ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

PRIDI Interview : อัศวิน จินตกานนท์ เล่าเรื่องคุณพ่อ “อนันต์ จินตกานนท์”

31
สิงหาคม
2565

ตั้งแต่เล็กจนโต คุณพ่อของผม (อนันต์ จินตกานนท์) พูดถึงท่านปรีดีให้ผมฟังเสมอ คุณพ่อเคารพและนับถือท่านมาก เพราะคุณพ่อเป็นลูกศิษย์ของท่านปรีดีด้วย และท่านปรีดีก็เป็นบุคคลที่ส่งเสริมและสนับสนุนคุณพ่อ คอยบอก คอยสอนคุณพ่อในเรื่องของหน้าที่การงาน เป็นความตั้งใจลึกๆ ของผม ถ้าวันหนึ่งมีโอกาส ผมอยากจะพบท่านด้วยตัวเอง แต่กว่าจะถึงโอกาสนั้น ท่านก็ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสเสียแล้ว

อัศวิน จินตกานนท์ เล่าเรื่องคุณพ่อ “อนันต์ จินตกานนท์”

 

ผมไปพบท่านปรีดีที่อองโตนี ประเทศฝรั่งเศส ปี 2520 ท่านต้อนรับขับสู้อย่างดีมาก ตอนนั้นท่านผู้หญิงพูนศุข ท่านยังไม่รู้จักผม ท่านบอกว่า “อัศวิน ฉันให้เวลาเธอ 5 นาที เพราะเดี๋ยวผู้ใหญ่จะมา” ท่านปรีดีก็พูดออกมาข้างนอกว่า “คุณอัศวินจะอยู่นานเท่าไหร่ก็ได้ ถ้าผู้ใหญ่มา ผมก็จะให้ผู้ใหญ่กลับบ้านไปก่อน แล้วค่อยมาทีหลัง”

ท่านบอกว่า ท่านเคยบินไปอเมริกาแล้วมาเยี่ยมเยือนคุณพ่อกับคุณแม่ ตอนนั้นผมอายุได้ประมาณ 2-3 ขวบ ตัวขาว อ้วนจุ๊ หน้าตาน่ารักน่าชัง ท่านขอผมมาอุ้ม ใครๆ เตือนท่านว่า อัศวินน่ะ ชอบฉี่รดใส่คนอื่น แต่ท่านก็ยังอยากอุ้ม พอเอาผมมาอุ้มไม่ทันไร ผมก็ฉี่ราดท่านจริงๆ

ท่านเป็นคนที่อารมณ์ดีเสมอ มีจิตใจเมตตา เวลาพูดกับใครจะพูดช้าๆ แล้วค่อยๆ อธิบายให้คนฟังเข้าใจ สิ่งที่ท่านอธิบาย คือ ตอนนั้นท่านเจอกับภรรยาผมเพราะภรรยาผมไปเยี่ยมท่านด้วย ท่านบอกว่าบิดาของภรรยาผม ชื่อ หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ เป็นคนที่ยอมขึ้นมาต่อสู้ บอกว่า คุณปรีดีไม่ได้เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 เลย ในหลวงรัชกาลที่ 8 อยู่คนละที่กับท่านปรีดีจะทำร้ายได้อย่างไร ลูกน้องของท่านปรีดีทุกคนบอกว่าท่านปรีดีมีจิตใจเมตตา ไม่เคยที่จะคิดทำร้ายใคร

แล้วท่านก็พูดให้ฟังว่า ท่านอยู่ที่นี่สบายดีนะ บ้านก็สบายดี อัตคัดขัดสนนิดหน่อยเพราะว่าไม่ได้มีทรัพย์สินอะไรมากมาย แต่ท่านเป็นคนที่จิตใจงามมาก พูดจาไพเราะ ถ่อมตนเสมอ ผมกับท่านปรีดีสนทนากันราว 45 นาที เป็นช่วงเวลาที่พิเศษมากสำหรับผม การพูดคุยในวันนั้นถึงแม้จะเป็นเวลาไม่นาน แต่ก็ทำให้ผมเห็นว่า เพราะอะไรผู้ใหญ่ท่านนี้จึงเป็นที่รักของลูกศิษย์ลูกหาหรือใครต่อใครมากมาย ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้พบท่าน 

 

คุณลุงปรีดี พนมยงค์ กับ คุณพ่ออนันต์ จินตกานนท์

สมัยที่คุณพ่อเรียนหนังสือจบใหม่ๆ จากโรงเรียนอัสสัมชัญ ท่านปรีดีพอทราบว่าคุณพ่อเรียนจบ สอบทั้งภาษาอังกฤษและพิมพ์ดีดได้เป็นที่ 1 ของประเทศไทย ท่านก็ให้คุณพ่อเข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ

สมัยนั้นกระทรวงการต่างประเทศจะมีที่ปรึกษากระทรวงมาจากสหรัฐอเมริกา คือ คุณสตีเวนส์ (Mr.Raymond Bartlett Stevens) ท่านปรีดีได้มอบหมายให้คุณพ่อเข้าไปต้อนรับขับสู้และดูแลคุณสตีเวนส์ จึงได้ใกล้ชิดและได้ทำงานร่วมกับคุณสตีเวนส์

คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังอีกว่า คุณสตีเวนส์ท่านเป็นผู้ที่ชอบประเทศไทยอยู่แล้ว ท่านพบกับคุณพ่อและเป็นผู้ที่สอนวิธีทางการทูตให้คุณพ่อได้เรียนรู้หลายอย่าง พอถึงเวลาที่คุณสตีเวนส์กลับไปสู่อเมริกา คุณปรีดีก็ส่งคุณพ่อให้ไปอยู่ที่สถานทูตไทย ตอนแรกก็ให้ไปเป็นเลขานุการตรี แล้วต่อมาก็เป็นเลขานุการโท ท่านปรีดีมอบหมายให้คุณพ่อเป็นผู้ที่ติดต่อประสานงานกับคุณสตีเวนส์ คือท่านมองการณ์ไกลเพราะคุณสตีเวนส์เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับประธานาธิบดีรูสเวลต์ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ถ้ามีอะไรที่จะต้องติดต่อ คุณสตีเวนส์ก็จะติดต่อกับทางสหรัฐอเมริกาแล้วแนะนำว่าให้ทำอะไรได้

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ปัญหาเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณพ่อถามคุณสตีเวนส์ว่าจะทำอย่างไร ถ้าเผื่อว่ารัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องทำแน่ๆ เพราะว่าญี่ปุ่นคุมประเทศไทยอยู่ ทางคุณสตีเวนส์ไปพบกับประธานาธิบดีแล้วกลับมาพบคุณพ่อที่สถานทูตไทย แจ้งข่าวว่าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ไม่มีปัญหาแล้ว ถ้ามีปัญหาอะไรที่ขัดสนหรืออะไรก็ตาม ทางอเมริกาก็จะทราบว่าประเทศไทยไม่ได้ทำด้วยความเต็มใจ แต่ถูกบังคับให้ทำ

 

อัศวิน จินตกานนท์ เล่าเรื่องคุณพ่อ “อนันต์ จินตกานนท์”

 

บทบาทของคุณพ่อและคุณแม่ในขบวนการเสรีไทย สายอเมริกา

คุณพ่อของผมเริ่มต้นเป็นเลขานุการตรี คือ ตำแหน่งที่ต่ำที่สุดในสถานทูตไทย ภายหลังพอขึ้นมาเป็นเลขานุการโทก็ได้ประสานงานกับรัฐบาลอเมริกันผ่านคุณสตีเวนส์ มีอยู่ครั้งหนึ่งคุณพ่อถามคุณสตีเวนส์ว่า อย่างไรก็ตามทางประเทศไทยคงต้องประกาศสงครามกับทางสหรัฐอเมริกาแน่นอน เพราะญี่ปุ่นตอนนั้นคุมประเทศไทยอยู่ ทางคุณสตีเวนส์บอกว่าไม่มีปัญหาอะไรหรอก เราจะประสานงานกัน เพราะฉะนั้น เวลามีธุระอะไรก็ตาม คุณสตีเวนส์จะประสานงานกับทางรัฐบาลอเมริกา แล้วมาพบกับสถานทูตไทย เพื่ออธิบายว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร จะทำอย่างไร แก้ไขสถานการณ์อยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะไม่เป็นทางการแต่อย่างน้อยที่สุดความสัมพันธ์ก็จะทำให้ผ่อนหนักเป็นเบาอยู่ตลอดเวลา

ในส่วนของคุณแม่ (คุณชุบ จินตกานนท์) คุณแม่ก็เป็นนักพิมพ์ดีดที่เก่งมาก อีกทั้งยังเขียนชวเลขได้ จึงช่วยสนับสนุนงานของคุณพ่อที่สถานทูต และช่วยเหลือในเรื่องของงานเอกสารและงานบัญชี อีกสถานะหนึ่งก็จะทำหน้าที่เหมือนแม่บ้านทั่วไป คือ จัดทำอาหารไทยเลี้ยงนักเรียนไทยทุกคนที่อยู่อเมริกาแล้วแวะมาที่สถานทูต ตอนนั้นนักเรียนไทยในอเมริกามีทั้งประมาณ 74 คน เขาก็เดินทางไปเดินทางมา มีอะไรก็แวะมาที่บ้านเพราะว่าอยากกินอาหารไทย ไม่รู้จะไปหาที่ไหน คุณแม่ก็จะทำอาหารไทยเลี้ยง

ดีไม่ดี บางวันนักศึกษาบอก “คุณพี่ครับ เราไม่มีสตางค์ ไม่รู้จะไปอยู่โรงแรมที่ไหน ขอนอนที่บ้านได้ไหมครับ” ก็นอนที่บ้าน เลยสนุกสนานกันกับทางนักเรียนไทย

นักเรียนไทยเขาก็ทราบว่าท่านทูตกับคุณพ่อไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่ ท่านทูต (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช) เป็นฝ่ายเจ้านาย บางครั้งบางคราวก็จะเข้ากับพวกนักศึกษาไม่ได้ คุณพ่อต้องเป็นคนประสานงานให้

