ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐประหารกับสังคมไทย

22
พฤษภาคม
2564

 

*บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งในงานปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2551 

 

หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แล้ว ก็มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้น แต่ก็เห็นได้ชัดว่าระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นนั้นยังมีความอ่อนแออยู่มาก ดังจะเห็นได้ว่า รัฐบาลเลือกตั้งต้องประสบกับปัญหาเรื่องเสถียรภาพอันเป็นผลพวงโดยตรงจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 แม้ว่าบทบาททหารจะลดลงหลังจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม

แต่ก็ใช่ว่าบทบาทของทหารในการเมืองไทยจะถอยกลับไปสู่ภาวะปกติ ทหารยังคงมีบทบาทอยู่สูงมาก ซึ่งจะเห็นได้จากรูปธรรมของปรากฏการณ์ที่ด้านหนึ่งยังคงมีคำถามเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ถึงการรัฐประหารว่าจะเกิดอีกหรือไม่ และอีกด้านหนึ่งก็เห็นชัดถึงบทบาทของผู้นำทหารปรากฏอยู่ตลอดเวลาบนหน้าสื่อ อันเป็นสัญญาณโดยตรงที่บ่งบอกถึงความไม่ปกติของการเมืองไทยเรื่องราวเช่นนี้บ่งบอกถึงแนวโน้มที่เด่นชัด 4 ประการคือ

1) ความอ่อนแอของรัฐบาลพลเรือน รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งยังอ่อนแอและไม่สามารถเสริมสร้างศักยภาพทางการเมือง จนก่อให้เกิดหลักการของวิชารัฐศาสตร์ในเรื่องของ “การควบคุมโดยพลเรือน” (civilian control) ให้เกิดขึ้นได้

2) บทบาทและอำนาจที่เข้มแข็งของกลุ่มทหาร ทหารยังคงเป็นกลุ่มการเมืองที่มีบทบาทและอำนาจมากในการเมืองไทยและยังคงมีศักยภาพในการโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีการรัฐประหารไม่แตกต่างไปจากเดิม

3) การเสริมสร้างอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองในสังคม ประชาสังคมไทยบางส่วนอาจจะมีความกังวลต่อการแทรกแซงของทหารในการเมือง แต่บางส่วนก็มองเห็นกองทัพในภาพ ลักษณ์แบบเดิมว่าเป็น “อัศวินม้าขาว” ที่จะมาแก้ไขวิกฤตการเมืองของประเทศ ผสมผสานกับการขยายตัวของ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Ideology of Antipolitics) ที่ยิ่งเสริมสร้างทัศนะต่อต้านการเมืองแบบบพลเรือนให้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางซึ่งก็อาจกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้การเมืองก้าวไปสู่ “กับดักรัฐประหาร” ได้ไม่แตกต่างจากเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549

4) อิทธิพลที่ไม่เข้มแข็งของปัจจัยภายนอก แม้บทบาทของปัจจัยภายนอกจะมีส่วนที่ไม่เอื้อต่อการยึดอำนาจของทหารในการเมืองไทย แต่ปัจจัยดังกล่าวก็เป็นเพียง “แรงกดดันภายนอก” ซึ่งก็อาจจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้นำทหารไทยเท่าใดนักอีกทั้งพวกเขาเชื่อว่า อย่างไรเสียรัฐมหาอำนาจก็ไม่พร้อมที่จะออกแรงกดดันต่อรัฐบาลที่กรุงเทพฯ อย่างจริงจัง และที่สำคัญก็คือโอกาสที่ไทยจะถูกแทรกแซง เช่นในลักษณะของการ “เซงชั่น” ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองก็ดูจะไม่เป็นจริงเท่าใดนัก ซึ่งก็ทำให้ผู้นำทหารที่ต้องการยึดอำนาจไม่ต้องกังวลกับอุปสรรดจากปัจจัยภายนอกมากนัก

