นับแต่ประเทศสยามเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เสียเอกราชทางการศาลไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชนชั้นปกครองในเวลานั้นก็เร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่ถูกกล่าวหาว่าป่าเถื่อนให้เป็นอารยะขึ้น ดังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการชำระกฎหมายขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 เพื่อปรับปรุงประมวลกฎหมายของไทย
การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่าเป็นการ “พลิกแผ่นดิน” หรือ Revolution นั้น[2] ผลงานสำคัญที่เด่นชัด ก็คือ การปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลของไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ และแน่นอนว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ก็เพื่อนำไปสู่การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นั่นเอง
ในการนี้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญจนได้รับการยกย่องเป็น บิดาและองค์ปฐมาจารย์ของนักนิติศาสตร์แห่งประเทศไทย[3] คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์[4]
โดยราชกิจสำคัญของพระองค์ย่อมได้แก่ การที่พระองค์ทรงเป็นประธานคณะกรรมการตรวจชำระและจัดระเบียบกฎหมายไทย ทั้งได้ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนสอนกฎหมาย ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้ยกฐานะเป็นโรงเรียนหลวงขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม จะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงมีบทบาททั้งในฐานะผู้วางรากฐานการศึกษากฎหมาย และทรงเป็นกำลังสำคัญในการปรับปรุงประมวลกฎหมายของบ้านเมือง จนได้รับการเทิดทูนให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเผยแพร่งานทางกฎหมายต่าง ๆ อย่างที่รับรู้กันในวงกว้าง
อย่างไรก็ดี ในบทความนี้ จะมุ่งกล่าวถึงบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ ในการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จนประเทศสยามได้รับเอกราชสมบูรณ์กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแสดงถึงตัวอย่างบุคคลที่เจริญรอยตามพระปณิธานของพระองค์ท่านที่ว่า “My life is service” โดยใช้เรื่องการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นตัวเชื่อมเรื่องราวของพระองค์ท่านกับนายปรีดีเข้าด้วยกัน นอกเหนือไปจากที่นายปรีดีเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และเป็นอาจารย์ผู้สอนในสถานศึกษาแห่งนี้
สภาพปัญหา[5]
ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สยามถูกจักรวรรดินิยม (Imperialism) หลายประเทศบังคับต้องทำสัญญาไม่เสมอภาค โดยยอมให้ประเทศเหล่านั้นมีสิทธิพิเศษเหนือประเทศสยามหลายประการ อาทิ คนในบังคับต่างชาติ ทำผิดในดินแดนไทย แต่ศาลไทยไม่มีอำนาจตัดสิน หากรัฐบาลไทยต้องส่งตัวคนต่างประเทศที่ทำผิดนั้นไปให้ศาลกงสุลของต่างประเทศชำระคดี
แม้ต่อมาหลายประเทศ เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส จะยอมผ่อนผันให้ไทยตั้งศาลต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาไทยและที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปร่วมกันพิจารณาคดีก็ตาม แต่ก็ให้ถือเอาความเห็นของที่ปรึกษาชาวยุโรปเป็นใหญ่กว่าผู้พิพากษาไทย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำนวนผู้พิพากษาไทยจะมีมากกว่าที่ปรึกษาชาวยุโรป
แม้กระนั้นในสนธิสัญญาก็ยังได้กำหนดไว้อีกว่า คดีที่อยู่ในศาลต่างประเทศนั้น กงสุลอังกฤษก็ยังมีอำนาจที่จะถอนคดีไปชำระที่ศาลกงสุลของอังกฤษได้ สถานกงสุลของหลายประเทศมีศาลและคุกสำหรับคนในบังคับของตนโดยเฉพาะ และมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ ที่เรียกตามศัพท์กฎหมายระหว่างประเทศว่า สิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extraterritoriality)
