ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

สังเขปการต่อสู้ของขบวนการเสรีไทย

14
สิงหาคม
2564
ภาพ: ต้นฉบับบันทึกของปรีดี พนมยงค์
ภาพ: ต้นฉบับบันทึกของปรีดี พนมยงค์

 

- 1 -

วิญญูชนรุ่นปัจจุบันที่ตั้งอยู่ในอุเบกขาแสวงหาสัจจะ โดยปราศจากอคติสี่ประการคือ ฉันทา โทสา ภยา โมหา ก็ย่อมเข้าใจได้จากรูปธรรมที่ประจักษ์ถึงท่าทีของฝ่ายสัมพันธมิตร อันเกิดจากการกระทำทั้งทางนิตินัยและทางพฤตินัยของรัฐบาลจอมพล ป. และผู้สนับสนุนว่า แม้ฝ่ายญี่ปุ่นชนะสงครามชาติไทยก็เสียความเป็นเอกราชสมบูรณ์โดยตกเป็นอาณานิคมชนิดหนึ่งของญี่ปุ่นในองค์การ “วงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเชียบูรพา”

ถ้าสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงคราม ชาติไทยก็จะต้องเสียความเป็นเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดน แม้ว่าประธานาธิบดีรูสเวลท์จะถือว่าชาติไทยมิใช่ศัตรู แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรอื่นก็มีท่าทีตรงข้ามและไม่ยอมฟังเสียงอเมริกัน

เมื่อเผชิญต่อสถานการณ์ที่ทำให้ชาติทรุดหนักลงยิ่งกว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 แล้ว ขบวนการเสรีไทยจึงต้องเร่งการปฏิบัติตามแนวทางที่จะกล่าวโดยสังเขปต่อไปนี้ให้ได้ผลดีและมากยิ่งขึ้น

ก. ขยายขบวนการเสรีไทยให้เข้มแข็งทั้งทางปริมาณและคุณภาพเพื่อเป็นกำลังหลักในการต่อสู้แสนยานิยมญี่ปุ่นผู้รุกรานและเป็นกำลังหลักให้สัมพันธมิตรเห็นว่าเรามีบทบาทสำคัญด้วยในการที่สัมพันธมิตรสู้รบกับแสนยานิยมญี่ปุ่นเพื่อที่สัมพันธมิตรจะเลิกถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรูหรืออย่างน้อยก็ให้สัมพันธมิตรผ่อนหนักเป็นเบาต่อชาติไทยภายหลังสงคราม

ข. จัดตั้งให้มีสมรรถภาพยิ่งขึ้นในการเอาใจใส่ช่วยเหลือพลเรือนของชาติสัมพันธมิตรที่ถูกคุมขัง และช่วยเหลือเชลยของชาติสัมพันธมิตรที่ฝ่ายญี่ปุ่นจับตัวเอามาทำงานสร้างทางรถไฟสายมรณะระหว่างประเทศไทยกับพม่าและงานโยธาอื่นๆ ในประเทศไทย

ค. ร่วมมือกับสัมพันธมิตรในการต่อสู้ทางพลพรรคและทางทหาร

ง. ฟื้นความคิดที่ระงับไว้ชั่วคราวในการตั้งรัฐบาลเสรีของไทยขึ้นมาอีก โดยเจรจากับสัมพันธมิตร ขอตั้งขึ้นในดินแดนของสัมพันธมิตรเหมือนดั่งที่สัมพันธมิตรรับรองรัฐบาลโปแลนด์ นอร์เวย์ และคณะกรรมการแห่งชาติฝรั่งเศสภายใต้นายพล เดอโกลล์ รัฐบาลเสรีของไทยนี้ จะประกาศลบล้างการกระทำของรัฐบาลที่ร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่น ขอให้สัมพันธมิตรรับรองความเป็นเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนของชาติไทยอย่างสมบูรณ์เหมือนสภาพก่อนสงคราม

 

