ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอันสมบูรณ์ โดยมีอำนาจอธิปไตยของตนอย่างเต็มเปี่ยม

1
สิงหาคม
2564

เหตุแห่งการทำ “สนธิสัญญาเบาว์ริง” นั้นเป็นจุดเปลี่ยนของสยามในหลายลักษณะ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และระบบราชการของประเทศ โดยหนึ่งในเรื่องที่มีความสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ “การเสียเอกราชทางการศาล”

เนื่องจากสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคทำให้ไทยไม่มีเอกราชสมบูรณ์โดยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในการบังคับใช้กฎหมายเหนือคนในบังคับของสหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ ประมาณอีก 12 ประเทศที่ได้จัดทำสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกันกับสนธิสัญญาเบาว์ริง

แม้โดยเนื้อวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาเบาว์ริงจะมีวัตถุประสงค์ในฐานะสนธิสัญญาทางการค้าพาณิชย์ แต่เนื้อหาของสนธิสัญญาโดยส่วนใหญ่มีการพูดถึงเรื่องการค้าไว้เพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น (สาระและใจความเกี่ยวกับการค้าจะปรากฏตามข้อ 1 ข้อ 4 และข้อ 8 ซึ่งพูดถึงการรับรองการค้าเสรีกับการไม่จำกัดสิทธิของคู่ค้า และการไม่เก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อนและไม่เกินร้อยละ 3)

สำหรับข้ออื่นๆ อีกประมาณ 9 นั้น เน้นเรื่องความคุ้มครองคนในบังคับของของสหราชอาณาจักรและการตั้งสถานีการค้า ห้างร้านและบริษัท โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจคือ การจำกัดเขตอำนาจของศาลไทยเหนือคนในบังคับของสหราชอาณาจักรในข้อ 2 และ 3 ความดังต่อไปนี้

 

ภาพ: เนื้อหาในหนังสือสนธิสัญญาเบาว์ริง ข้อ 2 ที่มา: The National Archives, United Kingdom.
ภาพ: เนื้อหาในหนังสือสนธิสัญญาเบาว์ริง ข้อ 2
ที่มา: The National Archives, United Kingdom.

 

“ข้อ 2 ว่าบันดาการงานของคนที่อยู่ในบังคับอังกฤษซึ่งเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ก็ต้องฟังบังคับบันชาของกงซุนที่เข้ามาตั้งอยู่ ณกรุงฯ กงซุนจะได้ทำหนังสือสัญญานี้ แลข้อหนังสือสัญญาเก่าที่มิได้ยกเสียจงทุกประการแล้ว จได้บังคับบันชาคนในบังคับอังกฤษให้ทำตามด้วย

แล้วกงซุนจรับรักษากดหมายการค้าขาย แลกดหมายที่จะห้ามปรามมิให้คนที่อยู่ในบังคับอังกฤษทำผิดล่วงเกินกดหมายของอังกฤษกับไทที่มีอยู่แล้ว แลจะมีต่อไปพายน่า ถ้าคนอยู่ในบังคับอังกฤษ จะเกิดวิวาทกันขึ้นกับคนอยู่ในบังคับไท กงซุนกับเจ้าพนักงานฝ่ายไทจะปฤกษาชำระตัดสินคนอยู่ในบังคับอังกฤษทำผิด กงซุนจะทำโทษตามกดหมายอังกฤษ คนอยู่ในบังคับไททำผิดไทจะทำโทษตามกดหมายเมืองไท

ถ้าคนอยู่ใต้บังคับไทเปนความกันเอง กงซุนไม่เอาเปนธุระ คนอยู่ในบังคับอังกฤษเปนความกันเอง ไทก็ไม่เอาเปนธุระ แลไทกับอังกฤษยอมกันว่า กงซุนซึ่งจเข้ามาตั้งอยู่ ณ กรุงเทพมหานครนั้นยังไม่ตั้ง ต่อเมื่อทำหนังสือสัญญาตกลงๆ ชื่อกันแล้ว กำปั่นอังกฤษเข้ามาค้าขาย ณ กรุงเทพมหานคร ใช้ธงอังกฤษมีหนังสือสำหรับลำเปนสำคัญครบ ๑๐ ลำ หนังสือสัญญาปิด์ตราเฃ้ามาถึงเปลี่ยนกันแล้ว กงซุนจึ่งตั้งได้”[1]

 

ภาพ: เนื้อหาในหนังสือสนธิสัญญาเบาว์ริง ข้อ 3 ที่มา: The National Archives, United Kingdom.
ภาพ: เนื้อหาในหนังสือสนธิสัญญาเบาว์ริง ข้อ 3
ที่มา: The National Archives, United Kingdom.

