ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ชีวิตของพ่อ "หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน"

23
สิงหาคม
2565

67 ปีของชีวิตของพ่อ (หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน หรือ ท่านชิ้น) จะต้องแบ่งออกเล่าทีละยุค ทีละรัชกาล คือ

  1. รัชกาลที่ 5 เกิด และ เยาว์วัย
  2. รัชกาลที่ 6 นักเรียนนอก — ในประเทศอังกฤษ
  3. รัชกาลที่ 7 รับราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
  4. รัชกาลที่ 8 ลี้ภัยการเมือง (ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ที่ประเทศอังกฤษ และงานเสรีไทย
  5. รัชกาลที่ 9 ใช้ชีวิตในต่างแดนอีกครั้ง หลังจากกรณีสวรรคต
  6. วาระสุดท้าย กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน เริ่มชีวิตชาวไร่ในชนบท จนสิ้นชีพิตักษัย

 

หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน
หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

 

พ่อเกิดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2443 ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 1900 เป็นลูกคนที่ 9 ของสมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ และลูกคนโตของ ม.ร.ว.เสงี่ยม สนิทวงศ์ —  ซึ่งเป็น “เมียรับตรา” พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระราชทานให้แก่เสด็จปู่ — ผู้เป็นน้อง

เด็จ[1]ปู่เป็นพระโอรสในรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม) ร่วมมารดากับสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 5 ทั้ง 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สมเด็จพระพันวัสสาฯ และสมเด็จพระพันปีหลวง กับสมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ พระเชษฐาพระองค์ใหญ่

คุณย่าเป็นธิดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นน้องสาวของเจ้าจอมมารดาเนื่องในรัชกาลที่ 5 พระมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท และสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พ่อจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสกุล เทวกุล สนิทวงศ์ และ รังสิต

ชีวิตในเยาว์วัยของพ่อ ถ้าเป็นสมัยปัจจุบัน จะเรียกว่าเป็น Deprived Childhood ก็ได้ เมื่ออายุไม่กี่ขวบ พ่อแม่แยกทางกัน เด็จปู่ทรงพาหม่อมเจ้าหญิงอาภาพรรณี (ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี) เข้ามาประทับด้วยในวัง เป็นพระชายาพระองค์หนึ่ง ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ ผู้เป็นพี่ชายใหญ่ของคุณย่า เห็นเป็นการดูหมิ่นราชสกุลสนิทวงศ์เป็นอันมาก ในเมื่อคุณย่าเป็น “เมียพระราชทาน” อันถูกต้องตามขนบธรรมเนียมยังดำรงตำแหน่งอยู่ในวัง จึงมารับเชิงบังคับให้คุณย่าทิ้งเด็จปู่ ทิ้งลูก กลับมาอยู่กับครอบครัวสนิทวงศ์ ทั้งๆ ที่คุณย่ายังรักและอาลัยเด็จปู่ อยากจะอยู่ด้วยต่อไป ไม่มีความเคียดแค้นแต่อย่างไร ตั้งแต่นั้นมา ชีวิตคุณย่าคงมีแต่ความเงียบเหงา ปราศจากความรักความอบอุ่น ในเมื่อลูกสุดที่รักคนเดียวก็ถูกพรากจากกัน เด็จปู่ได้นำพ่อไปถวายสมเด็จพระพันปี พ่อจึงเติบโตมาในวังตั้งแต่นั้น นานๆ ที่จึงจะได้พบกับพ่อแม่

ชีวิตในวังพญาไท เมื่อมองดูเผินๆ อาจคิดว่าเป็นชีวิตที่อภิสิทธิ์ โก้ หรูหรา มั่งคั่ง แต่ความจริงแล้วเป็นชีวิตที่ขาดความรักความอบอุ่นอันแท้จริง ถึงแม้สมเด็จพระพันปีฯ ผู้เป็นสมเด็จป้าจะทรงพระเมตตาเพียงไร การเลี้ยงดูเอาใจใส่โดยพี่เลี้ยงไม่มีวันเทียมเท่าความรักเอาใจใส่จากแม่ของตัวเอง พ่อคงต้องว้าเหว่มากที่ต้องจากแม่ จากคนเลี้ยงคนเดิม ชีวิตในวังเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาแก่งแย่งแข่งดีระหว่างพี่เลี้ยงทั้งหลาย ต่างคนต่างก็อยากให้เด็กที่ตนเลี้ยงได้หน้าเป็นที่โปรดปราน

พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า ถ้าวันไหนพ่อเข้าเฝ้าแล้วไม่ได้ทำตัวดีเด่นดังที่พี่เลี้ยงเสี้ยมสอนไว้ กลับมาต้องโดนหยิกทำโทษ รวมความแล้วผู้ที่เข้าใจจิตวิทยาของเด็กสมัยนี้ เข้าใจเรื่องการพัฒนาทางจิตใจของเด็ก จะรู้ซึ้งเลยว่าจิตใจและอารมณ์ของพ่อต้องถูกทำร้ายเสียหายไม่ใช่น้อย ยังเคราะห์ดีอยู่อย่างหนึ่งที่ว่าพ่อเป็นคนเล่นตลกเก่ง ทำให้ทรงพระสรวลได้ สมเด็จพระพันปีฯ จึงทรงโปรดปราน เมื่อโตขึ้น เวลาเสด็จไหน พ่อก็ได้เป็นคนช่วยพยุงท่าน พ่อได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง พ่อได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2461 (ค.ศ. 1918)

 

หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน
หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

 

จากประสบการณ์ที่ได้เติบโตในพระราชวังพญาไทกับสมเด็จพระพันปีหลวง ตั้งแต่เล็กจนไว้ในหนังสือ “ปรัชญาชาวไร่” ว่า

 

“ข้าพเจ้าได้รับการอบรมสั่งสอนจากสำนักสมเด็จพระพันปีหลวงให้รู้จักใช้ความสังเกต และให้มีความอดทนทั้งทางกายและทางใจ ตลอดจนความรู้เบื้องต้นว่าในโลกนี้นั้น ความสุขและความสบายจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เมื่อเราได้ทิ้งความยึดมั่นในการเป็นตัวตนของเราว่าใหญ่ยิ่งที่สุดนี้เสีย โดยสละตัวนี้ทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระเจ้าอยู่หัวและเจ้านายผู้ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูเรา.... การประจบประแจงนั้น อย่างดีก็เป็นแต่เพียงนโยบายที่เป็นดาบสองคม ซึ่งจะหันมาทำลายตัวเองได้อย่างง่ายที่สุด.... เมื่อกรรมของเรายังทำให้เราพ้นจากที่นั่งคอขาดไปไม่ได้ ก็สู้อดทนรับเอาไว้เสียดีกว่า เพราะถ้ารับไว้ได้ด้วยความอดทน มันก็ย่อมจะผ่านพันไปเอง....”

 

เริ่มยุคที่สองในชีวิตของพ่อ — พ่อเดินทางไปประเทศอังกฤษในเรือมิเตาของบริษัทอีสท์ เอเซียติค ในเรือลำเดียวกันนี้มีราชทูตคนใหม่ คือ พระยาบุรีนวราษฐ์ซึ่งเพิ่งได้รับพระราชทานพระกรุณาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นราชทูตประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พร้อมกันกับท่านทูตก็มีครอบครัวท่านทูต ได้แก่ คุณหญิงเนื่อง บุรีนวราษฐ์ และธิดาอายุ 9 ขวบ ชื่อ เสมอ แล้วยังมีเจ้านายองค์อื่นๆ อีก เช่น พระองค์จุมกฎฯ พระองค์ภาณุฯ และลูกข้าราชการผู้ใหญ่อีกมากมายเดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษ รวมทั้งสิ้น 37 องค์/คน — พ่อพบกับแม่เสมอเป็นครั้งแรกก็ในเรือมิเตานี้

 

‘Al Capone’
‘Al Capone’

 

สมัยนั้นแม่แทบจะเป็นนักเรียนผู้หญิงแต่ผู้เดียวที่สถานทูต 23 Ashburn Place ในไม่ช้าก็มีนักเรียนหนุ่มๆ มาติดใจแม่ ตั้งแต่แม่อายุ 11-12 รวมทั้งพ่อ และพระองค์เจ้าอีกหลายพระองค์ แต่พ่อออกจะติดตามใกล้ชิดที่สุด มีเรื่องเล่ากันว่าครั้งหนึ่งเมื่อแม่อายุเพียง 13 ปี เป็นนักเรียนประจำอยู่ที่โรงเรียนเบลสเตด (Belstead School) ในเมืองนอร์ฟอล์ค (Norfolk) พ่อขอติดตามไปในรถ เมื่อผู้ดูแลนักเรียนไปเยี่ยมแม่ เพื่อจะได้พบแม่ หลังจากมีการส่งกุหลาบแดงไปให้ที่โรงเรียน

