช่นนี้ ซึ่งแต่เดิมเป็นของคอมมิวนิสต์นั้นมาบรรจุไว้ด้วย แลนัยว่าในนโยบายฟัสซิสต์ก็มีอยู่ด้วยเหมือนกัน (ดู Laurent : National - Socialism)
เพราะฉะนั้น อันที่จริงก็ควรจะถอนเอาลักษณะข้อ 6 นี้ออกเสีย แต่ทว่าถ้าจะทำเช่นนั้นอาจมีผู้เข้าใจผิดได้ว่าเอาออกเพราะจะทำให้หลวงประดิษฐ์ฯ อึกอักในการตอบ แต่อันที่จริงตามคำชี้แจงของหลวงประดิษฐ์ฯ ในการประชุมครั้งที่แล้วมา ก็ปรากฏว่าความเห็นของหลวงประดิษฐ์ฯ ตรงกันข้ามกับความเห็นของคอมมิวนิสต์ที่เดียว
เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ถ้าจะมีข้อความกล่าวไว้ในเรื่องการบังคับให้ทำงานนี้บ้างแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์แก่หลวงประดิษฐ์ฯ เอง ส่วนข้อความที่จะบรรจุนั้น ข้าพเจ้าใคร่จะใช้ถ้อยคำในกำหนดการมอสโคว์หน้า 18 นั้นเอง คำว่า “งานเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งแห่งชีวิต” ซึ่งมีความหมาย 2 นัย คือ
1. จำเป็นเพราะต้องบังคับให้ทำงาน และ
2. จำเป็นเพราะไม่มีทางหาเลี้ยงชีพทางอื่น นอกจากทำงาน
เซอร์ รอเบอร์ต : เราจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังเพราะ ว่าพวกคอมมินิวสต์ ก็ใช้ความระมัดระวังและความเฉลียวฉลาดมากใน การที่จะวางหลักข้อนี้ ตามกำหนดการฝรั่งเศสปรากฏว่า คณะคอมมินิสต์จะให้โอกาสให้ทุกคนได้ทำงาน และมีอีกตอนหนึ่งว่า เมื่อได้ตั้งรัฐคอมมิวนิสต์ขึ้นแล้ว การบังคับใดๆ ก็จะหมดสิ้นลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในชั้นที่สุดการบังคับให้ทำงานไม่ใช่อุดมคติของคอมมิวนิสต์ ส่วนความจำเป็นที่จะต้องทำงานนั้น เนื่องมาจากสภาพของรัฐคอมมิวนิสต์ ซึ่งทุกคนจะต้องทำงานอยู่เอง คำว่า “ความจำเป็น” นี้ เป็นคำกำกวมและพวกคอมมิวนิสต์ก็ตั้งใจใช้ให้เป็นคำกำกวม
แต่ถ้าจะเอากำหนดการมอสโคว์ และกำหนดการฝรั่งเศสมารวมกันเข้าแล้ว ก็คงจะร่างขึ้นเป็นลักษณะข้อ 6 ได้ดั่งนี้ คือ “การใช้หลักที่ว่า ผู้ใดไม่ทำงาน ก็ไม่ให้กินแก่พวกกระฎุมพีขึ้คร้านทั้งมวล โดยไม่มีความปรานีเลย และโดยนัยทั่วไปดำเนินตามแผนการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในอันจะใช้แรงงานและกำลังทรัพย์สิ่งสินทั้งปวง เพื่อบรรลุที่หมายในที่สุดว่า จะให้งานเป็นความจำเป็นแห่งชีวิต และมิใช่เป็นแต่เพียงทางหาเลี้ยงชีพเท่านั้น (ทั้งนี้โดยเลิกร้างกรรมสิทธิ์เอกชน และการประดิษฐ์กรรมแบบแข่งขัน)”
หลวงประดิษฐ์ฯ : ประเด็นอยู่ที่การเลิกร้างรายได้ และมรดกหรืออยู่ที่การทำงานเป็นจุดสำคัญ
เซอร์ รอเบอร์ต : ถ้าจะพิจารณาหลักให้ถี่ถ้วนแล้ว จะเป็นการยากลำบาก ที่เราจะกระทำได้นั้นคือ คัดเลือกเอาข้อความในกำหนดการต่างๆ ของคอมมิวนิสต์มาตั้งเป็นลักษณะขึ้น ถ้าเราใช้ถ้อยคำดั่งที่มีอยู่ในกำหนดการต่างๆ แล้ว เราจะได้ไม่ผิดพลาด
