ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สุนทรภู่คิด ปรีดีขยาย: อิทธิพลของงานสุนทรภู่ที่มีต่อแนวความคิดของปรีดี พนมยงค์

26
มิถุนายน
2564

กวีนิพนธ์ของสุนทรภู่มีบทบาทสำคัญและส่งทอดอิทธิพลต่อแนวความคิดทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ หากแต่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันเท่าไหร่

ในข้อเขียน บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2515 นายปรีดีย้อนรำลึกถ้อยความจากหนังสือแบบเรียน มูลบทบรรพกิจ ซึ่งคนรุ่นเก่าก่อนเคยใช้เรียนและก่อให้เกิดสำนึกถึงความเสื่อมถอยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เขาบอกเล่าว่า

“ชนรุ่นเรียนหนังสือไทยจากหนังสือ “มูลบทบรรพกิจ” ก่อนสมัยมี “แบบเรียนเร็ว” นั้นก็ดี สมัยมีแบบเรียนเร็วแล้วแต่ได้ยินชนรุ่นก่อนๆ กล่าวถึงก็ดี ย่อมจําหรือระลึกได้ว่า เริ่มอ่านตั้งแต่ แม่ ก กา ก็ได้รับคําสอนแสดงถึงความเสื่อมโทรมในระบบสมบูรณาฯ ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์บทอ่านไว้โดยสมมติถึงความเสื่อมในอาณาจักร “สาวัตถี” มีความเท่าที่ข้าพเจ้าพอจําได้บ้างดังนี้

“สาธุสะจะขอไหว้ พระศรีไตรสะระณา พ่อแม่แลครูบา เทวดาในราษี….........อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาวนารี ที่หน้าตาดีๆ  ทํามโหรีที่เคหา ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ  เข้าแต่หอล่อกามา…...หาได้ให้ภริยา  โลโภพาให้บ้าใจ…...ถือน้ำร่ำเข้าไป  แต่น้ำใจไม่นําพา  หาได้ใครหาเอา  ไพร่ฟ้าเศร้าในอุรา......

ซึ่งนายปรีดีลองยกตัวอย่างบทร้อยกรองหัดอ่าน “แม่กม” มาประกอบ

“ในแม่กมนั้น มีความที่มีผู้ฟื้นเอามากล่าวกันมากในรัชกาลที่ 6 เจ้านายบางองค์ที่ปารีสเคยเตือนให้ข้าพเจ้าระลึกความตอนหนึ่งของแม่กมที่มีว่า

“ขึ้นกมสมเด็จจอมอารย์   ผู้ผ่านภาราสาวัตถี เชื่อกลหลงเล่ห์เสนีย์ กลอกกลับอัปรีย์บุรีจึงล่มจมไป.......”

พร้อมทั้งกล่าวสรุป

“ฉะนั้น ย่อมเห็นได้ว่า ชนรุ่นที่เรียนหนังสือไทยจาก มูลบทบรรพกิจ หรือคนรุ่นต่อมาที่ได้ยินชนรุ่นเก่าท่องให้ฟังแล้ว ก็เกิดสํานึกกันทั่วไปถึงความเสื่อมในระบบสมบูรณาฯ หรือระบบศักดินาที่ล้าหลัง  ข้าพเจ้าขอน้อมสักการะพระพุทธเจ้าหลวงที่ทรงมีพระทัยก้าวหน้ากว่าผู้ล้าหลังมาก คือ แม้หนังสือ มูลบทบรรพกิจ จะแต่งขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ แต่พระองค์ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักเรียนใช้เป็นตําราเรียนได้ เพื่อจะได้เกิดจิตสํานึกช่วยพระองค์กําจัดข้าราชการที่ทุจริต และหน้าไว้หลังหลอก เอาความเท็จมากราบบังคมทูล และผู้ที่ทําตนเป็นคนนิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี”

 

ปกหนังสือ: มูลบทบรรพกิจ ได้เรียบเรียงตามแบบเก่าของพระยาศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ พิมพ์ปี พ.ศ. 2468
ปกหนังสือ: มูลบทบรรพกิจ ได้เรียบเรียงตามแบบเก่าของพระยาศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ พิมพ์ปี พ.ศ. 2468 

