ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

คณะราษฎรสร้างเมรุ: นวัตกรรมชีวิตหลังความตาย

27
กรกฎาคม
2564

 

ภาพของเมรุแห่งหนึ่งย่านธนบุรี ที่พังยุบลงมาจากการเปิดให้มีการเผาศพผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดโควิด 19 ดูจะสั่นสะเทือนความรู้สึกผู้คน โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนไทยที่มีธรรมเนียมในการจัดการร่างกายที่ปราศจากลมหายใจด้วยการเผา ไม่ใช่การฝัง

 

 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่  23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์เผยแพร่ภาพจากวัดบางชน วัดดังย่านธนบุรี ที่ต้องเผาศพผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิด 19 และผู้ป่วยทั่วไปวันละ 3 ศพ ส่งผลให้ฐานเตาเผาร้าว และปล่องเมรุแตกหักร้าวพังทลายลงจนไม่สามารถใช้เผาศพได้ ซึ่งเมรุดังกล่าวใช้งานมาเป็นเวลา 25 ปี ทางวัดจึงจำเป็นต้องสร้างใหม่ 2 รายการ เป็นจำนวนเงิน 5,468,000 บาท โดยจะมีการสร้างเมรุใหม่เพื่อให้ใช้ได้ชั่วคราวก่อน

สำหรับการจัดการศพในลักษณะเร่งด่วนเช่นนี้เป็นไปตามแนวทางการจัดการศพของผู้ป่วยโควิด 19 ซึ่งต้องจัดการพิธีกรรมทางศาสนาให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องการแพร่เชื้อในโรงพยาบาลและสถานที่อื่น ในกรณีจำเป็น รัฐบาลยังประกาศให้บรรจุในโลงศพแบบตู้เย็นเพื่อชะลอการเน่าของศพ จนกระทั่งสามารถเผาหรือฝังศพได้ โดยห้ามเปิดถุงบรรจุศพในทุกกรณี

ปรากฏการณ์นี้ ชวนให้คิดไปถึงจุดเริ่มต้นของการจัดการศพในอดีต ซึ่งเดิมทีการเผาศพราษฎรโดยทั่วไปมักเป็นการเผาโดยการสุมฟืนที่เรียกว่า “กองฟอน” อันที่จริงนั้นหมายถึง ขี้เถ้าและกระดูกที่เหลืออยู่จากการเผา หลังจากนั้นจึงค่อยๆ เขี่ยแยกกระดูก ฟอนฟืน และ ขี้เถ้าออกจากกันหลังจากไฟมอดลง 

 

ภาพ: การเตรียมเผาศพชูชก (แบบกองฟอน) จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรเขียนด้านนอกของสิม (โบสถ์) วัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง) อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
ภาพ: การเตรียมเผาศพชูชก (แบบกองฟอน) จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรเขียนด้านนอกของสิม (โบสถ์) วัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง) อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

 

กล่าวได้ว่า การเผาศพก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พบว่า เมรุถูกสงวนไว้ให้กับเจ้านายชั้นสูง ขุนนางไปจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การจัดการร่างกายที่ปราศจากลมหายใจด้วยวิธีการเผาในเมรุ ก็ถูกนำมาใช้กับราษฎรด้วยเหตุผลทางสุขอนามัยและการสร้างคุณค่าใหม่  

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ‘ชาตรี ประกิตนนทการ’ เสนอว่า “ท้องสนามหลวงถูกใช้เป็นที่ตั้งของเมรุสำหรับราษฎรครั้งแรก ในรูปแบบเมรุชั่วคราวเพื่อทำพิธีศพให้ผู้เสียชีวิตจากการปราบกบฏบวรเดช ในปี 2476 ซึ่งรูปแบบทางสถาปัตยกรรมครั้งนั้นทำเป็นรูปกล่องอย่างง่ายๆ และไม่มีองค์ประกอบอย่างสถาปัตยกรรมไทยประเพณีทำมา”

เราอาจจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนนั้นได้จากการค้นคว้าของ ‘โดม ไกรปกรณ์’ และ ‘ธนสิษฐ์ ขุนทองพันธ์’ ซึ่งอธิบายไว้ว่า “การสร้างเมรุเผาศพทหารฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎร ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช (กลุ่มทหารฝ่ายนิยมเจ้า) พ.ศ. 2476 คณะราษฎรได้สร้างเมรุปลงศพนายทหารสามัญชนขึ้นที่สนามหลวง โดยปกติแล้วเป็นพื้นที่สําหรับสร้างพระเมรุมาศในพิธีพระบรมศพ และพระเมรุในพิธีพระศพของเชื้อพระวงศ์ระดับสูงเท่านั้น” 

 

ภาพ: ‘เมรุปราบกบฏบวรเดช’ ที่มา: ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550).
ภาพ: ‘เมรุปราบกบฏบวรเดช’
ที่มา: ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550).

 

ภาพ: ‘เมรุปราบกบฏบวรเดช’ ที่มา: ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550).
ภาพ: ‘เมรุปราบกบฏบวรเดช’
ที่มา: ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550).