 

“ข้อ 3 ว่าคนซึ่งอยู่ในบังคับไทจะไปเปนลูกจ้างอยู่ในบังคับอังกฤษก็ดี คนอยู่ในใต้บังคับไทที่มิได้เปนลูกจ้างก็ดี ทำผิดกดหมายเมืองไทจะหนีไปอาไศรยอยู่กับคนในบังคับอังกฤษซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีพยานว่าทำผิดหนีไปอยู่กับคนในบังคับอังกฤษจริง กงซุนจะจับตัวส่งให้กับเจ้าพนักงานฝ่ายไท

ถ้าคนอยู่ในบังคับอังกฤษที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนแลเข้ามาอาไศรยค้าฃายอยู่ในกรุงเทพมหานครทำผิด หนีไปอยู่กับคนในใต้บังคับไท ถ้ามีพยานว่าทำผิดหนีไปอยู่กับคนในบังคับไทจริง กงซุนจะฃอเอาตัวเจ้าพนักงานฝ่ายไทจะจับตัวส่งให้ ถ้าพวกจีนคนไรว่าเปนคนอยู่ในบังคับของอังกฤษไม่มีสำคัญสิ่งไรเปนพยานว่าเปนคนอยู่ในบังคับอังกฤษ กงซุนไม่รับเอาเปนธุระ”[2]

ในมุมมองของอังกฤษ ระบบกฎหมายของสยามในเวลานั้นมีปัญหาเนื่องจากเป็นระบบกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับการทำงานของกลไกตลาดดังจะได้กล่าวต่อไป การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้นเป็นไปเพื่อมิให้นำกฎหมายของสยามในเวลานั้นมาใช้กระทบกับการค้าพาณิชย์ระหว่างสยามและสหราชอาณาจักร โดยข้อตกลงดังกล่าวได้กลายมาเป็นต้นแบบของประเทศอื่นๆ อีก 12 ประเทศที่ได้เข้ามาทำสนธิสัญญากับสยามและจำกัดเขตอำนาจศาลของสยามเหนือคนในบังคับของตน

การปฏิรูปกฎหมายภายใต้เงาของการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

กระบวนการปฏิรูปกฎหมายเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคทำให้ไทยไม่มีเอกราชสมบูรณ์ โดยจำกัดอำนาจทางการศาลของไทยเอาไว้ไม่ให้นำไปใช้กับคนในบังคับของสหราชอาณาจักร หรือประเทศซึ่งไทยได้เข้าทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าในลักษณะเดียวกันกับสนธิสัญญาเบาว์ริง

ในทางประวัติศาสตร์กฎหมายไทยนั้น นักกฎหมายไทยที่ให้ความสนใจศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายโดยส่วนใหญ่ได้อธิบายการปฏิรูปกฎหมายไทยนั้นเป็นผลมาจากการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ดังเช่นในงานของ ‘แสวง บุญเฉลิมวิภาส’ ผู้บรรยายและนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์กฎหมายคนสำคัญของประเทศไทย ได้แสดงให้ความเห็นว่า “ในทางประวัติศาสตร์ เรามักจะกล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่หลายประเทศเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย ต้องยอมรับกฎหมายสมัยใหม่จากตะวันตกมาใช้ในระบบกฎหมายของตนว่าเนื่องมาจากปัญหาในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จึงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบกฎหมายให้ทันสมัย ซึ่งสาเหตุดังกล่าวก็เป็นเหตุผลและความจำเป็นที่มีอยู่ในเวลานั้น”[3]

