ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เราเข้าใจตะวันตกแค่ไหน

8
กันยายน
2564

เมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่ไปถึงเมืองจีน โดยมีธรรมทูตเข้าไปเป็นระลอกๆ นั้น ครั้นพระศาสนาหยั่งรากลงลึกที่ในประเทศนั้น บรรพชิตชั้นปราชญ์ของจีน แม้จะศึกษาภาษาสันสกฤตและพระธรรมคัมภีร์อย่างแตกฉาน โดยได้แปลออกเป็นภาษาจีนมิใช่น้อย บางท่านก็ยังเห็นว่า ต้องไปค้นคว้าถึงต้นตอที่มาของพระศาสนา ณ ชมภูทวีป ที่เรียกว่าไปตะวันตก (ไซที) มีพระถังซำจั๋งเป็นสังฆปริณายกที่สำคัญรูปหนึ่ง ซึ่งไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัยนาลันทา จนเป็นที่ยอมรับในสถาบันการศึกษาแห่งนั้น ถึงกับได้อาราธนาให้เป็นคณบดีด้วยซ้ำไป และแล้วพระคุณท่านก็ขอเดินทางกลับเมืองจีน แม้จะยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด พระคุณท่านเข้าใจว่าท่านรู้จักชมภูทวีปดีพอๆ กับรู้จักคำสั่งสอนอันสุขุมคัมภีรภาพนั้นๆ ด้วย งานนิพนธ์ของท่านถือว่าสำคัญนักทั้งทางโลกและทางธรรม[1]

เดิมญี่ปุ่นก็รับวัฒนธรรมทั้งพุทธธรรมไปจากจีน ครั้นเมื่อถูกฝรั่งบังคับให้เปิดประเทศญี่ปุ่นยอมรับว่าตนด้อยกว่าฝรั่ง จึงส่งคนไปเรียนถึงเมืองฝรั่ง จนสามารถรบพุ่งเอาชนะฝรั่งได้ในสงครามที่ทำให้รัสเซียต้องปราชัยแล้วเลยย่ามใจที่จะปราบฝรั่งทั้งหมด ที่สุดต้องปราชัยไปในสงครามโลกครั้งที่แล้ว

สำหรับไทยเรานั้น จำต้องเปิดประตูรับฝรั่งคล้ายๆ กับญี่ปุ่น โดยยอมเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งถือว่าดีกว่าเสียเอกราชและความเป็นไท และแล้วไทยก็ต้องส่งคนไปเรียนเมืองฝรั่ง หากเป้าหมายผิดกับญี่ปุ่น เราไม่ต้องการเอาชนะฝรั่ง อย่างน้อยก็ต้องการให้ฝรั่งเห็นว่า เราปกครองตนเองได้ โดยไม่ต้องเป็นเมืองขึ้นของฝรั่ง

ในแง่นี้จะว่าไทยรับความสำเร็จจากการเรียนรู้ในเมืองฝรั่งก็คงได้ แต่พอสถานประมาณโดยเราเข้าใจฝรั่งอย่างแตกฉานหรือไม่ น่าสงสัย

ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงตั้งพระองค์ในการส่งคนไปเรียนเมืองฝรั่งตั้งแต่ต้นจนตลอดรัชกาล ไม่แต่โปรดให้พระราชโอรสและพระราชนัดดาไปเรียนที่เมืองฝรั่งเท่านั้น หากโปรดให้คนธรรมดาสามัญก็มีโอกาสออกไป “ชุบตัว” ที่เมืองฝรั่งอีกด้วย แต่ท่านนั้นๆ รู้จักเมืองฝรั่งมากน้อยเพียงใด พระองค์ท่านเองก็ทอดพระเนตรชัดไหมว่า ประชาธิปไตยกำลังเข้ามาแทนที่ราชาธิปไตยในยุโรป[2]

