ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช  ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 9 : ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทย

23
พฤษภาคม
2568

ปรีดี พนมยงค์ ประชุมงาน​เสรีไทย​กับนายทหารฝ่าย​สัมพันธมิตร​
ที่มา: เพจ Wartime Asia เอเชียยามสงคราม

 

ตามที่กล่าวแล้วแต่ต้น เมื่อรัฐบาลไทยภายใต้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจในเช้าวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ยอมให้กำลังทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยเพื่อรุกเข้าไปในมลายู ทุกคนในคณะรัฐมนตรีมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ไทยได้พยายามต่อสู้ป้องกันประเทศในหลายจุดที่กำลังทหารญี่ปุ่นขึ้น แต่ไม่สามารถจะต้านทานการรุดหน้าของกำลังทัพสมเด็จพระจักรพรรดิได้นาน หากจะคงยืนต่อสู้ต่อไปประเทศไทยทั้งประเทศจะถูกทำลายแหลกลาญอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น กองทัพไทยจะถูกปลดอาวุธโดยสิ้นเชิง ผู้คนจะพากันล้มตายหลั่งเลือดทาแผ่นดินตามนัยของพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่ของคนไทยในเวลารบ เมื่อขาดความช่วยเหลือจากประเทศภายนอก ไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะยอมจำนนต่อคําเรียกร้องอันฉับพลันของญี่ปุ่น

ท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความเชื่อมั่นว่า ชัยชนะของญี่ปุ่นในระยะแรกนั้น เนื่องจากความประมาทและความไม่พร้อมของอังกฤษและสหรัฐฯ โดยเฉพาะอังกฤษมีภาระหนักในสงครามทางยุโรป เป็นการเผชิญศึกสองด้านอย่างพะว้าพะวัง สมรภูมิแปซิฟิกห่างไกลเกินกว่าที่ราชนาวีอังกฤษจะควบคุม ถึงฝ่ายอักษะอยู่ในฐานะได้เปรียบทั้งสองด้าน กระนั้นก็ตาม ท่านปรีดียังคงเชื่อมั่นว่า ฝ่ายอักษะจะต้องปราชัยในที่สุด ฉะนั้น ท่านจึงรวบรวมเพื่อนที่มีความรู้สึกทำนองเดียวกัน คิดจะแยกตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง โดยจะยึดภาคเหนือของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางต่อต้านญี่ปุ่น ความดำรินี้ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังทัพเข้าประเทศไทยอย่างรวดเร็ว สามารถคุมจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทั่วราชอาณาจักร จึงต้องคิดหาทางอื่นเพื่อติดต่อกับฝ่ายสหประชาชาติ ซึ่งในตอนนั้นที่ใกล้ที่สุด ได้แก่ รัฐบาลจอมพลเจียงไคเช็คที่จุงกิง ท่านจึงสนับสนุนให้คุณดิเรก ชัยนาม ออกไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตที่กรุงโตเกียว ด้วยหวังว่าอาจจะเป็นทางให้ติดต่อจีนได้

ครั้นเมื่อท่านปรีดี พนมยงค์ ต้องพ้นออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกคนหนึ่ง ร่วมกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ท่านยังไม่เลิกล้มแผนการติดต่อกับฝ่ายสหประชาชาติเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อได้ทราบว่า การจะอาศัยกรุงโตเกียวเป็นทางก้าวไปหาจุดหมายนี้ไม่มีทางสำเร็จ เพราะญี่ปุ่นควบคุมการเคลื่อนไหวของสถานทูตอย่างใกล้ชิด ท่านจึงคิดจะส่งสมัครพรรคพวกของท่านเดินทางออกจากประเทศไทยผ่านทางเหนือเข้าอินโดจีนสู่ประเทศจีน บ่ายหน้าไปทางจุงกิงเพื่อติดต่อกับรัฐบาลของจอมพล เจียงไคเช็คให้จงได้ ทั้งนี้เพราะจอมพล เจียงไคเช็คได้กล่าวคำปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ ยืนยันในมิตรภาพกับประเทศไทย จีนต่อสู้ญี่ปุ่นมิใช่ไทย จีนถือประเทศไทยเป็นประเทศพี่น้องที่ถูกญี่ปุ่นบังคับให้เข้าร่วมสงครามกำลังทหารที่รักชาติของไทยควรจะร่วมมือกับจีนในการต่อต้านญี่ปุ่น จนกว่าจะสามารถขับไล่ญี่ปุ่นให้พ้นจากดินแดนจีนและไทยได้ ท่านจอมพลให้คำมั่นว่า ประเทศจีนและสัมพันธมิตรของจีนไม่ต้องการดินแดนของไทย และไม่ต้องการละเมิดอธิปไตยและเอกราชของไทย ทหารและประชาชนชาวไทยควรจะสำนึกว่า ชัยชนะของจีนและสัมพันธมิตรเท่านั้นที่จะนำอิสรภาพกลับมาให้ประเทศไทย จีนไม่ถือไทยเป็นศัตรู แต่เป็นดินแดนที่ถูกทหารญี่ปุ่นยึดครอง

