ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

เมื่อปรีดี พนมยงค์ พยายามค้นคว้าเรื่องโรคมะเร็ง

10
กันยายน
2565

เนื่องจากรับทราบข่าวคราวว่า นายปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตของตนป่วยด้วยโรคมะเร็งในช่วงต้นทศวรรษ 2520 ประกอบกับอุปนิสัยที่เป็นคนหมั่นศึกษาแสวงหาความรู้อยู่เสมอๆ นั่นจึงทำให้ นายปรีดี พนมยงค์ บังเกิดความสนใจค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับโรคมะเร็งและวิธีการรักษา

ตามข้อเขียน “ชีวิตของลูกปาล” โดยท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์นายปาล พนมยงค์ คำไว้อาลัยกับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของการล้มป่วยของนายปาล คือ

 

“โดยปกติลูกได้ไปเยี่ยมพ่อแม่ที่ประเทศฝรั่งเศสทุกปี และเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสมัยนั้นทำการปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนที่สุด ลูกเห็นว่าถ้าขืนอยู่ในเมืองไทยอาจไม่ปลอดภัย จึงเดินทางไปพักกับพ่อแม่เป็นเวลาปีเศษ จนสถานการณ์คลี่คลายลูกจึงเดินทางกลับ ในระหว่างที่พักอยู่ในฝรั่งเศส ลูกมีอาการป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (Hôpital international de l'Université de Paris) ถึง 2 เดือนเต็ม” 

 

ครั้นนายปาลเดินทางหวนกลับสู่เมืองไทย เดิมที ครอบครัวของปรีดีและพูนศุขคงไม่คาดการณ์ว่า นายปาลจะต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายแรง จวบกระทั่งได้รับแจ้งข่าวคราว

 

“เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2522 ขณะที่แม่อยู่ที่ฝรั่งเศสได้รับโทรศัพท์ทางไกลจากกรุงเทพฯ ว่า ลูกป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และนายแพทย์จะทำการผ่าตัดด่วนในวันที่ 27 เมื่อแม่รับทราบก็รีบเดินทางมากรุงเทพฯ ถึงในวันผ่าตัดพอดี แพทย์ที่ทำการผ่าตัดได้พบว่าลูกเป็นมะเร็งในลำไส้ใหญ่ 

ลูกมีอาการป่วยมาก่อนและเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลหลายครั้ง แต่ลูกเป็นคนอดทนและมีนิสัยเกรงใจจึงมิได้คิดว่าเป็นโรคร้าย มัวไปเข้าใจว่าเป็นโรคริดสีดวงเรื้อรัง แต่เมื่อแพทย์ได้ตรวจอย่างถี่ถ้วนแล้วปรากฏว่ายังเป็นโรคฝีคัณฑสูตรอีกด้วย เมื่อผ่าตัดเรียบร้อยและย้ายลําไส้ให้ถ่ายออกทางใหม่ (Colostomy) ลูกมีอาการดีขึ้นเป็นลําดับและกลับมาพักฟื้นที่บ้านได้” 

 

นายปรีดีซึ่งพำนัก ณ ประเทศฝรั่งเศส แม้จะห่วงใยอาการป่วยของบุตรชายมากเท่าใด แต่ไม่สามารถจะเดินทางกลับเมืองไทยเพื่อมาเยี่ยมเยียนได้ หนทางหนึ่งที่จะถ่ายทอดความรู้สึกของผู้เป็นพ่อได้ ก็คงมิพ้นการเขียนจดหมายจากทางไกลส่งถึงลูก ดังฉบับลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2523

 


จดหมายจากนายปรีดี ถึง ปาล ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2523

 

ปาล ลูกรัก 

ในวาระขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๓ พ่อขออาราธนาคุณพระศรีรัตนไตรย และอานิสงส์ทั้งปวงที่ลูกได้บำเพ็ญเพื่อชาติและราษฎรไทย และคุณความดีที่ลูกได้แสดงช่วยเหลือพ่อแม่ในยามทุกข์ร้อนหลายประการนั้น โปรดดลบันดาลให้ลูกมีสุขภาพสมบูรณ์ขึ้นโดยเร็ววัน และประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลทุกประการ

พ่อได้สอบถามญาติมิตร์ทางปารีสถึงประสบการณ์ของเขาที่ประสบพบเห็นบุคคลที่เคยป่วยและได้รับการรักษาตามวิธีที่แพทย์ได้ช่วยลูกอยู่ในขณะนี้แล้ว พ่อได้ความตรงกันกับที่คุณหมอวิศิษฎ์ได้โทรศัพท์แจ้งให้ทราบว่าวิธีรักษาลูกนั้น เมื่ออาการป่วยหายเปนปกติแล้วก็สามารถประกอบธุรกิจได้ประดุจคนปกติ Tante Rose ก็เล่าให้ฟังว่ามีเพื่อนของเขาคนหนึ่งซึ่งเปนศาสตราจารย์ป่วยและได้รับวิธีรักษาเช่นเดียวกับลูก หายป่วยแล้วเปนเวลากว่า ๑๐ ปีก็ยังทำหน้าที่ศาสตราจารย์ได้ ส่วนเล็กยาดาก็ได้แจ้งให้พ่อทราบวันนี้ว่าเขารู้จักคนหนึ่งซึ่งเปนผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้รับวิธีรักษาเช่นเดียวกับลูก หายป่วยหลายปีแล้วก็ดำเนินธุรกิจต่อไปได้จนทุกวันนี้ ฉะนั้นพ่อจึงหวังว่าเมื่อลูกหายป่วยแล้วก็คงปฏิบัติธุรกิจได้เหมือนคนปกติ

ด้วยความรักและคิดถึงมาก จากพ่อ

 

Tante Rose หรือ ป้าโรส (Tante เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ป้า, น้า) ที่ถูกกล่าวถึงในเนื้อความจดหมาย คือ สตรีลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศสผู้เป็นเพื่อนสนิทของท่านผู้หญิงพูนศุข และเสมือนญาติสนิท เพราะเธอจะคอยช่วยเหลือดูแลเรื่องต่างๆ ให้กับครอบครัวพนมยงค์ขณะพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส

ฉลบชลัยย์ พลางกูร เล่าไว้ในข้อเขียน “ทำไมดิฉันจึงรัก เคารพ และบูชาท่านปรีดี พนมยงค์” อีกว่า ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 อันเป็นวันที่นายปรีดีถึงแก่มรณกรรม ท่านผู้หญิงพูนศุขได้เชิญเพื่อนสนิทที่ชื่อโรสมารับประทานอาหารไทยด้วย โดยมาถึงบ้านเวลาประมาณ 10.40 น. ตอนนั้น ท่านผู้หญิงพูนศุขเข้าไปพบนายปรีดีหมดสตินั่งคอพับก้มมาทางข้างหน้าอยู่ที่โต๊ะทำงานในห้องสมุดจึงร้องเอะอะขึ้น ฉลบชลัยย์เผยให้ทราบว่า คุณโรสซึ่งก็คือ Tante Rose เป็นนางพยาบาล เธอกับคุณอนวัช ศกุนตาภัย ที่กำลังเป็นนักเรียนแพทย์ปี 4 ได้ช่วยกันทำการปฐมพยาบาลนายปรีดี แต่ไม่ได้ผล เข้าใจว่านายปรีดีสิ้นลมไปตั้งแต่ตอนที่นั่งคอพับแล้ว

ส่วน “เล็กยาดา” หมายถึง ญาดา พนมยงค์ บุตรชายของหลวงอรรถกิติกำจร (อรรถกิจ หรือ กลึง พนนมยงค์) กับนางปราศรัย มีภรรยาชื่อเล็ก นายปรีดีมักเรียกทั้งสองคู่กันว่า “เล็ก-ญาดา” (บิดาและมารดาของอริยะ พนมยงค์)

ภายหลังการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ล่วงผ่านเกือบ 5 เดือน นายปาลเดินทางไปหานายปรีดีที่ประเทศฝรั่งเศสอีกหนเนื่องในวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 80 ปีบริบูรณ์ซึ่งตรงกับวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ตอนนั้น นายปาลสุขภาพแข็งแรงขึ้นจนดูเหมือนแทบจะเป็นคนปกติ ไม่ใช่คนที่เคยป่วยโรคมะเร็งเลย

นายปาลพักอยู่กับนายปรีดีประมาณหนึ่งเดือนเศษ จึงเดินทางกลับเมืองไทย

ตลอดหลายปีผ่านมา นายปาลจะทำหน้าที่ดูแลเรื่องการจัดพิมพ์หนังสือของนายปรีดี และเป็นตัวแทนบิดาในการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้เขียนบิดเบือนประวัติศาสตร์การเมืองไทยอันเกี่ยวข้องกับบทบาทของนายปรีดี แต่ช่วงที่นายปาลอยู่ในระยะพักฟื้นหลังจากการผ่าตัด นายปรีดีจึงมอบหมายให้นายปาลช่วยเหลือเพียงแค่ร่วมมือกับทนายความอย่างใกล้ชิดเท่านั้น

ระหว่างปี พ.ศ. 2523 - 2524 นายปรีดีจะคอยติดตามข้อมูลข่าวสารและมุ่งค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับโรคมะเร็งอยู่เนืองนิตย์ ก่อนลงมือเขียนจดหมายจากทางไกลส่งไปบอกเล่า พร้อมทั้งให้กำลังใจบุตรชายคนโตของตน ดังฉบับลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ที่มีเนื้อหาส่วนต้นว่า

 


จดหมายจากนายปรีดี ถึง ปาล ฉบับลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2523

 

ปาล ลูกรัก 

๑. เมื่อคืนวันที่ ๒๒ เดือนนี้พ่อได้ฟังโทรทัศน์ฝรั่งเศส มีศาสตราจารย์หลายคนอธิบายว่าโรคมะเร็งที่เข้าใจกันว่าเปนโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้นั้น บัดนี้ศาสตราจารย์ดังกล่าวว่าโรคมะเร็งเปนโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ คือเมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีโรคนั้นแล้วก็ปรึกษาแพทย์ทันท่วงทีที่จะผ่าตัดเนื้อร้ายและกรรมวิธีต่างๆ ซึ่งแพทย์ได้พรรณนารายเลอียดพอสมควร พ่อจะได้ติดตามเรื่องนี้แล้วส่งมาให้ลูกทราบ

รุ่งขึ้นพ่อได้รับเอกสารชื่อ “Solutions” เห็นว่าเปนประโยชน์มากจึงฝากมาให้ลูกพร้อมจ.ม. ฉบับนี้ พ่อเห็นว่ามีหลายเรื่องที่ลูกปรารภเช่นเรื่องก๊าสและเรื่องอาหาร ขอให้ลูกพิจารณาดู และเนื่องจากโรคมะเร็งสามารถรักษาให้หายได้ซึ่งต่างกับแพทย์สำนักเก่าที่ (...) ว่าผู้ใดเปนโรคนั้นแล้วก็หมดหวัง จึงอนุญาตให้คนไข้รักษาทางไสยสาตร์และกินของแสลงต่างๆ พ่อจึงเห็นว่าถ้าลูกลองปฏิบัติตาม “Régime de Convalescence” และ “Régime post Convalescence” ประมาณ ๓ เดือน สุขภาพของลูกจะดีขึ้นมาก เมื่อครบกำหนด ๓ เดือนแล้วให้ลูกแจ้งให้พ่อทราบเพื่อพ่อจะปรึกษากับแพทย์ทางปารีสนี้

 

 

อีกทั้งในส่วนของ ปล. ยังระบุว่า ภายหลังที่เขียนจดหมายฉบับนี้ ในตอนค่ำของวันที่ 25 ตุลาคม ปีเดียวกัน นายปรีดีได้ฟังจากโทรทัศน์ของฝรั่งเศส มีศาสตราจารย์หนึ่งท่านกล่าวว่า “อีกไม่ช้า” การค้นพบวิธีรักษาโรคมะเร็งจะปรากฏขึ้น