เรื่องที่ฝังใจมาแต่สมัยเรียนหนังสือ
นายปรีดี ตระหนักถึงปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาวิชากฎหมาย ดังที่เคยเล่าไว้ว่า
“ระหว่างที่ข้าพเจ้าศึกษาวิชากฎหมายนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ามหาอำนาจต่างชาติถือสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศสยาม ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางทฤษฎีหรือทางปฏิบัติ คนในสังกัดมหาอำนาจเหล่านี้ไม่ต้องขึ้นศาลไทย เพราะคดีที่มีคู่ความเป็นคนสังกัดต่างชาติเหล่านั้น จะต้องให้ศาลกงสุลหรือศาลคดีระหว่างประเทศตัดสิน ทั้งนี้เป็นไปตามสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคระหว่างชาติมหาอำนาจกับประเทศสยาม ในศาลคดีระหว่างประเทศ คำวินิจฉัยของผู้พิพากษาชาติยุโรปจะมีน้ำหนักกว่าคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาชาวสยาม ข้าพเจ้าไม่พอใจการอำนาจอธิปไตยเช่นนี้เลย ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอันสมบูรณ์โดยมีอำนาจอธิปไตยของตนอย่างเต็มเปี่ยม...”[6]
อย่างไรก็ดี มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดไปอย่างสำคัญว่า สิทธิสภาพนอกอาณาเขตไม่ได้มีผลกระทบที่ “ร้ายแรง” ต่อสถานะของประเทศสยามแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังเห็นว่า ประเทศสยามสามารถแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือบางก็ย้ำว่าได้แก้ไขอย่างเรียบร้อยและสมบูรณ์ไปแล้วในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเนื่องมาจากประเทศสยามเข้าร่วมมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับการพิจารณาและได้รับการรับรองแล้วว่ามีความเจริญตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ[7]
อภิวัฒน์: เปลี่ยนแปลงการปกครอง
ต้องไม่ลืมว่า สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นเรื่องที่กัดกร่อนและกระทบกระเทือนคนที่มีการศึกษาทางกฎหมาย ทางทหาร และข้าราชการเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้ความตั้งใจที่จะทำให้ประเทศมีเอกราชสมบูรณ์เป็นเจตนารมณ์หนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง[8] เมื่อคณะราษฎรอภิวัฒน์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรที่มีนายปรีดีเป็นมันสมอง ได้ออกแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย พร้อมทั้งกล่าวถึงหลักการสำคัญ 6 ประการของคณะราษฎร ในนั้นด้วย โดยในข้อแรกกล่าวถึงหลักเอกราช ที่ว่า “จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง”
รัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญนี้ ได้พยายามอย่างยิ่งในการเร่งให้ประมวลกฎหมายที่ร่างค้างอยู่ในระบอบเดิม ออกประกาศใช้ เพื่อขจัดเงื่อนไขที่ประเทศต่าง ๆ ยกอ้างเพื่อคงสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไว้ในประเทศสยาม ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตลอดจนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในบรรพ 5 และ 6 ในช่วงปี 2477–2478
นับเป็นความพยายามของรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ในการที่จะเร่งทำกฎหมายหลักในความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเองให้ได้เกณฑ์มาตรฐานสากล เราอาจจะกล่าวได้ว่า ภารกิจของคณะราษฎรนี้ เป็นภารกิจที่รับสืบเนื่องมาจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะแม้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประมวลกฎหมายเหล่านี้ก็จะต้องได้รับการจัดทำขึ้นอยู่นั่นเอง เพื่อเราจะได้เรียกเอาเอกราชทางการศาลกลับคืนมา เพียงแต่ว่าเมื่ออภิวัฒน์แล้ว มีการเร่งทำกฎหมายเหล่านี้จนเสร็จ ก็ต้องถือเป็นคุณูปการสำคัญประการหนึ่งของคณะราษฎร[9]
