ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ กับเส้นทางการพัฒนากฎหมายปกครองไทย

4
ตุลาคม
2565

การพัฒนาความรู้กฎหมายมหาชนในประเทศไทย (พ.ศ. 2515 - 2550)

ดร.อิสสระมุ่งมั่นที่จะให้ความรู้แก่นิสิต นักศึกษา เพื่อพัฒนากฎหมายมหาชนในประเทศไทย แม้ว่าภารกิจราชการที่สำนักงบประมาณจะหนัก แต่ ดร.อิสสระก็ได้สละเวลาพักผ่อนส่วนตัวไปเป็นอาจารย์พิเศษและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ตั้งแต่ปี 2515 จนกระทั่งในปี 2550 ที่ร่างกายไม่เอื้ออำนวยให้ทำงานได้ ทั้งนี้ ในปี 2515 กฎหมายมหาชนยังเป็นเรื่องใหม่มาก และการเรียนการสอนสาขากฎหมายมหาชนยังมีจำกัดในประเทศไทย

 

“ดร.อิสสระได้เป็นนักกฎหมายรุ่นแรกๆ ของไทยที่ได้เขียนบทความเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนและความสำคัญของกฎหมายมหาชน เนื่องจากท่านได้เรียนกฎหมายมหาชนในขณะที่ได้ไปศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส และท่านได้กรุณามอบบทความต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนให้ผม ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้กฎหมายมหาชนและเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนไปด้วย

ต่อมา ท่านได้มีโอกาสไปสอนกฎหมายมหาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งผลงานด้านกฎหมายมหาชนต่างๆ (ของท่าน ทำให้นักกฎหมายไทยได้ตื่นตัวในการศึกษาและการใช้กฎหมายมหาชนอย่างกว้างขวาง และด้วยความรู้ความสามารถในด้านกฎหมายมหาชนของท่าน ทำให้ท่านได้รับใช้ประเทศชาติในเวลาต่อมาด้วยการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นผลให้ท่านได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถด้านกฎหมายมหาชนกว้างขวางยิ่งขึ้น”

(พูลทรัพย์ ปิยะอนันต์, “ระลึกถึง ดร.อิสสระ”)

 

การพัฒนาความรู้ด้านกฎหมายปกครองและเสนอแนวคิดการจัดตั้งศาลปกครองในประเทศไทย (พ.ศ. 2515-2540)

ดร.อิสสระมีความสนใจและศึกษาค้นคว้ากฎหมายปกครองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เรียนที่ประเทศฝรั่งเศส จนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต และนำความรู้มาถ่ายทอดในการสอนวิชากฎหมายปกครองเปรียบเทียบและมีความมุ่งหวังที่จะให้เกิดการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นในประเทศไทย

ดร.อิสสระมีความสนใจและศึกษาค้นคว้ากฎหมายปกครอง เช่น จากหนังสือ “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่เขียนขึ้นในปี 2474 ทำให้มีความเข้าใจเบื้องหลังประวัติศาสตร์กฎหมายปกครองของไทย อ่านตำราหนังสือ และบทความที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายปกครองของประเทศต่างๆ และติดตามหนังสือใหม่ๆ เพื่อให้ได้ความรู้ที่ทันสมัย ทำให้มีความรอบรู้เกี่ยวกับกฎหมายปกครองของประเทศต่างๆ เป็นอย่างดี และได้เขียนบทความเกี่ยวกับกฎหมายปกครองของฝรั่งเศส ระบบกระจายอำนาจของฝรั่งเศสและกฎหมายปกครองของอังกฤษ เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายปกครอง

ดร.อิสสระได้เป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชากฎหมายปกครองเปรียบเทียบในระดับปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามคำเชิญของ ดร.สมศักดิ์ สิงหพันธ์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่ปี 2515 และ

สอนต่อเนื่องเป็นเวลาร่วม 20 ปี โดยสอนในวันเสาร์ช่วงบ่าย และตั้งใจที่จะให้ความรู้แก่นักศึกษา ให้หันมาสนใจกฎหมายปกครองมากขึ้น รวมทั้งให้มีความเข้าใจแนวคิดกฎหมายปกครองของประเทศซึ่งมีระบบกฎหมายที่ก้าวหน้า โดยเปรียบเทียบแนวคิดที่ขัดแย้งกันระหว่างกฎหมายปกครองของฝรั่งเศสและของประเทศแองโกลแซ็กซอน (ประเทศอังกฤษ) และสหรัฐอเมริกา