ความจริง เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรตกลงแบ่งเขตยุทธการของจีนให้คลุมประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๔๘๕ และโดยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้รวมประเทศจีนเข้าอยู่ในกรอบการประกาศสงครามของประเทศไทย จอมพล เจียงไคเช็คมีดำริที่จะออกแถลงการณ์แสดงความเห็นอกเห็นใจประเทศไทยในฐานะที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการรุกรานของญี่ปุ่นอยู่แล้ว หากแต่ต้องระงับยับยั้งไว้พลางก่อน เนื่องจากรัฐบาลไทยเกิดผ่อนปรนตามคำขอของญี่ปุ่นให้รับรองรัฐบาลวังจิงไวที่นานกิง สร้างความไม่พอใจอย่างใหญ่หลวง ทางจุงกิง หนังสือพิมพ์จีนถึงกับแสดงความคิดเห็นว่า ไทยไม่ควรแก่เอกราชแล้ว จอมพล เจียงไคเช็คเพิ่งมาเปลี่ยนใจเมื่อได้รับการติดต่อจากนายพลทหารไทยคนหนึ่งทางรัฐฉาน ที่เสนอให้จีนออกประกาศให้กำลังใจแก่คนไทยทำการต่อต้านญี่ปุ่น จอมพลเจียง ไคเช็คจึงตกลงใจกล่าวคำปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ ดังกล่าวข้างต้น และไม่กี่วันต่อมา ประธานาธิบดีรุสเวลท์ก็ขานรับสนับสนุน ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเสนอความเห็นให้รัฐบาลอังกฤษปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความสอดคล้องต้องกันระหว่างสัมพันธมิตร และได้เสนอร่างถ้อยแถลงเพื่อการนี้ต่อคณะรัฐมนตรีสงคราม หากต้องถูกนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล ยับยั้งไว้ โดยให้เหตุผลว่าน่าจะจัดให้มีการควบคุมคอคอดกระของประเทศไทยโดยวิธีใดวิธีหนึ่งเสียก่อน เพื่อป้องกันมิให้มีการอาศัยเขตแดนไทยเข้าโจมตีมลายูและสิงคโปร์ซํ้ารอยญี่ปุ่นในภายภาคหน้า

 


ปรีดี พนมยงค์ ขณะประชุมปรึกษางานกับเสรีไทยที่ทำเนียบท่าช้าง

 

ทางผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พิจารณาแล้วเห็นว่า ไทยควรจะรีบดำเนินการติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อให้มีความเข้าใจไทยอย่างถูกต้อง เมื่อจอมพล เจียงไคเช็คเป็นผู้เบิกทางให้ ท่านจึงตัดสินใจรีบดำเนินการในด้านนั้นก่อน ด้วยการส่งคนออกไปติดต่อกับฝ่ายจีนเป็นรายแรก ท่านได้เลือกเฟ้นส่งคุณจำกัด พลางกูร ลักลอบเดินทางออกไปประเทศจีนทันที การเดินทางทางบกระหกระเหินมาก ต้องบุกป่าฝ่าดงทุรกันดาร แม้จะได้อาศัยผู้รู้จักภูมิประเทศเป็นผู้นำทางเป็นช่วง ๆ ไป คุณจำกัดไปถึงนครจุงกิงเมื่อเดือนเมษายน ๒๔๘๖ ขอเข้าพบจอมพล เจียงไคเช็ค แสดงตนเป็นเลขานุการของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทย และชี้แจงสถานการณ์ภายในประเทศว่า ประกาศสงครามของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่ออังกฤษและสหรัฐฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย และไม่เป็นไปตามเจตจำนงของประชากรไทย ถือเป็นโมฆะ จึงไม่มีสถานะสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษและอเมริกา มิตรภาพระหว่างไทยกับทั้งสองประเทศ ยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้น จึงใคร่จะขอทำความเข้าใจกับฝ่ายสหประชาชาติ เพื่อขอให้อังกฤษลดความเข้มงวดกับไทยลง ไม่ถือประชาชนชาวไทยว่าเป็นศัตรูของอังกฤษ เพราะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตกอยู่ในอำนาจของญี่ปุ่น ไม่มีอิสรภาพแท้จริง ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นคิดว่า จำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลไทยเสรีขึ้นบนดินแดนของอินเดีย ขอให้รัฐบาลอังกฤษและอเมริการับรองรัฐบาลใหม่นี้ และทำความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน แกนสำคัญของรัฐบาลนอกประเทศจะประกอบด้วยผู้นำที่หลบหนีออกจากประเทศไทย ซึ่งจะรวมทั้งท่านปรีดี ผู้สำเร็จราชการ รัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยอย่างน้อย ๑๐ คน เพื่อการนี้ขอให้รัฐบาลอังกฤษและอเมริกาปลดปล่อยเงินของรัฐบาลไทยที่ถูกกักกันให้แก่รัฐบาลไทยเสรี

