ไม่มีทางเลยที่ผมจะไม่หวนระลึกนาม ‘การะเวก ศรีวิจารณ์’ และ ‘สมพงษ์ ศัลยพงษ์’ หากต้องเอ่ยขานเรื่องราว “ขบวนการเสรีไทย” แม้ภารกิจของบุคคลทั้งสองมีอันไม่ลุล่วงตามวัตถุประสงค์ มิหนำซ้ำ ยังเผชิญเหตุการณ์เลวร้ายกระทั่งถึงแก่ชีวิต
คุณผู้อ่านส่วนมากคงคุ้นเคยกับวีรกรรมของขบวนการเสรีไทยที่ประสบความสำเร็จ แต่กระนั้น ในการปฏิบัติงานครั้งแรกสุดของนายทหารเสรีไทยสายอเมริกาได้กลายเป็นความโศกเศร้า ผมจึงใคร่ขอเชิญชวนให้ทุกท่านลองมารับรู้เหตุการณ์น่าสลดใจดังกล่าว
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ขบวนการเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาก็พยายามจัดตั้งขึ้น พวกนักเรียนชาวไทยที่นั่นทั้งทหารและพลเรือนเข้าร่วมกันต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ปรากฏผู้เป็นอาสาสมัครเสรีไทยรุ่นแรกพร้อมฝึกฝนวิชาทหารและวิชาปฏิบัติการจารกรรมหลังแนวรบข้าศึกตามหลักสูตรของสำนักบริการยุทธศาสตร์ หรือ โอ. เอส. เอส. (O.S.S) ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2485 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2486 จำนวน 19 นาย
ร้อยเอกการะเวก ศรีวิจารณ์ และ ร้อยโทสมพงษ์ ศัลยพงษ์ คือสองคนในบรรดาอาสาสมัครเหล่านั้น
ร้อยเอกการะเวก ศรีวิจารณ์
‘การะเวก’ เป็นบุตรคนสุดท้องของข้าราชการแห่งอำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี บิดาชื่อนายกลิ่น มารดาชื่อนางนวม (สกุลเดิมว่า รักษาสัตย์) เขาเกิดวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2461 มีพี่สาวสองคนคือ นางสาวหวล และนางมะลิ มีพี่ชายสามคนคือ นายฟุ้ง นายหอม และนายดอกไม้
เริ่มเรียนหนังสือที่อ่างทองก่อนจะเข้ากรุงมาเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์จนสำเร็จมัธยมชั้นปีที่ 8 และเข้าเรียนที่โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก (สะกดแบบเดิม) ในปี พ.ศ. 2478 ถือเป็นรุ่นที่สอง
ร้อยเอกการะเวก ศรีวิจารณ์ ในชุดเครื่องแบบนายทหาร
ล่วงมาปี พ.ศ. 2481 กระทรวงกลาโหมได้ส่งการะเวกเดินทางไปศึกษาวิชาแผนที่ ณ สหรัฐอเมริกา เริ่มศึกษาที่สถาบัน เอ็ม.ไอ. ที. และศึกษาต่ออีกจนสำเร็จทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ
ร้อยโทสมพงษ์ ศัลยพงษ์ ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา
ด้าน ‘สมพงษ์’ เกิดวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2461 บุตรชายของนายเกียรติ ผู้พิพากษา และนางบุญมี เคยเรียนหนังสือที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและเข้าเป็นนักเรียนแพทย์ ต่อมาเขาสอบชิงทุนได้ไปศึกษาวิชาเภสัชกรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา
ร้อยโทสมพงษ์ ศัลยพงษ์ ในชุดเครื่องแบบนายทหารเสรีไทย
