Focus
- การจัดงานรำลึก 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในปี 2566 นี้ มีหลายกิจกรรม สำหรับที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 13 ตุลาคม 2566 มีการจัดงานภายใต้ชื่อ “14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย” โดยมีกิจกรรมสำคัญ คือ การมอบรางวัลผลการประกวดวรรณกรรม “14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย” และการเปิดตัวหนังสือ “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” และวันที่ 14 ตุลาคม 2566 มีการจัดเสวนาเรื่อง “50 ปี 14 ตุลา เจ้าฝันถึงโลกสีใด” โดยทั้งสองงานมีมูลนิธิ 14 ตุลา และองค์การหลายแห่งในภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจร่วมสร้างผลงานและจัดงาน
- การประกวดวรรณกรรมในโอกาสรำลึก 50 ปี 14 ตุลาคม 2516 มีขึ้นเฉพาะเรื่องสั้นและบทกวี โดยมีผู้ส่งเข้าประกวด 300 ชิ้น ผ่านการพิจารณาที่ได้รับรางวัลทั้งสองประเภทวรรณกรรมมี 26 ชิ้น (เรื่องสั้น 13 รางวัล และ บทกวี 13 รางวัล) ส่วนการเสวนาได้ให้ข้อมูล (และการศึกษาจากภาพและข่าว) และมุมมองที่ให้บทเรียนในอดีต ถึงการพิสูจน์ประสบการณ์แห่งวิถีการต่อสู้ทางการเมือง ว่าหนทางใดประสบชัยชนะและหนทางใดพ่ายแพ้ รวมถึงการเน้นถึงการมีองค์การกลางที่ทำหน้าที่สนับสนุนประชาธิปไตย ก็เป็นสิ่งที่พึงเกิดขึ้นในประเทศไทย
- ปัจจัยสำคัญๆ อาทิ การเปิดเผยการล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐต่อสาธารณะชน ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชน และการเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อยุติการปกครองโดยเผด็จการทหาร แต่ถูกรัฐบาลทหารจับกุม นำไปสู่การเข้าร่วมอย่างกว้างขวางของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนุทุกหมู่เหล่า เพื่อแสวงหาเสรีภาพและประชาธิปไตย ความใฝ่ฝันถึงสังคมไทยในอนาคตที่ปรารถนา ดำเนินไปโดยผ่านความหลากหลายของการแสดงออกทางวรรณกรรม คำคมเด่นในบทเพลง “นกสีเหลือง” ที่ว่า “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” (แดง เหลือง หรือ ...) ยังคงเป็นแรงขับดันให้เสรีชนที่ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 ในอดีต ส่งมอบการสร้างสรรค์สังคมไทยในอนาคตให้แก่คนรุ่นใหม่ที่พึงรับภาระต่อไป โดยไม่ทอดทิ้งจิตวิญญาณประชาธิปไตย
“ห้าสิบปีต่อมา”
สลายทัพ ย่ำดงทากออกจากป่า
เขาจำได้…หยดน้ำตากับห่าฝน
หลั่งรวมหลอมเป็นคลื่นไฟไหลลวกลน
เหมือนเขามอดไหม้จนกลายเป็นจุณ
ล้าดิ่งหลับอยู่ในมุมฝันชุ่มเลือด
เสียงกาน้ำร้อนเดือด กาแฟกรุ่น
กระชั้นเพลงกาเหว่าเช้าละมุน
อีกมืออุ่นปลุกเขาฟื้นตื่นงงงัน
โลกไม่ใช่โลกใบเดิมแล้วหรือนี่
ห้าสิบปีหลับซุกหลุมวัยหนุ่มนั่น
เขารำพึงซ้ำซ้ำครวญรำพัน
ลูบใบหน้าปัดฝ้าควันสรรนิพนธ์
เอื้อมหยิบแว่น คนรักวางให้ข้างหมอน
สวมแล้วมองโลกซับซ้อนชวนสับสน
สนามหญ้าหน้าบ้านหลานสี่คน
เล่นซุกซนไร้เดียงสาหยอกหมาแมว
ห้าสิบปีหลับใหลไม่รู้ว่า
พุ่มจำปูน ต้นจำปา จำปี แก้ว
หยั่งรากรักบานดอกเกลื่อนไร้เงื่อนแร้ว
ให้ลมแผ่วรำเพยกลิ่นร่ำรินไกล
ยอกย้อนกลับไปเติมเนื้อถูกเถือแล่
ประวัติศาสตร์บาดแผลเกินแก้ไข
หลานสี่คนซนซุกปลอบปลุกใจ
นั่นแหละขอบฟ้าใหม่ใช่จริงจริง
โลกเหลื่อมซ้อนเอียงซ้ายย้ายกลับขวา
คะมำหน้า หงายหลังล้ม ทรุดจมดิ่ง
งูเป็นนก นกแกล้งเล่นกลายเป็นลิง
เลี้ยงฝูงปลิงบนวิหารม่านหมอกมัว
ตามไม่ทันขั้นตอนกลย้อนยอก
ปืนเคยกดปากกระบอกให้ก้มหัว
กลายเป็นนิติสงครามน่าคร้ามกลัว
ล้อมปราบขั้วต่างคิดปิดประตู
ประเทศไม่เคยมีเสรีภาพ
พ่อมดบาปยังเลือดเย็นยังเห็นอยู่
สัมผัสได้กลางสายลมกรีดขรมกรู
หลานสี่คนจะโตสู้กลซ้อนซับ
ร่างกลวงเปล่าย่ำดงทากจากป่าลึก
ห้าสิบปีผ่านรู้สึกตื่นจากหลับ
เขาออกไปสู่ลานหญ้าอ้าแขนรับ
เสียงปู่ครับผมรักปู่ หนูรักตา.
บทกวีชนะเลิศ ในวาระ 50 ปี 14 ตุลา
โดย คีตา บารัตดายา (วิสุทธิ์ ขาวเนียม)
ท่ามกลางมวลชนคนรักการอ่านที่พลุกพล่านด้านหน้าห้องโถงที่ 5-6-7 มีการจัดนิทรรศการ “50 ปี 14 ตุลา” และลานกิจกรรมที่กำลังอึงอลปะปนไปด้วยสรรพเสียงของการจับจ่ายภายใต้บรรยากาศเปี่ยมชีวา หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์การประพันธ์ร่วมบันทึกรำลึก “14 ตุลามหาวิปโยค” ด้วยงานมอบรางวัลผลการประกวดวรรณกรรม “14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย” และเปิดตัวหนังสือ “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” ในวาระ “50 ปี 14 ตุลา” เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงาน ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28’ จัดโดย มูลนิธิ 14 ตุลา ร่วมกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นับเป็นปีที่มีความตื่นตัวในกิจกรรมทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะภาคเอกชนและภาคประชาชน หลายกลุ่มร่วมจัดงานพร้อมกัน นั่นอาจเป็นเพราะความผันผวนทางการเมือง ซึ่งเกิดจากกระบวนการสกัดกั้นพรรคการเมืองเสียงข้างมากอย่างไม่เคารพสิทธิ์และเสียงของพลเมือง นำมาสู่เรื่องของการเคลื่อนไหวอย่างตื่นรู้เพื่อนำไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามแนวทางที่รัฐบุรุษเคยปลูกสร้าง แต่ถูกกวาดล้างแทบสิ้นซากจากวรรณกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตามครรลองของประชาธิปไตยในอดีต
จากการทำงานของ ‘สมาคมนักเขียน’ ร่วมกับ ‘มูลนิธิ 14 ตุลา’ มีการเปิดรับเรื่องสั้นและบทกวีภายใต้แนวคิด ‘14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย’ (อดีต ปัจจุบัน และหรือ อนาคต) ในวาระ ‘50 ปี 14 ตุลา 2516’ โดยเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2566 เป็นวันแรกในช่วงบ่าย เพียงภายในไม่กี่ชั่วโมงช่วงเย็นค่ำผลงานเริ่มกระหน่ำกันเข้ามาทางอีเมลของสมาคมนักเขียน และทยอยส่งตรงมาทางไปรษณีย์ไม่มีขาดสาย จนกระทั่งถึงวันสุดท้าย 31 กรกฎาคม 2566 แม้หลังเวลา 24.00 น. ยังมีการส่งผลงานเข้ามาเป็นระยะไม่หยุดหย่อน รวมเรื่องสั้นและบทกวีทั้งหมดเกือบ 300 ชิ้น จากการคัดสรรวรรณศิลป์โดยคณะกรรมการตัดสินคัดรวมสองประเภท 26 ชิ้น ซึ่งล้วนเป็นงานศิลป์ที่รังสรรค์โดยคนรุ่นใหม่หลัง 14 ตุลาคม 2516 ทั้งสิ้น
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิเด็ก ต่างตระหนักในพันธกิจเพื่อการผลักดันให้ผลงานคุณภาพเป็นที่รับรู้สู่วงกว้าง จึงร่วมจารึกบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ในวันที่การเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนคนไทยได้เดินทางมาถึงหนึ่งศตวรรษ ด้วยการจัดงานเปิดตัวหนังสือ “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” 14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย เป็นเล่มประณีตงามที่รวบรวมผลงานเรื่องสั้น 13 รางวัล และ บทกวี 13 รางวัล ทั้งปกอ่อนและปกแข็ง จัดพิมพ์โดย โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก บรรณาธิการโดย เจน สงสมพันธุ์
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา กล่าวกับสื่อมวลชน
ในโอกาส 50 ปี 14 ตุลา เป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปถึง 50 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย คนรุ่นที่เกิดทัน 14 ตุลา ที่ได้ประสบเหตุการณ์ส่วนใหญ่ล่วงเข้าวัยชรา คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่มีโอกาสทราบถึงเรื่องราวเหล่านี้ เป็นหมุดหมายสำคัญที่ควรรำลึกเหตุการณ์นี้ขึ้นมาเพื่อที่จะได้สืบทอดอุดมการณ์ให้คนรุ่นต่อไป เพราะประชาธิปไตยของประเทศไทยก็ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่เหมือนกับหลายประเทศในโลก การสร้างสรรค์สังคมต้องใช้เวลาต่อสู้มากทีเดียว เราจำเป็นต้องจัดเพื่อรุ่นปัจจุบันจะได้รับไม้ต่อ 60 ปี คนรุ่นเก่าก็จะความจำหลงลืมแล้ว ผิดกับ 50 ปี กำลังเป็นเวลาที่พอเหมาะพอสมเลยทีเดียว ในโอกาสนี้เราเห็นว่าสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือเรื่องของวรรณกรรม เพราะวรรณกรรมเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ เพราะงานวรรณกรรมสามารถหล่อหลอมอุดมการณ์ ปลุกเร้าวิญญาณการต่อสู้ ปลอบประโลมการเจ็บปวด ให้พลังได้มากทีเดียว
งานวรรณกรรมมีบทบาทเสมอไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ไม่ว่าสังคมไหนในโลกนี้จะต้องมีเรื่องของวรรณกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ในฐานะที่เราเป็นภาคเอกชนตัวเล็กๆ เราไม่สามารถจะจัดอะไรที่มันใหญ่มากได้ เพราะฉะนั้นเราจึงประกวดเฉพาะเรื่องสั้นและบทกวี ไม่เหมือนนวนิยายที่ต้องใช้เวลา คนที่จะทำเรื่องนี้ได้เขาต้องเป็นคนที่อยู่ในวงการ ซึ่งเราก็ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือฯ รวมถึงศิลปินแห่งชาติ ศิลปินศิลปาธร นักเขียน นักประพันธ์จำนวนมากมาร่วมเป็นกรรมการ วางกฎกติกาต่างๆ เชิญชวนคนเข้าประกวด และตัดสิน มีผู้ส่งงานเข้ามามากพอสมควร สามารถสรุปตัดสินได้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 นี่เอง เรามีการเตรียมงานอย่างดี เทคโนโลยีทุกวันนี้มันเจริญก้าวหน้ามาก เราจึงสามารถพิมพ์เป็นเล่มนี้ออกมาได้ รวบรวมงานทั้งหมดทั้งบทกวีและเรื่องสั้น ทั้งรางวัลชนะเลิศและรางวัลชมเชย