นายกียอง : ในกำหนดการมอสโคว์นั้น ก่อนที่ว่า “งานจะเป็นความจำเป็นแห่งชีวิต” ได้กล่าวว่า “เมื่อได้เลิกร้างกรรมสิทธิ์เอกชนและทรัพย์สินเอกชนแล้ว” จึงแสดงให้เห็นว่า ความจำเป็นของงานนั้นเป็นที่หมายในที่สุด
เซอร์ รอเบอร์ต : จริง เป็นที่หมายในที่สุดแต่ทว่าในระหว่างนั้นมีขั้นดำเนินการเป็นขั้นๆ ไป
หลวงประดิษฐ์ฯ : ชาล์ลส์ จีด ได้แสดงไว้ว่า การบังคับให้ทำงานนั้นเป็นระเบียบการของโซซลิสต์หลายอย่าง ถ้าจะพูดโดยเคร่งครัดแล้วการเกณฑ์ทหารก็เป็นการบังคับให้ทำงานเหมือนกัน ส่วนการวางแผนการนั้นก็มีคณะอื่นๆ นอกจากคณะคอมมิวนิสต์ใช้วิธีการเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน
นายกียอง : การวางแผนการเป็นวิธีการอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นควรถอนข้อความตอนนี้ออกได้
เซอร์ รอเบอร์ต : ไม่เห็นควรถอนออก เพราะว่าเป็นลักษณะเฉพาะของคอมมิวนิสต์
หลวงประดิษฐ์ฯ : แผนการนั้นเป็นวิธีการ ไม่ใช่วัตถุที่หมาย อันวิธีการนั้นมีต่างๆ นานา เช่นวรรณคดีในทำนองลัทธิต่างๆ ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่งเหมือนกัน
เซอร์ รอเบอร์ต : “แผนการ” ในที่นี้ หมายความถึงแผนการเพื่อบรรลุอุดมคติคอมมิวนิสต์ แผนการบังคับให้มีอาชีพอย่างที่หลวงประดิษฐ์ฯ ดำริอยู่นั้น ไม่เข้าอยู่ในลักษณะดั่งที่ข้าพเจ้าได้วิเคราะห์ขึ้นใหม่นี้ เพราะว่าหลวงประดิษฐ์ฯ มีความประสงค์ที่จะจำแนกพวกที่มีทางหาเลี้ยงชีพอยู่แล้วจากพวกที่ไม่มี ความมุ่งหมายของหลวงประดิษฐ์ฯ ก็คือ จะให้พวกที่อาจเป็นภัยต่อประเทศนั้นทำงาน และอีกประการหนึ่งความมุ่งหมายของหลวงประดิษฐ์ฯ ก็มิใช่ว่าจะเลิกร้างกรรมสิทธิ์เอกชนและการประดิษฐ์กรรมแบบแข่งขัน
หลวงประดิษฐ์ฯ : แต่ถ้าบรรจุข้อความซึ่งเข้าใจยากลงไปแล้ว มหาชนอาจเข้าใจผิดไปได้ว่า การบังคับให้ทำงานทุกอย่างทุกชนิดมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์
นายกียอง : ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะถือที่หมายในที่สุดเป็นใหญ่หรือขั้นดำเนินการในระหว่างเป็นใหญ่
ประธานกรรมาธิการ : จะกลับข้อความที่เรียงไว้นั้น โดยเอาตอนท้ายไปไว้ตอนต้นและเอาตอนต้นมาไว้ตอนท้าย ได้หรือไม่
เซอร์ รอเบอร์ต : ควรจะรักษาลำดับบัดนี้ไว้ เพราะได้เอาข้อความซึ่งเกี่ยวด้วยการดำเนินการในระหว่างไว้ข้างต้นและเอาข้อความที่เกี่ยวด้วยที่หมายในที่สุดไว้ข้างหลัง
หลวงประดิษฐ์ฯ : จะถอนข้อ 6 ออกเสี่ยแล้วให้ข้าพเจ้าแสดงความเห็นในเรื่องบังคับให้มีอาชีพในเมื่อกรรมาธิการถามถึงคำมั่นซึ่งข้าพเจ้าได้ให้ไว้แก่รัฐบาลดังที่ประธานกรรมาธิการได้แนะไว้นั้นไม่ได้หรือ