คุณพ่อกับท่านทูตก็มีการปีนเกลียวกันบ้าง เพราะว่าท่านผู้ใหญ่สมัยนั้นถือศักดิ์ศรีพอสมควร ไม่เหมือนกับเด็กๆ ที่ทำงาน ก็เล่นหัวกับพวกเด็กๆ คิดไปคิดมาทางด้านนักศึกษาจึงเข้าทางด้านคุณพ่อเยอะแยะ คุณจก ณ ระนอง เป็นคนที่เข้ามาประสานงานตลอดเวลา คุณจกบอกว่าต่อไปท่านทูตจะมีการประชุมอะไรก็ตาม ขอให้นักศึกษานั่งฟัง 2 คน เพื่อจะได้ร่วมมือกัน ปรึกษาหารือกัน แล้วก็เป็นกันชนเพื่อไม่ให้มีการปะทะกันมากนัก

อีกท่านหนึ่ง คือ พลโท ม.ล.ขาบ กุญชร ท่านเป็นคนสนุกสนาน อยู่กับคุณพ่อเสมอ ตลอดเวลา ก็ต้องคุยกับนักศึกษา ทำอะไรกับนักศึกษา พยายามที่จะประนีประนอมให้กัน พอกลับมาเมืองไทยท่านก็ยังเป็นเพื่อนรักตลอด 

 

ถ้าในวันนั้นประเทศไทยไม่มีขบวนการเสรีไทย

ผมไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ที่ทราบแน่ๆ ก็คือที่ดอนเมืองสมัยนั้น อังกฤษเขายึดดอนเมืองไว้แล้ว แล้วเขาก็พร้อมตลอดเวลาที่จะยึดประเทศไทย ส่วนในอเมริกาเขาเป็นมิตรกับไทย เพราะฉะนั้นเขาจะห้ามทางอังกฤษเสมอว่าอย่าไปยุ่งกับประเทศไทย อยากจะได้อะไรทางอเมริกาจะเจรจาให้ เช่นทางอังกฤษเขาจะบอกว่าต้องมีความเสียหายแน่ๆ ประเทศไทยจะต้องมีข้าวให้กับรัฐบาลอังกฤษ ทางอเมริกาก็จะมาเจรจาต่อรองกับอังกฤษว่าถ้าทั้งประเทศไทยและนักศึกษาไทย ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับการรบ หรือว่าการทิ้งระเบิด อังกฤษจะไม่ได้ผลประโยชน์เท่าที่ได้ ที่ได้มานี่เพราะว่านักศึกษาไทยเป็นคนบอกว่าตรงนี้ทิ้งได้ ตรงนั้นไม่ทิ้ง ตรงนั้นไม่ทิ้ง แล้วเขาก็ไปเจรจากัน เรื่องอย่างนี้ทำให้การรบของทางอเมริกาที่มาทิ้งลูกระเบิดในประเทศไทยถึงได้ตรงจุดตลอดเวลา ไม่ค่อยพลาด 

 

อัศวิน จินตกานนท์ เล่าเรื่องคุณพ่อ “อนันต์ จินตกานนท์”

 

ประเทศไทยเรารอดพ้นไม่ถูกตราหน้าว่าเป็นประเทศที่แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เพราะวีรกรรมของเสรีไทยที่ได้เสียสละชีวิตและความสุขส่วนตนเพื่อให้ประเทศยังคงรักษาเอกราชไว้ เป็นแผ่นดินไทยให้คนรุ่นหลังได้อยู่อย่างสบายจนทุกวันนี้ เสรีไทยผู้เสียสละเหล่านั้นแทบทุกท่านเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง หลายท่านประสบความสำเร็จในชีวิต ทำให้ผมเชื่อว่า “ทำดีย่อมได้ดี” ลูกๆ ของพวกท่านก็สนิทสนมกันจนถึงทุกวันนี้ ยังไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ และยังรู้สึกภาคภูมิใจในวีรกรรมของบุพการีอย่างไม่เสื่อมคลาย

ความเสียสละโดยไม่เคยขออะไรตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งทางราชการหรือผลประโยชน์ในทางธุรกิจ วีรชนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงความภาคภูมิใจของทายาทของท่านเท่านั้น แต่ยังเป็นแบบอย่างที่ดีที่คนไทยรุ่นหลังพึงระลึกถึง จดจำ และดำเนินรอยตาม หากทุกคนมีความรักในแผ่นดินไทย และคำนึงถึงส่วนรวมและประเทศชาติเป็นที่ตั้งแล้ว ความขัดแย้งทั้งหลายอย่างที่เราพบเห็นในบ้านเมืองทุกวันนี้คงหมดไป ประเทศไทยของเราจะสามารถฝ่าฟันภัยวิกฤตนานาไปได้ เป็นประเทศที่ร่มเย็น น่าอยู่สำหรับคนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป 

 

อัศวิน จินตกานนท์ เล่าเรื่องคุณพ่อ “อนันต์ จินตกานนท์”

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ณภัทร ปัญกาญจน์
สัมภาษณ์ : 11 สิงหาคม 2565