- 2 -

การขยายขบวนการเสรีไทยในดินแดนสัมพันธมิตร ย่อมได้รับความสะดวกและปลอดภัยกว่าผู้อยู่ภายในประเทศไทย ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายไทยที่ร่วมกับญี่ปุ่นสอดส่องอย่างกวดขัน มิให้เกิดขบวนการต่อต้านขึ้นได้ ดังนั้นภายในประเทศไทยก็จะต้องจัดตั้งด้วยความระมัดระวัง มิให้ศัตรูล่วงรู้ก่อนถึงเวลาที่เตรียมพร้อมแล้วในการลงมือใช้อาวุธ และวิธีต่อสู้ทางการเมืองการต่างประเทศอื่นๆ ก็ต้องระมัดระวังมิให้ความลับรั่วไหล เราจึงต้องเลือกเฟ้นผู้ที่สามารถรักษาวินัย โดยเฉพาะรักษาความลับโดยวิธีมีวินัยโดยจิตสำนึก มิใช่วินัยเหล็กซึ่งเราไม่อาจใช้ได้ เราถือเอาความสมัครใจที่ยอมอยู่ในวินัยอย่างเคร่งครัด

เพื่อป้องกันความเสียหายของขบวนการเป็นส่วนรวม เราจึงได้แบ่งงานออกเป็นสายๆ โดยมีหัวหน้าแต่ละสายที่ไว้วางใจได้เป็นผู้รับผิดชอบในสายของตน และหัวหน้าสายก็ไปแบ่งแยกเป็นสายและหน่วยย่อยลงไปตามลำดับ เผื่อว่าถ้าหน่วยหรือสายใดเสียหายก็จะไม่ลามปามมาถึงหน่วยหรือสายอื่น หรือไปถึงกองบัญชาการเป็นส่วนรวมได้ งานของหน่วยใดหรือสายใดก็รู้เฉพาะคนหรือเฉพาะหน่วยเฉพาะสายไม่ให้ก้าวก่ายกัน ห้ามเด็ดขาด มิให้คนหน่วยหนึ่งหรือสายหนึ่งทำก้าวก่ายกับหน่วยหรือสายอื่น ข้าพเจ้าที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางก็พบแต่หัวหน้าสายใหญ่และเฉพาะบางคนในกองบัญชาการเท่านั้น

ในระหว่างที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ขบวนการเสรีไทยภายในประเทศได้รับความลำบากมาก ผู้ที่ข้าพเจ้าปรึกษาการงานบ่อยครั้งกว่าผู้อื่นซึ่งนับว่าเป็นหัวหน้าสายคือ นายจำกัด พลางกูร นายชาญ บุนนาค นายเตียง ศิริขันธ์ หลวงบรรณกรโกวิท นายสงวน ตุลารักษ์ นายสงวน จูฑะเตมีย์ (หลวงนฤเบศร์ฯ) พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ ซึ่งได้รับไปขยายการจัดตั้งเป็นสายๆ และหน่วยย่อยต่อๆ ไป

‘นายทวี บุณยเกตุ’ เป็นผู้ส่งข่าวความเคลื่อนไหวของคณะรัฐมนตรี ‘ร.ต.อ. เชื้อ สุวรรณศร’ ซึ่งรับใช้ใกล้ชิดอธิบดีกรมตำรวจ ก็ได้ส่งข่าวเหตุการณ์ด้านอธิบดีกรมตำรวจให้ข้าพเจ้าทราบ เมื่อมีเหตุเกี่ยวกับเสรีไทยในระหว่างที่อธิบดีตำรวจยังมิได้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย ส่วนการป้องกันภัยที่จะมาจากญี่ปุ่นนั้น ‘นายชาญ บุนนาค’ ได้ชักชวนให้ พ.ท.สำเริง  เนตรายน ผู้เป็นญาติเข้าร่วมงานด้วยเพราะผู้นี้เป็นนายทหารอยู่ในกรมผสมงานระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ญี่ปุ่นมีเรื่องที่จะเจรจาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือการทหารนั้น ส่วนมากผ่านทางกรมนี้ ดังนั้นถ้ามีเรื่องเกี่ยวกับเสรีไทยเราก็อาจรู้การประท้วงและท่าทีของญี่ปุ่นได้โดย พ.ท.สำเริงฯ

เมื่อได้ส่ง ‘นายจำกัด พลางกูร’ ไปจุงกิงแล้วส่ง ‘นายสงวน ตุลารักษ์’ ตามไปอีกนั้น เราได้กำหนดรหัสที่ข้าพเจ้าเคยใช้สมัยก่อนอภิวัฒน์ 24 มิถุนาฯ ซึ่งเป็นรหัสระหว่างกันเอง มิใช่ระหว่างสัมพันธมิตร ก็ต้องอาศัยภรรยาข้าพเจ้าเป็นผู้ช่วยเข้าและออกรหัสนั้น ซึ่ง ‘นางฉลบชลัยย์ พลางกูร’ ได้ช่วยบ้างบางครั้ง