ทั้งการะเวกและสมพงษ์เข้าร่วมอาสาสมัครเสรีไทยในสหรัฐอเมริการุ่นแรกสุด และฝึกฝนยุทธวิธีสงครามจากโอ. เอส. เอส. (O.S.S) จนได้รับการติดยศทางทหาร จากนั้น พวกเขาและอาสาสมัครคนอื่นๆ เดินทางโดยสารเรือบรรทุกทหารออกจากสหรัฐอเมริกา แล่นอ้อมทางตอนใต้ของทวีปออสเตรเลียย้อนไปขึ้นฝั่งที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย อันเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายสัมพันธมิตรช่วงกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2486 อาสาสมัครเสรีไทยยังไปฝึกซ้อมในรัฐอัสสัมใกล้ชายแดนพม่าโดยมี ‘ร้อยเอกนิคอล สมิธ’ เป็นพี่เลี้ยง สิงหาคมปีเดียวกัน ขบวนการเสรีไทยสายอเมริกาออกเดินทางไปยังจุงกิง ต่อไปยังคุนหมิง แล้วไปตั้งค่ายที่ซือเหมา
การะเวกรูปร่างเล็ก น้ำหนักตัวเพียง 55 กิโลกรัม สมพงษ์รูปร่างใหญ่กำยำ น้ำหนักตัวเกินกว่า 70 กิโลกรัม แต่ทั้งสองทำงานประสานเข้ากันได้ดีเยี่ยม การะเวกปฏิบัติการในนาม “แครี่” ได้รับยศร้อยเอก และเป็น ‘เสนาธิการ’ ของพลพรรคอาสาสมัครเสรีไทยสายอเมริกา เพราะเคยผ่านโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก ส่วนสมพงษ์ปฏิบัติการในนาม “แซล” หรือที่เคยเรียกขานในหมู่เพื่อนๆ ว่า “ทาซานแซล” ได้รับยศร้อยโท
ตามแผนการ นายทหารเสรีไทยชุดแรกที่จะลอบเข้าเมืองไทยมี 5 นาย ได้แก่ ร้อยเอกโผน อินทรทัต, ร้อยเอกการะเวก ศรีวิจารณ์, ร้อยโทสมพงษ์ ศัลยพงษ์, ร้อยโทการุณ เก่งระดมยิง และร้อยโทเอี่ยน ขัมพานนท์ ร้อยเอกโผนจะเดินทางเพียงลำพัง ร้อยโทการุณเดินทางคู่กับร้อยโทเอี่ยน และร้อยเอกการะเวกเดินทางคู่กับร้อยโทสมพงษ์
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 ร้อยเอกการะเวกและร้อยโทสมพงษ์ ออกเดินทางจากซือเหมา เพื่อเข้ามาปฏิบัติการบริเวณตอนเหนือของดินแดนไทย พวกเขาพำนักอยู่เมืองลาในแคว้นสิบสองปันนาราวหนึ่งเดือนเศษ จนได้นายบุญช่วยเป็นคนนำทาง จึงเดินทางต่อมายังเมืองพงสาลี ล่องเรือตามลำน้ำโขงไปถึงหลวงพระบาง
พอวันที่ 10 มิถุนายนปีเดียวกัน ทั้งสามก็ข้ามฟากมาขึ้นฝั่งที่ตำบลบ้านด่าน อำเภอเชียงแมน จังหวัดลานช้าง ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนของไทยที่ได้รับคืนมาจากฝรั่งเศสเมื่อพ.ศ. 2484 หลังกรณีพิพาทอินโดจีน
การลอบเข้าเมืองไทยครั้งแรกของนายทหารเสรีไทยสายอเมริกานับว่าสุ่มเสี่ยงอันตรายอย่างสูง เพราะมิเคยติดต่อประสานงานกับสมาชิกขบวนการเสรีไทยในประเทศมาก่อน อีกทั้งรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายญี่ปุ่นก็มีคำสั่งเข้มงวดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นคอยสังเกตการณ์และจับกุมตัวจารชนผู้แอบเข้าประเทศ
ตกเย็นวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2487 นายบุญช่วย คนนำทางได้พาร้อยเอกการะเวกและร้อยโทสมพงษ์ไปพบและขอพักอาศัยที่บ้าน ‘นายสิมมา สิทธิยิ่ง’ สารวัตรหรือผู้ช่วยกำนันตำบลบ้านด่าน นายสิมมาบอกให้ร้อยเอกการะเวกกับนายบุญช่วยรออยู่ที่บ้าน ตนจะพาร้อยโทสมพงษ์ผู้แต่งกายละม้ายชาวพื้นเมืองไปพบนายสิมมา ด่านไทย กำนันประจำตำบลแห่งนี้ (ทั้งกำนันและผู้ช่วยกำนันชื่อเหมือนกัน) พร้อมรายงานว่าชาย 3 คนข้ามโขงมาขอพักค้างแรม