ต่อมาคุณตาต้องย้ายไปเป็นทูตที่กรุงวอชิงตัน ตอนแรกก็ทิ้งแม่ไว้ที่โรงเรียนประจำแห่งนี้ แต่เมื่อทราบว่า “ท่านชิ้น” ไป “รังควาน” อยู่เรื่อยๆ คุณตาไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนถึงกับย้ายแม่จากอังกฤษไปเข้าโรงเรียนใกล้ๆ สถานทูตที่วอชิงตัน ไม่ช้าเมื่อแม่อายุได้ 15 ปีเท่านั้น คุณตาก็ถึงแก่กรรมตัวโรค T.B. คุณยายเป็นหม้ายเมื่ออายุเพียง 33 ปี ต้องพาลูกสาวคนเดียวกลับประเทศไทย แม่จึงไม่ได้เรียนต่อ ถ้าแม่ยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนที่อังกฤษ แม่ก็คงจะสอบ Matriculation ได้แล้ว คงมีหวังได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย

พ่อเรียนจบที่ Woolich Military Academy เป็นนายร้อยทหารปืนใหญ่ จากโรงเรียนเดียวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

พ่อได้เขียนในหนังสือ “ปรัชญาชาวไร่” ต่อไปว่า

 

“จากการอบรมที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก และต่อมาที่โรงเรียนนายร้อยวูลิชในประเทศอังกฤษ.... ก็มุ่งหมายถึงการสร้างให้เกิดความอดทนและเสียสละต่อไปอีก ผู้ใดจะได้เกียรติหรือการสรรเสริญก็แต่เมื่อเขาได้แสดงความไม่เห็นแก่ตัว โดยมีจิตสาธารณะ อันมุ่งหวังแต่จะทำประโยชน์ให้แก่คณะ หรือส่วนรวมโดยเฉพาะเท่านั้น.... หน้าที่ที่ทุกคนได้รับให้ทำนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด.... ถ้าตกลงใจว่าจะทำอะไรแล้วก็ต้องทำกิจการนั้นอย่างจริงๆ จังๆ ไม่มัวลังเลใจ คอยสงสัยโน่น ระแวงนี่.... แต่การกล้าทำนี้ ทหารทุกคนย่อมได้รับการอบรมมาให้กล้าทำ โดยมีสติยึดกุมไม่ใช่โดยอาการส่งเดช.... หลักปรัชญาสำหรับไว้กุมใจ คือจะทำอะไรพึงต้องทำด้วยความไม่เห็นแก่ตัว สิ่งกระทำนั้นจึงจะเจริญ”

 

การอบรมจิตใจที่ได้รับจากชีวิตในวังและโรงเรียนนายร้อยนี้ จะเป็นหลักประจำใจของพ่อ ในการปฏิบัติงานเสรีไทยอันยากลำบากในกาลข้างหน้า

พ่อกลับมารับราชการเป็นทหารปืนใหญ่ ในแผ่นดินรัชกาลที่ 7 เมื่อกลับมาใหม่ๆ พ่อได้เล่าว่า พ่อไปชอบสาวๆ ในพระราชสำนักอีกหลายคน แต่เมื่อแม่กลับมาถึงเมืองไทย พ่อจึงกลับมาเกี้ยวพาราสีแม่อีกครั้งหนึ่ง คุณยายไม่ค่อยจะ “หลงใหลได้ปลื้ม” พ่อนัก ด้วยได้รับอิทธิพลจากคุณตา ผู้ซึ่งไม่ชอบหน้าพ่อเอาเลย พ่อต้องพยายามทุกทางทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ไปขอให้เด็จปู่ไปทาบทามกับคุณทวดสิงห์— พระยาสิงหเสนี — ผู้เป็นพ่อของคุณยาย จนคุณยายไม่สามารถปฏิเสธได้ง่ายๆ แม่เคยเล่าให้ฟังว่าเด็จปู่เคยไปขอให้คุณทวดสิงห์อนุญาตให้แม่ไปงานสโมสรสันนิบาตที่ท่านจัด แล้วให้พ่อแอบเข้าไปในงานนั้นด้วย พ่อไปหาแม่ทุกวันในที่สุดแม่บอกว่าทน “ตื๊อ” ของพ่อไม่ได้ จึงตกลงแต่งงานด้วย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2469 (ค.ศ. 1927) เมื่อแม่อายุเพียง 17 ปีเท่านั้น แม่ต้องเลิกเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนราชินี ทั้งๆ ที่แม่กำลังสนุกมาก สมัยนั้นเมื่อผู้หญิงแต่งงานก็ต้องเลิกทำงาน เป็นแม่บ้านแต่อย่างเดียว

ก่อนแต่งงานพ่อได้บวชที่วัดราชาธิวาส หนึ่งพรรษา เมื่อปี พ.ศ. 2469 มีจดหมายที่ซึ้งใจมาก ที่พ่อเขียนถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อพ่อบวชใหม่ๆ พรรณาถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดความสวามิภักดิ์ จงรักภักดีต่อพระองค์ ตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ความสุขที่สุดในชีวิตของพ่อ เมื่อไปคลุกคลีเข้าเฝ้าอยู่ในวังศุโขทัย ตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์ เมื่อพ่อกำลัง “เมาลม” ระหว่างที่รับราชการเป็นทหารพ่อก็เขียนไปถวายว่ารักแม่อย่างไรบ้าง....

 

หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน บวชที่วัดราขาธิวาส
หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน บวชที่วัดราขาธิวาส

 

เมื่อแต่งงานแล้ว พ่อก็ได้พาแม่เข้าไปเฝ้าฯ อยู่เสมอๆ เมื่อมีงานฉลองขึ้นพระตำหนัก พระราชวังไกลกังวล พ่อเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดการแสดงรีวิว “ไกลกังวล” ฟังเล่าดูสนุกสนานขบขันมาก เสียแต่แม่ไม่ได้ร่วมอยู่ในแถว “หางเครื่อง” พร้อมกับหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ หม่อมหลวงบัวและนางพระกำนัลทั้งหลายด้วย เพราะแม่กำลังท้อ “พี่ต้อ” ระหว่างปี 2471

 

เล่นสกีกับ ‘เหมอ’ ที่สวิสเซอร์แลนด์
เล่นสกีกับ ‘เหมอ’ ที่สวิสเซอร์แลนด์

 

แต่งงานแล้วไม่เท่าใด พ่อก็ได้รับพระราชทานบ้านหลังหนึ่งที่ถนนราชวิถี (คือ สภาสังคมสงเคราะห์ฯ ในปัจจุบัน สำหรับตัวบ้าน เคยเป็นสถานที่เลี้ยงเด็กอ่อนของกรมประชาสงเคราะห์) ช่วงแต่งงานใหม่ๆ นี้พ่อมีปัญหาการเงินพอใช้ (ตามเคย) แต่ก็ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระปกเกล้าฯ ช่วยชีวิตไว้เสมอ

พอลูกสาวคนที่ 2 “หนูหน่อย” เกิดได้ไม่กี่เดือน พ่อก็ถูกส่งไปเรียนวิชาตำรวจต่อที่อังกฤษ ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2473 ก่อนไปก็จัดการทูลเกล้าฯ ถวายลูกสาวคนนี้ แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มีการเขียนจดหมายถึงลูกอายุ 2-3 เดือนว่า ที่เอาลูกไปถวายนี้ อย่าได้เสียใจนึกว่าพ่อไม่รัก แต่เพราะรักและคำนึงถึงอนาคตว่า การไปอยู่กับสมเด็จ.... ชีวิตลูกจะได้ดีกว่าที่พ่อแม่จะมีปัญญาเลี้ยงได้เทียมเท่า

แม่ตามไปอยู่กับพ่อที่อังกฤษปีกว่าไปได้ลูกสาวคนที่ 3 “หนูหนุ่น” คลอดเมื่อพฤษภาคม 2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงเดือนเดียว ระหว่างที่อยู่ที่อังกฤษตอนนั้น แม่เคยเล่าให้ฟังครึ่งขันครึ่งโมโหว่า พ่อใช้ชีวิตนักเรียนผู้ใหญ่ครั้งนั้นอย่าง “บ้าระห่ำ” พอใช้

ต้นเดือนก็ไปเที่ยวดูหนัง ดูละคร กินข้าวร้านแพงๆ พอปลายเดือน แทบไม่มีเงินเหลือใช้ ถึงกับต้องเข้าโรงรับจำนำ หรือไม่ก็ส่งจดหมายด่วนไปกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระราชทานให้ช่วยชีวิต ระหว่างที่อยู่ที่อังกฤษนี้พ่อเขียนจดหมายไปเล่าถวายอยู่เสมอว่า นักเรียนที่กำลังเรียนอยู่นั้นมีความคิดเห็นทางการเมืองว่าอย่างไรบ้าง และ “นินทาสโมสร” ถวายว่าเจ้านายทั้งพระองค์เจ้า หม่อมเจ้าที่เล่าเรียนอยู่ขณะนั้น กำลังเที่ยวเล่นหลงรักใครกันบ้าง

เมื่อพ่อได้ข่าวเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน 2475 พ่อคงต้องตกใจไม่ใช่น้อย และไม่มีทางรู้รายละเอียดว่าเหตุการณ์ร้ายแรงเพียงใด สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ โทรทัศน์ เครื่องโทรสาร หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่งข่าวอย่างเมื่อครั้ง “พฤษภาทมิฬ”