ต่อมาเมื่อ ‘นายป๋วย อึ้งภากรณ์’ กับคณะกระโดดร่มลงมาถูกฝ่ายรัฐบาลไทยจับเอาตัวไปขังไว้ที่สันติบาล ข้าพเจ้าได้อาศัย ‘นายวิจิตร ลุลิตานนท์’ ซึ่งมี ‘ร.ต.อ. โพยม จันทะรัคคะ’ ผู้เป็นญาติ มีหน้าที่ควบคุมเสรีไทยที่ถูกขังอยู่นั้น ลักลอบนำตัวนายป๋วยกับคณะออกมาบางคราวโดยอธิบดีกรมตำรวจไม่รู้ ข้าพเจ้าจึงสามารถติดต่อกับสัมพันธมิตรทางวิทยุรับส่งด้วยเครื่องที่ตำรวจยึดไว้จากนายป๋วยกับคณะนั่นเอง การติดต่อกับฝ่ายอเมริกันทางวิทยุลับ ได้เริ่มมีขึ้นเมื่อเสรีไทยจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเมืองไทยได้โดยปลอดภัยหรือถูกจับ แต่ ร.ต.อ. พโยม จันทะรัคคะ ก็ได้ช่วยลักลอบนำออกมาจากที่คุมขังเพื่อพบข้าพเจ้าเป็นการลับและแอบส่งและรับวิทยุกับฝ่ายสหรัฐอเมริกา

 

- 3 -

สัมพันธมิตรเป็นห่วงใยในชะตากรรมของคนสังกัดชาติของตนที่เป็นพลเรือน ซึ่งถูกคุมขังไว้ในประเทศไทยและเป็นเชลยที่ญี่ปุ่นเอาตัวมาทำทางรถไฟสายมรณะระหว่างแดนไทยกับพม่า และทำงานโยธาหนักอื่นๆ

พลเรือนชาติสัมพันธมิตรนั้น รัฐบาลไทยจับตัวมาคุมขังไว้ก่อนมีการประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา รัฐบาลขอเอาอาคารและบริเวณส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นที่คุมขังพลเรือนเหล่านี้ โดยมี ‘พ.ท.ม.ร.ว. พงศ์พรหม จักรพันธ์’ เป็นผู้บังคับการค่ายคุมขัง แต่เนื่องจากค่ายนี้แม้จะมีรั้วกีดกันไว้ แต่ข้าพเจ้าได้มอบให้ ‘นายวิจิตร ลุลิตานนท์’ กับพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นผู้คอยเอาใจใส่ช่วยเหลือ ซึ่งในที่สุด ม.ร.ว.พงศ์พรหมฯ ก็ได้เข้าร่วมในงานเสรีไทยด้วย อดีตผู้ถูกคุมขังบางคนได้เขียนและให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เมื่อภายหลังสงครามถึงความช่วยเหลือของเราต่อพวกเขาไว้แล้ว

ส่วนคนจีนที่เกสตาโปญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อว่าองค์การ “แกมเปอิ” จับตัวไปทรมานนั้น พล.ร.ต.สังวรฯ ก็ได้ช่วยชีวิตไว้ได้หลายคน ซึ่งบางคนมีชีวิตอยู่ต่อมาจนเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งอยู่ในเวลานี้

คนสัมพันธมิตรที่ญี่ปุ่นจับมาเป็นเชลยใช้ทำงานรถไฟสายมรณะนั้น อยู่ในความควบคุมของฝ่ายญี่ปุ่นอย่างกวดขัน แม้กระนั้น ผู้รักชาติไทยก็ได้ช่วยเชลยเหล่านี้ในการให้อาหารและความช่วยเหลือหลายอย่าง ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ของราษฎรไทยที่เป็นมิตรกับสัมพันธมิตร เสร็จสงครามแล้วข้าพเจ้าได้ให้ ‘นายบุญผ่อง ศิริเวชพันธ์’ จัดการรวบรวมผู้รักชาติเหล่านี้ มาเดินสวนสนามร่วมกับเสรีไทยหน่วยอื่นๆ ที่กรุงเทพฯ

เชลยบางคนที่หนีจากค่ายญี่ปุ่นก็ได้รับการพึ่งพาอาศัยจากราษฎรไทยเมื่อสัมพันธมิตรขอร้องให้เราช่วยส่งตัวผู้รอดตายเหล่านี้กลับไปผ่านทางอินเดียโดยเครื่องบินทะเลที่สัมพันธมิตรส่งมารับ เราก็จัดการให้สำเร็จ