ดร.อิสสระเป็นผู้บุกเบิกการเขียนหนังสือกฎหมายปกครองเปรียบเทียบในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหม่มากในสมัยนั้น โดยได้เขียนคำบรรยายและจัดพิมพ์คำสอนเป็นภาษาไทย เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาปริญญาตรีที่มีปัญหาด้านภาษาต่างประเทศ ลดอุปสรรคในการอ่านตำรากฎหมายปกครองของฝรั่งเศส โดยคำสอนได้ตีพิมพ์ทั้งสิ้น 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2521-2529

 


ตัวอย่างคำบรรยายรายวิชากฎหมายปกครองเปรียบเทียบ

 


ปกเอกสารคำสอนรายวิชา LA439 คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

 

แนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลปกครองในประเทศไทย

ในปี 2517 ดร.อิสสระได้เขียนบทความเรื่องศาลปกครองฝรั่งเศส เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดระเบียบศาลของประเทศฝรั่งเศส เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการอภิปรายในประเด็นเรื่องการจัดตั้งศาลปกครองในประเทศไทย

ต่อมา ดร.อิสสระเป็นอาจารย์พิเศษประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เสนอแนวคิดเรื่องการจัดตั้งศาลปกครองในการอภิปรายทางวิชาการเรื่องปัญหาการจัดตั้งศาลปกครองในประเทศไทย  โดยคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดขึ้นในปี 2523 ในโอกาสที่มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. … [1] ซึ่งมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านการจัดตั้งศาลปกครองดังกล่าว

แม้ว่าในวันอภิปราย ดร.อิสสระจะมีอาการเจ็บป่วยมากจากไวรัสเข้าตา แต่ยังไปร่วมงานด้วย เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากและเป็นวาระที่เราจะต้องเลือกทางเดิน ท่านคิดว่าถ้าเดินผิดก็คิดจนตัวตาย เพราะเรื่องของศาลปกครองนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ได้เสียของรัฐ เป็นตัวแทนของผลประโยชน์ส่วนรวม

ประเด็นสำคัญที่ ดร.อิสสระชี้ให้เห็นในการจัดตั้งศาลปกครองในประเทศไทย มีดังนี้

(1) ศาลปกครองที่จะจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2523 ไม่ใช่ศาลปกครองที่แท้จริงตามความหมายในทางเทคนิค แต่มุ่งจัดวางระบบควบคุมฝ่ายปกครองโดยศาลยุติธรรม ศาลปกครองจะอยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ศาลปกครองที่จะจัดตั้งขึ้นควรจะเป็นอิสระจากศาลยุติธรรมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าประเทศจะมีความต้องการระบบศาลปกครองหรือไม่

(2) การจัดตั้งศาลปกครองต้องคำนึงถึงเบื้องหลังประวัติศาสตร์ของฝ่ายปกครอง และเอกลักษณ์ของระบบการปกครองของไทยด้วย การควบคุมการกระทำทางปกครองต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายปกครองใช้อำนาจปกครองได้ และเน้นหลักการควบคุมหลังจากใช้อำนาจไปแล้ว มิฉะนั้นระบบที่จะสร้างขึ้นจะไม่สามารถทำงานได้ดีตามที่หวังไว้

(3) ศาลปกครองจะสามารถสร้างแนวคิดของกฎหมายปกครองที่ถูกต้องได้ต่อเมื่อศาลนั้นประกอบด้วยผู้พิพากษาที่มีความชำนาญพิเศษทางกฎหมายมหาชน แต่ข้าราชการตุลาการของไทยส่วนมากเรียนทางกฎหมายเอกชนโดยเฉพาะ และศึกษากฎหมายมหาชนมาน้อยมาก จึงเห็นว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะจัดตั้งศาลปกครอง

 

“ผมเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะเริ่มต้นพัฒนากฎหมายมหาชนอย่างจริงจัง เพื่อว่าวันหน้าเราจะได้มีศาลปกครองซึ่งเป็นหลักประกันเสรีภาพของปัจเจกชน ขณะเดียวกันเอื้ออำนวยให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ผมขอเสนอให้