ปกติแล้วงานมอบรางวัลอย่างเช่น ซีไรต์ (S.E.A. Write Award) จะเลือกเรื่องเอกมาตั้งเป็นชื่อหนังสือ แต่สำหรับเล่มนี้เนื่องจากเรามีสองประเภททั้งเรื่องสั้นและบทกวีเลยใช้คำกลางๆ โดยเอาวรรคหนึ่งในบทเพลง ‘นกสีเหลือง’ ซึ่งเขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่มีวรรคทองว่า “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” คณะกรรมการจัดงาน 14 ตุลา ได้วรรคนี้มาเป็น THEME ของการจัดงาน เราก็เลยนำมาเป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ด้วย แล้วเอาเหรียญที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีการจัดการเผาศพของสามัญชนคนไทยที่ท้องสนามหลวง เพราะปกติจะต้องเป็นที่สำหรับราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น เรามีการจัดทำเหรียญที่ระลึกนำมาปรับปรุงใหม่ ผ่าเป็นสองซีกติดไว้ที่ปกหน้ากับปกหลังของหนังสือ พยายามจะทำให้ทันเพื่อจัดจำหน่ายในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งนี้ด้วยครับ
การจัดพิมพ์หนังสือในวาระ ‘50 ปี 14 ตุลา’ คณะกรรมการ ‘มูลนิธิ 14 ตุลา’ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวรรณกรรมที่มีบทบาทต่อการพัฒนาองค์ความรู้ จึงได้มอบหมายให้ฝ่ายกิจกรรมดำเนินการงานประกวด และน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ประเดิม ดำรงเจริญ รับอาสาเป็นธุระประสานงานการจัดประกวดบทกวีและเรื่องสั้นของโครงการนี้ มีประวัติการเป็นนักเคลื่อนไหวตามที่ได้รับเกียรติบันทึกไว้ในสื่อ[2] ประเดิมคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจุดชนวนการประท้วงกรณีล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่ฯ ไว้ในหนังสือ ‘มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ’ จนทำให้เกิดการประท้วงข้ามคืนขึ้นเป็นครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน พ.ศ. 2516 ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นประเดิมยังเป็นผู้อำนวยการซึ่งรับผิดชอบทั้งในฐานะบรรณาธิการและผู้จัดการหนังสือพิมพ์ ‘อธิปัตย์’ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ต่อมายังถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้จะชนะคดีศาลพิพากษาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ก็ต้องลี้ภัยไปต่อสู้ในต่างแดนอย่างยาวนาน และวันนี้คุณประเดิมได้มาร่วมงานในฐานะประธานฝ่ายวรรณกรรมด้วย
ประเดิม ดำรงเจริญ ประธานฝ่ายวรรณกรรม 50 ปี 14 ตุลา กล่าวถึงที่มาของโครงการประกวดวรรณกรรม ‘14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย’
สวัสดีกรรมการทุกฝ่ายและประชาชนที่มาชมงาน วันนี้เป็นวันที่ผมตื่นเต้นพอสมควรเพราะว่า นึกย้อนหลัง 50 ปีที่ผ่านไป ไม่น่าเชื่อว่าเราจะมีวันนี้ได้ ก่อนหน้านี้การทำหนังสือเป็นเรื่องที่ยากมากก็เหมือนที่ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ท่านเล่า การจะทำหนังสือแต่ละเล่ม การจะเอาผลงานดีๆ มาแสดงไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ เพราะเหตุผลทางการเมือง ก่อน 14 ตุลา 2516 เสรีภาพไม่มีเลยเรื่องจริงก็พูดตรงๆ ไม่ได้ ต้องอ้อมค้อม ทำอะไรก็ไม่ได้อาจติดคุกง่ายๆ ข้อหาภัยสังคม ต้องหนีตำรวจกลัวสันติบาล หลัง 14 ตุลา องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์หนังสือปกแดงออกมาเลย เป็นการท้าทายอย่างยิ่ง สังคมเปิดแล้ว เป็นการเปิดอย่างยิ่งใหญ่เรื่องเสรีภาพในช่วง 3 ปี 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 พี่ประสาร มฤคพิทักษ์กับพี่หมอวิชัย โชควิวัฒน เรียกทำอะไรกันได้ไหม’ ผมดีใจว่าวันนี้เราได้จัดงานระลึกถึง 50 ปี 14 ตุลา ทำได้แค่นี้ผมถือว่าสุดยอดแล้ว เนื่องจากได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก มูลนิธิ 14 ตุลา, สมาคมนักเขียน, สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ ได้ช่วยกันด้วยจิตด้วยใจทำให้มันเกิดวันนี้ขึ้นมาได้ งานออกมายิ่งใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะขนาดนี้ ผมดีใจที่ทุกท่านทุกฝ่ายได้ช่วยกัน โดยเฉพาะคุณเจน สงสมพันธุ์ กับ คุณพินิจ นิลรัตน์ ฯลฯ ที่ช่วยเป็นเบื้องหลังทำทุกอย่างเชื่อมประสานให้งานเกิดขึ้นได้อย่างสง่างาม ขอบคุณมากครับ
จากวรรคทองของ “นกสีเหลือง”
13 ตุลาคม 2566 ฤกษ์ดี 15.00 น. เปิดตัวหนังสือ “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” 14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย โดย ชูเกียรติ ฉาไธสง (นกน้อย)[3] กวี นักดนตรี นักเขียน และเป็นหนึ่งในกรรมการคัดเลือกงานประเภทเรื่องสั้นในรอบแรกของโครงการนี้ ที่มาพร้อมกีตาร์คู่ใจบรรเลงบทเพลงเพื่อชีวิตด้วยเพลงแรก ‘ผิงดาว’[4] (คำร้อง/ทำนอง : ชูเกียรติ ฉาไธสง แต่งไว้เมื่อกว่า 30 ปีก่อน), เพลงที่สอง ‘นกสีเหลือง’ (คำร้อง/ทำนอง วินัย อุกฤษณ์) อีกหนึ่งบทเพลงแห่งชีวิตของคนตุลา เป็นที่นิยมนำไปร้องและถูกบันทึกไว้หลาย version (บางท่านเพิ่มบทกวีทวีพลังเข้าไปด้วย) เพลงนี้มีวรรคทองเด่นสะดุดว่า “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” อันเป็นที่มาของ Theme ในการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 และถูกนำมาตั้งเป็นชื่อหนังสือรวมผลงานการประกวดวรรณกรรม “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” ปิดท้ายด้วยเพลงที่สาม ‘ไฟกลางโรงศพ’[5] (คำร้อง/ทำนอง : ชูเกียรติ ฉาไธสง เนื้อเพลงต่อต้านสงครามเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังคุกรุ่นด้วยการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส หรือสงครามโลกอาจจะเริ่มขึ้นอีกแล้ว…)
‘นกสีเหลือง’ กับเบื้องหลังบทเพลงแห่งชีวิต[6]
โดย เสถียร จันทิมาธร ร่วมบันทึก
นกสีเหลือง เพลงแห่ง ‘ชีวิต’ ของ วินัย อุกฤษณ์ และ พี่หงา สุรชัย จันทิมาธร
ระหว่างมีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องภายหลังการจับกุม 13 กบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา จาก “ลานโพธิ์” และทะลักไปยังสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถามว่า คนแต่งเพลง “นกสีเหลือง” วินัย อุกฤษณ์ ทำอะไรอยู่
คำตอบที่มิได้มีการบันทึกไว้ ณ ที่ใดก็คือ วินัย อุกฤษณ์ ทำงาน ‘ลับ’ อยู่ในหน่วยข่าว คอยสนองข้อมูลให้กับเวทีอภิปราย เป็น ‘หน่วยงาน’ ซึ่ง พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เป็นหัวเรือใหญ่เป็นหน่วยงานที่นอกจากมี วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์ และ พิทักษ์ ธวัชชัยนันท์ กับ สมคิด สิงสง เป็นกำลังสำคัญแล้วยังมี สุรชัย จันทิมาธร ป้วนเปี้ยนอยู่ด้วย เพราะอยู่ใน ‘หน่วยข่าว’ และออกไปเกาะติดอยู่ในภาคสนามแนวหน้าของขบวน ซึ่งเคลื่อนออกจากธรรมศาสตร์กระทั่งเกิดการปะทะที่บริเวณหน้าสวนจิตรลดาฯ เมื่อตอนเช้าตรู่ของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้นเอง ทำให้ วินัย อุกฤษณ์ ซึมซับภาพการถูกสังหารของนักศึกษา ประชาชน อย่างใกล้ชิดกระทั่ง ‘เสียศูนย์’ ไประยะกาลที่แน่นอนหนึ่ง
การได้มาซึ่งเพลง “นกสีเหลือง” ของ วินัย อุกฤษณ์ จึงมิใช่เรื่องตลกร้ายที่จะนำมาล้อเล่น ตรงกันข้าม นี่เป็น “ตำนาน” ของ “เพลงเพื่อชีวิต” ในแบบอันเป็นการผสมผสานระหว่างเพลงประท้วงจากสังคมตะวันตก กับ การต่อสู้อย่างชนิดหลั่งเลือดภายในเนื้อดินแห่งสังคมไทย เลือดที่หลั่งลงโลมดิน ชีวิตที่พลีให้กับความเชื่อมั่นต่อเสรีภาพและประชาธิปไตย คือ รากที่มาแห่งเพลง “นกสีเหลือง” กระทั่งกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวรุ่น “14 ตุลา”
ในความจริง วินัย อุกฤษณ์ มิได้จินตนาการขึ้นจากความว่างเปล่า หากทาง 1 เขาสะสมความจัดเจนจากการเป็นคนเขียนคำร้อยอันมีความไพเราะแม้ว่าจะปลอดสัมผัส เขาเป็น ‘นก’ ที่ชมชอบในการร้องเพลงให้ตัวเอง ตั้งแต่ยังเป็นบรรณาธิการ ‘ชมรมพระจันทร์เสี้ยว’ หน้าปกดำ ขณะเดียวกัน อีกทาง 1 เขาโถมตัวเองลงไปในเปลวเพลิงแห่งการต่อสู้ที่เป็นจริงของเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 ตั้งแต่ต้น จึงไม่แปลกที่ “นกสีเหลือง” จะเป็นความรู้สึกร่วม อันก่อให้เกิด “สมารมณ์” ยิ่งเมื่อ สุรชัย จันทิมาธร นำมาร้องและบรรเลง
เพลง“นกสีเหลือง”
คำร้อง-ทำนอง วินัย อุกฤษณ์[8]
กางปีก หลีกบิน จากเมือง เจ้านก สีเหลือง จากไป
เจ้าบิน ไปสู่ เสรี บัดนี้ เจ้าชีวาวาย ฮือ..ฮือ
เจ้าเหิร ไปสู่ ห้วงหาว เมฆขาว ถามเจ้า คือใคร
อาบปีก ด้วยแสง ตะวัน เจ้าฝัน ถึงโลก สีใด (ฮือ..ฮือ)
(พูด) “คุณจำได้ไหม เหตุการณ์เมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคม คุณจำได้ไหม รอยเลือด คราบน้ำตา และฝันร้ายของผู้คน วีรชนคนหนุ่มสาวของเรา ได้ตายไป ท่ามกลางห่ากระสุนและแก๊สน้ำตา ตายไปขณะชูสองมืออันว่างเปล่า เพื่อเรียกร้องหาเสรีภาพ ณ บัดนี้ ขอให้พวกเราจงพากันหยุดนิ่ง และส่งใจระลึกถึงไปยังพวกเขาเหล่านั้น อย่างน้อยก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ และจะได้เป็นกำลังใจ สำหรับผู้ที่จะอยู่ต่อสู้อีกต่อไป”
กางปีก หลีกบิน จากเมือง เจ้านกสีเหลือง จากไป
เจ้าคือ วิญญาณ เสรี บัดนี้ เจ้าชีวาวาย ฮือ…ฮือ
เจ้าคือ วิญญาณ เสรี บัดนี้ เจ้าชีวาวาย ฮือ…ฮือ
จงบิน ไปเถิด คนกล้า ความฝัน สูงค่า กว่าใด
เจ้าบิน ไปจาก รวงรัง ข้างหลัง เขายัง อาลัย
กางปีก หลีกบิน จากเมือง เจ้านกสีเหลือง จากไป
เจ้าคือ วิญญาณเสรี บัดนี้เจ้าชีวาวาย
Yellow Bird : by Winai Ukrit[9]
Spread wings, fly away from City, the Yellow Bird
Fly to Freedom, yet you are now dead
Fly to the sky, White Cloud asked who you are?
Wings bathed with sunshine, what kind of world do you dream of?
(speak) “Remember Oct 14-15? Remember blood stains, shedded tears and bad dreams that heroic boys and girls perished among bullets and tear gas, dying while empty hands thrusting out yearning for Freedom. Now, at this moment, let's be still and think of them. At least to remind us and boost our morale to fight for another day.”
Fly on the brave, your dream most precious
Fly away, leave longing memory behind
Fly away from City, the Yellow Bird
Your spirit is free, now that you are dead.
