ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

นายพลหวอเหงียนย้าป : แจ็คผู้ฆ่ายักษ์

31
ธันวาคม
2565

(1)

12 มีนาคม 1954

 

“จะไม่มีปืนใหญ่ของเวียดมินห์กระบอกใดยิงได้เกินกว่าสามนัด โดยไม่ถูกทำลายด้วยปืนใหญ่ของเรา”

Charles Piroth

ผู้บังคับการหน่วยทหารปืนใหญ่

ของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู

วันที่ 13 มีนาคม 1954 อาจจะไม่ค่อยมีใครจำได้เท่าใดนักว่ามีความสำคัญอย่างไร ทั้งในทางการเมืองและการทหารของเหตุการณ์โลกและเหตุการณ์ในภูมิภาคเรา ดังนั้น บทความนี้จะย้อนอดีตเพื่อขอรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยความเคารพในจิตใจมุ่งมั่นของบรรดานักชาตินิยมชาวเวียดนามที่ได้เสียสละเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชของประเทศ

เมื่อนึกถึงสงครามเวียดนาม เรามักจะคิดคำนึงถึงแต่สงครามที่สหรัฐอเมริกาทำการรบ ซึ่งเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อรัฐบาลสหรัฐได้ประกาศการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการกับรัฐบาลเวียดนามใต้ในเดือนตุลาคม 1961 แม้ว่าก่อนหน้าระยะเวลาดังกล่าว สหรัฐจะประกาศจัดตั้งคณะที่ปรึกษาทางทหารให้แก่กองทัพเวียดนาม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “MAAG” (US. Military Assistance Advisory Group) ในต้นปี 1956 แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการเน้นในภารกิจของการฝึกทางทหารให้แก่กองทัพเวียดนาม มากกว่าจะเป็นการเข้าไปสู่สงครามแบบเต็มตัวเช่นหลังจากปี 1961 แล้ว

สงครามเวียดนามในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จริงๆ แล้วเราอาจจะถือว่าเกิดขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม 1946 เมื่อกลุ่มเวียดมินห์ที่นำโดยโฮจิมินห์ ตัดสินใจเปิดการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับฝรั่งเศสในวันดังกล่าว เพราะหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงนั้น ฝรั่งเศสยังไม่ได้กลับเข้ามาในอินโดจีน จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้กองกำลังของขบวนการกู้เอกราช หรือที่มีชื่อเป็นทางการว่า “สันนิบาตเพื่อเอกราชของเวียดนาม” (The Vietnam Independence League หรือ The Viet Nam Doc Lap dong Minh Hoi แนวร่วมเวียดมินห์) ยึดฮานอยและเข้ายึดพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศ จนนำไปสู่การประกาศจัดตั้ง “สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม” ขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 1945

อำนาจรัฐของผู้รักชาติดำรงอยู่ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งพฤษภาคม 1946 กองกำลังของฝรั่งเศสจึงเดินทางมาถึงเวียดนาม เพื่อปลดอาวุธของกองทัพญี่ปุ่น และในขณะเดียวกันก็เพื่อทำการสถาปนาอำนาจของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสให้กลับฟื้นคืนในเวียดนาม แม้ในช่วงต้นจะมีการเจรจาอย่างสันติระหว่างผู้นำของขบวนการชาตินิยมกับผู้นำของฝรั่งเศสในอินโดจีน แต่สภาวะดังกล่าวก็ดำรงอยู่เพียงชั่วคราว

 

พลร่มฝรั่งเศสหน่วยแรกกระโดดร่มลงสมรภูมิเดียนเบียนฟู

แน่นอนว่าสำหรับฝรั่งเศสแล้ว เป้าหมายหลักคือการเสริมสร้างอำนาจรัฐของระบอบอาณานิคมให้เข้มแข็งและมั่นคง แต่ขณะเดียวกันก็เห็นได้ชัดเจนว่า สำหรับขบวนการชาตินิยมแล้ว เป้าหมายหลักคือการต่อสู้เพื่อให้ได้เอกราชของประเทศทั้งมวล และเป้าหมายที่ขัดแย้งกันโดยตรงเช่นนี้ยุติได้ด้วยวิธีการเดียว...สงคราม!

18 ธันวาคม 1946 สงครามจึงเริ่มขึ้น... แต่ก็เริ่มต้นจากความอ่อนแอของฝ่ายชาตินิยม ดังนั้น เมื่อฝรั่งเศสรุกกลับเข้ายึดฮานอย ในที่สุดโฮจิมินห์ต้องถอนกำลังออก และล่าถอยไปสู่พื้นที่ในชนบท ฝ่ายฝรั่งเศสนั้นเชื่อมั่นในขีดความสามารถทางการทหารของตนเองว่า กำลังรบของพวกเขาสามารถต่อสู้และเอาชนะกองกำลังของฝ่ายกู้เอกราชได้

ในปี 1949 ฝรั่งเศสปรับยุทธศาสตร์ใหม่ โดยยอมถอนกำลังออกจากส่วนเหนือของฮานอย และมุ่งรวมกำลังเพื่อป้องกันแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญในภาคเหนือของเวียดนามในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง ยุทธศาสตร์เช่นนี้มุ่งประสงค์โดยตรงต่อการตัดกำลังบำรุงของฝ่ายเวียดมินห์ เพราะการเข้าควบคุมแหล่งปลูกข้าวในพื้นที่ดังกล่าว จะเท่ากับเป็นการควบคุมการเข้าถึงแหล่งอาหารของฝ่ายตรงข้าม

การปรับยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศสก็เปิดโอกาสให้กองกำลังของเวียดมินห์เปิดการรุกในบางพื้นที่ และเข้าควบคุมพื้นที่ให้เป็นเขตอิทธิพลของตนได้ การเปิดการรุกในระดับท้องถิ่น (local offensives) ในช่วงปลายปี 1949 จนถึงช่วงปี 1950 จึงเป็นเสมือนการประลองกำลังระหว่างเจ้าอาณานิคมผู้ปกครองกับชาวเวียดนามผู้ถูกปกครอง และที่สำคัญก็คือ ทำให้กำลังของเวียดมินห์สามารถควบคุมพื้นที่บริเวณอ่าวตังเกี๋ยได้ ซึ่งความสำเร็จเช่นนี้ทำให้ในเวลาต่อมา ฝรั่งเศสต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ส่วนเหนือ (ด้านบน) ของฮานอย โดยเฉพาะตามแนวพรมแดนจีน (พื้นที่ส่วนเหนือของเวียดนาม)

ความสำเร็จก็มักจะมีด้านกลับของตนเอง กองกำลังเวียดมินห์คิดว่าพวกเขามีความพร้อมจนสามารถเปิดการรุกใหญ่ได้ ดังนั้น ในช่วงจากมกราคมจนถึงมิถุนายน 1951 จึงตัดสินใจเปิดการรุกเต็มรูปแบบต่อพื้นที่ที่มีการป้องกันอย่างดีในทางการทหารโดยเฉพาะในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงแต่ก็ต้องประสบกับความพ่ายแพ้

อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้เช่นนี้ก็ชี้ให้เห็นเงื่อนไขประการสำคัญว่าขีดความสามารถในการควบคุมและเสริมสร้างอำนาจรัฐของฝรั่งเศสจริงๆ นั้น มาจากการที่พื้นที่ดังกล่าวต้องมีกองกำลังของฝรั่งเศสตั้งอยู่ด้วย อีกทั้งในขณะเดียวกันฝรั่งเศสก็พยายามขยายแนวป้องกันออกไปจากที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

ในอีกด้านหนึ่ง ฝรั่งเศสก็เริ่มเห็นปัญหามากขึ้นเมื่อกองกำลังของเวียดมินห์พยายามที่จะเชื่อมต่อกับขบวนการประชาชนในประเทศลาว ในสภาพเช่นนี้ความสนใจทางยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศสจึงมุ่งไปสู่การป้องกันพื้นที่ตามแนวรอยต่อพรมแดนลาว - เวียดนามด้วย