ดังมีผู้กล่าวถึงสนธิสัญญาเสมอภาคที่ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเวลาต่อมาว่า “สนธิสัญญาเหล่านี้ คือ ผลแห่งการอุทิศความเชื่อมั่นของประเทศมหาอำนาจที่มีต่อประมวลกฎหมายสยาม และยังเป็นเสมือนสิ่งซึ่งแสดงว่า สยามได้ชดใช้หนี้พันธะต่าง ๆ ครบถ้วน จนได้เอกราช (ทางการศาล) กลับคืนมาโดยสมบูรณ์”[10]
งานสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[11]
เมื่อสมัยยังใช้บรรดาศักดิ์ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” นายปรีดีได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (9 สิงหาคม 2480 – 15 ธันวาคม 2481) ในรัฐบาลที่มี พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยนี้ การที่สามารถทำสนธิสัญญายุคใหม่ (สนธิสัญญาเสมอภาคที่แก้และยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม) อย่างรวดเร็วและบรรลุผลดีเลิศนั้น นับว่าความสามารถของท่านผู้นี้มีส่วนสำคัญอยู่มาก เพราะท่านเป็นผู้มีอำนาจเต็มในอันที่จะทำการเจรจากับผู้แทนรัฐบาลต่าง ๆ ในระหว่าง พ.ศ.2480–2481[12] และที่การเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่กับมหาประเทศต่าง ๆ เป็นผลสำเร็จในเวลาอันสั้นได้ ก็โดยอาศัยความรู้ความสามารถและความเอาจริงเอาจังเพื่อประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองของท่านเป็นสำคัญด้วย ดังท่านเองต้องมาร่วมลงมือกับข้าราชการผู้รับผิดชอบ แม้ในเวลาค่ำคืนเป็นเวลานานเป็นแรมปี[13]
นายปรีดีเล่าไว้ในหนังสือ โมฆสงคราม ความตอนหนึ่งว่า
“การดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศสมัยพระยาพหลฯ ได้รับผลประจักษ์เป็นรูปธรรม โดยอาศัยวางพื้นฐานประชาธิปไตยภายในประเทศให้เป็นกำลังหลักของปวงชนชาวสยาม และการจัดทำประมวลกฎหมายครบถ้วนเป็นหลักประกันให้แก่ชาวสยามและชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งโพธิสมภาร อีกทั้งเราประคับประคองบรรยากาศสันติภาพไว้ให้ดี เราจึงเป็นฝ่ายกุมดุลแห่งอำนาจระหว่างประเทศไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับสยาม ดังนั้น เราจึงสามารถบอกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับ 15 ประเทศ แล้วเปิดการเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่โดยถือหลักเสมอภาค, ถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน, ความเป็นธรรม, ประโยชน์แก่กันและกัน นานาประเทศจึงเห็นใจเรายินยอมทำสนธิสัญญานั้น อันเป็นผลให้ปวงชนชาวสยามมีความเป็นเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ทุกประการ ศาลต่างประเทศและศาลกงสุลได้ยกเลิกไป ศาลสยามมีอำนาจเต็มที่ในการชำระคดีของคนต่างประเทศด้วย”[14]
กล่าวโดยสรุป คือ ประเทศสยามสามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมา ในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร ที่มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากที่ถูกอิทธิพลทางสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเข้าครอบงำจนมีผลสะท้อนให้ไทยต้องเสียเอกราชทางการศาลเป็นเวลาถึง 83 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2398–2481[15]
ทำงานสำเร็จ: มีเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล
ต่อมาเมื่อนายปรีดีย้ายมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (20 ธันวาคม 2481 – 16 ธันวาคม 2484) ในรัฐบาลที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้กล่าวคำปราศรัยแก่ประชาชนชาวสยามทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2481 (ปีอย่างเก่าที่สิ้นปีวันที่ 31 มีนาคม อย่างใหม่วันเดือนนั้นจะต้องเป็นใน พ.ศ. 2482) มีความตอนหนึ่งว่า
“... รัฐบาลได้แก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศเสร็จสิ้น จนสยามได้สิทธิอธิปไตยกลับคืนมาอย่างเต็มที่ มีอิสรภาพสมบูรณ์ในเรื่องอำนาจศาล และการภาษีอากรโดยอาศัยไมตรีจิตต์ความเห็นใจและความเข้าใจอันดีจากนานาประเทศในนโยบายและสมรรถภาพของสยามในระบอบรัฐธรรมนูญ อันมีคุณค่าสำคัญยิ่งแห่งหลักเอกราชของชาติ ...