ประธานกรรมาธิการ : เมื่อผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ไม่ตกลงกันลักษณะข้อ 6 นี้ ก็ควรจะถอนออกจากบันทึกรวม และเอาไปใส่ไว้ในบันทึกอุปกรของผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่าน เรื่องต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในบันทึกอุปกรนั้นจะได้ขอให้หลวงประดิษฐ์ฯ แสดงความเห็นและจะได้มีข้อความกล่าวไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการถึงสภาผู้แทนราษฎรเหมือนกัน
ที่ประชุมตกลงตามนี้ เป็นอันว่า เซอร์ รอเบอร์ต และนายกียอง จะร่างบันทึกอุปกรเพื่อเดิมมา ส่วนข้อความนั้น เซอร์ รอเบอร์ตจะใช้ข้อความที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วนนายกียองนั้น จะใช้ข้อความว่า “เนื่องจากการเลิกร้างกรรมสิทธิ์เอกชนและทรัพย์สินเอกชนนั้น จึงทำให้งานเป็นความจำเป็นแห่งชีวิตสำหรับคนทั่วๆ ไป”
หลวงประดิษฐ์ฯ : ลักษณะต่างๆ ของคอมมิวนิสต์ที่วางไว้นี้ถ้ากระทำตามลักษณะเดียวเช่นลักษณะโภคกิจ ข้อ 4 ที่ว่า “ริบอสังหาริมทรัพย์บ้านเรือนใหญ่ๆ และย้ายคนงานและคนจนไปอยู่ในบ้านเรือนและถิ่นที่อยู่ของเศรษฐีหรือกระฎุมพี” ดังนี้ จะเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่หรือว่าจะต้องกระทำตามลักษณะทุกอย่างแล้ว จึ่งจะเป็นคอมมิวนิสต์
เซอร์ รอเบอร์ต และ นายกียอง : สุดแล้วแต่กรณี ลักษณะอันเดียวก็อาจจะทำให้เป็นคอมมิวนิสต์ได้ แล้วแต่ผู้มีหน้าที่วินิจฉัยจะวินิจฉัยว่าอย่างไร
ประธานกรรมาธิการ ถามความเห็นหลวงประดิษฐ์ฯ เพิ่มเติมดังต่อไปนี้
ประธานกรรมาธิการ : คุณหลวงจะมีความเห็นอย่างไร ในเรื่องศาสนา
หลวงประดิษฐ์ฯ : ศาสนานั้นจำต้องมี แต่ใครจะนับถือศาสนาอย่างไรก็ได้ ทุกคนพึงมีศาสนา แต่เมื่อมีศาสนาอยู่แล้วก็ดีแล้วข้าพเจ้าไม่คิดที่จะล้างล้มศาสนาเลย
ประธานกรรมาธิการ : คำมั่นที่คุณหลวงให้ไว้แก่รัฐบาลก่อนว่าจะไม่ใช้วิธีใหม่ใดๆ ที่จะบังคับซื้อที่ดิน และบังคับจ้างแรงงาน เป็นวิธีบำรุงการโภคกิจนั้น สำหรับรัฐบาลนี้ ก็ยังเป็นการใช้ได้อยู่หรืออย่างไร?
หลวงประดิษฐ์ฯ : สำหรับรัฐบาลนี้ ก็เป็นอันใช้ได้อย่างเดียวกัน การที่คิดจะบังคับให้คนมีอาชีพ ก็คิดจะดำเนินตามมนุษยสงเคราะห์ของสันนิบาตชาติ เพื่อหางานให้คนทำ และให้คนมีอาชีพเท่านั้น หาได้คิดจะดำเนินตามวิธีการของคอมมิวนิสต์หรือของนาซีไม่
ประธานกรรมาธิการ หลักความเห็นที่คุณหลวงแสดงมาทั้งนี้ เป็นหลักการซึ่งคิดเห็นมาแต่ก่อน มิใช่ชั่วแต่ในขณะนี้หรืออย่างไร
หลวงประดิษฐ์ฯ : เป็นหลักความเห็นที่คิดเห็นมาแต่ก่อน
เซอร์ รอเบอร์ต : ความเห็นของคนย่อมเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งเป็นคราว ข้อสำคัญก็คือในเวลานี้มีความเห็นอย่างไร
หลวงประดิษฐ์ฯ : ในหลักความเห็นข้าพเจ้ามิได้เปลี่ยนแปลงอย่างไร
ประธานกรรมาธิการ : เซอร์ รอเบอร์ต และนายกียอง เห็นว่า หลวงประดิษฐ์ฯ ได้แสดงความเห็นในลักษณะต่างๆ ของคอมมิวนิสต์ ดั่งที่มีอยู่ในบันทึกรวมนั้น ครบถ้วนทุกข้อแล้วหรือยัง?