(1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ (ส่งเสริมการสอนกฎหมายมหาชนให้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มหลักสูตรวิชากฎหมายมหาชนเป็นวิชาบังคับ

(2) มีการแนะนำให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจแนวคิดและบทบาทกฎหมายมหาชน ได้เรียนรู้กฎหมายมหาชนอย่างง่าย

(3) นักกฎหมายมหาชนที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศควรรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมกฎหมายมหาชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายมหาชน

(4) เมื่อผลิตนักกฎหมายมหาชนแล้ว รัฐบาลควรส่งเสริมให้นักกฎหมายมหาชนได้มีโอกาสประกอบวิชาชีพที่เรียนมาอย่างเต็มภาคภูมิ

...นักกฎหมายเอกชนต้องยอมรับว่ากฎหมายมหาชนแตกต่างในสาระสำคัญจากกฎหมายเอกชน และยอมรับนับถือกฎหมายมหาชน และปล่อยให้นักกฎหมายเหล่านี้พัฒนากฎหมายมหาชนโดยลำพัง ดังเช่น วงการแพทย์นับถือแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะโรคและแพทย์ผู้ชำนาญการแต่ละสาขา ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน...

ผมมีความเชื่อมั่นว่าถ้าทุกฝ่ายร่วมมือและประสานงานในการพัฒนากฎหมายมหาชนอย่างจริงจัง ความหวังที่ประเทศไทยจะมีระบบศาลปกครองคงจะเป็นจริงได้แน่นอน”

(คำอภิปรายของ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ, 9 สิงหาคม 2523)

 

เขียนหนังสือเรื่องตอบ 20 คำถาม เกี่ยวกับศาลปกครอง

ในปี 2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ...[2] ซึ่งเป็นการจัดตั้งระบบศาลปกครองแบบศาลคู่ที่มีการจัดตั้งศาลปกครองสูงสุดคู่กับศาลยุติธรรม โดยฝ่ายที่สนับสนุนการจัดตั้งศาลปกครองไม่ได้ให้เหตุผลประกอบให้คนทั่วไปเข้าใจ

ดร.อิสสระจึงได้เขียนหนังสือเรื่องตอบ 20 คำถาม เกี่ยวกับศาลปกครอง ให้ประชาชนทั่วไปเรียนรู้เรื่องศาลปกครองอย่างคนธรรมดาเพื่ออธิบายให้ผู้ที่ไม่ใช่นักกฎหมายเข้าใจศาลปกครอง โดยใช้วิธีตั้งคำถามและตอบคำถาม เช่น ศาลปกครองคืออะไร ทำไมต้องมีระบบศาลคู่ เพื่อใช้ประกอบวิจารณญาณในการตัดสินใจรับหรือไม่รับศาลปกครองในระบบศาลคู่

 


หนังสือเรื่องตอบ 20 คำถาม เกี่ยวกับศาลปกครอง

 

ร่วมก่อตั้งและผลักดันสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2524 - 2534)

จากข้อเสนอของ ดร.อิสสระในการอภิปรายทางวิชาการในปี 2523 ให้มีการจัดตั้งสมาคมกฎหมายมหาชน ในปี 2524-2525 ได้มีการปรึกษาหารือระหว่างนักวิชาการที่สนใจกฎหมายมหาชน ได้แก่ ศาตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม  ดร.เฉลิมชัย วสีนนท์  ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ และ ดร.โภคิน พลกุล ในการจัดตั้งสมาคมกฎหมายมหาชน เพื่อพัฒนากฎหมายมหาชน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยและยังมีการศึกษาค้นคว้ากันไม่แพร่หลาย จึงควรจัดตั้งสมาคมฯ ขึ้น ให้เป็นแหล่งชุมนุมผู้มีความรู้และผู้สนใจได้เข้าร่วมศึกษาค้นคว้าแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น อันจะเป็นหนทางนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการสาขานี้ในประเทศไทย

