ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ยามบ่ายของการเยือนถิ่นหัวหน้าเสรีไทยแห่งเมืองตาก ณ ตรอกบ้านจีน

28
พฤศจิกายน
2565

บ่ายวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ผมกับคณะของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้แวะเที่ยวชมละแวกย่านตรอกบ้านจีน อันเป็นชุมชนเก่าแก่ในตัวเมืองจังหวัดตาก ระหว่างเดินทอดน่องไปตามถนนสายเล็กๆ นั้น ผมพลันหวนระลึกถึงบุคคลหนึ่งจากโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเคยมีถิ่นพำนักอยู่ ณ ตรอกบ้านจีน ตำบลระแหง เขาคือ นายหมัง สายชุ่มอินทร์ คหบดีผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าเสรีไทยแห่งเมืองตาก

 

นายหมัง สายชุ่มอินทร์
นายหมัง สายชุ่มอินทร์

 

เมื่อแรกที่คณะของสถาบันปรีดีฯ มาถึงบริเวณปากทางเข้าตรอกบ้านจีน ท้องฟ้ายังแลดูสดใสและแสงแดดกำลังเจิดจ้า ครั้นผ่านไปไม่นานนัก จู่ๆ สายฝนก็โปรยปรายลงมาพรำๆ หากคณะของเรายังมิคลายความสนอกสนใจต่อบ้านเรือนไม้หลายหลังที่สะท้อนลักษณะทางศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานกัน

“ชุมชนตรอกบ้านจีน” เคยเป็นแหล่งศูนย์รวมการค้าขายมานับแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพราะอยู่ติดกับแม่น้ำปิงและท่าเรือขนถ่ายสินค้า พวกพ่อค้าคหบดีจึงนิยมสร้างบ้านพักอาศัยในตรอกนี้ ทว่า พอช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปลายทศวรรษ 2480 ชาวชุมชนตรอกบ้านจีนพากันอพยพหนีภัยจากพวกทหารญี่ปุ่นในเมืองตากที่บุกรุกมาระราน พร้อมทั้งภัยทางอากาศจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร นั่นทำให้ตลอดย่านชุมชนเงียบเหงาร้างลง 

ปัจจุบัน ทางเมืองตากพยายามฟื้นฟูชุมชนตรอกบ้านจีนให้กลับมาเปี่ยมชีวิตชีวาอีกหน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ลองแวะมาเยี่ยมเยียนและบันทึกภาพ ทว่าพื้นที่ของตรอกซึ่งเคยใกล้ชิดริมแม่น้ำปิง ก็มีระยะห่างจากริมแม่น้ำเข้ามามากขึ้น

นายหมัง สายชุ่มอินทร์ คือ คหบดีผู้ลงหลักปักฐาน ณ ชุมชนตรอกบ้านจีน บ้านของเขาตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าตรอก (ทุกวันนี้ ตัวบ้านก็ยังปรากฏอยู่) แท้แล้ว ต้นบรรพบุรุษของนายหมังนั้นเป็นชาวลพบุรี แต่ได้รับแต่งตั้งให้มารั้งตำแหน่งเจ้าเมืองระแหง พอมาถึงรุ่นขุนรองจ่าเมือง (ชุ่ม) บิดาของนายหมัง ก็ถือเป็นชาวเมืองตากแล้วเพราะเกิดที่นี่

ขุนรองจ่าเมืองรับราชการพร้อมทั้งประกอบอาชีพทนายความและแต่งงานกับนางเล็ก ผู้มีเชื้อสายจีนในตรอกบ้านจีน ทั้งสองมีบุตรธิดารวม 4 คน บุตรชายคนหนึ่งก็คือนายหมัง ซึ่งเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2437 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 

