ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ความหมายแท้จริงของสาส์นเชอร์ชิลล์

26
กรกฎาคม
2565

ตอนที่ 2

ส่วนที่ 3

ความหมายแท้จริงของสาส์นเชอร์ชิลล์

ถึง

นายก ร.ม.ต.ไทยเวลาสายของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484

3.1

ตอบคำถาม ณ ที่ประชุมสามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษ)

เมื่อ 24 กรกฎาคม 2518

 

ณ ที่ประชุมสามัคคีสมาคม (นักเรียนไทยในอังกฤษ) ที่สกอตแลนด์เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2518 นั้น ในบรรดาคำถามมากมายหลายปัญหา ก็มีคำถามหนึ่งที่สมาชิกถามผมว่า ตามที่นายทหารผู้หนึ่งได้บอกเล่าให้ฟังว่าในวันญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 มร. เชอร์ชิลล์ นายก ร.ม.ต. อังกฤษได้แจ้งรัฐบาลไทย “ให้ช่วยตนเอง” (HELP YOURSELF) รัฐบาลไทยสมัยนั้นจึงต้องยอมให้ญี่ปุ่นยกเข้ามาในประเทศไทยนั้น เป็นความจริงหรือไม่ ผมเห็นว่าท่านผู้ถามใช้สติปัญญาพร้อมทั้งสามัญสำนึกอันเป็นตรรกวิทยาเบื้องต้น ท่านจึงถามผม เพราะถ้ารัฐบาลอังกฤษไม่มีทางที่จะช่วยไทยได้ก็ไม่น่าที่จะแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบว่า “ให้ช่วยตนเอง”

ส่วนนายทหารคนที่บอกเล่านั้นก็มิได้ปั้นแต่งเรื่องขึ้นเอง หากได้ฟังจากผู้อื่นที่บอกเล่าต่อๆ กันมาเพียงความตอนเดียวของสาส์น โดยมิได้ทราบข้อความครบถ้วนของสาส์นนั้น

ในวันนั้นผมได้ตอบท่านผู้ถามดังต่อไปนี้

(1) ทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ได้ส่งจดหมายลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 แจ้งสาส์นของนายก ร.ม.ต. อังกฤษ (เชอร์ชิลล์) ถึงจอมพลพิบูลฯ นั้น มิได้มีข้อความว่า “HELP YOURSELF” ที่แปลเป็นไทยว่า “ช่วยตัวเอง” ซึ่งมีผู้เอามาบิดเบือนบอกเล่ากันต่อๆ มาเพื่อให้ผู้ฟังหลงผิดไปว่าเหมือนดังที่เจ้าภาพเลี้ยงอาหารชนิดที่ให้ผู้รับเลี้ยงตักอาหารใส่จานได้ตามชอบใจว่า “HELP YOURSELF” คือ ให้ตักอาหารเอาเองโดยไม่มีผู้บริการ

สาส์นนั้นมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า

 

    “There is a possibility of imminent Japanese invasion of your country. If you are attacked defend yourself. The preservation of the full independence and sovereignty of Thailand is a British interest and we shall regard an attack on you as attack upon ourselves.”

 

สาส์นฉบับนั้นใช้คำว่า “DEFEND YOURSELF” โดยมีข้อความในประโยคต่อมาประกอบไว้ด้วย ถ้าหากใช้คำว่า “DEFEND YOURSELF” ลอยๆ ก็แปลเป็นไทยได้ว่า “ป้องกันตัวท่าน” หรือ “ป้องกันตัวท่านเอง” คือถ้าใช้คำว่า “เอง” ต่อท้ายคำว่า “ตัวท่าน” ก็ทำให้ความหมายในภาษาไทยผิดจากคำว่า “ป้องกันตัวท่าน” ที่ไม่มีคำว่า “เอง” ต่อท้าย

ท่านที่รู้ภาษาอังกฤษพอสมควรย่อมทราบแล้วว่า หลายคำในภาษาอังกฤษนั้นมีความหมายหลายอย่าง ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าคำนั้นๆ ใช้ในความหมายอย่างใด

โดยเฉพาะสาส์นฉบับนั้นมิได้ใช้คำว่า “DEFEND YOURSELF” ลอยๆ ที่จะเกิดปัญหาในการตีความได้ หากสาส์นฉบับนั้นมีข้อความในประโยคต่อมาประกอบไว้ด้วยว่า

 

“The preservation of the full independence and sovereignty of Thailand is a British interest and we shall regard an attack on you as attack upon ourselves.”

