ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เรียนอาจารย์ที่เคารพและนับถือ

2
พฤศจิกายน
2564

จดหมายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึง นายปรีดี พนมยงค์

 

ภาพ: ต้นฉบับจดหมาย ลายมือจริงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ภาพ: ต้นฉบับจดหมาย ลายมือจริงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

หลักสี่

วันที่

เรียนอาจารย์ที่เคารพและนับถือ

ผมเห็นงานของอาจารย์มีมาก ไม่อยากจะมารบกวนอะไร แต่บัดนี้ผมเป็นคนเคราะห์ร้าย ไม่รู้จะหันไปพึ่งใครได้ ก็จำเป็นต้องขอพึ่งอาจารย์ตามแต่จะกรุณาได้ ประการแรก อยากขอปรับความเข้าใจแก่อาจารย์ ซึ่งบางทีจะมีเมตตาจิตเกิดแก่ผมบ้างตามสมควร ถ้าอาจารย์จะผูกพยาบาทผมเกี่ยวแก่เรื่องเดิมๆ มาบ้าง ซึ่งอาจเป็นการเข้าใจไม่ตรงตามเป็นจริง อาจารย์จะได้ทราบความจริงไว้ คือ บางทีอาจารย์อาจเข้าใจว่า ผมเป็นคนช่วยปิดสภาและเนรเทศอาจารย์ เกี่ยวแก่หาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

เรื่องนี้ผมไม่ได้เป็นผู้ทำเลย การปิดสภาฯ นั้น พระยามโนเรียกผมไป ซึ่งเวลานั้น ผมเป็นเด็กอยู่มากในการเมือง เกลี้ยกล่อมผมให้เซ็นเป็นคนสุดท้าย ครั้นเห็นทุกคนเขาลงชื่อกัน ผมจะไม่ลงชื่อกับเขาก็เกรงจะเป็นภัยร้ายแรง จึงได้ลงชื่อตามพระยาพหลไป เรื่องเนรเทศอาจารย์นั้น ถามหลวงอดุลดูว่า เป็นใครวิ่งเต้น ความจริงจะทราบว่าพระยาทรงสุรเดช ผมกับหลวงอดุลก็ถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ วันหนึ่งไปพบพระยาทรงฯ ท่านยังถามว่า ลื้อกับอดุลแดงเรื่อๆ แล้วน๊ะ เมื่อผมเปิดสภาฯ พระยาราชวังสัน ยังโทรศัพท์ถามผมว่าจะเอาอะไร ผมตอบว่าเปิดสภาฯ ท่านยังถามต่อไปว่า ไม่แดงน๊ะ หรือจะแดงกัน ผมเลยวางหูโทรศัพท์

การทำการกันครั้งนั้น เขาประชุมกัน ๔ - ๕ คน มีพระยามโนเป็นหัวหน้า เมื่อเขาจะทำอะไรเขาก็ทำกันไป ผมรู้จริงจังภายหลังเสมอ ซึ่งแก้อะไรไม่ได้ เพราะเป็นเด็กในการเมืองอยู่ การลาออกของ ๔ ทหารเสือ ผมก็ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุเลย อยู่ๆ ก็ลาออกกันไป เขาจะทำกันอย่างไรไม่ทราบ ผมเห็นแต่มีคนมาบอกอยู่เสมอๆ ว่า พระยาทรงฯ จะออก นอกนั้นผมมิได้วิ่งเต้นอะไร

ครั้นออกไปแล้วผมไม่ทราบอะไร เปลี่ยนการปกครองใหม่ๆ ยังอ่อนในการเมือง พระยามโนถามว่า ใครที่พอจะเป็นผู้บัญชาการทหารและเสนาธิการได้ ผมก็ตอบไปตามความเป็นจริงตามหลักทางทหารว่า พระยาพิชัยรณรงค์กับพระยาดิ่น ท่าราบ เขาก็เห็นดีด้วย และบรรจุโดยพระบรมราชโองการ เรื่องเก่ามีความเป็นจริงอย่างนี้ เมื่อพระยาทร ฯ ออกไปแล้ว ผมอยู่รักษาการที่กาแฟนรสิงห์ตอนกลางคืน

ผมจำได้ว่าไปกับหลวงอดุล ทราบภายหลังว่า พระยาราชวังสัน พระยาฤทธิ์ พระยามโนจะให้ทหารเรือจับผมขังที่นั่น เข้าใจว่า พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ เป็นผู้ชักชวน เรื่องเก่าๆ มีความจริงอย่างนี้

ขออาจารย์กรุณาเข้าใจว่า ผมไม่ได้เป็นคนแกล้งเพื่อนฝูงเลย คนอื่นเขาทำกันเอง แล้วผมยังช่วยในเมื่อมีโอกาสตอนญี่ปุ่นเข้ามา มันจะเล่นงานอาจารย์ ถามหลวงอดุลดู ผมไม่เคยได้ติดต่อหรือขออำนาจญี่ปุ่นมาเล่นงานอาจารย์เลย ผมจึงเสนอให้อาจารย์เป็นผู้สำเร็จ ตามที่เรียนมานี้ ขอพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพยานว่า เป็นความจริงทุกประการ ถ้าอาจารย์ไม่เชื่อ วันข้างหน้าจะเป็นพยานเอง

ผมเรียนมานี้ หวังจะได้รับความกรุณาจากอาจารย์บ้างตามสมควร ในทางการเมืองของผมนั้น เวลานี้หรือต่อไป ผมเข็ด และรู้สึกตัวว่าเง่าโง่ไม่มีความสามารถเพียงพอ ขืนทำอีกก็มีภัยมาสู่ตัวร่ำไป ผมเลยขอเป็นชาวไร่ชาวนาดีกว่า ขออาจารย์อย่าเป็นห่วงผมในทางการเมือง ผมเข็ดแล้ว เป็นตามีตามาดีกว่า

สำหรับตัวผม ผมพูดมามากแล้ว ถ้ามีผิดและรบกวนอาจารย์ก็ขออภัยด้วย ผมได้เขียนเล่าการปฏิบัติการต่อสู้ญี่ปุ่น และส่งไปทางประธานสภาฯ และให้เพื่อนฝูงอ่าน

มีความประสงค์อย่างเดียวจะช่วยให้เพื่อนฝูงไม่เป็นอาชญากรสงคราม รวมทั้งผมด้วยตามสัญชาตญาณของคนต้องป้องกันตน

อาจารย์ขอได้กรุณาแก่ผมในเรื่องนี้ด้วย เพราะถ้านิ่งไว้ คนไม่รู้เหตุผลการปฏิบัติของเรา ก็จะหาว่าเป็นคนขายชาติอยู่ตลอดไป ชื่อเสียงก็จะเสีย ผมดีใจแล้วว่า ที่เราทำมาแล้วนั้น อย่างน้อยพระแก้วมรกตยังอยู่ ญี่ปุ่นไม่ขนเอาไปอย่างแห่งอื่น

เคารพและนับถืออย่างสูง
ป. พิบูลสงคราม

 

ภาพ: ต้นฉบับจดหมาย ลายมือจริงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ภาพ: ต้นฉบับจดหมาย ลายมือจริงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

ที่มา: ทศสิริ พูลนวล (บรรณาธิการ). จดหมายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึง นายปรีดี พนมยงค์, ใน, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์, (กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, 2545), น. 257-259

หมายเหตุ: 

  • ตั้งชื่อเรื่องและจัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