‘วรรณกรรมทำให้โลกหมุน’
เจน สงสมพันธุ์ อดีตนายกสมาคมนักเขียน เลขานุการและที่ปรึกษาโครงการ 14 ตุลา, บรรณาธิการหนังสือ “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” กล่าวเปิดงาน
เรียนท่านประธานมูลนิธิ 14 ตุลา และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน วาระ 50 ปี การเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นับเป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมืองครั้งใหญ่ที่สุด ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วม ยังไม่มีประวัติศาสตร์ครั้งใดที่ประชาชนออกมาเรียกร้อง และประสบผลสำเร็จในด้านการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านสังคมและความรู้สึกร่วมได้มากเท่าครั้งนี้
การที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นแรงขับของพลังความคิดสร้างสรรค์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าในทุกระดับ จึงเป็นวาระที่จะได้ทบทวนเจตนารมณ์แห่ง 14 ตุลา และทบทวนถึงสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ สำหรับอนาคต โดยผ่านกระบวนการของวรรณกรรม ให้เรื่องราวเหล่านี้ได้บันทึกไว้อย่างเป็นหลักฐาน เป็นประวัติศาสตร์แห่งความรู้สึก และความฝันถึงสังคมเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนรวมต่อไป
มูลนิธิ 14 ตุลา จึงได้ร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประกวดบทกวีและเรื่องสั้นขึ้นในหัวข้อ ‘14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย’ (อดีต ปัจจุบัน และหรือ อนาคต) การจัดประกวดวรรณกรรมจึงเป็นแนวทางหนึ่ง เพื่อแสดงแนวคิด ความต้องการ เพื่อให้เห็นสภาพปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยพยายามขยายความคิด และการตีความให้กว้างที่สุด ไม่ให้ติดกรอบตามรูปแบบความคิดเดิม เพื่อให้เรื่องเล่า และวรรณกรรม ที่ตั้ง Theme ไว้ว่า “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” ของคนในรุ่นนี้ ได้แสดงออกมาอย่างมีสาระ เข้มแข็ง และมีคุณค่า กติกาการประกวดจึงเป็นแบบมืออาชีพ พิจารณาผลงานโดยไม่มีการปกปิดนามปากกา ชื่อเสียง เพราะมูลนิธิได้คัดเลือกกรรมการตัดสินที่ประกอบด้วย ศิลปินแห่งชาติ และนักเขียนมากฝีมือรางวัลอื่นๆ รวมทั้งผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา และ บรรณาธิการรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
ในเงื่อนไขและระยะเวลาสั้นๆ มีนักเขียนที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนที่น่าพอใจ รวมทั้งสิ้นเกือบ 300 ชิ้น คณะกรรมการคัดออกมาประเภทละ 13 ชิ้น เพื่อรับรางวัลอย่างที่ปรากฏในวันนี้ และในจำนวนทั้ง 26 ผลงาน ของนักเขียน 26 คน ล้วนเป็นงานของคนรุ่นใหม่ รุ่นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ทั้งสิ้น จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อเล่มว่า “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” เพื่อล้อกับหัวข้อการประกวดที่ว่า ‘14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย’ (อดีต ปัจจุบัน และหรือ อนาคต)
จุดที่น่าสังเกตคือ ผลงานแต่ละชิ้นไม่ใช่การฟูมฟายติดนิ่งอยู่กับเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่น่าสนใจมากที่สุดคือ บอกถึงความหวังแตกต่างกันออกไปในเชิงการสร้างสรรค์ หลายชิ้นกล่าวถึงอนาคต ไม่ว่าจะเป็นงานของ กิตติศักดิ์ คงคา, วินทกานท์, สาโรช แซ่ซึง, อัษฎาวุธ ไชยวรรณ เป็นต้น ส่วนที่เป็นเนื้อสารแห่งความคิดก็มีความหนักแน่นตามยุคสมัย เช่นที่ปรากฏในงานกึ่งสัญลักษณ์ ของ ศิริพงศ์ หนูแก้ว, สันติสุข กาญจนประกร, สาคร พูลสุข, คีตา บารัตดายา, องอาจ สิงห์สุวรรณ เป็นต้น
คำกล่าวที่ว่า “เรื่องเล่าทำให้โลกหมุน” เป็นคำเชิงอนุมานถึงเนื้อในแห่งวรรณกรรมที่สรุปเอาไว้ในหนังสือ “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ” ของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี เช่นเดียวกับที่หนังสือและวรรณกรรมได้ทำหน้าที่ผ่าน ‘นักคิดนักเขียน’ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกระบวนทัศน์ และโครงสร้างในคราวเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ศิลปะในวรรณกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมไปสู่พัฒนาการใหม่ๆ ในแต่ละยุค ด้วยศิลปะเป็นสิ่งซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง เป็นสิ่งสร้างอารยธรรมที่ทำให้มนุษย์มีศักยภาพ และศักดิ์ศรีเพิ่มมากขึ้นทุกยุคสมัย หากแบ่งยุคสังคมมนุษย์โดยอาศัยการมองผ่านศิลปะ จะพบว่าศิลปะแต่ละยุคจะพัฒนาโดยตัวของมันเอง ไปสู่ความทันสมัยและวิถีใหม่ๆ ตลอดเวลา เช่นเดียวกับวรรณกรรมที่ได้ทำหน้าที่สร้างความคิดและการเปลี่ยนแปลง ผ่านรูปแบบเรื่องเล่ารอบกองไฟ นิทาน ชาดก จารึกต่างๆ ที่มีพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการ เป็นเรื่องเล่าที่แข็งแรงมากขึ้นตามลำดับ
ชาดก ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนศาสนาและปรัชญา เป็นคำอธิบาย ‘คู่มือความเป็นมนุษย์’ จนกระทั่งมาถึงยุคที่วรรณกรรมได้มีบทบาทเป็น ‘วิศวกรทางวิญญาณ’ (อย่างที่นักคิดของจีนพยายามให้คำจำกัดความ) ทั้งการอธิบายภาวะภายในและจินตนาการถึงโลกอนาคต หรือวรรณกรรมชั้นยอดถูกนำไปใช้เป็นวิชาบังคับเรียน เป็นการเตรียมตัวก่อนที่นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยจะได้เรียนวิชาปรัชญา เพื่อความเข้าใจโลกและความเป็นมนุษย์
ความคิดเรื่อง ‘วรรณกรรมทำให้โลกหมุน’ ทำให้เราเห็นบทบาทอันโดดเด่นของวรรณกรรมและนักคิดนักเขียนอย่างชัดเจน
ดังนั้น เมื่อถึงวาระ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทางมูลนิธิ 14 ตุลา เราหวังจะได้ทราบว่า ตัวสาระแห่งวรรณกรรมดำรงบทบาทของตนเองอยู่อย่างไรในปัจจุบัน ได้ทำหน้าที่เรื่องเล่าในการขับเคลื่อนสังคมไทยแค่ไหน - อย่างไร
“เจ้าฝันถึงโลกสีใด” : 14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย จึงควรจะเป็นประวัติศาสตร์แห่งความรู้สึก ร่วมขบวนไปกับกึ่งศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงของประชาชน อย่างมีความหมายและอย่างสำคัญ
ขอเชิญชวนทุกท่านให้ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อรู้ว่าในเบื้องต้น คนยุคปัจจุบันมองอนาคตของประเทศเรา หลัง 50 ปี 14 ตุลาคม 2516 เป็นอย่างไร โดยมีคำว่า ‘โลกสีใด’ เป็นสัญลักษณ์ เพื่อขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์และพัฒนา
โลกประกอบด้วยสีหลากหลาย ไม่ว่าฝันของท่านจะเป็นสีใด เมื่อนำมารวมกันแล้ว เราจะได้โลกแห่งความสว่างสด เป็นความหวังของทุกคนต่อไป
ด้วยความหวัง ความรัก ความห่วงใย และความขอบคุณ : เจน สงสมพันธุ์
ภายในหนังสือ “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” : 14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย ประกอบไปด้วยคำนำ โดย นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธาน ‘มูลนิธิ 14 ตุลา’ และผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดเรื่องสั้นและบทกวี ในวาระ ‘50 ปี 14 ตุลา’ หนังสือจัดพิมพ์ 2 รูปแบบ ฉบับปกแข็ง-สันโค้ง หน้าปกประดับเหรียญวีรชน 14 ตุลา ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ราคา 300 บาท และฉบับปกอ่อน อาบพีวีซีด้าน-สปอตยูวี ราคา 180 บาท รายได้มอบให้ ‘มูลนิธิ 14 ตุลา’ เพื่อการบูรณะบำรุงอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา หนังสือมีจำหน่ายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 บูธมูลนิธิเด็ก, สมาคมนักเขียน และ สำนักพิมพ์นาคร (หลังจบงานสามารถสั่งซื้อย้อนหลังได้ที่สำนักพิมพ์นคร[10])
ผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดเรื่องสั้นและบทกวี
ประเภทเรื่องสั้น
เรื่องสั้นชนะเลิศ ได้แก่ “ซ่อนกลิ่น” โดย ศิริพงศ์ หนูแก้ว
นักเขียนพูดถึงที่มาของวิธีคิดในการทำงานว่า “เรื่องสั้นเรื่องนี้ไม่ได้มาจากดอกไม้ครับ ผมแค่หยิบมาเป็นสัญญลักษณ์ใช้สื่อเนื้อความ โครงเรื่องมีหมอกับคนไข้คุยกัน หมอคือตัวแทนของคนที่ออกมาเคลื่อนไหวในยุค 14 ตุลา พอเหตุการณ์ผ่านไปมันคล้ายกับว่า ความทรงจำของหมอจะเลือนลางไป ส่วนคนไข้คือตัวแทนของคนยุคปัจจุบันที่เพิ่งไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมา หลังจากนั้นเขาก็ไม่รับรู้กลิ่น กลิ่นจะหายไป เป็นสัญลักษณ์กับที่มาที่ไปของเรื่อง ปีนี้ 2566 ผ่านมาแล้ว 50 ปี อยากให้คนรุ่นใหม่มาเรียนรู้ทบทวนร่วมกันอีกครั้งว่า คนรุ่นก่อนเขาเคลื่อนไหว เขามีความคิดในเรื่องประชาธิปไตยยังไง ผมเชื่อว่าเป็นความคิดที่สร้างสรรค์บริสุทธิ์ใจครับ”
รองชนะเลิศ 2 รางวัล ได้แก่ “กาลครั้งหนึ่ง...ในประเทศไทย” โดย สาคร พูลสุข และ “ดวงจันทร์ในช่องเขาขาด” โดย สาโรช แซ่ซึง
รางวัลชมเชย 10 รางวัล ดังนี้
1. จุณความว่างกลางเดือนตุลาคม โดย กิตติศักดิ์ คงคา
2. ศิลปกรรมคนเมือง โดย ชม นวนมุสิก
3. งูสวัด โดย พิณพิพัฒน ศรีทวี
4. รูปสัญญะล่องลอย โดย วินทกานท์
5. ประวัติศาสตร์ 66 ปี กับ 8 นาทีที่ความทรงจำเป็นใบ้ โดย ศิริ มะลิแย้ม
6. เธอ...อยู่ที่ใด โดย Rosaline
7. แค่ฉากอีโรติก โดย ฮีม พาราพิพัฒน์
8. ระหว่าง โดย แรมสองค่ำเดือนสราปีมะโรง
9. พี่สาวน้องชาย เรื่องบางเรื่องไม่เหมาะเป็นเรื่องสั้น โดย สันติสุข กาญจนประกร
10. อัตชีวประวัติของเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง โดย ชาคริต คำพิลานนท์
ประเภทบทกวี
บทกวีชนะเลิศ ได้แก่ “ห้าสิบปีต่อมา” โดย คีตา บารัตดายา
รองชนะเลิศ 2 รางวัล ได้แก่ “จนกว่าฟ้านี้จะสีทอง” โดย อัษฎาวุธ ไชยวรรณ และ “ตู้ไปรษณีย์หมายเลข 2516” โดย องอาจ สิงห์สุวรรณ
รางวัลชมเชย มี 10 รางวัล ดังนี้
1. 14 ตุลา โดย จามรี ตันไพฑูรย์ดิถี
2. รำลึกถึงนกตัวแรกที่แตกดับ (แด่จีระ บุญมาก) โดย อติรุจ ดือเระ
3. ประวัติศาสตร์ไม่เคยบอกเรา โดย จีรนันท์ สงเปีย
4. ห้าสิบปีสิบสี่ตุลา แตกพร่า..เป็นภาพเลือน โดย ขอบฟ้า เหตุการณ์