ฝรั่งเศสได้จัดวางยุทธศาสตร์ใหม่ โดยการสร้างที่มั่นทางทหารเพิ่มขึ้นในแนวพรมแดน และขณะเดียวกันก็ต้องการล่อให้กองกำลังของเวียดมินห์เข้าทำการรบในพื้นที่โล่งแจ้ง ที่สามารถใช้กองกำลังตามแบบเอาชนะได้โดยง่าย เพราะสามารถใช้ความเหนือกว่าของอำนาจการยิงทำลายกองกำลังของข้าศึกได้เช่นในสงครามตามแบบโดยทั่วไป

ในทางตัวบุคคลนั้น หลังจากการหวนคืนสู่ความเป็นเจ้าอาณานิคมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งนักการทหารคนสำคัญในขณะนั้นคือ นายพลเดอลัตต์ เดอตัสซิณญี (Gen. De Lattre de Tassigny) มาควบคุมและบัญชาการสงครามต่อต้านการกู้เอกราชอย่างเข้มแข็ง เดอตัสซิณญีจึงเป็นความหวังของการสร้างขวัญกำลังของทหารฝรั่งเศส และทั้งยังเป็นความหวังว่าเขาจะเป็นผู้ทำให้กองทัพฝรั่งเศสสามารถดำรงความริเริ่มในสงครามครั้งนี้ได้ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวก็คือการสถาปนาอำนาจรัฐของเจ้าอาณานิคมให้คงความเข้มแข็งต่อไปในเวียดนามนั่นเอง

นายพลเดอลัตต์ เดอตัสซิณญี ขณะสรุปสถานการณ์

ขวามือคือพันเอกปิโรตต์ ผู้ฆ่าตัวตายในสนามรบ

แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก ในด้านหนึ่งก็เพราะปัญหาสุขภาพที่รุมเร้า ในอีกด้านหนึ่งชาวเวียดนามเองตัดสินใจอย่างมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อเอกราชของตน เขาเดินทางกลับฝรั่งเศส ในเวลาต่อมาไม่นานนักเขาก็เสียชีวิต อย่างไรก็ตามคงต้องประเมินว่า เดอตัสซิณญีไม่ได้ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับกองกำลังของเวียดมินห์เท่าใดนัก

หลังจากการเสียชีวิตของเดอตัสซิณญีแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสได้แต่งตั้งนายพลซาลัง (Gen. Raoul Salan) เข้าบัญชาการแทน เขาอาจจะประสบความสำเร็จบางส่วนในการใช้กำลังทางทะเลเข้ากดดันเวียดมินห์ ตลอดจนการทำลายแหล่งผลิตอาวุธของเวียดมินห์ในเวียดนามภาคใต้ แต่ความสำเร็จเหล่านี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทิศทางยุทธศาสตร์สงครามกู้เอกราชของชาวเวียดนามแต่อย่างใด

ธงชัยโบกสะบัดเหนือยุทธภูมิเดียนเบียนฟู

ในเดือนพฤษภาคม 1953 นายพลซาลังถูกเปลี่ยนตัวจากการบัญชาการ และ นายพลอองรี นาวารร์ (Gen. Henri-Eugene Navarre) เข้ารับหน้าที่แทน ยุทธศาสตร์ของนาวารร์ก็คือการยึดกุมเมืองเดียนเบียนฟูในเดือนพฤศจิกายน 1953 เพื่อป้องกันการแทรกซึมของกองกำลังเวียดมินห์เข้าสู่พื้นที่ของลาว เมืองเดียนเบียนฟูอยู่ห่างไปทางตะวันตกของฮานอย 220 ไมล์ ใกล้พรมแดนของประเทศลาว

นาวารร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การยึดเดียนเบียนฟูเป็นฐานที่มั่นของฝรั่งเศสนั้น จะเป็นเสมือนการล่อให้กองกำลังของเวียดมินห์ออกจากพื้นที่หลบซ่อน และเข้าตีเดียนเบียนฟู นาวารร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิธีการเช่นนี้จะเป็นหนทางสำคัญของการทำลายกองกำลังเวียดมินห์ด้วยสงครามตามแบบที่กองทัพฝรั่งเศสมีอำนาจการยิงที่เหนือกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเดือนกันยายน 1953 นั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ทวีความช่วยเหลือทางทหารให้แก่กองทัพฝรั่งเศสในอินโดจีนอย่างมาก ซึ่งก็เป็นความหวังว่า ด้วยความช่วยเหลือทางทหารเช่นนี้จะทำให้กองกำลังของฝรั่งเศสสามารถบดขยี้กำลังรบของเวียดมินห์ได้อย่างง่ายดาย

สภาพสมรภูมิเดียนเบียนฟูหลังจากกองทัพเวียดนามยึดครอง

นายพลนาวารร์ได้แต่งตั้ง พันเอกคริสเตียน กัสตรีย์ (Brig. Gen. Christian de la Croix de Castries เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลจัตวาก่อนค่ายเดียนเบียนฟูแตกไม่กี่วัน) เป็นผู้บัญชาการการรบที่เดียนเบียนฟู แต่ในทางการเมืองรัฐบาลที่ปารีสกล่าวยืนยันในวันที่ 12 พฤศจิกายน 1953 ว่า ฝรั่งเศสต้องการวิธีแก้ปัญหาใดๆ ก็ได้ที่ “มีเกียรติ” เพื่อยุติสงครามในอินโดจีน และจะไม่กดดันให้เวียดมินห์ต้อง “ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข” (Unconditional Surrender) เช่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

กัสตรีย์สนธิกำลังของเขาได้ 15,000 นาย ซึ่งประกอบด้วยกองกำลังปกติของกองทัพฝรั่งเศส กองทหารอาสาต่างชาติ Foreign Legion (เป็นกำลังรบที่มีชื่อเสียงจากสงครามอาณานิคมของฝรั่งเศสในตะวันออกกลาง) และกำลังรบของชนพื้นเมือง โดยกองกำลังดังกล่าวตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ของเมืองเดียนเบียนฟู และอาศัยการส่งกำลังบำรุงทางอากาศโดยผ่านสนามบินที่อยู่ในใจกลางเมือง ฉะนั้น ตราบเท่าที่สนามบินไม่ถูกทำลาย การส่งกำลังบำรุงสำหรับกำลังพลของฝรั่งเศสในเมืองดังกล่าวก็น่าจะสามารถดำเนินไปได้ ซึ่งก็เท่ากับทำให้กำลังรบของนายพลกัสตรีย์สามารถสู้รบได้ แม้จะต้องถูกปิดล้อมจากกำลังของเวียดมินห์ในพื้นที่รอบๆ ก็ตามที

กองกำลังของเวียดมินห์ที่ปิดล้อมเดียนเบียนฟูอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลหวอเหงียนย้าป (Gen. Võ Nguyên Giáp) มีกำลังรวม 5 กองพล โดยย้าปใช้ 3 กองพลเพื่อปิดล้อมเมืองโดยตรง ส่วนอีก 2 กองพลใช้เพื่อปิดล้อมพื้นที่ชั้นนอก อันจะป้องกันไม่ให้กำลังของฝรั่งเศสเปิดทางหนีเข้าสู่พื้นที่ของลาว นอกจากกำลังรบที่เป็นทหารราบแล้ว ย้าปมีปืนใหญ่เป็นจำนวนมาก ประมาณว่าเขามีกำลังปืนใหญ่ขนาดต่างๆ ถึง 200 กระบอก (รวมทั้งปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานและเครื่องยิงจรวด) ในขณะที่ฝรั่งเศสซึ่งภูมิใจในปืนใหญ่ของพวกเขา (ดังคำกล่าวในข้างต้น มีปืนใหญ่รวมกันเพียง 28 กระบอก โดยเป็นปืนใหญ่ 105 มม. 24 กระบอก และปืนใหญ่ขนาด 155 มม. 4 กระบอก