กำนันสิมมาถามร้อยโทสมพงษ์ว่า มาจากไหน จะไปที่ไหน มีหนังสือเดินทางหรือไม่ ร้อยโทสมพงษ์ตอบด้วยสำเนียงพูดแบบคนลาวแต่ไม่ชัดว่า มาจากน้ำอู จะไปอำเภอเชียงแมน เลยไปจังหวัดลานช้าง และต่อไปจังหวัดหนองคาย ไม่มีหนังสือเดินทาง
กำนันสิมมากับพวกรุดมาที่บ้านผู้ช่วยกำนัน ขอตรวจค้นหีบห่อของร้อยเอกการะเวกและร้อยโทสมพงษ์ เจอของประหลาดซึ่งกำนันไม่เคยเห็นมาก่อน สองนายทหารเสรีไทยอธิบายว่าเป็นห่อหีบเสียง ทั้งๆ ที่ข้างในคือเครื่องรับส่งวิทยุ พอกำนันสิมมาถามถึงอาวุธ ทั้งสองก็มอบปืนพกสองกระบอกให้
กำนันสิมมากลับถึงบ้านตนเองพลันเกิดความระแวงไม่ไว้ใจ ให้คนไปตามนายโล่ห์ โละทอง ครูประชาบาลมาปรึกษาหารือ ลงความเห็นพ้องกันว่า ชายแปลกหน้าผู้ข้ามโขงมาน่าจะเป็น “แนวที่ 5” หรือจารชนเข้ามาปฏิบัติการอะไรสักอย่าง กำนันสิมมาวอนขอให้ครูโล่ห์ช่วยเขียนรายงานแจ้งไปยังสถานีตำรวจภูธรเชียงแมน เนื่องจากตนเขียนหนังสือไทยไม่ได้ ‘ร้อยตำรวจตรีเจียม ดวงพักตรา’ ผู้บังคับหมวดได้รับรายงานในคืนนั้น
เช้าวันรุ่งขึ้น 11 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ร้อยตำรวจตรี เจียม เชื่อว่าชายแปลกหน้าคือคนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศและเข้ามาเป็นจารชน ซึ่งทางการถือเป็นศัตรูของชาติ จึงสั่งให้ตำรวจ 3 นาย ได้แก่ สิบตำรวจโท สมวงษ์ จันทรศร, พลฯ ถึง มูลวิชัย และพลฯ วิชัย ทรงพุทธ ออกไปตรวจค้นของกลางและควบคุมตัวจารชนมาสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรเชียงแมน
ตำรวจทั้งสามไปถึงตำบลบ้านด่านเวลาเที่ยงเศษ ตรวจค้นสิ่งของเสร็จสิ้น สั่งให้กำนันสิมมาเกณฑ์เรือสองลำ กำหนดให้สองนายทหารเสรีไทยและนายบุญช่วยลงเรือลำหนึ่ง มีชาวบ้านชื่อนายสนเป็นคนพายหัวเรือ พลฯ วิชัยพายท้ายเรือ และพลฯ ถึงนั่งควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตรงกลาง ส่วนเรืออีกลำบรรทุกสัมภาระหีบห่อต่างๆ ให้ครูโล่ห์นั่งกับสิบตำรวจโทสมวงษ์ เรือทั้งสองลำล่องไปตามลำแม่น้ำโขง
กลางลำน้ำโขงละแวกตำบลสระนก จู่ๆ เสียงปืนดังลั่นขึ้น 1 นัด ฉับพลันร้อยเอกการะเวกและร้อยโทสมพงษ์ลุกยืนขึ้นกลางลำเรือ สิบตำรวจโทสมวงษ์เอาหัวเรือลำบรรทุกสัมภาระมาจอดเทียบเรือลำที่ควบคุมตัวจารชน ลั่นไกปืนยิงไป 3-4 นัด ร้อยเอกการะเวกและนายบุญช่วยล้มลงเสียชีวิตทันที ขณะร้อยโทสมพงษ์ยังไม่ตาย ส่งเสียงร้องครวญครางเจ็บปวด สิบตำรวจโทสมวงษ์สั่งให้ลูกน้องของตนนำเรือสองลำเข้าจอดเทียบท่า เพราะเรือถูกกระสุนปืนเกิดรอยรั่วน้ำทะลักไหลเข้ามา ตำรวจทั้งสามพยายามเอาหีบสัมภาระของนายทหารเสรีไทยมาตรวจค้นดู ร้อยโทสมพงษ์เห็นเข้าร้องขึ้นว่า “ผมเป็นคนไทยแท้ๆ ไม่ควรยิงผมเลย ผมมาทำงานเพื่อชาติ”