เครื่องหมายของสมาคมเป็นรูปมือสองข้างจับกระชับกันบนหน้าหนังสือซึ่งเปิดอยู่ สื่อความหมายว่า มือทั้งสองของภาครัฐบาล (Pubic Sector) ฝ่ายหนึ่ง และภาคเอกชน (Private Sector) อีกฝ่ายหนึ่ง ต้องร่วมมือประสานกันตลอดเวลาเจตนารมณ์ของกฎหมายมหาชนจึงจะสัมฤทธิผล สามารถเอื้ออำนวยประโยชน์แก่มหาชนโดยส่วนรวมได้เต็มที่ สำหรับหนังสือแสดงถึงจุดมุ่งหมายสมาคมซึ่งมุ่งดำเนินการเฉพาะในทางวิชาการหรือวิชาชีพกฎหมายมหาชนเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับลัทธิการเมืองใดๆ

 


เครื่องหมายของสมาคมกฎหมายมหาชน

 

สมาคมกฎหมายมหาชนได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2526 โดยมีศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม เป็นนายกสมาคมคนแรก

เป็นนายกสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย

ดร.อิสสระเป็นนายกสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทยในช่วงปี 2530-2534 และได้ผลักดันให้มีการจัดกิจกรรมเชิงรุกเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายมหาชนไปสู่ภูมิภาค ที่สำคัญ ได้แก่ การจัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ความสัมพันธ์ในทางกฎหมายระหว่างราชการบริหารส่วนกลางกับราชการบริหารส่วนท้องถิ่น” 4 ครั้ง ที่กรุงเทพฯ สงขลา เชียงใหม่ และขอนแก่น รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ทางวิทยุและถ่ายทอดทางโทรทัศน์ เพื่อขยายเครือข่ายความรู้เรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ผู้ปฏิบัติให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย 3 แห่ง (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง) และมูลนิธิเอเชีย

 

“สมาคมฯ เห็นว่า ตามหลักการกระจายอำนาจ การกำกับดูแล มีความมุ่งหมายให้การดำเนินงานของราชการส่วนท้องถิ่นเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และสอดคล้องกับส่วนกลาง และเกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารราชการตนเอง

การกำกับดูแลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การใช้อำนาจกำกับดูแลต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระของท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวใจการปกครองตนเอง

หากองค์การส่วนกลางและองค์การส่วนท้องถิ่นเข้าใจแนวคิดของระบบกระจายอำนาจ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจท้องถิ่นอย่างถ่องแท้ ทำให้สองฝ่ายเข้าใจและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน” 

(คำกล่าวเปิดการสัมมนาฯ โดย ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ
นายกสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย ปี 2533)

 

“ในช่วงประมาณปี 2524-2525 ท่านศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม  อาจารย์ ดร.เฉลิมชัย วสีนนท์ อาจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ และผม (ดร.โภคิน พลกุล) ได้มีการพูดคุยหารือกันเพื่อจัดตั้งสมาคมกฎหมายมหาชน โดยมุ่งหวังที่จะเห็นการพัฒนากฎหมายมหาชนอย่างเป็นระบบ และหลังจากก่อตั้งแล้ว จะพูดคุยและกินข้าวกันทุกเดือน เพื่อหารือเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของสมาคม โดยเวียนกันเป็นเจ้าภาพ เช่น ที่ร้านพงหลี อาจารย์อิสสระจะเป็นเจ้าภาพ หรือที่กรมสรรพสามิต อาจารย์เฉลิมชัยจะเป็นเจ้าภาพ

อาจารย์อิสสระเป็นผู้ผลักดันที่สุดมาตั้งแต่เริ่มแรกในการให้กฎหมายมหาชนมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ด้วยความหวังว่าถ้ากฎหมายมหาชนมีการพัฒนาอย่างแข็งแกร่งแล้ว ประเทศไทยจะตั้งอยู่ในระบบนิติรัฐและนิติธรรมอย่างแท้จริงฝ่ายปกครองต้องเคารพกฎหมายและไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจได้

ในช่วงที่อาจารย์อิสสระเป็นนายกสมาคมฯ ท่านเป็นคนที่ very active มาก การจัดกิจกรรมของสมาคมฯ ในช่วงนั้นไม่เฉพาะแต่เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่มีการจัดกิจกรรมสัมมนาวิชาการไปสู่ภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาคเพื่อขยายผลกิจกรรมของสมาคมในวงกว้าง

ผมรู้จักอาจารย์อิสสระครั้งแรกในโอกาสที่ท่านมาสอนพิเศษที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ผมเพิ่งเป็นอาจารย์ประจำใหม่ๆ หลังจากจบปริญญาเอก สาขากฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยปารีส 2 ท่านมีความเป็นกันเอง และชอบที่จะพูดคุยกับอาจารย์รุ่นใหม่ที่จบด้านกฎหมายมหาชน ท่านพูดกับผมว่า “ตอนนี้ผมทำงานเกี่ยวข้องกับกฎหมายการคลังเป็นส่วนใหญ่ แต่ในด้านความรู้กฎหมายปกครองและกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องถามอาจารย์โภคินที่ท่านเพิ่งสำเร็จการศึกษา ความรู้ของอาจารย์จะทันสมัยกว่าผม”

แม้อาจารย์อิสสระจะมีภารกิจหน้าที่ราชการที่มาก แต่ท่านก็ยังเสียสละมาเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อย่างต่อเนื่องร่วมกว่า 20 ปี และมีผลงานวิชาการที่โดดเด่น ผมจึงได้เสนอคณะฯ ให้มีการขอตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษให้อาจารย์อิสสระ ซึ่งท่านดีใจมากที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2535

ผมประทับใจอาจารย์อิสสระมาก ท่านมีน้ำใจ มีเมตตา ดูแลคนรอบข้าง และมีมุมสนุกสนาน ท่านทำงานหนักและมีอายุมากกว่าผมถึง 20 ปี แต่ในการทำงานของท่าน ท่านจะค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดและทันสมัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ท่านเป็นนักกฎหมายที่มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์มาก (very scientific) ที่นักกฎหมายควรเอาเป็นแบบอย่าง เนื่องจากนักกฎหมายที่ดีจะต้องมีความคิดแบบวิทยาศาสตร์จึงจะยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรม

หากนักนิติศาสตร์รุ่นใหม่จะหา Idol สักคน ผมเห็นว่าคนๆ นั้นคือ อาจารย์อิสสระ เป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม ท่านยึดมั่นในหลักการกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่เปลี่ยนแปลงหรือไม่แกว่งโอนเอนไปนอกหลักการทางกฎหมาย ท่านเป็นบุคคลที่ผมภูมิใจที่ได้รู้จัก ทำงาน และรับใช้ท่าน และไม่ผิดหวังแม้แต่นิดเดียวที่นับถือท่านเป็นครูบาอาจารย์ทางกฎหมาย

อาจารย์อิสสระเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ อยู่ในธรรมปฏิบัติ การดำรงชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างที่งดงามทั้งต่องานที่ทำ ภรรยา ครอบครัว เพื่อนฝูง และพี่น้อง เช่นเดียวกับท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์”

(ดร.โภคิน พลกุล, “ระลึกถึงอาจารย์ ดร.อิสสระ
ครูบาอาจารย์ทางกฎหมายที่น่านับถือ”, มีนาคม 2564)

 

บุกเบิกการสอนกฎหมายการคลัง (พ.ศ. 2531 - 2550)

ด้วยประสบการณ์ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกฎหมายงบประมาณและกฎหมายการคลัง ประกอบกับการศึกษาและค้นคว้าอ่านตำรา หนังสือ และบทความทางกฎหมายการคลังอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ดร.อิสสระเชี่ยวชาญกฎหมายการคลังทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และได้นำความรู้มาบุกเบิกการเรียนการสอนและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ด้านกฎหมายการคลัง ที่คณะนิติศาสตรมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

 

“วิชากฎหมายเศรษฐกิจมหาชนว่าด้วยการเงินการคลังเป็นวิชาที่มีความสำคัญซึ่งเดิมทีอยู่ในหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต (ธ.บ.) ต่อมาหลังจากได้ยุบเปลี่ยนหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตเป็น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2495  แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีการสอนวิชาดังกล่าว ซึ่ง ดร.อิสสระได้เขียนประวัติความเป็นมาของการเรียนวิชากฎหมายการคลังว่า ที่เป็นเช่นนี้เข้าใจว่าเป็นเพราะคณบดีคณะนิติศาสตร์ในยุคต้นๆ ซึ่งสำเร็จการศึกษากฎหมายเป็นเนติบัณฑิต ได้วางหลักสูตรการศึกษานิติศาสตร์โดยยึดถือหลักสูตรการศึกษาวิชากฎหมายของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบกฎหมายแบบ Common Law ทำให้ไม่มีการสอนวิชากฎหมายการคลังในโรงเรียนกฎหมาย

