ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“เห็นสีแดงโร่แล้ว ปรีดี” โคลงพาดพิง ‘ปรีดี พนมยงค์’ ของ ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’

24
เมษายน
2565

หลังจาก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรีคนแรกสุดได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476  อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ นำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 9 มีนาคม พ.ศ. 2476) จนส่งผลให้เขาถูกกล่าวหาและโจมตีว่าแนวคิดและนโยบายทางเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะสร้างความหายนะและเป็นมหันตภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

ครั้นพอวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน คณะรัฐมนตรีชุดที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งหมาดใหม่ก็ร่วมกันออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476

ไม่กี่วันถัดมา จึงปรากฏบทโคลงในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เนื้อความว่า 

เห็นสีแดงโร่แล้ว      ปรีดี
ลองคิดเมื่อวันมี     จิตชื้น
ไรราเร่งทายที        เถิดแม่ โหรเอย
ฝันนี่จักลึกตื้น        ถูกต้อง ทำนองไฉน

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)

 

ว.ช, ประสังสิต หรือนามจริง วิชัย ประสังสิต เปิดเผยไว้ผ่านหนังสือเรื่อง แผ่นดินสมเด็จพระปกเกล้า ทำนองว่าขณะนั้นตนทำงานประจำอยู่หนังสือพิมพ์ฉบับข้างต้นและเป็นผู้นำบทโคลงลงตีพิมพ์ โดยบุคคลที่ส่งบทโคลงมาให้ตนคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นั่นเอง 

“...ฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็กล่าวหาว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับพวกเป็นคอมมิวนิสต์และได้ส่งโคลงประเทียบบทหนึ่งมาให้ข้าพเจ้าลงหนังสือพิมพ์”

 

ปกหนังสือ แผ่นดินสมเด็จพระปกเกล้า ของ ว.ช, ประสังสิต
ปกหนังสือ แผ่นดินสมเด็จพระปกเกล้า ของ ว.ช, ประสังสิต

 

ว.ช, ประสังสิต ยังอธิบายถอดรหัสของแต่ละถ้อยคำในบทโคลงให้กระจ่างชัดเจน ได้แก่ 

“สีแดง” หมายถึง คอมมิวนิสต์

“ปรีดี”  คือ ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

“ลอง” คือ ลอง สุนทานนท์ หรือ พระสารสาสน์พลขันธ์

“วัน” คือ วัน จามรมาน หรือ พระยานิติศาสตรไพศาลย์

“ชื้น” คือ ชื้น จารุวัสตร์ หรือ พระสารสาสน์ประพันธ์

บทโคลงของ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นับเป็นหลักฐานที่สะท้อนถึงเจตนาจะป้ายสี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี เพื่อบ่งชี้ว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยการเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชน มิหนำซ้ำ ยังพาดพิงพ่วงไปถึงบุคคลอื่นๆ ผู้มีแนวคิดเห็นพ้องสอดคล้องกับแนวคิดของ นายปรีดี เยี่ยง พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์), พระยานิติศาสตรไพศาลย์ (วัน จามรมาน) และ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) อีกด้วย

 

พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) ภาพจาก wikipedia
พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์)
ภาพจาก wikipedia

 

พระยานิติศาสตรไพศาลย์ (วัน จามรมาน) ภาพจากหนังสือ  อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยานิติศาสตรไพศาลย์ (วัน จามรมาน)
พระยานิติศาสตรไพศาลย์ (วัน จามรมาน)
ภาพจากหนังสือ  อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยานิติศาสตรไพศาลย์ (วัน จามรมาน)

 

พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) ภาพจากหนังสือ  อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์)
พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์)
ภาพจากหนังสือ  อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์)

 

นับแต่ต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 เรื่อยมา กระแสการประโคมโจมตี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ทบทวีความหนักหน่วงขึ้นทุกวัน และกลายเป็นข้อโต้แย้งตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์หลากหลายฉบับ 

กระทั่งในที่สุด นายปรีดี พนมยงค์ ต้องตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศสยามพร้อมภริยาไปยังประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันพุธที่ 12 เมษายน ซึ่งนับเป็นการลี้ภัยทางการเมืองครั้งแรกของชีวิต 

ต่อมาภายหลัง พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ยึดอำนาจจากรัฐบาลของ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นายปรีดี จึงหวนคืนกลับถึงสยามในปลายเดือนกันยายนปีเดียวกัน เพื่อมายืนยันความบริสุทธิ์ว่าตนมิใช่คอมมิวนิสต์ตามการถูกป้ายสีเสีย “แดงโร่” ด้วยการเข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่สอบสวนอย่างแข็งขัน จนเขาสามารถหลุดพ้นจากมลทินมัวหมองที่เคยโดนกล่าวหาได้ลุล่วง

 

เอกสารอ้างอิง :

  1. ณัฐพล ใจจริง. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2556
  2. เดือน บุนนาค. ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโสผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สามัคคีธรรม, 2517
  3. ว.ช, ประสังสิต. แผ่นดินสมเด็จพระปกเกล้า. พระนคร : โรงพิมพ์ผดุงชาติ, 2505
  4. ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526
  5. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยานิติศาสตรไพศาลย์ ป.ช.,ป.ม. (วัน จามรมาน) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 15 พฤษภาคม พุทธศักราช 2510, พระนคร : โรงพิมพ์มงคลการพิมพ์, 2510
  6. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) ท.ช. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 27 พฤศจิกายน 2516. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ไทยอนุเคราะห์ไทย, 2516

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :

อ่าน : (สำเนา) รายงานคณะกรรมาธิการสอบสวนว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่?