ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“ครูฉ่ำ” แนวร่วมคณะราษฎร : ผู้เกือบถูกตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “เป็นบ้า”

19
ตุลาคม
2565

“....กริยาอาการต่างๆ ที่นายฉ่ำได้แสดงไปนั้นเห็นได้ว่าเป็นการกระทำอันน่าอัปยศอดสูไม่เคารพต่อสถานที่อันควรเคารพ ไม่คำนึงถึงกาลเทศะ และไม่สมควรแก่เกียรติศักดิ์ของผู้แทน เป็นการกระทำโดยเจตนาหาเสียงและเรียกร้องความสนใจอย่างวิตถารซึ่งบุคคลธรรมดาไม่พึงปฏิบัติ  แต่ไม่ใช่ทำไปโดยมีสติฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ...”

คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 1/2494

 

จุดรวมความสนใจของประชาชนหวนกลับไปที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” อีกครั้งในปลายเดือนกันยายน 2565 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ตรวจสอบความเป็นรัฐมนตรีของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะต้องออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งรวมกันมาแล้วเกิน 8 ปีหรือไม่ซึ่งสำหรับผลแห่งคำวินิจฉัยนั้นก็คงได้ทราบกันโดยทั่วแล้ว   

แม้ว่าหน้าที่และอำนาจหลักของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่มีอยู่ในโลกนี้ คือการวินิจฉัยปัญหาว่ากฎหมายหรือร่างกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่รู้จักและเป็นประเด็นการเมือง ที่หลายครั้งก็เป็นตัวเปลี่ยนทิศทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไปเลย ได้แก่หน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

ในปัจจุบัน หน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวปรากฏในรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ระบุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาตามแต่กรณี หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรีซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรี มีคุณสมบัติตามตำแหน่งนั้นๆ โดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

การตรวจสอบสถานะคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญนี้ถือเป็น “อำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ” อย่างหนึ่ง เดิมทีในรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 กำหนดให้ “สภาผู้แทนราษฎร” เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้ในภายหลังจะมีข้อพิพาทเรื่องปัญหาการตีความว่ากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จนนำไปสู่การก่อตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2489 แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้นก็มีอำนาจจำกัดเพียงปัญหาเรื่องกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น โดยอำนาจในการวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานะและการดำรงตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาหรือรัฐมนตรีนั้น อยู่ในขอบเขตอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร

รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่แยกเอาอำนาจการตรวจสอบสถานะและการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปจากสภาผู้แทนราษฎร คือ รัฐธรรมนูญปี 2492 ที่กำหนดให้ ส.ส. หรือ ส.ว. มีสิทธิเข้าชื่อกันต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิก เพื่อขอให้ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงหรือไม่ ต่อมาบทบัญญัตินี้ได้ถูกปรับมาใช้กับรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีด้วยตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 และเมื่อประเทศไทยมีศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจหน้าที่นี้จึงโอนมาเป็นของศาลรัฐธรรมนูญจนถึงทุกวันนี้

โดยบุคคลแรกที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ผู้ถูกร้อง” หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาต่อองค์กรตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับคุณสมบัติและสถานะในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองนี้ก็นับว่า “ไม่ธรรมดา”

นายฉ่ำ จำรัสเนตร หรือ “ครูฉ่ำ” อดีตครูประชาบาล ผู้แทนราษฎรจากจังหวัดนครศรีธรรมราช คือบุคคลผู้นั้น

“ครูฉ่ำ” ถือว่าเป็น “แนวร่วม” คณะราษฎรที่เป็นประชาชนทั่วไปซึ่งเมื่อทราบข่าวว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นายฉ่ำซึ่งรับราชการเป็นครูโรงเรียนเทศบาลวัดชนะสงครามในขณะนั้น ก็ให้นักเรียนรวมตัวเข้าแถวและรอเดินแถวเพื่อไปไชโยโห่ร้องให้กำลังใจแก่คณะราษฎรผู้อภิวัฒน์

ซ้ำด้วยตัวนายฉ่ำเองยังอาสาขอคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรไปแจกแก่ประชาชน ถึงขนาดที่ว่าเมื่อแจกหมดแล้วจะไปขอจากนายเรือเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ มาแจกใหม่ จนในที่สุดคุณครูประชาบาลผู้มีความกระตือรือล้นต่อการปกครองในระบอบใหม่ ก็ได้พบปะและสนทนากับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองและระบอบประชาธิปไตย

ในเวลาต่อมา เขาเข้ามารับราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี และได้เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ที่ได้ปฏิบัติงานในสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก ซึ่งเป็นเหมือนการเปิดทางเข้าสู่โลกการเมือง

 

นายฉ่ำ จำรัสเนตร หรือ “ครูฉ่ำ” ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม
นายฉ่ำ จำรัสเนตร หรือ “ครูฉ่ำ”
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม

 

“ครูฉ่ำ” ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งที่สองของไทยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 และชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชในสมัยแรกโดยลีลาการหาเสียงของครูฉ่ำในครั้งนั้นเรียกว่าแพรวพราวจนเป็นที่เลื่องลือ ดังที่มีผู้บันทึกไว้ว่า ในการหาเสียงก่อนหน้าจะได้รับเลือกตั้งครั้งแรก นายฉ่ำได้นำเงินจำนวนหนึ่งไปฝากไว้กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก่อน แล้วจึงออกมาตระเวนหาเสียงในพื้นที่อยู่ระยะหนึ่ง จึงโทรเลขกลับไปถึงหลวงประดิษฐ์ฯ ขอให้ส่งเงินที่ฝากไว้มาให้เพื่อเป็นทุนหาเสียงด้วย ข่าวเล่าลือออกไปจนชาวเมืองคอนเลื่อมใสว่า ครูฉ่ำนี้สำคัญจริงๆ ระดับโทรเลขไปขอให้หลวงประดิษฐ์ฯ ส่งเงินมาให้ช่วยหาเสียงได้ เขาจึงได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรกอย่างลอยลำ

เมื่อครูฉ่ำได้เป็นผู้แทนราษฎรแล้ว บทบาทของเขาในฐานะ ส.ส. ก็นับว่า “ระห่ำ” อย่างมาก โดยนายฉ่ำทำตัวเสมือนคนบ้า ด้วยพฤติกรรมแหวกแนว เช่น ขี่ควายเข้าสภา ถอดเสื้อในสภา หรือตีลังกาลงเอาหัวลง ฯลฯ ว่ากันว่าการกระทำดังกล่าวของ “ครูฉ่ำ” มีนัยแฝงแบบปริศนาธรรม เช่น การเดินตีลังกาที่ว่านี้เพื่อแสดงว่าบ้านเมืองนั้นวิปริตถึงขนาดกับคนต้องเดินเอาหัวลงต่างตีนแล้ว

แต่ด้วยพฤติกรรมดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้ใน พ.ศ. 2493 “ครูฉ่ำ” ถูกร้องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นคดีตัวอย่างว่าขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ได้ เนื่องจากถือเป็น “ผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน”

โดยเรื่องนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวม 7 คน ได้เข้าชื่อกันเพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องมาให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยกล่าวหาว่า “ครูฉ่ำ” นายฉ่ำ จรัสเนตร แสดงตนให้เห็นว่าเป็นคนวิกลจริตเสมอมา จึงถือว่าขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ตามมาตรา 90 (1) แห่งรัฐธรรมนูญ

พฤติกรรมตามที่ถูกร้องต่อคณะตุลาการ และมีพยานมาร่วมให้การ เช่น

  • ในการประชุมสภา ครูฉ่ำพูดนอกเรื่องนอกประเด็น เอะอะตะโกนขึ้นมาโดยไม่ถึงวาระที่ตัวเองจะพูด บางครั้งก็ตะโกนว่า “ท่านพ่อพิบูลสงคราม” บ้าง หรือตะโกนไล่รัฐบาลออกไปแล้วให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์มาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ประธานสภาห้ามก็ไม่ฟัง จนต้องให้ตำรวจมาพาตัวออกไป ครูฉ่ำก็ชกต่อยกับตำรวจอีก
  • ครูฉ่ำเสนอญัตติขอให้พิจารณาเรื่องรัฐมนตรีถูกเตะ โดยเมื่อสืบสาวเรื่องราวแล้ว กลายเป็นเรื่องของรัฐมนตรีที่ประเทศอังกฤษ เมื่อประธานไม่ให้เสนอ ครูฉ่ำก็ยังดึงดันว่าจะต้องอภิปรายให้ได้
  • เมื่อครูฉ่ำไม่พอใจประธานสภาผู้แทน ก็เอาลูกหนัง (เข้าใจว่าคือลูกฟุตบอล) มาเขียนเป็นหน้าประธานสภาแล้วนำมาเตะเล่นที่หน้าสโมสรรัฐสภา
  • ระหว่างที่สมาชิกรับประทานอาหารกันในสโมสรของสภา ครูฉ่ำก็ร้องเพลงโนราขึ้นมาเสียเฉยๆ บางครั้งก็ถอดเสื้อผ้าเหลือแต่กางเกงในไปยืนกลางแดดเพ่งกสิณ มือชี้ขึ้นไปที่ท้องฟ้า เป็นอาการทำนองว่าจะกินดาว กินเดือน กินพระอาทิตย์ พระจันทร์ ทะเลาะกับพนักงานแคชเชียร์ของบาร์สโมสรด้วยถ้อยคำหยาบคาย เนื่องจากถูกเรียกให้เซ็นบิลค่าเครื่องดื่ม จนแคชเชียร์สาวบันดาลโทสะปาขวดน้ำอัดลมใส่
  • ครั้งหนึ่งนายฉ่ำไปที่กระทรวงมหาดไทย มีราษฎรมาร้องทุกข์ แต่นายฉ่ำตะโกนด่าว่าราษฎรเหล่านั้นเป็นคอมมิวนิสต์ ถ้าไม่ไปจะยิงทิ้ง เกิดท้าทายกันจนจะชกต่อยกัน โดยนายฉ่ำถอดเสื้อเอาเหยือกสังกะสีขว้างใส่ราษฎรจนหนีกระจายไป
  • ผู้แทนราษฎรคนหนึ่งที่บ้านอยู่ติดกับบ้านนายฉ่ำให้การว่า วันหนึ่งนายฉ่ำวิ่งนุ่งผ้าขาวม้าเข้ามาขอให้ช่วยหาที่ซ่อนตัวให้ ด้วยพระแม่เจ้าจะมาลงทัณฑ์เนื่องจากไปเอะอะที่สภา ถามความดูจึงได้ความว่า “พระแม่เจ้า” ที่ว่าคือภรรยาของนายฉ่ำนั่นเอง ซึ่งผู้แทนราษฎรท่านนั้นให้การด้วยว่านายฉ่ำดูใจลอย ถามอย่างหนึ่งไปตอบอีกอย่างหนึ่งเสีย
  • ข้าราชการกรมอัยการท่านหนึ่งให้การว่า นายฉ่ำไปปราศรัยที่แยกเสาชิงช้า ว่าประเทศไทยควรจะแบ่งแยกออกเป็น 3 ภาค โดยให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ปกครองทางเหนือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปกครองภาคกลางและให้จอมพล ป. ปกครองภาคใต้ 

