คุณผู้อ่านที่เคยศึกษาเรื่องราวของ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ หรือ ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ อาจจะนึกสงสัยครามครัน เมื่อเห็นการนำเสนอถึงการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของนายปรีดี
นั่นเพราะตามชีวประวัติแล้ว นายปรีดีมิเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเลย ทั้งๆ ที่เขาก็เป็นนักเรียนทุนของกระทรวงไปเรียนต่อยังประเทศฝรั่งเศส หวนกลับมาเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนกฎหมาย รับราชการผู้พิพากษาและผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย กระทั่งได้รับบรรดาศักดิ์ให้เป็น “คุณหลวง” ประจำกระทรวงดังกล่าว
น่าฉุกคิดเหมือนกัน เหตุไฉน นายปรีดีผู้มีความรู้และความสามารถทางด้านกฎหมาย จึงมิได้รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสักหน หากไปว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ดี นายปรีดี หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ก็เคยปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขณะที่เขากำลังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สืบเนื่องจากปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2480 กระทรวงการต่างประเทศได้รับหนังสือ ที่ ต. ๔๓๗๔/ ๒๔๘๐ จากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีคือ 'นายดิเรก ชัยนาม' ดังนี้
กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
๓๐ กันยายน ๒๔๘๐
เรื่อง ตั้งเป็นผู้สั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรม
จาก เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรม ได้ขออนุญาตลาไปตรวจศาลภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ ๑ ถึงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ศกนี้ มีกำหนด ๑๕ วัน
คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติเมื่อวันที่ ๒๙ เดือนนี้ อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรมไปตรวจศาลภาคเหนือตามที่ขอมาได้ และให้ท่านเป็นผู้สั่งราชการแทนในระหว่างที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรมไปตรวจศาลภาคเหนือคราวนี้
จึ่งแจ้งมาเพื่อทราบ.
ขอแสดงความนับถือยิ่ง
ดิเรก ชัยนาม
ถัดมาไม่กี่วัน มีหนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามย่อ “ปม” อันหมายถึง 'หลวงประดิษฐ์มนูธรรม' ตอบกลับว่า
ที่ น. ๗๒๖๗ / ๒๔๘๐
กระทรวงการต่างประเทศ
๒ ตุลาคม ๒๔๘๐
เรื่อง ตั้งเป็นผู้สั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรม
จาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
หนังสือของท่านที่ ต. ๔๓๗๔/ ๒๔๘๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ศกนี้ แจ้งว่า เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรมได้รับอนุมัติให้ไปตรวจศาลภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ ๑ ถึงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ศกนี้มีกำหนด ๑๕ วัน คณะรัฐมนตรีจึงลงมติให้ข้าพเจ้าเป็นผู้สั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรม ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นนั้น ได้รับทราบแล้ว.
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขณะนั้นที่ต้องเดินทางไปตรวจศาลทางภาคเหนือ คือ 'เจ้าพระยามหิธร' (ลออ ไกรฤกษ์) ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางด้านกฎหมายมาตั้งแต่ยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สอบได้เนติบัณฑิตสยามรุ่นแรก เคยเป็นเลขานุการเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม คือ 'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์' เป็นทั้งอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ปลัดทูลฉลองกระทรวง สมุหพระนิติศาสตร์ หรือ หัวหน้ากรมพระนิติศาสตร์คนแรก อธิบดีศาลฎีกา (ปัจจุบันคือประธานศาลฎีกา) คนแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และเป็นเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร (กรมราชเลขาธิการ) สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก่อนจะลาออกจากราชการ
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก่อตั้งขึ้นและได้ขอให้เจ้าพระยามหิธรมาอบรมนักศึกษา ท่านเจ้าพระยาจึงเขียนบทความประกอบการอบรมบ่มความรู้ เช่น เรื่องโรงเรียนกฎหมาย เรื่องวิชากฎหมายของบางประเทศ และ เรื่องเก่าต่อใหม่ เป็นต้น
ราวกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 ช่วงหนึ่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมว่างลง ทางคณะราษฎรปรารถนาได้บุคคลที่เคยทำราชการทางด้านกฎหมายอย่างเชี่ยวชาญมาร่วมงานด้วย จึงมีผู้เสนอให้เชิญเจ้าพระยามหิธรในวัย 60 ปี มารับตำแหน่ง แรกทีเดียว ท่านเจ้าพระยาปฏิเสธ เกรงจะต้องพูดอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเพราะตนพูดไม่เก่ง อีกทั้งเกรงว่าตนเป็นคนหัวเก่าในระบอบเดิม จะปรับตัวเข้ากับพวกหัวใหม่ๆ แห่งระบอบใหม่มิได้ แต่เมื่อ 'พระยาพหลพลพยุหเสนา' (พจน์ พหลโยธิน) อ้อนวอน ก็ยอมตกลงรับเชิญ และปฏิบัติหน้าที่มาจวบจนกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2480
ดูลักษณะภายนอก "กระทรวงยุติธรรม" ไม่ได้แตกต่างจากที่เคยเป็นอยู่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเจ้าพระยามหิธรเคยทำงานอยู่ แต่ถ้าพิจารณาให้แจ่มชัด ท่านเจ้าพระยาก็สังเกตเห็นว่า มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ. 2476 และพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 กำหนดให้กระทรวงนี้มีอำนาจและหน้าที่เฉพาะทางธุรการเกี่ยวกับศาลยุติธรรม แม้ศาลต่างๆ จะสังกัดกระทรวง แต่ก็มีอำนาจศาลโดยเฉพาะในการพิจารณาพิพากษาคดี ทางกระทรวงจะไปเกี่ยวข้องสั่งการมิได้ จึงมิใช่การรวมอำนาจตุลาการไว้ที่กระทรวงเฉกเช่นยุคระบอบเดิม
ผลงานหนึ่งของ 'เจ้าพระยามหิธร' ขณะเป็นรัฐมนตรี ได้แก่ การเสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2479 ต่อสภาผู้แทนราษฎร และได้ประกาศใช้เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2480 ส่วนอีกผลงานคือ การออกหนังสือ ข่าวศาล อีกครั้ง ซึ่งเคยปรากฏสมัยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นเสนาบดีเรื่อยมา แต่ได้ถูกระงับไปหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2471 ตอน 'พระยาจินดาภิรมย์' (จิตร ณ สงขลา) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม จะขอพระราชทานให้นายปรีดีได้บรรดาศักดิ์ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” เป็นกรณีพิเศษ หลังจากคัดเลือกเสนอตามปกติส่วนหนึ่งแล้ว เนื่องจากนายปรีดีสร้างผลงานน่าพอใจ พระยาจินดาภิรมย์จึงมีหนังสือถึงเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ และเขียนความตอนท้ายว่า “ถ้าแม้เจ้าคุณเห็นว่าไม่เป็นการนอกเหนือและมีเหตุผลพอที่จะขอพระราชทานพระมหากรุณาเป็นพิเศษได้แล้ว ข้าพเจ้าขอพระราชทานให้นายปรีดีเปนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม”
ล่วงมาช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2480 ครั้นเจ้าพระยามหิธร ขณะรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีเหตุจำเป็นต้องเดินทางไปตรวจศาลทางภาคเหนือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือนายปรีดีก็มารับช่วยเหลืองานในฐานะผู้สั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นเวลา 15 วัน
แม้ 'นายปรีดี พนมยงค์' จะมิเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทั้งๆ ที่เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถทางนิติศาสตร์ แต่เขาก็ได้ใช้ความรู้ด้านกฎหมายมาเอื้ออำนวยในการปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงต่างๆ ที่ตนดูแล เฉกเช่น บทบาทในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น นายปรีดีอาศัยองค์ความรู้เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศมาดำเนินการแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมซึ่งสยามเคยทำไว้กับประเทศต่างๆ แล้วเปิดการเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่ เพื่อให้ประเทศของเรามีเอกราชและอำนาจอธิปไตยอันสมบูรณ์
เอกสารอ้างอิง
- หจช. กต.95.2/43 ตั้งหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นผู้สั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พ.ศ. 2480)
- เรื่องของเจ้าพระยามหิธร. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499. พระนคร: โรงพิมพ์ตีรณสาร, 2499
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
- ปรีดี พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- ดิเรก ชัยนาม
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- เจ้าพระยายมราช
- เจ้าพระยามหิธร
- ลออ ไกรฤกษ์
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- พจน์ พหลโยธิน
- พระยาจินดาภิรมย์
- จิตร ณ สงขลา