 

แปลเป็นภาษาไทยว่า

 

“การรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ของประเทศไทยเป็นประโยชน์ของบริติช” และเราจะถือว่าการโจมตีต่อท่านนั้นเหมือนการโจมตีต่อตัวเรา”

 

ทั้งนี้เป็นสำนวนภาษาอังกฤษที่แสดงว่า ถ้าประเทศไทยถูกโจมตีและต่อสู้ ป้องกันตัวแล้ว ฝ่ายอังกฤษก็จะไม่ปล่อยให้ไทยต่อสู้ไปตามลำพังตนเพราะอังกฤษถือว่าเท่ากับญี่ปุ่นโจมตีอังกฤษโดยตรงด้วย

(2) ผู้ใดจะตีความสาส์นฉบับนั้นอย่างไรก็ตาม แต่จดหมายของเซอร์โจไซย ครอสบี้ อัครราชทูตอังกฤษ ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ที่แจ้งสาส์นของเชอร์ชิลล์นั้นได้ถึงมือจอมพลพิบูลฯ ภายหลังที่คณะ ร.ม.ต. ไทยได้พิจารณาตกลงให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยแล้ว ขณะนั้นคณะ ร.ม.ต. เพียงแต่พิจารณาร่างข้อตกลงกับญี่ปุ่นที่จะให้นายดิเรก ชัยนาม ร.ม.ต. ต่างประเทศสมัยนั้นเป็นผู้ลงนามแทนฝ่ายรัฐบาลไทยกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น สาส์นของนายเชอร์ชิลล์ดังกล่าว จึงไม่มีอิทธิพลต่อการที่รัฐบาลไทยสมัยนั้นที่ได้ตัดสินใจไปก่อนได้รับจดหมายของทูตอังกฤษฉบับนั้น

(3) บันทึกการประชุมคณะ ร.ม.ต. ไทย ภาคเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 จึงไม่บันทึกสาส์นของ มร. เชอร์ชิลล์ฉบับนั้น เพราะไม่มีปัญหาที่ต้องพิจารณาโดยเหตุที่คณะ ร.ม.ต. ไทยได้ตัดสินใจไปก่อนในการตกลงกับญี่ปุ่นให้เดินทางผ่านประเทศไทย แต่นายก ร.ม.ต. นำเอามาปรารภในการประชุม ค.ร.ม. ภาคบ่ายของวันที่ 8 นั้น

 

3.2

ผมขอให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า แม้บางคนหลงเชื่อว่า สาส์นนั้นอังกฤษให้รัฐบาลไทย “ช่วยตัวเองตามลำพัง” แต่บางคนนั้นจะอ้างสาส์นดังกล่าวเพื่อแก้ตัวได้อย่างมากก็เฉพาะการปฏิบัติเพียงระยะแรกของรัฐบาลไทยระหว่าง วันที่ 8 ธันวาคม 2484 ถึง 21 ธันวาคม 2484 ซึ่งตกลงให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยเท่านั้น เพราะเหตุว่า

(1) ต่อมาอีก 13 วันคือ ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 [ภายหลังที่ผมลาออกจาก ค.ร.ม. ในวันที่ 16 ธ.ค. แล้ว สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเป็นเอกฉันท์แต่งตั้งผมเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์] รัฐบาลซึ่งจอมพลพิบูลฯ เป็นนายก ร.ม.ต. ได้ตกลงกับญี่ปุ่นยกเลิกข้อตกลงฉบับ 8 ธันวาคม 2484 โดยทำกติกาสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่นซึ่งมีใจความว่า ภาคีของสัญญาแต่ละฝ่ายจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางการเมืองทางเศรษฐกิจและการทหาร

เมื่อภาคีอีกฝ่ายหนึ่งมีกรณีขัดกันทางอาวุธกับประเทศภายนอก ซึ่งมีหนังสือแลกเปลี่ยนกับข้อกำหนดความเข้าใจกัน คือมีพิธีสาร (PROTOCOL) ลับซึ่งไม่เปิดเผย แต่ปรากฏตามคำให้การของนาย “ทสุโบกามิ” เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นผู้ลงนามในกติกาสัมพันธไมตรีนั้น ซึ่งได้ให้การต่อศาลทหารระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL MILITARY TRIBUNAL) ซึ่งเป็นศาลอาชญากรสงครามสัมพันธมิตรตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียวนั้น เมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

 