อนึ่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งในฝ่ายผู้กล่าวหาให้ความเห็นว่า อาการของครูฉ่ำเป็นเช่นนี้ นับตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2490 เป็นต้นมา

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ขอให้ นายแพทย์ฝน แสงสิงห์แก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี ให้ความเห็นถึงหลักการวินิจฉัยทางการแพทย์ว่า ในทางการแพทย์ (สมัยนั้น) การจะวินิจฉัยว่าผู้ใดจะเป็นคนวิกลจริตหรือไม่ จะต้องเข้าประเภทใดประเภทหนึ่งใน 3 ประเภท คือ 

  • ประเภทที่ 1 Delusion หรืออาการหลงผิด เช่นหลงว่าตัวเองเป็นกษัตริย์ หรือหลงว่าจะมีคนมาฆ่า เรียกว่า Paranoid Delusion 
  • ประเภทที่ 2 Hallucination หรือประสาทหลอน คือประสาทสัมผัสได้นำรูป กลิ่น หรือเสียงที่ไม่มีจริงมาให้เข้าใจว่ามีหรือเห็นหรือได้ยินนั้นจริง เช่นกรณีคนไข้ในโรงพยาบาลที่ขีดเขียนกำแพงเพราะได้ยินเสียงคนมาสั่งให้ทำเช่นนั้น และ
  • ประเภทที่ 3 คือ Illusion หรือการเห็นภาพลวงตา ซึ่งคล้ายกับกรณีของประสาทหลอน แต่แตกต่างกันคือกรณีของประสาทหลอน Hallucination จะเป็นเรื่องที่ไม่มีสิ่งนั้นอยู่เลย แต่ระบบประสาททำให้เหมือนเห็นหรือได้ยินภาพนั้น แต่กรณีของ Illusion นั้นอาจจะเห็นหรือได้ยิน แต่สมองแปลความผิดไป เช่น เห็นเชือกเป็นงู 

สำหรับกรณีของนายฉ่ำนี้ นายแพทย์ฝนให้ความเห็นว่า กรณีที่คนไข้แสดงอาการแปลกๆ ที่คนอื่นไม่ทำกันนี้อาจจะเป็นคนวิกลจริตหรือไม่ก็ได้ เพราะอาจจะเกิดจากการกระทำเพื่อเรียกร้องความสนใจก็ได้ เพราะถ้าการกระทำนั้นเป็นไปเพราะอาการหลงผิดหรือ Delusion ก็จะต้องกระทำไปโดยมีความรู้สึกนึกคิดตามเช่นนั้นไปหมดถึงจะถือว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ถ้ากระทำไปโดยรู้ตัวโดยความรู้สึกนึกคิดนั้นไม่ได้เป็นอย่างนั้นตามไปด้วย ก็จะว่าเป็นคนวิกลจริตไม่ได้ 