 

- 4 -

การร่วมมือกับสัมพันธมิตรในการต่อสู้ทางพลพรรคและทางทหารนั้น ระหว่างที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีและก่อนที่ พล.ต.อ.อดุลฯ เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยนั้น ขบวนการเสรีไทยภายในประเทศได้รับความลำบากเป็นอย่างยิ่ง เพราะในการรับส่งและให้ที่พำนักแก่นายทหารสัมพันธมิตรเองก็ดี แก่เสรีไทยจากต่างประเทศที่เป็นทหารสังกัดประเทศสัมพันธมิตรด้วยก็ดีนั้น เราทำได้ด้วยความลำบากและเสี่ยงภัยมาก เพราะการที่เครื่องบินมาส่งพลร่มก็ดี เครื่องบินทะเลมาส่งนายทหารสัมพันธมิตรกับเสรีไทยก็ดี ย่อมมีเสียงเครื่องบินและบางครั้งมีคนเห็นร่มซึ่งแพร่ข่าวลือกันไป ทำให้รัฐบาลไทยและฝ่ายญี่ปุ่นสงสัย แต่ด้วยวินัยโดยจิตสำนึกของเสรีไทยผู้ร่วมงาน เราจึงสามารถอาศัยการพรางเพื่อเป็นการแก้ตัว แต่บ่อยครั้งเข้าก็ต้องระงับไว้ชั่วคราว

ผู้ที่เป็นหัวแรงในครั้งแรกๆ คือ ‘นายชาญ บุนนาค’ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก ‘นายใช้ ห้วงน้ำ’ ผู้เป็นนายพรานใหญ่บริเวณหัวหิน อันเป็นสถานที่ซึ่งเราจัดให้นายทหารเสรีไทยกระโดดร่มลงมาครั้งหนึ่ง และเครื่องบินทะเลมาส่งคนและอาวุธที่บริเวณเกาะใกล้หัวหิน หลวงบรรณกรฯ เป็นผู้อำนวยการขนส่งทางทะเล โดยใช้เรือยนต์กรมศุลกากรเป็นพาหนะ มี นายสิน อดีตทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นนายท้าย ซึ่งนายทหารสัมพันธมิตรให้ฉายาว่า “กัปตันศุลกากร” มี พล.ร.ต.สังวรฯ เป็นผู้อารักขา ‘นายสงวน จูฑะเตมีย์’ (หลวงนฤเบศร์ฯ) จัดที่ส่วนตัวให้นายทหารเสรีไทยบางคน ‘พระสุจริตสุดา’ ซึ่งเป็นพระสนมเอกในพระมงกุฎเกล้าฯ ได้กรุณาอนุญาตให้ใช้บ้านของท่านเป็นที่รับรองนายทหารสัมพันธมิตร

ตำรวจท้องที่หลายแห่งได้รายงานอธิบดีกรมตำรวจถึงความเคลื่อนไหวของเครื่องบินสัมพันธมิตร ‘ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร’ ได้แอบนำเรื่องที่จะเป็นภัยมาถึงข้าพเจ้าและการงาน จึงช่วยให้ข้าพเจ้าป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้หลายครั้ง

ต่อมาเมื่อจอมพล ป. ต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดย ‘นายควง อภัยวงศ์’ เป็นนายกรัฐมนตรี, พล.อ.พระยาพหลฯ เป็นแม่ทัพใหญ่, พล.ท.หลวงสินาดฯ เป็นรองแม่ทัพใหญ่ พล.ต.อ.อดุลฯ ตกลงเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย เราได้รับความร่วมมือจากท่านเหล่านี้ ซึ่งนอกจากขยายขบวนการเสรีไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้นทั้งในทางราษฎร ทางทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจแล้ว เราสามารถส่งนายทหารไปเป็นตัวแทนทางการทหารของขบวนการเสรีไทย ประจำอยู่กับสัมพันธมิตร คือ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน ประจำที่อินเดีย, พ.ท.พระอภัยพลรบ (นายทหารกองหนุน) ประจำที่จุงกิง, น.อ. หลวงยุทธกิจพิลาส ประจำที่วอชิงตัน, น.ท. ทวี จุลละทรัพย์ ประจำที่อินเดีย นอกจากนี้เราได้ส่งนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองและผู้รักชาติอื่นๆ ไปฝึกอบรมการรบแบบพลพรรคที่อินเดียหลายรุ่นเป็นจำนวนหลายสิบคน