ในวัยเยาว์ บิดาได้พานายหมังไปฝากให้เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สิน เจ้าอาวาสแห่งวัดใหม่มะเขือแจ้ (ต่อมาเป็น พระวิสุทธิสมณาจารย์ เคยรั้งตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดตาก) ก่อนจะเริ่มเรียนหนังสือที่วัดสีตลารามหรือวัดน้ำหัก ครั้นแตกเนื้อหนุ่ม เขาจึงกลับมาอยู่บ้านของตนที่ชุมชนตรอกบ้านจีน เป็นช่วงที่สถานการณ์ครอบครัวกำลังย่ำแย่เพราะมีหนี้สิน นายหมังต้องหางานทำเพื่อช่วยแบ่งเบา เริ่มจากสมัครตำรวจและปฏิบัติงานตราบจนกระทั่งเลื่อนยศเป็นจ่าสิบตำรวจ แล้วจึงออกมาสมัครเป็นเสมียนศาลและทำงานด้านสรรพสามิต ช่วงนั้นมีผู้สนับสนุนให้ไปเรียนวิชากฎหมายที่กรุงเทพฯ แต่ขุนรองจ่าเมืองไม่ยินยอมให้มา นายหมังเปลี่ยนมาประกอบอาชีพค้าขาย ขี่ม้าขี่ลาออกหาของป่าและล่าสัตว์นำมาขาย รวมถึงนำของจำพวกเขาวัวควายและครั่งมาขายกับต่างเมือง สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจนชำระหนี้สินได้หมดสิ้น

 

นายหมัง ในวัยหนุ่ม
นายหมัง ในวัยหนุ่ม

 

เดิมที นายหมังใช้นามสกุลว่า “สุจริตจันทร์” แต่พอปลดหนี้ของครอบครัวสำเร็จแล้ว เขาตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น “สายชุ่มอินทร์” เริ่มกิจการเลี้ยงวัวเลี้ยงม้าและกิจการแปลกใหม่อื่นๆ เช่น รับส่งถุงเมล์ รับเหมาก่อสร้าง สั่งสมความมั่งคั่งมาจากการค้าขายแถบชายแดนไทย-พม่า ทั้งขายเครื่องเงินและขายผ้า กิจการของนายหมังยังช่วยพัฒนาจังหวัดตากจนเจริญรุ่งเรืองหลายด้าน โดยเฉพาะการรับเหมาวางเสาโยงสายโทรเลขตั้งแต่เมืองตาก แม่สอด แม่ละเมา กำแพงเพชร สวรรคโลก ลำปาง ไปจนถึงเชียงใหม่ กิจการนี้สร้างความมั่งคั่งจนเขากลายเป็นคหบดี 

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นายหมังมีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของไทยเมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ซึ่งอาศัยวิธีการเลือกตั้งแบบทางอ้อม กล่าวคือ รัฐบาลจะรับสมัครผู้แทนตำบล ประชาชนต้องเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกจะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับจังหวัดอีกหน ผู้ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. คนแรกสุดของจังหวัดตากคือ พระประณาทกรณี (ถม อินทรสูต)

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2480 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 ซึ่งใช้วิธีการเลือกตั้งแบบทางตรง โดยประชาชนสามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ด้วยตนเองนั้น นายหมังลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็นสมาชิกสภาสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก อยู่ในวาระระหว่างปี พ.ศ. 2480-2481 ไม่ครบวาระเต็มสี่ปี เนื่องจากรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนากราบถวายบังคมลาออก จึงจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 3 เมื่อวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 นายหมังลงสมัครรับเลือกตั้งและก็ได้รับเลือกอีก อยู่ในวาระระหว่างปี พ.ศ. 2481-2485 อันเป็นสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม 

ห้วงยามที่เป็น ส.ส. นายหมังได้สร้างสาธารณประโยชน์หลายด้าน ทั้งการบริจาคที่ดินสร้างโรงพยาบาล บริจาคเงินช่วยเหลือโรงเรียน และหมั่นหาหนทางสารพันเพื่อพัฒนาเมืองตาก จนได้รับฉายาว่า “ช่างคิดนายหมัง”

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทยระหว่าง พ.ศ. 2484-2488 นั้น ไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้ง นายหมังจึงคงสถานภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก อีกทั้งเขายังเป็นหัวหน้าเสรีไทยแห่งเมืองตากด้วย โดยรับคำสั่งมาจาก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าใหญ่ของขบวนการเสรีไทย และ นายพึ่ง ศรีจันทร์ รัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้เป็นหัวหน้าเสรีไทยภาคเหนือ