ย้าปตัดสินใจเปิดการยุทธ์ต่อเดียนเบียนฟูเป็นครั้งแรกในวันที่ 13 มีนาคม 1954 สงครามดำเนินไปอย่างรุนแรง ดังได้กล่าวแล้วว่าสนามบินของเมืองเป็นศูนย์กลางของความอยู่รอด ย้าปเองก็ตระหนักถึงปัญหาเช่นนี้ เขาจึงพยายามที่จะทำลายระบบส่งกำลังของฝรั่งเศสลงให้ได้ จนกระทั่ง ในวันที่ 27 มีนาคม กำลังเวียดมินห์ก็สามารถยึดสนามบินได้

ในขณะเดียวกันพบว่า หน่วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์นั้น มีบทบาทสำคัญทำให้การส่งกำลังบำรุงทางอากาศของฝรั่งเศสต้องหมดสภาพลง ดังจะเห็นได้ว่า ฝรั่งเศสได้เตรียมเครื่องบินไว้สำหรับภารกิจนี้จำนวน 420 เครื่อง ในภารกิจการบินดังกล่าวเครื่องบินจำนวน 62 ลำถูกยิงตก และ 107 ลำถูกยิงเสียหาย

นอกจากนี้แนวป้องกันของเดียนเบียนฟูถูกสร้างเพื่อป้องกันการเข้าตีในทิศทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามทุ่นระเบิด รังปืนกล ปืนใหญ่ที่เตรียมยิงพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็น “พื้นที่สังหาร” ถ้ากำลังรบของเวียดมินห์ตัดสินใจบุกเข้าตี

การป้องกันเมืองอย่างเดียนเบียนฟู แม้จะเป็นเรื่องง่ายทางทฤษฎีบนกระดาษของแผนยุทธการแต่เมื่อต้องเผชิญกับการเข้าตีระลอกแล้วระลอกเล่ารวมทั้งการยิงปืนใหญ่ถล่มเมืองอย่างรุนแรง ตลอดจนการสูญเสียสนามบินจนทำให้การส่งกำลังบำรุงถูกทำลายลงตั้งแต่ในช่วงแรกของสงคราม สภาพเช่นนี้ส่งผลให้ยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศสที่ต้องการล่อให้กำลังรบของเวียดมินห์เข้ามาติดกับในพื้นที่เป็นเสมือน “กระเป๋า” ที่เดียนเบียนฟู และจะถูกบดขยี้ทำลงได้อย่างรวดเร็วนั้น การณ์กลับเป็นตรงกันข้ามคือ กำลังรบของฝรั่งเศสกับ “ติดกับ” อยู่ในกระเป๋านั้นเสียเอง

การรบดำเนินไปจนกระทั่งในวันที่ 7 พฤษภาคม 1954 ผู้บัญชาการกองทัพฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูจึงตัดสินใจยอมแพ้ กล่าวกันว่า ทหารฝรั่งเศสสู้จนกระสุนนัดสุดท้าย...และกำลังทั้งหมดถูกจับเป็นเชลย ประมาณว่ามีทหารเพียง 73 นายจากจำนวน 15,000 นาย ที่สามารถหนีการปิดล้อมไปได้ ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งบาดเจ็บ และอีกครึ่งหนึ่งเสียชีวิต

สงครามปิดฉากลงด้วยชัยชนะของเวียดมินห์ และถือกันว่าเป็นการ “ปิดฉาก” ของระบอบอาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีน และสงครามเดียนเบียนฟูนี้เองที่ทำให้เราได้รู้จักนักการทหารคนสำคัญของโลก “นายพลหวอเหงียนย้าป” และคงจะไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า เขาคือ “นายพลคู่ใจของท่านโฮจิมินห์” ที่ทำให้เอกราชของเวียดนามเกิดขึ้นได้จริง

 

(2)

1 พฤษภาคม 1954

 

“เราต้องผ่านป่าและภูเขา เราเดินกันในเวลากลางคืน และพักนอนในเวลากลางวันเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีทางอากาศบางครั้งเรานอนกันในหลุมบุคคล หรือบางทีก็นอนข้างทางพวกเราทุกคนมีปืนไรเฟิล กระสุน และระเบิดมือ และในเป้สนามมีผ้าห่ม มุ้ง และเสื้อผ้า

เรามีข้าวพอสำหรับหนึ่งอาทิตย์ และจะได้รับเพิ่มเติมจากคลังเสบียงระหว่างทาง เรากินผักและหน่อไม้ที่หาได้ในป่าและบางครั้งชาวบ้านก็แบ่งเนื้อสัตว์เล็กๆ น้อยๆ ให้พวกเราบ้างจนถึงเวลานี้ผมอยู่ในกองทัพเวียดมินห์มาเป็นเวลาเก้าปีแล้วและผมก็คุ้นเคยกับความยากลำบากเหล่านี้เป็นอย่างดี”

Cao Xuan Nghia

บันทึกชีวิตประจำวันของทหารเวียดมินห์

ในประวัติศาสตร์สงครามหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ชื่อของนักการทหารชาวเอเชียคนหนึ่งได้ถูกบันทึกไว้ และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักการทหารคนสำคัญของโลก จนอาจกล่าวได้ว่าในโลกการทหารนั้น ไม่มีใครไม่รู้จัก “นายพลหวอเหงียนย้าป” แห่งกองทัพเวียดนามเหนือ

ในสถานการณ์ที่คุกรุ่นด้วยกลิ่นไอของสงครามกู้เอกราชในเวียดนามผู้รักชาติจากสาขาอาชีพต่างๆ ได้ทยอยเข้าร่วมขบวนการกู้เอกราชอย่างไม่ขาดสาย หวอเหงียนย้าปก็เป็นคนหนึ่งที่ตัดสินใจเดินบนเส้นทางของการจับอาวุธต่อสู้เพื่อเอกราชของมาตุภูมิ ดังเช่นคนเวียดนามอื่นๆ อีกหลายคน และแน่นอนว่า หลายคนได้เสียสละชีวิตอย่างสมเกียรติบนเส้นทางของ “ถนนเอกราช” สายนี้

ทหารฝรั่งเศสถูกจับเป็นเชลย

ทหารฝรั่งเศสถูกจับเป็นเชลย

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้คนที่ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นทหารในกองทัพเวียดมินห์นั้น พวกเขาไม่ได้มีโอกาสจบโรงเรียนทหาร ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนนายสิบ หรือโรงเรียนนายร้อยก็ตาม เพราะในความเป็นจริงของระบบอาณานิคมนั้น ผู้ปกครองเจ้าอาณานิคมจะไม่อนุญาตให้มีโรงเรียนทหารเกิดขึ้นแต่อย่างใด คนพื้นเมืองจะมีโอกาสเข้ารับการฝึกทหารก็ต่อเมื่ออาสาสมัครเข้ามาเป็นกำลังพลระดับล่างใน “กองทัพอาณานิคม” (Colonial armies) และสำคัญกว่านั้นก็คือ พวกเขาจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “นายทหาร” ในกองทัพเช่นนี้อย่างเด็ดขาด

ว่ากันตามจริงด้วยเหตุผลแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากนักถึงการที่ระบอบอาณานิคมไม่อนุญาตให้คนพื้นเมืองเข้าเป็นนายทหารและประจำการอยู่ในกองทัพของตน ก็เพราะเกรงกันว่า จะเปิดโอกาสให้ชนพื้นเมืองได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวในทางทหาร และขณะเดียวกันก็เป็นหลักประกันว่า อาวุธจะไม่อยู่ในมือของคนพื้นเมืองเจ้าของประเทศ อันทำให้การตัดสินใจใช้การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของคนเหล่านี้มีข้อจำกัดอยู่ในตัวเอง