เซอร์ รอเบอร์ต และ นายกียอง : ตอบครบถ้วนทุกข้อแล้ว
เซอร์ รอเบอร์ต : ข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง ในความคิดเห็นของหลวงประดิษฐ์ฯ ในเรื่องบังคับให้คนมีอาชีพ หรือว่าทำไมจะใคร่ให้ถอนข้อ 6 ออก
หลวงประดิษฐ์ฯ : การที่ไม่อยากจะให้มีลักษณะข้อ 6 ว่าด้วยการบังคับคนให้ทำงานไว้ในบันทึกรวมนั้น เพราะเห็นว่า ตามหลักวิชาการไม่ใช่เป็นหลักสาระสำคัญของลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หากเป็นวิถีทางดำเนินการอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งคณะนาซี และคณะอื่นๆ ก็นำเอาไปใช้เหมือนกัน และตามที่ชาล์ลส์ จีด ได้แสดงไว้ก็ปรากฏว่าเป็นการเกี่ยวกับวิภัชกรรม (การแบ่งสรรโภคทรัพย์) มากกว่าประดิษฐกรรม (การบังเกิดโภคทรัพย์)
ในเรื่องที่ดินนั้น เมื่อก่อนปิดสภาข้าพเจ้าก็ได้แถลงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและได้มีหนังสือไปยังเจ้าคุณทรง ว่าข้อความในเค้าโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้านั้น เป็นแต่เพียงเค้าความซึ่งจะแก้ไขอย่างใดก็ได้ ข้าพเจ้ามีความมุ่งหมายที่จะตั้งระเบียบวิธีการไว้ให้รัฐบาลซื้อที่ดินแต่ไม่ใช่เป็นการบังคับให้บุคคลขายที่ดิน เป็นแต่ว่าใครสมัครขายก็ให้รัฐบาลรับซื้อเอา อนึ่ง เรื่องการบังคับทำงานนั้น หนังสือที่พวกโซเวียตแต่งชื่อว่า Travail Libre ou Travail Force (G. Fourcache) ก็อ้างว่าไม่มีการบังคับกลับซัดทอดมาให้เป็นคติของประเทศที่ถือลัทธิเศรษฐนิยม และทั้งสุภาษิตว่า “ใครไม่ทำงานก็ไม่ได้กิน” ซึ่งพบในกำหนดการของคอมมิวนิสต์นั้น ก็เนื่องมาจากคัมภีร์ไบเบิล (ไตรปิฎกของศาสนาคริสต์นั่นเอง) คือคำสั่งสอนของนักบุญซื่อ ปอล ว่า "For also when we were with you, this we declared to you : that if any man will not work, neither let him eat." และศาสตราจารย์จีด ก็อ้างว่าสุภาษิตนั้น ขอยืมไปจากเซนต์ปอล (Gide : Communist and Co operative Colonies, p.26)
ประธานกรรมาธิการ : หนังสือของหลวงประดิษฐ์ฯ ถึงเจ้าคุณทรงฯ ที่ว่านี้ ได้นำสำเนาทูลเกล้าฯ ถวายก่อนที่จะตกลงเรียกหลวงประดิษฐ์ฯ กลับเข้ามาแล้ว
ปิดประชุมเวลา 12.45 น.
(ลงพระนาม) วรรณไวทยากร วรวรรณ
ประธานกรรมาธิการ
----------------------------
รายงานการประชุมครั้งที่ 4
เปิดประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2476 เวลา 9.10 น.
มีผู้มาประชุม คือ
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ประธานกรรมาธิการ
พระยาศรีสังกร กรรมาธิการ
พระยานลราชสุวัจน์ กรรมาธิการ-เลขาธิการ
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญ
นาย ร.กียอง ผู้เชี่ยวชาญ
และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งกรรมาธิการเชิญมา
ที่ประชุมได้แก้รายงานการประชุมครั้งที่ 2 ต่อไปอีก ดังนี้
1. (หน้า 3, บรรทัดที่ 6) คำว่า “อนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญาของอิตาลี ก็บังคับให้คนมีอาชีพ" แก้เป็น "อนึ่ง กฎหมายของประเทศอื่นๆ เช่น บัลแกเรีย และปารากวัย ก็มีบังคับให้คนทำงานบางอย่างและตามอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับแรงงานของสันนิบาตชาติ ก็ยอมให้เกณฑ์แรงงานได้ในกรณี ปีหนึ่งไม่เกิน 60 วัน”
2. (หน้า 9, บรรทัดที่ 15) ฆ่าคำว่า “และไม่คิดจะมีบทกำหนดโทษผู้ที่ไม่ทำงาน” ออกเสียที่ประชุมได้แก้รายงานการประชุมครั้งที่ 3 ดังต่อไปนี้
1. (หน้า 2, บรรทัดที่ 1) เปลี่ยนคำว่า “และ” เป็น “เพื่อ”
2. (หน้า 2, บรรทัดที่ 9) เติมคำว่า “กำหนดการ ค.ศ. 1920
ประธานกรรมาธิการ : คุณหลวงเป็นสมาชิกหรือเกี่ยวพันกับคณะคอมมินิสต์ระหว่างประเทศอย่างไรหรือไม่
หลวงประดิษฐ์ฯ : ไม่ได้เป็นสมาชิกหรือเกี่ยวพันกับคณะคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศอย่างไรเลย
เซอร์ รอเบอร์ต : หลวงประดิษฐ์ฯ คิดจะถอนการอุดหนุน ซึ่งรัฐบาลอุดหนุนคณะสงฆ์อยู่นั้นหรือไม่?
