ความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ
รศ.มุนินทร์ พงศาปาน: ถ้าเราจำได้ตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 คนไทยจำนวนมากไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ ผมจำได้ว่าผมอ่านหนังสือก็มีคนเขียนเล่าให้ฟังว่า บางคนก็เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ คือ ลูกของพระยาพหลพยุหเสนา คนไทยก็อาจไม่ได้สนใจมาก เพราะว่าเราอยู่ในสังคมปิตาธิปไตย สังคมพ่อปกครองลูกอะไรต่างๆ แล้วก็เชื่อฟังผู้มีอำนาจ โดยภาพรวมสังคมก็สงบร่มเย็นดีก็ไม่เห็นมีอะไร ผู้มีอำนาจว่าไงก็เอาแบบนั้น
เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมไทยมาถึงจุดนี้ นอกเหนือจากนักการเมืองที่พยายามที่จะเรียกว่า build ระบบกฎหมายเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองแล้ว ส่วนหนึ่งก็คือการที่พวกเราเอง ประชาชนทั่วๆ ไม่ได้เห็นถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญมากเท่าไหร่ คือ ไม่เห็นความสำคัญของระบบที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เห็นความสำคัญของสิทธิเสรีภาพมาก หรือ การที่จะต้องสูญเสียสิทธิเสรีภาพ
ผมคิดอย่างนี้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นแล้วว่าประชาชนเห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ก็คือความสำคัญของสิ่งที่ท่านอาจารย์ปรีดีได้ให้ไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2475 ตอนนี้คนตระหนักมากแล้วว่า การที่เราไม่ได้มีรัฐธรรมนูญที่ดีที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้เราสามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระและสามารถตัดสินชะตาชีวิตของเราได้เองผ่านระบบการเลือกตั้งที่เสรีและบริสุทธิ์ มันทำให้ชีวิตของเรานั้นแย่ขนาดไหน เลวร้ายขนาดไหน มันเห็นได้ชัดมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่มีวิกฤตอย่างโควิด 19 ในเวลานี้ เราไม่สามารถทำอะไรกับรัฐบาลได้เลย เวลาเราไม่พอใจรัฐบาล หรือว่าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมันติดล็อกหมด
เพราะฉะนั้น ตอนนี้มันเห็นได้ชัดว่า สิ่งที่เราเคยมองว่ามันไกลตัวที่สุดอย่างรัฐธรรมนูญ กลายเป็นสิ่งที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดในชีวิตประจำวันของพวกเรา ผมเลยมองว่าประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญในประเทศไทย สอนคนเรียนรู้ว่า ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ควรต้องให้ความสำคัญและความสนใจ เวลาใครจะเสนออะไร แก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงหลักการรัฐธรรมนูญ มันไม่ใช่เรื่องที่ เออ ช่างมันเถอะ ทำอะไรก็ทำ เราไม่เกี่ยว เราไม่สนใจไม่ได้แล้ว ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักแล้วว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเรามากๆ
มองรัฐธรรมนูญวันนี้กับหากย้อนกลับไปยังรัฐธรรมนูญ 2475 อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร
รศ.มุนินทร์ พงศาปาน: ผมคิดว่าถ้าอาจารย์ปรีดีทราบด้วยญาณใดๆ ก็แล้วแต่ ท่านคงเสียใจมากๆ ที่รัฐธรรมนูญที่ท่านให้ไว้เมื่อปี 2475 มาถึงจุดนี้ คือจุดที่ผมคิดว่าเราเห็นรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่แย่ที่สุดเลยที่เราเคยเห็นมา