 


จำกัด พลางกูร

 

ฝ่ายจีนให้การต้อนรับคุณจำกัด พลางกูร ดีพอสมควร จัดสถานที่ให้อยู่ด้วยความปลอดภัย มอบหมายให้นายพล เซ็งไกเมน เจ้ากรมยุทธการเป็นผู้ดูแลและติดต่อ จีนอยากจะให้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นไทยเสรีในประเทศจีนด้วยซํ้า หากแต่คุณจำกัดอ้างว่าจะต้องปรึกษาหารือกับรัฐบาลอังกฤษและอเมริกาเสียก่อน ฝ่ายจีนเก็บตัวคุณจำกัดไว้เงียบเป็นเวลาประมาณ ๔ เดือน จึงเปิดโอกาสให้พบกับเอกอัครราชทูตอังกฤษและอเมริกาประจำจุงกิง คุณจำกัดได้รับคำยืนยันจากทูตอเมริกาว่า รัฐบาลอเมริกาเห็นด้วยกับท่าทีของจอมพล เจียงไคเช็ค ที่ประกาศทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ และพร้อมจะยอมรับนับถือรัฐบาลไทยเสรีที่จะจัดตั้งขึ้น ทางที่ดีคุณจำกัดควรเดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา เมื่อคุณจำกัดพบกับเซอร์โฮรัส เชย์มัวร์ เอกอัครราชทูตอังกฤษ ในวันที่ ๖ สิงหาคม คุณจำกัดสอบถามว่า เมื่อใดรัฐบาลอังกฤษจะแถลงท่าทีเกี่ยวกับประเทศไทยสักที การเงียบเฉยทำให้คนไทยเกรงไปว่า อังกฤษมีนโยบายมุ่งต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขตของไทย เอกอัครราชทูตอังกฤษตอบว่า รัฐบาลอังกฤษมีความผูกมัดตามปฏิญาณแอตแลนติกอยู่แล้ว คุณจำกัดถามเซอร์โฮรัสต่อไปว่า ในกรณีที่มีการจัดตั้งรัฐบาลไทยชั่วคราวขึ้นในอินเดีย รัฐบาลอังกฤษจะยอมรับนับถือหรือไม่ รัฐบาลอังกฤษมีความเห็นอย่างไร ถ้ามีการประกาศว่า ความตกลงที่รัฐบาลพิบูลสงครามทำกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๔ และประกาศสงครามเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นโมฆะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ อังกฤษจะกลับเปิดการติดต่อทางการทูตกับไทยตามเดิมหรือไม่ และประการสุดท้าย อังกฤษจะยอมพิจารณาปล่อยเงินของไทยที่กักกันไว้เพื่อให้รัฐบาลไทยชั่วคราวใช้จ่ายในการทำสงครามกับญี่ปุ่นหรือไม่ เซอร์โฮรัสตอบว่า จะต้องรายงานไปยังกรุงลอนดอนก่อน ทูตเชื่อว่า หลักเกณฑ์ในการยอมรับนับถือรัฐบาลไทยชั่วคราวเช่นว่านั้น สำคัญอยู่ที่ความไว้วางใจที่ได้รับภายในประเทศไทย

ระหว่างที่คุณจำกัดเดินทางไปประเทศจีนซึ่งต้องใช้เวลานานนั้น เหตุการณ์ทางประเทศไทยได้คลี่คลายไปอีกก้าวหนึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งวางตัวเป็นผู้นำของชาติเริ่มประสบกับปัญหาทั้งในทางราชการและทางส่วนตัว รัฐนิยมซึ่งสรรหากำหนดขึ้นให้ประชาชนปฏิบัติ กลับมีผลก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง เช่น การบังคับให้สตรีสวมหมวกเมื่อจะออกนอกบ้าน เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อติดต่อกับทางราชการ การห้ามกินหมาก การบังคับให้ตัดต้นพลูต้นหมาก ซึ่งแม้จะไม่ทารุณกดขี่รุนแรงเท่าใดนัก แต่ก็เป็นการจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพของคนไทยโดยไม่จำเป็น ทางสภาผู้แทนราษฎรเกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลบ่อยขึ้น คตินิยม “พิบูลตลอดกาล” ชักจะเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เกิดน้อยใจทำหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรียื่นต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ อ้างสุขภาพไม่สมบูรณ์ แท้ที่จริงท่านประสงค์จะทดสอบดูว่า ยังมีผู้จงรักภักดีต่อท่านเพียงใด ครั้นเมื่อคณะผู้สำเร็จราชการฯ อนุมัติการลาออกแล้ว คุณทวี บุณยเกตุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งเรื่องไปประกาศทางวิทยุและกระจายเสียง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เกิดเปลี่ยนใจไม่ยอมออก เพราะไม่แน่ใจว่า ออกแล้วจะกลับได้รับแต่งตั้งอีกอย่างเมื่อปี ๒๔๘๕ หรือไม่ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิเสธข่าวทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ ๑๕ ว่า ความจริงท่านมิได้ลาออก ตอนนั้น พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงเกิดกลัวขึ้นมา ถึงกับเสด็จไป

 


ทวี บุณยเกตุ

 

ขอประทับแรมที่ทำเนียบของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ท่าช้างภายใต้การคุ้มครองของกำลังทหารเรือ คุณทวี บุณยเกตุ ตกลงใจลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสียก่อน ท่านปรีดี พนมยงค์ ขอให้คุณทวี บุณยเกตุ ไปพบ เชิญให้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นโดยวางแผนว่า เพื่อเปิดสภาผู้แทนราษฎรใหม่จะหาทางชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกเพื่อให้ลงมติแต่งตั้งคุณทวี บุณยเกตุ เป็นประธานสภา หลังจากนั้น ท่านปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คุณทวีในฐานะประธานสภา และ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะได้ร่วมกันเดินทางหลบหนีไปต่างประเทศ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลไทยเสรีนอกประเทศ เมื่อรัฐบาลใหม่นี้มีทั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรี ในคณะรัฐบาลเก่าร่วมอยู่ การกระทำต่าง ๆ ย่อมจะถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลไทยพลัดถิ่นจะสามารถทำการติดต่อกับฝ่ายสหประชาชาติได้โดยเรียบร้อย และด้วยความเข้าใจดีต่อกัน คุณทวี บุณยเกตุ ตกลงรับแผนการของท่านปรีดี

สถานะสงครามเริ่มเปลี่ยนกระแสตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๔๘๖ พลเรือเอก ยามาโมโตต้องประสบชะตากรรม ติดตามด้วยการสูญเสียเกาะอัตตู ทางด้านยุโรป มุสโสลินีต้องพ้นจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม แม้ในระหว่างการเยือนประเทศไทยของพลเอก โตโจในเดือนกรกฎาคม ซึ่งได้นำ เอาดินแดนด้านมลายูและพม่ามายกให้แก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ดูจะไม่ได้ผลสนับสนุนให้ไทยคงยึดมั่นในมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย ญี่ปุ่นตระหนักดีว่า ไทยจะศรัทธาในพันธไมตรีกับญี่ปุ่นตราบเท่าที่คิดว่า ญี่ปุ่นจะให้ความคุ้มครองทางทหารแก่ไทยได้ ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มโจมตีไทยทางอากาศหนักมือขึ้นในปลายปี ๒๔๘๖ โดยเฉพาะอภิชนไทยนิยมฟังวิทยุกระจายเสียงของฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่เหมือนคนญี่ปุ่นที่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังคลื่นสั้นเลย

บีบีซี. จากนิวเดลี โจมตีจอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่เสมอ กล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติ เป็นข้าทาสของญี่ปุ่น การขู่จะถือพวกนิยมญี่ปุ่นเป็นอาชญากรสงคราม ทำให้นักการเมืองไทยพยายามเบี่ยงบ่ายจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นจำนวนมาก เป็นโอกาสให้ท่านปรีดีดำเนินแผนจะจัดตั้งรัฐบาลนอกประเทศ ภายหลังการลาออกครั้งแรกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งท่านว่าได้กุขึ้นเองเพื่อสอบดูว่า มีผู้ใดบ้างที่ยังจงรักภักดีต่อท่าน

ท่านปรีดีเปรยว่า น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่มีบาโดกลีโอแปรพักตร์ วางแผนเอามุสโสลินีพ้นจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนนโยบายเข้าข้างพันธมิตร ท่านจอมพลไม่พอใจการเปรียบเปรยเช่นนั้นมาก จอมพล เกอริงเตือนผู้แทนญี่ปุ่นในกรุงเบอร์ลินว่า ไทยอาจจะกลายเป็นอิตาลีในด้านตะวันออกวันหนึ่งข้างหน้า

ครั้นเมื่อมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๘๖ การเป็นไปตามแผนของท่านปรีดี คือ คุณทวี บุณยเกตุ ได้รับเลือกเป็นประธานสภา คุณควง อภัยวงศ์ ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม พร้อมกับคุณทวี ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภา แต่สิ่งที่ท่านปรีดีไม่ได้คาดหมายไว้ก็คือ เมื่อนำประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาขึ้นให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรี ขัดข้องไม่ยอมรับสนองประกาศพระบรมราชโองการฉบับนั้น โดยอ้างเหตุผลทางการเมืองว่า ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ไว้วางใจคุณทวีและคุณควง เนื่องจากถือเป็นผู้ฝักใฝ่เข้าข้างอังกฤษและอเมริกา ถ้านายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ อาจทำความไม่พอใจแก่ทางฝ่ายญี่ปุ่น ท่านได้จัดให้พลโท พิชิต เกรียงศักดิ์พิชิต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงเตือนสภาฯ ว่า ญี่ปุ่นอาจจะยึดครองประเทศเลยก็ได้ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ กระทบถึงความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศ เมื่อนายกรัฐมนตรีชี้แจงเช่นนั้น และยังยกเหตุผลทางทหารขึ้นประกอบหลายประการ สภาผู้แทนราษฎรจึงต้องประชุมใหม่เพื่อเลือกตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้แก่ พลเรือตรี กระแสประวาหะนาวิน ศรยุทธเสนี และคุณควง อภัยวงศ์ ตามลำดับ

แผนของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่จะพากันออกไปจัดตั้งรัฐบาลนอกประเทศถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นอันต้องระงับไป ต้องกลับไปรอฟังผลของการติดต่อทางจุงกิงต่อไป และเมื่อยังไม่ได้รับข่าวจากคุณจำกัด พลางกูร ท่านปรีดีให้จัดส่งคุณสงวน ตุลารักษ์ และคุณแดง คุณะดิลก ตามออกไปประเทศจีนอีกคณะหนึ่ง โดยให้เดินทางผ่านอินโดจีนเช่นเดียวกับคุณจำกัด พลางกูร

เมื่อรัฐบาลจีนที่จุงกิงตัดสินใจแจ้งเรื่องคุณจำกัด พลางกูร ให้ฝ่ายอังกฤษและอเมริกาทราบ ทางอังกฤษสอบถามเซอร์โจซาย ครอสบี้ และนายมณี สาณะเสน ดูได้ความว่าคงจะไม่ใช่สายของญี่ปุ่น เป็นพี่ของคุณกำแหง พลางกูร อาสาสมัครในหน่วยงานการโยธา ที่กำลังได้รับการฝึกอยู่ที่อินเดียนั่นเอง