 

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ภาพจาก: www.พระยาศรีสุนทรโวหารน้อย อาจารยางกูร.com
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ภาพจาก: www.พระยาศรีสุนทรโวหารน้อย อาจารยางกูร.com

 

 

“กาพย์พระไชยสุริยา” ของสุนทรภู่ ในหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ได้เรียบเรียงตามแบบเก่า ของพระยาศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ พิมพ์ปี พ.ศ. 2468
“กาพย์พระไชยสุริยา” ของสุนทรภู่ ในหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ได้เรียบเรียงตามแบบเก่า ของพระยาศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ พิมพ์ปี พ.ศ. 2468

 

ตามความเข้าใจของนายปรีดี บทร้อยกรองคำกาพย์ที่อ้างนั้นเป็นผลงานประพันธ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และมีการอ้างอิงสืบต่อๆ มาไม่น้อยทีเดียว ทั้งๆ ที่แท้แล้ว ผู้ประพันธ์บทร้อยกรองคำกาพย์ตัวจริงคือ “พระสุนทรโวหาร” หรือ คนทั่วไปรู้จักมักคุ้นกันดีในนาม “สุนทรภู่”

เน้นย้ำอีกครั้งนะครับ หาใช่ พระยาศรีสุนทรโวหาร แต่เป็น พระสุนทรโวหาร ต่างหาก

ไม่แปลกหรอก ถ้านายปรีดีจะเข้าใจคลาดเคลื่อน  เขาในวัยเยาว์ย่อมอ่านคำกาพย์ข้างต้นมาจากหนังสือแบบเรียนภาษาไทย มูลบทบรรพกิจ อันเป็นที่รับรู้แพร่หลายว่าพระยาศรีสุนทรโวหารคือผู้แต่งและเรียบเรียง ครั้งยังมีบรรดาศักดิ์ “หลวงสารประเสริฐ” ปลัดกรมพระอาลักษณ์

ตำรานี้ปรากฏขึ้นช่วงต้นทศวรรษ 2410 เป็นหนึ่งในชุดตำราแบบเรียน ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ, วาหนิต์นิกร, อักษรประโยค, สังโยคพิธาน และ พิศาลการันต์  เมื่อจุลศักราช 1233 (ตรงกับ พ.ศ. 2414) กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณได้นำต้นฉบับทั้งห้าขึ้นทูลเกล้าถวายฯ สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  และพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เพื่อใช้เป็นแบบสอนเด็กหัดอ่านเขียนหนังสือไทยในโรงเรียนหลวงเรื่อยมาจวบปี พ.ศ. 2433 จึงเปลี่ยนไปใช้หนังสือ แบบเรียนเร็ว พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพแทน

ตอนนายปรีดีเป็นนักเรียนน่าจะหัดเขียนอ่านจากหนังสือ แบบเรียนเร็ว เพราะได้เลิกใช้ มูลบทบรรพกิจ ไปก่อนหน้าเขาถือกำเนิดถึง 10 ปี หากนายปรีดีมิแคล้วเคยได้อ่านหรือได้รับฟังเนื้อหาตำราแบบเรียนชุดเก่าเสียจนขึ้นใจ

แน่นอน พระยาศรีสุนทรโวหารคือผู้เรียบเรียงเนื้อหา มูลบทบรรพกิจ จำพวกรูปสระ พยัญชนะ ตัวอักษร  วรรณยุกต์ ตัวสะกดแม่ต่างๆ และเครื่องหมายนานา แต่บทร้อยกรองที่แทรกไว้สำหรับหัดอ่านกลับหยิบยกมาจาก กาพย์พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่ ซึ่งประพันธ์ขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2380-2383

อย่างไรก็ดี ครั้นลองพิจารณาหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ฉบับพิมพ์ครั้งเก่าๆ แบบดั้งเดิม เฉกเช่น มูลบทบรรพกิจ ได้เรียบเรียงตามแบบเก่า ของพระยาศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ห้างสมุดในปี พ.ศ. 2468 จะพบว่าไม่ได้ระบุหรือ “อ้างอิง” ถึงการนำเอาผลงานของสุนทรภู่มาใส่ไว้ในงานเขียนของตนเลย นั่นทำให้นักอ่านจำนวนมากเผลอเชื่อว่าคำกาพย์เหล่านั้น พระยาศรีสุนทรโวหารเป็นผู้แต่งเองทั้งสิ้น เว้นเสียแต่นักอ่านจำนวนหนึ่งที่ทราบชัดแจ้งว่า กาพย์พระไชยสุริยา แต่งโดยสุนทรภู่ 