5. EXHIBITION นิทรรศการไม่เคยเปลี่ยน โดย เสฏฐ์ บุญวิริยะ
6. อนุสรณ์แห่งสุสาน โดย ภูวดล ภูโยฮาต
7. รากแห่งเดือนตุลาฯ โดย นายทิวา
8. วันนี้มือทุกมือคือมือไท โดย ปริญญ์ สระปัญญา
9. แรงกระเพื่อม (การเคลื่อนไหวใต้เงาเงื้อมประวัติศาสตร์) โดย เมธาวี ก้านแก้ว
10. ปีศาจ โดย ดิตถ์จรัส
จาก ‘พิราบแดง’ ถึง ‘นกสีเหลือง’ สู่ ‘โลกสีใด’
ความสำคัญของวารสารศาสตร์กับการบันทึกประวัติศาสตร์ ทั้งในรูปแบบ บทความข่าว วรรณกรรม และบทกวี (รวมถึงบทกวีในเสียงเพลงด้วย) ได้ถูกขยายรายละเอียดยืนยันอีกครั้งถึงพลังวรรณศิลป์ และองค์ประกอบอื่น (ภาพทุกประเภทและอวัตถุ) ว่าคือสิ่งสำคัญของการสื่อสารและงานบันทึกยุคสมัย จากการเสวนา “50 ปี 14 ตุลา เจ้าฝันถึงโลกสีใด” ณ ลานกิจกรรมแห่งเดียวกันของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันต่อมา 14 ตุลาคม 2566 มีนักการเมืองหลายคนมาร่วมวง วิทยากรโดยอดีตผู้นำนักศึกษาที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุรชาติ บำรุงสุข และ รศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ (อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง และรองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ด้วยภาพถ่ายและความหมายที่ซ่อนอยู่ ‘ข้างหลังภาพ’ (ด้วยหนังสือ ‘ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน’[11] พิธีกรดำเนินรายการโดย อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เราได้พบความจริงอีกด้านจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ และงานบันทึกที่ตกผลึกโดยไม่เพียงผ่านเรื่องเล่า เอกสารเก่า ภาพถ่าย ฯลฯ ซึ่งได้ปรากฏในพื้นที่ทางวัฒนธรรมเท่านั้น คือความสำคัญของศาสตร์ใหม่ในการสื่อสารยุคปัจจุบัน
อ.ศิโรตม์ : คนรุ่น 14 ตุลา 2516 มองโลกอย่างไรถึงกล้าออกมาต่อสู้ในขณะที่สังคมไทยถูกปกครองด้วยทหาร
ศ.สุรชาติ : 14 ตุลาเป็นผลผลิตของยุคหลังจอมพลสฤษดิ์ เกิดชนชั้นกลางที่ไม่ใช่ข้าราชการที่มาพร้อมกระแสเสรีนิยม (ต่อต้านสงครามเวียดนาม) และเกิดกระแสต่อต้านทหาร ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลทหาร 3 ป. ยุคนั้น ในความไม่พอใจถูกพิสูจน์ด้วยปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ กรณีทุ่งใหญ่ฯ ความไม่พอใจปรากฏชัดง่ายๆ คนรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ชอบธรรม มีหนังสือเล่มเล็กๆ ที่ทางผู้จัดเอามาโชว์ในนิทรรศการด้วย ราคา 5 บาท ตีพิมพ์ 5,000 เล่ม ขายหน้าหอประชุมธรรมศาสตร์ชั่วโมงนิดๆ หมดทันทีเลย หลายคนในยุคนั้นตกใจ แต่ผมว่านั่นคือสัญญาณ กับสัญญาณอีกส่วนหนึ่งคือวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มมา ในปี 2516 ผมเป็นนิสิตปีหนึ่ง อาสาสมัครเข้าไปช่วยรัฐบาลคุมการขายน้ำตาล ผมเป็นคนปั๊มนิ้วจัดคิวคนมาซื้อน้ำตาล น้ำตาลคือตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนสถานการณ์ขณะนั้น
บริเวณหัวมุมสนามหลวงตรงศาลหลักเมืองมีปั๊มน้ำมันสามทหาร วันหนึ่งมีป้ายแขวน ‘น้ำมันหมด’ รถรอคิวเติมน้ำมันยาวเหยียดเป็นภาพข่าว แปลว่าประสิทธิภาพของรัฐบาลถูกพิสูจน์ว่าไม่ค่อยไหว จากวิกฤติศรัทธากรณีทุ่งใหญ่นเรศวร [12] มาผนวกกับปัญหาเศรษฐกิจ เกิดวิกฤติพลังงานน ผมว่าที่ใหญ่สุดคือวิกฤติความชอบธรรม ที่ซ้อนอยู่กับปัญหาความแตกแยกภายในกองทัพ กองทัพหลายสายผมว่ามันคือ Snow Ball เป็นพายุการเมืองลูกใหญ่ที่มันพัดเข้ามา จุฬาฯ เปิดวันจันทร์สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนา นิสิตปีหนึ่งจะเข้าไปช่วยแจกแถลงการณ์ หน้าหอประชุมประตูสระน้ำ ในแถลงการณ์ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องทุ่งใหญ่ฯ กับอีกส่วนเรื่องลบชื่อนักศึกษา 9 คน ที่รามคำแหง
เป็นความลับนะครับ การวางแผนการชุมนุมเกิดที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ ข้างห้องน้ำชายรัฐศาสตร์ปัจจุบัน ก่อนนำไปสู่การชุมนุมใหญ่คือกลางเดือนมิถุนา 2516 การชุมนุมถึงเวลาเลิกแล้วมีคนขึ้นไปประกาศบนเวที ภายใน 6 เดือนข้างหน้าขอให้รัฐบาลคืนอำนาจรัฐธรรมนูญให้กับประชาชน เราสัญญากันว่าอีก 6 เดือน จะมาทวงถามรัฐบาลที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อ.ศิโรตม์ : คนที่ไปทำให้ประเด็นทุ่งใหญ่ฯ เป็นประเด็นทวงรัฐธรรมนูญคือใคร มาได้อย่างไรครับ
ศ.สุรชาติ : ในนิสิตนักศึกษาตอนนั้นเริ่มเป็นขบวนแล้ว เริ่มมีการคุยกันแล้วรู้สึกว่าของจริงจะไม่ใช่โจทย์ทุ่งใหญ่ ที่นิทรรศการมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ‘รัฐธรรมนูญ’ คุณเอก มติชน ไปตามหาจนเจอ หนังสือเล่มนี้ผมเคยเข้าไปช่วย เราเตรียมตีพิมพ์แบบลับๆ โดยยังไม่คิดว่าจะเกิดการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่เตรียมพิมพ์เพื่อจะเอามาใช้ในการรณรงค์ แปลว่ากระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญมันมาแล้วละ เริ่มก่อตัวกรณีทุ่งใหญ่นเรศวรไปผูกกับนักศึกษา 9 คนที่รามฯ อธิการรามฯ ต้องลาออก นักศึกษา 9 คน ถูกรับกลับเข้าไปเรียนต่อ ประเด็นไม่ได้จบตรงชัยชนะที่เอานักศึกษา 9 คน กลับได้ แต่จบด้วยข้อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เป็นคลื่นที่อยู่ในขบวนนิสิตนักศึกษามานาน โดยเฉพาะพวกที่เรียนรัฐศาสตร์ ทุกชั่วโมงเราจะถูกปลุกระดม คนที่พูดมากกลายเป็นอาจารย์ที่พูดเรื่องรัฐธรรมนูญให้เราฟัง
อ.ศิโรตม์ : นักศึกษารามฯ ที่ถูกคัดออกเรื่องประท้วงทุ่งใหญ่ฯ คุณ วิสา คัญทัพ[13] (กวี นักคิด นักเขียน นักแต่งเพลง อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน) อยู่ในกลุ่มนี้ด้วยไหมครับ เพราะคุณวิสากลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง วันก่อน อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มีการโพสต์จดหมายถึงท่านรองนายก ภูมิธรรม เวชยชัย[14] เรียกร้องให้นำคุณวิสากลับมา รวมทั้ง อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย ก็เป็นอีกคนหนึ่งด้วย ในวาระที่เราพูดเรื่อง ‘50 ปี 14 ตุลา’ อยากชวนคนคิดเรื่องที่ อ.ชาญวิทย์เปิดประเด็น สองคนนี้ควรได้โอกาสกลับบ้าน หลังพลัดพรากจากบ้านเกิดไปนาน 10 ปีแล้ว อายุน่าจะกว่า 70 แล้ว
ศ.สุรชาติ : เห็นด้วยเลย เพราะกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายที่ผิดกฎหมายอะไร ไม่มีคดีแต่ตัดสินใจต้องหลบเพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย ผมคิดว่าคุณวิสากับคนใกล้ตัว จะเป็นการดีที่หากรัฐบาล ‘เพื่อไทย’ ให้การคุ้มครองพวกเขากลับมา ส่วนที่มีคดีก็ว่ากันในอนาคต
อ.ศิโรตม์ : อ.บัณฑิต เพิ่งเขียนหนังสือเล่มใหม่มา แล้วศึกษาภาพถ่ายกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ภาพของ 14 ตุลาที่คนจำมีอะไรบ้างอย่างเช่น เดินขบวนที่ถนนราชดำเนิน หรือภาพการนั่งแจกแถลงการณ์ที่สนามหลวง ภาพถ่ายที่อาจารย์ศึกษามีประเด็นสำคัญตรงไหนบ้างครับ
รศ.ดร.บัณฑิต : ‘ภาพ’ ไม่ใช่เฉพาะ ‘ภาพถ่าย’แต่หมายถึง ‘ภาพข่าว’ กับข้อความในเนื้อข่าวด้วย เช่นที่อาจารย์สุรชาติเล่าถึงการชุมนุม 21-22 มิถุนายน 2519 มีการแต่งเพลง ‘สู้ไม่ถอย’ แล้วมีการบันทึกเป็นเนื้อข่าว ผมคิดว่าน่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำไป ที่มีการบันทึกเนื้อเพลงบนข่าวหนังสือพิมพ์ สิ่งที่ผมกลับไปดูคือสิ่งที่มันชวนเราคิดต่อ ว่ามีความเปลี่ยนแปลง มีหมุดหมายอะไรการชุมนุมในวันที่ 21-22 มิถุนา ที่เป็นผลมาจากการลบชื่อนักศึกษา 9 คนที่รามคำแหง มีการโควทข้อความหนึ่งของ จอมพลประภาส จารุเสถียร ว่า ‘นักเรียนสมัยนี้โง่’ ลองคิดว่าถ้าเราเป็นคนหนุ่มสาวสมัยนั้น ถูกผู้ใหญ่ระดับนั้นปรามาสว่าเป็นคนโง่ เรียนไปแล้วแต่ไม่ได้ทำให้ฉลาดขึ้น น่าจะบอกอะไรในยุคสมัย และบอกอะไรกับตัวเรา
เพราะฉะนั้นไม่เพียงแต่ภาพถ่าย รวมไปถึงงานศิลปะ เนื้อข่าว สแตมป์ เป็นต้น ซึ่งมันมีเรื่องราวบางอย่างที่พูดต่อได้ ในมุมที่ผมศึกษาคือ Visual Politics (การเมืองทัศนา) แทนที่จะดูภาพเป็นแค่ภาพข่าว เราควรคิดต่อว่าภาพบอกอะไรกับเรา มันสะเทือนใจเราในแง่ไหน มีนัยอะไรที่ต่างไปจากเนื้อความดั้งเดิม เช่นการเผาหน่วยงานสำคัญในวันนั้น มีการเผากองสลาก เผากรมประชาสัมพันธ์ ที่เราเรียกว่า ‘กรมกร๊วก’ เพราะส่งข่าวที่ผิดๆ ใส่ร้ายผู้ชุมนุม ก็ตกเป็นเป้าของการเผา เช่นเดียวกับสำนักงานตำรวจนครบาล, ตึก ก.ต.ป. (กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน), สำนักงานสลากกินแบ่งฯ เป็นหน่วยงานสำคัญของฝ่ายรัฐบาลในเวลานั้น สมัยนั้นใช้เงินเพื่อการใดๆ ก็ได้ โดยไม่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ทำให้คนรู้สึกว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งระบายความคับแค้น ถ้าเรากลับไปดูว่า 50 ปีผ่านไปภาพเหล่านี้บ่งบอกอะไรกับเราบ้าง มันให้ความหมายเดิมหรือมีความหมายใหม่ การไปสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน ก็สนุกดี
อ.ศิโรตม์ : การที่อาจารย์ไปศึกษาภาพหรือแสตมป์ ภาพอะไรที่พอไปเห็นแล้วทำให้มุมมองที่มีต่อ 14 ตุลา มีความลึกซึ้งมากขึ้น หรือว่ามีการค้นพบประเด็นใหม่ๆ จากการไปศึกษา เพราะอันนี้คือการเปลี่ยนวัตถุในการศึกษา ที่ไม่ใช่แค่สัมภาษณ์คน ไม่ใช่แค่ลำดับเหตุการณ์
รศ.ดร.บัณฑิต : เช่นการบันทึกเพลงเป็นข่าว ท่อนแรกที่แต่งในช่วงของการชุมนุม การเปลี่ยนเนื้อเพลงให้เป็นเนื้อข่าว คือเรื่องสำคัญมาก ต้องจับใจมากๆ ต้องสะเทือนใจมากๆ ที่ทำให้นักข่าวบันทึกเพลงบรรทัดต่อบรรทัด และเป็นวรรคแรกของเพลง ‘สู้ไม่ถอย’ (เคยเป็นเพลงมาร์ชนำนิสิตนักศึกษา เดินไปตามถนนราชดำเนิน เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 หรือเมื่อ 41 ปีที่แล้ว) วันที่ 13 ตุลาคม มีการแต่งท่อนที่ 2 โดยผู้ประพันธ์เองคือ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แรกจะมีแค่ท่อนเดียวในการชุมนุมครั้งแรก เพลงนี้ในอีก 40 ปีต่อมา ก็ถูกใช้ในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. เราเห็นมุมมองใหม่ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของการรับรู้ครับ