“ความได้มาซึ่งสิทธิอธิปไตย และสิทธิเสมอภาคอันสมบูรณ์จากนานาประเทศในสนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ รัฐบาลปัจจุบันจะสงวนและดำรงรักษาไว้อย่างแข็งขัน และจนสุดความสามารถภายใต้ความสัมพันธ์กับนานาชาติ ในหลักแห่งการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน หลักความเป็นธรรมและหลักคุณประโยชน์แก่กันและกันโดยแบบเดียวและสม่ำเสมอกันต่อทุกประเทศ และจะไม่ยอมให้อำนาจหรืออุปสรรคใด ๆ มาทำลายล้างสิ่งซึ่งถือว่าเป็นมรดกอันจะสืบทอดไปยังกุลบุตรชั้นหลัง ดังจะเห็นได้จากนโยบายส่วนหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลได้วางไว้สำหรับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรมนั้นแล้ว
“เมื่อนานาชาติได้ผูกสัมพันธ์ไมตรีกับเราด้วยความเสมอภาค ด้วยความไว้วางใจและความนับหน้าถือตาฉะนี้แล้ว นับว่าความปรารถนาใหญ่ยิ่งของสยามใหม่ในอันที่จะได้คืนมา ซึ่งอธิปไตยสมบูรณ์จากด้านต่างประเทศนั้น เป็นอันสำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ ควรที่ประชาชนชาวสยามทุกคนจะภาคภูมิใจในเกียรติที่ได้รับนี้ และในเวลาเดียวกันควรจะระลึกว่าเราได้มาซึ่งสนธิสัญญาใหม่นี้ ก็โดยความเห็นใจและความเข้าใจอันดีจากนานาชาติ ในนโยบายและสมรรถภาพของสยามในระบอบรัฐธรรมนูญ สมรรถภาพเช่นว่านี้เราจะต้องช่วยกันส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และมีผลจริงจังโดยรวดเร็ว...”[16]
บทสรุป
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การทำสนธิสัญญาตามแบบเสมอภาคซึ่งสำเร็จลงในสมัยหลังการอภิวัฒน์ โดยนายปรีดีมีบทบาทสำคัญนี้ นับเป็นความสำเร็จที่เจริญรอยสืบเนื่องจากพระบรมราโชบายปลดเปลื้องพันธะสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ทรงร่วมกันวางรากฐานไว้ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ก็สืบสานต่อมา[17] โดยที่กรมหลวงราชบุรีฯ ก็มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายของประเทศให้ทันสมัยเพื่อขจัดเงื่อนไขที่ประเทศมหาอำนาจจะยกขึ้นมาอ้างเพื่อคงสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเอาไว้
ดังที่มีผู้สรุปว่า “การแก้ไขสนธิสัญญาซึ่งเป็นพันธะผูกมัดอธิปไตยทางการศาลของไทยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวากรากฐานไว้แล้วในรัชสมัยของพระองค์ หากเปรียบเหมือนการปลูกต้นไม้สักต้นหนึ่ง เราก็ได้ประจักษ์ชัดแล้วว่า ต้นไม้ต้นนี้ได้รับการบำรุงรักษาและรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยชนิดดีจนเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาเต็มที่และกำลังเริ่มผลิดอกออกผล เพราะความสนพระทัยเฝ้าทนุถนอมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่รัฐบาลไทยในสมัยการปกครองรัฐธรรมนูญได้ประสพความชื่นใจ เพราะผลของต้นไม้โตถึงขนาดพอใช้บริโภคได้ ก็เนื่องมาจากความจริงที่ว่า ต้นไม้ดังกล่าวเจริญเติบโตจนเริ่มผลิผลมา ตั้งแต่รัชสมัยพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 เพียงแต่เพิ่งจะถึงกำหนดใช้บริโภคได้ในสมัยต่อมา”[18]