สิบตำรวจโทสมวงษ์กับลูกน้องส่งปืนยาวแก่ครูโล่ห์ บัญชาให้ยิงร้อยโทสมพงษ์ให้ตายสนิท แต่ครูโล่ห์นึกสงสารไม่กล้ายิง ตำรวจสั่งนายสนให้พายเรือไปทางฝั่งลาว พอถึงกลางแม่น้ำโขง พลฯ ถึงเอาปืนจ่อตัวนายสนสั่งให้อุ้มร้อยโทสมพงษ์โยนทิ้งน้ำ พอร้อยโทสมพงษ์ว่ายน้ำกลับมาเกาะเรือ ก็ให้นายสนใช้ไม้ถ่อเรือค้ำยันร่างเขาออกไป ร้อยโทสมพงษ์พยายามว่ายน้ำไปเกาะจับแก่งหินกลางน้ำ พลฯ ถึงเห็นร้อยโทสมพงษ์ไม่หมดสิ้นลมหายใจสักที จึงรัวกระสุนใส่อีก 2-3 นัด ร้อยโทสมพงษ์ร้องเจ็บปวดและจมหายกลางกระแสน้ำเชี่ยว
ทั้งตำรวจสามนาย ครูประชาบาล และชาวบ้านเยี่ยงนายสน ล่องเรือมาถึงสถานีตำรวจภูธรเชียงแมนราว 17.00 น. เศษ ครูโล่ห์ถูกบังคับขู่เข็ญจากสิบตำรวจโทสมวงษ์จนให้การเท็จต่อร้อยตำรวจตรีเจียมว่า จารชนทั้งสามต่อสู้ขัดขืนแย่งปืนและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเลยถูกวิสามัญฆาตกรรม ทั้งๆ ที่ครูโล่ห์ทราบดีอยู่แก่ใจว่าพวกตำรวจฆ่าคนหมายชิงทรัพย์ ครั้น ‘นายยุทธ หนุนภักดี’ นายอำเภอเชียงแมนมาถึงสถานีตำรวจ ก็ได้ตรวจสัมภาระของเสรีไทยพบปืน กระสุน เสื้อผ้า ธนบัตร เครื่องรับส่งวิทยุ และทองคำ
ศพของร้อยเอกการะเวกและนายบุญช่วยถูกทิ้งไว้หน้าสถานีตำรวจจวบเย็นของอีกวัน ก่อนจะถูกนำไปฝังบริเวณหลังสถานี
ร้อยเอกการะเวกและร้อยโทสมพงษ์ปิดฉากชีวิตด้วยวัยเพียง 26 ปี กว่าข่าวความตายของพวกเขาจะล่วงรู้ไปถึงฐานปฏิบัติการเสรีไทยที่ซือเหมา เวลาก็ผันผ่านนานแรมเดือน ข่าวสะเทือนขวัญนี้ส่งผลให้อาสาสมัครเสรีไทยชุดอื่นๆ ที่จะเข้ามาปฏิบัติการละแวกลุ่มแม่น้ำโขงต้องเปลี่ยนเส้นทางกะทันหันเพื่อความปลอดภัยของพวกตน
เส้นทางลำน้ำโขงที่จะล่องไปยังหลวงพระบาง ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
การที่นายทหารเสรีไทยถูกฆาตกรรมเพราะการพกพาทองคำ ยิ่งทำให้นายทหารเสรีไทยผู้จะลอบเข้ามาปฎิบัติการชุดถัดไปตระหนักและกังวลอย่างมาก คราวที่นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษกระโดดร่มลงมาที่หัวหินในเดือนกันยายน พ.ศ. 2487 ‘ร้อยตรีประเสริฐ ปทุมานนท์’ หนึ่งในพลร่มบันทึกว่าเขารีบมอบห่อของฝากให้แก่ ‘นายชาญ บุนนาค’ แห่งหน่วยประสานงานเสรีไทยทันทีเลย กระนั้น ‘สวัสดิ์ ศรีสุข’ บอกเล่าผ่าน “หมายเหตุเกี่ยวกับบันทึกของคุณประเสริฐ” ในหนังสือ เรื่องของขบวนการเสรีไทย ปฏิบัติการใต้ดินในประเทศไทยของประเสริฐ ปทุมานนท์ ว่า
“เหตุไฉนในการบันทึกเรื่อง คุณประเสริฐ จึงโยงเอาเรื่องห่อของฝากนี้มาเกี่ยวกับการที่คุณการะเวก ศรีวิจารณ์ และ คุณสมพงษ์ ศัลยพงษ์ (และ คุณบุญช่วย) ถูกฆาตกรรมด้วยเรื่องทองตามที่เล่ากันทั่วไป
หรือว่าหัวหน้าแผนกสยามบอกคุณประเสริฐว่าในห่อนั้นมีทองด้วย นั่นผมก็ไม่ทราบ แต่คุณประเสริฐก็ไม่ได้เห็นกับตาตนเองว่าในห่อมีอะไรเพราะผนึกไว้เรียบร้อยแล้ว