ตอนที่มีรัฐธรรมนูญใหม่ๆ เราอาจจะนึกไม่ออก คือคนอาจจะแค่คิดว่าก็คงเป็นรัฐธรรมนูญ เป็นกลไกกฎหมายที่ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแก้ปัญหาอะไรที่เราเบื่อหน่ายเต็มที แต่ผมคิดว่าหลายคนก็เห็นตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่ากลไกที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญ วางไว้เพื่ออะไร
เวลาผ่านไปยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น จนเรียกว่ากลายเป็นอุปสรรคมาก ที่ทำให้กลไกการแก้ไขปัญหาของสังคมและแก้ปัญหาทางการเมืองที่เคยใช้ได้ในอดีต ต่อให้เราทะเลาะกันแค่ไหน ต่อให้เรามีปัญหาทางการเมือง มีวิกฤตการณ์ทางการเมือง ในอดีตรัฐธรรมนูญ หรือว่าระบบกฎหมายมันมีกลไกในการแก้ปัญหาหมด
กลไกที่ basic ที่สุดก็คือ 1 แก้รัฐธรรมนูญ 2 เลือกตั้ง แต่ปัจจุบันกลไกเหล่านี้กลับใช้ไม่ได้เลย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่สำคัญที่สุดเพราะมันติดล็อกรัฐธรรมนูญหมด แก้อะไรก็ไม่ได้ดังนั้น เรามี ส.ว. 250 คน เลือกมาวันนี้ก็อาจจะได้กลุ่มอำนาจเดิมอีก มีนโยบายแบบเดิมอีก
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่านี่คือผลผลิตของรัฐธรรมนูญ เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญตั้งใจจะถูกทำ คือ ตั้งใจจะทำให้กลไกในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ basic ที่สุดที่เคยใช้ได้มาโดยตลอดและใช้ได้กับสังคมทุกสังคมในเสรีประชาธิปไตย ใช้ไม่ได้ และเราไม่รู้ต้องรออีกนานเท่าไหร่ถึงจะแก้ปัญหาพวกนี้ได้ ผมเลยเข้าใจว่าทำไมคนถึงพยายามเริ่มต้นแก้ไขปัญหาด้วยการแก้รัฐธรรมนูญก่อนเลย ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่านี่คือวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาการเมือง หรือแก้วิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ในสังคมไทย ต้องเริ่มต้นจากการแก้รัฐธรรมนูญก่อน
หากมองย้อนกลับไปหาท่านอาจารย์ปรีดี ผมคิดว่าท่านเริ่มต้นเห็นสังคมเสรีประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นเสาหลักในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสร้างความมั่นใจว่าระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ดำเนินไปได้ภายใต้หลักนิติรัฐและนิติธรรม
เวลาผ่านไปเราก็ลุ่มๆ ดอนๆ แต่ผมเชื่อนะครับว่านี่น่าจะเป็นบททดสอบครั้งสุดท้าย ผมเชื่ออย่างนั้น ก่อนที่เราจะก้าวไปสู่สังคมที่ประชาชนตระหนักแล้วว่าเราไม่ควรอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ และไม่ควรจะยอมรับระบบกฎหมายหรือกลไกกฎหมายอย่างที่เป็นอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 อีกแล้ว
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยการล้มล้างการปกครอง ความเห็นต่อคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ อาจารย์คิดว่าความเป็นไปของศาลรัฐธรรมนูญต่อการวินิจฉัยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ศาลเริ่มมีบทบาทที่มาวิเคราะห์ พูดถึงปัญหาทางการเมืองมากขึ้น อาจารย์มีความเห็นอย่างไร