ขณะที่นายปรีดีเองก็ได้เขียนเอาไว้ว่า “คณะราษฎรมิได้ปฏิเสธวิธีดำเนินวิเทโศบายการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนที่ดีของพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) พระมงกุฎเกล้าฯ (รัชกาลที่ 6) พระปกเกล้าฯ (รัชกาลที่ 7) ที่ได้ทรงรักษาเอกราชของชาติ ให้คงไว้”[19] และ “ปรีดีขอสรรเสริญรัฐบาลสมบูรณาฯ ร.6 และ 7 ที่ได้พยายามภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาซึ่งสยามถูกผูกมัดไว้ตั้งแต่สมัยก่อน ๆ ส่วนผลสำเร็จมีมากน้อยเพียงใดนั้นก็จะต้องพิจารณาจากหลักฐานแท้จริง คือ ตัวบทสนธิสัญญากับข้อตกลงและเอกสารประกอบหลักฐานเหล่านั้นที่ได้ตกลงกับหลายประเทศในสมัยสมบูรณาฯ”[20]
ดังนั้น ควรที่จะตระหนักว่า การงานสิ่งใดที่ซึ่งเป็นของดีที่รัฐบาลในระบอบเดิมได้ริเริ่มดำเนินไว้ รัฐบาลในระบอบใหม่ที่มีความชอบธรรมมากกว่า ก็ไม่พึงละทิ้งเพิกเฉยเสียเพียงเพราะความเชื่อในลัทธิการเมืองไม่ต้องตรงกัน ความข้อนี้เอง คณะราษฎร เช่น นายปรีดี ก็ได้ตระหนักดี เพราะการแบ่งอะไรเป็นดำเป็นขาวและปฏิเสธความเห็นที่แตกต่างกันง่ายเกินไป ดังที่มักพบเห็นในปัจจุบันนั้น ย่อมทำให้ผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่สังคมส่วนรวมควรได้รับลดน้อยถอยลงไป
หรือถ้าจะพูดจำเพาะเจาะลงไปก็คือ ในเรื่องการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้ กรมหลวงราชบุรีฯท่านมีส่วนเกี่ยวข้องในทางการปรับปรุงระบบกฎหมายภายในประเทศให้เจริญขึ้น เพื่อให้การเจรจากับประเทศมหาอำนาจลุล่วงไปได้ โดยที่นายปรีดีเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานด้านนี้โดยตรงก็เมื่อตอนว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการเจรจายกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ยกเลิกข้อกำหนดเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตต่าง ๆ ให้ประเทศของเราได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์
นายปรีดีเป็นนักนิติศาสตร์ ซึ่งยึดถือความชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย (Rule of Law) เป็นหลัก จึงได้ยึดมั่นแนวทางเจรจาแก้ไขโดยสันติวิธีกับต่างประเทศเหล่านั้น แทนที่จะใช้กำลังเข้าแก้ไขดังเช่นบางประเทศ[21] ไม่เพียงแต่ในกรณีนี้ หากยังปรากฏงานอื่น ๆ ของท่านด้วย เช่น ในสงครามอินโดจีน ในนวนิยายและภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ที่ประกาศเจตนารมณ์เพื่อสันติภาพอย่างชัดเจน และในขบวนการเสรีไทยเพื่อรักษาเอกราชของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (2484–2488) เป็นต้น
ในวาระ 75 ปี ของวันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2563 ถ้าเรานำบทเรียนเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและการแก้ไขปัญหานี้ มาเป็นเครื่องเตือนใจเรา อย่างน้อยอนุชนจะได้เห็นว่า ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้นมิได้มีชื่อเสียงบันลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด[22]
[1] เวลานั้นผู้เขียนบวชเป็นพระอยู่ที่วัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ เขียนเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2558 ตีพิมพ์ครั้งแรกด้วยชื่อเรื่อง “จากกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถึงนายปรีดี พนมยงค์: พิจารณาเรื่องการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ในหนังสือ วันรพี 2558 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการเผยแพร่ทางออนไลน์นี้ได้ปรับแก้ถ้อยคำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น.