‘กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร’ ทรงเขียนเล่าไว้ในพระอัตชีวประวัติ เจ็ดรอบอายุ (2512) ว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด โดยได้ทรงเข้าเรียนที่รักบี้มาก่อน ย่อมถือได้ว่าวิชาความรู้แม่นยำไม่แพ้ฝรั่ง ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองคล้ายๆ กัน ทรงเล่าว่าพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ราชทูต ณ กรุงปารีส ตรัสชวนให้ไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส เพื่อจะได้ทรงใช้วิชาการทูตได้อย่างเต็มที่ ให้เป็นที่เกรงอกเกรงใจของจักรวรรดิฝรั่ง ซึ่งครอบครองเอเชียอยู่ในเวลานั้น ซึ่งมีทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ทรงเล่าต่อไปว่าทรงปฏิเสธคำชวนของพระองค์เจ้าจรูญฯ เพราะทรงคิดถึงคุณย่า (ท้าววรจันทร์) อยากเสด็จมารับราชการในเมืองไทย เพียงเพื่อเป็นข้าราชการอย่างธรรมดาสามัญ

แม้การศึกษาของพระองค์ท่านในอังกฤษ รัฐบาลก็เลือกวิชาให้เรียนเพื่อกลับมารับใช้ราชการ ทรงอยากเรียนโบราณคดีและภาษาสันสกฤต แต่รัฐบาลยังเห็นว่าตอนนั้น ทางราชการต้องการคนทำงาน เพียงพอที่จะไว้ให้พบปะพูดจากับชนชั้นปกครองของฝรั่ง อย่าให้เขาลบเหลี่ยมได้ก็พอแล้ว

และแล้วสาระของการรู้จักฝรั่งคืออะไรเล่า?

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จไปอังกฤษ หนังสือพิมพ์ที่นั่นลงบทความเตือนพระสติว่าความสำเร็จของจักรวรรดิอังกฤษไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ หากอังกฤษมีภูมิธรรมที่ถอยไปถึงสมัยกรีกและโรมันอีกด้วย การที่พระองค์ท่านทรงอุดหนุนสมาคมบาลีปกรณ์ ที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1881 จึงได้รับคำสรรเสริญว่าทรงพระปรีชา เพราะบาลีเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมไทย ที่แนบสนิทอยู่กับพระพุทธศาสนาของฝ่ายเถรวาท ไม่แพ้ละตินและกรีกของยุโรปสมัยใหม่

ฉะนั้น ที่จริงเราส่งคนไปเรียนเมืองฝรั่ง ทั้งที่ยุโรปและอเมริกา เป็นเวลากว่าร้อยปีแล้วเราเข้าใจอารยธรรมตะวันตกแตกหรือไม่ แน่นอน นักเรียนบางคนรู้ภาษาอังกฤษ แม้จนภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน และรัสเซีย ไม่แพ้ฝรั่งเอาเลย บางคนมีความเป็นเลิศในวิทยาการแขนงนั้นๆ อย่างไม่แพ้ฝรั่งอีกด้วย แต่สาระของความเป็นฝรั่งเล่า เราเข้าใจขนาดไหน

เมื่อ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ มันสมองของคณะราษฎร ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ เขาเสนอให้ใช้กฎหมายเป็นใหญ่ เหนือทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน จะถือว่านั่นคือสาระของประชาธิปไตยแบบฝรั่งก็ได้ แต่เขาก็เห็นคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ของเราเอง หากพระมหากษัตริย์ควรอยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามแบบอังกฤษ

เชื่อว่านายปรีดีน่าจะตีอารยธรรมตะวันตกแตก และรู้จักนำมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทยด้วย การตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นตัวอย่าง ที่นำรูปแบบการอุดมศึกษาของฝรั่งเศสมารับใช้ให้เข้ากับคุณค่าแบบไทยๆ ให้นักศึกษาเข้าถึงธรรมะ แล้วนำมาใช้อย่างเป็นศาตราที่แหลมคม เพื่อรับใช้บ้านเมืองและทวยราษฎร์ในทางการเมือง พร้อมกันนั้น เขาก็เห็นว่าประชาธิปไตยที่รับมาจากฝรั่งนั้น ควรให้กระแสแห่งพุทธธรรมมากำกับ ดังเขาสนทนากับภิกขุพุทธทาส ซึ่งก็เป็นพระหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับตัวเขา เพื่อนำธรรมมาประยุกต์ใช้กับประชาธิปไตย

เสียดายที่เราไม่ได้รับทราบจากข้อเขียนของเขาในเรื่องนี้[3] เพราะหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ถูกรัฐประหาร ให้ต้องอพยพหลบภัยไปอยู่นอกประเทศ จนต้องไปตายจากที่ประเทศฝรั่งเศส