รศ.มุนินทร์ พงศาปาน: โดยส่วนตัวผมคิดว่า คดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาโดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยสภาพ เพราะฉะนั้นแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ศาลจะไปวินิจฉัยในคดีที่มีข้อโต้แย้งทางการเมือง หรือ ทำให้คนมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่สิ่งที่ทำให้ผมคิดว่าน่ากังวลมาก คือ ในช่วง 10 ปีหลัง และกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การที่ศาลไม่พยายามยืนยันหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ชัดเจน ในคดีที่เพิ่งตัดสินไปเมื่อไม่นานมานี้ ที่ตัดสินว่าผู้นำชุมนุมมีความพยายามที่จะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผมคิดว่าหลักการที่ศาลสื่อสารออกมาในวันที่อ่านคำพิพากษาก็ดี หรือว่าในคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่เราเห็นเมื่อไม่กี่วันนี้ก็ดี ทำให้เกิดข้อกังขา ข้อสงสัยว่า หลักการที่เป็นพื้นฐานที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักที่ว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรือว่าหลักการในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับที่จัดวางความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของรัฐกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีความคลุมเครือ ทั้งที่จริงแล้ว หลักการนี้มันชัดเจนมาก และศาลก็สามารถยืนยันได้อย่างเต็มปากเต็มคำ แต่กลับกลายทำให้คนเกิดความสงสัยว่า ตกลงหลักการดังกล่าว ยังเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบการปกครองที่ใช้อยู่ในบ้านเราหรือไม่ และผมคิดว่าบางเรื่องก็ยังน่ากังวลอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราพูดถึง due process เรื่องของกระบวนการพิจารณาที่ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างเต็มที่
ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นศาลที่คนมีคาดหวังมากที่สุด ที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพ หรือ สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน กลับสร้างข้อกังขาให้กับนักกฎหมายและประชาชนว่า ทำไมศาลถึงไม่เปิดโอกาสให้คนที่ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก ผมคิดว่าต้องใช้เวลามากกว่านี้ ให้โอกาสคนที่ถูกกล่าวหาหรือคนเกี่ยวข้องมากกว่านี้ เพราะว่าศาลตัดสินออกมาแล้ว และมีผลกระทบต่อหลักการพื้นฐานของระบอบการปกครอง
เพราะฉะนั้น ในภาพรวมผมมองว่า ช่วงเวลา 10 ปีนี้ ความน่าเชื่อถือ หรือ การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น แต่กลับลดน้อยลงเรื่อยๆ และอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากให้ตั้งข้อสังเกตก็คือ ในหลายๆ คำวินิจฉัยเป็นเรื่องที่น่าแปลกมากที่จำนวนตุลาการที่ลงมติเทไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด อย่างเช่นที่เรามักจะได้ยินคำว่า “เสียงที่เป็นเอกฉันท์” บ่อยๆ ในคำวินิจฉัย หรือว่าเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด 8 ต่อ 1 ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ไม่ปกติมากนักในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในแต่ละประเทศ เราจะไม่ค่อยเห็นปรากฏการณ์แบบนี้เท่าไหร่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรตั้งเป็นข้อสังเกต
ประเด็นความเห็นของอาจารย์ มองสภาพของศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามาตัดสินประเด็นปัญหาต่างๆ แต่ไม่ได้ให้เหตุผลที่น่าพอใจเท่าไหร่ ตัวศาลเองจะมีปัญหาเองหรือส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของระบอบการปกครองมากน้อยเท่าไหร่