“เพลงสู้ไม่ถอย” [16]
คำร้อง/ทำนอง โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล[17]
สู้เข้าไป อย่าได้ถอย มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลัง ทำลายเหล่าศัตรู พวกเราสู้ เพื่อความยุติธรรม
เราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ ก้าวเข้าไป ด้วยใจมุ่งมั่น
เขาจะฟาด เขาจะฟัน พวกเราไม่พรั่น พวกเราสู้ตาย
*** สู้เข้าไป อย่าได้หนี เพื่อเสรีภาพ อันยิ่งใหญ่
รวมพลัง ผองเรา เหล่าชาวไทย สู้ขาดใจ พวกเราเสรีชน
*** สู้เข้าไปอย่าได้ถอย มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลัง ทำลายเหล่าศัตรู พวกเราสู้ เพื่อความยุติธรรม
เราเดินเคียงบ่า เคียงไหล่ ก้าวเข้าไป ด้วยใจมุ่งมั่น
เขาจะฟาด เขาจะฟัน พวกเราไม่พรั่น พวกเราสู้ตาย
*** สู้เข้าไปอย่าได้หนี เพื่อเสรีภาพ อันยิ่งใหญ่
รวมพลัง ผองเรา เหล่าชาวไทย สู้ขาดใจ พวกเราเสรีชน
*** เร็วเร็วมา มาร่วมกันเดิน เรามาเดิน เหล่าประชาชน
จงร่วมใจ เดินเข้าไป จงคว้าชัย มาให้มวลชน
ความตายนั่นหรือ เราไม่กลัว เราไม่เกรง
ใครมาข่มเหง เราจะสู้ เราไม่ถอย
เราจะสู้ จนชีพหลุดลอย ไทย จะต้องเป็นไทย
*** เร็ว เร็วมา มาร่วมกันเดิน เรามาเดิน เหล่าประชาชน
จงร่วมใจ เดินเข้าไป จงคว้าชัย มาให้มวลชน
ความตายนั่นหรือ เราไม่กลัว เราไม่เกรง
ใครมาข่มเหง เราจะสู้ เราไม่ถอย
เราจะสู้จนชีพหลุดลอย ไทย จะต้องเป็นไทย
*** สู้เข้าไปอย่าได้ถอย มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลัง ทำลายเหล่าศัตรู พวกเราสู้ เพื่อความยุติธรรม
เราเดินเคียงบ่า เคียงไหล่ ก้าวเข้าไป ด้วยใจมุ่งมั่น
เขาจะฟาด เขาจะฟัน พวกเราไม่พรั่น พวกเราสู้ตาย
*** สู้เข้าไปอย่าได้หนี เพื่อเสรีภาพ อันยิ่งใหญ่
รวมพลัง ผองเรา เหล่าชาวไทย สู้ขาดใจ พวกเราเสรีชน
รศ.ดร.บัณฑิต : หรืออันที่สอง ภาพในวันที่ 22 มิถุนายนที่มีการชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ[19] เป็นการชุมนุมใหญ่ที่มีคนมานับพันคน ผมไปอ่านเนื้อข่าว มีแม่ค้าไปขายของที่นั่น แทนที่จะขายเอาตังค์ แกแจกนักศึกษาหมด แล้วบอกดีใจมากๆ เลยที่ได้แจกให้นักศึกษาที่มาชุมนุม ดีใจกว่าขายหมดอีก นั่นคือความอิ่มเอิบใจของคนธรรมดาสามัญที่เห็นการต่อสู้ การตั้งคำถามกับระบอบการเมืองในเวลานั้น
หรือแสตมป์ 14 ตุลา มี 14 ดวงๆ ละ 5 บาท ในปี 2517 มีการบอกว่าจะเขียนเป็นแสตมป์ ปรากฏว่าแสตมป์ทั้ง 4 ดวงไม่มีภาพข่าว 14 ตุลาเลย มีแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ 7 ตอนสละราชสมบัติ
อ.ศิโรตม์ : คือกำลังจะบอกว่ามันมีความพยายามจะ revise ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ตั้งแต่ปี 2517
รศ.ดร.บัณฑิต : การหยิบเอาพระราชหัตถเลขาในหลวงรัชกาลที่ 7 ตอนประท้วง อันนั้นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง คิดว่าเกิดความหมายใหม่ของพระราชหัตถเลขานั้น อย่างนี้เป็นต้น
หรือจิตกรที่เคยเขียนถึง ‘ระเด่นบาซูกิ’[20] (จิตรกรชาวอินโดนีเซียในราชสำนักไทย) พอเจอ 14 ตุลา 2516 แกวาดภาพใหญ่เลย ‘Bloody Sunday’ 3 วันเท่านั้น แล้วเอาไปให้ศูนย์นิสิต ติดอยู่ที่ตึกจักรพงษ์ อาจารย์สุรชาติบอกเคยเห็นแต่น่าสนใจว่าหายไปไหน ไม่มีใครรู้ว่าภาพนั้นอยู่ที่ไหน อย่างนี้เป็นต้น
ผมอยากชวนให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาที่สนใจเรื่องการเมืองทัศนา Visual Politics หรือ Visual Culture ได้สืบค้นต่อทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ศิลป์ เสียงดนตรี ประวัติของเสียงการชุมนุม ตอนนี้มีการศึกษาแล้วนะครับ นอกจาก Materials Science (การสืบค้นอวัตถุ) ‘เสียง’ ก็เป็นอวัตถุที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง เพราะฉะนั้นการบันทึกเสียงเพลง เสียงชุมนุม มันคือจุดเริ่มต้นหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงของการรับรู้ของยุคสมัยเช่นเดียวกัน เป็นความพยายามเล็กๆ ของผม ในหนังสือเล่มนี้ครับอาจารย์ (‘ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน’ จัดเป็นหนังสือขายดีตั้งแต่วันแรกในงานมหกรรมหนังสือฯ ครั้งที่ 28)
อ.ศิโรตม์ : อาจารย์สุรชาติมีประสบการณ์จากเวลาเดินขบวนแล้วมีแม่ค้าเอาอาหารมาให้ตลอด?
ศ.สุรชาติ : เราเริ่มเห็นม็อบขบวนใหญ่ประมาณเดือนมิถุนา คือการชุมนุมเรื่องนักศึกษารามฯ 9 คน ผมมีประสบการณ์คุมม็อบตั้งแต่ปี 1 เดินจากจุฬาฯ เดินออกถนนราชเทวีกว่าจะตัดไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ความประทับใจคือระหว่างทางจะมีพี่น้องตามบ้านต่างๆ เอาน้ำเย็น ขนม มาให้เราตลอดทาง วันนี้อาจารย์บัณฑิตมาพูดผมตกใจในฐานะกรรมการศูนย์ชุดสุดท้าย ภาพที่หายไปทางกรรมการศูนย์ฯ คงต้องรับภาระไปพูดคุยต่อ เมื่อไม่กี่วันกรรมการศูนย์ฯ ชุดปี 2518 กับ 2519 ซึ่งเป็นชุดปลายเหตุการณ์ ก็ได้คุยกัน เราต้องตามหาว่าใครเป็นคนเก็บรักษา มันเป็นสมบัติที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของยุคนั้น
นอกจากภาพของระเด่นบาซูกิ มีสัญญาณอีกอันคือ วันที่เราชนะที่กรุงเทพฯ จะมีเสียงเรียกร้องอยู่ที่กรีซ (ประเทศ GREECE ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป) ตะโกนชื่อประเทศไทยเป็นสัญลักษณ์ว่าเขาต่อสู้และจะชนะเหมือนกับการลุกขึ้นสู้ที่กรุงเทพฯ
อ.ศิโรตม์ : ยุคนั้นมีแต่ข่าวดาวเทียม ไม่มีอินเทอร์เน็ต มีเสียงของคนกรีซเป็นข่าวหรือเป็นภาพ เหตุการณ์นั้นมาถึงเมืองไทยได้อย่างไรครับยุคนั้น
ศ.สุรชาติ : อาจารย์บัณฑิตบอกว่าอาจารย์ชาญวิทย์เขียนเป็นบทความไว้ (โชว์หนังสือของ (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ยุคนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตแต่มันมากับข่าวหนังสือพิมพ์ slow but sure มาช้าแต่มาถึง เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของคนในยุคนั้นว่า การต่อสู้ที่เกิดขึ้นแล้วสำเร็จที่กรุงเทพฯ มันขยายวงไปสู่แม้กระทั่งการต่อสู้กับระบอบทหารในกรีซ
อ.ศิโรตม์ : การต่อสู้ 14 ตุลา จะชนะหรือไม่ชนะก็แล้วแต่ version (ใครบันทึก) จบด้วย 3 ท่าน ถนอม ประภาส ณรงค์ ต้องหมดบทบาทเพราะมีการขัดแย้งในกองทัพอย่างรุนแรง ณ วันที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาหรือขณะที่มีการเดินขบวน ขณะที่มีการปราบปราม คนที่อยู่ในเหตุการณ์ 1. มีความรู้หรือเปล่าว่าทหารขัดแย้งแตกแยกกัน 2. เทียบกับเหตุการณ์ปี 2553 มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ทหารแตงโม’ (ทหารเสื้อเขียวแต่แอบเข้าข้างคนเสื้อแดง) ในยุค 14 ตุลามีเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่ามีทหารเข้าข้างเรา? หรือว่าเรื่องทั้งหมดเป็นความรับรู้ที่เกิดขึ้นหลังจากจอมพลถนอมหลุด แล้วเริ่มมีเรื่อง พลเอก กฤษณ์ สีวะรา[21] เข้ามา ในยุคนั้นความรู้เรื่องทหารแบบนี้มีไหมครับ
ศ.สุรชาติ : ผมคิดว่าพอรับรู้อยู่ ในหมู่ผู้นำนักศึกษาที่ทำเรื่องพวกนี้ ภาษายุคนั้นใช้ ‘วิเคราะห์สถานการณ์’ แล้วเห็นร่องรอยอยู่พอสมควรว่ามีรอยปริ ถ้าใครย้อนไปดูสถานการณ์จริง รอยปริของระบอบถนอมเกิดตั้งแต่ปลายปี 2514 เพราะถนอมต่ออายุราชการตัวเองแต่ไม่ต่อให้ใครมีเพียง 2 คน สำคัญก็คือไม่ต่อให้ พลเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์[22] จอมพลประภาสต่ออายุแล้วยกระดับขึ้นเป็นจอมพล เลยกลายเป็นรอยร้าว เท่ากับบอกว่าทหารสายอื่นไม่สามารถอยู่ในเส้นทางอำนาจต่อ คุณสุธรรม แสงประทุม เป็นเลขาศูนย์นิสิตฯ ปี 2519 เขาถูกจับในวันที่ 14 ตุลา ถูกจับก่อนเลยนะครับเอาไปไว้ในรถถังตอนหลังทหารยอมส่งที่ สน.ชนะสงคราม ตำรวจมาเปิดแล้วถามว่า ‘สุธรรมรู้ไหมว่าถ้าวันนี้ทหารไม่แตกแยกแล้วจบอีกแบบหนึ่ง วันนี้จะเกิดอะไรกับสุธรรม?’ ปัญหาก็อย่างที่เราเห็น
เหตุการณ์ตุลากรณีเผาตึก ก.ต.ป. กลายเป็นความคลางแคลงใจว่า ‘เผาอะไร’ เพราะในตึกนั้นมีเอกสารว่าด้วยการไต่สวนกรณีคอร์รัปชัน มันมีอะไร ‘ซ้อน’ และ ‘ซ่อน’ อยู่ ในส่วนหนึ่งพวกเรารับรู้จริงหลัง 14 ตุลา นานมาก ถึงมีผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพ-ในสายงานตำรวจมาเล่าว่าวันนั้นเกิดอะไร เขาเล่าว่ามันมีโจทย์สองโจทย์คือ โจทย์การแตกแยกภายในกองทัพกับกระแสสังคมที่ไม่ตอบรับกับระบอบทหาร จะบอกว่านักศึกษาไม่ชนะก็ไม่ใช่ แต่มันเป็นชัยชนะที่ผมเชื่อว่าในหลายประเทศไม่ต่างกัน การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในทุกประเทศมีอะไรที่ซ่อนอยู่ใต้พรมทั้งนั้นนะครับ
อ.ศิโรตม์ : ภาพจำในถนนราชดำเนินจะมีอยู่สองภาพ คือภาพคนเดินขบวนเยอะๆ ทุกวันนี้จะถูกใช้เป็นการอ้างอิงว่าม็อบไหนคนเยอะกว่ากัน 14 ตุลาหรือครั้งไหน ภาพที่สองคือการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการเผา สองภาพมีความสำคัญอย่างไรถึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์นี้
รศ.ดร.บัณฑิต : เรื่องเผาเป็นเรื่องหนึ่งในทุกระบอบการเมืองที่กดขี่ประชาชนจนถึงที่สุด อาจารย์สุรชาติได้บอกใบ้เราว่าคนเผามีหลายส่วน เป็นไปได้หมดทั้งสิ้น แต่ว่ามันชวนให้คิดต่อ ประเทศไทยเราควรขบคิดเรื่องนี้ให้มากขึ้น ผมยกตัวอย่างที่ใกล้ชิดมากเพราะว่า ในบทนำหนังสือผมพูดถึง ‘The May 18 Memorial Foundation’ เกิดขึ้นในปี 1980 ที่เกาหลีใต้ ปีนั้นมีการล้อมปราบทั้งเมือง คนกวางจูถูกประนามว่าเป็นคอมมิวนิสต์เป็นเกาหลีเหนือ คนกวางจูคับแค้นต่อสู้เพื่อความเป็นมนุษย์ที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย ต่อรองเรียกร้องจนกระทั่งทางการยอมรับว่ามีการล้อมปราบเกิดขึ้นจริง สองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์แบบนี้เกิดขึ้นมาซ้ำรอย คนกวางจูเปิดมูลนิธิไม่พอยังจัดงานรำลึกทุกปี จัดหอจดหมายเหตุ 518 (เดือน 5 วันที่ 18) ทุกปีมีการแจกรางวัลสิทธิมนุษยชนให้กับคนทั่วโลก เพื่อจะบอกว่ากวางจูก็เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหว สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนสำคัญเหมือนกัน เราอาจต้องมีการสืบค้นให้มากขึ้น มีการเก็บหลักฐานอย่างเป็นระบบมากขึ้น ไม่มีทางที่เราจะได้ประชาธิปไตยมาเปล่าๆ มันต้องมีการลงทุน