คุณสมพงษ์ และ คุณการะเวก ถูกฆาตกรรมเมื่อ 11 มิถุนายน 2487 คุณจก ณ ระนอง ยืนยันไปยังคุณนิธิพัฒน์ ชาลีจันท์ ที่เมืองเชลี้ และต่อไปยังเมืองซือเหมา เมื่อ 1 กรกฎาคม 2487 คุณประเสริฐ ก็อยู่ในระหว่างการฝึกอบรมและพักผ่อนที่อินเดีย ไม่น่าเป็นไปได้ที่คุณประเสริฐจะทราบเรื่องฆาตกรรมเกี่ยวกับทองนี้ก่อนที่คุณประเสริฐจะออกเดินทางจากอินเดีย 6 กันยายน 2487
คุณประเสริฐ คงมาทราบเรื่องหลังจากที่ได้เข้ามาในเมืองไทยแล้ว
ในการบันทึกเรื่องของคุณประเสริฐ คุณประเสริฐอาจเกรงว่า อาจมีผู้ตำหนิคุณประเสริฐว่าเหตุใดจึงรีบมอบห่อของฝากจากผู้ใหญ่ถึงผู้ใหญ่ไว้ที่คุณชาญให้พ้นตัวไป ทั้งๆ ที่คุณชาญก็ยุ่งอยู่กับการรับร่มของ คุณชาญอาจเอาไปวางลืมไว้ที่ไหนก็ได้ คุณประเสริฐจึงยกเรื่องที่ตัวทราบทีหลังมาเป็นข้ออ้างด้วยเกิดประสาทขึ้นมาเมื่อแก่
ส่วนตัวของผม ผมก็ได้ยินมาอย่างนั้น ว่าที่ถูกฆาตกรรมก็เพราะทองเป็นเหตุ ผมไม่เชื่อว่าอย่าง ร.อ. การะเวก และ ร.ท. สมพงษ์ หากมีทองติดตัวมาจริง จะนำทองออกอวดให้ผู้ใดได้ทราบหรือได้เห็น น่าจะเข้าใจว่าฆาตกรเป็นผู้โหดเหี้ยม มีความโลภในของที่นายทหารทั้งสองมีอยู่เท่าที่เห็นได้ ไม่ได้เห็นทองซึ่งเชื่อแน่ว่าต้องซ่อนอยู่ แต่ในที่สุดก็ได้ทองไปด้วยต่างหาก ทำให้งานของเสรีไทยสายอเมริกาหยุดชะงักไปบ้าง ทำให้สูญเสียผู้กล้าหาญทั้งสองไปด้วยฝีมือคนไทยด้วยกันเอง”
สวัสดิ์ ศรีสุข
มรณกรรมของร้อยเอกการะเวกและร้อยโทสมพงษ์หาได้สูญเปล่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหลักฐานจำพวกเครื่องรับส่งวิทยุและเอกสารต่างๆ รายงานให้ ‘พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส’ รับทราบความเคลื่อนไหวของจารชน พลตำรวจเอกอดุลซึ่งร่วมขบวนการเสรีไทยแบบลับๆ จึงได้รับรู้ความพยายามเข้ามาของเสรีไทยจากต่างประเทศ และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามท้องที่ต่างๆ ให้ความช่วยเหลือพวกเสรีไทยชุดที่จะทยอยเข้ามาอีก
‘นายปรีดี พนมยงค์’ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยรับทราบข่าวการตายของสองนายทหารเสรีไทย แต่เนื่องจากเป็นปฏิบัติการลับจึงต้องปิดเรื่องเงียบ ก่อนหน้านั้น ขบวนการเสรีไทยก็ได้สูญเสีย ‘นายจำกัด พลางกูร’ ระหว่างภารกิจเดินทางไปแจ้งข่าวและเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร ณ เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีนในปี พ.ศ. 2486 ตราบจนสุดสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีการประกาศสันติภาพกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ทางการไทยจึงสามารถเชิดชูเกียรติยศของขบวนการเสรีไทยอย่างยิ่งใหญ่ และแสดงความเสียใจที่สมาชิกขบวนการเสรีไทยบางส่วนต้องเสียชีวิตขณะปฏิบัติการเพื่อประเทศชาติ
ดังกรณีของร้อยเอกการะเวก ผมเคยพบหลักฐานที่นายปรีดี พนมยงค์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีพระราชหัตถเลขาในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ไปยังบิดามารดาของผู้วายชนม์