รศ.มุนินทร์ พงศาปาน: ผมว่านี่เป็นปัญหาใหญ่มากๆ ของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญออกกฎหมายมาคุ้มครองตัวเอง ในลักษณะที่ไม่ต้องการให้ใครวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองเลย และถ้าเราดูแม้กระทั่งในใบแถลงข่าวของศาลรัฐธรรมนูญยังมีหมายเหตุอยู่ด้านล่าง บอกว่า ถ้าเกิดว่าไม่ได้แสดงความคิดเห็นติชมอย่างสุจริตก็อาจถูกดำเนินคดี ผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้ในต่างประเทศนะ ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องตระหนักว่านี่เป็นคดีทางการเมืองเกือบทุกคดี เพราะฉะนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมเป็นเรื่องปกติที่จะต้องตามมา
เกราะป้องกันที่สำคัญที่สุดของศาลรัฐธรรมนูญก็คือคำวินิจฉัยซึ่งจะต้องแสดงอย่างละเอียด เพื่อให้คนได้เรียนรู้ร่วมกัน และสามารถโต้แย้งด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่คำวินิจฉัยเต็มไปด้วย emotion เป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก และคนในสังคมก็ไม่ได้เรียนรู้เลยว่าศาลตีความ หรือมีความเห็นต่อหลักการอย่างไร และผมมองว่าการสร้างกฎหมายเพื่อมาปิดปากประชาชน ไม่ได้ทำให้ความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญมีมากขึ้นเลย กลับกันยังกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำลาย บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญเอง และศาลรัฐธรรมนูญเลยตัดสินคดีโดยไม่มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคม ศาลมีหน้าที่เขียนเหตุผลที่น่าเชื่อถือวางอยู่บนหลักการของกฎหมาย ศาลก็จะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้มีหน้าที่แบบนั้น เพราะยังไงก็มีกฎหมายที่เอาไว้คุ้มครองตนเองอยู่แล้ว นี่ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก
เกี่ยวกับเรื่องประเด็นการให้เหตุผล อย่างเช่นคำวินิจฉัยล้มล้างเกี่ยวกับคดีพระมหากษัตริย์ ในประเด็นแบบนี้การให้เหตุผลของศาลมีความชัดเจนมากแค่ไหน ในทางวิชาการก็มีหลายคนมากที่ออกมาวิพากษ์เกี่ยวกับการให้เหตุผล
อย่างที่ได้คุยไปก่อนหน้าว่าจริงๆ มีปัญหาตั้งแต่การตีความหลักการ ซึ่งนั่นมีความชัดเจนอยู่แล้ว คือ ศาลทำให้หลักการรวมถึงรูปแบบการปกครองที่มีความชัดเจนอยู่แล้วมันเกิดข้อกังขา และสอง ในเรื่องของวิธีพิจารณาความ ก็มีปัญหาและถูกตั้งคำถามมาก
ผมคิดว่าเราพูดถึงเรื่องการไต่สวน เรื่องของระบบการกล่าวหา แต่สิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกล่าวหาหรือไต่สวนก็แล้วแต่ มันต้องเป็น due process มันต้องเป็นการที่ศาลต้องให้โอกาสคู่ความ ต้องให้โอกาสโดยเฉพาะคนที่ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ และต้องรับฟังอย่างรอบด้าน เพราะอย่างที่เรียนไปว่าคำวินิจฉัยของศาลนั้นมี impact มาก เป็นการยืนยันหลักการสูงสุด หรือการยืนยันหลักการพื้นฐานของประเทศ
เพราะฉะนั้น ต้องมีความรอบคอบและรอบด้านมากกว่านี้ ผมยังรู้สึกว่าอ่านจากคำวินิจฉัยหรือว่าดูจากลักษณะของการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาล ดูแล้ว ทำให้เราเชื่อมั่นในคำวินิจฉัยได้น้อยมาก และมีข้อสงสัยเกิดขึ้นเยอะแยะมากมายตามมา ซึ่งมันอาจทำให้คนเกิดคำสงสัยว่า เอ๊ะ หรือเป็นคำถามตัวใหญ่ๆ ว่าศาลมีธงมาแล้วหรือเปล่า เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปรับฟังพยานหลักฐานรอบด้าน นี่ก็เป็นคำถามซึ่งคนทั่วไปจะตั้งคำถามได้
