ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ครองบทบาทโดดเด่นทางการเมืองนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเป็นต้นมา ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลของนายปรีดีนั้นต้องเผชิญการเจรจาแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ไทยเคยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ชาติตะวันตกพยายามหาข้ออ้างนี้มาเพื่อบีบบังคับรุกราน
หนึ่งในปัญหาสำคัญคือ “กรณีข้อพิพาทบริเวณชายแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส” ซึ่งก่อเกิดกระแสความสนใจอย่างมากจากคนในสังคม และแว่วยินเสียงเรียกร้องค่อนข้างหนาหูให้รัฐบาลตัดสินใจรบกับฝรั่งเศสเพื่อปกป้องประเทศชาติ ทว่ารัฐบาลของนายปรีดีกลับดำเนินนโยบายแก้ไขความขัดแย้งอย่างละมุนละม่อม จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “รัฐบาลนี้ขี้ขลาด”
นายกรัฐมนตรีพยายามอธิบายว่ารัฐบาลจะยึดมั่นในแนวทาง “สันติวิธี” เป็นหลัก สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มุ่งเน้นจับตามองและเกาะติดประเด็นนี้ ครั้นวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 คณะผู้แทนหนังสือพิมพ์ขอเข้าพบสัมภาษณ์นายปรีดีและได้นำเสนอถ้อยคำตอบของเขาผ่านหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับในวันแรกของเดือนถัดมา
ดังหนังสือพิมพ์ ยุคใหม่ หรือ NEW ERA มีเจ้าของและผู้จัดการคือ นายพานิช ชวานนท์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาคือ นายจินดา พันธุมจินดา ผู้ช่วยบรรณาธิการคือ นายแสวง ตุงคะบรรหาร สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 326 เยื้องโรงภาพยนตร์แคปิตอล ถนนเจริญกรุง จำหน่ายฉบับละ 1 บาท ได้ออกเผยแพร่ฉบับปฐมฤกษ์ (ปีที่ 1 ฉบับที่ 1) ประจำวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 โดยรายงานข่าวการเข้าสัมภาษณ์นายปรีดีในหน้าแรกสุดและหน้า 4 ความว่า
“เมื่อเช้าวันวานนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เปิดโอกาสให้บันดาผู้แทนหนังสือพิมพ์สัมภาษณ์ ณ ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีโดยแถลงว่า การที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนหนังสือพิมพ์มาสัมภาษณ์ก็เพราะจะเปนวันสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ ทั้งนี้ เพราะในเช้าวันที่ ๑ มิถุนายนนี้ หลังจากเปิดรัฐสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีก็จะได้ไปกราบบังคมลาออกต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ก็คงอยู่รักษาการณ์จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่จะมารับต่อไป”
แน่นอนทีเดียว สิ่งสำคัญที่มิแคล้วจะต้องเอ่ยถึง ย่อมได้แก่ เรื่องปัญหาข้อพิพาทบริเวณชายแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งรัฐบาลของนายปรีดีกำลังถูกโจมตีอย่างหนักหน่วง