รัฐบาลเกาหลีใต้ในปี 2001 ใช้ พ.ร.บ. รัฐบัญญัติจัดตั้ง Korea Democracy Foundation เพื่อที่จะศึกษารวบรวมข้อมูล รำลึก ส่งผ่านมรดกประชาธิปไตย ปลายเดือน ตุลาคม 2566 นี้ผมก็ไปประชุมกับ KDF เรื่องการประกาศ Memorial Hall เป็น National Human rights Museum of Democracy ปีหน้าเขาจะเปิดใหญ่มาก เกาหลีเพิ่งผ่านเผด็จการมาไม่กี่ปีเอง แต่ของเราผ่านมา 50 ปี วีรชนเราต้องไปนอนเรียกร้องขอค่าชดเชยที่เป็นธรรม เงินเดือน ค่าทำศพ ซึ่งมันเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาให้เราเมื่อ 50 ปีก่อน เรื่องนี้ต้องดูประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาผ่านมาแล้วไม่ย้อนกลับไปอีกเลย การกลับไปดูภาพหลักฐานพวกนี้มันชวนเราคิดต่อว่า จริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น รายละเอียดมากกว่านี้มีหรือไม่ อย่างมีเพื่อนผมโพสต์กิจกรรมในวันนี้ ก็มีพระรูปหนึ่งเขียนตอบว่าอาตมาอยู่แถวนั้นแหละ ตอนเผาเห็นว่ามีแขกยามติดอยู่ข้างบน ทุกคนบอกให้กระโดดลงมาแต่เขาไม่กล้า ในที่สุดก็ถูกเผาทั้งเป็นอยู่บนนั้น เรื่องเล่าของคนเล็กคนน้อย จะทำอย่างไรให้เรื่องของคนเหล่านี้กลับมามีชีวิตชีวา แล้วถูกเก็บเป็นหลักฐานมากขึ้น
กรณี ‘The May 18 Memorial Foundation’ ปี 1980 ทุกๆ ปีจะมีการค้นพบหลักฐานใหม่แล้วก็มีการเรียกให้ ช็อน ดู-ฮวัน มาขึ้นศาลที่กวางจู (Chun Doo-hwan อดีตนักการเมืองและนายทหารประจำกองทัพสาธารณรัฐเกาหลี เป็นอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ระหว่าง พ.ศ. 2523 ถึง 2531) เอาจนกระทั่งตายไปข้างหนึ่ง คือผมไม่ได้บอกว่าเราต้องทำอย่างนั้น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าการกลับไปดูภาพ การสืบค้น ไปดูข่าว มันมีเรื่องราวมากมายให้เราคิดต่อ สิ่งสำคัญคือทำยังไงไม่ให้เกิดขึ้นอีก คำถามสุดท้ายนี่ผมคิดว่าเราถามตัวเองน้อยไปนิดหนึ่ง
ศ.สุรชาติ : อาจารย์ศิโรตม์ชวนดูภาพการชุมนุมในประเทศไทยนับจาก 14 ตุลา จะไม่มีโอกาสใหญ่เท่าครั้งนี้อีก ภาพที่เห็นจากตัวเลขสื่อในยุคนั้น ผู้ชุมนุมบนถนนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ตกประมาณห้าแสนบวก, กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญชุมนุมเริ่มวันที่ 5 ตุลา 2516 เริ่มแจกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ และถูกจับ 6 ตุลาคม 2516, วันที่ 8 เกิดการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เริ่มเรียกร้อง รวมถึงการปิดห้องสอบด้วย, จุฬาฯ ม็อบใหญ่วันที่ 12 เราเดินออกจากจุฬาฯ ถ้าใครจำได้ภาพอาจารย์เสกสรรค์เดินข้างหลังมีภาพโปสเตอร์ชูกำปั้นใหญ่ๆ (สัญลักษณ์ฝ่ายซ้าย) เขียนว่า ‘สู้’ ปรากฏอยู่ในหนังสือ เป็นภาพที่ผมแบกเดินออกจากจุฬาฯ , วันที่ 12-13 ทุกสายมุ่งเข้าสู่ธรรมศาสตร์ วันที่ 13 ตัวเลขจากสื่อสองแสนกว่า จากลานโพธิ์ทะลักออกสนามหลวง)
วันที่ 14 ต.ค. ช่วงเช้าน่าสนใจ ผู้ชุมนุมอยู่บริเวณสวนจิตรลดา ปัจจุบันคือฝั่งที่ตรงข้ามกับสวนสัตว์ดุสิต ถนนเส้นพระราม 5 เช้าวันนั้น ประมาณตี 4 กว่า ตกลงกันว่าจะสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมเตรียมตัวกลับ แต่เวลาประมาณหกโมงบวก ผู้ชุมนุมที่เดินฝ่าแนวปิดกั้นของตำรวจถูกตำรวจตีตกลงไปในคูน้ำของสวนจิตรฯ คือจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลา เพราะคนจากสวนจิตรฯ ที่รอดก็วิ่งมาบอกที่ธรรมศาสตร์ว่าถูกตำรวจตี ม็อบที่ธรรมศาสตร์ก็ขยายทันที น่าสนใจตรงที่ไม่มีมือถือ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีโซเชียลฯ เลยทำอย่างไร ประมาณ 11 โมงเศษ กำลังพลจากราบ 11 ที่บางเขน บวกกับป่าหวายที่ลพบุรีซึ่งเข้ากรุงเทพฯ มาแล้ว รวมกับชุดปราบจราจลของตำรวจ ตรึงกำลังที่ทำเนียบ ส่วนครอบครัวของ 3 ป. ถนอม ณรงค์ ประภาส ถูกนำตัวไปเก็บไว้ในสวนรื่นฤดี (ปัจจุบันเป็น กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) แล้วปิดพื้นที่ของสวนรื่นฯ ทั้งหมดด้วยลวดหนาม (ภาษาทหารคือลวดหีบเพลง) ก่อนเที่ยงเริ่มปะทะใหญ่
หลังจากนั้นภาพคุณ ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว นิสิต ปี 3 เกษตรศาสตร์ ถือไม้ เราเรียกภาพนี้ว่า ‘ไอ้ก้านยาว’ (ล้อกับชื่อหนัง ‘ไอ้ก้านยาว’ พระเอกเป็นคนที่สู้กับอธรรมในเมือง) เป็นภาพที่ได้รางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes มอบแก่ผู้ได้รับเกียรติสูงสุดระดับชาติในวงการสิ่งพิมพ์ การบรรลุความสำเร็จทางวรรณกรรม และการประพันธ์เพลง บริหารจัดการโดยมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ) อีกภาพที่คุ้นเคยคือภาพรถเมล์ที่นักเรียนช่างกลพยายามขับพุ่งชนรถถัง อีกภาพคือคนถือธงมีคุณจิระนิสิตป.โท ที่ถูกยิงนอนเสียชีวิต ภาพเหล่านี้น่าสนใจ ยุคนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตแต่ภาพมันออกต่างประเทศทันที ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ‘เทเลกซ์’ คล้ายโทรเลขระหว่างประเทศ (เป็นวิธีการติดต่อส่งข่าวสารทางโทรพิมพ์ ผ่านชุมสายโทรพิมพ์ telex[25] ย่อมาจากคำ teleprinter exchange ซึ่งแปลว่า “ชุมสายเครื่องโทรพิมพ์” ส่วนในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า TWX ย่อมาจากคำ Teletypewriter Exchange) ภาพเหล่านี้มีผลกระทบใหญ่กับสังคมไทยและสังคมภายนอก
วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ตกประมาณห้าแสนกว่า ตกเย็นจอมพลถนอมประกาศลาออก ที่ยอมลาออกเพราะประมาณเที่ยงเศษๆ วันนั้นกองทัพบกประกาศชัด ไม่เคลื่อนกำลังสนับสนุนทหารที่อยู่บนถนนราชดำเนิน เป็นคำสั่ง ผบ.ทบ. พลเอก กฤษณ์ สีวะรา เป็นข่าวใหญ่ทันทีเป็นที่รับรู้ของประชาชนในทางการเมืองเราพอเดาได้แล้วนะครับ ตัวรัฐบาลเวลานั้นอยู่ที่สวนรื่นฯ ประกาศอย่างนั้นภาษาการเมืองคือ ทบ. ลอยแพรัฐบาลแล้วละ หลังจากนั้นก็ประกาศชัยชนะ ในวันที่ 16 ตุลาใช้ที่ธรรมศาสตร์ไม่สะดวก ก็ย้ายมาตั้งศูนย์ฯ ใหญ่ที่จุฬาฯ ตึกจักรพงษ์ มีการเอารายชื่อคนเจ็บคนเสียชีวิตทั้งหมดไปติด มีคนไปตามเช็คว่าผมอยู่ในรายชื่อคนเสียชีวิตไหม
ภาพ ‘Bloody Sunday’[26] ของ ระเด่นบาซูกิ ที่อาจารย์บัณฑิตเล่าถึงมาอยู่ที่จุฬาฯ (ชื่อภาพเรียก ‘วันอาทิตย์ทมิฬ’ เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ทหารอังกฤษยิงผู้ชุมนุมประท้วงไอร์แลนด์เหนือเมื่อปี 1972)
อ.ศิโรตม์ : เหตุการณ์ที่หน้าสวนจิตรฯ กับถนนพระราม 5 ในหนังสือรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา เล่มแรกที่ออกหลังปี 2516 ชื่อ “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ 14 ตุลา” ได้พูดถึงเหตุการนี้ไว้ ในหมู่คนที่เกี่ยวข้องก็จะมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางว่า การปะทะที่เกิดขึ้นโดยตำรวจขณะที่ประชาชนกำลังจะกลับบ้านแล้ว นี่เป็นชนวนสำคัญของการสลายการชุมนุมระลอกใหญ่ตามมาจนเหตุ 14 ตุลาใหญ่ขึ้น ตกลงเป็นอุบัติเหตุหรือความจงใจทางการเมือง อาจารย์คิดว่าไงครับ
ศ.สุรชาติ : พูดแบบคนทำวิจัยก็คือ เราไม่เคยได้ยินคำสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงที่รับผิดชอบพื้นที่ตรงนั้นเลยจนปัจจุบันเสียชีวิตคือ พลเอกมนต์ชัย พันธุ์คงชื่น เราไม่รับรู้ในเชิงข้อมูลว่าเกิดการตัดสินใจอะไร หรือเป็นเพียงความผิดพลาดที่สื่อสารไม่ได้ ระหว่างศูนย์บัญชาการของตำรวจ เนื่องจากตำรวจคำนึงว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความละเอียดอ่อน เนื่องจากอยู่หน้าสวนจิตรฯ ขณะที่นักศึกษากำลังจะกลับบ้าน เจ้าหน้าที่อาจกลัวว่าจะพังเข้าไปในสวนจิตรฯ หรือไม่ โจทย์เป็นเครื่องหมายคำถามที่ทิ้งไว้พอๆ กับปัญหา 6 ตุลา หลายๆ เรื่อง ฝั่งนักศึกษาไม่อยู่ในฐานะที่รับรู้ข้อมูลได้มากกว่านั้น ยกเว้นเป็นเพียงคาดการณ์หรือการวิเคราะห์มากกว่า
อ.ศิโรตม์ : ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาที่ผมคิดว่าสำคัญ หลังเกิดการปะทะกัน ในหลวง (ร.9) กับพระราชินี เปิดวังให้นักศึกษาที่ถูกตีข้ามคูรอบสวนจิตรฯ เข้าไปในพระราชวัง ภาพนี้มีผลต่อความรู้สึกของผู้คนยุคนั้นแค่ไหน ผมรู้สึกว่านี่เรื่องใหญ่นะ
รศ.ดร.บัณฑิต : เห็นได้ชัดว่าระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใกล้ชิดกันอย่างที่สุดในวันนั้น เปลี่ยนชะตากรรมของประเทศไทยอย่างมากทีเดียว จากมุมมองหนึ่งที่เราเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ห่างไกล วันนั้นคือแนบแน่นที่สุด แต่ก็อย่างที่เรารู้กันว่ามันไม่มีความแน่นอนว่าสิ่งที่ดำรงอยู่จะเป็นสภาวะนิรันดร์กาล บางทีอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่ง อย่างที่ผมเขียนไว้ในหนังสือว่ามันเป็น ‘ห้วงยามอันตราย’ (Moment of Danger) ที่เกิดขึ้นในช่วงประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงผ่านครั้งสำคัญของทุกสังคม เพราะฉะนั้น การกลับไปดูภาพเก่าบางทีเราก็คิดว่าควรจะเลือกภาพนี้หรือไม่ควรเลือกอย่างไร แต่ภาพนี้ก็เป็นหนึ่งในชุดที่ผมเลือกขึ้นมา
ในแง่ของวัฒนธรรมทัศนา มีงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับ 14 ตุลา อีกหลายชิ้น เช่น ของ คุณประเทือง เอมเจริญ ซึ่งเป็น Self Thougth คือไม่ได้ผ่านระบบการเรียนรู้ในโรงเรียนศิลปะ แต่เขียนภาพดีมากๆ เมื่อมีการจัดแสดงในอีก 2 ปีถัดมาที่หอศิลป์เจ้าฟ้า บันทึกของ อาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ เล่าว่าคนไปเห็นภาพของอาจารย์ประเทืองแล้วนั่งร้องไห้เป็นชั่วโมงเลย อารมณ์ของคนในยุคสมัยนั้นผ่านไป 1-2 ปี เห็นภาพเขียนซึ่งเราไม่คิดว่าจะสะเทือนใจได้ขนาดนั้นมันต้องดีมากๆ สำคัญมากๆ ครับ