ผมจึงมองว่าผลของคดี ถึงแม้ว่าจะไม่ได้นำไปสู่การดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหา แต่ว่ากลายเป็นการตราหน้าเขาว่าพวกนี้เป็นกบฏล้มล้างการปกครองอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ก็เหมือนกับเป็นการกล่าวหาว่าพวกนี้กระทำความผิดที่มีโทษประหารชีวิต
ประเด็นของคำวินิจฉัยสืบเนื่องมาจากความพยายามให้มีการแก้ 112 ในฐานะที่อาจารย์เป็นนักกฎหมาย คิดว่า 112 มีปัญหาเรื่องความชัดเจนและการบังคับใช้อย่างไร
รศ.มุนินทร์ พงศาปาน: การเรียกร้องในการปฏิรูปกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอะไรก็แล้วแต่ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญจนถึงพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายรับรองต่างๆ เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนหรือว่าคนที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแล้วผมไม่เห็นปัญหาว่าการที่เราจะเสนอให้ยกเลิก แม้กระทั่งยกเลิกมาตรา 112 จะเป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร
เขาไม่ได้เสนอว่าให้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ เขาไม่ได้พูดอย่างนั้น แต่ว่าเขาเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้ดีขึ้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นแล้วการเสนอปฏิรูปกฎหมายให้มีการหรือแก้กฎหมายเป็นเรื่องที่ทำได้อยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร
แต่ในที่นี้ ถ้าพูดถึงหลักการมาตรา 112 ถ้าเราพูดถึงหลักการ เราไม่เอาเลขมาตราแล้วกัน เราพูดถึงหลักการในความเห็นผม ผมมองว่าการที่กฎหมายให้ความคุ้มครองประมุขของรัฐเป็นหลักที่ผมเชื่อว่านักกฎหมายส่วนใหญ่ทราบกันดี ว่าเป็นหลักการสากลทั่วไป เพียงแต่ว่าเราต้องกลับมาดูเหมือนกันว่า เมื่อเรามีมาตรการกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ หรือว่าประมุขของรัฐมากกว่าคนทั่วไป เป้าหมายของมันก็คือว่า เพื่อให้สถาบันไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือว่าอยู่ในสถานะที่มีข้อโต้แย้ง ทำให้คนวิพากษ์วิจารณ์มากจนเรียกว่าทำให้สถานะของการเป็นประมุขของรัฐมันมีปัญหา
ทีนี้เราต้องกลับมาถามว่า สถานการณ์สังคมในเวลานี้ การที่จะมีมาตรการกฎหมายที่จะทำให้บรรลุผลดังกล่าวได้จริง ควรจะเป็นอย่างไรกันแน่
ถามว่าส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรจะมีกฎหมายให้ความคุ้มครองประมุขของรัฐมากกว่าคนปกติ เห็นด้วย แต่ผมไม่เชื่ออีกแล้วว่า โทษที่เขียนไว้รุนแรงแบบนั้น และก็กระบวนการที่ศาลใช้อยู่ตลอดมาจนถึงตอนนี้ ซึ่งมันมีหลายกรณี หลายแง่มุม มันน่ากังวลมากในกระบวนพิจารณาทั้งหลาย
ผมไม่เชื่อว่าสิ่งที่เป็นอยู่ทั้งหลักการกฎหมาย และกระบวนพิจารณาจะช่วยทำให้เราบรรลุเป้าหมายในการคุ้มครองประมุขของรัฐได้จริง ผมเชื่อว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกลับมาทบทวนอีกครั้ง ทีนี้วิธีการทบทวนผมคิดว่าจะต้องมาคุยกัน คือ เรื่องนี้ไม่สามารถเกิดจากการที่รัฐบาลเป็นคนคิดเองว่าควรจะปกป้องแบบนี้ รัฐบาลต้องรับฟังคนในประเทศว่าอารมณ์ความรู้สึกเขาเป็นอย่างไร และเขาอยากให้เป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้น ผมเห็นด้วยกับการที่ต้องปฏิรูป และแก้ไขมาตรา 112
หนึ่ง ผมคิดว่าโทษควรจะต้องน้อยลง และหลักการจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องมีการทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างจริงจัง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมมาพูดคุยกัน มันต้องมีเวที