“จอมพลพิบูลสงครามได้ตัดสินร่วมโชคชะตากับญี่ปุ่น และต่อมาได้มีการเจรจาทำกติกาพันธไมตรีทางทหารกับญี่ปุ่นทันที กติกานี้ได้ลงนามกันเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม โดยมีข้อความว่า ต่างฝ่ายต่างจะเคารพเอกราชและอธิปไตยซึ่งกันและกัน ภาคีแต่ละฝ่ายจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่ในด้านการเมืองการทหารและเศรษฐกิจ ในกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดขัดกันขึ้นกับประเทศที่สามและฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่แยกทำสัญญาสันติภาพหรือสงบศึก กติกานี้มีพิธีสารลับซึ่งไม่เปิดเผยว่าญี่ปุ่นจะช่วยให้ไทยได้ดินแดนคืนจากอังกฤษ และไทยสัญญาจะช่วยญี่ปุ่นในกรณีสงครามซึ่งมีอยู่แล้วระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศฝ่ายตะวันตก สัญญาฉบับนี้ยกเลิกฉบับเดิมที่เพียงอนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทหารผ่าน ฉบับลงวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941

 

ฉะนั้นท่านผู้อ่านก็ย่อมวินิจฉัยได้เองว่าสาส์นของ ม.ร. เชอร์ชิลล์ ที่มีผู้อ้างต่อๆ กันมาว่า ขอให้รัฐบาลไทย “ช่วยตัวเอง” หรือ “น้องกันตัวเอง” นั้นย่อมไม่หมายความถึงสัญญาและพิธีสารฉบับ 2 ธันวาคม 2484 นั้นด้วยเลย คือเป็นไปไม่ได้ที่นายเชอร์ชิลล์จะหมายความว่าให้รัฐบาลไทยช่วยตัวเอง ถึงกับให้ไทยขอร้องญี่ปุ่นช่วยไทยได้ดินแดนคืนจากอังกฤษ

(2) ต่อมาจากกติกาสัญญาพันธมิตรดังกล่าวใน (ก) นั้นอีก 1 เดือนเศษ คือวันที่ 25 มกราคม 2485 รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่สาส์นของ มร. เชอร์ชิลล์ นั้นจะหมายความให้รัฐบาลไทย “ช่วยตัวเอง” หรือ “ป้องกันตัวเอง” จนถึงกับให้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่ และ ส.ร.อ.

เพื่อประกอบการพิจารณาของท่านผู้สนใจทั้งหลาย ผมจึงขอเสนอเอกสารหลักฐานทางราชการ (OFFICIAL AUTHENTIC DOCUMENTS) ซึ่งสำนักงานเอกสารสาธารณะของรัฐบาลอังกฤษได้เปิดเผยแล้วหลายฉบับ เกี่ยวกับความเป็นมาของสาส์นนั้น ดังต่อไปนี้

(1) โทรเลขลับของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษถึงสถานทูตอังกฤษที่กรุงวอชิงตัน ส่งจากลอนดอนเวลา 8.45 น. หลังเที่ยง วันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) มีความดังต่อไปนี้

 

(CYPHER)

WAR CABINET DISTRIBUTION.
TO : UNITED STATES OF AMERICA.
FROM FOREIGN OFFICE TO WASHINGTON.
.

No. 6762                           D.8.45 p.m. 6th December, 1941
6th December, 1941.
Repeated to Bangkok No. 589.

0 0 0 0

MOST IMMEDIATE.
SECRET.

In view of latest reports, Prime Minister would wish to send following message to Thai (Siamese) Prime Minister for his confidential information if the President sees no objection. 

(Begins)

2. There is possibility of imminent Japanese invasion of your country. If you are attacked defend yourself. We shall come to your aid to the utmost of our power and will safeguard independence of your country.

(Ends).

3. Please consult President at once and repeat your reply to Bangkok.

INDIV.

 

 

 

คำแปลเป็นภาษาไทย

โทรเลขของกระทรวงการต่างประเทศ (อังกฤษ) ถึงสหรัฐอเมริกา
วันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1941

(รหัส)

เอกสารคณะมนตรีสงครามถึงสหรัฐอเมริกา
จากกระทรวงต่างประเทศ (อังกฤษ) ถึง (สถานทูต) วอชิงตัน

เลขที่ 6762                                ส่งเวลา 8.45 น. หลังเที่ยง วันที่ 6
วันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1941          ธันวาคม ค.ศ. 1941
ส่งซ้ำถึงสถานทูตกรุงเทพฯ เลขที่ 589           (ตรงกับเวลา 13.45 น. เวลากรุงเทพฯ)

0 0 0

ด่วนที่สุด
(ลับ)

เนื่องจากข่าวรายงานหลังที่สุด, นายกรัฐมนตรี (อังกฤษ) ปรารถนาจะส่งสาส์นต่อไปนี้ถึงนายกรัฐมนตร์ไทย เพื่อให้ทราบเป็นความลับที่สุดถ้าประธานาธิบดี (อเมริกัน) ไม่ขัดข้อง.

(เริ่มต้นสาส์น)

2. การเป็นไปได้แห่งการรุกรานของญี่ปุ่นต่อประเทศของท่านโดยมิชักช้าถ้าท่านถูกโจมตีขอให้ป้องกันตน. เราจะเข้ามาช่วยท่านจนเต็มกำลังของเราและเราจะพิทักษ์เอกราชแห่งประเทศของท่าน.

(จบสาส์น).

3. โปรดหารือประธานาธิบดี (อเมริกัน) ทันทีทันใดและส่งคำตอบของท่านซ้ำไปยัง (สถานทูต) ที่กรุงเทพฯ.

 

ข้อสังเกต

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลอังกฤษส่งโทรเลขฉบับนั้นไปยังเอกอัครราชทูตของตน ประจำกรุงวอชิงตัน เพื่อปรึกษาประธานาธิบดีอเมริกันที่จะส่งสาส์นถึงนายก ร.ม.ต. ไทย โดยใช้ถ้อยคำอย่างห้วนๆ ว่าถ้าประเทศไทยต่อสู้ญี่ปุ่นที่ทำการรุกรานแล้วอังกฤษจะช่วยไทยจนเต็มกำลังของตนเพื่อพิทักษ์เอกราชของไทย

(2) เมื่อรัฐบาลอังกฤษส่งโทรเลขไปวอชิงตันแล้ว อัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ได้ส่งโทรเลขรายงานด่วนฉับพลัน (IMMEDIATE) สวนทางกัน มีข้อความดังต่อไปนี้

 

(CYPHER)

DEPARTMENTAL (SECRET)
FROM BANGKOK TO FOREIGN OFFICE.

Sir J. Crosby,                    D. 4.15. a.m. December 7th, 1941.
No. 893.                        R. 7.40. a.m. December 7th, 1941.
December 7th, 1941.

Repeated to C.O.I.S. Singapore
Australia,
New Zealand,
India,
Burma (by air mail)

IMMEDIATE

(Foreign Office please repeat to Washington, Tokyo and to [sic] if thought urgently necessary).

7:13116/523/G

Your telegrams Nos. 574 and 575 have crossed my telegram No. 892.

7:13220/523/G

I have just seen the Minister for Foreign Affairs and we send you the following message from us both. For God's sake do not allow British forces to occupy one inch of Thai (Siamese) territory unless and until Japan has struck the first blow at Thailand (Siam). At present practically every Thai (Siamese) is behind Britain in opposition to Japan, but it will be otherwise and irreparable harm will be done, if Britain is the first to violate. Thai (Siamese) neutrality.

2. The Thai Prime Minister has positive information that a Japanese attack on Thailand was planned for December 3rd. It was postponed at the last moment, but it is to take place in the immediate future.

3. The Minister for Foreign Affairs tells me Colonel Moriya, who was the Japanese military attaché here some  years ago, has suddenly appeared in Bangkok and procured an interview yesterday with Luang Pradist, now Minister of Finance but formerly Minister for Foreign Affairs. Moriya enquired what was the attitude of Thailand towards Japan and said that the situation was very serious. Luang Pradist replied that he was no longer Foreign Minister and was not competent to answer this question.

4. In view of urgent critical situation I beg to you to telegraph to me, most immediately, authority to approach the Prime Minister with a proposal for the joint defence of southern Thailand in the event of a Japanese attack, as suggested in the second paragraph of my telegram No.820. But I think the Thais would transfer the seat of government to the north for strategic considerations, though they would send a portion of their troops south.

(Repeated to Washington under Foreign Office No. 6772 and to Tokyo under Foreign Office No. 1629).

 

คำแปลเป็นภาษาไทย

โทรเลขลับของเซอร์ เจ. ครอสบี้ เลขที่ 893
วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484)

(รหัส )

เดพาร์ตเมนตัล (ลับ)
จากกรุงเทพฯ ถึงกระทรวงการต่างประเทศ (อังกฤษ)

เซอร์ เจ. ครอสบี้

เลขที่ 893                                ส่งเวลา 4.15 ก่อนเที่ยง วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941
ธันวาคม, วันที่ 7, ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484)           รับเวลา 7.40 ก่อนเที่ยงวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941

ส่งซ้ำถึง ซี.โอ.ไอ.เอส.สิงคโปร์
ออสเตรเลีย
นิวซีแลนด์
อินเดีย
พม่า (โดยเมล์อากาศ)

ด่วนฉับพลัน

กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษโปรดรายงานต่อไปยัง (สถานทูต) วอชิงตัน, โตเกียว, และถึง (คำอ้างที่คลาดเคลื่อน) ถ้าเห็นว่าเป็นการรีบด่วนที่จำเป็น

โทรเลขของท่านเลขที่ 574  (7 : 13116 / 523 / G) และเลขที่ 575 (7 : 13220 / 523 / G) สวนทางกับโทรเลขข้าพเจ้าเลขที่ 892

ข้าพเจ้าได้พบรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ (นายดิเรก ชัยนาม) เมื่อตะกี้นี้ และเราส่งมายังท่านซึ่งสาส์นต่อไปนี้จากเราทั้งสอง. เพื่อบารมีของพระผู้เป็นเจ้าจึงขออย่าให้กองกำลังบริติช (อังกฤษ) ยึดดินแดนไทย (สยาม) แม้แต่หนึ่งตารางนิ้วเดียวเลย นอกจากและจนกระทั่งญี่ปุ่นได้ลงมือโจมตีก่อนต่อประเทศไทย (สยาม). ปัจจุบันนี้ในทางปฏิบัตินั้นคนไทยทุกคนสนับสนุนบริเตนในการเผชิญต่อญี่ปุ่น, แต่การจะเป็นไปอย่างอื่นและการเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้จะเกิดขึ้น, ถ้าบริเตนเป็นฝ่ายละเมิดก่อนต่อความเป็นกลางของไทย

2. นายกรัฐมนตรีไทย (จอมพลพิบูลฯ ) ได้รับข่าวที่ตระหนักชัดแจ้งว่าญี่ปุ่นได้กำหนดแผนการโจมตีประเทศไทยวันที่ 3 ธันวาคม. (แต่) ได้เลื่อนไปในเวลาสุดท้าย, แต่การนั้นจะเกิดขึ้นภายหน้าโดยไม่ชักช้า.

3. ร.ม.ต. ต่างประเทศบอกข้าพเจ้าว่านายพันเอกโมริยา, ซึ่งเคยเป็นทูตทหารญี่ปุ่นที่นี่เมื่อหลายปีมาแล้วนั้น, ได้ปรากฏตัวขึ้นทันใดในกรุงเทพฯ และเมื่อวานนี้ได้เข้าพบหลวงประดิษฐ์ฯ, บัดนี้เป็นรัฐมนตรีว่าการคลังแต่เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมาก่อน. โมริยาได้ถามถึงท่าทีของประเทศไทยต่อญี่ปุ่นและกล่าวว่าสถานการณ์จริงจังมาก. หลวงประดิษฐ์ฯ ตอบว่าเขามิได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศแล้วและไม่มีอำนาจให้คำตอบต่อปัญหานี้

4. ในสถานการณ์ล่อแหลมรีบด่วนนี้ ข้าพเจ้าขอให้ท่านโทรเลขถึงข้าพเจ้าในทันทีทันใด ให้อำนาจ (ข้าพเจ้า) ทาบทามนายก ร.ม.ต. (ไทย) เพื่อเสนอการป้องกันร่วมกันแห่งปักษ์ใต้ของประเทศไทยในกรณีญี่ปุ่นโจมตี, ดังที่ (ข้าพเจ้า) ได้เสนอไว้ในวรรคที่สองแห่งโทรเลขของข้าพเจ้าเลขที่ 820. แต่ข้าพเจ้าคิดว่าชาวไทยจะย้ายที่ตั้งรัฐบาลไทยอยู่ทางเหนือเพื่อเหตุผลทางยุทธศาสตร์ แม้กระนั้นพวกเขาอาจจะส่งกำลังทหารส่วนหนึ่งไปปักษ์ใต้.

(ส่งข้อความซ้ำถึง (สถานทูต) วอชิงตันตามคำสั่งกระทรวงการต่างประเทศ (อังกฤษ) เลขที่ 6772 และถึง (สถานทูต) โตเกียวตามคำสั่งกระทรวงต่างประเทศเลขที่ 1629).

 

ข้อสังเกต

ประการที่ 1

ตามที่ทูตอังกฤษกล่าวในโทรเลขรายงานข้อ 2. ว่า “นายก ร.ม.ต. ไทยได้รับข่าวที่ตระหนักชัดแจ้งว่า ญี่ปุ่นได้กำหนดแผนการโจมตีประเทศไทยในวันที่ 3 ธันวาคม (แต่) ได้เลื่อนไปในวันสุดท้าย, แต่การนั้นจะเกิดขึ้นภายหน้าโดยไม่ชักช้า” นั้น เอกสารทางราชการไทยมีดังต่อไปนี้

(1) บันทึกการประชุมคณะ ร.ม.ต. ตอนเช้าวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ภายหลังที่จอมพลพิบูลฯ ได้กลับจากต่างจังหวัดแล้วเข้าร่วมประชุมคณะ ร.ม.ต. เมื่อเวลาประมาณ 6.50 น. และได้ฟังรายงานที่คณะ ร.ม.ต. ปฏิบัติไปตั้งแต่เวลากลางคืนของวันที่ 7 ธันวาคม เกี่ยวกับคณะทูตญี่ปุ่นมาที่ทำเนียบนายก ร.ม.ต. แต่ไม่ได้พบ เพื่อขอเดินทัพผ่านประเทศไทยและร่วมกับญี่ปุ่นนั้น แต่คณะทูตญี่ปุ่นไม่ได้พบจอมพลพิบูลฯ ครั้นแล้วจอมพลพิบูลฯ จึงได้กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า

 

นายกรัฐมนตรี “เรื่องเจตนาของญี่ปุ่นนั้น คือ ผมก็ไม่เชื่อ เท่าที่ผมได้ติดต่อกับญี่ปุ่นมานานแล้ว ในเรื่องนี้ก็ได้ต่อรองกันมานานแล้ว คือ แกว่าจะเข้ากับแกหรือไม่ ข้อ 2 ถ้าไม่เข้า ก็รบกับแก 3. หรือจะทำเฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้ เมื่อพูดกันแล้วผมก็ได้บอกกับคณะรัฐมนตรีเมื่อวานซืนนี้ แล้วทางนี้ก็ยังไม่ทันได้ตกลงใจอะไรกัน โตโจก็สั่งเดินพรวดๆ เข้ามา คือประการสุดท้ายนั้นเขาก็ส่งคนไปโตเกียว แล้วเขาจะทำอย่างไรนั้น ผมก็นึกว่าคงไม่มีเรื่อง ก็รอฟังดูก่อน แล้วเมื่อวานนี้ก็ได้ไปอธิบายกับพวกที่พระตะบองอยู่เป็นเวลานาน ผมก็นึกว่าเรารอดูเขาก่อน จังหวัดพิบูลสงครามก็เข้ามาแล้ว เมื่อเวลา 7.25 น. นี่เป็นข่าวที่ได้รับ”

 

ทั้งนี้แสดงว่า

(ก) จอมพลพิบูลฯ ได้ติดต่อกับญี่ปุ่นมานานแล้ว และได้เจรจากับญี่ปุ่นดังกล่าวนั้นมาก่อนวันที่ 8 ธันวาคม 2484

(ข) ตามที่จอมพลพิบูลฯ กล่าวว่า “ผมได้บอกกับคณะ ร.ม.ต. เมื่อวานซืนนี้” นั้น

 

คำว่า “วานซืน” ตามความหมายทั่วไปในภาษาไทยหมายถึง “วันก่อนวานนี้วันหนึ่ง” คือ จะต้องเป็น “วันที่ 6 ธันวาคม” เพราะท่านพูดในที่ประชุมคณะ ร.ม.ต. เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. แต่วันที่ 6 ธ.ค. นั้น ไม่มีการประชุมคณะ ร.ม.ต. เพราะจอมพลพิบูลฯ ไปต่างจังหวัดดังปรากฏในบันทึกของท่านผู้นี้ ซึ่ง พล.ต. อนันต์ พิบูลสงคราม ได้นำมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” เล่ม 4 แล้ว

 

คณะ ร.ม.ต. มีการประชุมครั้งหลังที่สุดก่อนวันที่ 6 ธันวาคมนั้นคือ “วันที่ 3 ธันวาคม” ข้อความที่จอมพลพิบูลฯ กล่าวในที่ประชุมคณะ ร.ม.ต. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมนั้นปรากฏในบันทึกการประชุมวันนั้น ซึ่งคณะกรรมการอาชญากรสงคราม (พระยาอรรถกรมมณุตตี) เป็นโจทก์ได้อ้างเป็นเอกสารหลักฐานกล่าวไว้ในฟ้องจอมพลพิบูลฯ เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาฟ้องข้อ 3 (ข) (1) มีความดังต่อไปนี้

 

“เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2484 และวันที่ 3 ธันวาคม 2484 เวลากลางวัน จำเลย (จอมพลพิบูลฯ) ได้กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ชักจูงโดยอุบายด้วยประการต่างๆ ให้รัฐมนตรีเห็นดีเห็นชอบด้วยกับความคิดของจำเลย ในการที่จะให้ประเทศไทยเข้าร่วมทำสงครามเข้าข้างประเทศญี่ปุ่น โดยจำเลยได้อ้างเหตุจูงใจเป็นใจความว่า ถ้าเข้ากับญี่ปุ่นรบอังกฤษจะเสียหายน้อยกว่า และถ้ารบชนะจะได้ดินแดนเก่าที่เสียไปกลับคืนด้วย ข้อความละเอียดปรากฏตามรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี 2 ฉบับ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ช. และ ญ. เหตุเกิดที่ตึกประชุมคณะรัฐมนตรี ตำบลดุสิต อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร”

 

เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นระหว่าง 9-4 วัน ก่อนวันที่ 7 ธันวาคม 2484 คือก่อนวันที่เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ไปที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอเดินทัพผ่านประเทศไทย แต่จอมพลพิบูลฯ มิได้อยู่ที่ทำเนียบในคืนวันที่ 7 ธันวาคม ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างไว้

หนังสือของ พลตรี อนันต์ฯ ชื่อ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” หน้า 325 ที่ได้ลงพิมพ์บันทึกของจอมพลพิบูลฯ มีความตอนหนึ่งว่า

 

“(2) 26 พ.ย. - 3 ธ.ค. พูดใน ค.ร.ม. นั้นเป็นการพิจารณาเหตุการณ์สงคราม ผู้เป็นประธานต้องแถลงทางได้ทางเสียให้ที่ประชุมฟัง และคิดทางร้ายตามหลักการทำสงคราม เพื่อเลือกทางเดินที่ดีที่สุด สุดแต่ ค.ร.ม. จะเลือกทางใด”

 

ทั้งนี้แสดงว่าจอมพลพิบูลฯ ได้ยอมรับว่า ท่านได้พูดตามรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีแห่งวันที่ 26 พ.ย. จะต่างกันเฉพาะในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีบันทึกว่า “วันที่ 28 พ.ย. 2484” แต่จอมพลพิบูลฯ เขียนในบันทึกว่า “26 พ.ย.” ส่วนวันที่ 3 ธ.ค. 2484 นั้นตรงกับคำฟ้องของโจทก์ จอมพลพิบูลฯ แก้ข้อหาเพียงแต่ว่าท่านแถลงทางได้ทางเสียให้ที่ประชุมฟัง

ประการที่ 2

เมื่อพันเอกโมริยาได้ลาผมไปแล้ว ผมได้รีบโทรศัพท์ไปยังทำเนียบนายก ร.ม.ต. เพื่อจะแจ้งเรื่องให้ทราบด่วน แต่จอมพลฯ ไม่อยู่ ผมจึงโทรศัพท์พูดกับพล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ซึ่งเป็นรองนายก ร.ม.ต. และโทรศัพท์พูดกับนายดิเรก ชัยนาม ร.ม.ต. ต่างประเทศ พล.ต.อ. อดุลฯ จึงพูดปรารภกับผมว่า “เหตุการณ์ยามฉุกเฉินเช่นนี้ จอมพลฯ ไม่ควรไปต่างจังหวัด” ต่อมา พล.ต.อ. อดุลฯ ได้ปรารภเช่นนั้นต่อนายดิเรก ชัยนาม ในตอนค่ำของวันที่ 7 ธ.ค. 2484 ดังที่นายดิเรกฯ กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ “ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2”

(3) ต่อมากระทรวงการต่างประเทศ (อังกฤษ) ได้ส่งโทรเลขด่วนฉับพลันที่สุดมายังสถานทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ มีความดังต่อไปนี้

 

(Cypher)

DEPARTMENTAL (SECRET)
FROM FOREIGN OFFICE TO BANGKOK.

No. 595.

7 th December, 1941.                     D. 1.40 p.m. 7th December, 1941.
Repeated to Washington No. 6775.

MOST IMMEDIATE.
MOST SECRET.

Washington telegram No. 5654 (of 6th December).

Please deliver to Thai (Siamese) Prime Minister following revised message from Prime Minister:-

There is possibility of imminent Japanese invasion of your country. If you are attacked defend yourself. The preservation of the full independence and Sovereignty of Thailand is a British interest and we shall regard an attack on you as an attack upon ourselves.

INDIV.

 

คำแปลเป็นภาษาไทย

โทรเลขลับที่สุดของกระทรวงการต่างประเทศ (อังกฤษ) ถึง (สถานทูต) กรุงเทพฯ

วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941

(รหัส)

เดพาร์ตเมนตัล (ลับ)
จากกระทรวงการต่างประเทศ (อังกฤษ) ถึง (สถานทูต) กรุงเทพฯ

เลขที่ 595

วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941          ส่งเวลา 1.40 น. หลังเที่ยง วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941

ส่งซ้ำถึง (สถานทูต) วอชิงตัน เลขที่ 6775 (ตรงกับเวลา 18.40 น. เวลา กรุงเทพ ฯ)

ด่วนฉับพลันที่สุด
ลับที่สุด

โทรเลข (สถานทูตอังกฤษ) วอชิงตัน เลขที่ 5654 (แห่งวันที่ 6 ธันวาคม)

โปรดมอบต่อนายกรัฐมนตรีไทยซึ่งสาส์นของนายกรัฐมนตรี (อังกฤษ) ที่แก้ไขแล้วดังต่อไปนี้

การเป็นไปได้แห่งการรุกรานของญี่ปุ่นโดยไม่ชักช้าต่อประเทศของท่าน ถ้าท่านถูกโจมตีขอให้ป้องกันตน การรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ของประเทศไทยนั้นเป็นประโยชน์ของบริติช และเราจะถือว่าการโจมตีต่อท่านเหมือนการโจมตีต่อเรา

 

ข้อสังเกต

ประการที่ 1

โทรเลขนั้นถึงสถานทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ เวลาใดไม่ปรากฏแต่ดังที่ผมกล่าวแล้วใน (2) ว่าจดหมายของทูตอังกฤษแจ้งสาส์นของ มร. เชอร์ชิลล์นั้นถึงมือจอมพลพิบูลฯ ภายหลังที่คณะ ร.ม.ต. ได้สั่งให้นายทหารหยุดรบญี่ปุ่นแล้ว และได้พิจารณาตกลงให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยแล้ว เพียงแต่พิจารณาร่างข้อตกลงกับญี่ปุ่นที่จะให้นายดิเรกฯ ร.ม.ต. ต่างประเทศเป็นผู้ลงนามแทนฝ่ายรัฐบาลไทยกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเท่านั้น ฉะนั้นสาส์นของ มร.เชอร์ชิลล์ นายก ร.ม.ต. อังกฤษจึงไม่มีอิทธิพลต่อคำวินิจฉัยของที่ประชุมคณะ ร.ม.ต. ไทย

ประการที่ 2

ข้อความในสาส์นที่รัฐบาลอังกฤษแก้ไขใหม่ ที่ให้ทูตอังกฤษส่งต่อถึงจอมพลพิบูลฯ นั้นใช้สำนวนต่างกับร่างสาส์นฉบับ 6 ธ.ค. ที่ส่งไปปรึกษาประธานาธิบดีอเมริกันคือ ร่างสาส์นฉบับ 6 ธ.ค. นั้น ฝ่ายอังกฤษขอให้ฝ่ายไทยต่อสู้ป้องกันการโจมตีของญี่ปุ่น โดยฝ่ายอังกฤษจะเป็นผู้ช่วยไทยอย่างเต็มกำลังของอังกฤษ แต่สาส์นของอังกฤษฉบับที่ทูตอังกฤษนำส่งถึงมือจอมพลพิบูลฯ เมื่อตอนสายวันที่ 8 ธ.ค. ดังกล่าวนั้น รัฐบาลอังกฤษผูกมัดตนยิ่งกว่าร่างสาส์นฉบับก่อนๆ คือ อังกฤษถือว่า “การโจมตีต่อประเทศไทยเหมือนการโจมตีอังกฤษ”

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์.2525. “บทความบางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ ส่วนที่ 3 ความหมายแท้จริงของสาส์นเชอร์ชิลล์ ถึงนายก ร.ม.ต. ไทยเวลาสายของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484.” ใน “อนุสรณ์ นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นักอภิวัฒน์, เสรีไทย นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก”. (กรุงเทพมหานคร : วัฒนาพานิช). หน้า 31-45.