หรือล่าสุดในงาน DOCUMENTA ที่ กรุงเอเธนส์ มีงานของคุณ อรินทร์ รุ่งแจ้ง ศิลปินร่วมสมัย ก็ไปพ้นเรื่องที่เราคุยกันว่า คนกรีซ ในเดือนพฤศจิกายน 2517 ตะโกนคำขวัญว่า ‘THAILAND’ ‘THAILAND’ และมีพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ว่า ‘พรุ่งนี้เราจะเป็นแบบประเทศไทย เราจะล้มรัฐบาลทหาร ล้มรัฐบาลเผด็จการให้ได้แบบประเทศไทย’ เราคิดแบบคนเรียนรัฐศาสตร์ผมว่ามันสะเทือนใจมากๆ เราเป็นประเทศที่ห่างไกลจากต้นทางประชาธิปไตยมากๆ แต่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศกรีซซึ่งกำลังสู้กับเผด็จการทหาร ได้ใช้คำว่า ‘THAILAND’ เป็นคำขวัญรณรงค์ปลุกใจ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ผมชอบแล้วเอามาเล่าใหม่ เป็นมุมมองส่วนตัวในฐานะคนที่สนใจวัฒนธรรมทัศนา และพยายามจะเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้การศึกษา
หรือใครสนใจในหอภาพยนตร์ก็มีภาพยนตร์มากมายเลยที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา มีทั้งก่อน 14 ตุลา ที่จอมพลสฤษดิ์ไปผ่าตัดไตที่อเมริกา ถ้าไม่ได้ไปรักษาที่นั่นผมว่าท่านไปตั้งแต่วันแรกแล้วด้วยซ้ำ แต่ก็อยู่ต่อมาได้อีกตั้ง 6 ปี ระหว่างรักษามีการโทรปรึกษาโหรด้วยนะว่า จะรัฐประหารกี่โมงดี กลับมาก็นับเวลารัฐประหาร อย่างนี้เป็นต้น ทำให้เราเห็นว่าสังคมไทยมีมิติให้ศึกษาอีกเยอะ และมีประเด็นให้เราพูดกันได้อีกเยอะนะครับ
ศ.สุรชาติ : ภาพที่อาจารย์ศิโรตม์พูดถึงมีการถูกตีความเยอะมาก ขึ้นอยู่กับทัศนะ แต่ถ้าเราเอาภาพทั้งหมดจาก 14 ตุลา ภาพจากหน้าหนึ่งของสื่อมาทดลองเรียงต่อกันยาวๆ มันจะสะท้อนภาพการเมืองใหญ่ๆ เพราะจาก 14 ตุลา อีกสามปีก็เกิด 6 ตุลา ในบริบทอย่างนี้ภาพที่เราเห็นทั้งหมด มันเป็นเรื่องที่ร้อยเรียงจนนำไปสู่วันสุดท้ายของขบวนนักศึกษาคือ 6 ตุลา 2519 ภาพที่เห็นนี้คือเครื่องหมายศูนย์นิสิตฯ จริงๆ คนรุ่นหลังจะไม่เห็นว่าคือตราศูนย์นิสิตฯ (SCT) สมัยนั้นเราสื่อสารกับต่างประเทศเยอะ เพราะฉะนั้นจะมีภาษาอังกฤษติดอยู่ด้วย ข้างล่างเห็นตัวปั๊มลางเลือน (โชว์หนังสือเก่าที่มีตราสัญลักษณ์) คือโครงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย เพราะหลัง 14 ตุลานักศึกษาทำภารกิจใหญ่ที่เป็นผลพวงของเหตุการณ์ 14 ตุลาคือพานิสิตออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตยในต่างจังหวัด
วันนี้ผู้ที่มีชีวิตอยู่จาก 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา สงสัยต้องร่วมกันชำระประวัติศาสตร์ เพราะวันก่อนผมไปพูดเรื่องนี้ก็ได้ขอให้เขาแก้ไขข้อมูลที่ผิดในนิทรรศการ ผมยืนยันว่าผิดในฐานะเจ้าของเรื่องอยู่ในเหตุการณ์ หลายเรื่องในวันนี้ที่น่าสนใจคือจะอาศัยใครเป็นเวทีกลางในการเก็บข้อมูลกันอีกสักทีหนึ่ง หรือจะขอพึ่งสมาคมของพวกเราก็ได้ เพราะข้อมูลพวกนี้ยังเป็นข้อถกเถียงใหญ่ สิ่งสำคัญที่เคยพูดว่า 14 ตุลาจะเป็นส่วนหนึ่งในตำราเรียนของเด็กไทย เลิกคิดนะครับไม่เกิดจนบัดนี้ก็ไม่เห็น เราพูดกันมานานแล้วครับ
อ.ศิโรตม์ : ในโครงการที่อาจารย์บัณฑิตเล่าของเกาหลี เข้าใจว่ามีรัฐบาลสนับสนุนด้วยใช่ไหมครับ (National Human rights Museum of Democracy)
รศ.ดร.บัณฑิต : ปี 2001 เกาหลีเปลี่ยนเพราะพอประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งแล้วทุกอย่างมันราบรื่นไปหมด มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาได้ มีการตั้งมูลนิธิ Korea Democracy Foundation (KDF) ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญในการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ รอบก่อนผมไปเยี่ยม Korea University หนึ่งในสามของมหาวิทยาลัยสำคัญของเกาหลี ขณะที่ผมกำลังเดินอยู่มีคณะครูพาเด็กที่อายุประมาณไม่เกิน ป.6 มาดูจุดที่เกิดการชุมนุมในปี 1987 เขาปลูกฝังกันตั้งแต่ตัวแค่นี้ มันถึงอยู่ในเลือดเนื้อ อยู่ในชีวิตประจำวันไม่อาจจะลืมเลือน ไม่ต้องมีแบบเรียนก็ได้แต่ต้องมีกิจกรรม
อ.ศิโรตม์ : KDF รัฐบาลสนับสนุนใช่ไหมครับ
รศ.ดร.บัณฑิต : ใช่ครับ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบนักเพราะแกตัดงบพวก NGOs ที่เป็นประชาธิปไตย
อ.ศิโรตม์ : ผมถามเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลา ในแง่ของคนที่สร้างความทรงจำหลักๆ คือนักวิชาการ และไม่ใช่สถาบันการศึกษาด้วยนะ อย่างเช่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คืออาจารย์ชาญวิทย์ ทำเป็นคนหลัก แต่บังเอิญอาจารย์อยู่ธรรมศาสตร์แค่นั้นเอง ถ้าอาจารย์ไม่อยู่ก็ไม่รู้ใครจะพูดต่อแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอย่างเช่นที่เราจัดกิจกรรม เป็นการสร้างพื้นที่แห่งความทรงจำ 14 ตุลา วันนี้เราได้รับเกียรติจาก สส.พรรคก้าวไกล สภาของเรามีห้องสมุดใช่ไหมครับ (หันไปถามผู้ฟัง สส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร) แล้ว ‘พิพิธภัณฑ์’[28] หรือ ‘ห้องสมุด’ จะสามารถเป็นกลไกในการพูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ได้หรือเปล่า ผมคิดถึงเรื่องนี้ในเชิงสถาบันการเมือง ตอนพิธีรำลึก 14 ตุลา มีตัวแทน มีพวงหรีดทั้งจากสำนักนายกไปด้วย หน่วยงานของรัฐบาล รัฐสภา กลไกสภา จะเป็นผู้ผลิตหรือเก็บข้อมูล ความทรงจำ หรือแม้แต่ให้งบประมาณ เพื่อเป็นฐานเรื่องของ 14 ตุลาได้ไหม ไม่อย่างนั้นจะมีแต่คนเหล่านี้ทำกัน
สส.วิโรจน์ : เท่าที่ฟังมารัฐสภาก็เป็นพื้นที่แห่งการพูดอยู่แล้ว จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ปัญหาตอนนี้ก็คือว่าการเข้าถึงห้องสมุดของรัฐสภามันยากมากๆ อยู่ชั้น 9 ถ้าจำไม่ผิด ต้องเข้าไปพื้นที่ข้างใน นั่นหมายความว่าถ้าประชาชนคนทั่วไปจะเข้ามาต้องผ่านด่านแลกบัตรเต็มไปหมด แล้วบัตรนี้ก็ต้องไปที่ชั้น 9 เท่านั้น ระหว่างทางก็ต้องผ่านพื้นที่ทำงานด้วย แสดงว่าการจัดสรรพื้นที่ต้องรอการปรับปรุงอยู่พอสมควร ยังไม่ต้องพูดถึงสื่อต่างๆ ที่อยู่ในห้องสมุดก็ยังขาดแคลนอยู่มาก ผมยืนยันว่า ต้องจัดงบประมาณเพื่อรวบรวมสื่อสิ่งพิมพ์ หรือไม่ใช่สิ่งพิมพ์ เพื่อสะท้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วย ไม่งั้นมันเสียชื่อความเป็นห้องสมุดของรัฐสภานะครับ เรื่องนี้เราจะนำไปพิจารณาต่อไป เพราะว่างบประมาณของรัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร อำนาจเป็นของ สส.อยู่แล้ว (สส.ห้ามยุ่งเกี่ยวงบของกระทรวงทบวงกรมอื่น) ผมจะไปสะท้อนต่อไปครับ
รศ.ดร.บัณฑิต : ผมเพิ่งได้เข้าไปให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการของคุณธรรมรัตน์ที่ขับเคลื่อนเรื่องพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ทุกวันนี้เรามีสถาบันพระปกเกล้าฯ ลดส่วนนั้นลงแล้วมอบภาระหลักให้กับพิพิธภัณฑ์ น่าจะเพิ่มพื้นที่ให้กับพิพิธภัณฑ์รัฐสภา งบประมาณ 300 ล้าน ก็ไม่น้อยที่จะทำ Educational Program ง่ายสุดคือไปลอกการบ้านเขาดูประเทศที่เขาทำแล้วสำเร็จและทำต่อเนื่อง ไม่ต้องเดินทางไกลแค่ 5 ชั่วโมงก็ถึงแล้วครับ เกาหลีผมพาไปได้นะครับ
ศ.สุรชาติ : เรามีอนุสรณ์สถานแต่ก็ไม่ถูกทำให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่อง 14 ตุลา จริงๆ ครบรอบ 50 ปีแล้วยังถกกันเรื่องเดิมเหมือนไม่ไปไหนเลย สิ่งที่อยากฝากพวกเราคือ ไม่ควรแค่จัดงานรำลึกไปเรื่อยๆ มิฉะนั้นงาน 14 ตุลา 6ตุลาจะไม่ต่างกับงานเช็งเม้งเจอกันกินข้าวกันไหว้เสร็จก็แยกย้ายกันไป ปัจจุบันกลายเป็นประเพณีต้องเอาพวงหรีดไปตั้ง แล้วก็ไม่มีสาระเป็นอย่างอื่น เราอยากเห็นว่าการจัดงานมีสาระมากขึ้นโดยเฉพาะสาระในการขับเคลื่อนสร้างประชาธิปไตยให้กับสังคมไทย
ก่อนจบขอชวนพวกเรารำลึกถึงเพื่อนๆ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา เราเห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยหลายระลอก คนรุ่นเก่าปฏิเสธไม่ได้ คลื่นใหญ่ระลอกแรก 2475 คลื่นระลอกที่ 2 คนรุ่นผม 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 แล้วตามมาด้วยคลื่นลูกหลัง พฤษภา ปี 2535 เป็นยุคของอาจารย์ศิโรตม์ อาจารย์บัณฑิต ต้องไม่ลืมพี่น้องที่อยู่ในกระแสขบวนประชาธิปไตยคือ พฤษภา 2553
ในบริบทอย่างนี้มันตอกย้ำว่าสังคมไทยยังฝันถึงประชาธิปไตย ถามว่านกสีอะไรคนรุ่นผมบอกนกสีแดง คือพิราบแดง (สัญลักษณ์ของเสรีภาพที่ต้องแลกด้วยชีวิต) วันหนึ่งพิราบแดงก็กลายเป็นนกสีเหลืองต้องจากจรเข้าสู่ฐานที่มั่นในชนบท แต่วันนี้ถ้าถามผมว่า ‘อยากเห็นนกสีอะไร’ เราอยากเห็นนกที่สีสวยที่สุดสำหรับพี่น้องคนไทยทุกชนชั้นและทุกเหล่า แน่นอนครับสีที่สวยสำหรับทุกคนอาจเห็นไม่เหมือนกัน อาจจะมีบางมุมที่เห็นแตกต่างกัน แต่ผมเชื่อว่าอย่างน้อยถ้าเราตกลงกันที่จะเห็นอนาคตร่วมกัน โลกหลายสีมีสิทธิ์ที่จะบินในสังคมไทยได้อย่างหลากหลาย โดยไม่ต้องเหมือนคนยุคผมที่ต้องเป็น ‘พิราบแดง’ ในความเป็นพิราบแดงเพื่อนหลายคนไม่ได้กลับ หลายคนอยู่ที่ชนบทในฐานที่มั่น บทเรียนการเสียชีวิตทุกระลอกตอกย้ำการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เราผ่านการต่อสู้ด้วยความเชื่อว่า เรากล้าที่จะละเลงเลือดเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย
แต่วันนี้อยากเห็นประชาธิปไตยที่ถูกสร้างบนเงื่อนไขที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องสร้างด้วยรถถังหรือสงครามปฏิวัติเหมือนคนรุ่นผม หลัง 14 ตุลา บทเรียนใหญ่ที่สุดที่เราจะเห็นคือ การเมืองไทยได้ผ่านการทดลองที่ใหญ่ที่สุดใน 3 ส่วน ทางเลือกของสังคมไทยคือ… คนรุ่นผมเลือกหนทางด้วยสงครามปฏิวัติ คำตอบสุดท้าย 10 ปี หลัง 14 ตุลา 2526 สงครามปฏิวัติจบในประเทศไทย แปลว่าทางเลือกที่ใช้รถถังมากกว่ารถหาเสียงชุดนี้ก็จบไปด้วย 9 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้ว อย่างน้อยมันพาเราหวนกลับไปสู้ความเชื่อและความศรัทธาของคนยุค 14 ตุลา ที่กล้าขับรถเมล์ชนรถถัง กล้าที่จะเดินเข้าไปหาทหารเหมือนอย่างที่ ‘ไอ้ก้านยาว’ ถือไม้สู้ปืน โชคดีที่วันนั้นพี่ ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว ถูกยิงแต่โดนที่ขา ถ้าโดนส่วนอื่นที่สำคัญวันนี้ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี อยากชวนดูภาพคนเหล่านั้นที่กล้าต่อสู้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว อย่างน้อยขอเป็นคำตอบสำหรับพวกเราว่า ประชาธิปไตยมีค่า ขอบคุณผู้จัดที่ให้โอกาสคนรุ่นผมได้พูดครับ.