หลวงบุณยมานพพาณิชย์ นักประพันธ์เจ้าของนามปากกา “แสงทอง” เป็นบุคคลหนึ่งที่ยืนยันได้ ดังเผยคำอธิบายผ่านผลงาน ภาษาและหนังสือ เมื่อต้นทศวรรษ 2500 ว่า

“...ในประวัติของตำราเรียนหนังสือไทย คนไทยผู้มีอายุปูน 50 ปีขึ้นไป คงจะต้องยกย่องให้หนังสือมูลบทบรรพกิจของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ว่าเป็นแบบฉบับที่ละเอียดสมบูรณ์  เป็นตำราที่สอนให้นักเรียนซึมทราบถ่องแท้ถึงการผันเสียงสูงต่ำและท่องจำขึ้นใจได้ง่าย เพราะมีร้อยกรองของพระสุนทรโวหาร (ภู่) แทรกตั้งแต่แม่ ก กา เริ่มเรื่อง “พระไชยสุริยา มีสุดามเหสี ชื่อว่าสุมาลี”  ไปจนถึงแม่เกอย “ขึ้นเกอยเลยกล่าวท้าวไท ฟังธรรมน้ำใจ เลื่อมใสศรัทธากล้าหาญ ฯลฯ”...”

ด้วยเหตุผลที่พระยาศรีสุนทรโวหารมิได้อ้างอิงถึงผู้แต่ง กาพย์พระไชยสุริยา กระมัง  นายปรีดีผู้ประทับใจเนื้อหาคำกาพย์ ซึ่งมองว่าสะท้อนความเสื่อมโทรมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมิได้เอ่ยขานนาม “สุนทรภู่” บุคคลผู้ถ่ายทอดความคิดวิพากษ์ระบบศักดินาผ่านบทร้อยกรอง อันส่งอิทธิพลต่อแนวความคิดทางการเมืองของเขา

หากจะอภิปรายแบบข้อเสนอของนักวิชาการประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันทำนอง “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เป็นรูปร่างที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ช่วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่ถือว่าเป็นแล้ว อาจเสวนาได้ว่า ความเข้าใจของนายปรีดีเรื่องพระยาศรีสุนทรโวหารเป็นผู้แต่งคำกาพย์บ่งชี้ปัญหาของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็พอเข้าเค้า แต่เมื่อข้อเท็จจริงคือคำกาพย์นั้นแต่งขึ้นในสมัยที่นักวิชาการประวัติศาสตร์มิได้นิยามว่าเป็น “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เสียอีก ถ้อยคำของสุนทรภู่ก็สะท้อนปัญหาของระบบศักดินาที่มีมานานยาว

ถ้าจะนับว่าบทร้อยกรอง กาพย์พระไชยสุริยา ซึ่งได้รับการคัดมารวมไว้ในหนังสือแบบเรียน มูลบทบรรพกิจ ส่งทอดอิทธิพลทางความคิดต่อนายปรีดี พนมยงค์เรื่องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนจุดประกายนำไปสู่การอภิวัฒน์แล้ว ก็คงนับได้ว่า “สุนทรภู่” ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เช่นกัน

 

เอกสารอ้างอิง

  • กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2562
  • บุณยมานพพาณิชย์, หลวง. ภาษาและหนังสือ เล่ม 2. พระนคร: โอเดียนสโตร์, 2504
  • ปรีดี พนมยงค์. บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: นีติเวชช์, 2515.
  • ศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร),พระยา. มูลบทบรรพกิจ ได้เรียบเรียงตามแบบเก่า ของพระยาศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์. พระนคร: ห้างสมุด, 2468
  • สุนทรภู่. กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา. นายสนิท พลอยน้อย พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นางทรัพย์ พลอยน้อย ณ เมรุวัดเมืองเก่า ตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2495. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย