ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดีศัพท์ : “อภิวัฒน์” “กษัตริย์” และ “ราษฎร”

22
มิถุนายน
2565

อภิวัฒน์

‘ปรีดี พนมยงค์’ เป็นผู้เสนอให้เรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่า “อภิวัฒน์” ซึ่งมาจากคำว่า “อภิ” หมายถึง ยิ่ง วิเศษ เหนือ กับคำว่า “วัฒน์” หมายถึง ความเจริญ ความงอกงาม เมื่อรวมความเข้าด้วยกันจึงหมายถึง “ความงอกงามอย่างยิ่งหรืออย่างวิเศษ” ทั้งนี้ ในทัศนะของปรีดี เขาเห็นว่า “ไม่สมควรที่ผู้รักชาติประชาธิปไตยไทยซึ่งต้องการพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์จะใช้คำว่า “ปฏิวัติ” เพื่อเรียกการกระทำของตน”[1]

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปรีดีไม่เห็นด้วยกับการแปล “Revolution” เป็นภาษาไทยว่า “ปฏิวัติ” เขาเล่าว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองราว 1-2 เดือน หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงแสดงปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงวินิจฉัยว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นการเปลี่ยนหลักมูลของการปกครองแผ่นดิน ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Revolution” จึงทรงบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “ปฏิวัติ” และต่อมาราชบัณฑิตยสถานได้บรรจุคำว่า “ปฏิวัติ” ลงในพจนานุกรม โดยให้ความหมายว่า การหมุนกลับ หรือ การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล

ทั้งนี้ พจนานุกรมได้ให้ความหมายของคำว่า “ปฏิ-” ว่าเป็นคำอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นำหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ ซึ่งปรีดีตั้งข้อสังเกตว่า ตามมูลศัพท์ภาษาบาลีอันเป็นที่มาของคำว่า “ปฏิวัติ” นั้น หมายถึง “การหมุนกลับ” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถอยหลัง ส่วนความหมายที่ว่าเป็นการผันแปรเปลี่ยนหลักมูลนั้น ราชบัณฑิตยสถานก็ได้ให้ไว้เป็นความหมายรองตามหลัง “การหมุนกลับ” ซึ่งอาจทำให้ตีความได้ว่าเป็นการผันแปรชนิดถอยหลังกลับไปเป็นระบบเก่าหรือทำนองระบบเก่า[2]

เหตุผลอีกประการหนึ่งซึ่งทำให้ปรีดีไม่นิยมชมชอบคำว่า “ปฏิวัติ” ก็เนื่องมาจากคณะบุคคลที่ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งมี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า ได้เรียกคณะของตนว่า “คณะปฏิวัติ” และทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ซึ่งใชบังคับอยู่ในเวลานั้น โดยเปลี่ยนไปปกครองประเทศแบบเผด็จการ ปรีดีจึงเห็นว่าควรปล่อยให้ “ปฏิวัติ” เป็นคำที่มีความหมายเฉพาะสำหรับเรียกการกระทำของจอมพล สฤษดิ์ และพวก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบบสังคมให้ถอยหลังกลับไป[3] โดยเสนอให้ผู้ที่ก้าวหน้ารับเอาคำใหม่ คือ “อภิวัฒน์” ไปใช้สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า[4]

 

กษัตริย์

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประมุขของรัฐสยามถูกเรียกขานด้วยถ้อยคำที่หลากหลาย เป็นต้นว่า พระเจ้าแผ่นดิน[5] สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[6] และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[7] แต่ในคราวที่มีการอภิวัฒน์การปกครอง ปรีดี พนมยงค์ ได้เลือกใช้คำว่า “กษัตริย์” ทั้งในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 และในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปฐมฤกษ์ “กษัตริย์” มีสถานะเป็นหนึ่งในผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร[8] และเป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์[9] และที่สำคัญ การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ[10]

ทั้งนี้ ผู้เขียนสันนิษฐานว่า สาเหตุที่ปรีดีเลือกใช้คำว่า “กษัตริย์” น่าจะเพราะต้องการให้ตัวบทในรัฐธรรมนูญมีความกะทัดรัดไม่ฟุ่มเฟือย และพยายามใช้ถ้อยคำที่สามัญชนเข้าใจได้มากที่สุด อันเป็นหลักซึ่งปรีดีใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญ[11]

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนคำว่า “กษัตริย์” เป็น “พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นไปตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 7 ปรีดีเล่าว่าระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว รัชกาลที่ 7 ทรงมีรับสั่งให้เขาและพระยาพหลพลพยุหเสนาไปเฝ้า ทรงมีพระราชกระแสว่า ที่เขียนว่า “กษัตริย์” ยังไม่ถูกต้อง เพราะ “กษัตริย์” หมายถึงนักรบเท่านั้น ที่ถูกต้องเขียนว่า “พระมหากษัตริย์” ซึ่งหมายถึงนักรบผู้ยิ่งใหญ่ผู้ถืออาวุธปกป้องบ้านเมืองอันเป็นราชประเพณีมาแต่โบราณ ซึ่งปรีดีและพระยาพหลพลพยุหเสนาเห็นพ้องด้วยจึงรับมาบัญญัติไว้[12]

 

ราษฎร

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า “ราษฎร” เป็นหัวใจของการอภิวัฒน์ 2475 ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เสนอให้เรียกคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า “คณะราษฎร” เหตุผลที่เขาเสนอให้ใช้ “ราษฎร” เป็นชื่อคณะก็เพราะผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นราษฎรไทยอย่างแท้จริง และสมาชิกคณะราษฎรทั้งหลายได้ยอมอุทิศตนและความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรให้บรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย ดังที่ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้สรุปคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้อย่างเหมาะสมว่า รัฐบาลของราษฎร โดยราษฎร และเพื่อราษฎร[13]

ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ก็มี “ราษฎร” เป็นคำสำคัญ หลายคนคงคุ้นเคยกับ “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร” ซึ่งเป็นวรรคทองในประกาศดังกล่าว และในมาตราแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปฐมฤกษ์ ปรีดีก็ได้เน้นความสำคัญของราษฎรด้วยการบัญญัติว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

 นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปฐมฤกษ์ยังให้กำเนิด “สภาผู้แทนราษฎร” องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น[14] พร้อมทั้งเรียกองค์กรฝ่ายบริหารว่า “คณะกรรมการราษฎร” ประกอบด้วยประธานคณะกรรมการราษฎร 1 นาย และกรรมการราษฎร 14 นาย รวมเป็น 15 นาย[15]

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ได้เปลี่ยนคำว่า “คณะกรรมการราษฎร” เป็น “คณะรัฐมนตรี” ส่วน “ประธานคณะกรรมการราษฎร” ก็เปลี่ยนเป็น “นายกรัฐมนตรี” และ “กรรมการราษฎร” เปลี่ยนเป็น “รัฐมนตรี” การปรับแก้ถ้อยคำในชุดนี้เกิดจากข้อทักท้วงของรัชกาลที่ 7 ซึ่ง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า “มีคำอยู่คำหนึ่งในร่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทัก คือคำว่า คณะกรรมการราษฎร กับกรรมการราษฎรทรงรับสั่งว่าคำไม่เพราะ และไม่ค่อยจะถูกเรื่องตามแบบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ”[16] ทั้งนี้ ปรีดีได้พยายามชี้แจงต่อสภาว่าสาเหตุที่เขาเลือกใช้คำว่า “กรรมการราษฎร” ก็เพราะต้องการใช้ภาษาธรรมดาให้คนเข้าใจง่าย โดยหมายถึงบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บริหาร เป็นกรรมการของราษฎร[17] แต่คำอธิบายของปรีดีไม่เป็นผล

อนึ่ง ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง หลวงแสงนิติศาสตร์ เสนอให้แก้คำว่า “สภาผู้แทนราษฎร” เป็น “รัฐสภา” ด้วย ให้เหตุผลว่ารัชกาลที่ 7 ทรงทักท้วงคำว่า “คณะกรรมการราษฎร” และ “กรรมการราษฎร” จึงคิดแก้เพื่อให้เข้ากัน แต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาชี้แจงว่า รัชกาลที่ 7 ทรงเห็นชอบด้วยกับคำว่า “สภาผู้แทนราษฎร”[18] ด้วยเหตุนี้ จึงมีการคงถ้อยคำเอาไว้อย่างเดิม อาจจะกล่าวได้ในที่สุดว่าตลอดระยะเวลา 90 ปี ที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองและมีการใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ มรดกของปรีดีและคณะราษฎรที่ยังเหลือรอดตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือ “สภาผู้แทนราษฎร” นั่นเอง[19]

 

 

[1] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2519), 30-32.

[2] เพิ่งอ้าง, 10, 12.

[3] เพิ่งอ้าง, 30-31.

[4] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นอนิจจังของสังคม, พิมพ์ครั้งที่ 4 (พระนคร: โรงพิมพ์นีติเวชช์, 2513), 89.

[5] ดู ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม

[6] ดู กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127

[7] ดู มาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2466 ที่ถูกยกเลิกไป

[8] พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 2

[9] พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 3

[10] พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 7

[11]ปรีดี พนมยงค์, ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์นีติเวชช์, 2517), 39-40.

[12] ปรีดี พนมยงค์, จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม, พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: สายธาร, 2543), 70-71. รายละเอียดในประเด็นนี้ ดู วิเชียร เพ่งพิศ, “แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์”, (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), 312-314.

[13] สุนทรพจน์ของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน”, หน้า 13, 17, สืบค้นจาก https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2525-128.pdf

[14] พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 10

[15] พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 32

[16] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 34/2475 (วิสามัญ), 16 พฤศจิกายน 2475, 367.

[17] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 38/2475, 26 พฤศจิกายน 2475 (ตอนบ่าย), 502.

[18] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2475, 25 พฤศจิกายน 2475 (ตอนเช้า), 393-394.

[19] ผู้ที่สนใจงานศึกษาแนวความคิดของปรีดี ดู ทวีป มหาสิงห์, “แนวความคิดเรื่อง “ราษฎร” ของปรีดี พนมยงค์,” วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (2556): 62-88. และ ทวีป มหาสิงห์, “ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ในการอภิวัฒน์สยาม,” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555.