สอง เราไม่ควรมีกระบวนพิจารณาที่เป็นอยู่อย่างนี้อีกแล้ว เพราะว่าเราปฏิบัติต่อคนที่ถูกกล่าวหาเสมือนหนึ่งเป็นนักโทษประหารชีวิต โทษคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรงมาก จริงอยู่ว่ามีแนวโน้มที่ดี อย่างหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็คือว่าสมัยก่อนถ้าย้อนไปคดี 112 ศาลแทบจะไม่ให้ประกันตัวเลย ผมยังไม่เคยได้ยินเลยว่าคดีไหนที่มีคนถูกกล่าวหาและศาลให้ประกันตัว แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปพอสมควร ก็คือคนที่ถูกกล่าวหาครั้งแรกก็อาจยังมีโอกาสได้ประกันตัวออกไปต่อสู้คดีนอกศาล อาจมีปัญหาที่ถูกกล่าวหาซ้ำแล้วซ้ำอีกอะไรต่างๆ แต่ว่าที่เป็นอยู่ คนที่ถูกกล่าวหาซ้ำๆ ก็ไม่ควรจะต้องไปอยู่ในคุก ในคดีที่เรามองว่าเกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพในทางความคิดในทางคำพูด มันไม่ควรจะถูก treat ไม่ควรถูกปฏิบัติแบบเดียวกันกับคนที่ถูกกล่าวหาฆ่าคนตายหรือคดีอุกฉกรรจ์
ผมคิดว่าโดยหลักการของวิธีพิจารณามันก็ผิดแล้ว และโดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าสิ่งที่เป็นอยู่จะช่วยปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่กฎหมายตั้งใจ ในทางตรงกันข้าม กลับบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ความน่าเชื่อถือ จริงๆ อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ก็ได้ แต่เป็นท่าทีของรัฐบาลเอง เป็นท่าทีของศาลเอง เป็นต้น
ผมคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้ช่วย และแถมเป็นการทำลายเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นคิดว่าถึงเวลาต้องมาปรับกันครั้งใหญ่
มีประเด็นที่คนพูดคุยเกี่ยวกับผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนกับเป็นการห้ามพูดถึงการปฏิรูปสถาบันฯ แก้ไขมาตรา 112 หลายคนกังวลว่าอาจมีโทษอาญาเข้ามาเกี่ยวข้อง
รศ.มุนินทร์ พงศาปาน: นี่สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เริ่มต้นตั้งแต่คนที่รู้สึกว่าตัวเองจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากๆ และวิธีการในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ก็คือ ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ต้องปิดปากอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องห้ามวิพากษ์วิจารณ์
ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นมันต้องเริ่มต้นจากการที่เรายอมรับว่าคนในสังคมคิดไม่เหมือนกัน คนที่ไม่รักก็ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องการจะล้มล้าง เขาอาจต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือสถาบันการเมืองในประเทศไทยดีขึ้น และเขาก็สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะฉะนั้น เราต้องเริ่มต้นจากการยอมรับก่อนว่า มีความแตกต่างหลากหลาย และสองก็คือว่า ควรจะต้องมีพื้นที่ให้พูดคุยกันได้ เพราะเราไม่ใช่เหมือนสมัยก่อนที่คนยังสามารถพูดได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัจจุบันคนตั้งคำถามเยอะมากขึ้น เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงนี้ก่อนว่า มีจำนวนคนที่ตั้งคำถามหรืออยากจะพูดเรื่องนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วถ้าเราไปกดไว้ สุดท้ายก็ระเบิดออกมา เป็นธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งจะช้าหรือจะเร็วแค่นั้นเอง
เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญต่อมาคือการเปิดเวทีให้พูดกัน แล้วต้องกล้าพูดด้วย ไม่ใช่ว่าเปิดเวทีแล้วสภาตั้งคณะกรรมาธิการ ตั้งแต่ในนามและไม่ได้ทำอะไรต่อ แต่ว่าเวทีนี้ในการพูดจา ผมคิดว่าใครจะเป็นเจ้าภาพก็ได้ แต่ว่าสภามีความชอบธรรมมากที่สุด ในการเป็นคนกลาง ในการเปิด คนที่เปิดต้องกล้าที่จะทำเรื่องพวกนี้ด้วย เพื่อทำให้บรรยากาศ และผู้เข้าร่วมรู้สึกว่าจะสามารถพูดแลกเปลี่ยนกันได้โดยสุจริต เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกันหรือปฏิรูปร่วมกัน ต้องสร้างบรรยากาศแบบนี้ แต่ตอนนี้บรรยากาศคือเต็มไปด้วยความกลัว กลัวว่าถ้าพูดไปแล้วเดี๋ยวจะมีคนบันทึกไว้และเอาไปฟ้องร้องดำเนินคดี ถ้าเริ่มต้นอย่างนี้ มันก็จะไม่ไปไหน คือ การพยายามกดไว้และรอวันระเบิดแค่นั้นเอง
การเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่มีความพยายามเสนอเรื่องเข้าสู่สภา มุมมองของอาจารย์ว่าเรายังมีความหวังมากน้อยแค่ไหนในสังคม
รศ.มุนินทร์ พงศาปาน: เราต้องอยู่ด้วยความหวัง ต้องพูดอย่างนี้ ถึงความหวังมันริบหรี่มาก แต่ว่าเราต้องอยู่ด้วยความหวัง คือเราต้องใช้ชีวิตไปข้างหน้า เรามีลูกหลานของเราที่ต้องเติบโตขึ้นไป แล้วก็มีความหวังว่าสังคมเราจะดีขึ้น แต่ว่าอย่างที่ผมบอกไปแหละว่าปัญหาของความพยายามในการแก้รัฐธรรมนูญ มันเกิดจากกลไก เรียกว่าค่ายกลที่มันถูกวางไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้การแก้ปัญหาอะไรทั้งหลาย มันเกิดขึ้นไม่ได้
เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งแรกในทางกฎหมายที่ต้องทำเลยก็คือต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้และก็ผมคิดว่ามันต้องสร้างเวทีให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่องในรัฐธรรมนูญ โดยที่การเปลี่ยนแปลง มันควรจะมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
การพยายามของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คือ ความพยายามที่ถูกต้องและก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมเสรีประชาธิปไตยทั่วไป เพราะว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของประชาชนทั้งหมด เพราะฉะนั้นแล้วจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินชะตาชีวิตของตัวเองให้ได้ แนวทางที่เป็นอยู่เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพียงแต่ว่าคนที่มีอำนาจในการคุมตัวล็อกทั้งหลาย ต้องถึงจุดที่ต้องตระหนัก แต่ดูเหมือนตอนนี้พวกเขายังไม่ตระหนักเท่าไหร่ว่า ปัญหามันร้ายแรงมาก และก็ถ้ารอไปถึงวันที่แตกหัก หลายอย่างก็อาจจะเสียหายเกินกว่าที่จะเยียวยา
อาจารย์เล่าให้เราฟังว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นเหมือนไฟนำทางให้อาจารย์ได้เข้าสู่วงการกฎหมาย ได้เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยากให้อาจารย์ขยายความ เล่าให้เราฟังถึงตรงนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร
รศ.มุนินทร์ พงศาปาน: ผมเคยปรารภกับอาจารย์ผู้ใหญ่ในคณะท่านหนึ่ง ซึ่งมีความคุ้นเคยกับครอบครัวของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ กับท่านคณบดี รุธิ์ พนมยงค์ คณบดีของคณะพาณิชย์ฯ ผมเคยไปเล่าให้ท่านฟังว่า ผมอยากพบท่านผู้หญิงพูนศุข คือ ผมไม่ทันท่านอาจารย์ปรีดีอยู่แล้ว ตอนท่านเสีย ท่านก็อยู่ต่างประเทศ แล้วเราก็ยังเด็กมาก แต่ว่าท่านผู้หญิงพูนศุขท่านก็มีชีวิตอยู่ยืนยาวกว่า และผมก็มีความคิดตลอดว่าอยากจะพบท่านสักครั้งหนึ่ง แต่เสียดายที่ยังไม่เคยได้มีโอกาสได้พบ