เมื่อพ่อเรียนจบหลักสูตรที่อังกฤษแล้ว ก็ส่งลูกเมียกลับเมืองไทย ในขณะที่พ่อต้องไปดูงานต่ออีกพักหนึ่งที่อเมริกา แต่เมื่อกลับถึงเมืองไทยแล้ว แทนที่จะเข้ารับราชการตำรวจ กลับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในหน่วยทหารรักษาวัง คุ้มครององค์พระเจ้าอยู่หัวโดยตรง แต่พ่อก็ได้บรรยายให้ตำรวจฟังหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องที่ได้เรียนมา

ลูกสาวคนที่ 4 — หนิ่ง เกิดเมื่อเดือนกันยายน 2476 ไม่ช้าก็เกิดเหตุการณ์สำคัญในชีวิตพ่อ.... กบฏบวรเดช ในเดือนตุลาคมนั้นเอง พ่อประจำอยู่กับทหารรักษาวังที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน เมื่อทรงทราบเรื่องกบฏ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จฯ เสด็จฯ ลงเรือยนต์เล็กไปสงขลาทันที เพราะไม่ต้องพระประสงค์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจับพระองค์ท่านไปเป็นองค์ประกัน

ที่วังไกลกังวลขณะนั้น มีพระบรมวงศานุวงศ์ประทับอยู่ด้วยไม่ใช่น้อย พ่อจะต้องถวายความปลอดภัยให้ทุกๆ พระองค์เช่นกัน และต้องหาวิธีที่จะนำเสด็จเจ้านายทุกพระองค์ลงไปสมทบกับพระเจ้าอยู่หัวที่สงขลาให้ได้ พ่อตัดสินใจคุมทหารไปปล้นรถไฟจากฝ่ายรัฐบาลที่สถานีวังพงก์ เพื่อบรรทุกเจ้านายไปสงขลา พ่อต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมล่อล่วงมากมาย กว่าจะผ่านด่านสกัดขบวนต่างๆ ไปจนถึงจุดหมายปลายทาง

(รายละเอียดมีปรากฏในบันทึก “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าพูนพิศมัยดิศกุล)

การกระทำครั้งนี้ คณะรัฐบาลถือว่าเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลอย่างใหญ่หลวง ต้องการจะจับพ่อมาดำเนินคดี มีผู้แนะนำให้พ่อหนีแต่พ่อไม่ยอม บอกว่าจะเป็นอย่างไรก็เป็นกัน พ่อทิ้งทหารในบังคับบัญชาของพ่อไม่ได้

 

หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน เป็นทหารประจำการที่ลพบุรี ก่อนแต่งงาน
หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน เป็นทหารประจำการที่ลพบุรี ก่อนแต่งงาน

 

เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็เสด็จฯ ไปอังกฤษ เพื่อรักษาพระเนตร เมื่อเดือนมกราคม 2476 (ค.ศ. 1934) ท่านได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ่อแม่ตามเสด็จด้วยเพราะถ้าทิ้งไว้ พ่ออาจได้รับอันตรายจากคณะรัฐบาล

วันที่เสด็จฯ ออกจากพระนครด้วยเรือเล็ก ผ่านหน้าบ้านคุณยาย ใกล้ๆ สะพานพุทธฯ นั้น จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า คุณยายตั้งโต๊ะหมู่ที่บูชาที่หน้าบ้านริมน้ำ ลูกๆ ที่ถูกทิ้งทั้ง 4 คนออกไปยืนโบกผ้าเช็ดหน้าส่งเสด็จและลาพ่อแม่ มีคนเล่าว่าแม่ไม่ยอมหันหน้ามาดู แต่เบือนหน้าไปร้องให้ที่ต้องจากลูก

 

แม่, หนุ่น (ไอ้ฟู่, ตุ๋น, Madame Kiss), พ่อ, ต้อ (หนูหนิด, Niddy, Madame Toreau)
แม่, หนุ่น (ไอ้ฟู่, ตุ๋น, Madame Kiss), พ่อ, ต้อ (หนูหนิด, Niddy, Madame Toreau)

 

ถึงยุคลี้ภัยทางการเมือง ณ ประเทศอังกฤษ

พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ เมื่อแรกเสด็จถึงได้ประทับที่ตำหนักโนล (Knowle) เมืองแครนเลย์ (Cranleigh) ในเซอร์เรย์ (Surey) เมื่อไม่ทรงสามารถตกลงกับคณะราษฎร ซึ่งเป็นรัฐบาล ได้ในวิธีการปกครองแบบ “ประชาธิปไตย” อันแท้จริง ดังที่ท่านเข้าพระทัย ท่านจึงทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 (ค.ศ. 1935)

ภายหลังที่ได้ทรงสละราชสมบัติแล้ว สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงย้ายจากตำหนักโนล (Knowle) ไปประทับที่ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) ในเซอร์เรย์ ห่างจากกรุงลอนดอนราว 20 ไมล์ พ่อแม่ตามเสด็จมาอยู่ที่ตำหนักเกลน แพมเมนท์ (Glen Pamment) ด้วยพร้อมกับเจ้านายอีกหลายพระองค์ มีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช หม่อมเจ้าอัชฌา และหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ซึ่งเป็นลูกหลานที่ท่านทรงอุปการะเลี้ยงดูมาตั้งแต่เยาว์วัยพ่อคนเดียวที่เป็นผู้ใหญ่อาวุโสที่สุด อายุราว 36 ชันษา

พ่อทำหน้าที่เป็นราชเลขานุการส่วนพระองค์ ต่อมาหน้าที่ “เซเกรแตร์” (Secretaire) นี้ พ่อยกให้พี่หวาน (ม.จ.การวิก)  บอกว่าพ่อเป็นทหาร ไม่ชอบคำว่าเซเกรแตร์

ต่อมา พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปประทับที่ตำหนักเวน คอร์ท (Vane Court) ตำบลบิดเดนเดน (Biddenden) ที่เคนท์ (Kent) จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเยอรมันเป็นฝ่ายรุก ได้ชัยชนะ อังกฤษถอยทัพกลับมาอังกฤษ ต้องทรงย้ายที่ประทับกลับไปเวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) เพื่อความปลอดภัยหากว่ากองทัพเยอรมันบุกขึ้นอังกฤษทางชายฝั่งเคนท์ (Kent) ทั้งสองพระองค์ประทับที่พระตำหนักคอมป์ตัน เฮาส์ (Compton House) ส่วนพ่อแม่นั้น ทรงพระกรุณาพระราชทานบ้านบริดจ์ เฮาส (Bridge House) เป็นที่อยู่

 

หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

 

ชีวิตที่เวอร์จิเนีย วอเตอร์ ก่อนสงคราม นับว่าสบายพอใช้ เป็นสมาชิกสโมสรเวนทเวอร์ธ (Wentworth Club) ซึ่งมีสนามกอล์ฟที่เลื่องชื่อระดับโลก ได้เล่นกอล์ฟ เล่นเทนนิส เที่ยวลอนดอนดูหนัง ดูละคร “กินข้าวเจ๊ก” ตามเสด็จไปเที่ยวอียิปต์ ยุโรป เล่นสกีที่เวงเกน (Wengen) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ถึงจะใช้เวลาสนุก วันหนึ่งๆ ที่ลึกซึ้งในใจจริงๆ แล้วจะต้องเป็นช่วงเวลาที่หงอยเหงาอับเฉาพอใช้ ต้องจากไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร สมเด็จพระปกเกล้าฯ พระอนามัยไม่สู้จะดี และคงจะทรงรู้สึกทุกข์ทรมานพอใช้ เคยรับสั่งตะโกนไม่เห็นด้วยกับเพลงที่มีเนื้อร้องว่า “As happy as a King”

ระหว่างนั้น มีเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนพระราชหฤทัยอยู่เนืองๆ อันเป็นผลจากการกระทำและคำกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีของรัฐบาลไทยสมัยนั้นส่วนทุกคนที่อยู่ภายใต้ร่มพระบารมี ล้วนมีชีวิตที่ร่มเย็นและสงบสุข พี่หวานทรงเล่าว่า ลืมไปเลยว่าสักวันหนึ่งจะต้องได้รับความทุกข์โศกครั้งใหญ่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

วันที่เศร้าที่สุดในชีวิตของพ่อ คงเป็นวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 (ค.ศ. 1941) เมื่อสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันด้วยพระหฤทัยวาย พ่อเป็นผู้หนึ่งที่ยืนถวายพระเกียรติยศเฝ้าพระศพ 5 มุม กับพระองค์จิรศักดิ์ฯ พระองค์วรานนท์ฯ และหม่อมเจ้าการวิกฯ และตามขบวนพระบรมศพไปถวายพระเพลิงอย่างไม่มีพิธีรีตองที่ฌาปนสถานโกลเดอร์ส กรีน (Golders Green Crematorium) ในลอนดอน ไม่มีพิธีพุทธศาสนา ไม่มีพระสงฆ์มาสวด มีคนไทยมาถวายความเคารพไม่กี่คน

สงครามในยุโรป — ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังอับจน ก็พอดีเกิดสงครามในภาคพื้นเอเซียอาคเนย์ขึ้นอีกด้านหนึ่ง ญี่ปุ่นทิ้งระเบิดเพิร์ล ฮาร์เบอร์ในแดนของสหรัฐอเมริกา ประกาศสงครามกับอเมริกาและอังทฤษแล้วยกทัพขึ้นชายฝั่งทะเลประเทศไทย เพื่อเป็นทางผ่านไปโจมตีอาณานิคมของอังกฤษ คือ มลายู และพม่า