หลวงประดิษฐ์ฯ : มิได้คิดเลย ตรงกันข้าม เมื่อครั้งรัฐบาลพระยามโนฯ คิดจะยกเลิกกฐินหลวงบางวัดเสีย เพราะว่าเป็นการเปลืองพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จึงจะให้เป็นกฐินราษฎรเสีย ข้าพเจ้ายังได้คัดค้านและได้เสนอว่าให้เอาเงินกระทรวงธรรมการออกแทน
เซอร์ รอเบอร์ต : หลวงประดิษฐ์ฯ เห็นด้วยในการที่คณะสงฆ์จะร่วมมือกับรัฐบาลการศึกษาหรือไม่?
หลวงประดิษฐ์ฯ : อยากจะให้ร่วมมือ ในข้อนี้คณะสงฆ์ในเมืองไทย ไม่ค่อยอยากจะมาเกี่ยวข้องกับทางฝ่ายอาณาจักร ซึ่งต่างกับที่เป็นอยู่ในประเทศตะวันตก แต่ข้าพเจ้าเองอยากจะให้คณะสงฆ์มาร่วมมือกับรัฐบาลในการศึกษาอบรม
นายกียอง : ปัญหาเหล่านี้อยู่นอกกำหนดการคอมมิวนิสต์
ประธานกรรมาธิการ : คำตอบของหลวงประดิษฐ์ฯ ที่ตอบ เซอร์ รอเบอร์ต นี้ ข้าพเจ้าจะได้บันทึกไว้ในรายงานการประชุม แต่จะไม่เติมลงในรายงานของคณะกรรมาธิการเสนอสภา
ประธานกรรมาธิการ : ขอให้คณะกรรมาธิการลงมติว่า ตามที่ได้สอบสวนมานี้ เห็นว่าหลวงประดิษฐ์ฯ ปราศจากมลทิน ในการที่ได้มีคำกล่าวหาในสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ ว่า เป็นคอมมิวนิสต์นั้นหรือไม่?
คณะกรรมาธิการลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า หลวงประดิษฐ์ฯ ไม่มีมลทินเป็นคอมมิวนิสต์ดังที่กล่าวหานั้นเลย
ที่มา: (สำเนา) รายงานคณะกรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่?, (สำเนา) กรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่?, รายงานประชุมครั้งที่ 1, รายงานประชุมครั้งที่ 2, รายงานประชุมครั้งที่ 3, รายงานประชุมครั้งที่ 4, ใน. “เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), หน้า 171-209, ปรับปรุงจากต้นฉบับ
หมายเหตุ: การสะกดคำตามเอกสารต้นฉบับ
[1] หมายเหตุ. (1) มาร์กซอธิบายว่า คำว่า "พวกกระฎุมพี" (Bourgioisie) นั้นหมายความถึงชนชั้นนายทุนในปัจจุบันซึ่งเป็นเจ้าของอุปกรณ์ประดิษฐกรรมของชุมชนและเป็นผู้จ้างพวกกรรมกรรับจ้าง. ส่วนคำว่า "ชนกรรมาชีพ" (proletariat) นั้น หมายความถึงชนชั้นคนงานรับจ้างในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีอุปกรณ์ประดิษฐกรรมของตนเอง จึงจำต้องขายแรงงานของตนเพื่อจะให้ยังชีพอยู่ได้.)
- ปรีดี พนมยงค์
- เค้าโครงเศรษฐกิจ
- ระบบศักดินา
- สภาผู้แทนราษฎร
- รัฐธรรมนูญ
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- รัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา
- สมุดปกเหลือง
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- ชนชั้นศักดินา
- ศักดินา
- ฝ่ายศักดินา
- คณะราษฎร
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- รัชกาลที่ 7
- พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ 2476
- คอมมิวนิสต์
- สมุดปกขาว
- ยึดอำนาจการปกครอง
- ประชาธิปไตย
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร
- พระยานลราชสุวัจน์