นายหมัง ได้ประสานความร่วมมือกับบุคคลต่างๆ เพื่อปฏิบัติการเสรีไทย พอมีเสรีไทยสายต่างประเทศที่กระโดดร่มเข้ามาในเขตเมืองตาก ก็จะถูกนำตัวมาพักที่บ้านของนายหมัง ณ ตรอกบ้านจีนอยู่เนืองๆ ก่อนจะส่งไปทำภารกิจตามพื้นที่ต่างๆ ในเขตแม่สอดและอุ้มผาง รวมถึงการตั้งค่ายใหญ่เสรีไทย ณ ดอยห้วยเหลือง นายหมังเองก็ทำตัวปกติอย่างแนบเนียนจนแทบไม่มีใครทราบว่าคหบดีผู้นี้เป็นถึงหัวหน้าเสรีไทยของจังหวัด 

กระทั่งต้นปี พ.ศ. 2488 นายหมังอาจรู้สึกหวั่นเกรงว่าทหารญี่ปุ่นในเมืองตากจะเริ่มเคลือบแคลงสงสัยเขาบ้าง จึงพาครอบครัวอพยพจากตรอกบ้านจีนไปอยู่ที่ตำบลวังหิน ห่างตัวเมืองออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร ดูเหมือนเก็บตัวเงียบ แต่ก็คอยช่วยเหลืองานปฏิบัติการเสรีไทยแบบลับๆ

นายหมัง เล่าถึงภารกิจของตนไว้ผ่าน แผ่นปลิวหาเสียงผู้แทนราษฎรเมืองตาก ครั้งที่ ๓ จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2488 ความว่า

 

“งานกู้ชาติหรือกู้เมืองตาก ซึ่งเราทั้งชาติจะต้องแพ้สงครามฝรั่ง แต่บุญของประเทศไทยมี เมื่อวันแรม ๙ ค่ำเดือนยี่ ตรงกับวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๘ ท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (หลวงประดิษฐมนูธรรม) และรัฐมนตรี พึ่ง ศรีจันทร์ สั่งให้ข้าพเจ้ารวบรวมเตรียมกองโจรไว้เป็นความลับ เพื่อต่อต้านฆ่าญี่ปุ่นผู้รุกราน เพราะทหารญี่ปุ่นเมืองตากมากเพราะเป็นเมืองหน้าด่าน 

ข้าพเจ้าจัดตั้งนายเนียน ชูโฉม ๕๐๐ คน กองหนึ่ง นายธรรม สุวรรณโน ๕๐๐ คน กองหนึ่ง นายก๋า แม่สอด ๕๐๐ คน กองหนึ่ง แล้วข้าพเจ้ามีวิทยุติดต่อกับฝรั่งเมืองนอกซึ่งตั้งไว้ที่สวรรคโลก เพื่อให้ส่งอาวุธต่างๆ มาให้เรา และร้องขอไม่ให้ทิ้งบอมบ์หรือยิงกราดเมืองตาก เมืองสุโขทัย เกรงประชาชนเมืองตากจะเป็นอันตราย ตลอดทรัพย์สมบัติจะพากันเสียหาย ฝรั่งก็งดไม่ทิ้งบอมบ์หรือยิงกราดด้วยปืนกล (ใช่ไหม) แล้วจึงได้ย้ายวิทยุมาตั้งที่บ้านแม้ว ฝรั่งยังไม่ทันได้ส่งอาวุธ เมื่อวันแรม ๙ ค่ำเดือนสาม ตรงกับวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ นายเขียน ชูโฉม น้อง นายเนียน ชูโฉม พาพรรคพวกเข้าปล้นฆ่าฟันทหารญี่ปุ่นตายมาก ต่อมาฝรั่งจึงได้ส่งอาวุธต่างๆมาให้เรา ในระหว่างนั้นงานการยุ่งมาก ทหารญี่ปุ่นคุมบ้านข้าพเจ้า หัวใจข้าพเจ้าจวนจะหยุดอยู่แล้ว ข้าพเจ้าได้บาตบนจ้าวต่างๆ จะมีลิเกฉลอง ๗ วัน ๗ คืน ขอให้ญี่ปุ่นแพ้เรา ข้าพเจ้าจะแก้บนเวลานี้ก็ไม่ทันเพราะงานยุ่งมาก ขอผัดให้การเลือกตั้งผู้แทนเสร็จเสียก่อน