โดยส่วนตัว ผมมีความผูกพันทางจิตใจกับท่านอาจารย์ปรีดีมาก เพราะตั้งแต่อายุสัก 8-9 ขวบ ผมก็เริ่มอ่านหนังสืออาจารย์ปรีดีแล้ว คุณลุงผมอยู่ต่างประเทศ เวลาท่านกลับมาเมืองไทยปีละครั้ง ก็จะมีหนังสือเกี่ยวกับอาจารย์ปรีดีที่เขียนโดยคุณสุพจน์ ด่านตระกูลบ้าง เขียนโดยอาจารย์ส. ศิวลักษณ์ บ้าง เพราะฉะนั้นผมก็ได้เรียนรู้ในเรื่องของท่านจากหนังสือเหล่านั้นตั้งแต่เด็กๆ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ผมสนใจเรื่องของกฎหมาย เรื่องการเมือง จริงๆ เรื่องการเมืองมากกว่ากฎหมายด้วยซ้ำไป
เรื่องราวของอาจารย์ปรีดีทำให้ตอนเด็กๆ ผมรู้จักมหาวิทยาธรรมศาสตร์ แล้วก็ตั้งเป้าหมายว่าต้องมาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ได้ ผมสนใจติดตามชีวประวัติของท่านมาก ตอนเป็นนักศึกษาก็ยังปรึกษากับอาจารย์บางท่านตลอด และยังถามถึงมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ตลอดว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีกิจกรรมอะไรบ้าง ซึ่งผมก็สนใจตลอดเพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้มีโอกาสที่ได้เข้าไปร่วมกันอย่างเป็นทางการ
แต่วันนี้ได้มีโอกาสมาพูดแล้วก็แชร์ความคิดเห็น ในนามของสถาบันปรีดีฯ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ใฝ่ฝันมาตลอดว่าอยากจะทำ อยากจะ contribute อยากจะมีส่วนร่วมกับงานของสถาบันปรีดี พนมยงค์ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าสถาบันก็เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานเจตนารมณ์ของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สังคมมีความมืดมิด และคนรู้สึกกลัว รู้สึกสิ้นหวังในเรื่องการเมือง
ในเรื่องอนาคต ผมคิดว่ามันต้องมีคนที่สร้างเวที สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และก็ร่วมกันเรียกว่าแก้ไขปัญหา ผมคิดว่ามันคือความพยายามอย่างหนึ่ง ก็อยากจะเชิญชวนทุกคนให้มาร่วมกันสนับสนุน
ผมคิดว่าการสนับสนุนที่ดีที่สุดก็คือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สถาบันปรีดี พนมยงค์จัด เพราะว่าเป็นกิจกรรมที่อยากจะรับฟังความคิดเห็นของทุกคนอยู่แล้ว แล้วก็เปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนกันหรือว่าการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ เท่าที่ทำได้ นี่ก็ถือว่าเป็นการร่วมกันสืบสานเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์และก็อุดมการณ์ของรัฐธรรมนูญที่ท่านให้ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ครับ
สัมภาษณ์ ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2564
สถานที่: ลานปรีดี ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- SPECIAL GUEST…………รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
- สัมภาษณ์ .......................เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
- บรรณาธิการ ..................ณภัทร ปัญกาญจน์
- ถ่ายทำ ตัดต่อ .................กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
- ถอดบทสัมภาษณ์ …………ปวิตรา ผลสุวรรณชัย
- พิสูจน์อักษร ....................ศิริพร รอดเลิศ