การสรุปว่าการปฏิรูปกฎหมายภายใต้เงาของการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้นไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว การปฏิรูปกฎหมายนั้นเหตุที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่สยามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมโลกผ่านการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับสหราชอาณาจักร ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของสยามผูกพันกับระบบเศรษฐกิจของโลก เมื่อเป็นเช่นนั้นสยามจึงต้องปรับตัวเข้ากับระเบียบของโลกใหม่ (New World Order)

ระบบกฎหมายแบบเดิมของสยามที่วางรากฐานอยู่ตามคติพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งแสดงถึงพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์และไม่มีการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากภายใต้บริบทของ “กฎหมายตราสามดวง” ไทยที่รับอิทธิพลจากคติพราหมณ์-ฮินดู และถูกดัดแปลงด้วยบริบทการเมืองเฉพาะของสยามนั้น ไม่ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น กฎหมายตราสามดวงไม่ได้รับรองเสรีภาพทางเศรษฐกิจพื้นฐานอย่างระบบกรรมสิทธิ์ ภายใต้ระบบกฎหมายตราสามดวงของสยาม กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมดเป็นของพระมหากษัตริย์ เพียงแต่ทรงอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น[4] หรือ ระบบกฎหมายสัญญาที่ไม่ได้รับรองสิทธิของคู่สัญญาภายใต้สถานะที่เท่าเทียมกัน เป็นต้น

หลักกฎหมายทั้งสองประการ เป็นพื้นฐานของโครงสร้างตลาดภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ในขณะที่กฎหมายอาญาก็ไม่ได้เน้นการลงโทษบุคคลที่กระทำการฝ่าฝืนการจัดสรรทรัพยากรโดยกลไกตลาด หากแต่เป็นการลงโทษเพื่อรักษาพระเดชานุภาพในการปกครองเท่านั้น และในแง่ของวิธีพิจารณาคดีที่ศาลใช้ก็เน้นการจารีตนครบาล ซึ่งเป็นรูปแบบของการลงโทษเพื่อให้ยอมรับสารภาพในความผิด[5]

บริบทดังกล่าวแสดงความไม่สอดคล้องของกฎหมายที่จะรองรับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่จะเข้ามา การปฏิรูปกฎหมายของสยามในช่วงแรกจึงกระทำโดยการนำกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษเข้ามาใช้ แต่ในท้ายที่สุดภายใต้การแนะนำของ ‘มงซิเออร์กุสตาฟ โรลัง ยัคมินส์’ (Gustave Rolin Jaequemyns) หรือ ‘พระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ’

‘มงซิเออร์กุสตาฟ โรลัง ยัคมินส์’ (Gustave Rolin Jaequemyns) หรือ ‘พระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ’ เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชาวเบลเยียม ซึ่งมารับราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาราชการทั่วไปของสยามประเทศเป็นเวลาถึง 9 ปี ได้แนะนำให้รัฐบาลสยามเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายเดิมซึ่งรัตนโกสินทร์ได้รับสืบทอดมาจากสมัยอยุธยา โดยการยกร่างประมวลกฎหมายขึ้นมาแบบประเทศภาคพื้นทวีปยุโรป ซึ่งรัฐบาลสยามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ดำเนินการจ้างนักกฎหมายชาวญี่ปุ่นและฝรั่งเศสมาเพื่อช่วยเหลือกุสตาฟ โรลัง ยัคมินส์ เพื่อจัดทำประมวลกฎหมาย[6] ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นสูงและที่ปรึกษาชาวต่างชาติเป็นอย่างดี

เว้นเสียแต่ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์’ และ ‘พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์’ จบการศึกษากฎหมายมาจากประเทศสหราชอาณาจักร มองว่าการจัดทำประมวลกฎหมายนั้นทำได้ยาก และใช้เวลานานในการเรียบเรียงกฎหมายให้เป็นระบบ อีกทั้งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ[7]

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดความเห็นของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ก็เป็นอันตกไป รัฐบาลสยามมุ่งมั่นในการจัดทำประมวลกฎหมายขึ้นมา และแม้จะล่าช้าด้วยความขัดแย้งภายในของคณะกรรมการร่างกฎหมาย แต่ในที่สุดประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทยก็สำเร็จ โดยรัฐบาลสยามได้ประกาศใช้ “กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127” เป็น “ประมวลกฎหมายฉบับแรก” และต่อมาได้ประกาศใช้ “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บางบรรพ”