พระที่นั่งราชกรัณยสภา
วันที่ 12 กันยายน พุทธศักราช 2488
ถึง นายกลิ่น นางนวม ศรีวิจารณ์
ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าขอแจ้งมายังท่านว่า ร้อยเอกการะเวก ศรีวิจารณ์ บุตรของท่าน ซึ่งอยู่ ณ ต่างประเทศ ได้ปฏิบัติราชการเพื่อประโยชน์แห่งความเป็นเอกราช และอธิปไตยของชาตินั้น ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว
ข้าพเจ้า ได้ทราบทราบข่าวนี้ด้วยความเสียใจ และความอาลัยอย่างสุดซึ้งในปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจ ในความตายของร้อยเอกการะเวก ศรีวิจารณ์ แต่ว่าความตายในครั้งนี้ เป็นความตาย เพื่อประโยชน์แห่งประเทศชาติ ร้อยเอกการะเวก ศรีวิจารณ์ เป็นผู้มีความรักชาติอย่างแรงกล้า ได้พยายามที่จะให้ประเทศชาติบ้านเมืองได้สู่ความเป็นเอกราชและอธิปไตย จึ่งได้อาษาปฏิบัติราชการโดยมิได้เกรงกลัวในอันตรายใดๆ ความเสียสละของร้อยเอกการะเวก ศรีวิจารณ์ เป็นสิ่งซึ่งจะได้ตราไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยชั่วกัลปาวสาน เพื่อเป็นตัวอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป
ในการอัญเชิญอัฏฐิของร้อยเอกการะเวก ศรีวิจารณ์ พร้อมด้วยอัฏฐิของผู้ที่ได้เสียชีวิตในราชการครั้งนี้กลับเข้ามายังกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นงานพิธีของชาติ ซึ่งได้แจ้งให้ท่านทราบในโอกาสต่อไป
ปรีดี พนมยงค์
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2488 ทางการไทยส่ง ‘ร้อยตำรวจเอก เชื้อ สุวรรณศร’ พร้อมตำรวจหลายนายและนายทหารเสรีไทยสายอเมริกา เดินทางไปสอบสวนเหตุการณ์ที่อำเภอเชียงแมน จนปรากฏข้อยุติว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจแห่งเชียงแมนกระทำไปด้วยความโลภ มุ่งปรารถนาในทองคำที่ร้อยเอกการะเวกและร้อยโทสมพงษ์พกติดตัวมา ซึ่งสองนายทหารเสรีไทยก็นอนใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยคงไม่ทำร้าย
ด้านสิบตำรวจโท สมวงษ์, พลฯ ถึง มูลวิชัย และ พลฯ วิชัย ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมนั้น พอรู้ว่าพวกตนฆ่าสมาชิกเสรีไทยก็ลาออกจากราชการหนีข้ามโขงไปอยู่ฝั่งลาว คณะนายทหารเสรีไทยสายอเมริกาได้ขุดศพของร้อยเอกการะเวกและนายบุญช่วยที่ฝังไว้หลังสถานีตำรวจภูธรเชียงแมน พบเพียงกองกระดูกที่หลงเหลืออยู่ จึงนำอัฐิของร้อยเอกการะเวกหวนคืนสู่กรุงเทพมหานคร
สมาชิกขบวนการเสรีไทยทั้งสามราย ได้แก่ นายจำกัด พลางกูร, ร้อยเอกการะเวก ศรีวิจารณ์ และ ร้อยโทสมพงษ์ ศัลยพงษ์ ได้รับพระราชทานยศเป็น ‘พันตรี’ ปลายทศวรรษ 2490 ทั้งสองนายทหารเสรีไทยสายอเมริกายังได้รับเหรียญเมดัล ออฟ ฟรีดอม เพื่อเชิดชูเกียรติยศสูงสุดจากทางสหรัฐอเมริกา โดยญาติเป็นผู้รับมอบแทนเจ้าตัว เฉกเช่นนายเกียรติ บิดาของพันตรีสมพงษ์รับมอบแทนลูกชาย