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2524 นายปาลเดินทางไปหานายปรีดีที่ประเทศฝรั่งเศสเนื่องในวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 81 ปีบริบูรณ์ คราวนี้นายปาลเริ่มป่วยหนัก หากตอนนั้น นายปรีดีกำลังป่วยหนัก ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด่วนตอนกลางคืนดึกดื่น ด้วยความเกรงใจ นายปาลจึงไม่ปริปากบอกเรื่องนี้ให้ใครทราบเลย เกรงว่าตนจะกลายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นสำหรับทุกคน มิหนำซ้ำ เขายังตามไปช่วยดูแลบิดาที่โรงพยาบาล จวบจนร่างกายทนไม่ไหว สำแดงอาการออกมา ทั้งปวดท้อง แน่นอืด และมีเลือดออกในช่องท้อง เมื่อให้นายแพทย์ประจำครอบครัวตรวจร่างกายดู นายแพทย์ที่ฝรั่งเศสมีความเห็นว่านายปาลควรจะเดินทางกลับเมืองไทยเพื่อรักษากับนายแพทย์ผู้เคยทำการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

นายปาลโดยสารเครื่องบินมาพร้อมกับท่านผู้หญิงพูนศุข ระหว่างเดินทางเขาเกิดอาการปวดท้องแสนสาหัส กระทั่งว่าพอถึงสนามบินที่เดลี (Delhi) ประเทศอินเดีย ต้องเรียกแพทย์มาฉีดยาระงับความปวด จวบจนถึงกรุงเทพมหานคร ลงจากเครื่องบินก็รีบตรงไปเข้ารักษายังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที

ท่านผู้หญิงพูนศุขบอกเล่าถึงตอนที่นายปาลรักษาตัวในโรงพยาบาลว่า “...นอกจากลูกมีนิสัยเกรงใจคนแล้ว ลูกยังเป็นคนมีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนน้อม รู้จักเคารพคารวะผู้อาวุโส ถึงแม้นายแพทย์และพยาบาลซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่าเข้ามาตรวจหรือช่วยเหลือตามหน้าที่ ลูกก็จะยกมือไหว้ และกล่าวขอบคุณทุกครั้ง”

เมื่อทางคณะแพทย์พิจารณาอาการของนายปาล และเริ่มลงความเห็นว่า โรคลุกลามร้ายแรงจนอีกไม่นานอาจจะต้องเสียชีวิต ข่าวนี้ย่อมแพร่ไปให้นายปรีดีซึ่งพำนักในฝรั่งเศสรับทราบเช่นกัน ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ผู้ใกล้ชิดนายปรีดีขณะนั้น เปิดเผยถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เป็นพ่อของนายปาลว่า

 

“ประมาณกลางปี พ.ศ. 2524 พี่ปาล บุตรชายคนโตของท่านซึ่งอยู่เมืองไทย ไม่สบายมาก เป็นมะเร็งลำไส้ หมอบอกว่าอาจจะเสียชีวิตในไม่ช้า ท่านผู้หญิงพูนศุขก็บินกลับไปอยู่ที่เมืองไทย ลูกๆ ของท่านบางคนก็ไปด้วย เวลานั้นผมกำลังจะส่งวิทยานิพนธ์ คุณป้าเล่าเรื่องให้ฟังเมื่อผมโทรศัพท์มาหา แล้วขอให้ไปอยู่เป็นเพื่อนคุณลุง ผมจึงรีบเดินทางไปที่บ้านอองโตนี อยู่เป็นเพื่อนท่านพักหนึ่ง จนคุณสุภา ศิริมานนท์มาหาท่าน ผมจึงกลับอังกฤษ

ระหว่างนั้น เราแทบไม่อยากได้ยินเสียงกริ่งโทรศัพท์ เพราะเกรงข่าวร้าย แต่ถึงกระนั้น เวลาท่านผู้หญิงพูนศุขโทรศัพท์มาหา ท่านมักจะจบว่า “เธอต้องดูแลสุขภาพตัวเองด้วยนะ ถ้าเธอเป็นอะไรไปอีกคน ทุกคนก็แย่ ฉันก็แย่” ท่านคงอยากอยู่ใกล้ลูกเมียตอนนั้น ท่านคิดถึงครอบครัวท่านมาก แต่ก็ได้แต่ปลอบกันไป

บ่ายวันหนึ่งขณะเดินไปในสวนใกล้ๆ บ้าน ระหว่างท่านเดินอยู่กับผม มีเด็กเล็กๆ วิ่งเล่นอยู่ แล้ววิ่งมาใกล้ๆ ท่าน ท่านก็ก้มลงไป ค่อยๆ เอามือลูบศีรษะเด็กคนนั้นอย่างเอ็นดู พอเด็กวิ่งออกไป ท่านแหงนหน้าขึ้นมองฟ้า แล้วหันมาพูดกับผมว่า “ปาลนี่ไม่น่าอายุสั้นเลย ยังไม่ได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้ประเทศชาติคุ้มกับที่เกิดมาเลย” ได้ฟังแล้วผมต้องกลืนน้ำลาย น้ำตาจะตก นึกถึงคนที่ต้องอยู่ห่างไกลลูก ในช่วงที่ลูกกำลังไม่สบายหนัก ไม่ทราบว่าจะรอดหรือไม่ สิ่งที่ท่านนึกถึงยังเป็นเรื่องที่ลูกไม่ได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติอย่างคุ้มค่า ผมไม่แน่ใจว่าจะได้ยินเรื่องแบบนี้จากคนอื่นในชีวิตอีก นี่คือความผูกพันที่ท่านมีต่อประเทศชาติของเรา แต่น่าเสียดายที่ประเทศนี้ไม่ได้อยากผูกพันกับท่านเหมือนที่ท่านผูกพันกับประเทศนี้ คิดเรื่องนี้ทีไรน้ำตาผมจะเอ่อออกมาทุกที เห็นใบหน้าที่นิ่งแบบเศร้าๆ ของท่านขึ้นมาเลย”

 

เพราะ นายปรีดี พนมยงค์ เปี่ยมล้นความหวังว่าบุตรชายคนโตของตนจะมีโอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แม้ตัวอยู่ห่างไกลถึงประเทศฝรั่งเศส แต่ก็หมั่นศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งจากการนำเสนอของสื่อต่างๆ เพื่อนำมาเขียนจดหมายส่งไปให้กำลังใจผู้ป่วยที่อยู่เมืองไทย นั่นย่อมสะท้อนหัวอกของผู้เป็นพ่ออย่างน่าประทับใจ

ทว่าสุดท้าย นายปาล พนมยงค์ มิอาจหลีกหนีความตายไปได้ จึงอำลาโลกนี้ไปเมื่อวันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2524 สิริรวมอายุได้ 49 ปี 9 เดือน ก่อนสิ้นลมหายใจยังได้แสดงเจตนาจะอุทิศดวงตาให้กับทางสภากาชาดไทย และบริจาคร่างกายให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

เอกสารอ้างอิง

  • จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2523. (ยังไม่ตีพิมพ์)
  • จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2523. (ยังไม่ตีพิมพ์)
  • กษิดิศ อนันทนาธร. “รู้ทุกข์ รู้ธรรม รักถิ่น : คุยกับ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร เรื่องอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ หรือ ‘คุณลุง’”. สถาบันปรีดีพนมยงค์ (30 มีนาคม 2563) https://pridi.or.th/th/content/2020/03/36
  • ฉลบชลัยย์ พลางกูร. “ทำไมดิฉันจึงรัก เคารพ และบูชาท่านปรีดี พนมยงค์.” ปรีดีบรรณานุสรณ์ ๒๕๖๓. กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563
  • พูนศุข พนมยงค์, ท่านผู้หญิง “ชีวิตของลูกปาล.” ใน อนุสรณ์นายปาล พนมยงค์ คำไว้อาลัยกับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525.