ส่วนสถานที่ต้อนรับให้นายทหารสัมพันธมิตรและนายทหารเสรีไทยจากต่างประเทศได้พำนักและใช้เครื่องวิทยุรับส่งระหว่างสัมพันธมิตรกับขบวนการเสรีไทยภายในประเทศนั้น นายเฉลียว ปทุมรส รองเลขาธิการพระราชวังรับรองผู้รับผิดชอบส่วนที่เกี่ยวการสถานที่สังกัดสำนักพระราชวัง นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร รับรองผู้พำนัก ณ สถานที่สังกัดสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นายสนิท ผิวนวล รับรองผู้พำนัก ณ สถานที่สังกัดกองรักษาที่หลวงและที่ซึ่งขบวนการเสรีไทยเช่า

การเจรจากับสัมพันธมิตรให้รับรองรัฐบาลเสรีของไทยนั้น ข้าพเจ้าเห็นความสำคัญว่าต้องจัดตั้งขึ้นให้สัมพันธมิตรรับรองว่าเป็นตัวแทนของชาติไทยก่อนที่สงครามจะสิ้นสุดลง เพราะแม้ขบวนการเสรีไทยจะร่วมมือกับสัมพันธมิตรทางพลพรรคและทางทหาร ก็ยังไม่อาจลบล้างสถานะสงครามกับประเทศสัมพันธมิตรได้ เพราะการประกาศสงครามนั้น ผูกพันชาติไทยทั้งทางนิตินัยและทางพฤตินัยแล้ว ถ้าเสร็จสงครามเราก็จะต้องทำพิธียอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขตามที่สัมพันธมิตรแถลงไว้สำหรับประเทศที่มีสภาพเป็นศัตรู

ในการนี้ได้ส่ง นายจำกัด พลางกูร เป็นตัวแทนรุ่นแรก แล้วส่งคณะอันมี นายสงวน  ตุลารักษ์ เป็นหัวหน้าตามไป ต่อมาได้ส่ง นายถวิล อุดล กับ พ.ท. พระอภัยพลรบ ทั้ง 3 คณะนี้ได้บุกป่าฝ่าดงไปจุงกิง ได้ขอให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เจรจาทางกรุงวอชิงตัน และได้จัดการให้ นายอรรถกิติ  พนมยงค์ ย้ายจากสวิตเซอร์แลนด์ไปสวีเดนเพื่อติดต่อไปยังวอชิงตันอีกทางหนึ่ง พร้อมทั้งติดต่อ มาดามโคเลนไตน์ อัครรัฐทูตโซเวียตประจำกรุงสตอกโฮล์ม ได้ให้ นายดิเรก  ชัยนาม ไปกองบัญชาการสัมพันธมิตรที่ลังกาโดยมี นายถนัด คอมันตร์ เป็นเลขานุการ ได้ให้ นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ไปวอชิงตัน และได้ให้ นายป๋วย อึ้งภากรณ์ เดินทางไปลอนดอน เพื่อติดต่อกับพรรคแรงงานของอังกฤษในปัญหาอนาคตของไทยอีกทางหนึ่งถ้าพรรคนี้ได้ชนะในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าจะได้นำเอกสารที่อดีตสัมพันธมิตรพิมพ์เปิดเผยแล้ว มาพิมพ์ไว้ในบทที่เกี่ยวข้องกับการเจรจานี้

การเจรจาต้องทำด้วยความลำบาก เพราะฝ่ายอังกฤษยืนยันว่าประเทศไทยเป็นศัตรู โดย อังกฤษ ออสเตรเลีย สหภาพอาฟริกาใต้ ได้ประกาศสงครามเป็นการโต้ตอบแล้ว แต่ในที่สุดการเจรจาก็ได้รับผลผ่อนหนักเป็นเบา

 