นายเกียรติ ศัลยพงษ์ รับมอบเหรียญเมดัล ออฟ ฟรีดอมจากทางสหรัฐอเมริกา
แทนพันตรีสมพงษ์ ศัลยพงษ์ บุตรชายผู้วายชนม์ เมื่อปี พ.ศ. 2497
อย่างไรก็ดี ผมค้นเจอหลักฐานอีกชิ้นที่บ่งชี้ว่า แม้เวลาล่วงผ่านไปจวบปี พ.ศ. 2492 แต่ยังมิได้ปรากฏพิธีดำเนินฌาปนกิจศพของพันตรีการะเวก ตอนนั้น นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยก็เผชิญชะตากรรมถูกเล่นงานทางการเมืองจนต้องระหกระเหินลี้ภัยไปต่างแดน
‘นายฟุ้ง ศรีวิจารณ์’ พี่ชายของพันตรีการะเวก ซึ่งรักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากองเลขาธิการคณะสงฆ์ (ไม่กี่ปีต่อมานายฟุ้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศาสนา) ได้เขียนจดหมายจากแหล่งที่อยู่ละแวกถนนนครไชยศรี จังหวัดพระนคร ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ส่งไปถึงรองผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นคือ ‘พลโท กาจ กาจสงคราม’ เพื่อขอทราบว่าจะให้ตนรับศพน้องชายมาจัดการเอง หรือทางราชการจะเห็นควรให้จัดเป็นงานพิธีของชาติ
ด้วยพันตรีการะเวก ศรีวิจารณ์ น้องชายของกระผม ได้ไปศึกษาวิชาทหาร ณ สหรัฐอเมริกา โดยทุนของกระทรวงกลาโหม และในคราวมหาสงครามเอเชียบูรพา ได้เดินทางเข้ามาปฎิบัติการเพื่อประเทศชาติ แต่ได้ถูกตำรวจยิงตายที่จังหวัดลานช้าง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2487
ในการตายของพันตรีการะเวก ศรีวิจารณ์นี้ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยนั้น ได้มีพระราชหัตถเลขาในในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปยังบิดามารดาของผู้ตาย แสดงความเสียใจ และแจ้งว่า จะได้เชิญอัฏฐิของพันตรีการะเวก ศรีวิจารณ์มายังกรุงเทพฯ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นงานพิธีของชาติ ปรากฏตามสำเนาพระราชหัตถเลขาที่แนบมากับหนังสือนี้
กระผม ผู้เป็นพี่ชายของพันตรีการะเวก ศรีวิจารณ์ และเป็นผู้ได้รับมอบฉันทะจากบิดามารดา ได้พยายามติดตามเรื่องนี้ตลอดมา สืบทราบว่าอัฏฐิของพันตรีการะเวก ศรีวิจารณ์ ได้เก็บรักษาไว้ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และทราบว่า จะจัดการฌาปนกิจศพให้สมเกียรติ สมกับที่ผู้ตายได้เสียสละชีวิตให้แก่ชาติ โดยจะจัดสร้างอนุสาวรีย์ให้เป็นเกียรติประวัติด้วย
กระผมและบิดามารดาของผู้ตาย ได้รอฟังเรื่องนี้มาเป็นเวลา 3 ปีเศษแล้ว ก็ยังหาได้ดำเนินงานไปประการใดไม่ บัดนี้ บิดามารดาของผู้ตายก็ชรามาก และรู้สึกห่วงใยในศพของบุตรเป็นอันมาก จึงใคร่จะจัดการฌาปนกิจศพพันตรีการะเวก ศรีวิจารณ์ให้เสร็จไป ในการนี้ จำเป็นต้องขอพระบรมราชานุญาตรับพระราชทานศพไป แต่ไม่สามารถจะติดต่อกับผู้ใดได้ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น จึงเรียนมาเพื่อขอความกรุณาได้โปรดนำคำร้องนี้เสนอรัฐบาล เพื่อพิจารณาสั่งการให้เป็นไปตามประสงค์ด้วย.