แม้จนบัดนี้แล้ว คนไทยที่ไม่เข้าใจสาระของอารยธรรมตะวันตก ยังโจมตีนายปรีดีอย่างสาดเสียเทเสีย จะว่าเขาเหล่านี้เนรคุณคนดีของกรุงศรีอยุธยาก็ได้[4] แม้สัญลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นเพียงหมุดเล็กๆ ที่ติดตราไว้กับแผ่นดิน ยังสั่งให้ทำลายเสีย เพื่อขืนการเดินหน้าไปทางตะวันตกกระนั้นหรือ แล้วการกลับไปหากำพืดเดิมของเราเล่า ควรเป็นไฉน เช่น ให้คงระบบชนชั้นไว้ ให้กดขี่กันเป็นลำดับๆ ไปหรือ แล้วสาระจากคณะสงฆ์ในเรื่องเพื่อความเสมอภาคและภราดรภาพ ที่เน้นไปทางเสรีภาพจากโลภโกรธหลงเล่า

คนไทยใครอื่นอีกเล่า ที่เข้าถึงตะวันตกอย่างเข้าใจได้ชัดเจน และนำมาประยุกต์ใช้ ‘นายป๋วย อึ๊งภากรณ์’ เป็นนักเศรษฐศาสตร์และเป็นนักบริหารงาน เพื่อสันติประชาธรรม หากเวลาของเขาหมดไปกับการรับใช้รัฐ เพื่อให้องคาพยพของรัฐทำหนำที่ไปได้ในทางที่ถูกที่ควร แต่กลไกของรัฐก็รับข้อเสนอของเขาได้ยาก และแล้วเขาก็ต้องแพ้ภัยพาล แทบไม่ต่างไปจากนายปรีดีเท่าไรนัก

นอกจาก 2 คนนี้แล้ว ที่ไปเรียนเมืองฝรั่งมานั้น ดูจะมีความเป็นเลิศในสาขาวิชาของตนๆ กันโดยเฉพาะ ที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีความกล้าหาญทางจริยธรรมได้รับใช้รัฐ เพื่อประโยชน์สำหรับสาธารณชน ก็มีอยู่ หากคุณภาพของผู้ที่รับใช้รัฐ ดูจะเลวทรามลงเรื่อยๆ จนขาดแม้หิริ (ความละอาย)  อย่าให้ต้องพูดถึงโอตัปปะ (ความกลัวเกรงต่อการกระทำความชั่วใดๆ เอาเลย) เรามีเนติบริกรแม้จนคนที่นั่งบนบัลลังก์ที่ควรให้ความยุติธรรม ก็เต็มไปด้วยอคติเสียแหละเป็นส่วนมาก อย่างน่าเสียดายนัก

ยิ่งระบบศาลด้วยแล้ว เราต่อสู้กับตะวันตกมานานนับเป็นเวลากว่าศตวรรษ กว่าฝรั่งจะรับว่ากระบวนการยุติธรรมของเราเข้าถึงระดับเดียวกับตะวันตก นั่นคือการเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางด้านศาลสถิตยุติธรรมไว้ได้ แต่บัดนี้ตุลาการและศาลไทยมีสภาพอันน่าเคารพนับถือได้ ด้วยใจจริงละหรือ

ในที่นี้ข้าพเจ้าขอเสนอสาระของตะวันตกอย่างสั้นๆ บางทีจะมีประโยชน์ในการอภิปรายกัน เพราะการอภิปรายโต้แย้งกันอย่างอิสรเสรี นี้แลคือเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย เพราะการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น

เราต้องตราไว้ว่าฝรั่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำอยู่ในตะวันตกนั้น ต้องการครอบงำดินแดนอื่นๆ และชนชาติอื่นๆ แต่ตะวันตกก็มีคุณธรรมและความคิดอ่าน โดยมีท่าทีทางการเมือง ซึ่งโยงไปถึงระบบเศรษฐกิจและการทหาร ที่ว่านี้เป็นทั้งแง่บวกและแง่ลบอยู่ด้วยกัน