 

หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ทหารหนุ่มที่ลพบุรี
หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ทหารหนุ่มที่ลพบุรี

 

เริ่มยุคใหม่ในชีวิตของพ่อ — ยุคเสรีไทย — พ.ศ. 2484-2489 (ค.ศ. 1941-1946) บทบาทของพ่อในขบวนการเสรีไทยนี้ จะได้เล่าเป็นรายละเอียดในบทความอีกเรื่องหนึ่ง

สงครามในภาคพื้นเอเซียอาคเนย์จบลง เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2488 (ค.ศ. 1945) — หลังจากวันสันติภาพ วันที่ 16 สิงหาคม ไม่กี่วัน พ่อก็มาปรากฏตัวที่บ้านคุณยายที่วัดสามปลื้ม เป็นครั้งแรกที่หน่อยและหนิ่งได้พบกับพ่อ แทบจะพูดได้ว่า เป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะเมื่อพ่อจากไปเมื่อ 12 ปีก่อนนั้น เราเล็กเกินไปที่จะจำพ่อได้

ช่วงนี้นับเป็นช่วงรุ่งโรจน์ระยะสั้นๆ ของพ่อ ผลงานกู้ชาติของเสรีไทย การที่ท่านได้ร่วมมือสู้รบกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฝ่ายชนะสงคราม แทนที่จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามไปกับญี่ปุ่น เพราะรัฐบาลไทยได้ร่วมมือเป็นมหามิตรกับญี่ปุ่นตลอดสงคราม พ่อได้รับยศเป็นพันโทแห่งกองทัพอังกฤษเดินนำหน้ากองทหารเสรีไทยจากอังกฤษ 36 คน ในการเดินสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย พ่อได้เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงรับรองนายทหารอังกฤษที่เข้ามาปลดปล่อยอาวุธทหารญี่ปุ่น และปล่อยเชลยศึกจากค่ายกักกันทั้งหลาย มีงานเต้นรำลีลาศโก้หรูที่วังมหานาค ต้อนรับ Colin Mackenzie นายพลแขวงพลเรือนของกองกำลัง 136 (Force 136) ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพ่อ

ราวต้นเดือนธันวาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จกลับประเทศไทย พร้อมด้วยพระนุชาและพระราชชนนี พ่อเข้าไปรับใช้ในพระบรมมหาราชวังอย่างใกล้ชิด และทำงานร่วมมือกับผู้นำเสรีไทย — ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งภายหลังได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว อาจารย์ปรีดีขอตัวพ่อเอาไว้ให้ช่วยเหลือประสานงานกับพระเจ้าอยู่หัวก่อน พ่อจึงต้องเลื่อนเวลายังไม่กลับอังกฤษพร้อมกับนายทหารเสรีไทยคนอื่นๆ ตกลงเป็นอันว่าพ่อต้องอยู่เมืองไทย จนกว่าในหลวงรัชกาลที่ 8 จะเสด็จกลับไปศึกษาต่อ พ่อจึงจะตามเสด็จในฐานะราชองครักษ์พิเศษผ่านอเมริกาและอังกฤษก่อนเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์

นอกจากนั้น อาจารย์ปรีดียังมีแผนการจะให้พ่อไปประจำอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ต่อจากนั้น เพื่อรับใช้พระเจ้าอยู่หัว และประสานงานกับฝ่ายรัฐบาล แต่แล้วเพียงสี่วันก่อนกำหนดเดินทางในวันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2489 เหตุการณ์มหาวิปโยคก็เกิดขึ้นอย่างที่ไม่มีวันคิดฝัน ในวันที่ 9 มิถุนายน หลังเวลา 9 นาฬิกาเล็กน้อย เสียงปืนดังขึ้นในห้องพระบรรทม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน มหาดเล็กห้องพระบรรทมนั่งอยู่หน้าประตูห้อง — ชิต สิงหเสนี วิ่งเข้าไปดูก็เห็นพระเจ้าอยู่หัวอานันท์ฯ บรรทมนิ่งอยู่บนพระที่มีแผลรอยยิงอยู่ที่หน้าผาก นายชิตวิ่งไปละล่ำละลักกราบทูล พระราชชนนีว่า “ในหลวงยิงพระองค์เอง”

พ่อมีหมายเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเช้าวันนั้นพอดี จึงได้เข้าไปอยู่ที่พระที่นั่งบรมพิมานไม่นานหลังจากที่เกิดเหตุ พ่อเล่าให้เราฟังว่า พระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้งเสด็จในกรมพระชัยนาทฯ ซึ่งประทับอยู่ ณ ที่นั้นคิดว่าสวรรคตด้วยพระแสงปืนโดยพระองค์เอง พ่อจึงออกความเห็นว่า จะออกแถลงการณ์ตามนั้นไม่ได้ — ยกตัวอย่างเมื่อ เจ้าชายรูดอส์ฟ รัชทายาทแห่งประเทตออสเตรีย ยิงพระองค์เองที่กระท่อมน้อยในป่าพระราชวังมาเยอร์ลิง จักรพรรดิ์โยเซฟ พระราชบิดาต้องออกแถลงการณ์ว่าเป็นอุบัติเหตุ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ

ฉะนั้น ในกรณีนี้ก็เช่นกัน ต้องออกแถลงการณ์ให้เหมือนกับเป็นอุบัติเหตุ นายกรัฐมนตรีปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้แถลง โดยที่มิได้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังขณะนั้น ท่านอธิบายทีหลังว่าการที่ท่านไม่ได้เข้าไปในวัง ไม่มีอะไรไปกว่าที่ท่านคิดว่า รัฐบาลเป็นคนนอก นั่นเป็นเรื่องของเจ้านายฝ่ายในพระราชสำนัก

ในที่สุด พ่อได้กลับบ้านที่อังกฤษเมื่อราวๆ เดือนกรกฎาคม 2489 ด้วยความโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง ก่อนนั้นทั้งแม่และพวกเราลูกๆ พากันตื่นเต้นว่าจะได้รับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ลอนดอน

 

คริสมาสต์หรือปีใหม่ที่พระตำหนัก Knowle เมืองอังกฤษ ก่อนพระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติไม่นาน
คริสมาสต์หรือปีใหม่ที่พระตำหนัก Knowle เมืองอังกฤษ ก่อนพระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติไม่นาน

 

ความรุ่งโรจน์และความปีติยินดีในความสำเร็จของงานเสรีไทยมีชั่วระยะสั้นๆ ปี 2490 เริ่มยุดมืดของชีวิตพ่ออีกครั้ง

ทางเมืองไทย ต้นเดือนสิงหาคม 2489 มีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคการเมืองของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ชนะพรรคประชาธิปัตย์ ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 11-23 สิงหาคม 2498 หลังจากนั้น ฯพณฯ ธำรง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ส่วนอาจารย์ปรีดีฯ เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ยุโรป ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2489 - วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2490 ได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพระราชชนนี ที่เมืองดาโวส เฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่พระตำหนักคอมป์ตัน เฮาส์ ที่เวอร์จิเนีย วอเตอร์

ระหว่างนั้นที่อังกฤษ คุณดิเรก ชัยนาม เป็นเอกอัครราชทูต พ่อได้รับแต่งตั้งเป็น Ambassador-at-Large เอกอัครราชทูตทั่วไป และได้อยู่ในคณะผู้แทนไทยไปร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติด้วย ระยะนั้นพ่อแม่ต้องต้อนรับเลี้ยงรับรองบุคคลสำคัญๆ ในวงการต่างประเทศและรัฐบาลอังกฤษบ่อยครั้ง

 

ไกลกังวลรีวิว ซึ่งท่านชิ้นเขียนบทและกำกับการแสดง และท่านสมัยเฉลิม กฤดากร เพื่อนรัก เป็นผู้ทำฉาก ในภาพท่านชิ้นแต่งหญิง (ซ้ายสุด)
ไกลกังวลรีวิว ซึ่งท่านชิ้นเขียนบทและกำกับการแสดง และท่านสมัยเฉลิม กฤดากร เพื่อนรัก เป็นผู้ทำฉาก ในภาพท่านชิ้นแต่งหญิง (ซ้ายสุด)

 

พ่อได้รับจดหมายจาก วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) ขอบใจสำหรับเครื่องเงินและกล่องซิการ์ ที่พ่อมอบให้เป็นที่ระลึกจากคณะเสรีไทย เมื่อพ่อได้รับเชิญไปพบเพื่อขอบใจด้วยตนเองสำหรับงานที่เสรีไทยได้ทำช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร เชอร์ชิลล์ส่งซิการ์ให้พ่อสูบ แต่พ่อขอเอากลับบ้านเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก ซิการ์ตัวนี้ตั้งอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือของพ่อไปอีกนาน

นอกจากได้เลื่อนยศเป็นพันโทแล้ว พ่อยังได้รับพระราชทานตรา O.B.E. Order of the British Empire (Military Division) ซึ่ง ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเทน (Lord Louis Mountbatten) เป็นผู้เสนอ พ่อได้รับจดหมายแสดงความยินดีจากลอร์ด หลุยส์ และได้รับเชิญไปงานเลี้ยงรับรองที่บ้านของลอร์ด หลุยส์ พร้อมด้วยแม่และลูกสาวทั้ง 4 คน  ลอร์ด หลุยส์ให้พาลูกสาวไปด้วย เพื่อให้พบกับลูกสาวของท่าน ซึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเรา แต่เรารู้สึกเป็นและอายอย่างยิ่ง ไม่รู้จะคุยอะไรกับใคร มีพี่ต้อคนเดียวที่แสนจะเก่งกล้า พูดคุยกับทุกคนได้อย่างเปรื่องปราดและฉลาดเฉียบแหลม

เหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดฝันก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งระหว่างที่พ่อร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติอยู่ที่นิวยอร์ค วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้เกิดรัฐประหารโดย จอมพลผิน ชุณหะวัณ และยก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่า ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 อาจารย์ปรีดีต้องหนีออกจากประเทศโดยด่วน มีกัปตันเดนนิส ทูตทหารเรือประจำสถานทูตอังกฤษ เป็นผู้ช่วยให้ลี้ภัยไปสิงคโปร์

ที่องค์การสหประชาชาติ พอพ่อได้ข่าวรัฐประหารก็ลุกขึ้นประกาศว่ารัฐบาลใหม่ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นรัฐบาลไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คณะผู้แทนไทยประจำสหประชาชาติไม่ขอรับรองและรัฐบาลอเมริกากับอังกฤษก็คงจะไม่มีวันรับรองด้วย เพราะจอมพล ป. เคยถูกหาว่าเป็นอาชญากรสงคราม เนื่องจากเคยร่วมมือกับญี่ปุ่นระหว่างสงคราม แต่ที่ไหนได้ เป็นการคาดผิดทั้งเพ อีกไม่กี่วันรัฐบาลของทั้งอังกฤษและอเมริกาก็ประกาศรับรองรัฐบาลจอมพล ป. เพราะสนับสนุนนโยบายของจอมพล ป. ที่ว่าจะต่อสู้คอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่ ในภาคพื้นเอเซียอาคเนย์ขณะนั้น อังกฤษและอเมริกากลัวคอมมิวนิสต์เผยแพร่เป็นที่สุด เป็นอันว่าพ่อต้องลาออกจากคณะผู้แทนไทยประจำสหประชาชาติกลับบ้านที่อังกฤษ

 

เริ่มยุคที่ 5 ในชีวิตของพ่อ

แผ่นดินรัชกาลที่ 9 ช่วงเวลาลี้ภัยในต่างแดนและไม่ได้รับการเหลียวแลรับรองในสายตาของโลก

จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีข้ออ้างว่าเหตุผลที่ทำรัฐประหาร ก็เพื่อมาสอบสวนสืบสวนกรณีสวรรคตให้แจ่มแจ้งว่าใครเป็นผู้ปลงพระชนม์ ยกเลิกทฤษฎีปลงพระชนม์เองกับอุบัติเหตุโดยสิ้นเชิง ศาลจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ และปรีดีเป็นผู้วางแผน

พ่อเป็นเจ้านายองค์เดียวที่ประกาศความบริสุทธิ์ของปรีดี ไม่เชื่อว่าปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตแม้แต่น้อย และเชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุอย่างเดียว เจ้านายองค์อื่นๆ ออกจะหมั่นไส้พ่อว่าหลงเสน่ห์อาจารย์ปรีดี ไม่ร่วมกันกับเจ้าองค์อื่นๆ สมน้ำหน้าปรีดีที่โดนรับกรรมที่ตนทำเอาไว้กับราชวงศ์จักรี เมื่อคิดวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ่อออกจะเป็น “หมาหัวเน่า” ไม่มีใครอยากคบหาสมาคม

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่พ่อได้รับความทุกข์ทรมานใจอย่างยิ่ง

พ่อกลายเป็นว่างงาน — ไม่มีอนาคต เพราะเชื่อในความบริสุทธิ์ของอาจารย์ปรีดี ยอมตกอับไปด้วยกัน

พ่อใช้เวลาเขียนหนังสือกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวถึงร้อยกว่าหน้า พยายามอธิบายคดีกล่าวหาว่ามีการลอบปลงพระชนม์นี้ เป็นแผนการเมืองของฝ่ายตรงข้ามกับอาจารย์ปรีดี ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ และเผด็จการทหาร ที่จะทำลายปรีดีให้ได้โดยสิ้นเชิง แต่พ่อไม่ได้รับคำตอบใดๆ ทั้งสิ้น

 

ในปี 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จพระราชดำเนินกลับเมืองไทย

สิ่งหนึ่งที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กระทำเมื่อได้อำนาจกลับคืน เมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งหลังจากรัฐประหาร เดือนพฤศจิกายน 2490 คือ กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พร้อมด้วยพระบรมอัฐิสมเด็จพระปกเกล้าฯ กลับสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2492 ขบวนอัญเชิญพระบรมอัฐิออกจากพระตำหนักคอมป์ตัน เฮาส์ ที่เวอร์จิเนีย วอเตอร์ มุ่งสู่ท่าเรือเมืองเซาท์แฮมปตัน (Southampton) ที่เรือเดินทะเล วิลฮ์เลม ไรส์ (Wilhem Ruys) เทียบท่ารออยู่ มีกองทหารเกียรติยศนำโดยนายทหารชั้นนายพล ที่รัฐบาลอังกฤษจัดมาถวายความเคารพเป็นวาระสุดท้าย

เมื่อพ่อในชุด Morning Coat อย่างเป็นทางการ เชิญพระบรมอัฐิมาถึง กองทหารอังกฤษกระทำวันทยาวุธถวายอย่างพร้อมเพรียง พ่อจะต้องรู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกองดุริยางค์ทหารอังกฤษบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้น เป็นที่น่าประทับใจและซาบซึ้งแก่ทุกคนในที่นั้น

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จฯ ตรวจพลตามประเพณีแล้ว ก็อัญเชิญพระบรมอัฐิลงสู่เรือ ธงมหาราชสีเหลืองอันมีครุฑสีแดงประดับอยู่ตรงกลางก็ขึ้นสู่ยอดเสาโบกสบัดในสายลม เรือค่อยๆ เคลื่อนลำออกจากท่า ท่ามกลางเสียงปืนใหญ่ที่ยิงสลุตถวายบังคม

เมื่อส่งเสด็จลงเรือกลับเมืองไทยแล้ว พ่อก็ยังคงอยู่ที่อังกฤษต่อไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2495

 

หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน
หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

 

กลางปี 2492 นั้นเอง พ่อต้องปวดหัวใจอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนกรกฎาคมปีนั้น มีการจัดประชุมสามัคคีสมาคมเป็นครั้งแรกหลังจากสงคราม ที่โรงเรียน เซนต์จอห์น ที่เมืองเลเธอร์เฮด (Leatherhead) พ่อแม่พาลูกสาวทั้งสี่ไปร่วมงาน วันสุดท้ายเป็นวันงานเลี้ยงใหญ่ ทุกคนตื่นเต้นเป็นพิเศษ เมื่อท่านเอกอัครราชทูตหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เสด็จมาทรงร่วมงานเป็นแขกผู้มีเกียรติ พร้อมด้วยหม่อมหลวงบัว และธิดางามทั้งสอง — หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ และหม่อมราชวงศ์บุษบา

ในวันนั้น ท่านทูตได้รับสั่งเชิญทุกๆ คนไปร่วมงานที่สถานทูตในไม่กี่วันต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมกรุงลอนดอน พวกเราตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ยินข่าวลือว่าอาจจะมีการประกาศหมั้น ระหว่างงานนี้เราสังเกตเห็นพ่อเดินคุยกับท่านนักขัตรฯ พระญาติและพระสหายเก่า อยู่ที่สนามด้วยสีหน้าเคร่งเครียด

รุ่งขึ้นพ่อเล่าให้พวกลูกๆ ฟังว่าท่านนักขัตรฯ ขอไม่ให้พ่อไปร่วมงานเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวที่สถานทูต เพราะกำลังกริ้วพ่อมากด้วย ทรงเข้าพระทัยและทรงเชื่อว่าต้องเป็น “ท่านชิ้น” แล้ว ไม่ใช่ใครอื่นแน่ที่ไปรายงาน ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเทน ว่ากรณีสวรรคตเป็นอุบัติเหตุ ที่ทรงปักพระทัยว่าเป็นพ่อก็เพราะพ่อรู้จักคุ้นเคยกับลอร์ดหลุยส์ ทำงานเสรีไทยใต้บังคับบัญชาของลอร์ดหลุยส์ ระหว่างสงคราม

พ่อตะลึงงันอย่างที่ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรถูก เพราะความคิดเช่นนี้ไม่เคยเข้าหัวพ่อเลย พ่อเชื่อมั่นอยู่ตลอดเวลาว่า กรณีสวรรคตเป็นอุบัติเหตุโดยพระองค์เอง (หมายถึงพระเจ้าอยู่หัวอานันท์ฯ) ไม่มีการลอบปลงพระชนม์ใดๆ ทั้งสิ้น และปรีดีบริสุทธิ์

เรื่องนี้ปรากฏออกมาก็เพราะ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติฯ ทรงเดินทางไปพบลอร์ด หลุยส์ ที่ประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2491 เพื่อทรงวางแผนให้พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) ดังที่พ่อเคยเสนอไว้ครั้งหนึ่ง แต่ลอร์ด หลุยส์ ขอให้เลื่อนกำหนดแผนดังกล่าวไปก่อนจนกว่าจะสืบสวนกรณีสวรรคตแจ่มแจ้งแล้ว

พ่อบอกกับพวกเราว่าในเมื่อพ่อถูกขอร้องไม่ให้ไปในงานนี้ แต่ลูกอยากไปก็แล้วแต่ลูก แน่นอนเราพร้อมใจกันบอกว่า ในเมื่อพ่อไม่ไป เราไม่ไปเหมือนกัน เป็นอันว่าเราพลาดคืนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ณ ทูตไทยในกรุงลอนดอน คนไทยในอังกฤษทุกคนได้ร่วมฉลองการประกาศพระพิธีหมั้น นอกจากเรา

ช่วงนี้เป็นระยะที่พ่อมีความระทมทุกข์อย่างยิ่ง ทั้งอัดอั้นตันใจ และมองไม่เห็นแสงสว่างเลย มีหมายจากศาลเรียกตัวพ่อไปสืบสวนกรณีสวรรคต เพราะพ่อได้ชื่อว่า “เป็นพวกปรีดี” แต่พ่อไม่ยอมไป จนกระทั่งท้ายที่สุด อีก 5 ปีต่อมา จึงมีข่าวตัดสินประหารชีวิตผู้ต้องหาผู้บริสุทธิ์ทั้งสามคน คนหนึ่งคือ ชิต สิงหเสนี ญาติสนิทของแม่ — ผู้ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวเหนือสิ่งอื่นใด ครอบครัวนี้ได้รับราชการฉลองพระมหากรุณาธิคุณมาแล้วหลายชั่วคน

เมื่อตาชิตถูกประหารแล้ว ยายหนู (ชูเชื้อ สิงหเสนี) ภรรยาตาชิต เล่าให้ฟังว่าได้รับหนังสือเชิญให้ไปพบเจ้าหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่าท่านนายกรัฐมนตรี (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) สงสารว่ายายหนูตัวคนเดียว จะเลี้ยงลูกตั้ง 7 คนต่อไปได้อย่างไร ท่านจึงขอให้เงินช่วยเหลือเลี้ยงดูครอบครัวเดือนละ 2,000 บาท ในจดหมายทางการที่มีมาถึงยายหนู ได้ให้อธิบายด้วยว่า ตาชิตเป็นผู้ที่ต้องรับภัยทางการเมือง

ในยุคแห่งความมัวหมองนี้ พ่อใช้เวลาเขียนบันทึกงานเสรีไทย เล่นกอล์ฟ เขียนรูป หาอะไรทำไปวันๆ หนึ่ง แต่สำหรับคนที่ยังอยู่ในวัยที่มีพลังแรงกล้า อายุยังไม่ถึง 50 ยังมีไฟที่จะทำอะไรให้กับสังคมอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้จะไม่นำความอิ่มใจหรือพึงพอใจให้เท่าไร พ่อหันเข้าหาพุทธศาสนา เริ่มปฏิบัติสมาธิ ได้พบกับ คริสต์มัส ฮัมฟรีย์ส (Christmas Humphreys) นายกพุทธสมาคมที่ลอนดอน พ่อได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นกรรมการของพุทธสมาคมแห่งนั้นด้วย ในเมื่อพ่อเริ่มปฏิบัติธรรมเลยก่อประโยชน์ให้ลูกตามไปด้วย เราจึงได้เริ่มรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนว่าอะไร เมื่ออ่านหนังสือเรื่องพระพุทธศาสนาของคริสท์มัส ฮัมฟรีย์ส ก่อนนั้นจะช่ำชองอยู่ก็กับการสวดมนต์ ทำบุญใส่บาตร และเลี้ยงพระเท่านั้น

มากลางปี 2495 พ่อตัดสินใจกลับเมืองไทย พ่อตามเสด็จสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จอาว์ มาเมื่อปี 2476 และสมเด็จอาว์ก็เสด็จฯ กลับไปหลายปีแล้ว ก็สมควรแก่เวลาที่พ่อจะกลับเสียที และที่สำคัญการเงินที่จะอยู่เมืองนอกต่อไปก็ไม่ค่อยมี

วันที่พ่อเก็บข้าวเก็บของที่ บริดจ์ เฮาส์ กลับเมืองไทย เป็นวันที่พ่อเศร้ามาก คล้ายกับว่า ชีวิตอันเป็นอิสระได้สิ้นสุดลงแล้ว พ่อไม่ยอมเริ่มจัดกระเป๋าจนนาทีสุดท้ายเมื่อถึงเวลาต้องขับรถไปลงเรือข้ามไปฝรั่งเศส ผลสุดท้ายก็เก็บไม่หมดเรียบร้อย ต้องทิ้งให้เพื่อนนักเรียนไทยของลูกๆ ได้แก่ ธานินทร์ กรัยวิเชียร และประภาศน์ อวยชัย เป็นผู้เก็บกวาดให้

พ่อแม่วางแผนจะขับรถไรเลย์คันโปรดไปลงเรือที่ท่าเรือเมือง Genoa ในประเทศอิตาลีจะเที่ยวยุโรปเสียก่อน พาหน่อยกับหนึ่งติดรถไปเที่ยวด้วย ขณะนั้นที่อังกฤษยังไม่เลิกปันส่วนอาหาร ทั้งๆ ที่สงครามจบไปแล้วตั้ง 6-7 ปีแล้วก็ตาม จำได้ว่าพ่อตื่นเต้นมากเมื่อขับรถเข้าแดนฝรั่งเศส หยุดรับประทานอาหารกลางวันระหว่างทาง ร้านอาหารเสิร์ฟเนื้อชิ้นเบ้อเริ่ม ราดด้วยน้ำซอสอร่อยมาก เราตรงเข้ากรุงปารีส พ่อสนุกแนะนำให้เราชิมอาหารแปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น กบทอดกรอบ และหอยโข่งกับซอสเนย และยังมี ออร์เดิร์ฟอีกหลายสิบชนิด

สมัยนั้นคนอังกฤษจะไปเที่ยวยุโรป แลกเงินไปเที่ยวได้เพียงคนละ 50 ปอนด์เท่านั้น พ่อสั่งอาหารกินอย่างไม่อั้น อยู่ไปได้ไม่ถึงอาทิตย์เงินก็ชักจะหมด แม่หน้างอเอาเรื่อง พ่อก็บ่นว่าเที่ยวกับผู้หญิงไม่สนุกเลย ไม่ยอมกิน มัวแต่กลัวอ้วน เราก็โอดครวญกันว่า โธ่เอ๋ย ทำไมเราจะไม่ชอบกินแต่อาหารมื้อใหญ่ๆ วันละ 2 มื้อนี้ มันมากเกินไป

ออกจากกรุงปารีสแล้ว พ่อแวะไปประเทศสวิตฯ เพื่อเฝ้าเยี่ยมสมเด็จพระราชชนนีที่ตำหนัก (Flat) เล็กๆ ในเมืองโลซานน์ พ่อพาเราไปกินอาหารกลางวันที่ร้านอาหารริมทะเลสาบเจนีวา สั่งปลาน้ำจืดจากทะเลสาบสดๆ มากิน ซึ่งราคาแพงมากๆ พ่อขับรถรอบทะเลสาบเจนีวา และซื้อลูกราสพ์เบรี่เป็นตะกร้าใหญ่มาก วางบนตักหน่อยกับหนิ่งตลอดทาง เพราะในรถมีสมบัติวางแน่นเอี๊ยดเต็มไปหมดไม่มีที่อื่นวางได้ พ่อขับต่อเข้าฝรั่งเศสอีกแถวทะเลสาบอันเนซี ตรงไปภาคใต้ของฝรั่งเศส ยังจำได้รสชาติของไข่ยัดไส้ ratatouille ที่เมืองคานนส์ ว่าอร่อยเพียงใด

ต่อจากนั้น ขับเข้าถึงริเวียร่าของอิตาลีพักที่เมือง พอร์โต ฟิโน (Porto fino)  จากนั้น ขับต่อไปเมืองฟลอเรนส์ (Florence) ให้เราได้เห็นรูปปั้นเดวิดฝีมือไมเคิลแอนเจโล (Michaelangelo) ที่จตุรัส ซิกนอรี (Piazza Signori) จำได้ว่า เราแยกทางกับพ่อแม่ที่ฟลอเรนส์ พ่อแม่ส่งหน่อยและหนิ่งขึ้นรถไฟไปกรุงโรม ให้หนิ่งกลับเมืองไทย ไปให้ทันงานแซยิดคุณยาย 60 ปี วันที่ 9 กรกฎาคม และหน่อยกลับอังกฤษ ส่วนพ่อแม่ขับรถไปลงเรือกลับกรุงเทพฯ ที่เมือง Genoa

 

ยุคสุดท้าย กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน (พ.ศ. 2495 - 2510 หรือ ค.ศ. 1952-1967)

พ่อแม่เริ่มต้นชีวิตช่วงใหม่ในเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2495 เมื่อถึงเมืองไทยใหม่ๆ สมเด็จอาว์โปรดเกล้าฯ ให้พ่อแม่พักอยู่ที่ตำหนักน้ำในวังศุโขทัย ในไม่ช้าพ่อชักจะเริ่มเบื่อชีวิตในกรุงเทพฯ บ่นว่าร้อนและอัดแอจึงเริ่มออกหาที่อยู่ต่างจังหวัด พอดีน้องชายของแม่ คือน้าจรกับน้าชิ้น ดำริจะซื้อที่ดินชายทะเลที่หมู่บ้านบางควาย อำเภอชะอำ ในเขตจังหวัดเพชรบุรี และมาชักชวนแม่ให้ซื้อด้วย พ่อแม่ถือโอกาสออกไปดูที่ แล้วก็เกิดชอบใจ อาจเป็นเพราะมีแรงดึงดูดให้ไปที่นั่น ซึ่งเป็นชายหาดที่พ่อขึ้นเหยียบผืนแผ่นดินไทยเมื่อครั้งลอบเข้าประเทศโดยเรือดำน้ำระหว่างสงคราม ในการปฏิบัติงานใต้ดินของเสรีไทย

 

เสรีไทยเก่าพาครอบครัวมาเยี่ยมท่านชิ้นที่สวนเสมา
เสรีไทยเก่าพาครอบครัวมาเยี่ยมท่านชิ้นที่สวนเสมา

 

เริ่มแรกพ่อแม่ซื้อที่ดินเพียง 10 ไร่ เป็นชิ้นกลางระหว่างของชิ้นและน้าจรเพื่อสร้างบ้านอยู่ บ้านหลังแรกเป็นเรือนอลูมิเนียมสำเร็จรูป อยู่ไปได้หน่อย หนวกหูเหลือเกินเวลาฝนตกถูกหลังคาและฝาเรือนอลูมิเนียม จึงเริ่มสร้างบ้านหลังที่ 2 ทำด้วยปีกไม้ หลังเล็กๆ เรียกว่าบ้านป่าก่อนที่จะย้ายเข้าตึกสีชมพู ที่ท่านลุงสมัยเฉลิมทรงออกแบบ และสมเด็จอาว์ทรงสร้างพระราชทาน

ในไม่ช้าพ่อก็เริ่มมีความใฝ่ฝันอันสูงส่ง พ่อเห็นว่าคนเราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องทำอะไรให้เป็นประโยชน์ จะต้องกลับไปหาธรรมชาติ แสวงหาสัมมาอาชีวะในชนบท นำความเจริญมาให้ท้องถิ่นที่อยู่ ทั้งนี้พ่ออาจได้รับอิทธิพลจากท่านสิทธิพร ซึ่งทรงทำไร่แตงโมบางเบิดอยู่ไม่ไกลจากนั้น พ่อเริ่มสนุกกับชีวิตชาวไร่ ซื้อที่ดินเพิ่มทีละเล็กทีละน้อย — ภายใน 5-6 ปี ที่ดินทรายอันแสนจะแห้งแล้งกันดารรกไปด้วยต้นไม้หนามๆ กว่า 600 ไร่ก็กลายเป็น “สวนเสมา” ไร่มะพร้าว ไร่มะนาว ผักสลัด และ แตงหอมแคนทาลูปอันลือชื่อ มีน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงพืชไร่จากคลองชลประทาน เก็บไว้ในทะเลสาบ และดูคลองทดน้ำไปทั่วบริเวณ

เรื่องการก่อร่างสร้างสวนเสมา จะต้องยกให้พี่ปรก (ปรก อัมระนันทน์ สามีพี่ต้อ) เป็นคนเล่าเพราะพี่ปรก พี่ต้อ ได้ช่วยเหลือร่วมงานกับพ่อตั้งแต่เริ่มแรก

พ่อนำความเจริญมาให้หมู่บ้านแถบนั้นจริงๆ ชาวบ้านได้มาใช้น้ำจากสระที่พ่อขุดไว้ สร้างงานให้คนงานกว่าร้อยคน เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า คนเราไม่จำเป็นต้องอยู่กันแต่ในเมืองหลวงเพื่อดวามสะดวกสบาย แต่สามารถมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ได้ในบ้านชนบท พ่อมักจะนั่ง “เล็คเชอร์” ให้ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมเยียน ถึง “ปรัชญาชาวไร่” ของพ่อว่า พ่อได้ใช้หลักปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนามาใช้ในชีวิต “ชาวไร่” ประจำวันอย่างไรบ้าง เมื่อพ่อฉลองวันเกิดอายุ 60 ปี พ่อได้พิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งแจก ชื่อ “ปรัชญาชาวไร่”

จุดที่ช่วงโชติของชีวิตพ่อที่ “สวนเสมา” นี้ เห็นจะเป็นคืนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพาเจ้าหญิงอเล็กซานเดอร์แห่งเคนท์ มาเสวยพระกระยาหารค่ำที่เรือนแพในราวปี 2506 คืนนั้นพ่อได้ร่วมมือกับคณะกรรมการจังหวัดเพชรบุรี นับตั้งแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงบรรดาภรรยาของกรมการจังหวัด จัดงานรับเสด็จอย่างที่เคยทำกันแต่โบราณ

ชีวิตครอบครัวช่วงนี้ เป็นช่วงที่อุ่นหนาฝาคั่ง พร้อมด้วยลูกสาว ลูกเขย หลานตาทั้งหญิงและชายกว่าสิบคน หลานๆ มักจะใช้เวลาเล่นเรือ กระโดดน้ำกันอยู่ในสระตลอดวัน เสร็จจากสร้างตึกสีชมพูแล้ว แม่ยังสร้างเรือนไทยหลังเล็กริมสระเพื่อจัดงานแต่งงานแบบไทยเดิมของหนึ่งกับศิริ พ่อก็เลยต้องสร้างบ้านไทยใหญ่แข่งแม่ ใส่มุ้งลวดรอบบ้าน ตรงกลางเรือนเป็นที่นั่งเล่น นอนเล่น ลมโกรกเย็นสบาย หลังจากนั้นพ่อก็สร้างหอน้ำแบบไทย มีศาลา ให้พ่อไปนั่งสมาธิและสร้างเรือนแพเป็นไม้ไผ่ สำหรับเป็นที่รับประทานอาหารกลางวันและเย็น

อาหารการกินที่สวนเสมาแสนที่จะอุดมสมบูรณ์ เพราะพ่อถือเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ ตอนเช้าจะมีอาหารเช้าแบบอังกฤษครบชุด มื้อกลางวันกับเย็น ก็จะต้องมีกับข้าวไม่น้อยกว่า 5-6 อย่าง จะมีทั้งแตง แคนทาลูปเนื้อสีสัม และแตงฮันนี่ดิวเนื้อสีขาว กับผักสลัดแปลกๆ ตั้งโต๊ะทุกมื้อ แต่บางวันพ่อก็ยังไม่วายเรียกหาไข่เจียว และซุปคนอร์จากซอง!

ตามกฎอนิจจังของพุทธศาสนา มีความเจริญแล้วก็มีความเสื่อมได้ พ่อแม่ลงทุนไปในสวนเสมามากมายรายได้เข้ามาไม่เท่าไร รายจ่ายท่วมทัน ไหนจะเงินเดือนคนงาน ค่าดิน ค่าปุ๋ย ค่าขนส่งสินค้าไปขายกรุงเทพฯ ทุกวัน ทั้งค่าซื้อรถ ซ่อมรถ น้ำมันรถ การดูแลไม่ทั่วถึง พ่อถูกบริวารที่ไว้ใจฉัอโกงอย่างที่เรานึกไม่ถึง ยิ่งทำขาดทุน ในที่สุดพ่อไม่สามารถจะหาเงินมาพยุงฐานะสวนเสมาได้ จำต้องทิ้งสวนให้ลูกต้อและปรกดูแลต่อไป พ่อพยายามส่งกล้วยไปขายที่ญี่ปุ่น ก็ฉิบหายวายวอด และในที่สุด พ่อก็ลงไปสวนโมกข์ ไปหาท่านพุทธทาสเพื่อขอกำลังใจ

ตามคำบอกเล่าของแม่เล็ก หัวหน้าแม่บ้านของสวนเสมา เมื่อพ่อเดินลงจากบ้านไทยใหญ่ที่พ่อสุดแสนจะรักเป็นครั้งสุดท้ายนั้น เป็นภาพที่ปวดรัาวใจอย่างยิ่ง พ่อกล่าวคำอำลาคนงานบางคนที่มายืนส่ง แต่ละคนน้ำตาคลอด้วยความอาลัย... ช่วงนั้น พ่อแยกกับแม่ เพราะแม่ไม่ยอมให้พ่อมีเมียน้อย ซึ่งเป็นเด็กคนงานอายุ 18 และพ่อก็ไม่ยอมเลิก พ่อเห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนปูนพ่อในฐานะเช่นนี้จะมีอีหนูไว้คอยปรนนิบัติ แต่แม่กลับเห็นว่าเป็นการนอกใจ รับไม่ได้ เพราะแม่โตที่เมืองนอก

ต่อมาไม่ช้า พี่ต้อได้ข่าวว่าพ่อไปเจ็บอยู่โรงพยาบาลเมืองเพชรบุรี จึงขับรถโฟล์กสวาเก็นเต่าทองคันจิ๋วของพี่ต้อไปรับพ่อมารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช อยู่ที่นั่นได้เพียงสามอาทิตย์ พ่อก็สิ้นด้วยโรคหัวใจ หรืออาจพูดได้ว่าด้วยหัวใจแตกสลาย

จดหมายฉบับสุดท้ายที่พ่อเขียนถึงหน่อย อวยพรหน่อยวันเกิด เมื่อเดือนธันวาคม 2409 พ่อจบด้วยคำว่า “I've discovered there's no happiness in this life.”

