ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

จากลูกชาวนาเมืองกรุงเก่าสู่บุคคลสำคัญของโลก

11
พฤษภาคม
2564

 

ณ บริเวณฝั่งเหนือของคลองเมืองหลวง ห่างจากมุมกำแพงพระราชวังโบราณ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ด้านตะวันตกประมาณเกือบ 1 กิโลเมตร มีวัดหนึ่งตั้งอยู่ ผู้เฒ่าได้เล่าสืบทอดต่อๆ กันมาว่า พระนมแห่งพระมหากษัตริย์องค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อ ประยงค์ เป็นผู้สร้างวัด บุคคลที่มีชื่อหลายพยางค์นั้น ชาวกรุงฯ นิยมเรียกแต่พยางค์ต้นและพยางค์ท้าย เช่นเรียกผู้ที่ซื่อ ประยงค์ ว่า ยงค์ พระนมประยงค์ จึงเป็นที่รู้จักของชาวกรุงฯในนาม พนมยงค์ วัดนั้นจึงมีชื่อตามชื่อของผู้สร้างวัดว่า วัดพนมยงค์

วันศุกร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ร.ศ.119 เวลาบ่ายโมง (ตรงกับวันที่ 11 พฤษภาคม 2443) ที่เรือนแพหน้า วัดพนมยงค์ นางลูกจันทน์ ได้คลอดบุตรชายออกมาอย่างยากลำบาก ถึงขนาดเป็นลมสลบไป หลังจากคลอดบุตรเสร็จ นายเสียง และ ญาติๆ คิดว่าทารกนั้นตายแล้ว เพราะไม่ได้ยินเสียงร้อง จึงช่วยปฐมพยาบาลเพียงคนเป็นแม่ นาง กิม บุตร นางแฟง ซึ่งเป็นหลานนายเสียง เห็นว่าญาติผู้ใหญ่ช่วยกันปฐมพยาบาลมากพอแล้ว จึงมาเอาใจใส่ทารกน้อย

นางกิมอุ้มทารกขึ้นมา เด็กชายส่งเสียงดังลั่น ทำให้นายเสียงบิดาเกิดความปีติ ด้วยว่าเป็นบุตรชายคนแรก (หลังจากมีบุตรสาวคนโตเมื่อเจ็ดปีก่อน)

นายเสียง จึงตั้งชื่อว่า “ปรีดี” โดยไม่มีชื่อเล่น ชื่อย่อ ชื่อจีน หรือชื่ออื่นใดทั้งสิ้น

7 สิงหาคม 2526 ณ วัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ แสดงพระธรรมเทศนาในโอกาสครบ 100 วัน แห่งการอสัญกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ ความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตสู่นคร ทรงพระราชดำริเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ท่านได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้ายกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส มีหน้าที่รับปรึกษาราชการแผ่นดินเพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป นับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครเทียมถึง......”

“ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” เป็นบุคคลมหัศจรรย์ ยากที่จะมีผู้เทียมถึง ประการหนึ่ง เพราะท่านมีกำเนิดเป็นเพียงลูกชาวนาของเมืองกรุงเก่า คือพระนครศรีอยุธยา เมื่อพิจารณาตามชาติคุณแล้ว ไม่มีลู่ทางที่จะดำเนินชีวิตให้รุ่งโรจน์ถึงตำแหน่ง รัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งเป็นคนแรกและคนเดียวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าแต่งตั้งในประเทศไทย …

“ท่านรัฐบุรุษอาวุโส” ได้มอบกายถวายชีวิตโดยใช้สติปัญญา สามารถดำเนินรัฏฐาภิปาลโนบาย ด้วยนโยบายอันเฉียบแหลม จัดระบบการปกครองให้ทันเหตุการณ์ทุกตำแหน่งหน้าที่ ..."

การมีกำเนิดเป็น ลูกชาวนาของเมืองกรุงเก่า นี่เอง คือ จุดเริ่มต้นของ นายปรีดี ผู้มี ลู่ทางที่จะดำเนินชีวิตให้รุ่งโรจน์ บนหน้าประวัติศาสตร์ตราบนานเท่านาน

คงไม่มีใครคาดคิดว่า อีกร้อยปีต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2543 ลูกชาวนา คนนี้ซึ่งต่อมาคือ นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องจาก องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยผลงานที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติและสังคมส่วนรวม

ดุษฎี พนมยงค์
11 พฤษภาคม 2564

 

หมายเหตุ: 

  • ข้อมูลบางส่วนในบทความนี้มาจากหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์ กับ ชีวิต 21 ปี ในจีน” (ดุษฎี พนมยงค์), “หนังสือปรีดีบรรณานุสรณ์ 2562” (ดุษฎี พนมยงค์) และ “บทความ ปรีดี พนมยงค์ เริ่มต้นที่นี่ :พระนครศรีอยุธยา” The 101 World (กษิดิศ อนันทนาธร)
  • บทความนี้ได้ทำการขออนุญาตผู้เขียนเพื่อนำมาเผยแพร่เป็นที่เรียบร้อย