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(นายฟุ้ง ศรีวิจารณ์)
‘ก. กาจสงคราม’ หรือ ‘พลโทกาจ กาจสงคราม’ ได้รับจดหมายจากนายฟุ้ง จึงรายงานไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีคือ ‘หลวงชำนาญอักษร’ ซึ่งก็ได้เสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีคือ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ นายกรัฐมนตรีพิจารณาและมีคำสั่งว่า ทางรัฐบาลจะจัดการให้เป็นอย่างดี แต่ขอให้รอเวลาสักหน่อย
นายฟุ้ง ศรีวิจารณ์
ภาพจากหนังสือ ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายฟุ้ง ศรีวิจารณ์
ลายมือจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เขียนตอบกลับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
เรื่องการฌาปนกิจศพพันตรีการะเวก ศรีวิจารณ์
ตราบปัจจุบันนี้ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้จารึกนามของ “เสรีไทย” ผู้เสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจระหว่างปี พ.ศ. 2486-2487 จำนวน 3 นาย ได้แก่ พันตรีจำกัด พลางกูร, พันตรีการะเวก ศรีวิจารณ์ และพันตรีสมพงษ์ ศัลยพงษ์ เนื่องจากพวกเขายอมพลีชีพของตนเพื่อประเทศชาติ นับเป็นสิ่งที่ควรยกย่องสรรเสริญและอนุชนรุ่นหลังพึงระลึกถึง สมดังถ้อยคำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ ก่อนจะประกาศสลายขบวนการเสรีไทยเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 ตอนหนึ่งว่า
“ขอให้ท่านได้สำนึกถึงวีรกรรมของเพื่อนร่วมตาย ซึ่งต้องเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้คือ นายจำกัด พลางกูร, นายการะเวก ศรีวิจารณ์ และนายสมพงษ์ ศัลยพงษ์ ชีวิตเขาสิ้นไปเพื่อได้มาซึ่งเอกราชและความคงอยู่ของชาติไทย ซึ่งชาวไทยไม่ควรลืม"
เอกสารอ้างอิง
- หจช.สร.0201.26/24 การศพพันตรีการะเวก ศรีวิจารณ์ (พ.ศ. 2488-2492)
- ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายฟุ้ง ศรีวิจารณ์ ป.ม., ท.ช., ต.จ.ว. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ ที่ 15 กรกฎาคม พุทธศักราช 2533. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดอกจันทร์การพิมพ์, 2533
- เรื่องของขบวนการเสรีไทย ปฏิบัติการใต้ดินในประเทศไทยของประเสริฐ ปทุมานนท์. กรุงเทพ : มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2538
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ตำนานเสรีไทย The FreeThai Legend. เริงชัย พุทธาโร บรรณาธิการ. กรุงเทพ : แสงดาว, 2546
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
- ปรีดี พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- ขบวนการเสรีไทย
- การะเวก ศรีวิจารณ์
- สมพงษ์ ศัลยพงษ์
- นิคอล สมิธ
- ทาซานแซล
- โผน อินทรทัต
- การุณ เก่งระดมยิง
- โทเอี่ยน ขัมพานนท์
- สิมมา สิทธิยิ่ง
- ตรีเจียม ดวงพักตรา
- สมวงษ์ จันทรศร
- ถึง มูลวิชัย
- วิชัย ทรงพุทธ
- ยุทธ หนุนภักดี
- ประเสริฐ ปทุมานนท์
- ชาญ บุนนาค
- สวัสดิ์ ศรีสุข
- อดุล อดุลเดชจรัส
- จำกัด พลางกูร
- เชื้อ สุวรรณศร
- ฟุ้ง ศรีวิจารณ์
- กาจ กาจสงคราม
- หลวงชำนาญอักษร
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม