ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

พูนศุขถวายกุ้งแห้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

9
มกราคม
2565

ถึงแม้ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จะเป็นภริยา นายปรีดี พนมยงค์ สมาชิกคนสำคัญของคณะราษฎร ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ส่งผลให้อำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จนอาจก่อความไม่พอใจให้ฝ่ายเจ้านายและขุนนางเดิมจำนวนไม่น้อย แต่ก็ใช่ว่า นายปรีดี และ ท่านผู้หญิงพูนศุข จะสิ้นสุดความสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายเจ้านายเดิม โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จเดินทางออกจากเมืองไทยเพื่อไปประทับในประเทศอังกฤษตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2477 (นับเทียบตามศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ. 2478) และต่อมาได้ตัดสินพระราชหฤทัยทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (นับเทียบตามศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2478) พระองค์ก็ทรงพระประชวรเนืองๆ จวบจนกระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน เฮ้าส์ (Compton House) เขตชนบทใกล้กรุงลอนดอน 

 


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

 

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ยังคงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษต่อไป นับแต่ต้นทศวรรษ 2480 สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มเปิดฉากในทวีปยุโรป ครั้นเมืองไทยเข้าสู่สงครามต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ที่อังกฤษมีการรวมตัวกันของคนไทยขึ้นเป็น “ขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ” พระองค์ก็ทรงสนับสนุนและคอยช่วยเหลือเจือจุน 

ปลายทศวรรษ 2480 พอสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงแล้ว หลายบุคคลได้มีการติดต่อสื่อสารและส่งข้าวของต่างๆ จากเมืองไทยไปถวายสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ส่งกุ้งแห้งไปถวาย โดยฝากไปกับ “ท่านชิ้น” หรือ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน พระเชษฐา ดังต่อมาพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้มีลายพระราชหัตถเลขาจากที่ประทับ (address) ชั่วคราว 11 Manchester Square, London ถึงท่านผู้หญิงพูนศุขเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2489 เนื้อความว่า

“แม่ พูนศุข ทราบ

กุ้งแห้งที่ฝากพี่ชิ้นมาให้นั้นได้รับนานแล้ว  ขอบใจอย่างมากที่นึกถึง  ฉันต้องขอโทษในการที่ไม่ได้ตอบไปให้ก่อนนี้  ไม่มีข้อแก้ตัวว่าอะไรเลยนอกจากว่าเหลวไหล   ได้ของรับประทานอะไรที่เปนของไทยแล้วดีใจเสมอเพราะที่เมืองนี้ยาก  กุ้งแห้งนั้นเวลานี้ได้รับประทานกันอร่อยและตัวโตดีด้วย  เมื่อก่อนนี้ยังพอจะหาซื้อได้บ้างจากร้านเจ๊ก  แต่มาบัดนี้หาไม่ค่อยจะได้  และของที่เรารู้สึกขาดที่สุดคือข้าว  เวลานี้มีบ้างก็ที่คนส่งมาให้จากเมืองไทย แต่ก็ต้องจำกัดเพราะเอามาทางเครื่องบินยาก และเวลานี้ก็คงจะหายากขึ้นอีกด้วย เพราะได้ทราบว่าที่เมืองไทยก็ไม่ค่อยจะมี”

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

 

ในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกัน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงเล่าถึงเรื่องที่พระองค์ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา

“เมื่อเดือนก่อนนี้ฉันได้ไปเที่ยวที่อเมริกากับพี่ชิ้น  เวลานี้ท่านไปประชุมเรื่องที่ดินแดน  ฉันอยู่ที่นั่นประมาณเดือนหนึ่ง  รู้สึกสบายและสนุกดี เพราะที่นั่นไม่มีอะไรที่ ration เลย จะซื้ออะไรก็ได้ตามชอบใจ และอาหารการกินก็บริบูรณ์ทุกอย่าง  แต่ว่าการอยู่กินที่นั่นแพงกว่าเมืองอังกฤษนี้มาก และยังลำบากในเรื่องเงินด้วย เพราะเอาออกไปยาก ทางนี้เขากะจำนวนให้ อยากจะอยู่นานกว่าเดือน แต่อยู่ไม่ได้เพราะเรื่องเงินนี้  จึงได้กลับมาพร้อมกับพี่ชิ้น  เวลานี้ท่านมาเจรจากับที่อังกฤษนี้. เวลานี้พี่ชิ้นได้กลับไปอเมริกาอีกแล้ว.”

 


หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

 

รวมทั้งแสดงความเป็นห่วงมาถึงอาการป่วยไข้ของนายปรีดี ซึ่งยังทรงเรียกขานตามบรรดาศักดิ์เดิมว่า “คุณหลวงประดิษฐ์”  

“ได้ทราบว่าคุณหลวงประดิษฐ์ไม่ค่อยจะสบาย หวังว่าจะไม่เปนอะไรมากมาย  เห็นจะเปนเพราะเหนื่อยมาก และยังจะมีเรื่องกวนใจอีกหลายเรื่องด้วย หวังว่าเวลานี้คงจะหายดีแล้ว.

ในที่สุดนี้ขอขอบใจอีกที ฉันเห็นว่าแม่พูนศุขได้บุญมากที่ส่งของมาให้  หวังว่าสบายดีทั้งครอบครัว”

 

 

 

ล่วงมา พ.ศ. 2492 รัฐบาลไทยสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จนิวัตกรุงเทพมหานคร พร้อมกับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง นั่นจึงเป็นการหวนคืนสู่เมืองไทยอีกหนของพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 หลังแรมนิราศไปเนิ่นนาน

 

เอกสารอ้างอิง

  1. พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528. กรุงเทพฯ: ห้องสมุดเฉพาะสำนักราชเลขาธิการ กองกลาง สำนักราชเลขาธิการ, 2531
  2. “สัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์.” ปาจารยสาร. ปีที่ 14 ฉบับที่ 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2530). หน้า 66-77