เมื่อเดือนพฤษภาคม จึงขยายความลับกู้ชาติ ให้ ทหาร ข้าหลวง ตํารวจ กับ ข้าราชการและครู มาร่วมงานกู้ชาติ ข้าหลวง ทหาร ตํารวจ เทศบาล ข้าราชการและครู จังหวัดตาก มีความยินดี ได้ช่วยกันต่อต้านทหารญี่ปุ่น จนถึงวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ทหารญี่ปุ่นยอมแพ้ ชาติไทย ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่นับถือของเรา ได้กลับมาสู่เอกราชตามเดิม เมืองตากและชาวเมืองตาก ตลอดทั้งทรัพย์สมบัติ จึงไม่ถูกภัยทางอากาศเลย ข้อนี้เป็นองค์พยานให้ท่านเห็นอยู่แล้ว ส่วนกิจการอย่างอื่นๆ ข้าพเจ้าได้เข้าไปติดต่อขอรัฐบาล ๑. ขอตั้งโรงทหาร ๒. โรงพยาบาล ๓. โรงเรียนชาย ๔. โรงเรียนประจําตําบลทุก ๆ ตําบล ๕. โรงเรียนทอผ้า ๖. โรงเรียนช่างไม้ ๗. ทําทางสายแม่สอด ๘. ทางสายเมืองเถิน ๙. สะพานข้ามแม่น้ำที่วังเจ้า ๑๐. ขอเงินมาทําเหมืองฝาย วังคล้าย สามเงา ๑๑. ของดการเกณฑ์ราษฎรเมืองตากไปทํางานที่เพชรบูรณ์ ฯลฯ”

 

นายหมัง ภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ตนได้ร่วมปฏิบัติการเสรีไทยเพื่อชาติบ้านเมือง ครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ปิดฉากลง และต่อมาได้มีการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 4 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 นายหมังลงสมัคร ส.ส. เมืองตากอีกหน และจัดพิมพ์แผ่นปลิวหาเสียงผู้แทนราษฎรโดยบอกเล่าถึงภารกิจของเขาในฐานะเสรีไทย แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ นายหมังพ่ายคะแนนเสียงให้กับ นายเทียม ไชยนันท์ (เดิมเป็นคนชัยนาท แต่ก็มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในตรอกบ้านจีน) จึงไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. อีกสมัยแล้ว

 

ตรอกบ้านจีน

 

“ชุมชนตรอกบ้านจีน” แม้ในบ่ายวันอาทิตย์ที่ผมกับคณะของสถาบันปรีดี พนมยงค์แวะมาเยือนนั้น จะดูเป็นเพียงตรอกเล็กๆ ที่ค่อนข้างเงียบเหงา มิค่อยคึกคักเสียเลย แต่ยังสัมผัสได้ถึงความขรึมขลังบางอย่างอันชวนให้หวนระลึกเรื่องราวในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  

ก็ตรอกแห่งนี้เองแหละ ที่เป็นแหล่งพำนักและสนับสนุนปฏิบัติการเสรีไทยแห่งสำคัญโดยคหบดีผู้ไม่มีใครคาดนึก เขาคือหัวหน้าเสรีไทยแห่งเมืองตากนามว่า นายหมัง สายชุ่มอินทร์

 

เอกสารอ้างอิง

  • ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517.
  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ตำนานเสรีไทย The FreeThai Legend. เริงชัย พุทธาโร บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546.
  • อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพ นายหมัง สายชุ่มอินทร์ ณ เมรุวัดใหม่มะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดตาก วันที่ 2 พฤษภาคม 2524.