สิ่งที่ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนแต่ไม่ได้อยู่ในบทเรียน คือความสูญเสียที่เกิดจากการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตยที่มาจากความบริสุทธิ์ใจ ระหว่างผู้ปกครองที่ควรมีต่อผู้ถูกปกครอง ประวัตศาสตร์บาดแผลต้องได้รับการจารึกและรับผิดชอบอย่างยุติธรรม โดยเฉพาะในศาสตร์ของการสื่อสารยุคใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถทำได้ในวิถีที่เราเลือกจะร่วมอย่างเสรี และมีอิสระที่จะรื้อฟื้น บันทึก และอ้างอิงในสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงเพื่อให้โลกประจักษ์ ในนามของผู้พิทักษ์อารยประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
หมายเหตุ
ขอบคุณภาพและวีดิทัศน์ จาก
- ศูนย์ข้อมูล ศิลปวัฒนธรรม มติชน
- สมาคมนักเขียนแห่ประเทศไทย
- สำนักพิมพ์นาคร
- สินสวัสดิ์ ยอดบางเตย
- พิพิธภัณฑ์รัฐสภา
- วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
- เพ็ญชมพู : เว็บเรือนไทย
- ประชาชาติธุรกิจ
- Thai PBS
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
- ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา
อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม
สื่อออนไลน์
- Chen Songsomphan. (9 ต.ค. 2566). “เจ้าฝันถึงโลกสีใด”. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2566.
- Spring News. (7 ก.พ. 2561). “ย้อนคดีล่าสัตว์ป่า เหตุการณ์ 14 ต.ค.ทุ่งใหญ่นเรศวร”. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2566.
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (14 ต.ค. 2566). เกิดอะไรใน “14 ตุลา” ก่อนมาสู่ชัยชนะสำคัญของประชาชนลุกฮือต้าน “คณาธิปไตย”. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2566.
- ซันวา สุดตา. (28 ม.ค. 2564). “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา”. พิพิธภัณฑ์รัฐสภา. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2566.
- ไทยโพสต์. (24 เม.ย. 2563). 'วิสา คัญทัพ'ป่วยหนัก3ปีทำอะไรเองไม่ได้! ‘จุ๋ง-ไพจิตร’ เผยเป็น ‘พาร์กินสัน’ รักษาไม่หาย เกินคาดเดา”. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566.
- ธงทอง จันทรางศุ. (2 เม.ย. 2564). “ระเด่นบาซูกิ”. the cloud. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566.
- บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์. “ประเสริฐ รุจิรวงศ์”. สถาบันพระปกเกล้า. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566.
- ประเดิม ดำรงเจริญ. (16 ต.ค. 2566). “ในโอกาส 50 ปี 14 ตุลา คณะกรรมการมูลนิธิก็คิดถึงบทบาทด้านวรรณกรรม และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเดิม ดำรงเจริญ”. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2566.
- พาฝัน หน่อแก้ว. (27 พ.ค. 2564). “‘จรัล ดิษฐาอภิชัย’ กับครึ่งชีวิตที่หมดไปกับการต่อสู้”. THE MOMENTUM. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566.
- เสถียร จันทิมาธร. (16 ส.ค. 2561). “นกสีเหลือง เพลงแห่ง “ชีวิต”. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2566.
- สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย. “๒๐ ปี ผิงดาว บทกวีในเสียงเพลงของ ชูเกียรติ ฉาไธสง”. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2566.
- เสมียนอารีย์. (16 พ.ค. 2566). “ถกประเด็น “กฤษณ์ สีวะรา” ถึงแก่กรรมเพราะ “ข้าวเหนียวมะม่วง” จริงหรือ?”. silpa-mag. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566.
[1] สุรชาติ บำรุงสุข, (6 ต.ค. 2560), รำลึก 14 ตุลาฯ-6 ตุลาฯ หนุ่มสาวกับโลกและการเมือง (ออนไลน์), มติชนสุดสัปดาห์, สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2566.
[2] ประเดิม ดำรงเจริญ, (16 ต.ค. 2566), ในโอกาส 50 ปี 14 ตุลา คณะกรรมการมูลนิธิก็คิดถึงบทบาทด้านวรรณกรรม และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเดิม ดำรงเจริญ, (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2566.
[3] สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย, ๒๐ ปี ผิงดาว บทกวีในเสียงเพลงของ ชูเกียรติ ฉาไธสง, (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2566.
[4] Nitithorn Thongthirakul เอ้ นิติ'กุล, (1 มิ.ย. 2565), ผิงดาว พี่นกน้อย ชูเกียรติ ฉาไธสง (28 พ.ค.65), (วิดีโอ) สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2566.
[5] plang20ปีผิงดาวjune55-2, ชูเกียรติ ฉาไธสง, เพลงชีวิต คอนเสิร์ต 20 ปี ผิงดาว (2.5) ไฟกลางโลงศพ, (เสียง), SoundCloud, สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2566.
[6] เสถียร จันทิมาธร, (16 ส.ค. 2561), นกสีเหลือง เพลงแห่ง “ชีวิต”, (ออนไลน์), สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2566.
[7] ยินกวี, (15 ต.ค. 2561), นกสีเหลือง (Cover : อภิสิทธิ์), (วีดิโอ) สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2566.
[8] เพลง นกสีเหลือง, สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2566
[9] เนื้อเพลง นกสีเหลือง, แปลอังกฤษ, สืบค้นเมื่อ 5ตุลาคม 2566
[10] Chen Songsomphan, (9 ต.ค. 2566), “เจ้าฝันถึงโลกสีใด”, (ออนไลน์), สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2566.
[11] มติชนออนไลน์, (14 ต.ค. 2566), ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน, (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566.
[12] Spring News, (7 ก.พ. 2561), ย้อนคดีล่าสัตว์ป่า เหตุการณ์ 14 ต.ค.ทุ่งใหญ่นเรศวร, (วีดิโอ) สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2566.
[13] ไทยโพสต์, (24 เม.ย. 2563), 'วิสา คัญทัพ'ป่วยหนัก3ปีทำอะไรเองไม่ได้! 'จุ๋ง-ไพจิตร'เผยเป็น 'พาร์กินสัน 'รักษาไม่หาย เกินคาดเดา, (ออนไลน์), สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566
[14] พาฝัน หน่อแก้ว, (27 พ.ค. 2564), ‘จรัล ดิษฐาอภิชัย’ กับครึ่งชีวิตที่หมดไปกับการต่อสู้, (ออนไลน์) THE MOMENTUM, สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566.
[15] Sinsawat Yodbangtoey, (10 ต.ค. 2566), สืบเนื่องจากวันอาทิตย์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๖, (ออนไลน์), สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566
[16] Sanook, (31 ม.ค. 2557), ไขที่มา เพลง"สู้ไม่ถอย" ของมวลมหาประชาชน, (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566 สามารถรับฟังเพิ่มเติมได้ เพลงปฏิวัติ, (23 พ.ย. 2555), สู้ไม่ถอย 30 ปี 14 ตุลา, (วิดีโอ)
[17] THE PEOPLE Co Official, (13 ต.ค. 2566), เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: ฝันค้างเดือนตุลา ที่ยังคงเป็นเช่นนั้นจนถึงวันนี้ - The Moment, (วิดีโอ) สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2566
[18] ประชาชาติธุรกิจ, (28 ก.ย. 2563), ทบทวนประวัติศาสตร์ อ่านข้อเรียกร้อง “ม็อบนักศึกษา” จากอดีตถึงปัจจุบัน, (ออนไลน์), สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2566.
[19] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, (14 ต.ค. 2566), เกิดอะไรใน “14 ตุลา” ก่อนมาสู่ชัยชนะสำคัญของประชาชนลุกฮือต้าน “คณาธิปไตย”, (ออนไลน์), สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2566
[20] ธงทอง จันทรางศุ, (2 เม.ย. 2564), ระเด่นบาซูกิ, (ออนไลน์), the cloud, สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566
[21] เสมียนอารีย์, (16 พ.ค. 2566), ถกประเด็น “กฤษณ์ สีวะรา” ถึงแก่กรรมเพราะ “ข้าวเหนียวมะม่วง” จริงหรือ?, (ออนไลน์), silpa-mag, สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566.
[22] บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์.พลตำรวจเอก, ประเสริฐ รุจิรวงศ์, สถาบันพระปกเกล้า, (ออนไลน์),สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566
[23] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (14 ต.ค. 2563), ความล้มเหลวบนชัยชนะ: 14 ตุลาฯ ที่ไม่ได้สถาปนาหลักนิติรัฐ, (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2566.
[24] ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา, วันที่ 14 ตุลาคม 2516, (ออนไลน์), สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2566.
[25] มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ, เทเลกซ์, (ออนไลน์), สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566.
[26] เหมียวศรัทธา, (14 ก.ย. 2562), ย้อนรอย “Bloody Sunday” เมื่อทหารอังกฤษยิงผู้ชุมนุมประท้วงไอร์แลนด์เหนือเมื่อปี 1972, (ออนไลน์), CatDump, สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2566.
[27] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (14 ต.ค. 2563), ความล้มเหลวบนชัยชนะ: 14 ตุลาฯ ที่ไม่ได้สถาปนาหลักนิติรัฐ, (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2566.
[28] ซันวา สุดตา, (28 ม.ค. 2564), อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา, (ออนไลน์), พิพิธภัณฑ์รัฐสภา, สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2566
[29] Thai PBS, (12 ต.ค. 2566), “ไอ้ก้านยาว” ประพัฒน์ อดีตที่ลางเลือน 14 ตุลาคม 16, (ออนไลน์), สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2566.
- กวินพร เจริญศรี
- เจ้าฝันถึงโลกสีใด
- เหตุการณ์ 14 ตุลา
- นกสีเหลือง
- 14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย
- 50 ปี 14 ตุลา
- คีตา บารัตดายา
- มูลนิธิ 14 ตุลา
- สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
- สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย
- เจน สงสมพันธุ์
- วิชัย โชควิวัฒน
- สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
- ศิลปินศิลปาธร
- ประกวดเรื่องสั้นและบทกวี
- วรรณกรรม
- เรื่องสั้น
- บทกวี
- ประเดิม ดำรงเจริญ
- หนังสือพิมพ์อธิปัตย์
- ชูเกียรติ ฉาไธสง
- ผิงดาว
- เสถียร จันทิมาธร
- ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
- สุรชาติ บำรุงสุข
- สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
- เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
- รัชกาลที่ 7
- อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
- ถนอม กิตติขจร
- ณรงค์ กิตติขจร
- ประภาส จารุเสถียร
- ระบอบถนอม
- ประเสริฐ รุจิรวงศ์
- คุณสุธรรม แสงประทุม
- ชุมนุมธรรมศาสตร์
- Bloody Sunday
- จงพิทักษ์เจตนารมณ์ 14 ตุลา
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
- ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว
- ไอ้ก้านยาว
- รัชกาลที่ 9
- สวนจิตรลดา