‘ปรีดี พนมยงค์’ กับ ภารกิจการแก้ไขสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอันสมบูรณ์โดยมีอำนาจอธิปไตยของตนอย่างเต็มเปี่ยม

 

 

นาย ‘ปรีดี พนมยงค์’ มีความตระหนักและมีความตั้งใจที่จะแก้ไขสิทธิสภาพนอกอาณาเขตมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาวิชากฎหมายในโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ดังความเคยเล่าไว้ว่า

“ระหว่างที่ข้าพเจ้าศึกษาวิชากฎหมายนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ามหาอำนาจต่างชาติถือสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศสยาม  ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางทฤษฎีหรือทางปฏิบัติ 

คนในสังกัดมหาอำนาจเหล่านี้ไม่ต้องขึ้นศาลไทย เพราะคดีที่มีคู่ความเป็นคนสังกัดต่างชาติเหล่านั้น จะต้องให้ศาลกงสุลหรือศาลคดีระหว่างประเทศตัดสิน ทั้งนี้เป็นไปตามสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคระหว่างชาติมหาอำนาจกับประเทศสยาม

ในศาลคดีระหว่างประเทศ คำวินิจฉัยของผู้พิพากษาชาติยุโรปจะมีน้ำหนักกว่าคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาชาวสยาม ข้าพเจ้าไม่พอใจการอำนาจอธิปไตยเช่นนี้เลย ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอันสมบูรณ์โดยมีอำนาจอธิปไตยของตนอย่างเต็มเปี่ยม...”[8]

แม้ว่าประเทศสยามจะได้มีการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยมากขึ้นพร้อมๆ กับการปรับปรุงระบบราชการให้มีความทันสมัย แต่ปัญหาการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้นก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไขในทันที ดังเช่นที่มีผู้พยายามอธิบายและได้สร้างความเข้าใจผิดว่า ประเทศสยามสามารถแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่รัชสมัย ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ หรือบ้างก็ย้ำว่าได้แก้ไขอย่างเรียบร้อยและสมบูรณ์ไปแล้วในรัชสมัย ‘พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’

อันเนื่องมาจากประเทศสยามเข้าร่วมมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับการพิจารณาและได้รับการรับรองแล้วว่ามีความเจริญตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ[9] แต่แท้ที่จริงแล้ว หากไม่มีการยอมรับการแก้ไขสนธิสัญญาร่วมกันระหว่างประเทศภาคีในสนธิสัญญาแล้ว อันความตกลงซึ่งได้ทำกันเอาไว้ก็ย่อมผูกพันกันต่อไป 

ดังนั้น เมื่อมีการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในมุมมองของนายปรีดีที่เห็นว่าปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตยังคงกัดกร่อนและกระทบกระเทือนต่อเอกราชสมบูรณ์ของประเทศสยาม ดังคำประกาศหลัก 6 ประการ ข้อที่ 1 ที่คณะราษฎรได้เคยประกาศไว้ว่า “จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง”

“คณะราษฎร” โดย ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ หรือ นาย ‘ปรีดี พนมยงค์’ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการแก้ไขบรรดาสนธิสัญญาที่สยามได้เคยทำเอาไว้และสร้างความไม่เสมอภาคทำให้ไทยไม่มีเอกราชสมบูรณ์ โดยเข้าเจรจากับประเทศต่างๆ ในช่วงปี พ.ศ. 2480 – 2481 ซึ่งนายปรีดี ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ในหนังสือ โมฆสงคราม ตอนหนึ่งว่า

“การดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศสมัยพระยาพหลฯ ได้รับผลประจักษ์เป็นรูปธรรม โดยอาศัยวางพื้นฐานประชาธิปไตยภายในประเทศให้เป็นกำลังหลักของปวงชนชาวสยาม และการจัดทำประมวลกฎหมายครบถ้วนเป็นหลักประกันให้แก่ชาวสยามและชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งโพธิสมภาร อีกทั้งเราประคับประคองบรรยากาศสันติภาพไว้ให้ดี เราจึงเป็นฝ่ายกุมดุลแห่งอำนาจระหว่างประเทศไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับสยาม 