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักว่า วิชากฎหมายเศรษฐกิจมหาชนว่าด้วยการเงินการคลังนี้มีความสำคัญและเล็งเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งจึงได้จัดทำขึ้นและบรรจุในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2531 ผม (ศาสตราจารย์พิเศษประสิทธิ์ โฆวิไลกูล) และอาจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ได้เป็นกรรมการของสมาคมกฎหมายมหาชนและมีโอกาสปรึกษาหารือเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาและพัฒนาวิชานี้ในคณะนิติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ผมในฐานะคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กราบเรียนเชิญอาจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ในฐานะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ ความสามารถ พร้อมด้วยประสบการณ์จากการปฏิบัติหน้าที่เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นระยะเวลาหลายปี มาเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายเศรษฐกิจมหาชนว่าด้วยการเงินการคลังในปีการศึกษา 2532 โดยท่านได้ตอบรับคำเชิญและได้เป็นผู้บรรยายวิชาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี รวมถึงในช่วงที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปี 2541-2542 ด้วย

ท่านอาจารย์ ดร.อิสสระ เป็นผู้บุกเบิกในการสอนวิชากฎหมายเศรษฐกิจมหาชนว่าด้วยการเงินการคลัง ท่านเป็นบุคคลที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูที่ดีให้ความใกล้ชิดกับนิสิตและเปิดโอกาสให้นิสิตได้ถามปัญหาก่อนเข้าห้องเรียนและภายหลังการบรรยายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ท่านอาจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ยังได้เขียนคู่มือการบรรยายสำหรับวิชานี้อีกด้วย”

(ศาสตราจารย์พิเศษประสิทธิ์ โฆวิไลกูล, “ท่านอาจารย์ ดร.อิสสระฯ ผู้บุกเบิกในการสอนวิชากฎหมายเศรษฐกิจมหาชนว่าด้วยการเงินการคลัง”, มีนาคม 2564)

 


สมุดบันทึกเนื้อหาการสอนแต่ละครั้ง

 

ดร.อิสสระเป็นผู้สอนและเขียนคำสอนวิชากฎหมายการคลังขั้นสูง ที่อธิบายถึงทฤษฎีการคลังมหาชน โดยได้อธิบายวิวัฒนาการของกฎหมายการคลังได้อย่างน่าสนใจว่า “ทฤษฎีการคลังมหาชน เป็นวิทยาศาสตร์การคลัง (The Science of Finance ) ที่พัฒนามาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากการที่นักปราชญ์ของประเทศตะวันตกในประเทศภาคพื้นทวีปยุโรปและอังกฤษได้สังเกตปรากฏการณ์การคลังของรัฐ และค้นคว้าหาเหตุผลด้วยวิธีทดสอบจนเกิดความรู้ และได้จัดความรู้นั้นเข้าเป็นระเบียบ เกิดเป็นวิทยาศาสตร์การคลังขึ้น”

 


บันทึกโน้ตข้อความและหนังสือสำคัญ

 

ตุลาการและประธานศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2541 - 2545)

 

 

ศาลรัฐธรรมนูญของไทยเป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และจากการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งเป็นการประชุมลับ ดร.อิสสระได้รับเลือกด้วยคะแนนสูงสุด 137 คะแนน

ดร.อิสสระได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปี 2541 และประธานศาลรัฐธรรมนูญในปี 2545

ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอชื่อ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศเพียงคนเดียวและลงคะแนนด้วยวิธียกมือ ซึ่งทุกคนยกมือเป็นเอกฉันท์ให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ในปี 2545 หลังจากนายประเสริฐ นาสกุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสาขานิติศาสตร์ พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี

 


ขณะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ถ่ายรูปร่วมกับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

“ศาลรัฐธรรมนูญพึงธำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระและความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 และมุ่งพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันซึ่งประชาชนและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเชื่อถือ”

(วิสัยทัศน์ ศาสตราจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, เมษายน 2545)

 

ที่มา : ชีวิต “อิสสระ” เกร็ดประวัติศาสตร์ผ่านชีวิต “อิสสระ”  (กรุงเทพฯ: เนติกุลการพิมพ์.2564), สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565.

 

[1] อิงตามต้นฉบับ

[2] อิงตามต้นฉบับ