กล่าวโดยสรุป ในกรณีนี้ นายแพทย์ฝนยังให้ความเห็นแน่นอนไม่ได้ เพราะก็ยังเป็นไปได้ว่าที่ “ครูฉ่ำ” แสดงกริยาตามที่ถูกร้องไปนั้น ก็อาจจะเป็นเพียงการเรียกร้องความสนใจเท่านั้น

ในทางพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ความว่า นายฉ่ำไม่ได้เสพสุรา โดยผู้ถูกกล่าวหาให้การสรุปได้ว่า ที่ประพฤติตนเช่นนั้นเนื่องจากหวังประโยชน์ในทางความนิยมทางการเมือง โดยนายฉ่ำแบ่งประชาชนเป็นชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูง ซึ่งการประพฤติแสดงกริยาต่างๆ ของนายฉ่ำนั้นเป็นไปเพื่อให้ถูกใจแก่ประชาชนชั้นต่ำและชั้นกลาง บางครั้งก็ประพฤติตนสุภาพเรียบร้อยเพื่อให้ถูกใจคนชั้นสูง ส่วนการกระทำที่สร้างความวุ่นวายต่างๆ ในสภานั้น ก็เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวทั้งสิ้น และกระทำไปโดยรู้ตัวทั้งหมด

ซึ่งสอดคล้องกับที่มีพยานให้การว่า เมื่อนายฉ่ำถูกประธานสั่งให้นำตัวออกไปจากที่ประชุมสภา นายฉ่ำต่อสู้ชกต่อยตำรวจและลงไปนอนเพื่อขัดขืน เมื่อตำรวจจะเข้ามาหามก็เอามือดึงโต๊ะเก้าอี้ไว้ แต่เมื่อพาไปข้างนอกได้ นายฉ่ำก็ลุกเดินได้ด้วยอาการปกติ อีกทั้งเมื่อพิจารณารายงานการประชุมสภา ก็ไม่ได้ปรากฏว่านายฉ่ำจะถึงกับพูดไม่รู้เรื่อง เป็นแต่เพียงการโต้เถียงกับประธานสภาเกินสมควรและก่อความรำคาญเพียงเท่านั้น ส่วนข้อกล่าวหาอื่นๆ นายฉ่ำก็แก้ได้ทั้งหมดว่าที่ทำไปเพื่ออะไร โดยสรุปคือ เพื่อให้อื้อฉาวจนหนังสือพิมพ์นำไปลงข่าว ให้ประชาชนได้เห็นว่าเขาเป็นผู้แทนราษฎรที่เป็นปากเป็นเสียงให้ได้นั่นเอง

จากข้อมูลทางการแพทย์ดังกล่าว และข้อเท็จจริงในทางการพิจารณา คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัยที่ 1/2494 และคำวินิจฉัยในเรื่องนี้ ถือว่าเป็นคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเรื่องแรกของไทยด้วย โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยกรณีของ “ครูฉ่ำ” มีด้วยกัน 5 คน ประกอบด้วย พระมนูเวทย์วิมลนาท, เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ, พระยาศรีวิศาลวาจา, พระยาอัชราชทรงสิริ และพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า โดยกริยาอาการต่างๆ ที่นายฉ่ำได้แสดงไปนั้นเห็นได้ว่าเป็นการกระทำอันน่าอัปยศอดสู ไม่เคารพต่อสถานที่อันควรเคารพ ไม่คำนึงถึงกาลเทศะ และไม่สมควรแก่เกียรติศักดิ์ของผู้แทน เป็นการกระทำโดยเจตนาหาเสียงและเรียกร้องความสนใจอย่างวิตถารซึ่งบุคคลธรรมดาไม่พึงปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ทำไปโดยมีสติฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ตลอดทั้งในการพิจารณาก็เห็นว่า นายฉ่ำประพฤติตนเรียบร้อย และดำเนินคดีไปเป็นปกติ รวมถึงเข้าประชุมสภาก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมิได้เอะอะก้าวร้าวอะไร ประกอบกับความเห็นทางการแพทย์ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมาก (ไม่ปรากฏจำนวนมติ) เห็นควรยกประโยชน์ให้ผู้ถูกกล่าวหา จึงมีมติว่า นายฉ่ำ จรัสเนตร ไม่ได้เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ จึงไม่ต้องพ้นจากความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เป็นอันจบ “คดีรัฐธรรมนูญ” ว่าด้วย “คุณสมบัติและสถานะแห่งการดำรงตำแหน่งทางการเมือง” เรื่องแรกลงเพียงเท่านี้ สำหรับในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ได้กำหนดไว้ในมาตรา 98 (4) ประกอบมาตรา 96 (4) ว่า ผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม หลังจากกรณี “ครูฉ่ำ” ก็ไม่เคยมีการยื่นเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีคนใดมีปัญหาว่าจะต้องพ้นตำแหน่งด้วยเหตุ “วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน” นี้อีกเลย.

 

บรรณานุกรม :