“...นายกรัฐมนตรีก็ได้แถลงถึงกรณีเหตุชายแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสว่าเปนมาอย่างไร ก็คงทราบจากแถลงการณ์ของรัฐบาลแล้ว นายกรัฐมนตรีได้แถลงแก้ข้อที่มีบุคคลบางหมู่ประนามว่า รัฐบาลนี้ขี้ขลาดไม่รบกับอินโดจีนนั้น ว่าปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่ขี้ขลาด มันอยู่ที่ประโยชน์สุขส่วนรวมของประเทศชาติ ถ้าจะว่าถึงความกล้าหาญ คณะรัฐบาลนี้ก็มีผู้ร่วมก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ซึ่งเคยยอมเอาชีวิตเข้าแลกมาแล้วร่วมอยู่ด้วย พูดถึงส่วนตัวนายกรัฐมนตรีเอง ก็เคยได้กระทำงานมามากตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองและการต่อต้านญี่ปุ่น เป็นต้น ไม่ขี้ขลาดเลย หากถึงคราวจำเปนหรือเปนประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติแล้ว ก็พร้อมที่จะสละ แต่สำหรับกรณีอินโดจีนนี้ รัฐบาลนี้เห็นว่า ไม่มีอะไรดีเท่ากับสันติวิธี ซึ่งเปนยาหอมขนานเบา
ทั้งนี้โดยเพ่งเล็งถึงกาลข้างหน้าเปนสำคัญ ส่วนผู้ที่รักชาติอยากออกรบนั้น ก็ขอให้อดออมไว้เมื่อถึงเวลา จะประกาศรับสมัคร และส่งออกแนวหน้าทันที แต่ขณะนี้ยังไม่มีความจำเปน เพราะขณะนี้เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะแสดงให้โลกเห็นว่า เราเปนประเทศไม่รุกราน ซึ่งเราเคยถูกกล่าวหามาครั้งหนึ่งว่าเปนประเทศรุกราน ซึ่งครั้งนี้ย่อมแสดงให้โลกเห็นว่า ฝรั่งเศสเปนฝ่ายรุกรานเรา”
จากนั้น นายปรีดีได้มอบหมายให้ พลโทจิร วิชิตสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแถลงนโยบายทางด้านการทหารต่อไป
หนังสือพิมพ์อีกฉบับที่ให้ความสนใจการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสของรัฐบาลนายปรีดีเช่นกัน นั่นคือหนังสือพิมพ์ ธรรมธาดา อันมี คุณหญิงพงา ดุลยธรรมธาดา D.S.A. เป็นเจ้าของและผู้จัดการ นายจงใจภักดิ์ ฉัตรภูมิ D.P.N. บรรณาธิการผู้โฆษณา พันตรีจิระชัย ชูรัตน์ ผู้ช่วยบรรณาธิการ นายสวัสดิ์ สิริสวัสดิ์ ผู้พิมพ์ จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์พานิจกิจ เชิงสะพานแม้นศรี สำนักงานตั้งอยู่ที่แสงทองวิทยาลัย เชิงสะพานกษัตริย์ศึก พระนคร ซึ่งฉบับที่ 1 ปีที่ 1 ประจำวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ลงข่าวโปรยพาดหัว “นายกปรีดีให้สัมภาษณ์ ว่าผ้า ๕๐๐ ตันถึงสิงคโปร์แล้ว กรณีพิพาทสั่งปิดพรมแดนด่วน” และเปิดบทเกริ่น “ในการให้สัมภาษณ์แก่ น.ส.พ. ที่ทำเนียบนายกวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. นี้ ท่านนายกได้แถลงถึงสาระสำคัญหลายประการ…”
เนื้อหาตอนหนึ่งได้ “เปรียบรัฐบาลเหมือนแพทย์” และขยายความว่า
“ในปัญหาที่ฝรั่งเศสรุกรานไทย รัฐบาลจะขอรักษาด้วยสันติวิธี เพราะถ้าสู้แล้วถูกบอมบ์ ราษฎรจะเดือดร้อน ใช่ว่าจะทอดทิ้งฐานของเราเสีย การแก้ไขกรณีย์พิพาทอินโดจีน รัฐบาลได้สั่งปิดการจราจรทางแม่น้ำโขงโดยด่วนแล้ว”
แม้จะได้รับการโจมตีว่าเป็น “รัฐบาลขี้ขลาด” เพราะไม่ตัดสินใจทำสงครามในกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสช่วงปี พ.ศ. 2489 แต่ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ยังยืนยันหนักแน่นว่า เขาจะต้องดำเนินนโยบายเพื่อมิให้ราษฎรประสบความเดือดร้อนในการเข้าสู่สภาวะสมรภูมิอีกต่อไป นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการยึดมั่นต่อปณิธานและแนวคิด “สันติวิธี” อย่างชัดเจน
เอกสารอ้างอิง
- ธรรมธาดา. 1 (1) (1 มิถุนายน 2489).
- ยุคใหม่. 1 (1) (1 มิถุนายน 2489).
- สุพจน์ ด่านตระกูล. ชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์. พระนคร : ประจักษ์การพิมพ์, 2514