- 5 -

ข้าพเจ้ามิได้ละความพยายามเรื่องรัฐบาลเสรีของไทย ดั่งจะเห็นได้จากเอกสารทางการเหล่านั้นก็พอดีฝ่ายญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ข้าพเจ้าจึงใช้วิธีประกาศพระบรมราชโองการในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า การประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาที่รัฐบาลจอมพล ป. ทำไปนั้นเป็นโมฆะ ผู้ไม่รู้ความจริงหรือแสร้งทำเป็นไม่รู้ เมื่อได้ฟังนายควง อภัยวงศ์ ไปพูดเชิงตลกที่คุรุสภาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 นั้นก็อาจเข้าใจว่า การประกาศว่า สงครามเป็นโมฆะนั้นทำได้ง่ายๆ ประดุจคำพังเพยที่ว่า “ตีหัวคนแล้ววิ่งเข้าบ้าน” สามัญชนย่อมไม่ยอมให้ผู้ใดทำแก่ตนง่ายๆ เช่นนั้นฉันใด ยิ่งเป็นมหาอำนาจแล้วก็ยิ่งยอมไม่ได้ง่ายๆ ฉันนั้น บางคนเข้าใจผิดว่าข้าพเจ้าทำชนิด “Thai Talk” คือพูดอย่างคนไทยประเภทตลกโปกฮา อันที่จริงในการเจรจากับสัมพันธมิตรนั้นมีหลักฐานชัดแจ้ง ซึ่งข้าพเจ้าได้บอกสัมพันธมิตรไว้ล่วงหน้าหลายปีติดต่อกันมาและเป็นที่ตกลงกันก่อนดังได้กล่าวแล้ว

 

- 6 -

วิญญูชนย่อมเห็นได้ว่า การงานของขบวนการเสรีไทยมิใช่เรื่องเล็ก คือได้มีการปฏิบัติมากมายหลายอย่างด้วยความเสียสละของเพื่อนร่วมงานเสรีไทยจำนวนประมาณ 80,000 คน ข้าพเจ้าไม่มีเวลาพอที่จะบรรยายถึงวีรกรรมของทุกๆ คนได้ในหนังสือเล่มนี้ โดยหวังว่า แต่ละคนที่ยังมีชีวิตอยู่ จะได้ช่วยบันทึกส่วนของตนและส่วนของผู้ที่อยู่ในหน่วยของตนที่ล่วงลับไปก่อนแล้วเพื่อว่าถ้ามีโอกาส เราก็จะได้ร่วมกันทำเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ว่าด้วยประวัติเสรีไทยโดยเฉพาะ

ในหนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “โมฆสงคราม” นั้นข้าพเจ้าจะขอกล่าวโดยสังเขป พอเหมาะสมแก่ชื่อหนังสือ และก็เป็นธรรมดาที่จะอ้างชื่อผู้ร่วมงานเฉพาะบางคนที่เกี่ยวข้องกับงานส่วนกลางที่ข้าพเจ้าต้องสั่งงานโดยตรง และงานที่เป็นลับโดยยังไม่รู้ทั่วกันเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าถือว่า เสรีไทยนิรนามที่ไม่ถูกอ้างชื่อไว้ในหนังสือเล่มนี้ก็มีส่วนร่วมในการงานของขบวนการเสรีไทยเช่นเดียวกับผู้ที่ถูกอ้างนาม

 

ภาพ: การเดินสวนสนามของขบวนการเสรีไทย ที่มา: หอภาพยนตร์
ภาพ: การเดินสวนสนามของขบวนการเสรีไทย
ที่มา: หอภาพยนตร์

 

แม้ว่าสาตราวุธ ซึ่งมนุษย์ใช้ประหัตประหารกัน
ในการทำสงครามนั้น
จะมีอานุภาพร้ายแรงมากยิ่งๆ ขึ้นเพียงใด
แต่สาตราวุธนั้นจะทำลายมนุษย์ได้
ก็เพราะ “พวกกระหายสงคราม” (Warmongers)
ได้ก่อให้เกิดสงครามขึ้น
ดังนั้นผู้รักชาติประชาธิปไตยของหลายประเทศ
จึงเห็นว่าภยันตรายสำคัญอันดับแรกของมนุษยชาตินั้น
มาจากพวกกระหายสงครามซึ่งเป็นผู้ก่อสงครามขึ้น
การกระทำของพวกกระหายสงคราม
จึงเป็น “อาชญากรรมสงคราม” (War Crime)
และบุคคลที่ก่อให้เกิดสงคราม
เป็น “อาชญากรสงคราม” (War Criminal)

(การพิทักษ์เอกราชของชาติ เป็นหน้าที่ของใคร หน้า 54)

 

ที่มา: ปรีดี พนมยงค์. “สังเขปการต่อสู้ของขบวนการเสรีไทย” ใน, “โมฆสงคราม”. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 281-291

 

อ่านคำปรารภทั้งหมดได้ที่ : https://pridi.or.th/th/content/2020/08/390