ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ทุกข์ของชาวนา: กลุ่มคนที่ถูกสังคมทอดทิ้งไว้ที่ชายขอบของการพัฒนาเสมอ

6
กันยายน
2564

เปิบข้าวทุกคราวคำ
จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน
ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังซิทุกข์ทน
และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง
ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว
ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด
ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น
จึงแปรรวงมาเป็นกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง
และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น
ที่สูซดกำซาบฟัน

- เปิบข้าว, จิตร ภูมิศักดิ์

 

ทุกข์ของชาวนา

บทกวีข้างต้นมีชื่อว่า “เปิบข้าว” ซึ่งเขียนขึ้นโดย จิตร ภูมิศักดิ์ นี้ได้ถ่ายทอดความยากลำบากของชาวนาในการเพาะปลูกข้าวในแต่ละครั้งนั้นยากลำบากและต้องใช้กำลังแรงงานลงไปกับการเพาะปลูกเป็นอย่างมาก บทกวีของจิตรนี้ได้สะท้อนความในใจของจิตรที่ต้องการปลุกเร้าความรู้สึกของผู้อ่านและคนในสังคมให้ทราบถึงความยากลำบากของชาวนาหรือทุกข์ของชาวนา ซึ่งทุกข์ยากของชาวนานั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่โดยตลอดในความรับรู้ของสังคมไทย ผ่านงานเขียนและวรรณกรรมต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ งานพระราชนิพนธ์เรื่องทุกข์ของชาวนาสมในบทกวี ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทรงนำบทกวี “เปิบข้าว” ของจิตร ภูมิศักดิ์ กับบทกวีของ หลี่เซิน กวีชาวเมืองอู๋ซีซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงราชวงศ์ถัง ซึ่งอธิบายถึงความยากลำบากของชาวนาไปในทิศทางเดียวกัน

ทุกข์ของชาวนานั้นเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดในสังคมไทย และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากในช่วงก่อนปี 2475 นั้นชาวได้รับความยากลำบากมากเนื่องจากโครงสร้างทางสังคมในเวลานั้นที่ราษฎรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีรายได้จากการขายข้าว แต่เมื่อขายข้าวเสร็จสิ้นแล้วกลับไม่ได้มีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ เพราะชาวนามีต้นทุนในการทำนาสูง เช่น ค่าเช่านา อากรค่าโคกระบือ และเงินรัชชูปการ เป็นต้น ประกอบกับการทำนานั้นต้องพึ่งพาธรรมชาติ ซึ่งหากธรรมชาติไม่เป็นใจก็จะได้รับผลผลิตน้อย อีกทั้งการทำนาในเวลานั้นก็ใช้แรงงานมนุษย์เป็นหลักไม่ได้มีเครื่องจักรสนับสนุน

แม้เวลาจะเปลี่ยนแปลงไปแต่ปัญหาความทุกข์ของชาวนาก็ไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาความทุกข์ของชาวนานั้นเป็นสิ่งที่สังคมไทยนั้นตระหนักดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชนชั้นนำไทย อย่างไรก็ตาม ชนชั้นนำไทยได้มีความพยายามอย่างยาวนานที่จะรักษา “ชาวนา” (peasantry) เอาไว้ เพราะชาวนาที่พออยู่พอกินตามอัตภาพ ย่อมพอใจกับสถานะเดิมที่เป็นอยู่ ไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงใดๆ และแม้ว่าจะมีความพยายามจากชนชั้นนำของสังคมไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบทบาทของชาวนาให้เป็น “เกษตรกร” ซึ่งเป็นผู้ผลิตด้านเกษตรกรรมเพื่อป้อนตลาด[1] แต่ก็มีข้อจำกัดที่ทำให้นโยบายดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ตลอดเพราะหากชาวนาซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ลุกขึ้นมามีปากเสียงในสังคมก็อาจจะกระทบต่อโครงสร้างทางสังคม

 

ชาวนากับนโยบายทางสังคม

อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพพื้นฐานอาชีพหนึ่งของสังคมไทย โดยจากการสำรวจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรจำนวนรวม 8.063 ล้านครัวเรือนหรือคิดเป็นจำนวน 9.394 ล้านคน[2] (มากกว่าจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมดในปี 2563[3]) แม้จำนวนเกษตรกรจะเป็นอาชีพของคนจำนวนมาก หากแต่อาชีพเกษตรกรนั้นเป็นอาชีพที่ยากลำบากและในบางครั้งการทำเกษตรกรรมนั้นเป็นการลงทุนมากแต่ได้รับผลตอบแทนน้อยโดยเฉพาะชาวนา

รัฐบาลส่วนใหญ่เข้าให้ความช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกรผ่านนโยบายเกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตรกรรม เช่น การจำนำข้าวหรือการประกันราคาข้าว เป็นต้น แต่ปัญหาของชาวนาและเกษตรกรไทยหลักๆ นั้นมีสาเหตุสำคัญๆ ส่วนใหญ่ 3 ประการ ได้แก่ การไม่ได้ถือครองที่ดิน การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และการไม่มีสวัสดิการ