 

โดยรูปแบบแผนผังของ เมรุคราวปราบกบฏบวรเดช ที่คณะราษฎรให้สร้างขึ้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับแผนผังพระเมรุมาศสําหรับพระบรมศพ ต่างกันตรงที่เมรุทหารคราวปราบกบฏบวรเดชไม่มีลวดลายที่ซับซ้อนอย่างพระเมรุมาศ และส่วนยอดอาคารออกแบบเป็นหลังคมตัดแบนเรียบ ไม่มีเครื่องยอดปราสาทเหมือนพระเมรุมาศ ทั้งยังมีการสร้างแท่งเสาสูงด้านบนทําเป็นพานทองรองรับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าการเสียชีวิตของทหารเหล่านั้นเป็นไปเพื่อพิทักษ์ “ระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่คณะราษฎรตั้งขึ้น

 

ภาพ: เมรุวัดไตรมิตต์วิทยาราม
ภาพ: เมรุวัดไตรมิตต์วิทยาราม

 

จนถึงปี 2483 การสร้างเมรุวัดไตรมิตต์วิทยาราม[1] กลายเป็นต้นแบบของการสร้างเมรุให้แก่วัดอื่นในเวลาต่อมา

‘ชาตรี ประกิตนนทการ’ เข้าไปพิจารณาตัวสถาปัตยกรรม เขาพบว่าเป็นหลังคาซ้อน 6 ชั้น ซึ่งเป็นไปเพื่อสะท้อนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันได้แก่ หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักความเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา แนวคิดนี้ไปปรากฏในงานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม รวมถึงรัฐพิธีต่างๆ ในยุคสมัยรัฐบาลคณะราษฎรมีบทบาทสำคัญในทางการเมือง

อาทิ รูปแบบของ เสา 6 ต้นในอาคาร หรือ ซุ้มบัวกลุ่ม 6 ชั้น ที่เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปเจดีย์ตามประเพณีจารีต ที่ต้องเป็นเลขคี่เพื่อให้เป็นมงคล เช่นเดียวกับประตู 6 ช่อง และพระขรรค์ 6 เล่ม ที่ถูกออกแบบในป้อมกลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

สถาปัตยกรรมที่ปรากฏในเมรุของคณะราษฎรสร้างขึ้นจึงต่างจากระบอบเก่าอย่างชัดเจน ดังที่ ‘โดม ไกรปกรณ์’ และ ‘ธนสิษฐ์ ขุนทองพันธ์’ เสนอว่าการสร้างพระเมรุพระศพของเจ้านาย จะเป็นการยึดรูปแบบสถาปัตยกรรมตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ดังเห็นได้จากการสร้างพระเมรุพระศพของ ‘พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้านภางค์นิพัทธพงศ์’ เมื่อ พ.ศ. 2420 ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการให้ “ปลูกพระเมรุยอดมณฑป มีคฤด้านอุดรทิศแลทักษิณทิศ ปลูกในวัดมหาธาตุ พระเมรุนั้นตั้งบนเขามอ”

กรณีนี้เช่นนี้ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นนำและราษฎรต่อความตาย รวมถึงสะท้อนเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของวัด ซึ่งในปัจจุบันจำนวนศาลาเผาศพกลายเป็นมาตรวัดความร่ำรวยของวัดวาอารามต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน

ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมรุที่ถูกใช้เผาศพผู้ป่วยโควิด 19 ในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลประกาศว่ามี 500 กว่าแห่งนั้น ส่วนใหญ่คือวัดพื้นที่ชานเมืองที่อาจจะมีความมั่งคั่งไม่มาก กรณีการพังลงของเมรุเผาศพวันบางชน อาจจะกระตุ้นให้สาธารณชนหันมาให้ความสำคัญกับประตูสุดท้ายหลังความตายของชีวิตผู้คนมากขึ้นทั้งในแง่โครงสร้างสถาปัตยกรรม ชีวิตผู้คนที่เกี่ยวพันกับพิธีกรรม รวมถึงในแง่ความหมายทางประวัติศาสตร์ 

 

เอกสารอ้างอิง:

หมายเหตุ:

  • จัดรูปแบบตัวอักษรโดยบรรณาธิการ 

 


[1] เมรุเผาศพแบบสมัยใหม่ของสามัญชนแห่งแรกของประเทศสยาม เป็นเมรุซึ่งได้สร้างขึ้นด้วยความเห็นชอบของ ‘พระพรหมมุนี’ ประธานคณะบัญชาการคณะสงฆ์แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราช โดยใช้เครื่องเผาแบบวิทยาศาสตร์ ไม่มีกลิ่น ไม่มีควัน แห่งแรกที่เทศบาลได้แก้ไขเทศบัญญัติให้ทำการเผาได้ทุกเวลา โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพระนคร

รับรองในคุณภาพแล้ว “เมรุวัดไตรมิตรฯ” สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2483 และ ในวันที่ 3 สิงหาคม 2483 เทศบาลนครกรุงเทพได้มีหนังสืออนุญาตให้เมรุวัดไตรมิตรฯ ทำการเผาศพแก่บุคคลทั่วไปได้ทุกเวลาตามที่ขอ 

ที่มา: หลวงนฤบาลเวชกิจ. ความเห็นเรื่องการฌาปนกิจ คัดจากบันทึกประจำวันการสร้างเมรุวัดไตรมิตต์วิทยาราม. พระนคร: โรงพิมพ์สาสนศึกษา, 2483. (พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานศพนายวัน แจ้งสี วันที่ 10 สิงหาคม 2483)