ฉะนั้นสำหรับย้าป ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสมือนหัวขบวนในเรื่องทางทหารสำหรับกองทัพเวียดมินห์ก็ไม่ต่างกับทหารหลายๆ คนในกองทัพของขบวนการกู้เอกราช ที่พวกเขาไม่ได้จบโรงเรียนนายสิบหรือนายร้อยที่ใดทั้งสิ้น พวกเขาตัดสินใจจับอาวุธเข้าต่อสู้ก็จากความรู้สึกที่ต้องการเห็นเอกราชเกิดขึ้นในบ้านของตนเอง และก็ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นเช่นนี้ที่ทำให้พวกเขาพร้อมที่จะกระโจนลงสู่ “สนามรบที่เดียนเบียนฟู” โดยไมหวาดหวั่นต่ออำนาจการยิงจากการตั้งรับของกองทหารฝรั่งเศสแต่อย่างใด

ย้าปเริ่มต้นชีวิตในวัยทำงานด้วยการเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง และในขณะเดียวกันเขาก็เข้าร่วมกับขบวนการกู้เอกราชที่เปิดฉากการเคลื่อนไหวและจัดตั้งโดยโฮจิมินห์ สภาพเช่นนี้ทำให้เขาต้องเดินทางเข้าไปในจีน เสมือนหนึ่งเป็นการ “ลี้ภัย” เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมของฝรั่งเศส และช่วงของชีวิตในจีน ทำให้เขามีโอกาสได้รับการฝึกทางทหารจากกองทัพแดงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกด้วย กล่าวกันว่าย้าปได้เรียนรู้เทคนิคสำคัญในเรื่องของการแทรกซึมจากกองทัพแดงของจีนซึ่งต่อมาได้กลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการต่อสู้ของเขาในเวียดนาม

ประสบการณ์ของเขาไม่ได้มาจากเพียงการฝึกทางทหารจากจีน หากแต่เมื่อเดินทางกลับบ้านแล้ว ย้าปได้มีบทบาทอย่างสำคัญในสงครามต่อต้านญี่ปุ่นในเวียดนาม ซึ่งก็มีความหวังว่า เมื่อสงครามสงบแล้วจะเป็นหนทางสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้เวียดนามได้รับเอกราช แต่จริงๆ แล้ว เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงพร้อมกับความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความพยายามในการสถาปนาอำนาจของระบอบอาณานิคมให้ฟื้นขึ้นมาอีกในอินโดจีน

ทหารและประชาชนร่วมกันยินดีต่อชัยชนะ

ประสบการณ์การต่อสู้ในช่วงต้นของย้าปไม่ได้สวยหรูด้วยชัยชนะเสมอมา ยุทธการแม่น้ำแดงที่เป็นเสมือนบททดลองสำคัญของการจับอาวุธลุกขึ้นสู้ของขบวนการกู้เอกราชในช่วงปี 1951 - 1952 นั้น จบลงด้วยความพ่ายแพ้และการสูญเสียเป็นจำนวนมาก จนราวกับว่าความพ่ายแพ้ในการยุทธ์ที่แม่น้ำแดงนี้จะเป็น “ความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์” สำหรับกองทัพเวียดมินห์

แต่ย้าปก็เรียนรู้ที่จะปรับยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีของเขาใหม่ การเปิดการรุกขนาดใหญ่ด้วยการเข้าตีที่ตั้งทางทหารของฝรั่งเศสเหมือนเช่นปฏิบัติการในสงครามตามแบบนั้น กลายเป็น “การฆ่าตัวตายหมู่” สำหรับคนพื้นเมือง ที่แม้จะมีกำลังพลมากจากการปลุกระดมทางการเมือง แต่การดำเนินสงครามตามแบบซึ่งฝรั่งเศสมีอำนาจการยิงที่เหนือกว่านั้นสุดท้ายก็จบลงด้วยความสูญเสียของฝ่ายเวียดมินห์

ย้าปยอมเจ็บปวดจากการเรียนรู้ด้วยบทเรียนราคาแพง ทำให้เขาหันมาเน้นยุทธศาสตร์ของ “สงครามเล็ก” ที่อาศัยปฏิบัติการทางทหารในรูปแบบสงครามกองโจรของหน่วยขนาดเล็กที่มีความคล่องตัวสูงเข้าทำการยุทธ์และจากการปรับตัวเช่นนี้ ทำให้เมื่อเขาตัดสินใจเปิดยุทธการที่เมืองเดียนเบียนฟูนั้น ผลลัพธ์เป็นตรงกันข้ามกับยุทธการที่แม่น้ำแดง สงครามคราวนี้กองทหารฝรั่งเศสประสบความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ จนถือกันว่าสงครามครั้งนี้ก็คือการสิ้นสุดของจักรวรรดิฝรั่งเศสในอินโดจีนอย่างสมบูรณ์และด้วยชัยชนะในสงครามดังกล่าว ย้าปจึงถูกยกย่องให้เป็นนักการทหารคนสำคัญของโลก หรือบางคนอาจจะยกย่องให้เขาเป็น “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ในสงครามสมัยใหม่แห่งสนามรบในหุบเขาที่เดียนเบียนฟู

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องรำลึกถึงการต่อสู้ของบรรดาเหล่าทหารฝรั่งเศสเช่นกัน พวกเขาป้องกันเดียนเบียนฟูอย่างสุดความสามารถ แต่ด้วยการวางยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาค พร้อมๆ กับการประเมินขีดความสามารถของข้าศึกต่ำกว่าความเป็นจริงมากนั้น แทนที่เดียนเบียนฟูจะกลายเป็น “กระเป๋า” ล่อให้ข้าศึกเข้ามาติดกับ การณ์กลับเป็นว่ากองกำลังของฝรั่งเศสถูกตรึงอยู่ภายในหุบเขา ฉะนั้น พื้นที่ที่ถูกเตรียมไว้ให้เป็น “พื้นที่สังหาร” ที่หวังว่ากองกำลังของเวียดมินห์จะเข้ามาให้ฝรั่งเศสบดขยี้ทิ้งได้โดยง่าย (โดยเฉพาะเข้ามาอยู่ในรัศมีการยิงของปืนใหญ่ฝรั่งเศสที่ผู้บังคับหน่วยของพวกเขามักจะโอ้อวดอยู่เสมอ) ผลที่เกิดจริงกลับเป็นในทางตรงข้ามคือ เดียนเบียนฟูกลายเป็น “พื้นที่สังหาร” ที่กำลังพลของฝรั่งเศสถูกบดขยี้แทน เพราะถูกตรึงให้อยู่ในพื้นที่แคบๆ ที่การส่งกำลังบำรุงก็กระทำได้ยาก

ประชาชนและทหารร่วมขบวนแห่ฉลองชัยชนะ

นอกจากนี้ การตัดสินใจในยุทธการที่เดียนเบียนฟูยังมีองค์ประกอบทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง ดังจะเห็นได้ว่า กองกำลังของเวียดมินห์ได้ทยอยเข้าปิดล้อมเดียนเบียนฟูไว้ได้ตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ย้าปก็ใจเย็นพอที่จะรอ “เวลาและโอกาส” นายพลนาวารร์ของฝรั่งเศส แม้จะตระหนักดีถึงอนาคตที่จะเป็นความพ่ายแพ้ขนาดใหญ่ของฝรั่งเศสในสมรภูมิแห่งนี้ แต่เขาเองก็ไม่กล้าที่จะยอมรับในเวทีสาธารณะ

รัฐบาลที่ปารีสเองก็เหมือนกับเล่นการพนันด้วย “เกมเสี่ยง” กล่าวคือพวกเขายอมอนุมัติแผนดังที่นายพลนาวารร์เสนอ ด้วยการทดลองเปิดเกมใหม่โดยหวังว่าอาจจะมีโอกาสได้รับชัยชนะอยู่บ้าง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าโอกาสที่จะชนะในแผนยุทธการเช่นนี้มีอยู่น้อยมาก ซึ่งก็ไม่ต่างกับการ “เทหมดหน้าตัก” ด้วยชีวิตของทหารมากกว่าหนึ่งหมื่นนาย ค่าใช้จ่ายทางทหารหลายล้านฟรังส์ และสุดท้ายก็คือการเสี่ยงด้วยการเอา “เกียรติยศของชาติ” เป็นเดิมพันสำคัญ !

แม้โต๊ะพนันสงครามจะถูกตั้งไว้ที่เดียนเบียนฟู แต่ในอีกด้านก็หวังว่าโต๊ะเจรจาสันติภาพที่เจนีวาจะช่วยทำให้สงครามไม่ต้องเริ่มขึ้น แต่ในสนามรบทางการเมืองที่วางอยู่บนสนามรบทางทหารนั้น ทุกฝ่ายตระหนักดีว่าจะต้องรบให้ถึงที่สุด เพื่อชิงความได้เปรียบในพื้นที่ก่อนที่การเจรจาจะเกิดขึ้นจริงในอีกซีกหนึ่งของโลก ซึ่งในที่สุดสงครามก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และสำหรับกองทัพเวียดมินห์ คำสั่งยุทธการของย้าปในวันที่ 13 มีนาคม 1954 มีความชัดเจนในตัวเองก็คือ “โจมตี” เดียนเบียนฟู

การปิดล้อมเดียนเบียนฟูทำให้ฝรั่งเศสต้องแสวงหา “ปฏิบัติการช่วยเหลือ” ที่ทำอย่างไรจึงจะเอาทหารที่ถูกปิดล้อมออกมาให้ได้มากที่สุดแม้รัฐบาลอเมริกันอยากจะช่วย แต่ก็ติดขัดด้วยการประชุมที่เจนีวา และอยากให้เป็นรูปแบบของ “ปฏิบัติการผสม” ระหว่างกำลังทางอากาศของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่รัฐบาลที่ลอนดอนกลับไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะถือว่าสงครามเดียนเบียนฟูเป็นปัญหาภายในของอาณานิคมฝรั่งเศส

สภาพเช่นนี้ทำให้การใช้กำลังทางอากาศช่วยเหลือเดียนเบียนฟูต้องยุติลงในที่สุด เพราะฝรั่งเศสเองก็ไม่มีศักยภาพของกำลังทางอากาศในตะวันออกไกลมากพอที่จะดำเนินการด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งสหรัฐและอังกฤษ และแม้จะมีผู้เสนอให้สหรัฐใช้ระเบิดนิวเคลียร์เพื่อยุติสงครามที่เดียนเบียนฟู เพราะถือว่า การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นภัยคุกคามจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ และก็เป็นเช่นเดียวกับการใช้กำลังทางอากาศ ข้อเสนอดังกล่าวต้องยุติลงเพราะเป็นความเสี่ยงเกินไป และอาจจะทำให้สหรัฐต้องเข้าสู่สงครามนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งการเข้าสู่สงครามจากปัญหาเดียนเบียนฟูนั้น รัฐบาลที่วอชิงตันได้วิเคราะห์แล้วว่า การกระทำดังกล่าวจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง ดังคำอธิบายที่บอกว่า “The wrong war, at the wrong time”

ร่างไร้วิญญาณของทหารฝรั่งเศสและเวียดมินห์ในสมรภูมิ

การสู้รบดุเดือดทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่มีเวลาฝังศพ

มีผู้กล่าวเปรียบเทียบว่า สนามรบที่เดียนเบียนฟูนั้น โหดร้ายไม่ได้แตกต่างไปจากการรบที่ Somme และ Passchendaele ในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่อย่างใด ต่างฝ่ายต่างสูญเสียอย่างมาก... ในการรบที่เดียนเบียนฟู ทหารฝรั่งเศสครึ่งหนึ่งตาย อีกครึ่งหนึ่งบาดเจ็บ ทหารเวียดมินห์ตาย 7,900 นาย และบาดเจ็บอีก 15,000 นาย ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า สำหรับการรบที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ฝ่ายฝรั่งเศสรู้ดีว่าพวกเขากำลังแพ้ แต่สำหรับฝ่ายเวียดมินห์ พวกเขาก็รู้ดีว่า เขากำลังชนะ !

ดังนั้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 1954 ย้าปจึงออกคำสั่งยุทธการให้เปิดการโจมตีใหญ่ตลอดแนว.... คราวนี้เวียดมินห์เปิดเกมด้วยการ “เทหมดหน้าตัก” เพื่อให้ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด กำลังรบของฝรั่งเศสถูกต้อนให้อยู่พื้นที่เล็กๆ ประมาณ 1 ส่วน 4 ตารางไมล์เท่านั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ทหารฝรั่งเศสไม่มีทางออกอย่างใดเลย แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นว่า พวกเขาจะไม่ยอมแพ้ ดังคำกล่าวที่ว่า “จะต้องไม่มีการยกธงขาว” เด็ดขาด

แต่จะทำอย่างไรถ้าจะต้องรักษาชีวิตของกำลังพลที่เหลืออยู่ ในที่สุดแล้วนายพลนาวารร์ได้ออกคำสั่งถึงกัสตรีย์ให้ยุติการต่อสู้ในเวลา 5:30 น. ของเย็นวันที่ 7 พฤษภาคม ดังกล่าว.... กัสตรีย์แต่งเครื่องแบบชุดใหม่พร้อมทั้งติดเหรียญตราบนหน้าอกรอรับการเข้ามาของทหารเวียดมินห์ใน บก. ของเขา เมื่อเขาถูกนำตัวออกมาจาก บก. เขาเห็นว่าธงไตรรงค์ของฝรั่งเศสกำลังถูกชักลงจากเสา และธงแดงของเวียดมินห์กำลังถูกเชิญขึ้นแทน

พันตรีนายแพทย์โกรแวงของฝรั่งเศส ทำงานในป้อมค่ายแทบจะไม่มีเวลาได้พักเลย

สงครามเดียนเบียนฟูสิ้นสุดลงในวันที่ 7 พฤษภาคม 1954 ในด้านหนึ่งก็ให้กำเนิดประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม หรือเวียดนามเหนือ และในอีกด้านหนึ่งก็ให้กำเนิดนักการทหารชาวเอเชียคนสำคัญของโลกคือ นายพล “หวอเหงียนย้าป” แห่งกองทัพเวียดนาม

 

(3)

7 พฤษภาคม 1954

 

“ข้าพเจ้ารู้จักสงครามสองรูปแบบ คือสงครามเคลื่อนที่ และสงครามตรึงกำลังแต่ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินถึงสงครามปฏิวัติมาก่อนเลย”

 

ประธานาธิบดีชาลส์ เดอโกล

อ้างในหนังสือของเบอนาร์ค พอลล์

Street Without Joy (1964)

ชื่อของนายพลหวอเหงียนย้าปปรากฏเด่นและ ได้รับการยอมรับว่าเขาเป็นหนึ่งในนักยุทธศาสตร์ทหารคนสำคัญของโลกก็จากผลของการยุทธ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาที่อยู่ใกล้ชายแดนลาว ชื่อ “เดียนเบียนฟู”... ชัยชนะในสนามรบที่เดียนเบียนฟูได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความเหนือกว่าของการวางแผนทางยุทธศาสตร์ทหาร ที่ไม่ได้หมายถึงเพียงชัยชนะของกำลังรบในสนามเท่านั้น หากแต่ผลของการสงครามที่เกิดขึ้นยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญใน 3 ประเด็นคือ

1) ความพ่ายแพ้ของกองทัพฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูนำไปสู่การสิ้นสุดของระบอบอาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีนทั้งหมด

2) ชัยชนะของเวียดมินห์ที่เดียนเบียนฟูส่งผลให้เกิดการเจรจาที่เจนีวา อันนำไปสู่การจัดตั้งประเทศเวียดนามเหนือ ซึ่งถือเอาแนวคิดสังคมนิยมเป็นระบอบการปกครอง และจัดตั้งประเทศเวียดนามใต้ ภายใต้การสนับสนุนของประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา

3) ก่อให้เกิดกระแสชาตินิยม ที่นำไปสู่การเรียกร้องเอกราชของประเทศต่างๆ ที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวแอลจีเรียจากการปกครองของฝรั่งเศส