คุณสงวนพร้อมด้วยภริยา บุตรสองคน และคุณแดง คุณะดิลก เดินทางถึงประเทศจีนเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๘๖ พร้อมด้วยนโยบายแนวเดียวกับคุณจำกัด รัฐบาลจีนปรารถนาจะให้จัดตั้งรัฐบาลไทยชั่วคราวที่จุงกิง และพร้อมที่จะให้ยืมเงินเป็นค่าใช้จ่ายในชั้นแรกหนึ่งล้านปอนด์ ซึ่งคุณจำกัดเห็นว่าจะผูกมัดประเทศไทยกับจีนมากเกินไป ควรรอให้มีโอกาสปรึกษาหารือกันก่อน รัฐบาลชั่วคราวควรอยู่ที่อินเดียมากกว่า ตามทัศนะของอังกฤษ คุณค่าของขบวนการต่อต้านอยู่ที่ผลงานในทางปฏิบัติว่า จะสามารถดำเนินการได้อย่างใด มีประสิทธิภาพเพียงใด มิใช่เพียงจะเชื่อทุกถ้อยคำที่กล่าวอ้างเท่านั้น และการที่กล่าวว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้าขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ย่อมเป็นสิ่งเหลือเชื่อของผู้ไม่รู้จักประเทศไทย เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้มากกว่า ฝ่ายอังกฤษไม่สนใจจะพูดในเรื่องการเมือง ในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของไทย และในเรื่องอนาคตของประเทศไทย หากสนใจแตเพียงว่า ถ้าขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทยมีจริง จะให้ความร่วมมือทางทหารแก่ฝ่ายอังกฤษในการเผชิญกับญี่ปุ่นได้เพียงไรต่างหาก เดชะบุญที่ฝ่ายสหรัฐฯ ไม่แข็งกร้าวถึงเพียงนั้นและประสงค์ที่จะฟังถ้อยคำผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของขบวนการภายในประเทศไทย จึงเป็นอันตกลงให้รัฐบาลจีนที่จุงกิงส่งคุณจำกัดไปกรุงวอชิงตัน บังเอิญคุณจำกัดต้องสิ้นชีวิตเสียก่อนด้วยโรคมะเร็ง สหรัฐฯ ขอให้คุณสงวน และคุณแดงไปแทน จึงสามารถได้ข้อเท็จจริงบางอย่างเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับกำลังทหารญี่ปุ่น แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่คุณสงวนและคุณแดงทราบเมื่อหกเดือนก่อน ซึ่งอาจจะต้องปรับปรุงเพื่อให้ได้ความถูกต้องแน่แท้ คุณสงวนยํ้าโดยเฉพาะในการที่จะให้หาทางช่วยให้ท่านปรีดีเดินทางจากประเทศไทยออกไปสหรัฐอเมริกาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลไทยพลัดถิ่นต่อไป คุณสงวนและคุณแดงพบกับเจ้าหน้าที่ โอ.เอส.เอส. หลายครั้งหลายหน เมื่อทางฝ่ายอเมริกันได้ข่าวคราวทางประเทศไทยจากทั้งสองท่านเพียงพอแล้ว เขาจึงส่งให้ไปช่วยงานของหน่วย โอ.เอส.เอส. ที่ประจำอยู่กับกองบัญชาการสูงสุดของสหประชาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้พลเรือเอก ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน ที่เมืองแคนดี เกาะลังกา

พึงสังเกตว่า การดำเนินนโยบายของฝ่ายสัมพันธมิตรเกี่ยวกับประเทศไทยและอินโดจีนยังไม่รู้ประสานกันสนิท จีนถือเขตนี้อยู่ในเขตยุทธการจีน ฉะนั้น การติดต่อกับผู้แทนที่ขบวนการต่อต้านของไทยส่งออกไป จีนจึงอยากจะให้กระทำกันภายในสายงานของจีน และในชั้นแรก พยายามกีดกันมิให้ฝ่ายอเมริกันและอังกฤษทราบ เมื่อลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหประชาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งแรกที่จำเป็นต้องกระทำก็คือ ทำความเข้าใจกับฝ่ายจีนในเรื่องการดำเนินยุทธการในประเทศไทยและอินโดจีนให้แน่ชัด

ฝ่ายจีนเองไม่สู้อยากจะแบ่งอำนาจให้อย่างไร นอกจากจะยอมรับว่า ในที่สุดอาจมีการคาบเส้นในการปฏิบัติการระหว่างยุทธภูมิจีนกับยุทธภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลอร์ดหลุยส์ถือกองบัญชาการของท่านเข้าไปดำเนินการใต้ดินในประเทศไทยได้ และเปิดไฟเขียวให้แก่ทั้งกำลัง ๑๓๖ ของอังกฤษ และ โอ.เอส.เอส. ของอเมริกาส่งสายเข้าไปปฏิบัติภายในเขตนี้ได้

 

หมายเหตุ :

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หนังสือการวิเทโศบายของไทยแล้ว
  • ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 184-192.

บรรณานุกรม :

  • ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 184-192.

บทความที่เกี่ยวข้อง :