เมื่อคิดดูให้ลึกซึ้งแล้ว ข้อความที่พ่อเขียน เป็นสัจจธรรมที่แท้จริง ดังที่ท่านพุทธทาสได้พร่ำสอนไว้ — ไม่มีความสุขอันใดในโลกที่จะจีรังยั่งยืน นอกจากในธรรม — ประโยคนี้ มีติดอยู่ในพิพิธภัณฑ์สวนโมกข์ ในบั้นปลายชีวิตของพ่อ พ่อได้ไปกราบและพักอยู่กับท่านพุทธทาสเป็นพักๆ หลายครั้ง

ชีวิตพ่อ เมื่อมองดูเผินๆ อาจถือเป็นโศกนาฏกรรมระดับ “King Lear” ของเชคสเปียร์ มีความทุกข์มากกว่าความสุข ความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ แต่เมื่อมานึกคิดให้ลึกซึ้งแล้ว จะให้แรงบันดาลใจอย่างใหญ่หลวงแก่ลูกหลานได้ ชีวิตของพ่อเป็นบทเรียนให้เรารู้จักคิดว่าควรจะฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามในชีวิตได้อย่างไร เป็นกรรมของพ่อที่เกิดมาผิดสมัย ในสมัยที่คนดีอับจน คนเลวรุ่งเรือง พ่อรู้ว่าอะไรถูกอะไรควร และจะทำไปจนสุดความสามารถ ทำให้ดีที่สุด โดยไม่ต้องคิดถึงผลว่าจะสำเร็จหรือลัมเหลว พ่อแหวกแนว ทำอะไรก่อนสมัย เร็วเกินไป คนยังรับไม่ได้ พ่อมองเห็นอย่างชัดใสให้มนุษย์กลับสู่ชนบท เรียนรู้จากธรรมชาติ อาศัยธรรมเป็นหลักในการครองชีวิต

พ่อเป็นคนที่มีอุดมการณ์ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และกล้าลงมือทำให้ความฝันเป็นความจริง แต่พ่อไม่ใช่นักธุรกิจที่จะได้ขายให้กำไรงอกเงยเป็นผลสำเร็จ พ่อมีบุคลิกที่แข็งแกร่ง ที่น่านิยมชมเชย มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่สูง รับใช้พระเจ้าอยู่หัวและบ้านเมืองอย่างเด็ดเดี่ยว ด้วยความจงรักภักดีและซื่อสัตย์สุจริต เช่น ในการปล้นรถไฟไปรับเจ้านาย งานเสรีไทย เป็นต้น มีความหยิ่งในศักดิ์ศรี ไม่ทิ้งลูกน้องเอาตัวรอด ไม่รับสิ่งตอบแทนเมื่อได้ลั่นวาจาไว้แล้วว่าจะทำงานเสรีไทยเพื่อประเทศชาติเท่านั้น

พ่อมีความยุติธรรมประจำใจ และยึดความถูกต้องชอบธรรมเป็นสรณะ มีความจริงใจและไม่ทอดทิ้งเพื่อน เช่น อาจารย์ปรีดี ผู้ถูกกล่าวหา ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม โดยไม่คิดเอาตัวรอด มี passion ไม่ว่าจะกับงานหรือกับคน เมื่อเป็นงานก็ทำสุดความตั้งใจและความสามารถ กับคนก็รักบูชาสุดขีด เช่น สมเด็จพระปกเกล้าฯ หรือกับแม่

แต่พ่อก็เป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งเหมือนมนุษย์อื่นๆ ทั่วไป มีจุดอ่อน จุดด้อยไม่ใช่น้อย อารมณ์ฉุนเฉียวของพ่อ (น่าจะมาจาก gene ของสวัสดิวัตน บวกกับภาวะคับแค้นใจเมื่อเยาว์วัย) ทำให้พ่อไม่ประสบความสำเร็จในการงาน และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเท่าที่ควร ความเลือดร้อนของพ่อในการทำงานเสรีไทย ทำให้บางคนเอือมระอา

พ่อไม่ค่อยรับผิดชอบเรื่องการใช้จ่ายเงินทอง เติบโตมาในกองเงินกองทองที่ไม่ใช่ของตัวเอง ได้รับการอุ้มชูจากพระราชินีและเจ้าเหนือหัวมาโดยตลอด พอต้องพยุงชีวิตด้วยเงินของตนเอง ก็ไม่รู้จะประหยัดหรือจัดการอย่างไรให้เพียงพอกับรายได้

พ่อตั้งใจใช้ชีวิตอยู่ในศีลธรรม พ่อรู้และเข้าใจพุทธศาสนาอย่างดี ถึงวิถีชีวิตอันควรปฏิบัติ พ่อพยายามทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ยึดธรรมเป็นที่พึ่งประจำใจ ถึงแม้จะทำตัวไม่ได้อย่างที่ตั้งใจก็ตาม แต่พ่อก็รู้ตัว — ผิดพลาดไปแล้ว ก็พยายามตั้งตัวใหม่

 

ถ่ายรูปกับลูกสาวครบสี่คนครั้งแรกที่ Bridge House หลังสงคราม พ่อโอบต้อกับหน่อย หนิ่งอยู่ทางขวา หนุ่นอยู่ข้างหน้า
ถ่ายรูปกับลูกสาวครบสี่คนครั้งแรกที่ Bridge House หลังสงคราม
พ่อโอบต้อกับหน่อย หนิ่งอยู่ทางขวา หนุ่นอยู่ข้างหน้า

 

พวกเราลูกหลานเพิ่งจะมาระลึกถึงคุณความดีของพ่อก็เมื่อพ่อตายไปแล้วกว่า 30 ปี รู้สึกเสียใจและโศกเศร้าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่ได้แสดงความรักและความซาบซึ้งใจให้กับพ่ออย่างเพียงพอเมื่อเรามีโอกาสในเมื่อพ่อต้องการความยกย่องและเข้าใจจากพวกเราที่สุด ถึงแม้จะไม่ได้จากโลกภายนอกก็ตาม เราไม่ได้ให้ความสนใจในชีวิตและงานทุกๆ ด้านของพ่อเพียงพอ มาอยากรู้อยากเห็นอยากคุยอยากถามเอาตอนนี้ มันก็สายไปเสียแล้ว เคราะห์ดีที่พ่อทิ้งข้อเขียนเอาไว้มากมาย ที่เราเพิ่งจะได้เอาออกมาอ่าน เอามาค้นคว้า ก็ตอนที่จะทำหนังสือที่ระลึก 100 ปีของพ่อนี่เอง เราเพิ่งจะมารู้จักพ่อจริงๆ มองเห็นคุณค่าของพ่อ เคารพ นับถือ นิยมเสื่อมใสพ่อ ภาคภูมิใจในตัวพ่อ และที่สำคัญที่สุด รักอย่างเต็มหัวใจ จะทำอย่างไรดี ที่จะให้พ่อหยั่งถึงความรู้สึกที่เรามีต่อพ่อขณะนี้ได้

ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายโปรดบันดาลให้ความรู้สึกขณะนี้ของเราไปถึงพ่อไม่ว่าพ่อจะอยู่ที่ไหนก็ตามให้พ่อรู้ว่า ลูกหลานจะนำเพ็ญเพียร ทำคุณความดีเจริญรอยตามพ่อ ให้พ่อได้รับความปลื้มปีติว่า ชีวิตของพ่อนั้นมีคุณค่าที่สุด พ่อเกิดมาไม่เสียชาติ ทำประโยชน์ต่อผู้คนมากหลาย เป็นตัวอย่างที่พิเศษและหายากในสายตาของเรา เป็นแรงบันดาลใจแก่พวกเรา และสักวันหนึ่ง โลกภายนอกก็จะต้องเห็นพ้องด้วย

สุดท้ายนี้ ลูกหลานทุกคนขอแสดงความสำนึกในพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพ่อและพร้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองชีวิตของพ่อ ในโอกาสวันสมภพครบ 110 ปีของพ่อ

 

หน่อย

 

หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน
หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

 

ที่มา : ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน. “ชีวิตของพ่อ”, ใน, “1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์” จัดพิมพ์เนื่องในวาระ 1 ศตวรรษ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน 23 สิงหาคม 2543. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2543), หน้า 19-38.

 

[1] อิงตามต้นฉบับ