ประเด็นสำคัญของชัยชนะนี้ก็คือ ความสำเร็จในการวางยุทธศาสตร์และยุทธการของหวอเหงียนย้าปโดยตรง ซึ่งก่อนที่ความสำเร็จจะเกิดที่เดียนเบียนฟูนั้น ย้าปเองก็ประสบความสำเร็จและล้มเหลวควบคู่กันดังจะเห็นในการรบใหญ่ 3 ครั้งก่อนที่จะเข้าสู่สนามรบที่เดียนเบียนฟู ได้แก่ชัยชนะที่ หลานเซิน (Lang Son) ในการผลักดันให้อิทธิพลของฝรั่งเศสถอยออกไปจากพื้นที่แนวชายแดนจีน-เวียดนาม ช่วงประมาณตุลาคม 1950 แต่ในประมาณตุลาคม 1950 - กุมภาพันธ์ 1951 เขาก็ประสบกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินเช่นกันในการยุทธ์ที่ลุ่มแม่น้ำแดง ปัญหาเกิดจากการประมาทและประเมินกำลังของข้าศึกต่ำเกินไป

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 1951 - กุมภาพันธ์ 1952 เขาจึงปรับยุทธศาสตร์ใหม่ โดยใช้ “การยุทธ์ขนาดเล็ก” (Small-scale operations) เป็นทิศทางหลัก และขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับกำลังรบของฝรั่งเศส ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่ฮัวบินท์ (Hoa Binh) สะท้อนให้เห็นความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ทหารของย้าปได้เป็นอย่างดี และด้วยประสบการณ์การยุทธ์เช่นนี้ ทำให้ชื่อเสียงทางการทหารของย้าปกระจายออกไปในหมู่นักชาตินิยมในอินโดจีนเคียงคู่กับโฮจิมินห์ในฐานะ “มือยุทธการ” ของ “ลุงโฮ”

ดังนั้นแม้ในช่วงต้นหลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ย้าปจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ธันวาคม 1945) จนกระทั่งโฮจิมินห์ตัดสินใจเปิดสงครามกับฝรั่งเศส เขาจึงย้ายมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเวียดมินห์ (19 ธันวาคม 1946) และในอีกแปดปีต่อมา เขาจึงพิสูจน์ให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความสามารถทางยุทธศาสตร์ในระดับโลก

เกมพนันสงครามที่นายพลนาวารร์นักการทหารของฝรั่งเศสทดลองเสี่ยงด้วยการวางแผนยุทธการ “คาสตอร์” (Operation Castor) เริ่มขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1953 โดยการส่งกำลังพลทางอากาศ 6 กองพัน พลร่มลงยึดพื้นที่ของหมู่บ้านเดียนเบียนฟูที่อยู่ใจกลางหุบเขาใกล้แนวชายแดนลาว และห่างไปทางตะวันตกของฮานอยเป็นระยะทาง 220 ไมล์และแปลงหมู่บ้านแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ เพื่อหวังจะล่อให้กำลังรบของเวียดมินห์เข้ามาสู่กับดัก ที่เป็นเสมือน “พื้นที่สังหาร” และจะทำให้กองทัพฝรั่งเศสสามารถเปิดการรบแตกหักเพื่อบดขยี้กองกำลังของเวียดมินห์ได้สำเร็จ

ในเดือนมีนาคม 1954 ค่ายที่เดียนเบียนฟูขยายกำลังพลได้ถึง 15,000 คน โดยเป็นทั้งกำลังพลพลร่มของฝรั่งเศสโดยตรง กำลังพลชาวแอฟริกันกำลังพลอาสาสมัครต่างชาติ (Foreign Legion)  และกำลังพลอาสาสมัครชาวเวียดนามที่เข้าร่วมในกองทัพฝรั่งเศส (ข้อมูลบางแหล่งระบุยอดกำลังพลที่เดียนเบียนฟูแตกต่างกันออกไปบ้าง)

พื้นที่เดียนเบียนฟูถูกดัดแปลงให้เป็น “ป้อมค่ายทางยุทธศาสตร์” ในด้านหนึ่งสนามบินถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการส่งกำลังบำรุงทางอากาศ และจะเป็นหลักประกันโดยตรงว่า เมืองนี้จะไม่ถูกปิดล้อมให้อดตาย และการขนส่งทางอากาศจะเป็นหนทางสำคัญที่ทำให้เมืองไม่ถูก “ปิดตาย” ประกอบกับความเป็นเมืองในหุบเขา ฝรั่งเศสจึงได้จัดวางฐานยิงปืนใหญ่รายรอบเพื่อป้องกันการเข้าตีของข้าศึก และหวังว่าจะใช้อำนาจการยิงที่เหนือกว่า “บดขยี้” กำลังรบของเวียดมินห์ที่เปิดการรุกเข้ามาในพื้นที่ที่ถูกจัดเตรียมให้เป็นพื้นที่สังหาร

ฐานปืนใหญ่รอบๆ เมืองถูกจัดวางไว้อย่างดี โดยใช้ชื่อของสาวงามแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นกาเบรียลล์ (Gabrielle), แอนน์-มารี (Anne-Marie), เบียทริซ (Beatrice), โดมินิค (Dominique), เอเลน (Ellane), อูเกตร์ (Huguette), โคลดีน (Claudine) และอิซาเบลล์ (Isabelle)

ประติมากรรมรำลึกชัยชนะที่เดียนเบียนฟู

ผู้นำทหารฝรั่งเศสเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยการจัดวางกำลังพลและอาวุธเช่นนี้ หมู่บ้านยุทธศาสตร์ที่เดียนเบียนฟูจะเป็นป้อมค่ายที่จะนำความพ่ายแพ้ไปสู่พวกเวียดมินห์ ทหารฝรั่งเศสดูจะย่ามใจอย่างมาก พอๆ กับที่พวกเขาเชื่อมั่นอย่างมากในพลังอำนาจทางทหารที่มีอยู่ โดยเฉพาะในด้านหนึ่งความสำเร็จเกิดจากการกวาดล้างพวกเวียดมินห์ที่อยู่รอบๆ พื้นที่ตั้งค่าย ประกอบกับหลังจากประสบความสำเร็จในการสร้างสนามบินแล้วกำลังพลและยุทโธปกรณ์ต่างๆ ได้ถูกลำเลียงเข้าสู่พื้นที่ตลอดเวลา โดยเฉพาะมีการนำเอารถถังเข้ามาเสริมกำลังด้วย

แต่ก็จะต้องไม่ลืมว่าขีดความสามารถของการขนส่งทางอากาศของฝรั่งเศสมีข้อจำกัดอยู่มาก สิ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับป้อมค่ายที่เดียนเบียนฟูนั้น ถูกขนส่งมาได้เพียง 1 ใน 10 ของความต้องการจริง และในอีกด้านหนึ่ง กำลังรบของเวียดมินห์ที่รายล้อมเมืองอยู่บนเนินเขาก็เห็นถึงความเคลื่อนไหวทางทหารของฝรั่งเศสอย่างชัดเจนตลอดเวลา

ในขณะที่ฝรั่งเศสคิดว่า แผนยุทธการนี้จะเป็นโอกาสล่อให้ย้าปส่งกำลังเข้ามาติดกับ ย้าปกลับมองเห็นโอกาสอย่างที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อนว่าฝรั่งเศสกำลังสร้างกับดักให้แก่ตนเอง...เขาจึงออกคำสั่งให้ทหาร 3 กองพลได้แก่ กองพลทหารราบที่ 308 และ 312 พร้อมกองพลอาวุธหนักที่ 351 มุ่งหน้าเข้าสู่พื้นที่ของเดียนเบียนฟู และกำลังอีก 2 กองพลถูกวางให้ใกล้แนวที่ตั้งค่ายทหารของฝรั่งเศส