ตะวันตกต้องการยืนหยัดในทางสังคมที่เปิดเผย (open society) และเป็นไปในทางประชาธิปไตย โดยไม่ให้มีลัทธิศาสนาหรือความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ใดๆ มาครอบงำการเมืองการปกครอง (อย่างน้อยตะวันตกก็ต่อสู้ในเรื่องนี้มาจนได้รับชัยชนะเกือบสิ้นเชิง) วัฒนธรรมของตะวันตกนั้นถือว่าปัจเจกบุคคลสำคัญ

แม้คอมมิวนิสต์จะมีต้นตอมาจากนักคิดในโลกตะวันตก แต่ก็กลายสภาพไปเป็นเผด็จการทางตะวันออกของยุโรป โดยเริ่มที่สหภาพโซเวียต แล้วขยายไปทางเมืองจีนและเมืองญวน ตราบจนเมืองเขมรในสมัยหนึ่งด้วย

การเมืองของตะวันตกนอกเหนือลัทธิคอมมิวนิสต์ มีแนวโน้มในทางพาณิชยการที่เปิดกว้าง ไม่มีการค้าที่ประกอบไปด้วยกลโกง แม้จะเป็นไปในทางทุนนิยม แต่ก็ถือเอากฎหมายเป็นใหญ่อย่างเปิดเผย สำหรับทุกๆ คนที่เสมอกัน (the rule of law)

เสาหลักของปรัชญาตะวันตกคือ การเมืองที่เปิดเผย การตลาดที่เสรี และกฎหมายเป็นใหญ่ แต่แล้วหลักทั้ง 3 ก็กำลังถูกท้าทายในเวลานี้

หวังว่าที่ข้าพเจ้าสรุปมาอย่างย่นย่อนี้ คงจะได้รับการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ไม่ทราบว่าคนไทยมีใครบ้างไหมที่ฝรั่งยอมยกย่องและเชิดชูหรือท้าทาย ทั้งๆ ที่สิงคโปร์มีแต่สัตว์เศรษฐกิจ แค่คนอย่าง Kishore Mahbubani ผู้อำนวยการสถาบันลีกวนยู ซึ่งก็เป็นสุนัขรับใช้ของรัฐบาลนั้น ก็มีข้อเขียนที่กล้าท้าฝรั่ง ดังเรื่อง The New Asian Hemisphere: The Irresistible Shift of Global Power to the East (2008) เขายืนยันว่าอำนาจในโลกเรานี้ กำลังหันออกจากตะวันตกมาสู่ตะวันออกสภาพเศรษฐกิจของเอเชียที่ร่ำรวยนั้น ย่อมจะยังถือตามเสาหลักทางปรัชญาทั้ง 3 ของตะวันตก นั่นคือการเมืองที่เปิดเผย ตลาดที่เสรี และกฎหมายเป็นใหญ่ แต่สิงคโปร์ก็ดูจะสมาทานเพียง 1 ในระบบนี้เท่านั้นเอง ส่วนไทยเราเล่า มีจุดยืนอยู่ตรงไหน น่าสงสัย

‘เมาเซตุง’ ไม่เห็นว่าตะวันตกมีอะไรดีเอาเลย (เว้นอาวุธยุทธภัณฑ์กระมัง) แม้สุขภาพอนามัยตามแบบตะวันตกเขาก็ปฏิเสธ รวมทั้งไม่ยอมสีฟันอย่างฝรั่งอีกด้วย ส่วนเติ้งเสี่ยวผิงนั้นเห็นว่า จีนควรเอาอย่างตะวันตกทางด้านทุนนิยม จนถึงขนาดให้เอาชนะตะวันตกเอาเลย แต่ห้ามรับเอาระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม รวมถึงสิทธิมนุษยชนเข้ามาเป็นอันขาด เพราะนั่นจะทำให้ปกครองยาก ทำให้รัฏฐาธิปัตย์ขาดความมั่นคง เติ้งเห็นว่าสิงคโปร์คือความสำเร็จที่แท้เพราะทุกคนร่ำรวยขึ้นเป็นลำดับๆ และรัฐก็มีความมั่นคงแข็งแรง ทั้งยังอุดหนุนศิลปะวิทยาการต่างๆ อีกด้วย หากไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และไม่ยอมรับเสรีภาพทางความคิดที่ต่างไปจากรัฐด้วยประการใดๆ สิ้น