ดังนั้น เราจึงสามารถบอกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับ 12 ประเทศ แล้วเปิดการเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่โดยถือหลักเสมอภาค, ถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน, ความเป็นธรรม, ประโยชน์แก่กันและกัน  

นานาประเทศจึงเห็นใจเรายินยอมทำสนธิสัญญานั้น อันเป็นผลให้ปวงชนชาวสยามมีความเป็นเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ทุกประการ ศาลต่างประเทศและศาลกงสุลได้ยกเลิกไป ศาลสยามมีอำนาจเต็มที่ในการชำระคดีของคนต่างประเทศด้วย”[10]

กล่าวโดยสรุป ผลประการหนึ่งของการเข้าทำสนธิสัญญาเบาว์ริงนั้น แม้จะมีผลเป็นการทำให้สยามเปิดตลาดเข้าสู่ตลาดโลกผ่านการค้ากับสหราชอาณาจักร แต่ก็ทำให้สยามมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามเนื้อหาของสนธิสัญญาโดยจำกัดอำนาจศาลไทยเหนือคนในบังคับของอังกฤษ เนื่องมาจากกฎหมายไทย ไม่สอดคล้องกันกับระเบียบของโลกในเวลานั้นที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ยุโรป และการเติบโตของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม 

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาประเทศสยามก็สามารถดำเนินการปฏิรูปกฎหมายสำเร็จ แต่สถานะความไม่เสมอภาคนั้นยังคงดำเนินอยู่ต่อไปจนกระทั่งภายหลังเมื่อรัฐบาลคณะราษฎรได้เข้ามาบริหารประเทศ และได้ดำเนินนโยบายเพื่อให้ประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์ผ่านการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคและจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ขึ้นแทนที่ สยามประเทศจึงได้เอกราชกลับคืน ดังปณิธานของคณะราษฎรที่มุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเพื่อให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยสมบูรณ์

 

อ่าน: สนธิสัญญาเบาว์ริง” ต้นฉบับจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ประเทศอังกฤษ (The National Archives, United Kingdom) จัดทำเอกสารและถ่ายภาพโดย อาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

Infographic: การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคทำให้ไทยได้รับเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ โดย กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

อ่าน: บทความที่เกี่ยวข้องกับ “สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง” โดย เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

หมายเหตุ:

  • จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ
  • คำสะกดในเนื้อความของสนธิสัญญายึดตามเอกสารชั้นต้น

[1] คัดลอกความจากต้นฉบับสนธิสัญญาเบาว์ริง จาก The National Archives, United Kingdom.

[2] คัดลอกความจากต้นฉบับสนธิสัญญาเบาว์ริง จาก The National Archives, United Kingdom.

[3] แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย (พิมพ์ครั้งที่ 13, วิญญูชน 2557) 136.

[4] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘กรรมสิทธิ์ที่ดินก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 12 มีนาคม 2564) สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 และ คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร, “อ่านประวัติศาสตร์พระปฐมบรมราชโองการ (ใหม่) : คันฉ่องสะท้อนนัยยะทางกฎหมายและการเมืองของกษัตริย์และสยามสมัยใหม่” แปลโดย อัญชลี มณีโรจน์ (2563) 18 ฟ้าเดียวกัน 2, 18 – 19.

[5] แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, (เชิงอรรถที่ 3) 141 - 142.

[6] เพิ่งอ้าง 203.

[7] เพิ่งอ้าง 203 – 204.

[8] ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธาณรัฐราษฎรจีน (แปลโดย พรทิพย์ โตใหญ่ และ จำนง ภควรวุฒิ, เทียนวรรณ 2529) 18 อ้างใน พระกษิดิศ สุหชฺโช, ‘การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต: จากกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถึงนายปรีดี พนมยงค์’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 7 สิงหาคม 2563)  สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564.

[9] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ใน คำนำของหนังสือการสิ้นสุดแห่งสภาพนอกอาณาเขตต์ในกรุงสยาม ตีพิมพ์ครั้งที่ 3 โดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2547 หน้า 11; อ้างใน พระกษิดิศ สุหชฺโช, เพิ่งอ้าง.

[10] เพิ่งอ้าง.