ในการยุทธ์ครั้งนี้ ย้าปสามารถรวมกำลังได้ถึง 55,000 นาย พร้อมทั้งปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยานรวมกันราว 200 กระบอก ในขณะที่ค่ายที่เดียนเบียนฟู มีกำลังพลราวหมื่นกว่านาย และมีปืนใหญ่รวมทั้งสิ้นเพียง 28 กระบอก หากแต่ข้อมูลการข่าวของฝรั่งเศสกลับเชื่อว่า ย้าปไม่น่าจะรวบรวมกำลังพลได้เกินกว่า 20,000 นาย และกำลังพลที่รวบรวมได้นี้ก็น่าจะมีคุณภาพต่ำ และมีการส่งกำลังบำรุงที่ไม่ดีพอที่จะเปิดการรุกใหญ่ได้

หากแต่ด้วยจิตใจสู้รบอย่างมุ่งมั่นของนักชาตินิยม ซึ่งโดยพื้นฐานเป็นชาวนา พวกเขาได้เข้าสนับสนุนการต่อสู้ของเวียดมินห์อย่างแข็งขันในฐานะของการเป็น "เส้นเลือดใหญ่" ของระบบส่งกำลังบำรุง โดยพวกเขาได้ใช้จักรยานยี่ห้อเปอโยต์ของฝรั่งเศสที่ซื้อก่อนสงคราม รวมถึงพาหนะที่มีล้อแบบต่างๆ ตลอดจนผู้คนที่ช่วยในการแบกหาม และรวมถึงการใช้สัตว์เป็นพาหนะขนอาวุธ ดังจะเห็นได้ว่าเฉพาะในกรณีของจักรยานนั้น พวกเขาสามารถขนสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ได้ถึง 500 ปอนด์ (ประมาณ 228 กิโลกรัม)

ค่ายที่เดียนเบียนฟูอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลจัตวาคริสเตียนเดอกัสตรีย์ (Brigadier Gen. Christian de Castries) เขามาจากเหล่าม้าและเป็นตระกูลขุนนางเก่า และที่สำคัญเขาเป็นนักขี่ม้าระดับแชมป์โลกซึ่งว่าที่จริงแล้วเขาเหมาะกับสงครามป้อมค่ายประชิดแบบยุคกลางของยุโรปมากกว่าสงครามอาณานิคมในเวียดนาม ด้วยการที่มีพื้นฐานเป็นเหล่าม้า เขาจึงเชื่อว่ารถถังจะเป็น “อาวุธยุทธศาสตร์” นอกเหนือจากปืนใหญ่ที่จะใช้บดขยี้กำลังรบของเวียดมินห์ ที่เปิดฉากการเข้าตีในพื้นที่โล่งแจ้ง

กำลังพลของฝรั่งเศสมีความเชื่อมั่นในตนเองอย่างมาก ประกอบกับขวัญกำลังใจในการรบก็สูงยิ่ง พวกเขาเชื่อว่ากำลังพลของเวียดมินห์ไม่น่ากลัวและไม่ใช่ภัยคุกคามที่น่าเกรงขามแต่อย่างใด ในทัศนะของผู้นำทหารของฝรั่งเศส ย้าปเองก็ไม่น่าจะเป็นบุคคลที่มีความสามารถทางการทหารแต่อย่างใด อย่างน้อยย้าปเองไม่เคยได้รับการฝึกศึกษาจากโรงเรียนทหารที่มีชื่อเสียงใดๆ เลย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ไยเลยจะต้องกลัวการเข้าตีของเวียดมินห์ ...ไยเลยจะต้องกังวลกับการวางแผนของย้าป เพราะอย่างไรเสียพวกเขาที่ไม่เคยเรียนโรงเรียนทหารก็ไม่สามารถเอาชนะกำลังพลและยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่กองทัพฝรั่งเศสมีที่เดียนเบียนฟูได้

อย่างไรก็ตาม นายพลนาวารร์ที่กองบัญชาการที่ฮานอยไม่ได้พูดความจริงกับผู้บังคับบัญชาหน่วยในสนามแต่อย่างใด เขาไม่ให้ข้อมูลข่าวกรองว่า กำลังพลของเวียดมินห์ถึง 2 กองพลทหารราบได้ขึ้นสู่พื้นที่สูงรอบๆ เมืองเดียนเบียนฟูแล้ว และทางเข้าออกเมืองเหลือเพียงวิธีเดียวเท่านั้นคือ “ทางอากาศ”

ขณะเดียวกับอากาศเหนือเดียนเบียนฟูในช่วงเดือนมีนาคม มีหมอกและฝนในบางครั้ง ทำให้ยากแก่นักบินในการโจมตีทางอากาศต่อกำลังพลของเวียดมินห์ที่ทยอยเข้าสู่พื้นที่และแฝงตัวอยู่ในหลุมบุคคล หรือที่หลบซ่อนซึ่งถูกพรางไว้เป็นอย่างดี อีกทั้งการข่าวของฝรั่งเศสก็ไม่ตระหนักว่าระบบส่งกำลังบำรุงของย้าปได้ถูกจัดไว้เป็นอย่างดี ปืนใหญ่และสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ถูกขนเข้าสู่พื้นที่แล้วอย่างพร้อมเพรียง

ประกอบกับแผนยุทธการของฝรั่งเศสเองดูจะประสบปัญหาจากสภาพอากาศที่มีฝนตกเป็นประจำ ทำให้รถถังมักจะติดหล่ม อีกทั้งความเป็นจริงของภูมิประเทศมีลักษณะเป็นป่าและพุ่มไม้หนา (ซึ่งไม่ใช่พื้นที่แบนราบอย่างในแผนที่) ยังส่งผลให้รถถังที่ผู้บัญชาการค่ายเดียนเบียนฟูซึ่งเป็นเหล่าม้า คิดว่ารถถังจะเป็นอาวุธเผด็จศึกนักรบเวียดมินห์ กลับเป็นว่ารถถังกลายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ในทางยุทธการเท่าใดนัก

จนเดือนมกราคม 1954 กำลังพลของเวียดมินห์เข้าสู่ที่ตั้งอย่างสมบูรณ์และกำลังพลเหล่านี้ตั้งมั่นอยู่บนพื้นที่สูงรายรอบที่ตั้งทางทหารของฝรั่งเศสย้าปใช้เวลา 10 วันประเมินสถานการณ์และศึกษาจุดอ่อนของฝรั่งเศสเป็นครั้งสุดท้าย เขาตัดสินใจว่าจะไม่ใช้การทุ่มกำลังเข้าตีในลักษณะของ “คลื่นมนุษย์” เช่นที่เวียดมินห์เคยปฏิบัติมาแล้ว ประกอบกับระบบส่งกำลังบำรุงถูกจัดไว้อย่างดี อันจะทำให้ย้าปสามารถรบได้ในระยะเวลาหลายเดือน

ฝรั่งเศสประเมินย้าปต่ำมาก พวกเขาเชื่อว่ากำลังพลของเวียดมินห์ล้อมเดียนเบียนฟูได้ไม่นาน แต่กระนั้นสำหรับฝ่ายฝรั่งเศส สถานการณ์ดูจะลำบากกว่า เพราะการส่งกำลังบำรุงกระทำได้โดยทางอากาศเท่านั้น

ย้าปตัดสินใจที่จะรอ เพราะด้านหนึ่งขวัญและกำลังใจของกำลังพลฝรั่งเศสค่อยๆ ตกต่ำลงจากสภาพของการถูกปิดล้อม และฝรั่งเศสก็ดูจะอยากให้ย้าปเปิดการรบเร็วๆ และหวังว่าเวียดมินห์จะทุ่มกำลังเปิดการรบในที่โล่งแจ้ง เพื่อให้สงครามถูกตัดสินโดยเร็วด้วยอำนาจการยิงที่เหนือกว่า

แม้ฝรั่งเศสจะมีข้อมูลข่าวกรองว่า เวียดมินห์มีปืนใหญ่ แต่ก็ไม่ตระหนักว่า เวียดมินห์มีปืนใหญ่ขนาค 105 มม. จากโซเวียตมากกว่า 40 กระบอก และปืนเหล่านี้ก็ถูกจัดวางในตำแหน่งการยิงอย่างดี พร้อมทั้งมีการซ่อนพรางอย่างมิดชิด แต่ทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศสมักจะชอบดูแคลนว่าทหารปืนใหญ่ของเวียดมินห์ไม่มีความสามารถในการยิง จนถึงขนาด พันเอกชาลส์ ปิโรตต์ (Col. Charles Piroth) ผู้บังคับการหน่วยปืนใหญ่ฝรั่งเศสคุยโอ้อวดว่า “ไม่มีปืนใหญ่ของเวียดมินห์กระบอกใดจะยิงได้เกินกว่าสามนัด โดยไม่ถูกทำลายจากปืนใหญ่ของเรา”

ย้าปรอ....และรอ...จนกระทั่ง 13 มีนาคม เขาจึงออกคำสั่งยุทธการให้โจมตีใหญ่ !