‘ลีกวนยู’ ถึงกับประกาศว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของตะวันตก แล้วคนตะวันออกพอใจกับการที่เปิดโอกาสให้รัฐทรมานราษฎรด้วยประการต่างๆ กระนั้นหรือ ยังการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด ทางการแสดงออก แม้จนเสรีภาพในการนับถือลัทธิทางการเมืองที่ต่างกันนั้น ผู้คนจะคงสาระของความเป็นมนุษย์ไว้ได้ละดอกหรือ เพราะมนุษย์นั้น นอกจากที่ควรจะเติบโตทางร่างกายและความคิดแล้ว ควรอยู่รอดปลอดภัยในสังคมเพื่อรอดพ้นภัยพิบัติจากธรรมชาติและการกดขี่เบียดเบียนบีฑาโดยรัฐหรือผู้มีอำนาจนอกเหนือรัฐ มนุษย์ควรงอกงามทางสติปัญญาจนสามารถเข้าถึงความดี ความงามและความจริงได้ด้วยตัวของเขาเอง จนอาจยกระดับตนจนเข้าถึงโลกุตรธรรมได้ด้วย ตามความเชื่อทางลัทธิศาสนาของเขา

ความข้อนี้ ชนชั้นนำของไทย สามารถตระหนักกันแค่ไหน น่าสงสัยโดยที่บุคคลที่ว่านั้นเข้าใจตะวันตกแค่ไหน ต้องการเอาอย่างฝรั่งเพียงใด และต้องการรักษาเอกลักษณ์เดิมของไทยไว้เพียงใด เราควรอภิปรายกันอย่างเปิดเผยและจริงใจ จะได้ไหมหากแม้เพียงนี้ ยังเป็นไปไม่ได้แล้วจะไปเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่มีเนื้อหาสาระ ย่อมยากที่จะเป็นไปได้

 

ที่มา: ส. ศิวรักษ์. เราเข้าใจตะวันตกแค่ไหน, ใน Democracy, Constitution and Human Rights รวมบทความวิชาการในวาระ 70 ปี วรวิทย์ กนิษฐะเสน, (กรุงเทพฯ: พิมพ์ครั้งที่ 2, พฤษภาคม) น.29-34

หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว


[1] ข้าพเจ้าเคยแปลเรื่องพระถังจังออกมาเป็นหนังสือเรื่อง พระตรีปิฎก ด้วย ผู้ที่สนใจสามารถหาอ่านได้จากฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุดโดยศูนย์ไทย-ธิเบต เมื่อปี 2556.

[2]  ข้าพเจ้าได้เขียนถึงในหลวงรัชกาลที่ 5 ไว้ยาวพอสมควรแล้วในหนังสือชื่อ ลอกครอบเสด็จพ่อ ร.5 (กรุงเทพฯศึกษิตสยาม, 2554).

[3]  มีแต่ที่ท่านพุทธทาสเขียนในบันทึกประจำไว้ ดูได้ที่ พุทธทาสภิกขุ, ต่อไปนี้เราจะทำจริง แน่วแน่จริงทุกๆ อย่างแม้ที่สุดแค่การเขียนบันทึกประจำวัน (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550), น. 477-488 วันที่ 18-22 มิถุนายน 2485 มีความตอนหนึ่งเช่น “ท่านผู้สำเร็จราชการมีความประสงค์จะให้คนจนมีความมั่นใจว่าตนมีความสุขเท่ากับคนมั่งมีได้โดยทำใจให้สันโดษฐ์ตามหลักพุทธศาสนา อยากให้แต่งบทเพลงชนิดที่เป็นแก่นของพุทธศาสนา และบทที่จะทำให้ผู้นั้นกล้าที่จะหาความสุขโดยการบันเทาตัณหา”.

[4] ข้าพเจ้าเองก็เคยเข้าใจอาจารย์ปรีดีผิดไป ภายหลังจึงได้สำนึกผิด ดังมีหนังสือ เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์ (มูลนิธิโกมลคีมทองจัดพิมพ์มาแล้ว 5 ครั้ง) เป็นดั่งหนังสือสารภาพบาปของข้าพเจ้าปรากฎอยู่.