[2] โปรดดู คำนำที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2470 ในหนังสือ พระราชดำรัสในพระบาทเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน (กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557), หน้า 6.
[3] ทรงศรี อาจอรุณ, การแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับประเทศมหาอำนาจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506, หน้า 314.
[4] พึงตราไว้ด้วยว่า ในอดีต พระองค์เจ้าเมื่อทรงกรมแล้ว พระนามเดิมของพระองค์เจ้าจะงดไป เป็นต้นว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เมื่อเป็นกรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์แล้ว ก็ไม่ใช้พระนาม พระองค์เจ้าจิตรเจริญอีก แม้ต่อมาได้รับเลื่อนให้เป็นเจ้าฟ้า ก็ใช้พระนามว่า เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์แทน และเป็นเช่นนี้จนถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาฯ การที่เขียนว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงไม่ถูกต้อง
ดังนั้น สำหรับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็ไม่พึงใช้ผิด ๆ ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์.
[5] เรียบเรียงจาก ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535, หน้า 23 – 24.
[6] ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธาณรัฐราษฎรจีน, แปลโดย พรทิพย์ โตใหญ่ และ จำนง ภควรวุฒิ, กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529, หน้า 18.
[7] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “คำนำ,” ใน ดิเรก ชัยนาม, การสิ้นสุดแห่งสภาพนอกอาณาเขตต์ในกรุงสยาม, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547, หน้า 11.
[8] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “80 ปีแห่งการปฏิวัติสยาม,” ใน จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2557, หน้า 14.
[9] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, “คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย”, ใน จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2557, หน้า 29.
[10] Virginia Thompson, Thailand: The New Siam, p. 232 อ้างถึงใน ทรงศรี อาจอรุณ, การแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับประเทศมหาอำนาจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506, หน้า 326.
[11] สามารถดูรายละเอียดและข้อสังเกตต่างๆ ได้จาก ปรีดี พนมยงค์, “สังเขปการเจรจาสนธิสัญญาใหม่ เมื่อ พ.ศ.2480 (ค.ศ.1937) ชาติไทยได้เอกราชสมบูรณ์” ใน ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535, หน้า 105 – 147.
[12] ทรงศรี อาจอรุณ, การแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับประเทศมหาอำนาจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506, หน้า 313.
[13] วงศ์ พลนิกร, นโยบายต่างประเทศที่พึงปรารถนา และแนวคิดของท่านปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542, หน้า 5.
[14] โปรดดูใน ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558.
[15] ทรงศรี อาจอรุณ, การแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับประเทศมหาอำนาจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506, หน้า 294.
[16] โปรดดูใน ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558.
[17] ทรงศรี อาจอรุณ, การแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับประเทศมหาอำนาจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506, หน้า 294.
[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า 325 – 326.
[19] โปรดดูใน ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558.
[20] ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535, หน้า 109.
[21] วงศ์ พลนิกร, นโยบายต่างประเทศที่พึงปรารถนา และแนวคิดของท่านปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542, หน้า 4 – 5.
[22] ปรีดี พนมยงค์, พระเจ้าช้างเผือก, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542, หน้า (11).