แม้กัสตรีย์จะรู้ถึงข้อมูลว่าย้าปจะเปิดการรุกในวันดังกล่าวจากนักโทษเวียดมินห์ที่ถูกจับได้ จนกระทั่ง 5 โมงเย็นของวันดังกล่าว เขาก็เริ่มได้ยินเสียงปืนใหญ่ของเวียดมินห์เปิดฉากการยิง ปืนใหญ่เวียดมินห์มีมากกว่าที่เขาคิด และสำคัญกว่านั้นก็คือ พลปืนยิงได้ดีกว่าที่เขาคิดด้วย และความเหนือกว่าของหน่วยทหารปืนใหญ่ของเวียดมินห์ทำให้ พันเอกปิโรตต์ตัดสินใจดึงสลักระเบิดมือฆ่าตัวตายในบังเกอร์ของตนเอง

5 วันหลังจากการเปิดยุทธการ ย้าปก็สามารถยึดสนามบินได้ (18 มี.ค. 1954) ซึ่งก็เท่ากับการส่งกำลังบำรุงทางอากาศที่ถูกกำหนดให้เป็น “เส้นโลหิตหลัก” ของความอยู่รอดของเดียนเบียนฟูถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง

การปิดล้อมเดียนเบียนฟูกลายเป็นข่าวใหญ่ทั้งในฝ่ายของฝรั่งเศสและของเวียดนามเอง ทหารฝรั่งเศสบางส่วนเปรียบเดียนเบียนฟูเหมือนกับการต่อสู้ของชาวเท็กซัสที่ป้อมอลาโมในปี 1831 และมีความพยายามที่จะนำเอากำลังฝ่าเข้าไปช่วยเหลือ แต่แม้จะกระทำได้ก็ใช่ว่าจะสามารถเปลี่ยนทิศทางสงครามได้ เพราะในแต่ละวันทหารเวียดมินห์ได้ขุดสนามเพลาะใกล้เข้ามาประชิดกับแนวตั้งรับของฝรั่งเศส จนในบางจุดนั้นใกล้จนแทบจะจับมือกันได้ ดังนั้นในหลายๆ จุด การรบจึงเป็นการต่อสู้ในระยะประชิด และทำการรบตัวต่อตัวแบบในสงครามโบราณขณะเดียวกัน ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องก็กลายเป็นอุปสรรคสำหรับการใช้กำลังทางอากาศของฝรั่งเศส และถ้าเครื่องบินต้องบินต่ำก็จะถูกยิงจากปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์ ดังจะเห็นว่าเครื่องบินถึง 62 ลำถูกยิงตก และ 167 ลำถูกยิงเสียหาย (จากจำนวนเครื่องบินที่ฝรั่งเศสมีทั้งหมด 420 เครื่อง)

ในสภาพเช่นนี้ ขวัญกำลังใจของกำลังพลที่เดียนเบียนฟูตกต่ำลงอย่างถึงที่สุด การช่วยเหลือด้วยการใช้กำลังทางอากาศก็ไม่เป็นดังหวัง เพราะรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่กล้าที่จะเป็นผู้ดำเนินการฝ่ายเดียว รัฐบาลอังกฤษก็ไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหาการเมืองภายในอาณานิคมของฝรั่งเศส

การรบดำเนินต่อเนื่องอย่างรุนแรง ย้าปออกคำสั่งยุทธการให้โจมตีอย่างเด็ดขาดในวันที่ 1 พฤษภาคม จนถึง 5:30 น. ของวันที่ 7 พฤษภาคม 1954 นายพลนาวารร์จึงออกคำสั่งให้นายพลกัสตรีย์หยุดยิง... กำลังพลของฝรั่งเศสเสียชีวิตกว่า 5,000 นาย และถูกจับเป็นเชลย 10,000 นาย (กว่าครึ่งในจำนวนนี้ได้รับบาดเจ็บ) ส่วนเวียดมินห์น่าจะสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก ประมาณว่ายอดการสูญเสียน่าจะสูงถึง 7,900 นาย และบาดเจ็บอีก 15,000 นาย

แต่ถึงกระนั้นก็เห็นชัดเจนถึงความสามารถทางยุทธศาสตร์อย่างเด่นชัดของนายพลหวอเหงียนย้าป แม้จะต้องประสบกับการสูญเสียอย่างมากแต่ก็เป็นชัยชนะทางยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ (ดังเช่นที่กล่าวแล้วในข้างต้น) จนนำไปสู่การสิ้นสุดของระบอบอาณานิคมของฝรั่งเศส พร้อมๆ กับการกำเนิดของเวียดนามเหนือ

ขีดความสามารถทางยุทธศาสตร์ของนายพลย้าป ยังถูกพิสูจน์อีกจากหลายๆ การยุทธ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรุกในเทศกาลตรุษญวน (Tet Offensive) ในเดือนมกราคม 1968 แม้จะต้องประสบกับความล้มเหลวทางทหาร แต่การรุกขนาดใหญ่ครั้งนี้ก็เป็นการพิสูจน์ให้รัฐบาลที่วอชิงตันเห็นว่า โอกาสของชัยชนะสงครามเวียดนามของสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ !

ย้าปพิสูจน์ความสามารถครั้งสำคัญในการรุกใหญ่ครั้งสุดท้ายของสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาตัดสินใจใช้กำลังรบตามแบบ กำลังทหารราบยานยนต์ถูกกำหนดให้รุกเข้าสู่ไซ่ง่อนอย่างรวดเร็ว และสงครามในเวียดนามได้จบลงในวันที่ 30 เมษายน 1975 โดยมียอดผู้สูญเสียทั้งหมด 3 ล้านคน และในจำนวนนี้ทหารอเมริกัน 46,397 นายเสียชีวิตในสนามรบ และอีก 10,340 นายเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ

เศษซากอาวุธจักรวรรดินิยม ณ พิพิธภัณฑ์ทหาร กรุงฮานอย

เรื่องราวของสงครามในเวียดนามจบไปพร้อมกับการสิ้นสุดของสงครามเย็น จนสงครามเหล่านี้เป็นเพียงบทเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ทหารสำหรับคนรุ่นหลัง และทั้งยังอาจจะห่างไกลจากความทรงจำสำหรับผู้คนโดยทั่วไปด้วย แต่อย่างน้อยในช่วงของกาลเวลาที่ผ่านเลย ชื่อของ “นายพลหวอเหงียนย้าป” จะยังคงอยู่ในความทรงจำในฐานะ “มหาบุรุษด้านการทหารชาวเอเชีย” ที่พิสูจน์ให้เห็นความสามารถทางยุทธศาสตร์ด้วยชัยชนะเหนือมหาอำนาจใหญ่ทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น จึงไม่ผิดอะไรนักที่จะกล่าวว่า นายพลย้าปคือ “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ในมหาสงครามที่เวียดนาม...เขาฆ่าทั้ง “ยักษ์ฝรั่งเศส” และ “ยักษ์อเมริกัน” !

 

ขอรำลึกถึงลุงโฮ...
ขอรำลึกถึงนายพลย้าป...
ขอรำลึกถึงผู้กล้าแห่งสนามรบเดียนเบียนฟู!

 

ที่มา : สุรชาติ บำรุงสุข. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), นายพลหวอเหงียนย้าป : แจ็คผู้ฆ่ายักษ์, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 148-173.

 

บทความที่เกี่ยวข้อง : 

ภาคผนวก :