ประการแรก การไม่ได้ถือครองที่ดิน เนื่องจากที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีค่าและมีความสำคัญ แต่ปัญหาก็คือชาวนาโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินเอง ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนหน้าปี 2475 แล้วและแม้จะมีความพยายามของรัฐบาลบางชุดที่ต้องการปฏิรูปเรื่องการถือครองที่ดินดังปรากฏในเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ หรือการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีการสนับสนุนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO[4] เป็นต้น ซึ่งการเข้าไม่ถึงการถือครองที่ดินนั้นส่งผลให้ชาวนาต้องเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตร ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการขายข้าวนั้นก็ต้องมาจ่ายค่าเช่าที่ดินหรือการต้องสูญเสียรายได้จากการขายข้าวเพราะต้องแบ่งข้าวบางส่วนเพื่อไปจ่ายค่าเช่า ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลโดยส่วนใหญ่ก็แก้ไขปัญหาแบบขายผ้าเอาหน้ารอดผ่านชุดนโยบายการกระจายที่ดินที่ไม่ยั่งยืนต่างๆ ตัวอย่างเช่น ที่ดิน สปก. ที่ดินนิคมสร้างตัวเอง หรือการกระจายที่ดินทำกินผ่านคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

ประการที่สอง การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนนั้นเป็นปัญหาของชาวนาไทย (และคนจนส่วนใหญ่ของประเทศ) เนื่องจากการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินเนื่องจากไม่มีหลักประกันการชำระหนี้ที่น่าเชื่อถือเพียงพอนั้นทำให้ชาวนาที่ต้องลงทุนต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบเพื่อให้ได้เงินทุนมาใช้ในการทำนา ซึ่งผลของการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้โดยสถาบันการเงินนั้นก็มีผลทำให้ชาวนาตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือต้องถูกหลอกลวงจากเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ เช่น การถูกยึดที่ดินติดจำนองหรือการถูกหลอกให้ทำสัญญาขายฝากที่ดิน เป็นต้น

ประการที่สาม การไม่มีสวัสดิการของชาวนา แม้ว่าการทำนาหรือเกษตรกรรมการทำงานแบบหนึ่งเช่นเดียวกันกับอาชีพอื่นๆ แต่ความแตกต่างระหว่างชาวนาหรือเกษตรกรกับอาชีพอื่นๆ ก็คือ อาชีพโดยส่วนใหญ่นั้นมีสวัสดิการรองรับ เช่น ข้าราชการ พนักงานบริษัท และลูกจ้างโรงงาน เป็นต้น ซึ่งจะได้รับสวัสดิการในรูปแบบประกันสังคมหรือสิทธิข้าราชการ ซึ่งทำให้เมื่อเกิดการเจ็บป่วยชาวนาและเกษตรกรนั้นการรักษาพยาบาลก็ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง (แม้ว่าจะสามารถใช้สิทธิ 30 บาทได้แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับการเจ็บป่วยเรื้อรังที่ทำให้ไม่สามารถใช้แรงงานได้) และไม่สามารถหลีกเลี่ยงการขาดรายได้

ปัญหาทั้งสามประการนั้นส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวนาไทยไม่ได้รับการยกระดับขึ้นมาและซ้ำเติมความทุกข์ของชาวนาให้ยังคงอยู่โดยตลอด การยกระดับคุณภาพของชีวิตของชาวนานอกเหนือจากการใช้นโยบายเกี่ยวกับรายได้สินค้าเกษตรกรรมแล้ว อาจจะต้องมีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเรื่องข้างต้นทั้งสามประการด้วยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทยขึ้นมาผ่านการปฏิรูปที่ดิน การทำให้ชาวนาเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการจัดให้ชาวนามีสวัสดิการ แม้ในบางประเด็นนั้นอาจจะทำได้ยากมากในบริบทปัจจุบัน เช่น การปฏิรูปที่ดิน เป็นต้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่อาจให้เหตุผลว่า ชนชั้นนำอาจจไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปที่ดิน แต่ปัญหาที่แท้จริงของเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าชนชั้นนำไทยจะเห็นด้วยหรือไม่ กับการปฏิรูปที่ดิน หากการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นจะต้องมาจากการเห็นพ้องต้องกันของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางสังคม

กล่าวโดยสรุป สภาพความเป็นอยู่ชาวนาในปัจจุบันและปัญหาความทุกข์ของชาวนาอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในสังคมไทย ชาวนายังคงเป็นคนที่ทำงานหนักที่สุด แต่ในขณะเดียวกันสังคมก็ไม่ได้มีสวัสดิการใดๆ ให้กับชาวนา  นอกจากนี้ ปัญหาของชาวนายังมีอีกหลายปัญหาด้วยกัน เช่น การขาดที่ดินเพื่อทำกินและการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เป็นต้น นโยบายของรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาและเกษตรกรนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่เหนือสิ่งอื่นใดนโยบายเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อสังคมมีความต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางสังคมร่วมกัน เพื่อไม่ให้ชาวนากลายเป็นกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งไว้ที่ชายขอบของการพัฒนา

 

[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์, เบี้ยไล่ขุน (มติชน 2554) 65 – 66

[2] ‘รายงานสรุปข้อมูลสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์’ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2564) <https://data.moac.go.th> สืบค้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2564.

[3] ประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563

[4] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, “การกำหนดนโยบายจัดสรรที่ดินในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ.2491-2500)” วารสารสถาบันพระปกเกล้า (2020) 8 (2) <https://so06.tci-thaijo.org/index.php/kpi_journal/article/view/244554> สืบค้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2564.