แนวโน้มทั้ง 4 ประการ จากที่กล่าวแล้วในข้างต้น ยังถูกผนวกเข้ากับเงื่อนไขภายใน 3 ประการของสถาบันกองทัพคือ

1) ความเป็นทหารอาชีพของคณะทหารไทย

แนวคิดเรื่องความเป็น “ทหารอาชีพ” อาจจะดูเป็นประเด็นทางทฤษฎี แต่ก็คงต้องยอมรับความเป็นจริงดังที่นักทฤษฎีเรื่องทหารกับการเมืองอย่างไฟเนอร์ได้กล่าวไว้ว่า “ปัจจัยสำคัญที่หักห้ามความปรารถนาในการแทรกแซงการเมืองก็คือความเป็นทหารอาชีพ” (S.E. Finer, The Man on Horseback, 1962)

ในทำนองเดียวกัน ฮันติงตันก็ให้คำตอบในเรื่องเช่นนี้ว่า “ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ทหารออกจากการเมืองก็คือ ความเป็นทหารอาชีพ” (S. Huntington, The Soldier and the State,1957) ซึ่งว่าที่จริงแล้ว แนวคิดเรื่องความเป็นทหารอาชีพเป็นเรื่องใหม่ เพราะก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส กองทัพไม่ได้มีความเป็นทหารอาชีพแต่อย่างใด กล่าวคือ คณะทหารถ้าไม่เป็นทหารรับจ้างที่อยู่ได้ด้วยเงินจากผู้ว่าจ้าง พวกเขาก็เป็นขุนนางที่อยู่ภายใต้การควบคุมของระบอบกษัตริย์

แต่พัฒนาการของสงครามและการกำเนิดของรัฐทำให้กองทัพมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อรัฐ และขณะเดียวกันก็เกิดพัฒนาการของความเชี่ยวชาญ ดังที่ฮันติงตันกล่าวสรุปว่า ทหารอาชีพเป็น “ผู้ชำนาญในการบริหารจัดการความรุนแรง” ซึ่งความชำนาญเช่นนี้ได้กลายเป็นความรับผิดชอบที่กองทัพมีต่อรัฐบาลพลเรือน (หรือผู้มีอำนาจฝายพลเรือน) และขณะเดียวกันก็อาศัยความชำนาญที่มีอยู่ทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษาด้านการทหาร” ให้แก่รัฐบาลพลเรือน

ดังนั้นในความเป็นทหารอาชีพดังกล่าวจึงได้กลายเป็นคำตอบให้ตัวเองว่า ทหารจะต้องไม่เข้ามายุ่งกับการเมือง และในขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะต้องส่งเสริมและผลักดันให้กองทัพเป็นทหารอาชีพ และด้วยผลที่เกิดขึ้นเช่นนี้ จะทำให้กองทัพถอยออกจากการเมือง [(ในทางทฤษฎีฮันติงต้นถึงกับกล่าวว่า ความเป็นทหารอาชีพจะทำให้กองทัพเป็นกลางทางการเมือง (politically sterile and neutral)]

จากมุมมองทางทฤษฎีข้างต้น ทำให้เกิดคำถามต่อการเมืองไทยว่า ในระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งธันวาคม 2550 นั้น กองทัพไทยได้ถอนตัวออกจากการเมืองและพัฒนาความเป็นทหารอาชีพได้มากน้อยเพียงใด เพราะหากความเป็นทหารอาชีพมีอยู่ในระดับต่ำแล้ว ก็คือคำเตือนที่บอกแก่เราโดยตรงว่า โอกาสของการรัฐประหารจากคณะทหาร ยังคงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

2) การยอมรับต่อการนำของรัฐบาลพลเรือนของทหาร

ในประเด็นนี้มีความเกี่ยวพันกับความเป็นทหารอาชีพของคณะทหารเพราะจะมีผลสืบเนื่องอย่างสำคัญในเชิงทัศนคติว่าผู้นำทหารยอมรับใน “หลักการแห่งความเป็นใหญ่ของพลเรือน” ได้มากน้อยเพียงใด (The Principle of Civil Supremacy) อย่างไรก็ตามโดยปกติแล้ว ผู้นำทหารมักจะมีทัศนคติว่ากองทัพเป็นดัง “ข้ารับใช้ของรัฐไม่ใช่ของรัฐบาล” และก็ไม่แปลกอะไรที่พวกเขามองว่า นักการเมืองเป็นพวก “สกปรก” ซึ่งประวัติศาสตร์พัฒนาการของการเมือง-การทหารของรัฐในยุโรปสะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวในหลายๆ กรณีมาแล้ว โดยสรุปก็คือ ผู้นำกองทัพมักจะมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้นำการเมือง 

ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ผู้นำทหารมองอย่างแยกส่วนว่าเขาจะรับใช้ต่อรัฐเท่านั้น และจะไม่ยอมอยู่ใต้รัฐบาล ผลที่เกิดขึ้นก็คือแรงผลักดันที่จะทำให้เกิดการเข้าแทรกแซงการเมืองของกองทัพเพราะเท่ากับเป็นการสร้างให้เกิดการไม่ยอมรับต่อการนำของรัฐบาล ซึ่งก็คือ เป็นการปฏิเสธต่อหลักการความเป็นใหญ่ของพลเรือนอันเท่ากับทำให้โอกาสของการสร้างแนวคิดพื้นฐานของความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารในระบอบประชาธิปไตยเรื่อง “การควบคุมโดยพลเรือน” ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง

หากพิจารณาจากกรณีของผู้นำทหารไทย จะเห็นได้ว่าการเมืองไทยยังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่ทำให้ผู้นำกองทัพยอมรับการนำของรัฐบาลพลเรือน อันเป็นอุปสรรคต่อการ “ยอมรับในอำนาจของพลเรือน” ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นผลโดยตรง

จากอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง ที่มองเห็นแต่ด้านลบของการเมืองแบบการเลือกตั้ง และมองไม่เห็นว่านักการเมืองจะสามารถทำประโยชน์อะไรให้แก่ประเทศได้เท่ากับผู้นำองทัพ ใน

อีกด้านหนึ่งก็มองว่า กองทัพมี “สถานะทางศีลธรรม” สูงกว่าพรรคการเมืองมาก หรือนายทหารบางส่วนก็มองด้วยทัศนะแบบสุดโต่งว่า พรรคการเมืองเป็นบ่อเกิดของความไร้ศีลธรรม ความไร้ประสิทธิภาพ การคอร์รัปชั่น และความแตกแยก เป็นต้น

ผลจากทัศนะดังกล่าว จะทำให้การเมืองไทยก้าวไปสู่การจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร ที่การเมืองเป็นฝ่ายควบคุมกองทัพได้ยากซึ่งก็คือการตอทย้ำถึงปัญหาทางทฤษฎีในอนาคตว่าการเมืองไทยจะทำให้แนวคิดเรื่อง “การควบคุมโดยพลเรือน” เกิดขึ้นได้จริงอย่างไร

3) ปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกองทัพ

ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทหารจะไม่เข้ามายุ่งกับการเมืองก็คือความกลัวว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกองทัพในเชิงสถาบัน ซึ่งผลดังกล่าวที่สำคัญมีอยู่ 3 ประการได้แก่

3.1 ความกลัวว่าการยุ่งกับการเมืองแล้ว จะทำให้ขีดกระทบดังกล่าวที่สำคัญมีอยู่ 3 ประการได้แก่ความสามารถในการสู้รบของกองทัพต้องลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง จะมีส่วนโดยตรงต่อการลดคุณค่าของความเป็นหน่วยกำลังรบของทหารงตัวอย่างดำเรียกร้องของมุสตาฟา เคมาล จากการประชุมที่ซาโลนิกาเพื่อก่อตั้งประเทศตุรกีสมัยใหม่ในปี 1909 ว่า “ตราบเท่าที่นายทหารยังดำรงอยู่กับพรรคการเมือง เราจะไม่สามารถสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง หรือสร้างกองทัพที่เข้มแข็งได้เลย... เราจะต้องออกกฎหมายห้ามนายทหารในอนาคตทุกนายเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง”

3.2 ความกลัวว่าการยุ่งกับการเมือง จะนำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่ จนอาจกลายเป็น “สงครามกลางเมือง” ได้ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของผู้นำกองทัพบกของเยอรมนี ต้องการจะดึงทหารออกจากการเมือง เพราะกลัวว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะพา กองทัพเข้าไปสู่ความขัดแย้งขนาดใหญ่ ดังคำสั่งของผบ.ทบ. เยอรมนี ในปี 1923 ที่กล่าวว่า “กองทัพจะต้องดำเนินการบนพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญ การยกเลิกหลักการนี้จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดชนะ แต่จะเป็นความขัดแย้งที่ยุติด้วยการพังทลายร่วมกันของทุกฝ่าย” (Gen Hans von Seeckt, The Order of the Day, 1923)

3.3 ความกลัวว่าการเข้าไปยุ่งกับการเมือง อาจจะนำไปสู่การทำลายสถาบันกองทัพ หรือจะมีส่วนต่อการทำลายอนาคตของกองทัพ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคอสตาริกาในปี 1948 เมื่อกองทัพเข้าไปสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น แต่ได้มีผู้นำมวลชนทำการเคลื่อนไหวจนสามารถล้มล้างรัฐบาลดังกล่าวได้ รัฐบาลใหม่ได้ยุบกองทัพ และจัดตั้งกองกำลังใหม่เข้าทดแทน ตัวอย่างนี้แม้จะเป็นกรณีที่เกิดกับประเทศเล็กๆ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า การเข้าไปสู่การเมืองอย่างมากนั้น ถ้าเกิดความพ่ายแพ้ขึ้น ก็อาจจะนำไปสู่การถูกสลายกองทัพได้

ความกลัวทั้ง 3 ประการนี้ อาจจะเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดแก่ผู้นำทหารไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากผลพวงของความสำเร็จในวันที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้นายทหารบางส่วนมองเห็นแต่ด้านของชัยชนะ ยิ่งมีกลไกสื่อบางส่วนช่วยเหลือในการปลุกระดมและจัดตั้งทางความคิดแก่ประชาชนแล้ว พวกเขาดูจะยังเชื่อมั่นว่าการรัฐประหารยังคงเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จได้ไม่ยากในสังคมไทย

รัฐประหารยังคงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมการเมืองไทยไปอีกนาน เพราะอย่างน้อยที่สุดเงื่อนไขภายใน 3 ประการ ยังไม่สามารถแสดงบทบาทเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งให้ทหารถอนตัวออกจากการเมืองได้ ดังนั้น “ตราบเท่าที่ทหารยังอยู่กับการเมืองไทย รัฐประหารก็จะยังคงอยู่กับการเมืองไทยเฉกเช่นเดียวกัน”

 

 

ที่มา: สุรชาติ บำรุงสุข. “รัฐประหารกับสังคมไทย” ใน “ไตรสรณคมน์ทหาร รัฐประหาร และ การเมืองไทย”. (2551: ปาปิรุส, กทม.), หน้า 84-91

หมายเหตุ: 

  • ปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนโดยบรรณาธิการ
  • บทความนี้ได้รับการอนุญาตจากผู้เขียนให้เผยแพร่ได้
  •  

สั่งซื้อ : “ไตรสรณคมน์ทหาร รัฐประหาร และ การเมืองไทย” โดย สุรชาติ บำรุงสุข ได้ที่ https://shop.pridi.or.th/th/product/645043/product-645043